“มันคือรูปของเขา แม้ว่าเราจะเป็นคนถ่าย” สอง รัฐนคร ผู้อยู่เบื้องหลัง Portrait of Songkhla

Highlights

  • เราได้พบกับ สอง–รัฐนคร ปิยะศิริโสฬส ครั้งแรกในฐานะศิลปินเจ้าของนิทรรศการ Portrait of Old Town ที่รวบรวมเอาภาพอาคารหลังสวยนับสิบมาโชว์
  • นอกเหนือจากอาชีพหลักคือการสานต่อธุรกิจ บ้านขนมไทยสอง-แสน ที่รับช่วงต่อมาจากคุณแม่แล้ว สองยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่จริงจังเกินจะเรียกว่างานอดิเรกไปมาก นั่นคือการเป็นช่างภาพ stock photo สายแลนด์สเคป ที่มักจะจัดทริปถ่ายภาพในต่างประเทศอย่างจริงจังปีละหลายครั้ง และยังเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญเบื้องหลังนิทรรศการภาพถ่ายครอบครัว 76 ครอบครัวชาวสงขลา ซึ่งเป็นนิทรรศการหลักของ Portrait of Songkhla
  • “ตลอดหลายปีที่ผมถ่ายภาพมา มันคือถ่ายภาพเพื่อสนองความต้องการตัวเอง เราอยากไปถ่ายแสงเหนือ ถ่ายภูเขาไฟ ถ่ายทะเลทราย ถ่ายน้ำตก เราก็ไป มันอยู่ที่เราทั้งนั้นเลย แต่โปรเจกต์นี้นอกจากที่ผมจะอยากให้ภาพมันออกมาสวย ก็ต้องคิดถึงความสมบูรณ์ของภาพด้วย เพราะนี่มันคือรูปของเขา แม้ว่าเราจะเป็นคนถ่ายและมีชื่อเราอยู่ใต้รูป แต่หน้าที่ของเราคือต้องทำยังไงก็ได้เพื่อให้ครอบครัวเขาแสดงความสุขออกมาผ่านรูปให้ได้ เพื่อที่ภาพนี้จะได้กลับไปอยู่ที่บ้านของเขาได้อย่างมีความสุขเช่นกัน”

คงจะดีถ้าแพสชั่นของเราสามารถสร้างรายได้เสริมเข้าบัญชี ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวรอบตัวมากขึ้น และยังได้ทำความรู้จักตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ สอง–รัฐนคร ปิยะศิริโสฬส ได้รับจากการถ่ายภาพ

Portrait of Songkhla

เราได้พบกับสองครั้งแรกที่แกลเลอรีน้องใหม่ในย่านเมืองเก่าสงขลา ในฐานะเจ้าของพื้นที่และศิลปินเจ้าของนิทรรศการ Portrait of Old Town ที่รวบรวมเอาภาพอาคารหลังสวยนับสิบมาโชว์ ป้ายชื่องานที่ตั้งอยู่ด้านหน้าบอกกับเราว่านี่คือส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหญ่ที่มีชื่อคล้ายกัน

Portrait of Songkhla ประกอบไปด้วยนิทรรศการภาพถ่ายเล็ก-ใหญ่ที่ผุดขึ้นทั่วเขตเมืองเก่าสงขลา มีตั้งแต่ภาพ 76 ครอบครัวที่เป็นนิทรรศการหลัก ไปจนถึงนิทรรศการรวมภาพถ่ายผู้หญิงสงขลา อาหารสงขลา แมวสงขลา และอีกสารพัดแง่มุมเกี่ยวกับสงขลาเท่าที่รูปถ่ายจะสามารถถ่ายทอดได้ ซึ่ง Portrait of Old Town คือหนึ่งในนั้น

จากการพูดคุยสั้นๆ เกี่ยวกับนิทรรศการส่วนตัวของสอง ทำให้เราได้รู้จักแง่มุมสนุกๆ ในชีวิตของเขาหลายอย่าง

