‘RAISED BY WOLVES’ จิตวิญญาณ ตัวตน เอทิสต์ vs ศาสนา และความเป็นมารดาของแอนดรอยด์

‘RAISED BY WOLVES’ จิตวิญญาณ ตัวตน เอทิสต์ vs ศาสนา และความเป็นมารดาของแอนดรอยด์

“เธอคืออนาคตของมนุษยชาติ เธอคือความหวังสุดท้ายของมวลมนุษย์ ในนั้นมีเอ็มบริโอแช่แข็งและฉันได้ดัดแปลงร่างกายเธอให้สามารถให้กำเนิดพวกเขาได้ จงเลี้ยงเด็กเหล่านี้ให้เป็นเอทิสต์ โลกใหม่ที่เธอช่วยสร้างจะไม่จบลงแบบเดียวกับที่เราเผชิญอยู่บนโลก มันจะดำเนินต่อไปได้”

เป็นเรื่องที่ฟังดูย้อนแย้งเมื่อภารกิจสร้างอาณานิคมและอารยธรรม ‘มนุษย์’ บนดาวดวงใหม่ ถูกฝากฝังกับ ‘หุ่นแอนดรอยด์’ และเป็นสิ่งมีชีวิตปลายวิวัฒนาการที่ไม่ได้มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกับมนุษย์แม้แต่เศษเสี้ยว หลังจากสงครามระหว่างกองกำลังศาสนาและคนไม่มีศาสนาระอุขึ้นกลางศตวรรษที่ 22 จนเป็นต้นเหตุการล่มสลายของโลก

(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญซีรีส์ Raised by Wolves)

Raised by Wolves เป็นซีรีส์แนวไซ-ไฟปรัชญาของ HBO MAX ที่อำนายการสร้างโดย Ridley Scott จาก Aliens และ Prometheus ที่คราวนี้หยิบยกเนื้อหาเกี่ยวกับแอนดรอยด์เลือดขาวๆ ข้นๆ จิตวิญญาณและความรู้สึกนึกคิดของสิ่งมีชีวิตจักรกล การดำเนินเรื่องบนดาวอันไกลโพ้น กับตัวประหลาด อันเปรียบเสมือนลายเซ็น มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งด้วยการพ่วงกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนากับมนุษยชาติ และการตีความกับตั้งคำถามต่อศรัทธาได้อย่างมีประเด็น

ซีรีส์มีองค์ประกอบที่ดูง่าย ในขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนประเด็นที่ต้องการสื่อสารได้อย่างตรงจุด จี้ใจ น่าเอาไปขบคิดพูดคุยได้ต่อ

และสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคงไม่พ้นหัวข้อ ‘ตัวตน (identity)’ กับ ‘ความเชื่อ (believe)’ ที่ถูกเล่าแบบคู่ขนานผ่านทั้งตัวละครที่เป็นแอนดรอยด์กับที่เป็นมนุษย์ ตัวละครที่โหดเหี้ยมระดับเครื่องจักรสังหารจะมาเป็นผู้ให้ชีวิตและถูกเรียกว่า ‘แม่’ กับผู้ที่ไม่เคยเชื่อในอะไรที่เริ่มเปลี่ยนตัวตน บทบาท และหันมาเชื่ออย่างบ้าคลั่งเกินขอบเขต

“เราต้องสร้างอารยธรรมที่นี่แบบเอทิสต์ ไม่อ้างอิงกับความเชื่อทางศาสนา”

นี่คือคำสอนของแอนดรอยด์นามว่า ‘มาเธอร์’ (Mother) ที่ปลูกฝังต่อลูกๆ ของเธอที่เป็นมนุษย์อย่างเคร่งครัดและเน้นนักเน้นหนา

ว่าแต่… จู่ๆ ทำไมแอนดรอยด์ถึงมาสอนมนุษย์ในเรื่องการประกอบสร้างมนุษยชาติ (humankind) ?

หลังจากกลางศตวรรษที่ 22 เกิดสงครามศาสนา ที่ชาวศาสนามิธเทรค (Mithriac) ผู้นับถือ ‘โซล (Sol)’ เทพเจ้าแห่งแสงและไฟที่ครอบครองเทคโนโลยีสุดล้ำทั้งยานพาหนะและอาวุธสงคราม ก่อสงครามในนามพระเจ้าของพวกเขา กำจัดชาวเอทิสต์ (Athiest) หรือกลุ่มไร้ศาสนาคนที่ไม่เชื่อในโซล ทำให้โลกไม่สามารถอยู่ได้ต่อไป หุ่นยนต์พิฆาตเนโครแมนเซอร์ (Necromancer )’ ที่เป็นอาวุธที่น่ากลัวที่สุดของฝั่งมิธเทรคจึงถูกฝ่ายต่อต้านรีโปรแกรมใหม่ แล้วพาตัวอ่อนมนุษย์มาตั้งรกรากใหม่ที่ดาว ‘เคปเลอร์ 22-บี (Kepler 22-b)’ ที่แม้ทุกอย่างจะไม่ได้เหมาะกับมนุษย์ แต่ก็สามารถหายใจและทำการเพาะปลูกได้

แอนดรอยด์ตัวนั้น ใช่แล้ว คือมาเธอร์ และเธอมากับฟาเธอร์ (Father) เพื่อช่วยดูแลเด็กๆ ราวกับเป็นอดัมกับอีฟ ทั้งยังปกป้องอันตรายใดๆ ที่ย่างกรายเข้ามาหาพวกเขา โดยเฉพาะความเชื่อที่เป็นเหตุให้มนุษย์รบราฆ่าฟันจนทำลายมาตุภูมิของตัวเอง

มาเธอร์ถูกดัดแปลงให้มีสารในร่างกายที่สามารถหล่อเลี้ยงให้เอ็มบริโอมนุษย์เติบโตมาเป็นเด็กได้ (น่าฉงนดีที่แอนดรอยด์มีบทบาทในการให้กำเนิดมนุษย์เช่นนี้) มันแสดงถึงความเป็นแม่ (motherhood) ของเพศหญิง ในเรื่องของบทบาทหน้าที่ในการให้กำเนิดประชากรที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและร่วมสร้างสังคม วัฒนธรรม อารยธรรม และแสดงให้เห็นว่าเพศหญิงที่เคยถูกค่านิยมสมัยก่อนกดให้อยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือนมีบทบาทในฐานะผู้สร้างและสำคัญ ควรค่าแก่การให้เกียรติกว่านั้น

เริ่มแรกพกมาด้วย 12 คน จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเหลือเด็กแค่ 6 และสภาพแวดล้อมอันไม่ประนีประนอมที่นั่นทำให้เหลือแค่ 1 นั่นก็คือ ‘แคมเปียน (Campion)’ ทารกที่เคยกลับมามีชีวิตได้อย่างปาฏิหาริย์หลังจากได้หยุดหายใจไปแล้ว และมีความเป็นนักสู้เหมือนผู้ดัดแปลงเธอที่มีชื่อเดียวกัน

ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นเมื่อแคมเปียนที่ถูกปลูกฝังให้เป็นเอทิสต์ ตั้งคำถามถึงสรรพสิ่งและการมีความเชื่อ ทำให้ทั้งคู่ทะเลาะกัน นำไปสู่การเรียกให้พวกมิธเทรคมาเยือนที่ดาว และคนเหล่านั้นพยายามใช้กำลังช่วงชิงตัวแคมเปียน ภายหลังจากการชิงตัวไม่สำเร็จ มาเธอร์จึงได้ใช้ร่างเนโครแมนเซอร์บุกไปถล่มทำลาย ‘ยานอาร์ค (Ark of Heaven)’ ของมิธเทรคด้วยตัวคนเดียวและพาเด็กๆ ที่อยู่ในยานกลับมาด้วย

ในซีรีส์มีการเผยว่าชื่อจริงของมาเธอร์คือ ‘ลาเมีย (Lamia)’ ตามตำนานกรีกลาเมียคือราชินีผู้มีรูปลักษณ์อันงดงาม เธอได้ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเทพซุส (Zeus) ทำให้เฮร่า (Hera) ภรรยาซุสโกรธ สังหารลูกๆ ของเธอ และเธอได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่กินเด็กเป็นอาหาร

นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเรื่อง Raised by Wolves กลุ่มเด็กๆ มนุษย์ที่ถูกเลี้ยงโดยสิ่งมีชีวิตที่เป็นภัยและพร้อมจะสังหารพวกเขาด้วยสัญชาตญาณและความสามารถที่มีได้ทุกเมื่อ เหมือนหมาป่าที่มีเขี้ยวเล็บ กินเนื้อดิบเป็นอาหาร แต่กลับมาเลี้ยงเด็กในเมาคลีลูกหมาป่า (The Jungle Book) 

มาเธอร์​มีดวงตาที่จะทำให้เธอเปลี่ยนร่างเป็นเนโครแมนเซอร์และใช้พลังคลื่นเสียงให้ศัตรูระเบิดจากภายในได้ ซึ่งนั่นเปรียบได้กับเขี้ยวเล็บของหมาป่าที่ถ้าเลียทำความสะอาดลูกๆ หรืองับแรงไป ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กๆ ได้ มาเธอร์รู้ข้อนี้จึงได้ถอดดวงตานั้นออก การกระทำนี้คือการกระทำที่เหมือนหมาป่าที่ตัดสินใจถอดเขี้ยวเล็บออก มันอาจอ่อนแอลง มันอาจดูมีจุดอ่อน แต่เพื่อลูกๆ แล้วมันยอมโดยไม่มีเงื่อนไข 

อีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน พวกมิธเทรคที่ตั้งใจมาแย่งตัวแคมเปียนก็หนีหัวซุกหัวซุนและพยายามหาทางแก้แค้น สองคนในนั้นคือตัวละครมาร์คัส (Marcus) และซู (Sue) 

สองคนนี้อดีตเคยชื่อคาเลบ (Caleb) กับ แมรี่ (Mary) คู่รักเอทิสต์ที่ให้หุ่นยนต์ผ่าตัดช่วยปลอมแปลงโฉมหน้า จากนั้นก็สังหารมาร์คัสและซูตัวจริง แล้วสวมรอยเพื่อที่จะมาแทนที่และขึ้นยานอาร์คเพื่อไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวดวงอื่น ซึ่งตัวจริงของทั้งสองมีลูกชายที่ชื่อพอล (Paul) เด็กชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับแคมเปียน ทั้งสามได้สานสัมพันธ์กันผ่านระบบซิมูเลชั่นขณะเดินทางด้วยระบบไฮเปอร์สลีปและนั่นเป็นฉากที่แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่รักพอลเหมือนลูกจริงๆ และดูจะเป็นพ่อแม่ที่ดีให้กับพอลกว่ามาร์คัสและซูตัวจริงซะอีก 

เรื่องของสองคนนี้กับพอลทำให้หันมามองว่าสุดท้ายแล้วความเป็นพ่อแม่ (parenthood) คืออะไรกันแน่ ความผูกพันทาง DNA กับ ทางสายเลือด หน้าตาคล้ายกัน และมีส่วนในการให้กำเนิด หรือจะเป็นที่เลี้ยงดูลูกและลูกให้ความเคารพนับถือ ยอมรับด้วยใจให้คนคนนั้นเป็นพ่อแม่กันแน่?

ส่วนเรื่องที่มาเธอร์สามารถให้กำเนิดลูกๆ ได้เช่นกัน มีประโยคนึงที่แคมเปียนพูดกับเด็กผิวดำที่ชื่อฮันเตอร์

“ฉันโกหกฟาเธอร์และมาเธอร์”

“ที่นายพูดแบบนั้นนายดูถูกพ่อแม่ที่แท้จริงของนายมากเลยนะ”

“ฉันไม่เคยรู้จักพวกเขา ฉันจะดูถูกพวกเขาได้ยังไง?”

นอกจากพ่อแม่ที่แท้จริงของแคมเปียนจะไม่ได้ยินแล้ว ที่การเรียกว่าเฟเธอร์กับมาเธอร์ไม่ใช่คำดูถูกเพราะฟาเธอร์กับมาเธอร์ทั้งให้กำเนิดและดูแลเขาจนเติบโตมา ฟาเธอร์อาจดูมีอารมณ์น้อยระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน (emotionless) และมาเธอร์อาจเป็นแอนดรอยด์ที่เจ้าอารมณ์หน่อยๆ (emotional) มีแข็งกร้าวและไม่ได้ลงรอยกับแคมเปียนด้วยการสั่งสอนและการไม่ตามใจบ้าง นี่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวมาเธอร์  ไม่มีใครเพอร์เฟกต์ และในเมื่อมาเธอร์เป็นดรอยด์ที่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่แปลกใจที่เธอเป็นเช่นนั้น 

นี่คือตัวตนของหุ่นสังหารที่ได้วิวัฒน์ไปอีกขั้นเป็นแม่คน เพราะอารมณ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการยืนยันว่าสิ่งนั้นมีชีวิตและมีความรู้สึก

คนเขียนบทดูจะให้เมสเสจหลายๆ จุดของหนังที่เกี่ยวกับศาสนาถ่ายทอดผ่านบทสนทนาโดยมีตัวละครแคมเปียนเป็นใจกลาง โดยเฉพาะบทสนทนาระหว่างแคมเปียนกับมาเธอร์มักจะน่าสนใจเสมอ

“การเชื่อในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงปลอบประโลมจิตใจมนุษย์ และมันทำให้จิตใจมนุษย์อ่อนแอเช่นกัน และไม่ใช่เพราะความเชื่อในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนั้นหรือที่ทำลายโลกมนุษย์? ชาวเอทิสต์ส่งพวกเรามาที่นี่เพื่อให้มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาใหม่ด้วยตัวของมันเอง หาใช่เทพที่สมมุติขึ้นมา”

“แล้วถ้ามันมีอยู่จริงล่ะครับ?” แคมเปียนถาม “สุดท้ายพวกเขาก็ชนะสงครามไม่ใช่เหรอ? ถ้าการสวดมนต์ช่วยให้พี่น้องของเรารอดล่ะ?”

“มีแค่วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ทำแบบนั้นได้” มาเธอร์ตอบ

“เรามีอะไรต้องเรียนรู้อีกมาก แคมเปียน และเราจะไม่มุ่งไปข้างหน้าหากลูกไม่ต้านทานความต้องการประโลมใจด้วยความแฟนตาซี”

การที่ความเชื่อจะเป็นจริง (come true) ขึ้นมา จนกลายเป็นความเป็นจริง (reality) ได้ และนำมาสู่การรวมกลุ่ม ก่อตั้ง และเผยแพร่ ปัจจัยส่งคือต้องมีคนรับรู้และเชื่อในสิ่งนั้นมากพอ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนที่ถือข้างความเป็นจริงใหม่มากพอหรือมากกว่า มันก็จะมีอำนาจและอิทธิพลสูงเท่านั้น ตามมาด้วยการกระทำ วาจา และการสร้างสิ่งปลูกสร้าง สัญลักษณ์ และการบันทึกข้อบัญญัติและประวัติเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังที่แคมเปียนพูด พวกมิธเทรคชนะสงคราม นั่นเพราะมีคนศรัทธาในเทพโซลและศาสนานี้มากพอ จนเกิดการนำสิ่งที่สร้างมาจากการจินตนาการอย่างศาสนามาทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ใช้ประโยชน์จากความเชื่อชี้นำ และให้หลักศีลธรรมตัวเองเป็นเกณฑ์ชี้วัดว่าคนอื่นผิด ซึ่งในที่นี้คือการกล่าวหาว่าเอทิสต์ถือคนบาป คือมลทินของโลกที่ต้องกำจัด และเอทิสต์ทุกคนเป็นคนไม่ดี วันนึงจะทำลายโลก จนนำไปสู่สงครามที่ตั้งคำถามว่าใครกันแน่ที่เป็นคนทำเช่นนั้น?

ที่จริงแล้วถ้าคำว่าเอทิสต์ไม่ได้มีความหมายว่า ‘คนไม่นับถือศาสนา’ แต่หมายถึง ‘คนที่ไม่เชื่อ/ปฏิเสธว่าพระเจ้ามีจริง’ ซึ่งคนเราสามารถมีศาสนาโดยที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าก็ได้ เช่น การนับถือศาสนาพุทธที่เป็นอเทวนิยม ส่วนคนที่ทั้งเป็นเอทิสต์และคนไม่มีศาสนา (irreligious) ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนไม่ดี พวกเขามีทั้งหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย และหลักอื่นๆ อีกมากโดยเฉพาะกฎหมายให้ปฏิบัติตาม

เพียงแต่สำหรับมิธเทรค คนเป็นเอทิสต์ถูกเหมารวมว่าเป็นวายร้าย ซ้ำยังถูกกำจัดเพราะเห็นไม่ตรงกัน กังขา และมีข้อหักล้างความเชื่อของพวกเขาอีกด้วย แต่ชาวมิธเทรคหลงลืมไปว่าที่มนุษย์ก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้รวมถึงวิทยาการที่พวกเขาใช้อยู่ มาจากหรือมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่ศาสนาดั้งเดิมต่างก็หักห้าม 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความก้าวหน้าที่ควบคุมและคาดเดาไม่ได้เป็นภัยแต่ความเชื่อ บุคลากรศาสนาและผู้ศรัทธาในสมัยก่อนจึงต่างกลัวในการทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และนวัตกรรม จนมองว่านักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์เป็นพวกบ้า พวกนอกรีต พวกจ้องล้มล้างศาสนา จนไปถึงโดนประหัตประหาร ทั้งที่พวกเขาก็แค่อยากสร้างสิ่งใหม่ๆ และหลุดออกจากกรอบที่เราตีไว้ด้วยจินตนาการเท่านั้นเอง

อีกคำถามที่สำคัญคือ ศาสนาดีต่อโลกใบนี้อย่างสมบูรณ์เพอร์เฟกต์ขนาดนั้นหรือไม่?

ถึงแม้จะมีหลักปฏิบัติที่เป็นเหมือนกฎหมายและเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตเป็นระเบียบ แต่ในตัวมันเองยังส่งผลให้ผู้คนแตกแยกด้วยการแบ่ง ‘พวกฉัน พวกมัน พวกเรา’ อยู่ รวมไปถึงมีหลายครั้งผู้คนเห็นไม่ตรงกันหรือเหินห่างกันในฐานะเพื่อนมนุษย์เพียงเพราะอยู่คนละกลุ่มความเชื่อ แย่กว่าคือบางกลุ่มทำร้ายคนทั้งทางวาจาและการกระทำ รวมไปถึงก่อสงครามและสังหารผู้อื่นในนามพระเจ้าของตนก็มี

ต่อมาว่าด้วยบทสนทนาระหว่างที่ว่าด้วยการตีกรอบความคิด

“แค่เพราะนายพูด ไม่ได้ทำให้นั่นเป็นเรื่องจริงซะหน่อย”

“ฉันไม่ได้พูดมันขึ้นมาเองนะ พ่อของฉันบอกฉันตั้งแต่เด็ก มันคือข้อเท็จจริง”

“พ่อนายรู้ได้ยังไง?”

“เขาอ่านมาจากพระคัมภีร์”

“ถ้าอย่างงั้นคนที่เขียนพระคัมภีร์รู้ได้ไง?”

“พวกเธอเคยได้ยินเรื่องของลูกหมูสามตัวมั้ย?”

“ไม่เคยค่ะ พวกเราถูกอนุญาตให้อ่านและฟังแต่เรื่องเล่าจากพระคัมภีร์”

จะเห็นได้ชัดว่าภายใต้กรอบความเชื่อ เราถูกหล่อหลอมสั่งสอนมาให้เชื่อในสิ่งที่มีมากกว่าตั้งคำถาม สำรวจเพิ่ม หาแง่มุมใหม่ๆ ประวัติศาสตร์อาจไม่ใช่ของผู้ชนะหรือผู้แพ้ จริงไม่จริง แต่อยู่ที่คนที่เขียนมันและได้ตีพิมพ์ในวงที่กว้างมากพอมากกว่า ซึ่งในที่นี้คือการได้ตีพิมพ์พระคัมภีร์จากอิทธิพลของศาสนาที่มีคนนับถือจำนวนมาก

“ขอบคุณโซลที่ประทานอาหารมาให้พวกเรา”

“ขอบคุณเทมเปสต์ด้วยที่ฆ่ามัน”

ประโยคนี้ก็น่าสนใจใช่ย่อย เรากำลังพูดถึงการลงมือทำด้วยตนเอง เชื่อในตนเอง และทั้งหมดในชีวิตของเรา และสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในประเภทของการจัดหา อยู่ที่เราทำและเรากำหนดไม่ว่าจะวางแผนมาหรือด้นสด เราไม่สามารถอยู่เฉยๆ แล้วอาหารมาเสิร์ฟถึงที่ได้นอกจากไปล่ามัน เอามาแล่ เอามาปรุง เอามาเสิร์ฟ แต่ดูเหมือนมิธเทรคจะเป็นศาสนาที่ยกความดีความชอบของผู้นับถือไปที่เทพเจ้าซะทุกอย่าง (ที่ไม่มีใครเคยเห็นว่ามีตัวตน) แทนที่จะให้เชื่อในตัวเอง

จากบทสนทนากับฉากต่างๆ จึงทำให้พอจะเข้าใจภาพรวมได้แล้วว่าเหตุใดแอนดรอยด์ทั้งสองถึงต้องเลี้ยงเด็กๆ ให้เติบโตมาแบบเอทิสต์และไม่นำความเชื่อศาสนามาเกี่ยวข้อง

ก็เพื่อตัดข้อถกเถียงข้อโต้แย้ง ที่นำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้งหรือการที่มีใครบอกว่าใครถูกผิด ใครเข้าใจดีกว่าใคร ใครนับถือศาสนานี้แล้วอยู่สูงกว่า ส่วนคนที่ไม่ได้นับถืออยู่ต่ำกว่า จนไปถึงการด้อยค่าผู้ไม่นับถือหรือผู้ที่เห็นไม่ตรงกัน เพราะแม้จะไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่ทำเช่นนั้น แต่มันเป็นเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่ไม่อาจเดิมพันได้ ที่สำคัญคือการให้เชื่อในตัวเอง เคารพผู้อื่น กับเชื่อในการกระทำและผลลัพธ์ของการกระทำไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย 

ตรงกันข้ามมันทำให้คนคนนั้นมีความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ ไม่เชื่ออะไรอย่างปักใจหรืองมงาย แยกแยะสิ่งถูกผิดได้ ตั้งคำถามเสมอๆ (critical thinking) มีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดก่อนพูดก่อนทำ (empathy) และมีความเป็นพลเมืองที่ดี อยู่ด้วยสิทธิเสรีภาพตนเอง และไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นด้วยคำพูดและการกระทำ (good citizenship) ด้วย 

สามสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้สังคมนั้นๆ น่าอยู่ และนั่นคือสิ่งที่แคมเปียนต้องการ จึงได้ฝากฝังและเน้นย้ำมาเธอร์แบบขีดเส้นใต้ก่อนจากกัน ส่วนการมีศรัทธาที่เกินขอบเขตและปราศจากการยั้งคิดไตร่ตรอง ก็จะขัดแย้งกับการทำให้สังคมน่าอยู่ แล้วเช่นนั้นอารยธรรมจะถูกสร้าง สังคมจะเดินไปข้างหน้าโดยปราศจากความขัดแย้งได้อย่างไร? สุดท้ายทุกอย่างก็จะจบแบบเดิมอีกรอบ แค่บนดาวดวงใหม่

กลับมาที่มาร์คัสและซู (จะขอเรียกชื่อจากใบหน้า) ทั้งสองเดินทางเอาชีวิตรอดพร้อมกับคณะมิธเทรค และในการเดินทางนั้นมาร์คัสก็ได้ยินเสียงในหัวที่บอกให้เขาทำนั่นทำนี่ราวกับเสียงที่ผู้ศรัทธาเรียกว่าเป็น ‘เสียงของพระเจ้า’ จากนั้นเมื่อเขาทำตาม มันได้ทำให้ชาวคณะผ่านคืนอันหนาวเหน็บปางตายมาได้ ทั้งยังนำไปสู่การกำจัดหัวหน้าคนเก่า และถูกยอมรับจนได้กลายเป็นหัวหน้าคนใหม่อีกด้วย เนื่องจากมาร์คัสนั้นทั้งได้ยินเสียงและพิสูจน์ให้เห็น

มาร์คัสได้ยินเสียงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งให้ทำโน่นทำนี่ เดินทางไปทางนั้นทางนี้ และให้ไว้ชีวิตมาเธอร์ตอนที่เขามีโอกาสฆ่าเธอตั้งสองสามหน ทำให้นานวันเข้า เขาเริ่มรู้สึก ‘มีความสำคัญ’ ขึ้นมา และความรู้สึกนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกเข้าข้างตัวเองว่ายิ่งใหญ่ และมีสิ่งที่ต้องทำ จนมาร์คัสเริ่มที่จะอินกับบทบาทหัวหน้าเต็มทีจนแทบไม่เหลือความเป็นคาเลบอีกต่อไป สูญเสียตันตนเดิมจนสิ้น รวมถึงมีพัฒนาการด้านความเชื่อกับตัวตนที่เลยมาร์คัสตัวจริงไปอีก

เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนในคำทำนาย และได้ต่อสู้กับความเป็นคาเลบที่หลงเหลืออยู่เป็นเสี้ยวสุดท้ายในเวอร์ชั่นภาพหลอนที่เคลื่อนไหวเหมือนเขาทุกอย่าง และเมื่อเขาผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้หลังจากการพ่ายแพ้ให้กับตัวเอง เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ข้างโซล และยิงแม้กระทั่งชาวเอทิสต์ด้วยกันเอง ส่วนภาพหลอนนั้นก็พอจะบอกได้ว่าตอนนี้ด้วยศรัทธานี้ เขาอ่อนแอทางด้านจิตใจกว่าที่เคยจนไม่อาจเทียบชั้นตัวตนเดิมได้

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความเชื่อที่ส่งผลต่อสมองและทัศนคติการมองโลกของแต่ละคน ยิ่งคนคนนั้นมีแนวโน้มที่จะไหวเอนง่าย ก็จะมองทุกสิ่งทุกอย่างไปในแนวทางที่เขาอยากให้เป็น พอเห็นเข้าเค้าก็จะตีความเข้าหลักของตนเอง ด้วยความเข้าใจตนเอง และที่สำคัญคือการสร้างศรัทธาลวงสามารถสร้างทั้งในมุมมองของผู้สร้างและผู้ศรัทธา ซึ่งต้องมาคู่กันเสมอ สำหรับกรณีมาร์คัส เขาได้กลายเป็นทั้งสองอย่าง โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ได้ยินเป็นแค่เสียงในหัวหรือเสียงของอะไร

ส่วนมาเธอร์เกี่ยวกับเรื่องตัวตน เธอได้ค้นพบเครื่องซิมูเลชั่นที่จะช่วยดึงความทรงจำที่หายไปของเธอกลับมา เป็นความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับเธอและแคมเปียน สเตอร์เจส (Campion Sturges) ผู้สร้างชาวเอทิสต์ของเธอ ก่อนขึ้นยาน

การเป็นดรอยด์ที่เจ็บได้ น้ำตาไหลเป็น บ่งบอกได้ว่าเธอคือคนใหม่ แล้วการมีตัวตนและลักษณะนิสัยชัดเจน ทำให้แอนดรอยด์นับเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณได้หรือไม่? เป็นสิ่งที่น่าคิด 

คำถามที่ตอบได้คือคำถามที่ว่ามันคือตัวตนจริงของเธอหรือไม่? ใช่ นั่นคืออีกเวอร์ชั่นจริงของเธอ ส่วนเนโครแมนเซอร์เป็นอดีตตัวตนที่แยกจากกันแล้ว เหมือนที่มนุษย์แต่ละช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนโตแม้จะเหลือเค้าโครงนิสัยเดิมก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เสมอ อยู่ที่จะชอบเวอร์ชั่นไหนของตัวเองและอยากจะคงเวอร์ชั่นไหนไว้ ซึ่งมาเธอร์ชอบตัวเองเวอร์ชั่นนี้ที่สุด ส่วนนึงมาจากการรีโปรแกรม และส่วนนึงมาจากเจตจำนงของเธอเอง

หลังจากนั้น ทั้งสองได้มีความสัมพันธ์กันในซิมูเลชั่น มาเธอร์มองว่าการมีลูกที่ผ่านมาเป็นบททดสอบให้เด็กคนนี้ที่เป็นลูกที่เธอสร้างและอุ้มท้องขึ้นมาเอง

เธอได้นำเลือดสัตว์ประหลาดที่เจอบนดาวที่มีองค์ประกอบของพลาสม่ามาหล่อเลี้ยงชีวิตที่อยู่ในท้อง คดีพลิกตรงที่สิ่งที่การค้นพบว่าตัวประหลาดในเรื่องมี DNA เดียวกับมนุษย์, เธอเห็นนิมิตพิธีกรรมบางอย่างที่เหมือนเป็นการจับเนโครแมนเซอร์ไปบูชายัญแล้วทำพิธีโดยกลุ่มคนลึกลับ รวมถึงที่เธอตั้งท้องไม่ใช่มนุษย์หรือลูกที่มีความคล้ายคลึงเธอ แต่เป็นงูที่ลอยกลางอากาศได้

ถึงตรงนี้น่าสนใจมากว่างูนี้คืออะไร? และเหตุใดแอนดรอยด์ถึงให้กำเนิดลูกออกมาเป็นงูประหลาด? แล้วเธอถูกทำให้ท้องตอนไหนกันแน่?

ตลอดเรื่องจะมีกระดูกงูยักษ์ให้เห็น ซึ่งนั่นคือไซส์โตเว็มวัยของมัน ซีรีส์หลอกให้เราคิดว่านั่นเป็นกระดูกขาวสิ่งมีชีวิตสูญพันธ์ุไปแล้วก่อนที่จะเฉลยว่ามันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ไม่พบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้เลยนอกจากสัตว์ประหลาดที่วิวัฒนาการจากมนุษย์ ทำให้พอจะได้คำตอบแล้วว่า งูตัวนี้เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ และมันดูเหมือนเป็นผู้ล่าสูงสุดบนดาวดวงนี้

และเป็นงูยักษ์เช่นกันที่คอยสั่งการให้มาร์คัสทำตามโดยหลอกเขาด้วยความศรัทธา กับหลอกล่อมาเธอร์ให้ตามลูกที่เสียชีวิตไปแล้วเข้าป่ามาเจอเครื่องซิมูเลชั่น แสดงให้เห็นว่ามาเธอร์เองก็มีจิตใจและจิตวิญญาณถึงได้ได้ยินเสียงมัน แต่ทั้งคนดูและตัวละครในเรื่องจะเชื่อในอะไรได้อีก ทั้งคู่ต่างเชื่อว่าสิ่งที่เหนือความเข้าใจไม่มีจริง ก่อนที่จะมาค้นพบว่าเสียงที่ได้ยินและภาพที่ได้เห็น เป็นการหลอกลวงโดยสัตว์ประหลาดที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ

ทั้งหมดก็เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่มันต้องเป็น

ถ้าเช่นนั้นแล้ว หากพระเจ้าไม่มีจริง แต่งูยักษ์ลอยได้ (แถมบังคับยานได้) มีจริง แล้วอะไรคือความเป็นจริงสูงสุดล่ะ? สำคัญกว่านั้นคือตลอดช่วงชีวิตเราจะได้รู้ทั้งหมดมั้ย? หรือรู้แค่บางส่วน หรือรู้อะไรเลย แล้วคิดไปเอง บอกคนอื่นว่ารู้ บอกคนอื่นว่าตนเป็นตัวแทนของผู้อยู่เหนือพวกเขา ก่อนที่จะเผยแพร่เป็นวงกว้างด้วยการบอกว่ารู้และนั่นคือ ‘ความจริง’ ส่วนสิ่งอื่น ‘ไม่ใช่ความจริง’? 

เราควรฟันธงและปักหลักกับมัน (ความเชื่อและความเข้าใจที่มี) หรือไม่ในเมื่อสิ่งใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดและรอวันพิสูจน์ ค้นพบ?

แล้วตัวละครในเรื่องมีเจตจำนงเสรีหรือไม่ในเมื่อทุกคนทำตามเสียง ภาพหลอน และนิมิต ก่อนที่จะก้าวตามสเต็ปที่ถูกวางไว้โดยงูยักษ์แบบเป๊ะๆ จนนำไปสู่การให้กำเนิดมัน? ไหนจะการที่มนุษย์สร้างเทคโนโลยี สร้าง AI สร้างแอนดรอยด์ และแอนดรอยด์สร้างสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่อยู่เหนือและควบคุมทั้งสองสิ่งมีชีวิตก่อนหน้ามันได้อีก?

ที่เขียนไปทั้งหมดเป็นเพียงการตีความกับการต่อยอดจากสิ่งที่ซีรีส์ให้มา ยังมีปริศนาอีกมากมายให้ไข มีปรัชญากับสัญลักษณ์อีกมากมายให้มานั่งขบคิดตีความ กับทั้งประเด็นอีกไม่น้อยที่รอวันสานต่อให้เราหาคำตอบใน Raised by Wolves ซีซั่นต่อไป

AUTHOR