สถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ว่า 90% ของทารกที่หูหนวกเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ได้ยินปกติ ขณะที่ในทางกลับกัน 85-90% ของพ่อแม่ที่หูหนวกมีลูกเป็น ‘CODA’ ที่ย่อมาจาก Child of Deaf Adults หรือเป็นคำเรียกแบบย่อๆ ของลูกที่เกิดมาจากพ่อแม่ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด
ซึ่งนั่นก็คือที่มาของหนัง CODA ของ Apple TV+ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดภาพยนตร์ Sundance 2021 ว่าด้วยเรื่องราวของ Ruby เด็กหญิงคนเดียวที่เกิดมามีการได้ยินปกติในครอบครัวชาวประมง Rossi ที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ พี่ชาย ที่หูหนวกกันทั้งบ้าน เป็นหนังรีเมกจากหนังฝรั่งเศสชื่อ La Famille Bélier ที่มีแต่คนชมว่าดีกว่าต้นฉบับซะอีก เพราะแม้ว่าจะมีบางฉากที่เหมือนกันแบบช็อตต่อช็อต หนังเรื่องนี้โดดเด่นในแบบของตัวเอง ทำให้ไม่แปลกใจนักที่จะได้ยินเช่นนั้น
เป็นหนังแนวดราม่าครอบครัวผสม coming-of-age ที่ค่อนข้างให้พลังบวกกับเห็นการเติบโตที่ชัดเจนเลยทีเดียว ดูไปยิ้มไป จะตลกก็ยิ้มตาม จะดราม่าก็รู้สึกอินตามไปด้วย
จุดเด่นอย่างแรกของหนังที่อยากพูดถึงคือความสมจริง หนังฉบับนี้ต่างจากต้นฉบับตรงที่ต้นฉบับจะให้นักแสดงเรียนภาษามือ ในขณะที่ฉบับอเมริกันรีเมกนี้ ครอบครับ Rossi ทั้งสามคนเป็นนักแสดงที่เป็นหูหนวกจริงๆ ยกเว้น Emilia Jones ผู้รับบทเป็นนางเอกที่ชื่อ Ruby ที่ค่อนข้างจะต้องใช้ความทุ่มเทและทำการบ้านกับบทบาทพอสมควร เธอต้องร้องเพลงให้เพราะ ในขณะเดียวกันภาษามือก็ต้องถูกต้องและดูโฟลว์ สีหน้าท่าทาง เมื่อถึงฉากสื่ออารมณ์ต่างๆ แววตากับอินเนอร์ก็ต้องได้ (ฟังดูเป็นอะไรที่ multitasking มาก)
แต่นั่นดูจะไม่ใช่ปัญหา เพราะการเลือกใช้นักแสดงหรือการแคสติ้งหนังเรื่องนี้เพอร์เฟกต์ ด้วยเคมีที่เข้ากันและความสามารถทางการแสดงที่ลื่นไหลกับการกำกับที่ต้องขอชมว่าค่อนข้าง solid และฉลาดใช้วิธีในการเล่าเรื่อง หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่แข็งแรงทั้งด้านโครงสร้างและองค์ประกอบ พร้อมกันนี้ยังสามารถทำหน้าที่พูดอะไรบางอย่างไปพร้อมๆ กับมู้ด & โทนที่สนุกไม่มีเบื่อ
แม้จะมีเด็กไฮสคูลนิสัยเสียล้อเลียน กับ make fun ครอบครัว Ruby ตามคาดเรื่องปัญหาการได้ยิน แต่หนังทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นความปกติสุข (normality) ของครอบครัวนี้ ครอบครัว Rossi เหมือนจะขาดอะไรไปในสายตาคนอื่นแต่สำหรับพวกเขาแล้วไม่ได้รู้สึกขาด ทุกคนในชุมชนกับคนรู้จักปฏิบัติกับพวกเขาแบบคนเท่ากัน ในหนังมีแม้กระทั่งฉากคนพ่อเปิดเพลงแร็ปเสียงดังเพราะชอบเบสที่ทุ้มและทำให้เขารู้สึกได้ มีเซ็กส์อย่างเร่าร้อน และพูดจาทะลึ่งตึงตังหยอกล้อกันอีกด้วย สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ เช่นพี่กับแม่เองก็ใช้ชีวิตโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรที่ผิดปกติ
