เบิ่งความเปลี่ยนแปลงของลูกอีสาน ณ​ บัดนาว ใน LOOK ISAN NOW นิทรรศการเปิดตัว TCDC ขอนแก่น

Highlights

  • ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) เพิ่งเปิดสาขาที่ขอนแก่นไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
  • หนึ่งในไฮไลต์ของการเปิดตัวคือนิทรรศการ LOOK ISAN NOW ที่พูดถึงอีสานในอนาคตกับโอกาสที่กำลังเข้ามาผ่านเทรนด์โลกและนโยบายต่างๆ 
  • นอกจากโอกาส นิทรรศการนี้ยังชวนมองความท้าทายที่กำลังจะเกิดในแผ่นดินอีสาน มองหาวิธีจัดการและเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสที่จะพาอีสานไปข้างหน้า

เมื่อศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) เปิดสาขาใหม่เอี่ยมที่ขอนแก่น ด้วยหวังจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้กับชาวอีสานทั้งที แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือนิทรรศการ

นิทรรศการแบบไหนจะปังพอสำหรับการเปิดตัว 

นิทรรศการแบบไหนที่คนอีสานจะสนใจ

นิทรรศการแบบไหนที่จะกระตุ้นหรือจุดประกายให้คนแวะเวียนมาที่ TCDC อีก

LOOK ISAN NOW คือนิทรรศการเปิดตัวที่ TCDC เลือก เพื่อเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของอีสานในวันนี้ โครงการต่างๆ จากภายนอกที่กำลังเดินทางเข้ามาในวันหน้า รวมถึงพลังของลูกอีสานเองที่กำลังพัฒนาบ้านเกิดให้มีศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป โดยกว่าจะมาเป็นนิทรรศการก็ไม่ง่ายเพราะทีม TCDC ต้องลงพื้นที่อีสานกันครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งยังแปลงงานวิจัยเล่มหนาที่พวกเขาเคยทำมาเป็นนิทรรศการที่ดูสนุก เข้าใจง่าย แต่สาระและประโยชน์ยังอยู่เต็มๆ  

พวกเขาทำนิทรรศการครั้งนี้กันยังไง เราไปคุยกับ บอล–เลอชาติ ธรรมธีรเสถียร รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และ กระแต–วิชุดา เครือหิรัญ นักจัดการความรู้อาวุโส เพื่อหาคำตอบ

 

1. เล่าแล้วเล่าอีก

อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TCDC เล่าเรื่องอีสาน ก่อนพูดถึงนิทรรศการครั้งล่าสุด บอลและกระแตชวนเราย้อนกลับไปเมื่อคราว TCDC แจ้งเกิดที่ห้างเอ็มโพเรียม อีสานก็อยู่ในสายตาแต่แรก พวกเขามีนิทรรศการเปิดตัวชื่อ ‘กันดารคือสินทรัพย์’ ที่เล่าเรื่องชีวิตของคนอีสานในเมืองกรุง มุมมองคนกรุงที่มีต่อคนอีสาน ไปจนถึงแง่มุมว่าคนอีสานเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของกรุงเทพฯ ยังไง 

หรืออย่างเมื่อปีที่แล้วนิตยสาร คิด ของ TCDC ก็เล่าเรื่อง ‘เจ้าสิเมือเฮือนมื้อได๋’ พูดถึงคนอีสานที่จากบ้านเกิดไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังนำทักษะที่มีไปผนวกกับความต้องการของโลก และมาวันนี้ลูกอีสานหลายคนก็กลับบ้าน เอาความคิดความรู้ต่างๆ มาพัฒนาบ้านของตนเอง

เมื่อถึงคราวที่ TCDC ขยายสาขาไปเปิดที่โซนอีสาน ทีมจึงทบทวนว่าจะเอาคอนเซปต์ ‘เจ้าสิเมือเฮือนมื้อได๋’ มาต่อยอด หรือจะมุ่งไปที่เรื่องใหม่เลยดี จนได้ข้อสรุปว่า

