TAXIRADIO : ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย กรุงเทพฯ ในวันวานมันหายไปไหนแล้วนะ?

เขียนบทและกำกับ: นพพันธ์ บุญใหญ่
ดนตรี: วทัญญู นิวัติศัยวงศ์, อาภาวี เศตะพราหมณ์
ออกแบบแสง: พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์, ประภัสสร สุขเกษตร, ลภนภัทร ดวงพลอย
สถานที่: Warehouse 30

นอกจากละครเวทีของคณะตัวเอง 2 เรื่อง เพื่อนต่างคณะ 1 เรื่อง และละครที่เมืองไทยเวทีรัชดาลัยเธียเตอร์ (เมื่อนานมาแล้ว) อีกหนึ่งเรื่อง เราเองก็ไม่เคยไปดูละครเวทีจากที่ไหนอีก ประสบการณ์ที่ผ่านมาในวงการนี้มีค่อนข้างน้อยและไม่ค่อยเข้าถึงแก่นของศาสตร์นี้สักเท่าไหร่ ทำให้การไปชมละครเวทีไม่ว่าจะโรงเล็กโรงใหญ่แต่ละครั้งมักจะมีสัปหงกบ้างเป็นบางจังหวะ สลับกับความตื่นเต้นเมื่อเห็นฉากหรือการจัดไฟสวยๆ แต่แล้วเราก็เดินออกมาจากโรงละครด้วยความว่างเปล่าทุกครั้ง

ต่างไปจากค่ำคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสพาตัวเองเข้าไปสัมผัสวงการละครเวทีอีกครั้งกับผลงานเรื่อง Taxiradio กำกับโดยกลุ่มละคร FULLFAT Theatre ของอ้น-นพพันธ์ บุญใหญ่ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เรามีต่อละครเวทีไปอย่างสิ้นเชิง

Taxiradio เล่าเรื่องราวของ 4 ตัวละครจากเบาะหลังของรถแท็กซี่ที่เกิดขึ้นในค่ำคืนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่ละสถานการณ์ที่ตัวละครถ่ายทอดออกมาล้วนสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตดี๊ดีที่ลงตัวของเมืองกรุงที่ชวนให้เราทั้งขำและขมขื่นไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจรติดขัด น้ำท่วม ผลพวงของการบริหารงานโดยรัฐบาล หรือแม้แต่ประเด็นทางการเมือง

ภูมิหลังของตัวละครและบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันของตัวละครทั้งสี่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังชมละคร 4 เรื่องในเวลาเดียวกัน ถึงแม้จะชวนสับสนเล็กน้อยในช่วงแรกเพราะแต่ละตัวละครจะสลับการพูดไปมา แต่พอจับทางได้ เราเริ่มรู้สึกสนุกและตื่นเต้นมากเวลาที่ตัวละครหนึ่งดำเนินเรื่องของตนเองอยู่ แล้วมีตัวละครอื่นแทรกขึ้นมา ชวนให้เราคอยลุ้นและเอาใจช่วยว่าใครจะพูดอะไรต่อ และสนใจว่าทำไมในบทพูดต่างเรื่องราวของแต่ละคน กลับมาสอดรับกันอย่างลงตัว คล้ายกับว่าชีวิตของพวกเราคนกรุงเทพฯ ก็เจอปัญหาเดียวกันนี้ซ้ำไปซ้ำมานี่แหละ

องค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เราคล้อยตามไปกับเนื้อเรื่องได้ตลอด 1 ชั่วโมงกว่า คือเสียงดนตรีสดจากกลองชุดที่ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ากำลังชมคอนเสิร์ตมากกว่าเข้ามาดูละครเพลงธรรมดาๆ เสียงจากกลองชุดทำให้ Taxiradio มีมิติมากขึ้นกว่าแค่การแสดงบนเวทีเหมือนเรื่องอื่นๆ และได้ฉีกภาพจำของละครเวทีแบบเดิมๆ ที่เราเคยดูมา บวกกับเบียร์ที่ขายหน้าโรงละครก็ยิ่งทำให้เราดื่มด่ำไปกับศิลปะชิ้นนี้มากขึ้นไปอีก