นอกเหนือจากอาชีพหลักคือการสานต่อธุรกิจ บ้านขนมไทยสอง-แสน ที่รับช่วงต่อมาจากคุณแม่แล้ว สองยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่จริงจังเกินจะเรียกว่างานอดิเรกไปมาก นั่นคือการเป็นช่างภาพ stock photo สายแลนด์สเคป ที่มักจัดทริปถ่ายภาพในต่างประเทศอย่างจริงจังปีละหลายครั้ง

ด้วยดีกรีช่างภาพที่เชี่ยวชาญการบันทึกภาพวิวทิวทัศน์ ทำให้เราคาดไม่ถึงว่าเขาคนนี้จะเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญเบื้องหลังนิทรรศการหลักซึ่งเป็นภาพถ่ายครอบครัว และนั่นเองคือเหตุผลที่เราได้พบสองอีกครั้งบนเวทีงานเปิดตัว Portrait of Songkhla ที่เกิดขึ้นราวหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่เราแยกย้ายกับสองที่แกลเลอรีของเขา 

จากบทสนทนาขนาดสั้นในตอนนั้น ถูกต่อยอดสู่คำถามอีกมากมายที่ทำให้เราได้นั่งคุยกับสองยาวๆ ถึงชีวิตหลังเลนส์กล้อง ตั้งแต่แรงบันดาลใจที่เขาซื้อกล้องตัวแรก จนถึงบทเรียนล่าสุดที่เขาได้ซึมซับจาก Portrait of Songkhla

 

เริ่มสนใจการถ่ายภาพครั้งแรกตอนไหน

ตอนนั้นผมเรียนปริญญาตรีอยู่ที่ลาดกระบัง มีอยู่วันหนึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามถนนเขาก็จะมีการติดไฟประดับใช่ไหม ผมก็เดินขึ้นสะพานลอยแถวมหา’ลัยไปเจอเด็กสถาปัตย์ตั้งกล้องถ่ายรูปอยู่ ตอนนั้นเห็นแล้วสงสัยเลยเดินเข้าไปถามเรื่องการถ่ายรูป เขาเลยเปิดให้ดูสิ่งที่เขาถ่าย จากถนนโล่งๆ ถ้าเราเปิดสปีดชัตเตอร์นานๆ จะเห็นไฟท้ายรถวิ่งเป็นเส้นเลย ซึ่งสิ่งนั้นทำให้เราตื่นเต้นมาก เราไม่เคยรู้จักหลักการรวมแสงของกล้องซึ่งทำให้เกิดเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

 

พอเริ่มสนใจแล้วคุณทำยังไงต่อ

หลังจากวันนั้นก็กลับไปตัดสินใจซื้อกล้องคอมแพกต์มาตัวหนึ่ง แล้วก็ถ่ายไปเรื่อย มีแฟนก็ถ่ายแฟน ไปเที่ยวก็ถ่ายเก็บไว้ ถ่ายเอาสนุกล้วนๆ ยังไม่ได้จริงจังอะไร

แล้วหันมาเอาจริงเอาจังทางนี้ได้ยังไง

จนเรียนจบปริญญาตรี แม่ก็อยากให้ลงมาช่วยงานที่บ้าน ผมกลับมาทำอยู่สักพักหนึ่งก็ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท สาขา MBA เพิ่มที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะเราก็ไม่ได้อยู่สงขลามานานแล้วตั้งแต่จบมัธยมต้น เลยอยากได้ทั้งความรู้และคอนเนกชั่นเพิ่มเพื่อช่วยในการทำร้าน 

แต่ด้วยความที่เราจะได้เจอเพื่อนปริญญาโทแค่ตอนไปเรียนที่หาดใหญ่วันเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาผมอยู่เฝ้าร้านที่สงขลาซึ่งมันค่อนข้างเงียบ เราเองก็ไม่ค่อยมีเพื่อนที่นี่อยู่แล้ว ก็เลยเริ่มออกไปถ่ายรูปตอนเช้ากับตอนเย็นเพื่อหาอะไรทำ ได้รูปกลับมาก็หัดทำรูปและโพสต์ลงในเว็บไซต์ของคนถ่ายรูปสมัยนั้น แต่ก็ต้องบอกว่าฝีมือเราตอนนั้นมันยังใช้ไม่ได้หรอก เรียกได้ว่าถ่ายไม่เป็นเลย แต่พอเราเริ่มได้รับคำแนะนำจากคนที่เขามีประสบการณ์ มันก็ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น

 

หลังจากนั้นคุณขยับมาสู่การหารายได้จากการถ่ายภาพได้ยังไง

มันเกิดจากความคิดที่ว่า ผมไม่อยากเป็นศิลปินไส้แห้ง (หัวเราะ) ตอนนั้นผมตั้งทีมไปประกวดถ่ายภาพกับคนในเว็บไซต์ ซึ่งรอบชิงชนะเลิศเขาจะให้ 4 ทีมสุดท้ายไปถ่ายกันที่ประเทศลาว ทีมของผมตกรอบไปก่อน เลยไม่อยู่ในรายชื่อที่จะได้ไป แต่บังเอิญว่าเขามีที่นั่งเหลือ เราก็เข้าไปลองขอเขาดู สุดท้ายก็ได้ตามไปด้วย 

ทริปนั้นทำให้ผมได้เห็นการทำงานของช่างภาพระดับโปรจริงๆ เป็นครั้งแรก แล้วก็มีโอกาสได้ถามพี่ช่างภาพคนหนึ่งว่า มันมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เราสามารถถ่ายรูปต่อไปได้เรื่อยๆ และมีรายได้กลับมาด้วย แกเลยแนะนำให้ผมรู้จัก Shutterstock ซึ่งคนที่ผมเข้าไปคุยด้วยตอนนั้นคือช่างภาพคนแรกในเมืองไทยที่ทำรายได้จากการถ่าย stock photo ได้ถึงล้านบาท หลังจากนั้นผมก็เลยได้รู้จักการขายภาพ และได้รู้ว่ามันทำเงินได้นะ

ผลประกอบการช่วงแรกที่เริ่มลงภาพขายเป็นยังไง

ผมเริ่มสมัครเว็บไซต์ stock photo ตอนปี 2009 แต่ภาพที่เรามีในมือตอนนั้นมีแต่ที่ถ่ายตามใจตัวเอง มันยังไม่เข้าตลาด วันหนึ่งจึงขายได้แค่ 3-5 บาท แต่ในใจตอนนั้นเราก็รู้แล้วว่ามันมีคนที่เขาถ่ายได้เป็นหมื่นเป็นแสนอยู่นะ เราเคยเห็นคนที่เขาบินไปถ่ายวิวที่ต่างประเทศด้วย รูปหนึ่งที่เราจำได้เลยก็คือเจดีย์ที่พุกาม โอ้โห มันสวยมากนะ 

จนวันหนึ่งพอมีเพื่อนมาชวนไปถ่ายรูปที่พุกาม ผมก็ตกลงไปเลย ถึงจะยังไม่ได้เก่งมากแต่รูปจากทริปนั้นมันก็ใช้งานได้อยู่ เคยมีแมกกาซีนซื้อไปใช้ ทำให้ผมรู้ว่ามันคงเริ่มเข้าทางแล้ว ทริปนั้นเราลงทุนไปประมาณเก้าพันบาท จนถึงตอนนี้น่าจะขายไปได้ห้าหมื่นบาทแล้ว เพราะหลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาซื้อเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ยังขายได้อยู่เลย

 

หลังจากนั้นก็บินไปถ่ายรูปที่ต่างประเทศเรื่อยๆ เลยหรือเปล่า

ใช่ หลังจากถ่ายพม่าเสร็จก็ขยับไปอินโดนีเซีย ผมจะเลือกตามจุดหมายที่เราชอบก่อน เพราะคิดว่าถ้าได้ถ่ายในสิ่งที่ชอบ เราก็มีกำลังใจที่จะต้องตื่นเช้าไปถ่าย

 