กระแต–วิชุดา เครือหิรัญ

“ถ้าเล่าเรื่องอดีตมาจนถึงตอนนี้เราก็เล่าได้ถึงแค่อีสานในปัจจุบัน เหมือนรวบรวมสิ่งต่างๆ ให้คนอีสานได้ภูมิใจ แต่เราเกิดคำถามว่าแล้วยังไงต่อ เราเลยเปลี่ยนวิธีเล่าใหม่ เป็นการเล่าให้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของอีสานมากมายที่ถือว่าเป็นโอกาส” คำถามคือความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะผนวกรวมกับความเป็นอีสานและสร้างภูมิภาคให้แข็งแกร่งขึ้นได้ยังไง นั่นเองเป็นที่มาของนิทรรศการที่รวบรวมไอเดียการพัฒนาต่างๆ จากคนอีสานเองมานำเสนอ พร้อมๆ กับนำเสนอไอเดียจากงานวิจัยที่ผ่านๆ มาของ TCDC ด้วย

ส่วนเหตุผลที่เลือกเมืองใหญ่อย่างขอนแก่นเป็นเซนเตอร์แห่งแดนอีสาน นั่นก็เพราะ TCDC มองว่าที่นี่แอ็กทีฟ มีความพร้อม มีทรัพยากรบุคคลให้ความร่วมมือสนับสนุนและช่วยเหลือตั้งแต่เมื่อไปเซอร์เวย์พื้นที่

“ขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูง เป็นเมืองมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีความพร้อมจากภาคธุรกิจที่ตื่นตัวมาก เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองก็กำลังเติบโตโดยภาคเอกชนมีส่วนรวม ทั้งหมดนี้ต่างเป็นสัญญาณที่ดีถ้าจะตั้งรกรากหรือทำอะไรเกี่ยวกับอีสาน” กระแตบอก

 

2. รถไฟสู่โอกาส

ภายในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า UN รายงานว่าเทรนด์โลกจะเปลี่ยนชีวิตคน เพราะความเป็นเมืองจะเพิ่มขึ้นถึง  70 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พื้นที่ชนบทจะลดลงเหลือ 30 เปอร์เซนต์ และแน่นอนว่าอีสานก็เช่นกัน

ในการเข้าสู่เขตแดนอีสาน นิทรรศการ LOOK ISAN NOW พาเราไปด้วยรถไฟความเร็วสูงเพื่อฉายภาพอีสานในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ ไปจนถึงเทรนด์โลกที่กำลังเปลี่ยนไป 

“ปี 2050 อีสานต้องไม่เหมือนเดิมแน่ๆ อีสานจะไม่ใช่สังคมชนบทแต่จะเป็นเมือง ความต้องการของคนในพื้นที่ก็จะเปลี่ยนไปหมด” บอลเล่าต่อว่าเมื่อมองเทรนด์โลกคู่กับนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเชื่อมต่อจากไทยไปยังจีนและยุโรปผ่านทางรถไฟเกิดขึ้นได้จริง ยิ่งเห็นชัดว่าอีสานกำลังมุ่งสู่ความเป็นเมืองอย่างแท้จริง และเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ต้องรอให้ถึงปี 2050 ด้วย

“คนอีสานจะเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิต การเชื่อมต่อ ไปจนถึงโอกาสในการขายสินค้า” บอลอธิบาย

ช่วงแรกของนิทรรศการจึงอัดแน่นด้วยข้อมูล เล่าให้เข้าใจและจินตนาการตามได้ว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไรบ้าง และ TCDC ก็ไม่ลืมที่จะใส่เรื่องราวของโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในขบวนรถ

ในขบวนรถไฟความเร็วสูงที่ขอนแก่น นอกจากจะจำลองหน้าตารถไฟแห่งอนาคตให้เห็น พร้อมแฝงคุณค่าและเทคโนโลยีต่างๆ ที่โลกในวันข้างหน้าจะให้ความสำคัญ ทีม TCDC ไม่ลืมที่จะใส่รายละเอียดอย่างวัสดุที่อาจใช้ทำเบาะรถไฟและอาหารท้องถิ่นที่อาจนำไปขายบนรถไฟขบวนใหม่ได้

“เราเอางานวิจัยที่ทาง TCDC เคยทำแล้วเกี่ยวเนื่องกับประเด็นนี้มาประกอบร่างกันเป็นนิทรรศการ เช่น โซนรถไฟเอามาจากรีเสิร์ชเรื่องการใช้วัสดุท้องถิ่นในรถไฟความเร็วสูง โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานวัสดุที่ใช้ในชินคันเซน เราลองดูว่าวัสดุไทยแบบไหนมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่มาตรฐานนั้นบ้าง และมีสินค้า OTOP หรือสินค้าการเกษตรประเภทไหนที่เข้าสู่รถโดยสารได้”

