‘จงวาดรูปครอบครัว’
หากยังจำกันได้ หลายคนน่าจะเคยผ่านตากับการบ้านโจทย์นี้มาตั้งแต่เด็กๆ รูปวาดใบหน้ายิ้มแย้ม มือที่สอดประสาน กับตำแหน่งคนรักที่ยืนติดกัน โดยมีบ้าน ภูเขา แม่น้ำ กับต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ด้านหลัง ดูจะเป็นมุกตลกร้ายแรกๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตตอนที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยว่าเมื่อวันหนึ่งที่เราเติบใหญ่จนเป็นส่วนหนึ่งของมัน สิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิตสมรส’ นี้จะไม่ได้ราบรื่นและง่ายดายดั่งในภาพที่วาดไว้
Scenes from a Marriage คือมินิซีรีส์ดราม่าความยาว 5 EP ของช่อง HBO ที่ถือว่าเป็นอีกผลงานคุณภาพจากการรีเมกซีรีส์คลาสสิกอันโด่งดังของ Ingmar Bergman ผู้กำกับชาวสวีเดนในตำนาน ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวแห่งความแตกหักร้าวฉานในชีวิตฉันสามี-ภรรยาที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาเป็นดังเดิมได้อีกต่อไป
พูดให้เห็นภาพ ซีรีส์เรื่องนี้เป็นดั่งภาคต่อของหนัง Marriage Story กับ Malcolm & Marie ที่ยาวกว่า แต่เปลี่ยนนักแสดงและเนื้อเรื่องนั่นเอง
จุดสตาร์ทของซีรีส์คือจุดเริ่มต้นของจุดจบ ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยภูเขาไฟที่ปะทุแล้ว จากการที่คนหนึ่งพยายามอย่างหนักที่จะยื้อให้อีกฝ่ายอยู่ กับอีกคนที่พยายามอย่างหนักที่จะไป อะไรก็รั้งไว้ไม่ได้ จากนั้นเรื่องก็พาไปสำรวจภาวะเลิกรา ห่างกัน กลับมาเจอกัน นำไปสู่เส้นทางความสัมพันธ์ที่คาดเดาลำบาก ราวกับว่ากำลังนั่งรถไฟผ่านอุโมงค์มืดมิดโดยไม่รู้ว่ารถไฟขบวนนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แถมรถไฟขบวนนี้ยังเป็นรถไฟเหาะที่เล่นกับอารมณ์คนดูอย่างแรง เพียงแค่ 5-10 นาทีแรกของ EP 1 อาจทำให้ใครหลายคนที่ทั้งตั้งใจและเผลอกดเข้าไปดูอยากดูต่อจนจบทันที
แม้ว่าแทบทั้งเรื่องจะดำเนินเหตุการณ์ในบ้านหนึ่งหลัง และมีตัวละครหลักคือนักแสดงแค่สองคนเท่านั้น แต่ Scenes from a Marriage กลับเอาคนดูอยู่อย่างเหลือเชื่อ ด้วยไดอะล็อกที่คมคายและลึกซึ้ง ฉากลองเทคชวนว้าว มิติของตัวละครที่ออกแบบได้ละเอียดและซับซ้อน บทที่สร้างอารมณ์ร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับการแสดง และเคมีอันยอดเยี่ยมของนักแสดงนำทั้งสองอย่าง Oscar Isaac และ Jessica Chastain
การสมรสคือ ‘ฉาก’ สำคัญของหนังชีวิต
ในตอนแรกที่มีการประกาศสร้างซีรีส์เรื่องนี้ หนึ่งในคำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ ‘จะรีเมกไปทำไม?‘
Scenes from a Marriage ได้ตอบคำถามนั้นด้วยตัวเองว่า นอกจากภาษา การปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้เข้ากับบริบทคนอเมริกันและโลกสมัยใหม่ ซีรีส์เรื่องนี้ยังให้ความสำคัญกับการตีความใหม่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ที่รับหน้าที่และแรงกดดันนี้คือ Hagai Levi ผู้กำกับและผู้สร้างชาวอิสราเอลจากซีรีส์ The Affair ที่ต้องนำผลงานคลาสสิกมาตีความผ่านมุมมองของตัวเองและโลกยุคใหม่ กลายเป็นว่าผลลัพธ์ที่ได้คือความพึงพอใจจากเหล่าผู้ชมส่วนใหญ่ว่าถ่ายทอดมาได้ ‘ถึง’ กว่า กระชากอารมณ์กว่า และจริงกว่าต้นฉบับเสียอีก
ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างฉบับเลวีกับเบิร์กแมนคือการเปลี่ยนชื่อตัวละครจากโยฮันเป็นโจนาธาน และจากมาริแอนน์เป็นมีร่า การสลับบทบาทในครอบครัวของตัวละครที่ปรับไปตามยุคสมัย ทว่าทำให้เนื้อเรื่องน่าสนใจมากขึ้น เช่น การทำให้มีร่าเป็นคนที่มีการเงินดีกว่าและอยากเดินออกจากความสัมพันธ์ ในขณะที่โจนาธานเป็นคนที่ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก นอกจากนี้ ตัวละครโจนาธานยังเป็นอดีตชาวยิวเหมือนผู้กำกับเลวี คนดูจึงจะได้เห็นความละเอียดในการถ่ายทอดฉากที่เชื่อมโยงกับประเด็นความเชื่อ เช่น ฉากการอวยพรและพิธีรีตองของชาวยิว
จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างที่ขับเน้นธีมของเรื่องให้ชัดขึ้นคือโปรดักชั่น ในเวอร์ชั่นต้นฉบับ ด้วยทุนสร้างที่มีจำกัด ทำให้ผู้กำกับถ่ายทอดในรูปแบบละครเวทีที่มีอยู่ไม่กี่ฉากและเน้นฉากบนเตียงเป็นหลัก แต่ในฉบับนี้มีบ้านทั้งหลังรวมถึงโลเคชั่นนอกบ้าน อย่างไรก็ตาม เลวีก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็น Scenes from a Marriage ด้วยการให้ช่วงต้นของทุกๆ EP เป็นละครซ้อนละคร มีนักแสดงเดินเข้าฉาก มีคนสั่ง 1 2 3 แอ็กชั่น! จากนั้นนักแสดงเล่นต่อทันที
คล้ายเป็นการบอกคนดูว่า ‘นี่คืออีกหนึ่งช่วงตอนของละครชีวิตที่ไม่มีบท นักแสดงอย่างเราๆ ต้องด้นสดกันเอง’
สูตรสำเร็จในชีวิตสมรสมีอยู่จริง?
งานวิจัยบอกว่า หากผู้หญิงเป็นหัวเรือของครอบครัวและมีหน้าที่การงานดีกว่าฝ่ายชาย ชีวิตสมรสจะยั่งยืน
ประโยคหนึ่งในช่วงต้นของซีรีส์ว่าไว้อย่างนั้น แต่เรื่องราวของ Scenes from a Marriage คล้ายบอกเราว่าไม่ใช่ ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายเหมือนเกม The Sims ที่ใส่สูตรได้ แถมยังมีปัจจัยหลายอย่างให้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด อันที่จริงซีรีส์ทำให้เรากลับไปตั้งคำถามว่า อะไรกันล่ะคือความสำเร็จในชีวิตคู่? แล้วแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าสำเร็จ?
เรื่องราวของมีร่ากับโจนาธานคล้ายจะบอกเราว่า ชีวิตคู่ไม่ได้เป็นเหมือนการเลี้ยงบอลในสนามแข่งผ่านผู้เล่นทีมตรงข้ามที่คอยขวางกั้น คอยสกัด ด้วยการแทรกผ่าน สับขาหลอก วิ่งพุ่งไปข้างหน้า จนไปถึงประตูแล้วเตะให้เข้าแล้วจะเป็นอันเสร็จพิธี หากแต่ความสำเร็จที่ว่า มันคือ ‘การประคับประคอง’ ด้วยการเอาใจใส่และตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เปรียบได้กับการวิ่งมาราธอนในลู่วิ่งแบบจับมือคนข้างๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งถึงจะมีหยุดพักแต่ไม่ปล่อยมือออกจากกัน
อีกคำถามสำคัญคือ ช่วงเวลาที่คนสองคนอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานนับเป็นความสำเร็จไหม? คำตอบที่เราได้จากซีรีส์คือไม่ใช่ เวลาไม่ได้เป็นตัววัดความสำเร็จ แต่คือ ‘คุณภาพของเวลา’ ต่างหากที่บอกได้ว่าชีวิตสมรสดีแค่ไหน อย่างชีวิตสมรสของมีร่ากับโจนาธานที่ดำเนินมาอย่างยาวนานต้องพังครืนลงในชั่วข้ามคืน เพียงเพราะว่าที่ผ่านมาทั้งคู่ไม่คุยกัน หรือมีคนใดคนหนึ่งคิดว่าที่เป็นอยู่มันดีมากๆ อยู่แล้ว โดยไม่ใส่ใจที่จะไถ่ถามอีกฝ่ายผู้เลือกเก็บความรู้สึก จนในที่สุดก็ระเบิดออกมา
“คุณมัวแต่มองไปทางอื่นโดยไม่เคยหันมามองเลยว่าที่เป็นอยู่มันเป็นยังไง คุณคิดมาตลอดว่าเรามีความสุข แต่มันไม่ใช่” คือประโยคที่มีร่าพูดใส่สามีของเธอ
Socrates นักปรัชญาชาวกรีกเคยกล่าวไว้ว่า “คนที่ไม่ตรวจสอบชีวิตของตัวเอง คนผู้นั้นไม่มีค่าแก่การมีชีวิตอยู่” อาจฟังดูแล้วรู้สึกว่าแรง แต่ถ้าให้ตีความออกมาในฉบับซอฟต์กว่านั้น แก่นของประโยคนี้คือ ‘เป็นเรื่องดีที่มนุษย์ที่มีความสามารถในการคิดและตระหนักรู้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นจะรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไรต่อตัวเองและผู้อื่นในภายภาคหน้า’
เช่นเดียวกัน ความรักก็ควรได้รับการตรวจสอบ
ตรวจสอบทั้งตัวเองและคู่รักว่าต่างคนต่างต้องการอะไรและรู้สึกยังไง ในขณะเดียวกันก็ตรวจสอบว่าความสัมพันธ์นี้เป็นยังไงและกำลังจะมุ่งไปในทิศทางไหน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทั้งมีร่าและโจนาธานขาดการตรวจสอบ ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือแทนที่ทั้งสองจะเริ่มบทสนทนานี้กันเอง ตัวจุดชนวนให้เริ่มตรวจสอบกลับเป็นการถูกสัมภาษณ์โดยนักศึกษาซึ่งทำวิจัยในหัวข้อ ‘ชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จ’ และการได้เห็นเพื่อนคู่รักทะเลาะกันเรื่องการรักเดียวใจเดียว
ฉากที่มีร่ากับโจนาธานกอดกันบนเตียงจึงแสดงภาพรวมของซีรีส์เรื่องนี้ได้ชัดเจนและเคลียร์อย่างเหลือเชื่อ จะเห็นได้ว่าทั้งคู่กอดกัน นอนเตียงเดียวกันก็จริง แต่ดูเหมือนจะไม่รู้เลยว่าอีกคนคิดอะไรอยู่ และตอนนี้ตัวเองกำลังรู้สึกยังไงกันแน่
ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวกับการสังเกตของผู้เขียนกับหลังได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ เราจึงสรุปองค์ประกอบความสัมพันธ์ของคู่รักที่ดีในมุมมองของเรามาได้ 6 ข้อ
1. ทั้งสองคนต้องสนิทและไว้ใจกันมากที่สุดในแบบที่ไม่ใช่แค่คู่รัก แต่ในฐานะเพื่อน
2. ความโรแมนติก ทั้งการกระทำ การบอกรัก และสรรพนามที่ใช้เรียก
3. เซ็กซ์
4. ทั้งคู่ต่างชอบตัวเองที่สุดเมื่ออยู่กับอีกคน และรู้สึกว่านั่นคือเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง
5. การพูดคุยและถามไถ่ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ต้องคุยได้ทุกเรื่อง ตรวจสอบกันได้ทุกเรื่อง
6. รสนิยมและทัศนคติตรงกัน มีจุดร่วมกันไม่มากก็น้อย หรือหากไม่ อย่างน้อยก็เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และสนใจกัน
เมื่อมาลองทำเช็กลิสต์นี้แล้ว มีร่ากับโจนาธานมีแค่สองข้อแรกแบบติ๊กได้จางๆ เพราะทั้งสองมีความเป็นเพื่อนกัน กับเอาแต่พูดกันว่า ‘ฮันนี่’ ‘เบบี้’ และ ‘ผมรักคุณ’ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ช่องที่เหลือกลับถูกเว้นว่างเพราะทั้งสองคนไม่ได้ทำ
สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองคือ การสวีตหวานแต่เปลือกนอกและดูดีในสายตาผู้อื่น แต่ข้างในนั้นกลับเป็นโพรงโบ๋ สุดท้ายทั้งคู่จึงต้องหาทางออกในแบบที่คิดว่าดีที่สุด
ความสัมพันธ์ก็เหมือนเทปกาว ที่ยิ่งดึงออกมาแล้วแปะใหม่บ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งขาดแรงยึดเท่านั้น
ความสัมพันธ์รูปแบบสามี-ภรรยาระหว่างโจนาธานกับมีร่า (และคู่สมรสหลายคู่) เริ่มต้นความความโรแมนติกและความปรารถนาที่จะอยู่ด้วยกันไปจน ‘ความตายพรากจาก’ คล้ายเป็นคำสัญญาที่ทำให้คนสองคนอยู่เคียงข้างกันอย่างมั่นใจ แต่ในทางตรงกันข้าม พอถึงจุดนั้นมันกลับกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดคนสองคนไว้ด้วยกันอย่างน่าเศร้า เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาถึงจุดที่ไม่โอเค
จากอยากเห็นหน้ากันทุกวันกลายเป็นเกลียดหน้า จากโหยหาเป็นผลักไส จากคนที่ควรรักยิ่งเป็นศัตรูที่ต้องต่อสู้กันเอง
ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ทำให้เราต่างกลายเป็นเหยื่อของกันและกันโดยไม่รู้ตัว และเมื่อมันดำเนินไปถึง ‘จุดสะบั้น’ เทปกาวความสัมพันธ์ถูกกระชากออก การจะเริ่มแปะใหม่ก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างนั้นกลับมาเหมือนเดิม เพราะต่างคนต่างมีความหวาดระแวงลึกๆ ในใจว่าคนใดคนหนึ่งอาจเปลี่ยนไป หรือบางทีฝ่ายหนึ่งอาจรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจกว่าเพราะอีกฝ่ายมีตราบาป นั่นเท่ากับชีวิตสมรสเกมโอเวอร์ไปโดยปริยาย
วันหนึ่งที่เทปกาวความสัมพันธ์จะกลับมาติดไม่ได้อีกต่อไป วันนั้นเหตุผลของการที่คนสองคนจะทนอยู่ด้วยกันก็จะสิ้นสุดลง จากใบสมรสกลายเป็นใบหย่าที่ทุกคนต้องยอมรับ หรือหากไม่ยอมรับเหมือนโจนาธานกับมีร่า ความสัมพันธ์นั้นก็คงไม่ต่างจากเทปกาวที่แรงยึดพอๆ กับกระดาษ A4 ลื่นๆ แค่ลมพัดเบาๆ เท่านั้นก็ทำให้ปลิวหลุดได้
อะไรที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์? อะไรคือเคล็ดลับในการรักษาและประคับประคองมันไว้? และหากความสัมพันธ์พังทลาย เราจะสามารถกอบโกยชิ้นส่วนที่แตกกระจัดกระจายกลับมาเชื่อมต่อกันได้ยังไง? Scenes for a Marriage อยากชวนตั้งคำถามเหล่านี้ผ่านฉากของละครเรื่อง ‘ชีวิตสมรส’ บนจอ ปิดท้ายด้วยคำถามที่สำคัญที่สุดที่ซีรีส์เอ่ยถามกับเราว่า
คุณหวงแหนชีวิตสมรสนี้แค่ไหน และทำดีแค่ไหนที่จะประคองให้มันคงอยู่อย่างมีคุณภาพไปตลอดกาล หรืออย่างน้อย นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้?
สุดท้ายแล้วชีวิตคู่ไม่ใช่ข้อสอบปรนัยที่มีชอยส์แค่ A B C D แต่คือข้อสอบอัตนัยที่ไม่ใช่คนนอกหรือใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แต่กรรมการที่แท้จริงคือคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ต้องตอบด้วยตัวเอง
ฉากตอนแห่งชีวิตคู่จะออกมาเป็นแบบไหน เรากับคู่ของเราเท่านั้นที่จะกำหนดได้