หากจะมีซีรีส์ coming of age สักเรื่อง ที่พูดถึงการเติบโตและการค้นหาเพศวิถีของตัวเองในวัยรุ่น นาทีนี้คงต้องยกให้ Heartstopper ซีรีส์ที่จะอยู่ในใจใครหลายคนไปอีกนาน
Heartstopper ถูกสร้างมาจากเว็บคอมมิกและกราฟิกโนเวลยอดนิยม การันตีด้วยยอดวิวบนเว็บกว่า 52 ล้านวิว และยอดตีพิมพ์ 1 ล้านเล่ม โดย อลิซ โอสแมน (Alice Oseman) นักเขียนและนักวาดภาพชาวอังกฤษแนว Young Adult ด้วยลายเส้นน่ารัก ถ่ายทอดเรื่องราวความรักวุ่นๆ แต่อบอุ่นในรั้วโรงเรียนมัธยมชายล้วน ทรูแฮมแกรมมาร์ ของชาร์ลี สปริง (โจ ล็อก) และนิก เนลสัน (คิต คอนเนอร์)
เนื้อหาเล่าเรื่องของชาร์ลี เด็กนักเรียนเกรด 10 ที่เคยถูกเพื่อนรังแกเพียงเพราะเป็นเกย์ จนทำให้เขาปิดกั้นตัวเอง ขณะที่นิก นักเรียนเกรด 11 และนักกีฬารักบี้ดาวเด่นของโรงเรียน จิตใจดีและเข้ากับคนง่าย เขามักอยู่กับกลุ่มเพื่อนผู้ชายนิสัยห่าม แม้พวกเขาจะแตกต่างเหมือนแมวดำกับหมาโกลเดน รีทรีฟเวอร์ แต่ทั้งคู่ก็ได้มาเจอกันจากการแบ่งกลุ่มของนักเรียนในแต่ละชั้นปีเพื่อทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งทำให้ต้องอยู่ด้วยกันถึง 1 เทอม พวกเขาเริ่มสนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นความรู้สึกรัก และเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองไปพร้อมๆ กัน
ความหลากหลายและการยอมรับตัวตนของวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ
ซีรีส์นี้นำเสนอตัวแทนความหลากหลายทางเพศผ่านตัวละคร อย่างที่รู้ว่าชาร์ลี คือตัวแทนของเกย์ (Gay) และเพื่อนๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็น เทา ซวี (วิลเลียม เกา) ตัวแทนของคนที่ชอบเพศตรงข้าม (Straight) แม้จะอยู่ภายใต้บุคลิกออกสาว แอลล์ อาร์เจนท์ (ยัสมิน ฟินนีย์) ตัวแทนของคนข้ามเพศ (Transgender) และไอแซค แฮนเดอร์สัน (โทบี้ โดโนแวน) ตัวแทนของคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ (Aesexual) พวกเขาคือคนที่คอยให้คำปรึกษาและเป็นเซฟโซนให้กับชาร์ลีจนสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ มาได้ นอกจากนี้ยังมี ทารา โจนส์ (คอรินนา บราวน์) และดาร์ซี่ โอลซ์สัน (คิซซี่ เอ็ดเจล) เป็นตัวแทนของเลสเบี้ยน (Lesbian) ด้วย
ในขณะที่หลายคนอาจจะรู้จักเพศของตัวเองตั้งแต่จำความได้ แต่คนอีกจำนวนหนึ่งกลับเพิ่งได้รู้จักเพศวิถีของตัวเอง และยากจะยอมรับว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่ม LGBTQ+ เนื่องจากเขาคิดว่าชอบผู้หญิงมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ชอบผู้ชายได้ด้วย ทำให้กลัวว่าหากคนอื่นๆ ได้รู้ความจริงแล้วจะปฏิบัติกับเขาเปลี่ยนไป เขาจึงต้องเก็บความอึดอัดนี้ไว้คนเดียว
ความกลัวจากการไม่ถูกยอมรับ ไม่เพียงแต่ทำร้ายคนที่รักเราเท่านั้น แต่ยังทำร้ายตัวเองที่ไม่สามารถเป็นตัวเองได้ด้วย เหมือนที่เบน โฮป (เซบาสเตียน ครอฟต์) ซึ่งใช้ชาร์ลีเป็นเครื่องมือในการปกปิดตัวตนที่เขาไม่อยากยอมรับ และนิกที่ทำให้เขาต้องเห็นชาร์ลีปิดกั้นตัวเองอีกครั้ง
ซีรีส์นี้จึงฉายภาพการค้นหาตัวตนไปพร้อมๆ กับการแสวงหาการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ต้องก้าวผ่านและเรียนรู้จุดสมดุลระหว่างการเป็นตัวเองและพื้นที่ทางสังคม ผ่านการ come out ของตัวละคร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายกับการบอกเรื่องเพศวิถีกับคนอื่น
อคติที่ยังไม่เคยหายไป
นอกจากความรักของชาร์ลีและนิกแล้ว ในซีรีส์ยังพูดถึงประเด็นการกลั่นแกล้งและการกีดกันในโรงเรียนจากอคติทางเพศ เราจะเห็นชาร์ลีซึ่งเปิดตัวว่าเป็นเกย์ มักถูกล้อเลียนจากกลุ่มเพื่อนของนิก แม้เด็กกลุ่มนี้จะตระหนักถึงการมีอยู่ของโฮโมโฟเบีย (Homophobia) หรือการเกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศ แต่พวกเขาก็ยังคงกีดกันกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยการกลั่นแกล้งอยู่ดี
โฮโมโฟเบียในโรงเรียนไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แม้แต่อาจารย์บางคนก็มีอาการทรานส์โฟเบีย (transphobia) หรือการเกลียดกลัวคนข้ามเพศด้วย จากคำพูดของเทาที่บอกว่า “ครูไม่ยอมเรียกแอลล์ว่าแอลล์” ซึ่งหมายถึงเพื่อนของชาร์ลีซึ่งเป็นทรานส์เจนเดอร์ ก่อนที่ชาร์ลีจะตอบว่า “ใช่ ครูรี้ดเป็นทรานส์โฟเบียขั้นสุด”
เหตุการณ์เหล่านี้เหมือนกับสิ่งที่พบเจอได้ในสังคม แม้เราจะรู้ว่าปัจจุบันโลกยอมรับกลุ่มคนหลากหลายมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอคติทางเพศยังคงมีอยู่และไม่ได้หายไปเพียงเพราะเรา ‘พูด’ ว่ายอมรับ แต่ต้องทำให้เกิดการยอมรับและมองเห็นให้กลุ่ม LGBTQ+ มีสิทธิและมีตัวตนในสังคม
ขณะเดียวกันซีรีส์เรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นการเหมารวมทางเพศ เช่น การที่ชมรมรักบี้ไม่ยอมรับชาร์ลีว่าเล่นกีฬาได้เพราะเขาเป็นเกย์ (แม้เขาจะวิ่งได้ไวที่สุดก็ตาม) ทำให้ชาร์ลียิ่งไม่มั่นใจและไม่สามารถเล่นได้จริงๆ จนเมื่อโค้ชฝึกบอกว่า “คนเป็นเกย์ตั้งมากมายเล่นกีฬาเก่งนะ” เขาจึงกลับมาเชื่อมั่นตัวเองและเริ่มฝึกหนักอีกครั้ง
จากอคติและการเหมารวมยิ่งทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ไม่มั่นใจ และรู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรัก แต่สำหรับล็อก นักแสดงนำเรื่องนี้บอกกับคนหลากหลายทางเพศวัยรุ่นว่า “คุณสมควรที่ได้จะรับความรัก ความสุขไม่ใช่สิ่งไกลเกินเอื้อม และคุณไม่ได้ไม่สมควรได้รับความรักแบบชายหญิง เพียงเพราะเป็นเควียร์ (Queer) หรือกลุ่มคนที่มีความรักแบบไร้กฎเกณฑ์ทางเพศ” นอกจากนี้เขายังหวังว่าคงทำให้ผู้คนเห็นตัวเองในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย
พื้นที่ปลอดภัย
เมื่อเฝ้าสังเกตตัวเอง รีเสิร์ช ปรึกษาเพื่อนจนแน่ใจความรู้สึกของตัวเองแล้ว การ come out แต่ละคนก็มีความยากง่ายไม่เท่ากัน บางคนเลือกจะประกาศลงสาธารณะ หรือเลือกจะบอกกับคนที่ไว้ใจมากที่สุด แต่ไม่ว่าถูกบอกผ่านด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญคือการรับฟังและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาว่าจะไม่ถูกตัดสิน เพื่อให้เขาก้าวผ่านความขัดแย้งนี้ได้อย่างเข้มแข็ง เหมือนแม่ของนิกที่รับฟังนิกเมื่อเขาตัดสินใจบอกถึงเพศวิถีของตัวเอง และขอโทษที่เธอทำให้ลูกไม่กล้าบอก หรือแม้แต่ครูอาจายี (ฟิซาโย อาคีเนด) ครูศิลปะที่รับฟังปัญหาและคอยให้คำแนะนำชาร์ลีเสมอ
การนำเสนอเรื่องราวการยอมรับตัวตนซึ่งกันและกันของตัวละครเป็นไปอย่างอบอุ่น ขณะเดียวกันก็แสดงถึงอุปสรรคหรือความขัดแย้งที่กลุ่มคนเพศหลากหลายต้องเผชิญ จากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ชมในสื่ออังกฤษอย่าง The Independent ยิ่งทำให้เห็นว่าซีรีส์เรื่องนี้มีความหมายกับกลุ่มชาวเควียร์ในปัจจุบัน พวกเขาบอกว่า Heartstopper นำเสนอเรื่องราวของคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ อย่างลึกซึ้งและช่วยทำให้พวกเขากล้าเป็นตัวเองมากขึ้น
อันนีเกอร์ ทรู อายุ 19 ปี กล่าวว่า “การเติบโตเป็นเควียร์บ่อยครั้งที่รู้สึกแปลกแยก โดยเฉพาะเวลาต้องหาภาพตัวแทนของชาวเควียร์บนสื่อ เพราะปกติแล้วมักถูกเหมารวมโดยไม่ตรงความจริง แต่ใน Heartstopper ไม่เพียงแต่นำเสนอเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเท่านั้น ยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นธรรมดาๆ ด้วย ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งและการรักษาความสัมพันธ์ของเพื่อนเหมือนชายหญิงทั่วไป ฉันรู้สึกขอบคุณมากที่มีรายการทีวีแบบนี้สำหรับเควียร์วัยรุ่นเพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกต่อไป”
ขณะที่เลอลามี่ อายุ 18 ปี บอกว่า “Heartstopper เป็นการถ่ายทำที่งดงาม เพราะวัยรุ่นซึ่งเป็นทรานส์ผิวดำสุดยอดมาก ฉันเหมือนได้เห็นตัวเองบนทีวี และยิ่งทำให้แน่ใจว่าตัวเองสามารถเป็นอะไรก็ได้”
และไมค์ ฟาร์เควอร์ อายุ 45 ปี บอกว่า “ในฐานะเกย์ที่เติบโตในปี 80-90 เรื่องราวและตัวละครเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฉันต้องการ ซึ่งคงจะช่วยให้ฉันรู้ว่ามันโอเคที่จะเป็นคนที่ฉันรู้ว่าฉันคือใคร”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Heartstopper นอกจากนำเสนอเรื่องความรักได้อย่างอบอุ่นแล้ว ยังสามารถนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนเพศหลากหลายอย่างเป็นธรรมชาติและลึกซึ้ง ซีรีส์นี้จึงไม่เพียงเหมาะสำหรับวัยรุ่น หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และผู้ปกครองคนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาได้ ด้วยการรับฟังและยอมรับตัวตนของพวกเขาอย่างจริงใจ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านปัญหาได้อย่างกล้าหาญและเข้าใจความแตกต่างของกันและกัน เพื่อไม่ให้มีใครต้องเจ็บปวดจากการเป็น ‘ตัวเอง’ อีก
อ้างอิง
- Heartstopper review – possibly the loveliest show on TV https://bit.ly/39RZOQV
- Heartstopper’s Joe Locke: ‘A lot of queer people growing up feel like they don’t deserve love’ https://bit.ly/3PlLeBo
‘As a gay man who grew up in the Eighties – I needed Heartstopper’: Queer fans on what the Netflix show means to themhttps://bit.ly/39Nsbje