 

3. จุดขายคือประสบการณ์

รถไฟความเร็วสูงไม่เพียงช่วยพาคนอีสานเดินทางไปไหนมาไหนเท่านั้น แต่คนจากที่อื่นๆ ยังเดินทางเข้ามาหา ‘ประสบการณ์’ แบบอีสานได้อย่างง่ายดาย ยิ่งทุกวันนี้ประสบการณ์คือสิ่งที่ใครต่อใครต่างมองหา บอลและกระแตยิ่งเชื่อว่าการนำประสบการณ์ในอีสาน ดินแดงแห่งเรื่องเล่า มาเป็นจุดขายยิ่งทำให้การมาเที่ยวอีสานสนุกเข้าไปใหญ่

“เรามองว่าเรื่องราวท้องถิ่นเป็นจุดขายได้ ยิ่งการคมนาคมง่ายขึ้นคนยิ่งอยากเดินทางไปหาประสบการณ์ที่แตกต่างไป”

โซนที่สองของนิทรรศการชื่อว่า ‘ทุกที่มีโอกาส’ จึงหยิบยก 3 ตัวอย่างความเป็นไปได้ในการนำประสบการณ์มาร้อยเรียงให้ดึงดูด ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องนาเกลือ ผีตาโขน และที่พักในชุมชน 

“กว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะหยิบเรื่องอะไรมาเล่าเราโยนไอเดียกันเยอะมาก มีทั้งเรื่องพญานาค พุทธปฏิบัติ วัดป่า โยคะ เรามองหาความเป็นไปได้ หาเรื่องเล่าที่หลากหลาย การทำนิทรรศการก็เหมือนการลงแขกแบบอีสาน เพราะเราไม่ได้คิดกันเองแต่ต้องคุยกับคนเยอะมาก” กระแตเล่าย้อนไปถึงตอนคิดงาน โดยเน้นว่าท่ามกลางเรื่องราวสารพัน ความคิดสร้างสรรค์ในวัฒนธรรมอีสานคือสิ่งที่พวกเขาใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกเรื่องมาเล่าในครั้งนี้

 

3.1 เกร็ดจากนาเกลือ

เดินดูนิทรรศการอยู่ดีๆ เราก็เจอนาเกลือ

วัฒนธรรมการทำเกลือสินเธาว์ของอีสานคือประสบการณ์หนึ่งที่ TCDC หยิบมาเล่า ​ตั้งแต่วิธีการทำเกลือแบบดั้งเดิมของอีสานที่ไม่เหมือนที่อื่น ไปจนถึงการโชว์แผนที่เกลือที่บอกว่าแทบทั่วทั้งอีสานทำนาเกลือ

“อีสานมีวัฒนธรรมการทำนาเกลืออยู่ทุกที่ เราเห็นว่าความรู้ร่วมกันของคนอีสานคือการทำปลาร้าที่ดี ซึ่งต้องทำจากเกลือสินเธาว์ รวมถึงเกลือยังเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ปลาร้าแต่ละหมู่บ้านรสชาติไม่เหมือนกัน” บอลบรรยายความสำคัญของเกลือ

แต่เหตุที่ TCDC เลือกหยิบเรื่องเกลือมาเล่าในครั้งนี้มีมากกว่าการเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปลาร้า เพราะหลังจากได้คุยกับคนมากมายเพื่อหาสิ่งที่น่าสนใจมาบอกต่อ กระแตก็ได้ข้อมูลจากกลุ่มอัศจรรย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เริ่มทดลองทำทัวร์เส้นทางสายเกลือพาคนไปเรียนรู้กระบวนการทำเกลือและวัฒนธรรมที่อยู่รอบๆ เส้นทางนั้น

“หากการท่องเที่ยวไปได้จริงจะทำให้คนที่ทำนาเกลืออยู่ได้ต่อไปด้วย” กระแตบอก

 

3.2 ผีท้องถิ่นที่ใครๆ ก็อินได้

หลังจากขลุกอยู่กับเรื่องราวมหัศจรรย์มากมาย ความสร้างสรรค์ในการพัฒนาคือเกณฑ์สำคัญที่ทีมใช้เลือกประเด็นมาเล่า เห็นได้ชัดจากเรื่องผีตาโขน ประเพณีสำคัญของวัฒนธรรมอีสาน

