ซอย แพลตฟอร์มที่นำเสนอความรู้แห่งยุคสมัยที่เมืองไทยยังไม่ค่อยพูดถึง

หนังสือเล่มนี้อุทิศแก่ผู้ที่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองดีพอ
หากไม่ขาดวิ่นบิ่นแหว่งก็ท่วมท้นล้นเกินอยู่เสมอ

ฉันเปิดอ่านหนังสือขนาดกะทัดรัดปกสีสันสดใสจากลายเส้น juli baker and summer ที่มีชื่อไทยอันไพเราะว่า แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์หนังสือ พอกันที ปิ(ด)ตาธิปไตย | Damned Be Patriarchy

นอกจากความแปลกใจกึ่งดีใจที่ได้ทราบว่าจะมีหนังสือเกี่ยวกับเพศวิถีให้อ่านจากการโปรโมตซีรีส์นี้เมื่อต้นปีนี้แล้ว เรายังได้ทำความรู้จักกับ ซอย | soi ที่ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นแพลตฟอร์มสองภาษาสำหรับการเขียน การเรียบเรียง และการตีพิมพ์ในสนามภาคขยาย ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์เกิดใหม่ที่มุ่งทำแต่หนังสือเท่านั้น

ที่มาของชื่อ ซอย นั้นคือคำไทยสั้นๆ ที่แสดงถึงจิตวิญญาณบางอย่าง ไม่เหมือนถนนที่ถูกคุมและวางผังเมืองโดย กทม. เป็นโครงสร้างอเนกประสงค์ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองตามการใช้งานของผู้คนที่อยู่อาศัย ถ้าอยากรู้จักวิถีชีวิตที่แท้จริงต้องเดินเข้าไปในซอยเล็กๆ คำว่า ซอย จึงเป็นการอุปมาถึงการสนใจความรู้ใกล้ตัว ซึ่งในขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความรู้อื่นๆ ที่ไกลตัวออกไปได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ซอย จึงยักย้ายได้หลายท่วงท่า พร้อมต่อขยายและแผ่สาขาสร้างเครือข่ายของนักเขียน เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถทำและเป็นได้หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน

จากจุดเริ่มต้นโดย เจน–จุฑา สุวรรณมงคล บรรณาธิการบริหารของซอย และการประกอบร่างสร้างขึ้นของทีมงานคนอื่นๆ อย่าง เพลิน–ปาลิน อังศุสิงห์, บิ๊ก–ขจรยศ แย้มประดิษฐ์,  เพ้นท์–ชญานิน ไทยจงรักษ์ และ มุก–มุกดาภา ยั่งยืนภราดร ทำให้ซอยเป็นซอยในแบบที่เราเห็น

แม้ว่าหลายคนจะรู้จักที่นี่จากภาพสำนักพิมพ์ที่มีผลงานหนังสือข้องเกี่ยวกับประเด็นการเมืองกับสังคมอย่าง รวมบทความของฮิโตะ ชไตเยิร์ล: ประเด็นชั่ยๆ ของยุคสมัยในความเกี่ยวดองของ #เทคโนโลยี #ศิลปะ และ #การทหาร, ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99% | FEMINISM FOR THE 99% และหนังสือเล่มข้างต้นที่เรากล่าวถึงไป แต่ความจริงแล้ว ซอย | soi ประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ ได้แก่ ซอยสำนักพิมพ์, ซอยวรรณกรรม และซอยสตูดิโอ ที่ต่างส่งเสริมกันและกัน

สามส่วนนี้ทำงานร่วมกันยังไง และในขณะที่สังคมไทยเริ่มตื่นตัวและสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นสังคมต่างๆ ซอยมุ่งหวังจะสร้างชิ้นงานและแรงกระเพื่อมใดบ้าง เรามาคุยกับพวกเขากัน

คุณเน้นย้ำว่าซอยไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์ แต่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเขียน การเรียบเรียง และการตีพิมพ์ อะไรทำให้คุณวางบทบาทซอยไว้หลากหลายเช่นนี้

เจน : เวลาคนเข้าใจว่าเราเป็นสำนักพิมพ์ ปฏิกิริยาจำนวนหนึ่งที่ได้กลับมาคือการบอกว่าทำไมเปิดสำนักพิมพ์ตอนนี้ ซึ่งอันนี้คือประเด็นการมองอย่าง binary คือมีแค่ออฟไลน์กับออนไลน์ และโลกของเราตอนนี้อยู่บนออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นการมองไม่ตรงความจริงสักทีเดียว