จนถึงตอนนี้คุณไปทริปถ่ายภาพมาแล้วกี่ประเทศทั่วโลก

น่าจะเกือบ 30 ประเทศ ที่ไกลที่สุดคือไอซ์แลนด์ ซึ่งผมไปถ่ายมาสองรอบ รอบแรกไปตอนฤดูหนาวเพื่อถ่ายแสงเหนือ ส่วนอีกรอบไปถ่ายน้ำตกและธรรมชาติตอนฤดูร้อน

เวลาจัดทริปผมจัดการเองหมดเลย อย่างทริปนั้นเราไปสอบใบขับขี่สากล เช่ารถบ้าน แล้วก็ขับกันเอง ซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาทำกินเอง ซึ่งช่วยให้ต้นทุนค่าทริปเราไม่สูงมาก

แล้วรายได้ที่กลับมาจากการขายภาพคุ้มทุนหรือเปล่า

มีภาพถ่ายใบหนึ่งจากทริปไอซ์แลนด์ที่ตอนนี้ขายได้ไปแล้วประมาณแสนห้า

 

คุ้มมากเลยนะ

ใช่ ก็เลยตัดสินใจกลับไปถ่ายซัมเมอร์ใหม่อีกรอบ (หัวเราะ) แต่รอบหลังนี่โหดมากนะ มีวันหนึ่งเราไปถ่ายพระอาทิตย์ตกที่น้ำตกแห่งหนึ่ง พอถ่ายเสร็จก็ต้องรีบขับไปเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่น้ำตกอีกแห่ง ซึ่งเรามีเวลาแค่ประมาณ 50 นาทีเท่านั้นเอง เพราะเป็นช่วงฤดูร้อนที่เขาเรียกกันว่าพระอาทิตย์เที่ยงคืน ซึ่งฟ้าก็จะไม่มืดสนิทนะ

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งภาพของเราจะทำรายได้เป็นหลักแสนบาท

ตอนแรกผมแค่คิดว่าจะเอาเงินตรงนี้มาจ่ายค่ามือถือ ค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือน แต่พอเราออกไปถ่ายมากขึ้นก็ได้รู้จักอะไรๆ มากขึ้น ผมคิดว่าถ้าจะอยู่กับมันให้ได้นานๆ ก็ต้องทำให้มันเลี้ยงตัวเองได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเราต้องเอาเงินจากรายได้ของที่ร้านไปซื้อกล้อง ซื้ออุปกรณ์ถ่ายรูปอย่างเดียว

 

แล้วยังถ่ายรูปในสงขลาอยู่ไหม

ยังถ่ายอยู่ เพราะในสงขลามันก็เหมือนเป็นแหล่งพัฒนาฝีมือเรา เวลาผมได้อุปกรณ์ใหม่ๆ มาก็จะตระเวนไปจุดต่างๆ ในสงขลาเพื่อทดลองใช้ ทดลองไอเดีย เมื่อก่อนจะชอบไปถ่ายที่เก้าเส้ง บางคนเรียกผมว่าสองเจ้าพ่อเก้าเส้งเพราะไปบ่อยมาก ชอบโดนแซวว่าไปอีกแล้วเหรอ ผมชอบเก้าเส้งเพราะมันจะมีเรือจอดอยู่เป็นฉากหน้า ยิ่งแสงเช้าจะสวยมาก เลยพยายามไปฝึกถ่ายที่นั่นซ้ำๆ

 

การมีสงขลาเป็นแหล่งพัฒนาฝีมือ ทำให้เรารู้จักบ้านเกิดมากขึ้นไหม

แน่นอน ปกติผมก็ตื่น 8-9 โมงแล้วก็นั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน ไม่เคยตื่นเช้าไปตระเวนข้างนอกเลย จนมีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปถ่ายรูปตอนเช้าแถวริมทะเลแล้วเจอคนจูงวัวมาเดิน เราก็สงสัยว่าเขามาจูงวัวตรงนี้ทำไม ตอนหลังถึงได้รู้ว่าสงขลาเรามีวัวชน ซึ่งดังมากด้วย แม้แต่ทีมฟุตบอลของเรายังตั้งชื่อว่าวัวชนแดนใต้เลย และที่เขาพาวัวออกมาเดินก็เพื่อฝึกกล้ามเนื้อด้วยการเดินบนทราย ก่อนที่จะส่งไปแข่ง