“สำหรับการเลือกประเพณีอีสานมาเล่า โจทย์ที่เราวางไว้คือการมองหาประเพณีที่วิวัฒน์มาโดยตลอดผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และคนมีส่วนร่วมได้” เช่น ผีตาโขนที่บอลอธิบายว่าเกิดจากการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนาและความสนุกแบบคนอีสานเข้าด้วยกัน แถมยังเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

“คนอีสานเอาของรอบตัวมาทำผีตาโขนแบบง่ายๆ เริ่มจากใช้หวดนึ่งข้าวเหนียว ใช้สีจากหม้อดินสีดำ ปูนแดง ปูนขาว ใช้ 3 สีเท่านั้น ปัจจุบันความวิจิตรก็พัฒนาไปมาก ทั้งหน้ากาก ชุด ท่าเต้น เพลงที่ใช้ ทุกอย่างมีพัฒนาการตลอด

“สำหรับเราเทศกาลที่ดีคือเทศกาลที่คนเข้ามาสนุกกับมันได้ ผีตาโขนเป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้นเพราะคนสามารถมาเต้นได้ วาดหน้ากากได้ สวมชุดได้ เต้นเป็นทีมก็ยังได้ มันเปิดโอกาสให้คนใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมได้เต็มพิกัด

“เรามองว่าเทศกาลท้องถิ่นที่กลายเป็นเทศกาลระดับโลกมีเยอะมาก เช่น เทศกาล Day of the Death ของเม็กซิโก ที่พูดถึงการกลับมาของวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งพิกซาร์นำมาเล่าผ่านแอนิเมชั่นเรื่อง Coco จนกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เราเองก็อยากให้หยิบจับผีตาโขนไปเล่าในระดับโลกได้เหมือนกัน”

 

3.3 เช็กอินเข้าพักในชุมชน

ประสบการณ์อีกประเภทที่บรรจุอยู่ใน LOOK ISAN NOW คือที่พักสุดครีเอทีฟในบุรีรัมย์ ตัวอย่างหนึ่งของการจัดการที่พักในอนาคต

โครงการที่ว่าคือ B-STAY โฮมสเตย์บุรีรัมย์ เป็นกลุ่มโฮมสเตย์ที่เกิดขึ้นเพื่อรับแขกจากทั่วโลกที่มาชมงานใหญ่อย่าง MotoGP นอกจากจะเป็นที่พักพิงให้แขกที่มาพักแล้ว ยังมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่นร่วมกับคนท้องถิ่นอีกด้วย

“ก่อนที่จะเล่าถึง B-STAY เรามีทีมลงไปพักที่นั่นมาจริงๆ แล้วเจ้าของบ้านก็พาไปนวดสปา แช่เท้า ดูสวนผักที่ปลูกกันในหมู่บ้าน” กระแตอธิบายวิธีการทำงาน

“เราเล่าเรื่องที่นี่ควบคู่ไปกับอีกตัวอย่างคือโรงแรมฮานาเระ ที่เมืองยานากะ ประเทศญี่ปุ่น ความพิเศษของฮานาเระคือเมื่อรับกุญแจจากรีเซปชั่นบนถนนใหญ่ คุณจะได้แผนที่ แล้วต้องเดินเข้าซอยหาโรงแรมเอง ที่พักมีแค่ห้องนอน ถ้าจะกินข้าว อาบน้ำ ก็หาข้อมูลได้จากแผนที่ว่าต้องไปที่ไหนในชุมชน

“เขาทำให้คนมีประสบการณ์ร่วมกับชุมชน ธุรกิจกับชุมชนก็เอื้อเฟื้อกัน มันเป็นโมเดลที่ดีในการหาจุดตรงกลางว่าธุรกิจกับชุมชนจะอยู่ร่วมกันยังไง ให้ประโยชน์อะไรต่อกันได้บ้าง แล้วมันก็จะยั่งยืน” บอลเล่า

“ประเทศไทยเน้นเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ถ้าเน้นด้านการมอบประสบการณ์ด้วยชุมชนก็จะได้ประโยชน์ด้วย สิ่งที่เราเน้นย้ำคือเอาจุดแข็งของคุณนั่นแหละมาขาย มันคือ creative city ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่ พัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กัน เราเชื่อว่า creative city คือแนวทางหนึ่งที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีเอกลักษณ์ของชุมชนเป็นจุดขาย”