อย่าลืมว่าจริงๆ แล้วทั้งออนไลน์กับออฟไลน์มันเชื่อมและ inform ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเมื่อโลกออนไลน์ยิ่งคึกคักมากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งต้องการข้อมูล แล้วเรายังเชื่อว่าหนังสือคือมีเดียที่ทำงานกับคน ดังนั้นปัญหาคือมันไม่ใช่ว่าการเป็น publisher จะเป็นไปไม่ได้แล้ว เหมือนกับสื่อมวลชนที่ยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่คำถามสำคัญคือเราจะเป็น publisher แบบไหนที่ยังจำเป็นและสามารถทำงานขนานไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ นี่คือไอเดียกว้างๆ ที่เราพยายามทำความเข้าใจ ฉะนั้นตอนที่ทำซอยเรารู้ว่ามันมีสำนักพิมพ์อยู่ในนั้น แต่เราอยากจะขยายพื้นที่ของการทำงานให้มากกว่าแค่การพิมพ์หนังสือแล้วขายไป

มากกว่าสำนักพิมพ์ยังไงบ้าง

เจน : อันดับแรก เราทำงานสองภาษาไปด้วยกัน ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ นั่นหมายความว่าถ้าเป็นการแปลมันเป็นการแปลทั้งสองทาง ทั้งจากภาษาอื่นเป็นภาษาไทยและจากภาษาไทยเป็นภาษาอื่น และสามส่วนที่ซอยมี ได้แก่

ส่วนแรกคือ ซอยสำนักพิมพ์ (soi press) ที่มุกดูแล สำนักพิมพ์คงเป็นภาพที่คนรู้จักมากที่สุด เพราะผลงานมันเกิดขึ้นให้เห็นเป็นชิ้นอัน เรารู้สึกว่ายังไม่มีสำนักพิมพ์ที่จับประเด็นร่วมสมัยและเป็นการเมืองวัฒนธรรมที่เราสนใจ เราทำงานกับองค์ความรู้ที่น่าสนใจและควรถูกเผยแพร่ออกมา งานของนักคิดที่เรายังไม่เคยเห็นงานเขาถูกแปลเป็นภาษาไทย รวมถึงในอนาคตเราก็อยากทำคอลเลคชั่นบทความมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่การเลือกหนังสือมาเป็นเล่มๆ แต่เป็นการเลือกบทความจากนักเขียนต่างๆ อย่าง ฮิโตะฯ หนังสือเล่มแรกของเราก็ทำอะไรคล้ายๆ อย่างนั้น มันคือการเลือกบทความจากที่ต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง ซึ่งกระบวนการเลือกนี้ก็คือการเมืองในการผลิตความรู้ และเราก็ตั้งเป้าหมายว่าอยากทำงานกับนักเขียนไทยด้วย แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะออกมาให้เห็น

ส่วนที่สองคือ ซอยวรรณกรรม (soi literary) ที่เพลินดูแล ถ้าอธิบายแบบหยาบๆ มันคือการทำงานแบบกลับกันจากส่วนแรก คือเราเอางานภาษาไทยไปแปลงเป็นภาษาอื่น เป็นโครงสร้างที่มาจาก literary agency ในต่างประเทศ โมเดลปกติที่พอเห็นจะเป็นเอเจนซี่ลักษณะที่นำหนังสือจากข้างนอกมาขายลิขสิทธิ์ในไทยเฉยๆ ยังไม่มีการนำหนังสือไทยไปสู่ที่อื่นอย่างเป็นกิจจลักษณะ ซึ่งทั้ง soi press กับ soi literary เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการตีพิมพ์โดยตรง แต่ก็อย่างที่บอกว่าซอยไม่ได้เรียกตัวเองว่าสำนักพิมพ์ เพราะเราสนใจการเขียน การทำงานบรรณาธิการ และการพิมพ์ในทุกความเป็นไปได้ด้วย

ส่วนที่สามของซอยก็เลยมีชื่อว่า soi studio ไว้ทำงานเชิงทดลองและคอลแล็บกับคนอื่นๆ ซึ่งส่วนนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใกล้ตัวเราเพราะก่อนหน้านี้เราทำงานในโลกศิลปะ วิชวลอาร์ต เป็นนักเขียน ทำงานบรรณาธิการ และนักวิจารณ์ที่พื้นที่ตรงนั้นต้องไปเชื่อมต่อกับโลกศิลปะ อย่างหนึ่งที่เราชอบในพื้นที่ศิลปะคือการเปิดทางให้ถามคำถามที่เป็นคำถามเชิงทดลอง เป็นคำถามแบบ what if เลยคิดว่าตรงนี้ควรเป็นพื้นที่ที่รักษาไว้ เพื่อทำให้งานของซอยมันมีมิติที่ไปแตะกับคนอื่นหรือศาสตร์อื่น เราไม่จำเป็นต้องร่วมงานกับแค่นักเขียนหรือบรรณาธิการ เราอาจจะทำงานกับสถาปนิกหรือมิวเซียมสักที่ก็ได้ โดยผลงานที่ออกมาไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือ จะเป็นกิจกรรม เวิร์กช็อป เสวนา หรือการรีเสิร์ชเพื่อส่งต่อข้อมูลให้ทีมอื่นๆ ไปต่อยอดผลิตอะไรก็ได้ ทีแรกเราตั้งใจจะทำอีเวนต์ แต่ก็ต้องพับไปก่อนเพราะโควิด-19 

soi literary คัดเลือกงานเขียนไทยไปนำเสนอกับ publisher ต่างประเทศยังไง

เจน : เราจะเลือกกันเองแล้วค่อยไปคุยกับตัวนักเขียน แต่ส่วนใหญ่จะมีนักเขียนที่เราทำงานด้วยอยู่แล้วอย่างอุทิศ เหมะมูล ภู กระดาษ หรือสะอาด ซึ่งพวกเขาจะให้สิทธิว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่งานของเขาแปลงเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทยก็ให้เรามาดูแลได้เลย เริ่มจากงานเขียนชิ้นเดียวก่อน พอเห็นว่าเราดูแลงานเขาได้ก็จะเริ่มให้เราดูแลชิ้นอื่นๆ ไปด้วย

คุณคาดหวังให้วรรณกรรมไทยมีที่ทางแบบไหนในพื้นที่วรรณกรรมโลก

เจน : เราอยากให้วรรณกรรมไทยหลายๆ ชิ้นได้รับการเผยแพร่ในภาษาอื่นๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะงานที่เราชอบ เพราะในฐานะผู้จัดพิมพ์คิดว่ามันต้องไม่ใช่รสนิยมของเราคนเดียว มันมีหลายปัจจัยในการประเมินงานสักชิ้น แต่หลักๆ เราคิดว่าวรรณกรรมไทยควรมีที่ทางมากกว่านี้

แปลว่าที่จริงแล้วงานเขียนไทยมีประสิทธิภาพไม่แพ้ชาติอื่น แต่แค่ยังไม่มีที่ทางออกไปสู่ต่างประเทศ

เจน : เราไม่เคยคิดว่านักเขียนไทยไม่มีประสิทธิภาพ และการวัดว่างานชิ้นนั้นหรือนักเขียนคนนั้นมีคุณภาพหรือไม่มันไม่ใช่การประเมินแบบรอบเดียวจบ มันต้องช่วยกันทั้งองคาพยพ นั่นหมายความว่านักเขียนจะมีกำลังใจทำงานก็ขึ้นอยู่กับส่วนอื่นๆ ที่สนับสนุนให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ทำมันมีทางไป ซึ่งไม่ได้หมายความนักเขียนต้องทำงานเพื่อขายได้อย่างเดียว คนต้องยอมรับว่าการมีที่ทางของงานเขียนมันเป็นพลังใจของคนเขียนจริงๆ ซึ่งที่ทางที่ว่าไม่ใช่หมายถึงตลาดอย่างเดียว เราหมายถึงวัฒนธรรมการอ่านและการวิจารณ์แลกเปลี่ยนด้วย

และอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนทำงานไม่ว่าจะงานเขียนหรืองานใดก็ตาม ถ้าทำงานออกไปแล้วไม่มีฟีดแบ็กกลับมา ไม่มีความเห็นหรือคำวิจารณ์ งานเขาจะพัฒนาได้ยังไง การจะบอกว่านักเขียนเก่ง-ไม่เก่ง เราต้องถามด้วยว่าเขาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เขาพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน ซึ่งเราก็พยายามร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ซอยเกิดขึ้นมาเพื่อเติมระบบนิเวศนี้ที่เราคิดว่ามันยังมีไม่เพียงพอ มันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนเดียว แต่มันต้องช่วยๆ กัน เรามองว่า publisher ไม่ใช่แค่พิมพ์งานขายแล้วจบไป อย่างซอยเองหวังที่จะแตะในทุกๆ ส่วน เราเริ่มอยากทำงานกับ publisher หรือสื่ออื่นๆ ในไทย เพราะเป็นสิ่งที่ยังขาดในโครงสร้างการอ่านการเขียนในประเทศที่แต่ละฝ่ายต้องแตะมือกันมากกว่านี้ ถ้ามีการพูดคุยและร่วมมือกันสร้างบรรยากาศการอ่านให้สนุกขึ้น ทำให้คนทั่วไปสนใจว่าพวกเราคุยเรื่องอะไร มันมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง สภาพแวดล้อมสำหรับนักเขียนก็อาจจะดีขึ้นตามไปด้วย

จากผลงานหนังสือที่ผ่านมา ซอยดูสนใจในประเด็นที่หลากหลาย แท้จริงแล้วซอยสนใจอะไรบ้าง

เจน : เราสนใจในสิ่งที่ร่วมสมัย สนใจปรากฏการณ์ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งเวลาบอกว่าสนใจความร่วมสมัย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกขาดจากกันอยู่แล้ว เวลาอธิบายกับคนอื่น เราจะบอกว่าซอยสนใจวัฒนธรรมร่วมสมัย วรรณกรรม และการเมืองทางวัฒนธรรม เราสนใจอะไรที่มีผลกับคน แต่ไม่ได้โฉ่งฉ่างชัดเจนว่ามันทำงานหรือกำกับควบคุมพฤติกรรมความคิดโลกทัศน์ของคนยังไง และเรารู้สึกว่ามันมีบทสนทนาและชุดความรู้ที่ควรจะทำให้แพร่หลาย อย่างน้อยมันเป็นสิ่งที่เราอยากคุยกับคน

ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็ส่งผลมาถึงวิธีการคัดสรรชิ้นงานมาแปลใช่ไหม

เจน : คิดว่าใช่ มันตั้งแต่ก่อนจะมีซอยด้วยซ้ำ เรามักสนใจว่าพฤติกรรมความคิดต่างๆ มันถูกสร้างโดยอะไรของคนบ้าง ทีนี้พอสิ่งที่สนใจมันกว้าง เราเลยรู้สึกว่าต้องค่อยๆ ยกประเด็นขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจงทีละประเด็น และคนเริ่มมารู้จักซอยช่วงปลายปีที่แล้วจนมาถึงปีนี้ ซีรีส์หนังสือ ‘Damned Be Patriarchy | พอกันที ปิ(ด) ตาธิปไตย’ ที่มุกทำอาจเป็นตัวเปิดที่ค่อนข้างทำให้คนได้ยินและนึกถึงชื่อซอย ซึ่งเราเข้าใจว่ามันไม่แปลกเพราะมันเป็นประเด็นหนึ่งที่คนกำลังคุยกันอยู่

ที่จริงแล้วความคิดที่จะทำสิ่งเหล่านี้เกิดมาก่อนที่จะมีมูฟเมนต์ในสังคมด้วยซ้ำ แต่พอมุกเข้ามาก็ช่วยทำให้กลายเป็นซีรีส์และไปได้เร็วขึ้น เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าซอยคำนึงถึงอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หลักๆ มันคือการผลิตความรู้ การตีพิมพ์ในขณะที่เป็น publisher คือเรากำลังผลิตอะไรสักอย่าง แล้วเหตุผลของการเลือก-ไม่เลือกผลิตคืออะไร มีความหมายอะไรในนั้นบ้าง ใครเป็นคนชี้ขาดว่าอะไรควรผลิตเป็นหนังสือ ควรเป็นสิ่งที่ถูกเล่าต่อ อะไรควรค่าที่จะถูกแปล นี่คือคำถามที่ถามอยู่ตลอดในทุกๆ ชิ้นงานที่จะเสนอสู่สังคม