แต่ถึงแม้จะบอกว่าหนังเล่าชีวิตครอบครัวนี้ที่เป็นปกติสุขดี ก็เพราะกุญแจสำคัญที่ชื่อ Ruby เป็นคนไขว้มือเชื่อมโยงครอบครัวกับโลกใบนี้ให้อยู่กันอย่างกลมกลืน Ruby หลักๆ หนังจึงเป็นการพูดถึงการเป็นเด็กที่เกิดมาในฐานะคนเดียวที่ได้ยินในครอบครัว ตัวเอกอย่าง Ruby มีอะไรที่ต้องแบกรับจากทั้งครอบครัว ความเป็นวัยรุ่นค้นหาตัวเอง และโลกภายนอกบ้าง และการที่เธอเป็นคนเดียวที่เป็นคนกลางสามารถสื่อสารให้ครอบครัวเข้าใจคนอื่นและคนอื่นเข้าใจครอบครัวทำให้เธอมีบทบาทสำคัญยังไง
เคสของ CODA เป็นเคสที่น่าสนใจ จากที่เห็นคือ Ruby เป็นกาวเชื่อมระหว่างสองโลกคือโลกแห่งเสียงและโลกไร้เสียง Ruby คือหัวใจของครอบครัวนี้อย่างแท้จริง และที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกคือเธอยังเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์นั่นก็คือน้ำเสียงที่ไพเราะอีกด้วย การเกิดมาได้ยินเสียงคนอื่นและเสียงตัวเอง ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบการร้องเพลง ฉะนั้นเมื่อเธอสมัครเข้าชมรมร้องประสานเสียงและได้พบกับครู Bernardo Villalobos หรือครู V เข้า แม้จะมีบุคลิกที่ขวานผ่าซาก ไม่เกรงใจใคร และไม่น่าเข้าใกล้เท่าไหร่ แต่เขาเห็นบางอย่างในตัวเธอและสนับสนุนศิษย์คนนี้เต็มที่
และในช่วงที่ชีวิตเธอมีทีท่าว่าจะมุ่งไปทางที่น่าสนใจมากขึ้น แต่แล้ว Ruby ก็มาถึงทางแยกที่ทางหนึ่งคือช่วยครอบครัวหาปลาและทำอาชีพประมง ซัพพอร์ตครอบครัว กับอีกทางคือทำตามความฝัน ทำตามเสียงหัวใจ นั่นคือการร้องเพลง และเข้าวิทยาลัยดนตรี Berklee
นี่คือสาเหตุที่บอกว่าหนังเรื่องนี้คือหนัง coming-of-age เพราะไม่ใช่แค่ coming ของตัว Ruby เอง แต่ยังเป็นการ coming ของครอบครัวด้วย เพราะนอกจากเรื่องชีวิต CODA กับทางเลือกของ Ruby หนังเรื่องนี้ยังสอดแทรกประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการเติบโตด้วย เช่น การที่วันนึงลูกจะต้องโตขึ้นและไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ไปตลอด หรือการตัดสินใจของสมาชิกครอบครัวคนใดคนนึงที่มักจะส่งผลกันเสมอ และความเข้าใจกันของครอบครัว
การอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นอะไรที่เหมือนเซฟโซน คล้ายๆ กับที่คำว่าบ้านที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า ‘home’ คือผู้คนมากกว่าสถานที่ พ่อแม่มักเป็นห่วงลูก แต่สำหรับครอบครัวนี้พวกเขาทั้งเป็นห่วงและทั้งต้องการ Ruby ในเวลาเดียวกันเพื่อให้ครอบครัวมีหนทางทำมาหากิน พอ Ruby เป็นคนสำคัญ ก็จะเกิดความคาดหวัง ที่นำไปสู่ความกดดัน และความรู้สึกที่ต้องแบกรับ แล้วสำหรับ Ruby ล่ะ เธอต้องการอะไร และอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเธอระหว่างครอบครัวและความฝัน ดูเป็นชอยส์ที่ไม่ง่ายเอาซะเลยสำหรับเด็กคนนึง เธอที่เกิดมาปกติดูจะไม่มีเจตจำนงเสรีที่จะเลือกเท่าไหร่นักไม่ว่าจะอยากเป็น translator ให้กับครอบครัวตลอดเวลาหรือไม่ เหมือนที่แม่ของเธอเองก็พูดเช่นกันว่าตอนแรกก็หวังว่า Ruby จะเกิดมาหูหนวกเหมือนกันเพราะกลัวว่าเธอจะดูแลลูกได้ไม่ดีและลูกจะรู้สึกไม่ fit in กับครอบครัว
