“พลังงานคือเรื่องสำคัญ ทุกคนควรช่วยกันประหยัดพลังงาน”
เราต่างถูกกรอกหูด้วยประโยคทำนองนี้กันมาตั้งแต่จำความได้ แต่ไม่ว่าจะฟังสักกี่ครั้งการประหยัดพลังงานเพื่อโลกและมวลมนุษยชาติก็ดูเป็นเรื่องไกลตัว ชนิดที่ว่าถ้ามีใครมาพูดให้ฟังมากเข้าเราคงอยากหาอะไรมาอุดหูแล้วรีบเดินหนีให้ไว
‘SAVE FOR LATER’ คือการแสดงที่เล่าเรื่องพลังงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดความยาว 45 นาที เต็มใจให้เราหยิบหูฟังมาอุดไว้ในหู แล้วเดินหนีต่อไปเรื่อยๆ ในทุกๆ นาทีของการแสดง จากฉากหนึ่งสู่อีกฉาก เราอาจได้เข้าไปอยู่ในงานแต่งงาน เวทีสัมมนา หรือได้ดูโฆษณาเพลงแรป และเชื่อเถอะว่าทุกซีนนั้นเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยคำว่า ‘พลังงาน’ ในแง่มุมที่ตลกและย่อยง่ายกว่าที่เคยได้ยิน
งานที่ฟังดูแปลกหูนี้คือผลงานชิ้นล่าสุดของคณะละคร FULLFAT Theatre ผู้ถนัดในการเล่นกับประสบการณ์ของคนดู โดยครั้งนี้หากจะนิยามอย่างกระชับด้วยศัพท์เทคนิค ต้องเรียกว่า SAVE FOR LATER คือละครเวทีสำหรับดูคนเดียว (single-audience performance) ในรูปแบบ site-specific ตามแบบที่ชาว FULLFAT ถนัด ในขณะเดียวกันพวกเขายังท้าทายตัวเองเพิ่มด้วยการทำ immersive theatre หรือละครที่ให้คนดูเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งซึ่งยากกว่าการเล่นให้คนดูเฉยๆ ขึ้นไปอีก
ในส่วนของเนื้อเรื่องที่ตั้งใจเล่าเรื่องพลังงานในมุมมองต่างๆ ก็เป็นโจทย์การทำงานที่ท้าทายไม่แพ้รูปแบบของการแสดง เพราะงานนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของ bacc และคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อสร้างงานศิลปะที่ช่วยสื่อสารเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกในปัจจุบัน
ยังไม่ต้องตกใจ หากอ่านคำนิยามข้างบนแล้วยังไม่กระจ่างว่าการแสดงที่ว่านี้คืออะไร เราขอชวนไปฟังคำอธิบายฉบับยาวจากผู้กำกับการแสดงอย่าง อ้น–นพพันธ์ บุญใหญ่ และ ฟ้า–กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ละครที่คนดูคือผู้แสดง
- โทรศัพท์มือถือ
- หูฟัง
- พาวเวอร์แบงก์ (หรือชาร์จแบตมือถือให้เต็ม)
นี่คือสามสิ่งที่ SAVE FOR LATER บอกให้เราเตรียมให้พร้อมก่อนที่จะ ‘เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง’ ของการแสดงในห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อใส่หูฟังแล้วเริ่มเปิดไฟล์เสียงในมือถือ เสียงในหูจะคอยอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างพอดิบพอดี ชวนให้เราคิดตามไปกับเรื่องราวที่ได้ฟัง พร้อมกำกับการเคลื่อนไหวของเรา เช่น บอกให้เดินไปข้างหน้า ขึ้นไปยืนบนโพเดียม หรือได้เวลาเดินไปยังห้องถัดไป
“เอาเข้าจริง immersive theatre คืออะไร สิ่งนี้ยังเรียกว่าเป็นละครเวทีอยู่ไหม” เราถาม เมื่อรูปแบบของมันดูจะห่างไกลจากภาพจำของคำว่าละครเวทีที่คุ้นเคยไปไกล
อ้นนิ่งคิดไปครู่หนึ่งก่อนจะเริ่มอธิบาย
“เราอยากเรียกว่าการแสดงมากกว่า คือคำว่า immersive theatre ค่อนข้างซับซ้อนที่จะนิยามด้วยภาษาไทย แต่ถ้าจะให้อธิบายมันคือการที่คนดูเข้าไปอยู่ในนั้นร่วมกันกับเรื่องราว เหตุการณ์ นักแสดง และพื้นที่” แน่นอนว่างานนี้ยังคงลายเซ็นของ FULLFAT ในแง่การทำงานที่สอดคล้องไปกับพื้นที่เอาไว้ชัดเจนไม่แพ้งานที่พวกเขาเคยทำมาก่อนหน้านี้อย่าง Siam Supernatural Tour ที่แทนที่จะเล่นบนเวที พวกเขากลับพาคนดูเดินลัดเลาะดูการแสดงหลังเวทีแทน หรือ TAXIRADIO ที่ชวนคนดูรับบทเป็นคนนั่งแท็กซี่
มากกว่านั้น งานครั้งนี้ยังสนุกยิ่งขึ้นเมื่อพวกเขาชวนให้คนดูเข้าไปเล่นสนุกในพื้นที่ที่ถูกดีไซน์มาอย่างอิสระกว่าที่เคย พร้อมเมสเซจที่ตีความและสื่อสารเรื่อง ‘พลังงาน’ ไปไกลกว่าบริบทของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การแสดงที่เป็นส่วนตัว
ในตอนแรกที่ได้ยิน เราเข้าใจว่า SAVE FOR LATER คือละครเวทีที่ถูกปรับให้เป็น single-audience performance เพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่อ้นและฟ้ากลับบอกว่านี่คือความตั้งใจที่มีตั้งแต่ไวรัสยังไม่ระบาดหนักขนาดนี้ด้วยซ้ำ
“มันเป็นความบังเอิญอย่างประหลาด แผนแรกที่เราส่งให้กับทาง bacc คือแผนการแสดงที่เรียกว่า single-audience คือคนดูอยู่ในพื้นที่คนเดียวและเข้าไปเสพเรื่องราวด้วยตัวเอง โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่คนดูมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงได้ คุยและแตะต้องกันได้” อ้นอธิบาย
แต่เมื่อจู่ๆ วิกฤตโควิดก็ทำให้เกิด new normal อย่างไม่คาดคิด ถึงจะตั้งต้นด้วยการแสดงสำหรับคนดูเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แต่อ้นบอกว่าการดีไซน์ฉากและวิธีการรับชมต้องเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมด เริ่มจากการเปลี่ยนไปใช้เสียงบรรยายผ่านหูฟังแทนเสียงบอกเล่าจากปากนักแสดงตรงหน้า
“ข้อดีของการปรับการเล่าเรื่องให้อยู่ในรูปแบบนี้คือมันเป็นส่วนตัวมากกว่า เป็นประสบการณ์ของคุณที่คนอื่นไม่มีทางมีเหมือนกันได้ แต่มันยากมากเพราะเราต้องปรับจูนหลายอย่าง ทำแล้วทำอีก ซ้อมแล้วก็ต้องมาดูว่าเวิร์กหรือเปล่า” และนอกจากความยากลำบากที่อ้นและคนเบื้องหลังต้องเจอ ฟ้ายังเสริมให้ฟังว่าสำหรับคนดูที่ต้องปรับตัวกับการรับชมการแสดงแบบใหม่ก็เป็นความท้าทายเช่นกัน
“เรารู้สึกว่าการแสดงนี้เรียกร้องการจดจ่อและความตั้งใจจากคนดูหนักมาก เพราะเสียงจะคอยกำกับว่าเขาต้องทำอะไร เคลื่อนที่ไปทางไหน มีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงยังไง เพื่อให้เรื่องที่ต้องการสื่อสารยังอยู่ครบแต่ผู้ชมก็ปลอดภัยด้วย”
“นอกจากมือถือ หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ คนดูควรเตรียมตัวยังไงอีกบ้าง” เราถาม
“เราอยากให้คนดูเอนจอยไปกับเนื้อหาและนักแสดง เล่นกับนักแสดงได้ เพราะโชว์นี้ไม่มีเส้นกั้นของความเป็นนักแสดงกับคนดู” ฟ้าอธิบายถึงอิสระของคนดูที่เป็นมากกว่าคนดู เมื่อกรอบของเวทีและที่นั่งถูกยกออกไป โชว์นี้ต้องการให้เราเข้าไปสนุกกับภาพ เสียง และพื้นที่ ให้มากเท่าที่เราต้องการ ซึ่งอ้นเองก็กังวลไม่ต่างกัน
“บางสเปซอาจจะทำให้คนรู้สึกวางตัวไม่ถูก เดินตรงนี้ได้ไหม นั่งได้ไหม ทำไมนักแสดงถึงไปอยู่ตรงนั้น มันเริ่มแล้วเหรอ มันจะมีหลายคำถามมากๆ แต่จริงๆ ที่นี่มันคือสวนสนุก มันคือที่ให้คุณมาเล่นจนเกือบจะไม่ใช่ละครเวที”
ทำให้เรานึกถึงประโยคหนึ่งจากเสียงพากย์ที่ได้ยินผ่านหูฟัง
“ปล่อยวาง ไม่ต้องกลัว ที่นี่ไม่มีอะไรที่คุณต้องระแวง”
พลังงานที่เป็นของตาย
ย้อนกลับไปในตอนเริ่มแรก บรีฟเดียวที่ทาง bacc มีให้ทีม FULLFAT คือพวกเขาอยากให้ละครเรื่องนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องพลังงานทางเลือกอย่างมีชั้นเชิงและเป็นศิลปะ
“งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่ กกพ.อยากกระจายองค์ความรู้เรื่องพลังงานทางเลือกออกไปสู่สังคม โดยเฉพาะเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทาง bacc รับหน้าที่ผลิตงานในรูปแบบศิลปะ” ฟ้าเล่า ก่อนเสริมว่ารูปแบบคำว่า ‘ศิลปะ’ ที่ถ่ายทอดผ่านฝีมือของ bacc นั้นหลากหลาย ทั้งนิทรรศการแสง จรัส Light Fest ที่ลานหน้าหอศิลป์ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อปลายปีก่อน และละครสำหรับเด็กแฝงความรู้เรื่องพลังงานทางเลือกซึ่งจัดขึ้นโดยห้องสมุดศิลปะ ส่วนฝ่ายกิจกรรมที่ฟ้าดูแลอยู่นั้นเลือกทำโปรแกรมภาพยนตร์สารคดีดูสนุก และแน่นอนว่าละครเวที SAVE FOR LATER ด้วย
“ช่วงปลายปีที่แล้วพอรู้ว่าจะต้องทำละครเราเลยมาคิดว่าคนทำละครคนไหนในประเทศนี้ที่จะสื่อสารเรื่องพลังงานออกมาได้อย่างที่เราต้องการ ส่วนตัวเราเชื่อว่าพอนำเรื่องพลังงานมาทำละคร เราไม่จำเป็นต้องเล่าข้อเท็จจริงเหมือนทำงานนิทรรศการ ไม่ต้องเล่าเมสเซจผ่านปากนักแสดงก็ได้ นี่เป็นเหตุผลที่เราเลือกทำงานกับ FULLFAT”
จากโจทย์ที่ทาง bacc ส่งมาให้ อ้นจึงเริ่มลงมือรีเสิร์ช แล้วสมมติตัวเองเป็นคนดูเพื่อหาคำตอบว่าเรื่องราวเกี่ยวกับพลังงานแบบไหนกันที่คนจะอยากเสพ
“เรารู้สึกว่าพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ในขณะเดียวกันก็ไกลตัวมากๆ ในแง่หนึ่งมันเป็นของตาย เราแค่จ่ายตังค์แล้วก็ได้พลังงานมา แต่พอเราคิดถึงทางเลือกอื่นในการใช้พลังงานมันดูเป็นเรื่องไกลตัวมากเพราะเราไม่รู้เลยว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง”
หลังจากลงมือค้นคว้าเรื่องพลังงานจนเข้าใจเรื่องพลังงานทางเลือกรอบตัวมากขึ้น เนื้อหายากๆ จึงถูกเชื่อมเข้ากับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการตากผ้า การปัดทินเดอร์ การออกกองถ่ายโฆษณา ผีในห้อง หรือนิทานปรัมปรา
และใครจะไปคิดว่าหัวข้อสุดแรนดอมเหล่านี้จะถูกนำไปผูกกับเรื่องพลังงานได้อย่างแยบยล ต่อเนื่อง และเพลิดเพลินอย่างคาดไม่ถึง แถมยังช่วยชี้ให้เราเห็นโอกาสที่จะดูแลและประหยัดพลังงานของโลกได้จากจุดเล็กๆ อย่างตัวเราเอง
“เรารู้สึกว่าในฐานะที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้เราก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแล” ไอเดียเกี่ยวกับพลังงานที่อ้นตั้งใจอธิบายนั้นอาจเป็นสิ่งที่ผ่านหูผ่านตาเราบ่อยๆ ว่าการประหยัดพลังงานเริ่มได้จากการกระทำเล็กๆ ของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อคนเรายังเห็นพลังงานเป็นของตายที่ซื้อได้ด้วยเงิน แล้วจะประหยัดไปเพื่ออะไร
“ปัญหาของมันไม่ใช่ปริมาณ แต่เป็นความฟุ่มเฟือยและความต้องการ” นี่คือเสียงพากย์ที่ช่วยขยายให้เราเห็นต้นเหตุที่แท้จริง ผ่านซีนเดตของชาย-หญิงคู่หนึ่งที่พบกันบนทินเดอร์ ซึ่งสะท้อนความจริงที่ว่าแม้ฝ่ายหนึ่งจะใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่รู้สึกผิดแถมยังได้มาโดยชอบธรรม แต่การกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับการเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามอยู่ดี เพราะท้ายที่สุดพลังงานก็เป็นสิ่งที่มีจำกัดและต้องแบ่งกันใช้อย่างมีสำนึกอยู่ดี
อย่าเพิ่งคิดว่าละครเรื่องนี้จะพร่ำสอนสั่งเรื่องความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่เรารู้ดีอยู่แล้ว เมื่ออ้นเลือกตีความคำว่า ‘พลังงาน’ ต่อและนำเสนอในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากไฟฟ้า เช่น พลังที่เราได้รับจากการนั่งพักผ่อน พลังงานที่เสียไปเพราะไฟดับแต่ไม่ได้เซฟงาน หรือพลังงานที่เสียไประหว่างรอคอยใครสักคน เราในฐานะคนดูจึงได้มีโอกาสไตร่ตรองเรื่องพลังงานอีกครั้งอย่างเพลิดเพลินและใกล้ตัวมากขึ้น
ฉากที่น่าเล่น
ด้วย FULLFAT เป็นคณะละครที่มีประสบการณ์การทำ site-specific performance หรือละครเวทีที่ดีไซน์การแสดงจากพื้นที่โดยเฉพาะ นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่เริ่มโปรเจกต์ใหม่ ในพื้นที่ใหม่ ด้วยโจทย์ใหม่ๆ พวกเขาก็ได้เริ่มต้นเรียนรู้และลองผิดลองถูกจากศูนย์ใหม่อีกครั้งเช่นกัน