soi press มีเกณฑ์การเลือกหนังสือยังไงบ้าง

มุก : ก่อนหน้านี้ที่เราจะมาทำงานส่วนซอยสำนักพิมพ์ เราวางตำแหน่งตัวเองเป็นนักอ่าน ชอบเดินดูในร้านหนังสือ มีครั้งหนึ่งเราไปเจอโซนหนังสือที่ใช้ชื่อชั้นว่า ‘ภูมิปัญญา’ ก็เลยลองไล่สายตาดูว่ามีหนังสืออะไรบ้าง ซึ่งน่าสนใจว่าหนังสือส่วนใหญ่มันมีแต่ชื่อนักเขียนที่เราคุ้นกัน เช่น นักปรัชญาที่เป็นผู้ชายหลายๆ คน พอถัดจากชั้นภูมิปัญญาเล็กๆ นี้ก็มีอีกสองชั้นใหญ่ที่เป็นโซนฮาวทูกับ self-help มันเลยทำให้เราตกตะกอนมานั่งคิดกับตัวเองว่าหน้าตาของหนังสือที่มีอยู่ในประเทศเราเป็นแบบไหนแล้วมันยังขาดอะไร มีอะไรที่เราสามารถเติมเข้าไปในชั้นที่เรียกว่าภูมิปัญญาหรือไม่ต้องเรียกว่าภูมิปัญญาแล้วด้วยซ้ำได้บ้างไหม

ก็เลยมาประจวบเหมาะกับการรวมหนังสือ 3-4 เล่มที่ซอยทำงานด้วยอยู่แล้วให้อยู่ภายใต้ประเด็นของวัฒนธรรมการวิพากษ์ และเป็นการเมืองของเรือนร่าง เรื่องของอัตลักษณ์ เพศสภาพ ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของ gender อย่างเดียว มันมีเรื่องการเมืองของชนชั้นด้วย เราคิดว่ามันเป็นกลุ่มของหนังสือที่ยังไม่เคยเห็นในบ้านเรามาก่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก็คิดว่ามันน่าจะถึงเวลาแล้วที่อย่างน้อยๆ เราสามารถเปิดประตูให้คนอ่านและคนอื่นๆ ในสังคมได้รู้ว่ามันมีหนังสือประเภทนี้อยู่ ซึ่งคนเขียนและคนแปลอาจเป็นชื่อที่คุณอาจไม่รู้จักมาก่อนด้วยซ้ำ แต่มันดีไม่แพ้หรือกระทั่งดีกว่าชื่อดังๆ หลายชื่อที่เราเคยเห็นกัน

กังวลไหมว่าหนังสือที่ทำออกมาจะยากหรือเฉพาะกลุ่มเกินไป

มุก : บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันมีความ niche ของมันอยู่ แต่เราไม่อยากตัดสินตัวเองว่าหนังสือเราจะ niche มากหรือ niche น้อย หรือมันสามารถแมสไหม เพราะเราทำหนังสือด้วยความเชื่อที่ว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องสนใจหรือเลือกอ่านมันตอนนี้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอะใจหรือสนใจขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่าจะไปหาจากไหน ก็จะมีหนังสือเหล่านี้วางไว้ในชั้น รอให้คุณเข้าถึงได้ แล้วมันก็สอดคล้องกับการทำงานของซอยที่เชื่อว่าการทำงานกับหนังสือหรืองานเขียนทุกอย่างมันตั้งอยู่บนฐานของเวลา มันไม่ใช่กิจกรรมที่เร่งเร้าเพื่อเข้าไปเอาหนังสือหยิบมาอ่านเสร็จจบ บางคนอาจได้ปะทะกับหนังสือเล่มหนึ่งในช่วงเวลานี้ แต่บางคนอาจไปปะทะกับมันในช่วงเวลาอื่นๆ ของชีวิต แล้วแต่ว่าเขาจะไปประสบกับเหตุการณ์อะไรที่ทำให้กลับมาสนใจหรือตั้งคำถาม

เราคงไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องการเมืองของเรือนร่างอย่างเดียว เพราะมันคือการพาดข้ามไปสู่หลายๆ ประเด็น แล้วแต่ว่าเราอยากเลือกอะไรเข้ามา หรือ ณ ตอนนั้นทีมกำลังสนใจประเด็นไหนอยู่ หรือเห็นว่าอะไรที่ร่วมสมัยแล้วยังไม่ได้แตกออกไปเป็นประเด็นเดียวโดดๆ ซึ่งเอาเข้าจริงสุดท้ายแล้วในงานชิ้นหนึ่งก็มีหลากหลายประเด็นให้กลับมามองด้วยเลนส์แบบนี้หรือเลนส์อีกแบบก็ได้ เราคิดว่างานที่เลือกมามีความหลากหลายและสมบูรณ์ในตัวของมัน