เคยมีมุมไหนในสงขลาที่เราค้นพบเองจากการถ่ายรูปไหม

ส่วนตัวผมชอบภาพตัวเมืองสงขลาที่ถ่ายย้อนเข้ามาจากเกาะยอ มันจะเห็นเขาตังกวนของสงขลา ส่วนด้านหน้าเป็นเรือประมง มุมนี้เป็นมุมที่ผมชอบมากแต่มีคนถ่ายน้อยมาก

 

ติดใจอะไรในการถ่ายภาพแลนด์สเคป

ผมเคยลองถ่ายภาพหลายแนวนะ เคยลองถ่ายรับปริญญา แต่ไม่ชอบเจอหรือเบียดคนเยอะๆ เพราะรู้สึกว่าเราจะใช้ความคิดไม่ได้ แล้วก็เคยลองถ่ายพรีเวดดิ้ง ลองถ่ายนู้ดด้วยนะ แต่ก็ไม่ชอบเหมือนกันเพราะถ่ายแล้วยิ่งเครียด มันไม่ถูกจริต มันไม่ท้าทาย ต่างจากเวลาเราไปถ่ายวิวทิวทัศน์โล่งๆ มันทำให้เราได้ผ่อนคลายและได้ใช้สมองคิด

 

การถ่ายแลนด์สเคปท้าทายความคิดคุณยังไง

เวลาถ่ายมันมีตัวแปรเยอะมากที่เกี่ยวข้อง เราต้องสังเกตทิศทางแสง ลม ฝน เมฆ ไม่อย่างนั้นบางทีไปถึงแล้วก็อาจจะไม่ได้รูปกลับมา เพราะเราไปผิดวันไง มันมีฝนมาก่อนแล้วเลยไม่มีหมอก แดดไม่แรงพอ ผมว่าพวกนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก นอกจากเราจะต้องดูออกแล้วก็ต้องมีดวงด้วย (หัวเราะ)

อย่างที่หาดใหญ่จะมีทะเลหมอก ซึ่งจะได้เห็นแค่ตอนเช้าหลังจากที่ฝนตกหนักๆ วันรุ่งขึ้นก็อาจมีทะเลหมอก แต่มันก็ไม่ได้มีตลอด มีบ้างไม่มีบ้าง ผมเองเคยไปทะเลหมอกที่หาดใหญ่มาแล้วร่วม 40 ครั้งเลยนะ ฝนตกเมื่อไหร่วันรุ่งขึ้นเราก็ไป ต้องออกจากสงขลาประมาณตีสี่ครึ่ง กว่าจะไปถึงและเดินขึ้นไปก็พอดีตีห้าครึ่ง แล้วเราก็ตั้งกล้องรอจังหวะพระอาทิตย์ขึ้น ต้องรอก่อนนะ ถ้ารีบตั้งตอนถ่ายเราจะล่ก

 

อะไรคือแรงบันดาลใจให้คุณตั้งกลุ่มช่างภาพสงขลาขึ้นมา

ยุคก่อนเรามีเว็บไซต์และเว็บบอร์ดต่างๆ สำหรับพูดคุยและแชร์ภาพถ่ายกันเยอะมาก แต่ทั้งหมดก็โดน disrupt ไปโดยเฟซบุ๊ก ช่วง 7-8 ปีก่อนผมจึงคุยกับเพื่อนดูว่าเราน่าจะทำกลุ่มขึ้นมาใหม่ในเฟซบุ๊กนะ แล้วก็ตั้งขึ้นมาเลยโดยใช้ชื่อว่า แลนด์บ้าง ไลฟ์บ้าง พิกัดสงขลา นอกจากแชร์ภาพแล้วเราก็แชร์โลเคชั่นในการถ่าย ชวนคนไปถ่ายรูปด้วยกัน บางครั้งช่วงที่มีเวลาผมก็พยายามทำคลิปสอนแต่งภาพเพื่อแชร์ความรู้กันในกรุ๊ป

 

แล้วกลุ่มนี้กลายมาเป็นกำลังสำคัญของงาน Portrait of Songkhla ได้ยังไง

ผมได้ยินเกี่ยวกับงานนี้ครั้งแรกตอนที่พี่เอ๋ (ปกรณ์ รุจิระวิไล) มาชวน คือเรารู้จักกันอยู่แล้วเพราะบ้านอยู่ใกล้กันมาก แม้จะไม่ได้สนิทกันแต่เขาก็เห็นเราโพสต์รูปถ่ายในเฟซบุ๊กอยู่ตลอด พอมีโปรเจกต์นี้เข้ามาเขาจึงนึกถึงเราเป็นคนแรก เพราะสโคปของงานนี้อยู่ในพื้นที่เมืองเก่าสงขลาบ้านเราอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงเป็นหน้าที่เราในการคัดเลือกทีมช่างภาพสงขลาที่จะเข้ามาร่วมงานกันในโปรเจกต์นี้

 

คุณเคยมีประสบการณ์ถ่ายภาพพอร์เทรตมาก่อนไหม

ผมเคยถ่าย แต่มันก็ต่างกันตรงที่งานนี้เราต้องเข้าไปขอให้เขาถ่าย ขอให้เขายิ้ม ผมอาจไม่ถนัดเรื่องการสื่อสารเท่าไหร่ ซึ่งทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงก็เข้ามาช่วยทำให้เรากระจ่างขึ้นว่าแนวทางมันควรจะเป็นแบบไหน

Portrait of Songkhla

สิ่งที่คิดตอนแรกกับหน้างานจริงต่างกันไหม

ตอนแรกพี่ตุลย์ (ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์) กับพี่โต้ (วิรุนันท์ ชิตเดชะ) จะถ่ายให้ดูก่อน เราตามไปดูแล้วก็คิดในใจว่ามันคงไม่ยากมาก แต่พอถึงคิวที่พวกเราต้องถ่ายเอง แค่ดูภาพปุ๊บก็รู้เลยว่าใช้ไม่ได้ ต้องถ่ายใหม่แน่นอน วันนั้นผมทำหน้าที่ช่วยถือไฟและจัดบ้าน แต่บอกตรงๆ ว่าเราไอเดียเยอะเกินไปจนกลายเป็นว่ามันล้น ไม่เป็นธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

 

แล้วจริงๆ มันควรจะเป็นยังไง

ยกตัวอย่างตอนที่ผมไปถ่ายเองก็ได้ โจทย์แรกของผมคือร้านป้าบ่วย หรือร้านฮับเซ่ง ซึ่งตอนแรกที่รู้ว่าจะได้ไปถ่ายเราก็จินตนาการฟุ้งมาก อยากจะให้ป้าบ่วยยืนถือถาดใส่กาแฟน่ารักๆ ป๊อปๆ เหมือนถ่ายร้านกาแฟญี่ปุ่น ถ่ายคาเฟ่เกาหลี (หัวเราะ) แต่หลังจากนั้นพอเราเห็นภาพโปรเจกต์มากขึ้น เข้าใจงานมากขึ้น ก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดมันใช้ไม่ได้เพราะนั่นไม่ใช่ตัวเขา เราแค่ต้องพาเขามาอยู่ในเฟรม และช่วยจัดบรรยากาศให้มันมีความสุข แค่เขายิ้มได้โดยไม่เกร็งนั่นก็ถือว่าสำเร็จแล้วนะ

Portrait of Songkhla

ตลอดสี่เดือนที่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ อะไรคือบทเรียนสำคัญในฐานะช่างภาพ

ตลอดหลายปีที่ผมถ่ายภาพมา มันคือถ่ายภาพเพื่อสนองความต้องการตัวเอง เราอยากไปถ่ายแสงเหนือ ถ่ายภูเขาไฟ ถ่ายทะเลทราย ถ่ายน้ำตก เราก็ไป มันอยู่ที่เราทั้งนั้นเลย แต่โปรเจกต์นี้นอกจากที่ผมจะอยากให้ภาพมันออกมาสวย ก็ต้องคิดถึงความสมบูรณ์ของภาพด้วย เพราะนี่มันคือรูปของเขา แม้ว่าเราจะเป็นคนถ่ายและมีชื่อเราอยู่ใต้รูป แต่หน้าที่ของเราคือต้องทำยังไงก็ได้เพื่อให้ครอบครัวเขาแสดงความสุขออกมาผ่านรูปของเรา เพื่อที่ภาพนี้จะได้กลับไปอยู่ที่บ้านของเขาได้อย่างมีความสุขเช่นกัน

ยกตัวอย่างวันที่เราต้องไปถ่ายร้านโรตีอาม่า ซึ่งเราเข้าไปถ่ายได้ช่วงสามทุ่มหลังร้านปิด แต่ช่วงที่ใกล้ปิดร้าน อยู่ๆ ก็เกิดดราม่าในครอบครัวเขา เพราะลูกชายหันไปทักว่าป๊าเสิร์ฟผิดโต๊ะ หลังจากนั้นอาม่าก็เริ่มบ่น ทีนี้พอร้านปิดก็เลยกลายเป็นว่าป๊าเขาก็ไม่ยอมออกมาถ่าย 

ตอนแรกน้องช่างภาพบอกว่าไม่เป็นไรพี่ ถ่ายเท่าที่ได้ก็แล้วกัน แต่ผมว่ามันไม่ได้ ถ้าขาดป๊าของเขาแล้วจะเป็นภาพครอบครัวได้ยังไง ผมก็เลยให้เขาจัดท่าคนอื่นไปก่อน ส่วนเราก็เดินเข้าชาร์จป๊าเลย ผมกอดคอแล้วก็คุยกับเขา จนสุดท้ายแกก็ยอมเดินกลับมา และกลายเป็นว่าในภาพนั้นป๊าคือคนที่แฮปปี้ที่สุด ชูไม้ชูมือใหญ่เลย 

Portrait of Songkhla

Portrait of Songkhla

ตอนที่ถือแฟลชอยู่เราน้ำตาซึมเลยนะ มันเป็นวันที่ได้รู้ว่าทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลย แต่เราทำเพื่อให้ครอบครัวเขาได้มีภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด เราทิ้งอีโก้ของตัวเองไปหมดเลย ถ้าเป็นก่อนหน้านี้เราไม่มีทางจะเดินไปง้อให้คนมานั่งให้เราถ่ายภาพหรอก เขาไม่ถ่ายเหรอ ช่างเขาสิ แต่งานนี้มันไม่ใช่แล้ว เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ภาพของเขาสมบูรณ์และมีความสุขจริงๆ

 

สุดท้ายแล้วคุณคิดว่าภาพถ่ายนั้นให้อะไรกับสงขลาได้บ้าง

ผมเชื่อว่าภาพถ่ายทำให้เราเห็นความสำคัญของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือบุคคล มันทำให้เห็นได้ทั้งนั้นแหละ เพราะภาพมันเล่าอะไรได้เยอะมาก มันทำได้จริงๆ


Portrait of Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายที่รวบรวมเรื่องราวและภาพถ่ายกว่า 70 ครอบครัวชาวเมืองเก่าสงขลา จัดแสดงถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2563 ณ โรงสีแดง หับโห้หิน ถนนนครนอก

ส่วนนิทรรศการ Portrait of Old Town ซึ่งรวมภาพถ่ายตึกรามบ้านช่องสวยๆ ในเมืองเก่าสงขลาของสอง จัดแสดงถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ณ บ้านขนมไทยสอง-แสน Cafe and Gallery of Songkhla (ชั้น 2)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กนก สุไลมัน

ช่างภาพในสังกัด Gallery Of Songkhla