สำหรับ SAVE FOR LATER อ้นค่อยๆ ศึกษาพื้นที่ที่มีอยู่ในมืออย่างละเอียดเพื่อดึงเอาส่วนที่โดดเด่นอยู่แล้วมาใช้สอยอย่างคุ้มค่าและสอดคล้องไปกับเรื่องพลังงานที่อยากเล่า
“เราพยายามศึกษาพื้นที่ก่อนและพบว่าเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของห้องนี้คือวงกลมด้านบน เหมือนเป็นขื่อไม้บนเพดานที่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามีไว้ทำอะไร” อ้นหัวเราะพร้อมอธิบายว่าวงกลมเหล่านั้นถูกใช้เป็นอาณาเขตในการแบ่งฉากของละคร ก่อนเขาจะให้ทีมจัดการกั้นม่านให้เป็นสัดส่วน แล้วเปลี่ยนพื้นที่ด้านในวงกลมให้กลายเป็นห้องเล็กๆ สำหรับซีนที่แตกต่างกันไป
แม้จะฟังดูเรียบง่าย แต่ด้วยการดีไซน์ที่คิดมาอย่างดีทั้งแสง วัสดุ และการตกแต่ง ในห้องหนึ่งเราจึงรู้สึกเหมือนอยู่หน้าฉากถ่ายรูปในงานแต่งงานไม่มีผิดเพี้ยน ในขณะที่ห้องไม่ไกลกันให้ความรู้สึกไม่ต่างจากออฟฟิศที่มนุษย์เงินเดือนเดินเข้ามาต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดี
“อีกสิ่งที่เด่นมากในห้องนี้คือบานหน้าต่างขนาดใหญ่ที่แสงข้างนอกลอดเข้ามาได้ เราคิดว่ามันเป็นไฮไลต์ของห้อง” อ้นหมายถึงกระจกบานแคบสูงที่มองออกไปเห็นความเคลื่อนไหวของถนนพระรามที่ 1 โซนนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ที่คนดูจะได้หยุดพักจากเรื่องราวและบทบาทที่เสียงในหูเล่าให้ฟัง แล้วมาเลือกฟังเรื่องราวจากเจ้าของรองเท้า 1 ใน 5 คู่ที่ถูกวางไว้ตรงหน้า หลังจากนั้นเสียงพากย์เดิมก็จะพาเรากลับสู่เส้นเรื่องที่ปูไว้อีกครั้ง
ความสนุกของการแสดงตลอดทั้ง 45 นาทีจึงไม่ใช่แค่ภาพที่เห็นหรือเรื่องราวที่ได้ฟัง แต่ยังครอบคลุมช่วงเวลาที่คนดูค่อยๆ เรียนรู้กลไกการสื่อสารในแต่ละฉาก แล้วปรับตัวให้กลมกลืนไปกับบรรยากาศรอบตัวทีละนิดเพื่อที่จะได้เข้าถึงอรรถรสของเรื่องราวให้มากขึ้น
และในเมื่อทุกองค์ประกอบของ SAVE FOR LATER ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนดูได้สนุกกับการเล่นและการสร้างประสบการณ์ดูละครแนวใหม่ที่มีแต่เราเท่านั้นที่รู้ ก็คงไม่เสียหายอะไรถ้าเราจะปล่อยสมองให้โล่ง แล้วยอมให้ตัวเองสนุกไปกับมิติต่างๆ ของคำว่าพลังงาน ที่อ้นและชาว FULLFAT สรรหามาเล่าให้เราฟังผ่านละครเวทีที่ดูไม่เหมือนละครเวทีเรื่องนี้
SAVE FOR LATER แสดงที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) วันที่ 17-19 กรกฎาคม 2563 อ่านรายละเอียดรอบการแสดงและการจองบัตรได้ที่นี่ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)