ในเรื่องราวนี้ Ruby ต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยการแสดงสิ่งที่คิดและต้องการให้ครอบครัวได้รับรู้เพราะพวกเขาไม่เคยรู้ว่าเสียงร้องของ Ruby ไพเราะหรือเป็นเด็กที่มีของขนาดไหน เธอต้องทำเพื่อตัวเองบ้าง แม้ตลอดเวลาเธอจะมีครอบครัวและครอบครัวจะมีเธอเสมอ แต่การเติบโตจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีความคิดความอ่าน มีอิสระ และมีทางเลือกว่าจะเดินเส้นทางไหนได้เอง และพัฒนาทางจิตใจจากตำแหน่งเดิม เหมือนนกที่โตแล้วต้องบินออกจากรัง ครอบครัวที่เปรียบเสมือนแม่นกที่ฟูมฟักมาตลอดก็ต้องทำความเข้าใจเช่นกัน ส่วนครอบครัวเองก็ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ และสำคัญที่สุดคือทั้งสองฝ่ายต้องพยายามเข้าใจและหา solution ที่ดีที่สุดร่วมกัน
แต่ในเมื่อพวกเขาไม่ได้ยินเสียงและแตกต่างกัน แล้วพวกเขาจะเข้าใจได้ยังไง? นั่นจึงนำมาสู่อีกประเด็นสำคัญที่จับได้จากหนังเรื่องนี้คือเรื่องของการใช้ภาษาและไวยากรณ์ที่เกี่ยวโยง กับเรื่องของความเข้าใจ เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ connect คนเข้าด้วยกัน และ CODA ก็เป็นหนังที่พูดถึงทั้งภาษาพูดและภาษากาย
การที่ Ruby สื่อสารกับครอบครัวเธอใช้ภาษามือเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอนอยู่แล้ว อีกจุดนึงที่มองเห็นว่าเป็นการใช้ทั้งสองไวยากรณ์คือการที่พระเอก (ที่หนังใส่มาเป็นพาร์ตโรแมนติกแต่ไม่ได้ลงลึกมากนัก) ฟังเสียงร้องเพลงของ Ruby แล้วเริ่มสนใจ เปิดใจ เริ่มชอบ เริ่มสนิท เริ่มเข้าหา หากไม่นับหน้าตา Ruby ที่น่ารักไม่ใช่เล่นคือผลพวงจากการใช้ ‘ภาษาเสียง’ ที่เชื่อมโยงทั้งคู่เข้าด้วยกัน การซ้อม การพบกันบ่อยๆ การเปิดโอกาสคุยกันทำให้ทั้งคู่เริ่มที่จะชอบพอกัน จากนั้นจึงหล่อเลี้ยงด้วย ‘ภาษากาย’ คือการมองตา จ้องหน้าและการ จูบ
อย่างไรก็ตาม ภาษากายเป็นสิ่งที่หนังโฟกัสที่สุด เพราะเป็นภาษาที่ดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์สำหรับการ express ความอารมณ์รู้สึกออกมา (ไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติไหน พูดภาษาอะไร มนุษย์ทุกคนมีภาษากายเป็นภาษาร่วมกันไม่มากก็น้อย) และภาษากายยังเป็นภาษาแรกที่มนุษย์รู้จักอีกด้วย แม้ว่าจะยังไม่ได้เรียนรู้อีกด้วย เช่นการหัวเราะ ร้องไห้ เสียงดัง ตั้งแต่ยังเป็นทารก
การที่หนัง CODA ใช้ตัวละครกับการบกพร่องทางการได้ยินกับลูกที่เกิดมาแตกต่างก็เพื่อพูดเรื่องนี้ ว่าไม่สำคัญว่าโลกของ Ruby กับพ่อ แม่ พี่ชาย จะมีเสียงหรือไม่ ‘ความเข้าใจและนึกถึงกันและกัน’ คือสิ่งสำคัญที่จะแสดงภาษากายออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและไม่ต้องพึ่งการประดิษฐ์คิดค้นที่สุด นั่นคือจะทำให้เกิด ‘รอยยิ้ม’ ตามมา
มีหลายฉากที่หนังแสดงถึงความอยู่คนละโลกของ Ruby กับครอบครัวได้ดี ถึงขั้นดีมาก เช่น นางเอกเปิดเพลงเสียงดังเท่าไหร่ก็ได้, ฉากที่กรี๊ดในห้องไม่มีใครได้ยิน หรือใช้การกะพริบไฟแทนนาฬิกาปลุก (ไม่ก็นาฬิกาปลุกมนุษย์ลูก) และฉากที่เรือเจ้าหน้าที่มาเทียบแต่พ่อกับพี่ชายไม่ได้ยิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉาก powerful อย่างฉากที่ครอบครัวมาฟัง Ruby ร้องเพลง หนังเลือกที่จะตัดเสียงให้เงียบสงัดเพื่อให้เราเข้าใจว่าพ่อ แม่ และพี่ชายของ Ruby รู้สึกยังไงตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคนพ่อใช้การสังเกตสีหน้าของคนที่มาร่วมฟังในงานร้องเพลง มีทั้งคนที่พยักหน้า โยกเบาๆ ตาม ยิ้ม และชอบจนน้ำตาซึม วินาทีนั้นคนพ่อรู้ได้ทันทีว่าลูกสาวตัวเองร้องเพลงเพราะขนาดไหน นำมาซึ่งฉากตอนใกล้จบที่ Ruby ร้องเพลงท้ายรถกระบะแล้วพ่อเอามือจับที่ลำคอของเธอเพื่อรู้สึกถึงการสั่นไหว เขา ‘ยิ้ม’ ด้วยความดีใจแม้จะไม่ได้ยินก็ตาม
ฉากที่ประทับใจที่สุดของหนังที่ทำหน้าที่พูดถึงการเชื่อมโยงสองโลกเข้าด้วยกันได้ดีที่สุดคือการที่ครอบครัวมาฟัง Ruby ออดิชั่นในช่วงท้ายของหนังและ Ruby แปลภาษามือไปด้วยร้องไปด้วย การที่ครอบครัวมาดูคือการที่ครอบครัวเข้าหาเธอ และการที่เธอแปลภาษามือไปด้วย นั่นคือการที่เธอแสดงให้ครอบครัวได้เข้าใจหรือเข้าหาครอบครัว
ภาพที่ตาเห็นจึงเป็นไวยากรณ์เดียวที่ครอบครัวนี้รับรู้ได้ และสีหน้าที่ยิ้มแย้มยินดีไปกับลูกกับสีหน้าของ Ruby ตอนร้องเพลงเป็นไวยากรณ์ระหว่างครอบครัวที่ชัดเจนที่สุดยิ่งกว่าภาษามือ หรือ ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็มีความสุข Ruby มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการและเป็นเรื่องดีที่ครอบครัวซัพพอร์ต ในขณะเดียวกันครอบครัวก็ดีใจกับ Ruby ที่ได้ทำสิ่งที่ชอบอย่างเห็นได้ชัดทางสีหน้า
CODA ถือเป็นทั้งหนังดราม่าว่าด้วยเรื่องความรักความเข้าใจ ที่เล่าเรื่องสนุกกับมีอะไรกวนโอ๊ยชวนหัวเราะหน่อยๆ มีกลิ่นคอมเมดี้นิดๆ โรแมนติกไม่น้อย และยังเป็นหนัง coming-of-age ทั้งของ Ruby เองกับครอบครัวอีกด้วย
ดูหนังเรื่องนี้นอกจากอบอุ่นหัวใจและเติมเต็มช่องว่างบางส่วนที่อยู่ในใจแล้ว ก็เป็นการทำให้ realize เหมือนกันว่าที่ผ่านมามนุษย์มีหนทางที่จะสื่อสาร รับรู้ และเข้าใจกันเสมอมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่ที่พยายามเข้าใจกันมั้ยก็เท่านั้น ต่อให้เป็นโลกที่ไร้เสียงก็ยังมีตาเห็น โลกที่ตามองไม่เห็นก็ยังมีการสัมผัส โลกที่สัมผัสไม่ได้ก็ยังมีเสียงกับภาพ และการที่จะเข้าใจผู้อื่นคือการใช้ ‘หัวใจ’ เพื่อจะเปิดรับ เข้าหา และเรียนรู้เกี่ยวกับคนคนนั้น จึงอยากชมใครก็ตามที่ตั้งชื่อไทยหนังเรื่องนี้ว่า ‘หัวใจไม่ไร้เสียง’ เพราะค่อนข้างสื่อสารถึงตัวหนังได้ดี
ในบางเรื่องบางครั้ง สมองไม่ใช่อวัยวะเดียวที่จะตัดสินใจได้เสมอไป เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องของหัวใจหรือการใช้หัวใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นเรื่องดีถ้าจะมีใครสักคนไม่ว่าจะเพื่อน คนรัก ครอบครัว ใช้หัวใจของพวกเขาฟังเสียงหัวใจของเราเช่นกัน