เหมือนหนังสือของซอยมาในช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่กำลังสนใจประเด็นเหล่านี้กันพอดี ในฐานะคนทำหนังสือรู้สึกยังไงบ้าง

มุก : เราดีใจ เพราะตั้งแต่ประกาศซีรีส์ไป ก็มีคนที่รอหนังสือตั้งแต่ยังไม่ได้วางขาย คนบอกว่าอยากอ่านอะไรแบบนี้มานานแล้ว ยังไม่มีใครทำสักที เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละเป็นหลักฐานว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรหยิบมันมาทำ เพราะหลังจากที่ปล่อย Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน ก็ได้ฟีดแบ็กที่ค่อนข้างดีจากคนที่ได้อ่าน อาจเพราะด้วยความที่เล่มเล็ก มี 80 กว่าหน้า อ่านจบได้ในทีเดียว คนเลยพูดถึงเยอะ แล้วเราก็ได้ส่งให้บางคนอ่านก่อน อย่างเขื่อน ภัทรดนัย หรือเพจเฟมินิสต้า เพราะอยากรู้ว่าพวกเขาคิดยังไง

รู้สึกว่ามันไม่ใช่เล่มที่แค่คน non-binary หรือ gender nonconforming people (คนที่ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคม) อ่านได้เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็อ่านได้ และคนที่ซื้อหนังสือจากเรานี่แหละที่เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดว่ามันไม่ใช่หนังสือเฉพาะเจาะจงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันไปทุกๆ พื้นที่กับช่วงวัย มีตั้งแต่คนที่เป็น non-binary ทักมาบอกว่าไม่เคยอ่านหนังสือเล่มไหนที่ตรงกับชีวิตตัวเองขนาดนี้มาก่อน หรือกระทั่งคนที่แค่สนใจเรื่องนี้ก็ทักมาบอกว่าเมื่อก่อนไม่รู้ต้องไปอ่านที่ไหน พอได้อ่านก็รู้ว่าเรื่อง gender ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ซึ่งมันตรงกับความตั้งใจของเราเหมือนกันว่าไม่ได้อยากพาหนังสือไปหาแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ตอนนี้ก็เป็นขั้นตอนของการหล่อเลี้ยงให้หนังสือไปสู่สายตาคนได้เรื่อยๆ ต่อให้ไม่ได้เห็นแล้วซื้ออ่านทันที แต่ถ้าวันไหนที่คุณเอะใจหรือสนใจอยากอ่านเรื่องนี้ มันก็มีให้อ่าน

แปลว่าซอยยังเชื่อว่าคนยังอ่านหนังสือ และมันไม่จริงเลยที่คนไทยไม่อ่านอะไรหนักๆ

เจน : เราคิดว่าการเขียนและการ publish จะยังอยู่เสมอ เพียงแต่หน้าตาท่าทางจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน มันเป็นหน้าที่ของคนเป็น publisher ที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าถ้าสำนักพิมพ์ในรูปแบบเดิมมันไม่ทำงานแล้วจริงๆ จะต้องทำยังไง แต่ไอเดียในการเป็นสำนักพิมพ์จะไม่หายไป เราคิดว่าการเป็น publisher คือการทำงานระหว่างสิ่งที่เป็น timely กับ timeless คือทำอะไรที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้นและทำอะไรที่มันอยู่ข้ามผ่านเวลา ผู้คนยังสนใจการเขียนการอ่านอยู่ แค่จะอยู่ในรูปแบบไหน อีบุ๊ก สเตตัส หรือบล็อก สุดท้ายมันก็คือการเขียนและการ publish อยู่ดี เราไม่ได้ทำสำนักพิมพ์ในความคิดโรแมนติกขนาดนั้นว่ามันมีท่าทีแบบใดแบบหนึ่งที่เราต้องสวม มันสามารถมีองค์ร่างอื่นๆ ได้มากมาย เราเชื่อว่าสิ่งนี้ยังมีพลัง แค่เราต้องหาร่างกายที่จะพาสิ่งนี้ไปต่อให้ได้ เราไม่มีคำตอบ เพราะยังถามตัวเองอยู่ทุกวันเหมือนกัน

AUTHOR