Beyond the Gender Binary หนังสือที่บอกว่ามนุษย์งดงามเมื่อออกจากกรอบของหญิง-ชาย

ฉันถูกบุลลี่ครั้งแรกตอนอยู่อนุบาลสองหรือสามนี่แหละ เหตุเกิดตอนกำลังเข้าแถวอยู่หน้าชั้นเรียนกับเพื่อนๆ แน่นอนว่าแถวแบ่งเป็นหญิงหนึ่งแถว ชายหนึ่งแถวขนานกัน เด็กๆ ยืนเรียงกันตามความสูง เด็กผู้ชายที่ความสูงไล่เลี่ยกับฉันเดินมาชี้ที่แขนของฉัน แล้วพูดพลางหัวเราะว่า “ผู้หญิงอะไรขนเยอะจัง” Beyond the Gender Binary

ประโยคนั้น บวกกับคำ ‘ทัก’ จากคนอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย บวกกับภาพนางแบบผิวเกลี้ยงเกลา ทำให้ฉันใช้เวลาหลายปีหลังจากนั้นในการพยายามกำจัดขนตัวเอง ทั้งโกน แวกซ์ เลเซอร์ กว่าฉันจะดึงตัวเองออกจากหล่มความเกลียดชังตัวเองได้ อายุก็ปาเข้าไปยี่สิบกลางๆ แล้ว

Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แค่ประเด็นเดียวจากหลากหลายประเด็นที่กรอบอันตีบแคบของแนวคิดเพศทวิลักษณ์หรือ gender binary บีบฉันจนหายใจไม่ออก 

ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเวลารวมญาติ บรรดาผู้หญิงจะถูกเกณฑ์ไปทำกับข้าวในครัว ขณะที่ผู้ชายจับกลุ่มนั่งเล่นคุยกัน 

ฉันอึดอัดตอนที่ตัดผมสั้นแล้วต้องเจอกับคำถามว่า “ถามจริงๆ นะ เธอเป็นทอมเหรอ” 

ฉันไม่รู้จะตอบโต้ยังไงตอนเปิดตัวแฟนผู้มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง แล้วถูกเรียกว่า ‘ดี้’ ส่วนแฟนคือ ‘ผัว’ บ้าง ‘ผู้ทอม’ บ้าง

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ Beyond the Gender Binary หรือในชื่อภาษาไทยที่งดงามราวบทกวี แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน โดยสำนักพิมพ์ Soi จะ ‘ทำงาน’ กับฉันอย่างมาก

แม้ประสบการณ์ของผู้เขียนอย่าง Alok Vaid-Menon จะแตกต่างจากฉัน แต่ฉันก็รู้สึกร่วมและเข้าใจสิ่งที่เขาบอกเล่าได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะเราทั้งสอง (และน่าจะอีกหลายล้านคนทั่วโลก) ล้วนเป็นเหยื่อของแนวคิดที่พยายามกำหนดให้มนุษย์เป็นเพียงสองสิ่ง ไม่หญิงก็ชาย ซึ่งออกจะสวนทางกับธรรมชาติของพวกเราที่แตกต่างและหลากหลายกว่านั้นมากนัก

ฉันเปิดบทความนี้ด้วยวิธีเดียวกับที่คุณอลกเปิดหนังสือเล่มจิ๋ว เขา (สรรพนามของคุณอลกคือ they/them ดังนั้น ‘เขา’ ในที่นี้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3) กวักมือเรียกให้เราเข้าไปท่องความทรงจำเปรอะเปรื้อนความเหยียดหยาม การตีกรอบ การปกปิดตัวตนที่แท้จริง และความหวาดหวั่น 

Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน

“มันคือรอยปริแตกที่ฉันรู้จักดี ช่องว่างระหว่างสิ่งที่คนอื่นเห็น และตัวตนที่ฉันเป็นจริงๆ ฉันได้เรียนรู้ว่า อย่างหนึ่งที่เอาเราได้ถึงตายไม่ใช่กำปั้น หากแต่คือสายตา สิ่งที่คนอื่นเห็นและวิธีการที่พวกเขามอง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ” ย่อหน้านี้ในหน้า 19 ฮุกฉันเต็มๆ ในฐานะคนหนึ่งที่ถูกจับจ้องเรือนร่างมาตลอดชีวิต ไม่เพียงเรื่องขน แต่ลามไปถึงรูปร่าง หน้าตา การแต่งกาย 

เช่นเดียวกับคุณอลกที่ถูกก่อกวนขณะแค่จะเดินจากบ้านไปซูเปอร์มาร์เก็ตโดยสวมกระโปรง หรือถูกพ่น ‘คำแนะนำ’ เรื่องการกำจัดขนใส่หน้า บางคนถึงกับเสนอตัวว่าจะซื้อมีดโกนให้

Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน

ฉันกับคุณอลกไม่ได้ต่อต้าน body grooming แต่แค่อยากย้ำกับทุกคนว่า การตัดสินใจว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรกับร่างกายของเรานั้นไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องเพศทวิลักษณ์ และที่สำคัญ การตัดสินใจนั้นเป็นของพวกเราและพวกเราเท่านั้น ไม่ใช่ของใครคนอื่น 

สำหรับฉัน สิ่งที่ใครคนอื่นต้องทำ คือหาความรู้ใส่ตัวว่าโลกนี้เต็มไปด้วยเฉดสีที่ไม่ซ้ำกันและเป็นเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง (ดั่งที่คุณอลกบอกว่า ทีลก็คือทีล ไม่ใช่สีเขียวหรือสีฟ้า) ซึ่งไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะในหนังสือเล่มนี้ก็มีเซ็กชั่นที่คุณอลกแก้ไขความเข้าใจผิดที่คนมักมีเมื่อยึดติดกับเพศทวิลักษณ์ เป็นต้นว่า “ทุกคนเกิดมาต้องเป็นผู้ชายไม่ก็ผู้หญิง มันก็เป็นคอมมอนเซนส์อยู่แล้วนี่” “พวกคุณก็เป็นแค่คนส่วนน้อยในสังคมที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรนี่”​ “คนเราจะเถียงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ได้ยังไง” โดยเขาอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการทู่ซี้ปฏิเสธยังไง หรือเป็นตรรกะวิบัติประเภทไหน แล้วข้อเท็จจริงคืออะไรกันแน่

Beyond the Gender Binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือสำหรับคนที่นิยามตัวเองว่า non-binary เท่านั้น แต่เป็นหนังสือของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน เมื่อใดที่พวกเราหลุดออกจากกรอบคิดแบบหญิง-ชาย พวกเราทุกคนจะได้รับประโยชน์ จะมีอิสระในการเป็นตัวของตัวเองแบบที่ไม่มีใครจะจำกัดความได้ นอกจากตัวเราเอง

ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง คุณอลกตอบคำถามที่ว่า ให้อธิบายตัวเองใน 1 หรือ 2 คำ เขาเลือกคำว่า evolving และ contradictory ซึ่งฉันฟังแล้วรู้สึกว่ามีส่วนที่พ้องกับใจความหลักของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ ‘เราไหลลื่นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ’ และ ‘ไม่ผิดหากเราจะแสดงออกซึ่งบางอย่างที่สังคมมองว่าตรงข้ามกัน’ คุณอลกจะสวมกระโปรง ทาลิปสติก และไว้ขนตามธรรมชาติก็ได้ ฉันจะตัดผมสั้น คบผู้หญิง และยังเรียกตัวเองว่าผู้หญิงก็ไม่ผิด

พวกเราไม่จำเป็นต้องยัดตัวเองลงกล่องใดๆ ทั้งสิ้น พวกเราเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น และจะเปลี่ยนนิยามตัวเองบ่อยแค่ไหนก็ได้ 

ก็นี่ไม่ใช่หรือ ที่เรียกว่าความงดงามของมนุษย์ 


อ้างอิง/อ่านต่อ

bbc.com

chertalay.medium.com

edition.cnn.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย