เซ็กซ์และความสัมพันธ์ในตัวอักษรของ P.S. Publishing สำนักพิมพ์ที่อยากสะท้อนเสียงผู้หญิง

บทสนทนาเรื่องกระจุ๋มกระจิ๋มของผู้หญิง เซ็กซ์ที่ไม่จำเป็นต้องโรแมนติกหรือสมบูรณ์แบบ อำนาจที่ลื่นไหลในความสัมพันธ์ เหล่านี้คือองค์ประกอบในหนังสือของ P.S. Publishing สำนักพิมพ์เล็กๆ ของ จุ๋ม–ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2558

พกง่าย อ่านเพลิน ตรงใจ อาจคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการขโมยใจนักอ่านหลายคน ในจุดเริ่มต้น ปนิธิตาบอกเราว่า P.S. เกิดจากความฝันในการทำหนังสือเล่มเล็ก มีเนื้อหาสั้นๆ แต่สำคัญเหมือน P.S. ในจดหมาย ความตั้งใจแรกของเธอคืออยากสนับสนุนเสียงของนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ให้เล่าเรื่องและสะท้อนชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ก่อนจะขยายฐานให้กว้างขึ้นด้วยการออกหนังสือของนักเขียนมีชื่อ เช่น อุรุดา โควินท์ และวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายขอบเขตการสร้างสรรค์งานไปสู่หนังสือที่เน้นเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ถ้าหากใครเคยอ่านงานของ P.S. มาบ้าง จะรู้ว่าเหล่าตัวละครในหนังสือเล่มเล็กนั้นคือผู้หญิงแสนธรรมดาทว่ามีเสน่ห์ เพราะพวกเธอล้วนพูดความคิดของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ปนิธิตาที่เราสนทนาด้วยก็เป็นแบบนั้น 

สำนักพิมพ์ P.S. ทำหนังสือด้วยความเชื่อแบบไหน

ตอนเริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์ เราอยากทำงานวรรณกรรมไทยโดยนักเขียนไทยรุ่นใหม่ หนังสือเล่มแรกคือ LUCIDA เป็นบันทึกความฝันของคนที่หลับแล้วจำความฝันได้ก็มาเขียนบันทึก มันเลยมีความเป็นวรรณกรรมน้อย หมายความว่าเล่าเรื่องค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ได้ใช้ภาษาที่สวยงามพลิกแพลง แต่เราสนใจความฝันในแง่ที่ว่าเราจดจำมันได้ในจิตใต้สำนึก รู้สึกว่าความฝันเป็นภาพที่ตัดแบบเซอร์เรียล

เราคิดว่ามันสนุกดีในแง่ของความเป็นงานวรรณกรรมแบบใหม่ จริงๆ เล่มแรกเรายังไม่ได้ชัดมากว่าอยากทำหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ จนกระทั่งเรื่องที่สองคือ Abstract Bar ความจริงเพียวเพียว ตอนได้ต้นฉบับของปอ เปรมสำราญ ตอนนั้นก็คิดว่างานวรรณกรรมมีแต่บทสนทนาได้ไหม ตัดฉากออกไปได้เลยหรือเปล่า สองเล่มนี้เหมือนทำงานทดลองมากจนพอเล่มหลังๆ เราก็เจอแนวทางแล้วว่าเรื่องความสัมพันธ์สามารถเชื่อมโยงกับคนอ่านได้ง่าย เราจะพูดเรื่องอะไรก็ได้แค่ยังต้องอยู่ในสโคปของความสัมพันธ์

เหมือนเรื่องความสัมพันธ์ได้กลายเป็น DNA ของ P.S. ตั้งแต่นั้น

ใช่ พอออกหนังสือมาได้ระยะหนึ่งเราเลยใช้คำว่ายืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์ เป็นคล้ายๆ สโลแกนตอนทำหรือเลือกต้นฉบับด้วย ซึ่งในแง่นี้ความสัมพันธ์ของเราไม่ใช่แค่ความรักระหว่างคนสองคน มันอาจเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างลูกน้อง เจ้านาย ครอบครัว หรือแม้กระทั่งมิตรและศัตรูก็ได้ 

รู้มาว่าคุณอยากทำสำนักพิมพ์ที่เป็นตัวแทนเสียงของผู้หญิงด้วย จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้เป็นยังไง

มันเริ่มมาจากการที่เราชอบอ่านงานเขียน แล้วมีช่วงหนึ่งที่งานวรรณกรรมป๊อปๆ ดังๆ ที่เขียนโดยผู้หญิง เช่น อุรุดา โควินท์, ปรารถนา รัตนะสิทธิ์, คำ ผกา หรือสุวรรณี สุคนธา มันหายไป กลายเป็นวรรณกรรมที่เป็นเสียงผู้ชายค่อนข้างเยอะ พออ่านแล้วก็หงุดหงิดว่าทำไมคิดแบบนี้

คิดแบบไหน

คิดว่าเซ็กซ์ที่ดีคือเซ็กซ์ที่เพอร์เฟกต์ ชอบเล่าว่าคุณเก่งมาก กล้ามาก ใหญ่มาก ได้ทั้งคืนอะไรทำนองนี้ เราว่ามันเว่อร์ เราอยากเห็นการพูดถึงเซ็กซ์และสรีระที่ไม่เกินจริง มีตั้งหลายครั้งที่คุณมีเซ็กซ์แล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือการที่เนื้อตัวเราไม่ได้เอวคอด ไม่ได้หัวนมชมพู มีขนเยอะ เราอยากอ่านตรงนั้นบ้าง ช่วงก่อนจะตั้งสำนักพิมพ์ คนไม่ได้พูดถึงความหลากหลายในร่างกายเยอะเท่าตอนนี้ แม้แต่เรื่องสรีระของจิ๋ม เรารู้สึกว่าเป็น pain point ของผู้หญิงหลายคนที่มองว่าเป็นเรื่องน่าอาย ยิ่งเราไปเจอกระทู้ที่เหยียดว่าจิ๋มเหมือนเห็ดหูหนู อยากถามมากว่าคุณเคยเห็นจิ๋มของคนทั่วโลกไหมว่าเป็นยังไง มันก็หลากหลายเหมือนหน้าตาคุณนั่นแหละ เราคิดว่าที่ผู้หญิงไม่มั่นใจเรื่องนี้เพราะถูกครอบงำด้วยความเพอร์เฟกต์ผ่านวรรณกรรม หนัง ละคร หรือผ่านหนังโป๊ที่มองด้วยสายตาผู้ชาย

งานของ P.S. ต่างจากงานที่พูดถึงเซ็กซ์ในยุคก่อนยังไง

เราให้ค่ากับเสียงของผู้หญิง สนับสนุนนักเขียนผู้หญิงรุ่นใหม่ จริงๆ ก่อนหน้านี้วรรณกรรมที่ผู้หญิงเขียนก็มีพูดเรื่องเซ็กซ์ แต่จะมีความละมุนละไม ในขณะที่ของ P.S. เคยมีนักวิจารณ์ชายคนหนึ่งบอกว่าอ่านฉากเซ็กซ์แล้วรู้สึกสะดุด อยากให้บทรักหรือช่วงโอ้โลมดูสมูท อ่านแล้วชวนจินตนาการให้อยากมีเซ็กซ์หรือฟิน บทอัศจรรย์ควรทำให้คนอ่านแฉะฉ่ำหรือแข็ง แต่เราค้าน รู้สึกว่าวัตถุประสงค์ของการเขียนงานหรือคัดเลือกต้นฉบับในการทำหนังสือของเราไม่ได้อยากเขียนฉากเซ็กซ์ให้คนรู้สึกแบบนั้น เราอยากเขียนฉากเซ็กซ์ให้คนห่อเหี่ยวบ้าง วัตถุประสงค์เราก็คือตั้งใจให้สะดุดไง

ทำไมถึงอยากสื่อสารเรื่องเซ็กซ์แบบเรียลๆ 

เรารู้สึกว่าเรื่องเซ็กซ์ควรเป็นเรื่องที่พูดทั้งแง่มุมงดงามและแง่มุมที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราอยากให้คนอ่านทั้งผู้หญิงผู้ชายรู้ว่าการเอากันไม่ได้ดีงามเสมอไป ถ้าไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้แปลว่าคุณผิด ไม่ต้องกดดันตัวเองขนาดนั้น มีเซ็กซ์แบบตลกๆ ขำๆ ก็ได้ ใส่แล้วไม่เข้าเพราะน้ำหล่อลื่นน้อย อะไรแบบนี้ ที่ผ่านมางานส่วนใหญ่ที่เราอ่านมักจะประสบความสำเร็จ มีเซ็กซ์แบบสมูท ดีมาก สบตากัน ค่อยๆ ไล่จูบตรงนั้นตรงนี้ลงมาเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงเราพบว่ามีผู้หญิงหลายคนที่ไปตั้งกระทู้ ‘ทำยังไงดีคะ ไม่อยากมีเซ็กซ์เลย’, ‘จะปฏิเสธสามียังไงดี’ หรือ ‘ไม่ชอบที่แฟนทำเลย เจ็บ’ ผู้ชายบางคนก็ทำไม่เป็นแต่คิดว่าตัวเองทำเก่งมาก ทั้งที่ความจริงต้องฟังเสียงสะท้อนด้วย ไม่ใช่ว่ามั่นใจในตัวเองขนาดนั้น ไม่งั้นจะคุยกันยังไง