 

4. ไอเดียพร้อมปรุง

ในโซนที่ผ่านๆ มาพวกเขาเน้นเล่าเรื่องราวความเป็นไปได้ต่างๆ ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจริงในเวลาอันใกล้ แต่ในโซนสุดท้ายนี้บอลบอกว่าพวกเขาอยากพาทุกคนย้อนกลับมาสู่อีสานในปัจจุบัน เพื่อมองความท้าทายรอบๆ ตัวและหนทางในการเอาชนะความท้าทายนั้น แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ประชากร สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และอาหาร ซึ่งทีม TCDC ใช้งานวิจัยเก่าๆ ที่พวกเขาค้นคว้าเอามานำเสนอแบบสนุกสนานในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต

“เราทำให้ห้องนี้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของไอเดีย แต่ละแผนกพูดถึงความท้าทายในแต่ละด้าน คนสามารถเดินเข้าไปหยิบจับดูได้และคิดว่าเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

“ต่อไปประชากรจะเพิ่มขึ้นในขณะที่อาหารจะขาดแคลน อีสานจะทำยังไงหรือจะเป็นทางเลือกทางอาหารให้กับโลกนี้ได้ยังไง มีโอกาสไหนที่จะต่อยอดได้บ้าง เราก็เอาข้อมูลจากที่นักโภชนาการวิจัยว่าสาหร่ายน้ำจืดเป็นซูเปอร์ฟู้ดมาประกอบ” กระแต่เล่า

บอลเล่าต่อว่าความท้าทายด้านที่สองคือด้านประชากร ซึ่งหนีไม่พ้นประเด็นผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้น ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังมีทักษะและภูมิปัญญาที่แบ่งปันได้ นิทรรศการจึงเล่าตัวอย่างในการเตรียมอนาคตให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ ทั้งที่พัก อุปกรณ์ กิจกรรม และการทำงานที่เหมาะสม รวมถึงเรื่องที่ว่าหากผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นจนแรงงานขาดแคลน เครื่องมือเครื่องจักรจะเข้ามาช่วยเติมเต็มยังไงได้บ้าง

ในส่วนของสิ่งแวดล้อมนั้น นิทรรศการหยิบเรื่องความแล้ง ซึ่งเป็นความท้าทายตลอดกาลของอีสานมาเล่า

“เรานึกถึงว่าสังคมเกษตรจะอยู่ยังไง ถ้าปลูกผักต้องปลูกแบบไหนถึงจะเหมาะกับภูมิประเทศ หรือเทคโนโลยีแบบไหนที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงด้านเกษตรกรรมได้” บอลอธิบาย

และท้ายที่สุด ประเด็นวัฒนธรรม บอลเห็นว่าความท้าทายหลักคือจะรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ได้อย่างไรในโลกโลกาภิวัตน์

ทั้งหมดที่พวกเขาเล่ามาเป็นเพียงไอเดียส่วนหนึ่งเท่านั้น รวมถึงอนาคตที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนคือการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุดซึ่งเกิดจากคนอีสาน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เอง ดังเช่นชาวบ้านที่พาผีตาโขนวิวัฒน์มาถึงปัจจุบัน ชาวบุรีรัมย์เจ้าของ B-STAY และลูกอีสานคนอื่นๆ ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านตัวเองอย่างแข็งขัน ทั้งหมดรวมกันคล้ายจะบอกว่า LOOK ISAN NOW จงมองมาที่ลูกอีสานในวันนี้ พวกเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


นิทรรศการ LOOK ISAN NOW จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 26 กรกฎาคม 2563 ณ TCDC ขอนแก่น (ปิดทำการตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19) ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ tcdc.or.th หรือเพจ TCDC Khon Kaen

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

ธีรชัย ลัญจกรสิริพันธ์

ช่างภาพสายฮา สำนักหมี ไล่ขยี้ แมลงสาบ รองเท้าไม่ใส่ ไสไม้เป็นงานอดิเรก เวลาพักเบรกขับแม็กโคร โอ้โห คราฟต์เบียร์ ชอบกินลาบ ติ๊กต็อก