อีกหนึ่งเอฟเฟกต์ที่ช่วยสร้างสีสันให้งานชิ้นนี้คือการออกแบบแสง ไฟที่ใช้ประกอบการแสดงชิ้นนี้ส่วนมากเป็นไฟนีออนสีต่างๆ ที่เราไม่ค่อยได้เห็น การออกแบบให้ไฟหลากสีเหล่านี้สลับกันเปิดไปตามช่วงอารมณ์และจังหวะของสถานการณ์ในเรื่อง ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในห้วงเวลาพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต แต่เหมือนกำลังนั่งอยู่ในห้องที่มีมิติเวลาแปลกออกไป

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกของเราต่อละครเวทีเปลี่ยนไปคือฉากและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง จากที่เรามักตื่นเต้นกับการแสดงที่ใช้อุปกรณ์เยอะแยะมากมายและฉากอลังการ แต่ Taxiradio กลับดึงดูดให้เราได้ตรึงอยู่กับการแสดงตรงหน้าโดยมีฉากหลังเป็นแค่พระจันทร์กลมโตดวงใหญ่เพียงดวงเดียว และอุปกรณ์ประกอบให้ดูเหมือนเป็นตึกแค่นิดหน่อยเท่านั้น

Taxiradio หยิบยกประเด็นสังคมและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ที่เราเจอและมองข้ามขึ้นมาพูดถึงตั้งแต่ช่วงแรกของการแสดง ซัดสาดเข้ามาเป็นระลอกๆ โดยเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ทั้งตลอดทั้งเรื่อง ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราย้อนกลับมาทบทวนถึงความเป็นอยู่ของเราในมหานครแห่งนี้ และอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เราเริ่มชินชากับคุณภาพของชีวิตเช่นนี้

ส่วนตัวเรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนไปจากเดิมในหลายๆ ด้าน เราเคยสนุกกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มากกว่านี้ มหานครที่สนุกและสวยงามในความทรงจำเรา อาหารการกิน กิจกรรม และเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ค่อยๆ ถูกกลืนกินไปด้วยหมอกควันปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งด้านการเมือง ศาสนา สิ่งแวดล้อม และสังคม การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมากลายเป็นเรื่องอ่อนไหว สิทธิเสรีภาพที่เราพึงมีและความถูกต้องต่างๆ ก็ผันแปรไปตามบริบทของสังคมโดยรอบ เรื่องถูกกลายเป็นผิด แต่เรื่องผิดกลับกลายเป็นถูก ประเด็นต่างๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขก็ถูกวางกองไว้อยู่ที่เดิมและปล่อยให้เลือนหายไปในความทรงจำตามกาลเวลา ผู้คนคร่ำเครียดใส่กันเพียงเพราะตนเองเสียผลประโยชน์มากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เราอดหวนคิดถึงภาพมหานครแห่งสีสันและรอยยิ้มจากในวันวานไม่ได้

“กรุงเทพฯ ในวันวานมันหายไปไหนแล้วนะ” ตัวละครหนึ่งในเรื่องได้เอ่ยสิ่งที่เราคิดวนเวียนอยู่ในหัวตลอดหลายปีนี้แทนเราไปหมดแล้ว

เรื่องราวตลกร้ายของแต่ละตัวละครจะเป็นยังไง อยากให้ไปติดตามชมกัน Taxiradio จะเปิดการแสดงยาวไปถึงวันที่ 2 มีนาคม 2561 สำรองบัตรได้ที่อีเวนต์เพจ ละครเวที Taxiradio by FULLFAT Theatre หรือติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 065-420-8596 บัตรราคา 600 บาท

ภาพ Ben Kosolsak

AUTHOR