P.S. เชื่อว่าเซ็กซ์ที่ดีคือเซ็กซ์ที่สื่อสารกัน?

ใช่ อย่างเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของลูกแก้ว โชติรส เปิดด้วยประโยค “ของพี่เหม็นไหม” เรามั่นใจว่าไม่มีบทสนทนานี้ในวรรณกรรมเรื่องอื่นแน่นอน ซึ่งสุดท้ายก็ต้องคุยกันไง เรื่องกลิ่นของอวัยวะเพศมันเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือผิดบาป มันคือการสังเกตตัวเองว่ามีภาวะผิดปกติทางสุขอนามัยหรือเปล่า แต่ไม่ใช่เรื่องที่ควรเอามาล้อกันอย่างกลิ่นปลาเค็ม อะไรแบบนี้

นี่เป็นจุดที่ทำให้เราทำหนังสือเล่ม Sister to Sister คุยเรื่องจุ๋มจิ๋มของน้องสาว ขึ้นมา คนอ่านจะได้อ่านข้อเท็จจริงว่ากลิ่นจากช่องคลอดมันเกิดจากอะไรได้บ้างและรักษาทำความสะอาดยังไง ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นกลิ่นเฉพาะของทุกคนนั่นแหละ ช่วงที่มีรอบเดือนกลิ่นจะแรงกว่าช่วงปกติ มันไม่ควรเป็นเรื่องที่จะเอามาล้อกัน หรือกระทั่งการที่เราจะถามอีกฝ่ายว่าช่วงนี้จิ๋มหรือจู๋เธอผิดปกติอะไรไหม คันหรือเปล่า ทำแล้วเจ็บไหม ควรเป็นเรื่องที่คุยกันได้ เรารู้สึกว่ามันเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน เป็นการลบทัศนคติหรือมายาคติบางอย่างที่ทำให้เซ็กซ์สูงส่ง หวานชื่น และโรแมนติก

ปัจจุบัน P.S. มีเกณฑ์ในการคัดเลือกงานเขียนยังไงบ้าง

ด้วยความที่การทำสำนักพิมพ์กลายเป็นการทำธุรกิจไปแล้ว เราก็ต้องพิจารณาถึงเรื่องขายได้ขายไม่ได้ด้วย ที่ผ่านมาจะมีงานเขียนประเภทที่เราทำเพราะอยากทำ ไม่สนใจเลยว่าจะขายได้ไหม แต่พอมันเริ่มเป็นเรื่องความอยู่รอดของสำนักพิมพ์ในระยะยาว เรากับทีมก็ต้องคุยกันถึงความเป็นไปได้ของแต่ละเล่ม อย่างน้อยๆ คือต้องไม่ขาดทุน เพราะฉะนั้นในการคัดเลือกก็ต้องเลือกเรื่องที่ร่วมสมัย มีคนสนใจ มันเป็นเรื่องที่คนสมัยนี้คุยกันหรือเปล่า เพราะถ้ามันตกยุคไปแล้วก็ไม่น่าเอามาพิมพ์

แล้วคุณศึกษาเทรนด์ของคนยุคนี้ยังไง รู้ได้ยังไงว่าพวกเขาคุยอะไรกัน

คุยกับเด็กๆ ให้เยอะ ในการทำงานสำนักพิมพ์นักเขียนส่วนใหญ่ก็อายุน้อยกว่าเราอยู่แล้ว เราก็จะพยายามถาม เพราะเขารู้ว่าคนในทวิตเตอร์กำลังพูดเรื่องอะไรกัน หรือแม้แต่วันที่ทุกคนไปม็อบ ชาว P.S. ก็ไปม็อบกันหมด เราก็รู้แล้วว่ากระแสมันมาทางนี้ ดังนั้นถ้าจะเขียนอะไรที่ขัดกับแนวทางนี้ก็ไม่ได้แล้วไง

กลุ่มนักอ่านส่วนใหญ่ของคุณคือคนกลุ่มไหน

กลุ่มคนอ่านเราโตเร็วมาก ตอนแรกตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ที่เด็กมหาวิทยาลัยกับคนเพิ่งเริ่มทำงาน ปรากฏว่ามีเด็กมัธยมปลายและมัธยมต้นด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เด็กเขาโตเร็วกว่าที่เราคิด เดี๋ยวนี้คุยเรื่องเพศกันตั้งแต่อนุบาลแล้ว พ่อแม่เองก็มีหนังสือสอนเรื่องนี้กับเด็ก ถ้าไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไปเรามองว่าเด็กมัธยมต้นหลายคนก็โตพอจะมีเซ็กซ์ได้แล้ว ต้องยอมรับว่าพวกเขาโตเร็วทั้งในแง่กายภาพและจิตใจ อย่างเมื่อก่อนถ้าเราอายุ 12 พ่อแม่แทบไม่ต้องพูดเรื่องนี้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เด็กอายุ 12 พ่อแม่ต้องเริ่มคิดเรื่องนี้แล้ว

คนอ่าน P.S. จะไม่มีคนกลางๆ อยู่แล้ว มันเลือกคนอ่านนะ ตั้งแต่เล่มแรกๆ มา คงไม่มีคนอ่านประเภทที่ “รับไม่ได้ ทำไมพูดตรงจัง ของพี่เหม็นไหม ใครเขาพูดกัน” มันคัดมาประมาณหนึ่ง ไม่มีเขียนมาด่า ส่วนใหญ่จะตามซื้อต่อไป ชอบจังเลยอะไรแบบนี้ แต่ก็จะมีข้อติติงนิดหน่อยที่เรายอมรับได้

มีมองไว้หรือยังว่าต่อจากนี้ P.S. จะแตะงานแนวไหนอีก

ปีนี้อาจจะเริ่มออกงานเขียนแนวเพศหลากหลาย และขยายขอบเขตความสัมพันธ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เราพบว่าบางทีคนชอบตัดสินว่าความสัมพันธ์แบบหนึ่งไม่ใช่ ไม่ดี ไม่งามตามแบบแผน แต่ถ้าพวกเขาคุยกันแล้วล่ะ บางคนคบกัน แต่งงานกัน แต่อีกคนสามารถไปมีเซ็กซ์กับคนอื่นได้เพราะคู่เขาอาจซัพพอร์ตกันในแง่การงาน ฐานะทางสังคม แต่ไม่อยากมีเซ็กซ์ เป็นแค่ความสัมพันธ์ทางใจที่ดีต่อกันแต่ให้ไปมีเซ็กซ์กับอีกคนหนึ่งได้ ความสัมพันธ์แบบสามคนมันก็ไม่มีถูกผิดใช่ไหม

การมีวรรณกรรมที่นำเสนอความสัมพันธ์อันหลากหลายและพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา สำคัญกับนักอ่านยังไง

เรามองว่ายุคนี้เรื่องทุกเรื่องจะไม่ถูกคุยกันแบบใต้ดินอีกแล้ว อยากช่วยขยายขอบเขตในการพูดมากขึ้น มีเสรีภาพในการพูดทุกเรื่องแม้ในงานวรรณกรรมเองก็ตาม มันจะไม่มีเรื่องที่พูดไม่ได้ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับจริตของสำนักพิมพ์ว่าจะพูดแบบไหน อย่างของ P.S. จะชอบพูดแบบตรงไปตรงมา

เพราะเราตั้งใจอยากให้คนอ่านเป็นคนที่ดื้อมากขึ้น ตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ที่คุณถูกสอนมา ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ เซ็กซ์ การเมือง สังคม ทุกอย่าง ซึ่งเราอยากบอกว่าบางครั้ง P.S. ตกยุคไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาคุยไปถึงไหนกันแล้ว นี่ยังต้องคิดใหม่เลยว่าจะทำยังไงให้เรื่องเล่าของเรายังอัพเดตอยู่ ก็พยายามมองหาประเด็นใหม่ๆ และนักเขียนใหม่ๆ เพื่อวิ่งตามให้ทัน อย่างตอนนี้มันต้องมีเรื่องความสัมพันธ์ในม็อบแล้ว มันน่าสนุกนะ ไปม็อบด้วยกันแล้วไปมีเซ็กซ์กันต่อได้ไหม

เราคิดว่าการเขียนเรื่องสั้นและนิยายของนักเขียนเป็นบันทึกแห่งยุคสมัย ต่อให้เป็นการเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละ แต่มันจะไปเชื่อมโยงกับประเด็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นในสังคมเอง

แล้วการพูดอย่างตรงไปตรงมามีข้อเสียบ้างไหม

ข้อเสียคือจะขยายกลุ่มคนอ่านแมสมากๆ ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะมันเข้าห้องสมุดโรงเรียนไม่ได้ และส่งเข้าประกวดรางวัลไม่ค่อยได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เพราะแคร์คนอ่านของเรามากกว่า อีกอย่างคือแม้คนอ่านจะยังอายุน้อยแต่ในโอกาสต่อๆ ไป ถ้าเขาโตขึ้น พร้อมจะมีความคิดก้าวหน้า เราว่าหนังสือของเราก็ยังไปกับเขาได้ เพราะมันจะไม่มีเรื่องการตั้งคำถามกับบาปบุญคุณโทษ ทำไมคุณเถียงแม่ หรือทำไมตัวละครทะเลาะกับแม่บ่อยจังเลย 

ในยุคสมัยที่หลายคนเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น คุณยังมีอะไรที่ต้องกลัวก่อนตีพิมพ์หนังสืออีกไหม

ไม่กลัว เพราะสุดท้ายก็ตั้งคำถามกับสังคมและคนอ่านตลอดว่าเรื่องที่ผู้ใหญ่ห้ามจริงๆ ผู้ใหญ่เองทำได้หรือเปล่า อย่างห้ามท้องก่อนแต่ง ลองไปดูรุ่นตายายสิก็ท้องก่อนแต่งกันทั้งนั้น สอนว่าอย่าเจ้าชู้แต่พอไปดูรุ่นพ่อแม่ก็มีเมียน้อย เป็นปัญหาในครอบครัว เด็กก็ตั้งคำถามไงว่าสิ่งที่คุณห้าม สิ่งที่คุณคิดว่าดีงาม จริงๆ แล้วคุณก็ทำไม่ได้ ซึ่งในความเป็นมนุษย์มันไม่ควรมีสิ่งที่เรียกว่าความดีงามไง เราควรประนีประนอมต่อชีวิต ต่อความรู้สึก และทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งรอบข้างน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องเซ็กซ์ตั้งแต่แรกมันทำให้เด็กรู้ว่าถ้ายังไม่พร้อมที่จะมีภาระในการมีลูกตอนนี้ ถ้ายังอยากเรียน อยากโตไปทำงานที่ดี มีอาชีพ มีความใฝ่ฝัน คุณก็มีเซ็กซ์ได้แต่ต้องป้องกัน ถ้ายังไม่ชัวร์ว่าผู้ชายที่คบด้วยจะเป็นพ่อของลูกในอนาคตไหมก็ให้ระวังทั้งกายและใจด้วย

เป้าหมายคืออยากปลูกฝังให้พวกเขารู้เรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด

ใช่ ส่วนใหญ่เราไม่ได้ตัดสินว่าถูกหรือผิด เรานำเสนอในหลายๆ แบบ มันจะมีงานเขียนแนวที่ฉันอยากมุ่งมั่นเป็นแม่บ้านให้ใครสักคนหนึ่งก็ได้ หรือแนวที่ฉันตั้งใจเลือกว่าชีวิตนี้จะไม่มีผัวแต่จะมีแฟนไปเรื่อยๆ คบใครแล้วสบายใจก็อยู่กับคนนั้นไปเรื่อยๆ พอไม่ตอบโจทย์ชีวิตก็เปลี่ยน มันมีทางเลือกให้คนอ่าน เหมือนมีเพื่อนหลายๆ แบบ หนังสือหลายเล่มของ P.S. จะมีบุคลิกลักษณะแบบนั้น มีทั้งคนสวยแต่ไม่มั่นใจในตัวเอง มีผู้หญิงที่ไม่มั่นใจในตัวเองแล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มั่นใจอะไรแบบนี้ เหมือนทำให้คนอ่านเห็นตัวเลือกว่าเราเลือกเป็นหรือทำอะไรก็ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน