ของขวัญที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ คือเธอกับฉันต่างมีสิทธิจะเชื่อ เป็น และรู้สึก

ในฐานะที่โตมาแบบลูกคนเล็กในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน นอกจากนิสัยขี้กลัวที่ได้รับเป็นมรดกติดตัวมา ฉันก็มีวิญญาณกบฏอยู่ในตัวพอควร ความสัมพันธ์

ด้านการใช้ชีวิต วัยรุ่นคนอื่นอาจโตมากับการโบกรถเที่ยวทั่วไทย ส่วนฉันคือคนที่ไม่รู้ว่าทำไมแทบไม่เคยไปค้างบ้านเพื่อน วัยรุ่นคนอื่นเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศกับแฟน ส่วนทางนี้แค่นึกอยากไปเที่ยวต่างจังหวัดกับคนรักก็รู้แล้วว่าคำตักเตือนที่รออยู่คืออะไร 

ด้านชีวิตส่วนตัว ฉันเป็นมนุษย์ละเอียดอ่อนมาตั้งแต่เกิด เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึกได้ลึกซึ้ง ร้องไห้ง่ายจนดูอ่อนไหวเปราะบาง พอมีความรักก็รักได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง ใดๆ เหล่านี้ล้วนผิดไปจากบรรทัดฐานที่ผู้ใหญ่ยุคก่อนวางไว้ เช่นว่า ทุกคนจะต้องเติบโตขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง (ที่แปลว่าไม่ควรดราม่า) แต่งงาน มีครอบครัวมีลูกตามครรลองสังคม เหมือนฉันเป็นแกะดำที่มีจิตใจและความต้องการในชีวิตผิดแผกไปจากคนส่วนใหญ่

การจะแสดงออกถึง ‘ตัวตนที่แท้จริง’ อย่างสบายใจในประเทศนี้โดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะห้ามปราม เป็นเรื่องยากสำหรับฉันในอดีต ขอบเขตการใช้ชีวิตจึงค่อนข้างแคบ ใจโหยหาการได้ออกไปที่ไหนสักแห่งที่ให้อิสระกับตัวเองได้เต็มที่ ฉันอินถึงขั้นเคยจินตนาการเล่นๆ ว่า ถ้าต้องมีลูกเข้าจริงๆ จะให้ลูกชื่อว่า ‘อิสระ’ เพราะมันเป็นสิ่งที่ฉันให้คุณค่าโดยแท้จริง 

เด็กขี้กลัวคนเดิมยังซ่อนตัวอยู่ข้างในเสมอมา เขาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตัวตนของฉัน แต่ยังดีที่มีไอ้เด็กรักสนุกดื้อเงียบอีกคนอยู่เป็นเพื่อนกัน 

ชีวิตส่วนตัวต้องหลบซ่อน การเรียนการงานจึงต้องได้อย่างที่อยากได้ ฉันเป็นเด็กสายวิทย์ที่แหกคอกออกมาเรียนนิเทศศาสตร์ ขณะที่เพื่อนครึ่งค่อนห้องสอบติดแพทย์ พอเรียนปริญญาโทฉันก็แหกคอกอีกครั้งด้วยการกระโดดข้ามสายงานสื่อมาเรียนจิตวิทยาการปรึกษา โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลเบื้องหลังให้ใครฟังสักคน (หนึ่ง–เพราะกลัวฟีดแบ็ก สอง–คือรู้ว่ายังไงก็จะเลือกทางนี้อยู่ดี)

เอาเข้าจริง ฉันเป็นเด็กเงียบเรียบร้อยที่หักอกผู้ใหญ่ใกล้ตัวมานักต่อนัก เพราะไม่ได้ทำอะไรอย่างที่เขาอยากให้ทำหรืออยากให้เป็นสักอย่าง 

แต่ทำยังไงได้ ความเป็นคนละเอียดอ่อนทำให้ฉันรู้จัก ‘ความรู้สึก’ ตัวเองดีจนไม่อาจโกหกหรือหักหลังตัวเอง หากเป็นเรื่องสำคัญ ฉันจะก่อกบฏเล็กๆ น้อยๆ ในที่ทางของตัวเองเรื่อยมาเพื่อให้ได้เป็นตัวเองอย่างสมบูรณ์ขึ้น แม้ความกลัวเกาะกินใจว่าเอ่ยปากขอไปแล้วจะไม่ได้รับอนุญาต ฉันก็จะลงมือทำอย่างกล้าๆ กลัวๆ อยู่ดี 

เหมือนที่อยู่ดีๆ วันหนึ่งต้นแขนซ้ายของฉันก็มีรอยสักรูปดอกกุหลาบมอญดอกใหญ่ใช้ได้ ทำเอาคนที่บ้านตกใจไปตามๆ กัน สำหรับบางบ้าน หากลูกหลานตัวเองไปสักหรือทำอะไรไม่เหมาะสม มันอาจกลายเป็นชนวนทะเลาะใหญ่โต โดยฝั่งหนึ่งอาจเริ่มติเตียนโดยมีความเชื่อและค่านิยมของตัวเองเป็นอาวุธ 

สำหรับฉัน ในฐานะมนุษย์ปัจเจกคนหนึ่ง ไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากว่า เมื่อมีรอยสัก ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นฉันเต็มคนมากขึ้น มันคือคำประกาศความเป็นฉันบนร่างกายของฉัน ไม่ใช่ของใครอื่น นี่คือการประกาศอำนาจในขอบเขตชีวิตที่ฉันมี 

ความสัมพันธ์

คำว่าอำนาจฟังดูยิ่งใหญ่ เป็นทางการ แต่ฉันเชื่อว่านี่คือสิ่งที่แต่ละคนพึงมีเป็นของตัวเอง 

เมื่อเรามีอำนาจในตัวเอง เราก็จะมีสิทธิที่จะเป็น (เช่น เดินไปบอกที่บ้านว่าฉันเป็นเควียร์โดยไม่ต้องกลัวโดนตัดแม่ตัดลูก) สิทธิที่จะเลือก (เช่น เลือกไว้ผมทรงสกินเฮด เลือกโนบรา เลือกทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่หมอหรือข้าราชการ เลือกยี่ห้อวัคซีนที่อยากฉีดได้เอง เลือกพรรคการเมืองที่อยากให้เข้ามาทำงานเป็นรัฐบาล) และสิทธิที่จะตัดสินใจสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยตัวเราเอง (เช่น ตัดสินใจทำแท้ง ตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนต่อจากนี้ หรือเรื่องเล็กลงมา เช่น ตัดสินใจจะเปลี่ยนมาใส่เสื้อสีมงคลไปทำงาน)

ในทางแนวคิดพื้นฐานที่สุด คนคนหนึ่งจะเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร อยู่กับใคร ก็เป็นสิทธิของเขา ตราบเท่าที่มันไม่ได้เดือดร้อนหรือทำร้ายใคร 

ในหลักจริยธรรมข้อหนึ่งของนักจิตวิทยาการปรึกษา เราจะต้องรักษาไว้ซึ่ง autonomy หรือสิทธิและอำนาจในตัวเองของผู้รับบริการ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราจะไม่เอาความคิดของเราไปใส่ให้เขา โน้มน้าวให้เขาเชื่อแบบที่เราอยากให้เชื่อ หากเขามาหาเราด้วยความไม่มั่นใจ เรามีหน้าที่เพียงช่วยสะท้อนจนเขาตอบได้ชัดว่าทางไหนคือทางเลือกที่ต้องการ

เราจะไม่ยึดอำนาจการตัดสินใจไปจากใคร ต่อให้ทำไปด้วยเจตนาบนความหวังดีก็ตาม 

“รับงานนี้น่าจะดีกว่านะ”, “แต่งตัวแบบนี้น่าจะสวยกว่า”, “อย่าทำอันนั้นเลย น่าจะลำบากนะ” หรือ “ทำไมไม่เลิกกับมันสักที” ประโยคที่เต็มไปด้วยโครงสร้างว่า “เธอน่าจะ…” หรือ “ทำไมเธอไม่…” แล้วต่อท้ายด้วยสิ่งที่เราอยากหยิบยื่นให้ โดยไม่ทันรับฟังคนตรงหน้าอย่างถ้วนถี่ มันต่างจากการให้คำแนะนำอย่างเปิดกว้าง เพราะนี่คือการแสดงออกกลายๆ ว่า ‘ฉันต้องการให้เธอทำอย่างที่ฉันอยากให้ทำ’ หรือ ‘เชื่อฉัน ทำตามฉันเถอะ เพราะฉันรู้ดีกว่า’

มันเป็นประโยคบอกใบ้ว่าเรากำลังกุมตำแหน่งคนชี้ถูก-ผิด เรามองข้ามประสบการณ์และลดทอนความรู้สึกของอีกฝ่าย โดยลืมไปว่าเราไม่มีวันล่วงรู้หรือเข้าใจโลกภายในของเขาได้ทั้งหมดทั้งมวลเลย

ฉันเห็นอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์อยู่บ่อยๆ หลายครั้งอำนาจก็ถูกใช้ในนามของความรัก เวลาผู้ใหญ่พยายามปลูกฝังเด็กๆ ว่าเมื่อเราอยู่ภายใต้การดูแลของใครสักคนที่อาวุโสกว่า เราก็ควรเชื่อในสิ่งที่พวกเขาบอกด้วยความหวังดี แม้ใจเราจะตะโกนบอกอีกอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อความรู้สึกที่แท้จริงของใครสักคนถูกมองข้าม ถูกด้อยค่าจากกฎเกณฑ์ ความเชื่อ หรือค่านิยมซึ่งไม่ให้คุณค่าในปัจเจกบุคคล ฉันรู้สึกเสมอว่า นั่นแหละ ความไม่เท่าเทียม 

แต่สารภาพกันตรงนี้ ในชีวิตจริง หลายครั้งฉันก็ยังพลาด

ความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์

ด้วยความเป็นคนขี้ห่วง แถมยังหลงคิดว่าตัวเองเข้าใจเรื่องจิตใจ ถ้าเห็นคนใกล้ตัวเจ็บหรือล้ม ฉันมักเผลอรับบทแม่พระเสนอตัวให้คำแนะนำ เขาจะได้หลุดพ้นจากอุปสรรคโดยเร็ว ที่อาการหนักไปกว่านั้น บางครั้งฉันก็เผลอรับเอามาเป็น ‘หน้าที่’ ว่าฉันต้องดูแลผลลัพธ์ที่จะเกิดกับใจเขา หากเขาไปประสบพบเจอความทุกข์ที่ฉันน่าจะช่วยป้องกันได้ ก็เท่ากับฉันดูแลเขาไม่ดี 

นิสัยขี้เป็นห่วงจนเผลอเจ้ากี้เจ้าการแบบเนียนๆ ยังเคยผลุบๆ โผล่ๆ ในห้องบำบัดตอนสมัยฝึกงาน ความเป็นแม่จะออกมาแสดงตัวตอนฉันเป็นกังวล ไม่รู้ว่าจะพาผู้รับบริการไปทางไหนต่อ หรือตอนไม่รู้ตัวว่าเรากำลังคาดหวังอยากเห็นเขา ‘สบายดี’ ไวๆ จะได้ดีใจกับตัวเองว่าเราทำหน้าที่ได้ดี 

นี่คือหลักฐานว่าในตัวฉันเองก็มี ‘ความเป็นแม่’ แบบที่ฉันไม่ชอบ มันทำให้ฉันตกอยู่ในวงจรของความเหนื่อยล้า ความห่วงกังวลผลักให้เราพยายามควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นอย่างที่ต้องการ รวมไปถึงความรู้สึกและการกระทำของอีกฝ่าย พออะไรไม่เป็นอย่างที่หวัง ความรู้สึกขุ่นข้องใจก็แอบตามมา เราอาจน้อยใจว่าทำไมเขาไม่เชื่อเรา เสียใจว่าทำไมเราทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้ หรือหงุดหงิดว่าทำไมมันไม่ได้ดั่งใจสักที 

เรากำลังสร้างความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข และทำให้เราไม่ได้เป็นอิสระจากกัน 

ในความเป็นจริง ไม่มีใครจะเป็นแค่คนคนเดียวที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตใครได้ ทุกคนมีตัวตนของตัวเองและยังมีปัจจัยแวดล้อมมากมาย เราควรปล่อยให้อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ซึ่งเป็นของของเขา อยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติและจริงแท้ที่สุด เพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริง

ความสัมพันธ์ใดบนโลกนี้ก็ตาม พ่อ-แม่-ลูก ป้า-หลาน เพื่อน คนรัก รวมถึงความสัมพันธ์ที่ใหญ่ขึ้นในระดับชุมชนและสังคม หากใครคนหนึ่งต้องโกหกความรู้สึกตัวเอง ต้องยอมทำตามคำแนะนำ ยอมจำนนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อให้อีกคนสบายใจ เพื่อให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้ แลกกับการสูญเสียอิสระที่จะเป็น อิสระที่จะแสดงออก สูญเสียอำนาจในตัวเองที่เขาพึงมี 

มันจะเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคงได้ยังไง 

ความสัมพันธ์

จริงๆ แล้วหลักใหญ่ใจความของกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดคือเรื่องของ ‘ความสัมพันธ์’ นอกจากความรู้เชิงทฤษฎีแล้ว สิ่งที่มีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพการบำบัดคือความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนในห้องบำบัดนั้น 

นักบำบัดต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้อีกฝ่ายกล้าบอกเล่าสิ่งต่างๆ ตัวตนของนักบำบัดจึงสำคัญมาก พูดง่ายๆ ว่าเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสำรวจและขัดเกลาตัวเองไปด้วย จะได้ไม่เผลอเอานิสัยติดตัวบางอย่างมาใช้กับผู้รับบริการ แต่ก่อนจะเริ่มงานได้เราต้องผ่านขั้นตอนการเลือกทฤษฎีบำบัดที่ fit in กับความเป็นตัวเองที่สุด ซึ่งแต่ละทฤษฎีก็มีคาแร็กเตอร์และให้บรรยากาศการทำงานต่างกันไป 

มองดู ‘ความเป็นแม่ขี้กังวล’ ในตัวเองแล้ว ฉันน่าจะเลือกวิธีทำงานที่มีโครงสร้างและขั้นตอนให้จับยึด เลือกทฤษฎีที่ให้น้ำหนักนักบำบัดได้เป็นคนนำและกำหนดทิศทาง แต่เปล่าเลย 

ฉันเลือกใช้ทฤษฎีหลักที่มีเทคนิคให้หยิบจับน้อยที่สุด ทั้งยังไร้โครงสร้าง พูดขำๆ เหมือนเครื่องมือการทำงานมีแค่ตัวกับหัวใจ ส่วนการทำงานในรายละเอียดจะดำเนินไปยังไง เริ่มต้นและจบลงทางไหน จังหวะอยู่ที่ผู้รับบริการ ไม่ใช่เรา

ไม่ชอบอะไรที่คาดเดาไม่ได้ จัดการควบคุมไม่ได้ แต่ก็ยังเลือกทฤษฎีนี้มาใช้ ลึกๆ แล้วฉันอยากต่อสู้กับ ‘แม่จอมบงการ’ ในตัวเอง

มันคือการประกาศว่า ไม่ว่าจะบทบาทหรือมุมไหนในชีวิต ฉันก็ต้องการความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม ความสัมพันธ์ที่เปิดพื้นที่ให้เราเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ฉันจะพยายามเรียนรู้ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมนั้น จะลดเสียงคำสั่งที่เกิดจากความกลัว และจะย้ำเตือนตัวเองให้เปล่งเสียงความต้องการที่แท้จริงให้ดังขึ้น และดังขึ้นอีก

ในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เราไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนหรือชี้คำตอบให้ใคร เขามีเข็มทิศในตัวเองอยู่แล้วนั่นคือประสบการณ์ที่เป็นของเขาแต่เพียงผู้คนเดียว ประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานอาจเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของเขา หน้าที่ของเราคืออยู่เคียงข้าง เป็นพยานรู้เห็นในความพยายาม ให้การสนับสนุน เฝ้ามองเขาหลงทางและคอยประคับประคอง จนกระทั่งเขาได้เป็นตัวเองอย่างสมบูรณ์ นี่ต่างหากความสัมพันธ์ที่ช่วยให้เราแข็งแรงไปด้วยกัน 

ฉันเชื่อจากใจว่าการให้อิสระคือการแสดงความเคารพในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เราต่างมีอำนาจการตัดสินใจในชีวิตตัวเอง และหน้าที่ที่เราจะปฏิบัติต่อกัน คือเชื่อว่าอีกฝ่ายรู้จักชีวิตของเขาดีที่สุด 

ไม่ต้องมีคนรับบทผู้ออกคำสั่ง ไม่ต้องมีคนรับบทผู้เชื่อฟัง เธอมีสิทธิที่จะเชื่อ เป็น และรู้สึก ฉันก็มีสิทธิที่จะเชื่อ เป็น และรู้สึกไม่ต่างกัน นี่คือสิ่งมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งที่คนเราจะมอบให้แก่กัน และมอบให้แก่ตัวเองด้วย

มันคือการจริงใจกับตัวเอง แล้วความจริงใจกับตัวเองจะพาเราไปในเส้นทางที่ถูกต้องเสมอ 

นับครั้งไม่ถ้วนในชีวิตนี้ที่ฉันห้ามตัวเอง “เธอจะรู้สึกแบบนี้ไม่ได้”, “เธอไม่ควรโกรธ”, “อย่ามาเหนื่อยตอนนี้นะ” หรือ “เงียบไว้ เพราะถึงเธออยากทำ เขาก็ไม่ปล่อยให้เธอทำหรอก” แต่ทางเดียวที่จะสงบศึกกับตัวเองได้สำเร็จ เราแค่ต้องปล่อยให้ตัวเองได้เป็นอย่างที่เป็น วางเงื่อนไขต่างๆ ที่ถือไว้ลง ทั้งเงื่อนไขที่คนอื่นมาเขียนให้ และเงื่อนไขที่เรารับเอามาเป็นกฎของชีวิตโดยไม่ทันได้ถามหาที่มาที่ไป 

พอแล้วกับบทบาท ‘แม่’ ผู้ออกคำสั่ง พอแล้วกับบทบาท ‘ลูก’ ที่ต้องอยู่กับความกลัวและการเฝ้าขออนุญาต เหลือแค่ ‘ตัวเรา’ ที่มีความคิด ความเชื่อ และความรู้สึกที่เป็นของเรา ก็เพียงพอแล้วหรือเปล่านะ 

ฉันจะย้ำเตือนกับตัวเองตอนนี้ วินาทีนี้ และตลอดไปว่า ใช่ มันเพียงพอแล้วจริงๆ 

มันคือทางหนึ่งที่จะปลดปล่อยทั้งตัวเราและคนรอบข้างให้เป็นอิสระ ให้เราได้เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม-อย่างเท่าเทียมกัน เพราะเมื่อเราปฏิบัติต่อตัวเองยังไง เราก็มีแนวโน้มจะปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นนั้น 

ถ้าฉันเลิกเอาแต่กุมไม้บรรทัดตรวจสอบตรวจตราตัวเอง ฉันก็จะเลิกทำแบบนั้นกับคนอื่นเหมือนกัน

ถ้าฉันเคารพตัวเอง เข้าใจธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ให้อิสระแก่ตัวเอง ฉันก็จะมอบสิ่งนั้นให้คนรอบข้างได้เช่นกัน 

เวลานี้ภาพในสังคมอาจทำให้เราเจ็บปวดหรือสิ้นหวัง นอกจากการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ที่ต้องลงมือทำและต้องเกิดขึ้น ฉันยังเชื่อลึกๆ ว่าการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเอง เพื่อให้มันแผ่ขยายออกไปสู่คนรอบข้าง คืออีกพลังที่ช่วยส่งเสริมกันไปได้ 

มาลงมือปลูกดอกไม้ในตัวเองไปด้วยกันนะ


สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น 

  • ทฤษฎีบำบัดที่เล่าถึงคือทฤษฎีชื่อ person-centered therapy หรือทฤษฎีบำบัดโดยผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง คิดค้นโดย Carl Rogers ทฤษฎีนี้เชื่อว่า 3 สิ่งหลักที่จะช่วยให้คนเราเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปเป็นตัวเองอย่างเต็มประสิทธิภาพคือ ความจริงแท้กับตัวเอง (congruence) การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional positive regard) และความเข้าใจอย่างร่วมรู้สึก (empathy)
  • เราปรับเอาหลักการ 3 สิ่งนี้มาใช้ดูแลตัวเองได้ เริ่มต้นที่จริงใจและซื่อตรงกับตัวเอง ค่อยๆ ยอมรับความเป็นตัวเองในทุกมิติทั้งดี-ร้าย และเป็นเพื่อนที่ดีของตัวเองด้วยการยอมให้ตัวเองรู้สึกอย่างที่เป็น เข้าอกเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ พื้นฐานความเข้าใจนี้ยังนำไปปรับใช้กับคนรอบข้างได้ด้วยนะPeace of Mine

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JCCHR

นักวาดภาพประกอบ ชอบแมว ชอบจังหวัดเกียวโตกับโอกินาวา ชอบกาแฟ และดูหนังฟังเพลงที่ชอบซ้ำหลายๆ รอบ