นพพันธ์ บุญใหญ่ กับการเดินทางครั้งใหญ่ผ่านตัวหนังสือ

Highlights

  • อ้น–นพพันธ์ บุญใหญ่ คือนักแสดง คนละคร คอลัมนิสต์ และล่าสุดกับบทบาทนักเขียน The Cult of Monte Cristo นวนิยายกระตุกประสาทซึ่งต่อยอดมาจากละครชื่อเดียวกันของเขา 
  • "เราเคยนิยามตัวเองว่าเป็นแค่ร่างทรง ไอเดียจะเข้ามาและออกมาทางตัวเรา เราว่ามันเป็นสิ่งที่สั่งสมมาในชีวิต แล้วอยู่ดีๆ มันก็โผล่ออกมาเป็นภาพเดียว แล้วเราก็ไปกับภาพนั้นต่อ" นพพันธ์ว่าอย่างนั้น
  • The Cult of Monte Cristo ชวนผู้อ่านตามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งไปสำรวจเหตุการณ์ประหลาดในโรงเรียนคาทอลิกลึกลับกลางป่า ที่ซึ่งเด็กสาวห้าคน มาเซอร์สาวหนึ่งคน ศพหนึ่งศพ ถูกโยงใยเข้าด้วยกันด้วยศรัทธาอันบ้าคลั่ง

หลายคนอาจรู้จัก อ้น–นพพันธ์ บุญใหญ่ ในฐานะนักแสดงในหนังฮอลลีวูดหลายเรื่อง นักทำละครเวที คนเขียนบท คอลัมนิสต์ และล่าสุดในบทบาทนักเขียนเจ้าของผลงานเรื่อง The Cult of Monte Cristo นวนิยายกระตุกประสาทซึ่งต่อยอดมาจากละครเวทีชื่อเดียวกันของเขา

ไม่ว่าคุณจะจำชายหนุ่มได้จากบทบาทไหน แต่เขาบอกว่าตัวเองเป็นเพียง ‘นักเล่าเรื่อง’ เท่านั้น

แม้จะสงสัยในทีแรก แต่บทสนทนาระหว่างเรากับนพพันธ์ยืนยันเช่นนั้น จากกราฟิกดีไซน์สู่ภาพยนตร์ จากภาพยนตร์สู่ละครเวที และจากละครเวทีสู่เรื่องสั้นและนวนิยาย ไม่ว่าจะใช้แพลตฟอร์มใด จุดร่วมที่ไม่เคยหายไปก็คือการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์

และบทสนทนาต่อไปนี้ก็เป็นการเล่าเรื่องของเขาเช่นกัน

คุณจากเมืองไทยไปอยู่อังกฤษตั้งแต่เด็ก ชีวิตช่วงนั้นเป็นอย่างไร

เราอยู่เมืองไทยจนถึงอายุ 8 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มอ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเครื่องแฟมิคอม วิ่งเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน ช่วงนั้นใช้ชีวิตแบบเด็กไทยทั่วไป แต่พอ 9 ขวบแม่พาไปอยู่อังกฤษ ชีวิตก็เปลี่ยนเลย แต่ตอนนั้นเราเองไม่ได้รู้สึกอะไรมาก รู้แค่ว่าอากาศมันไม่เหมือนกัน อากาศที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิ แต่คืออากาศที่สูดเข้าไป บรรยากาศรอบข้างมันเปลี่ยน โครงสร้างเมืองก็เป็นอีกแบบ เราค่อยๆ ซึมซับไป ด้วยรายการทีวีที่ดู เพลงที่ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงสากลเก่าๆ ที่แม่เปิดในรถ

แต่ตอนไปแรกๆ เราพูดและอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่ทำได้คืออ่านหนังสือภาษาไทยที่มีที่บ้าน หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่อ่านคือ ‘ผู้พิพากษา’ แล้วมันก็เปลี่ยนชีวิตเรา คือมันไม่ได้เปลี่ยนแบบเห็นได้ชัด แต่ข้างในเราถูกป้อนข้อมูลบางอย่าง รู้ตัวอีกทีมันก็อยู่ในตัวเราแล้ว และมันจะมีผลกับเราในช่วงชีวิตต่อมา

แล้วทำไมถึงเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์

เราเรียนกราฟิกดีไซน์เพราะอยากเรียนศิลปะ แต่เสียดายที่ตอนนั้นเราไม่รู้จักวิจิตรศิลป์ (fine art) เพราะไม่มีใครคอยแนะแนวให้ เราว่าสิ่งสำคัญที่สุดในวัยเยาว์คือการมีคนคอยแนะแนวทาง ยกเว้นว่าคุณเป็นคนที่แข็งแรงและรู้ว่าคุณต้องการอะไรและจะไปเอามาได้อย่างไร แต่สำหรับเราเอง เราต้องการการแนะแนวในจุดหนึ่ง แต่กลับไม่ได้ไปแสวงหาการแนะแนวนั้น กลายเป็นว่าเราเลยเลือกเรียนกราฟิก เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เรารู้ว่าเกี่ยวกับศิลปะ

เรียนกราฟิกดีไซน์แล้วมาเป็นนักแสดงได้อย่างไร

ตอนช่วงอายุประมาณ 23 – 24 ปี เราเร่ิมมีเพื่อนคนไทยเยอะขึ้นเพราะทำงานในร้านอาหารไทย เป็นช่วงชีวิตที่ได้ซึมซับความเป็นไทยอีกครั้ง คือได้พูดภาษาไทย กินอาหารไทย ฟังเพลงไทย  เรา culture shock เบาๆ เพราะไม่เคยมีพาร์ตนี้ในตัวมาก่อน

มีเพื่อนคนหนึ่งที่เจอช่วงนั้นบอกว่า ถ้ากลับเมืองไทยให้ติดต่อไป จะส่งไปแคสติ้ง เราไม่รู้มันคืออะไร ทำอะไรไม่เป็นเลย แต่เราเริ่มรู้แล้วว่าสนใจการแสดง เลยให้เพื่อนเช่าวิดีโอละครไทยให้ดู ตอนดูครั้งแรกก็ เอางี้จริงเหรอ นี่คือแสดงใช่ไหม เพราะซีรีส์ที่เราเคยดูมามันเป็นอีกแบบหนึ่ง มันไม่เหมือนแสดงอยู่ มันเหมือนจริง แต่ละครไทยเป็นอีกรสชาติเลย และจริงๆ ไม่ใช่แค่ไทยนะ อย่างละครเม็กซิโกเล่นใหญ่กว่าเราสิบเท่า แต่เราดูแล้วก็เข้าใจว่าความต้องการของตลาดเป็นแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้จะหากินได้ ก็เลยเก็บข้าวของทุกอย่างย้ายมาอยู่เมืองไทย อยากมาเป็นนักแสดง ให้เวลาตัวเองสามเดือน ถ้าไม่รอดค่อยกลับ โชคดีที่ได้งานและได้เล่นหนังฝรั่งต่อกัน 3 เรื่อง รู้สึกว่าสนุกและไม่ยาก

เหมือนรู้สึกว่าตัวเองเกิดมาเพื่อสิ่งนี้

ตอนนั้นคิดว่ารู้แล้วว่าอยากทำอะไร แค่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะเราไม่มีพื้นเพเบื้องหลังเกี่ยวกับการแสดงมาเลย ก็เลยลองทำไปก่อน เอาตัวเอาหน้าเรามา เอาทักษะการแสดงแบบที่คิดว่ามันน่าจะเป็นมา ซึ่งเขาก็ซื้อ

การลองทำงานแบบที่ ‘คิดว่ามันน่าจะเป็น’ ให้อะไรกับคุณ

เราเริ่มทำงานในกองถ่ายฝรั่งก่อน พอมาทำกองไทย เราไม่ได้สังเกตว่าวัฒนธรรมมันต่างกัน ตอนนั้นไม่เคยมีใครแนะนำเราว่า เฮ้ย มึงพูดอย่างนี้กับคนอื่นไม่ได้นะ เขาเป็นผู้ใหญ่มึงต้องเคารพหน่อย มาวางตัวเป็นศิลปินไม่ได้ คือไม่มีใครบอกเรา ซึ่งเราว่าเราพลาดว่ะ ถ้ามีคนคอยแนะนำเราเราคงไม่ทำอย่างนั้น ถ้ามีคนสะกิดว่า ทำตัวแบบนี้ คิดว่าเท่เหรอ เราจะขอบคุณมาก แต่เราไม่รู้จริงๆ และเราไม่ได้ตั้งใจ พอโตขึ้นถึงได้เรียนรู้ ตอนนี้เวลาทำงานเราเลยพยายามให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ บอกสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเขา จากประสบการณ์ที่เราเคยเอาแต่ตัวเองจนพลาดอะไรไปหลายอย่าง

แล้วจากการเป็นนักแสดงในกองถ่ายคุณเข้ามาทำละครเวทีได้อย่างไร

เราเล่นหนังมาประมาณ 7 เรื่อง มันถึงจุดที่รู้สึกว่าถ้าจะทำอาชีพนี้ต่อต้องฝึก ต้องเรียน แต่ตอนนั้นมันไม่มีให้เรียน เราเลยนั่งคิดว่าการแสดงแบบไหนบริสุทธิ์ที่สุด ซึ่งสำหรับเราคือละครเวที เลยพยายามเข้าไปแนะนำตัวเองกับกลุ่มต่างๆ แล้วความบังเอิญคือช่วงนั้นมีคนบอกว่าท้ายซอยบ้านเรามีกลุ่มละครมะขามป้อมอยู่ เราได้เจอพี่ตั้ว–ประดิษฐ ประสาททอง  เขาเลยแนะนำให้รู้จักฝ่ายโปรดักชั่น ให้เราลองทำนู่นนี่ดู โลกเปลี่ยนเลย เราค่อยๆ ได้เข้าไปเป็นกลุ่มคนละครด้วยการเป็นนักแสดงประกอบ ได้รู้จักคนทีละกลุ่ม ได้ร่วมงานกับกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว ได้ดูงานพี่นิกร แซ่ตั้ง และงานของพี่นิกรนี่แหละที่ทำให้เรารู้สึกว่าละครมันเจ๋งมาก เพราะพี่นิกรทำละครโดยไม่ใช้ของประกอบฉากเลย มีแค่ห้องกับนักแสดง 7-8 คน แต่มันพาเราไปไกลมาก และยังได้รับโอกาสจากคุณวรรณศักดิ์ ศิริหล้า ให้เล่นละครเรื่องแรกกับปราโมทย์ แสงศรคือ Rashomon เราสนุกมาก ได้เทคนิคการแสดงจากปราโมทย์ ซึ่งทุกวันนี้ยังใช้อยู่เลย

รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทำละครเวทีแล้วหรือยัง

เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนละครเวที เราแค่รู้สึกว่าเราสนใจศาสตร์นี้ ก็เรียนรู้ไป เราเป็นคนเข้าสังคมไม่เก่ง แต่เราต้องการพลังจากคนอื่น ต้องการคุยกับคน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวของเราเองเพื่อถ่ายเทอะไรบางอย่างออกไป เราจะรับพลังงานจากคนอื่นตลอดไม่ได้ ไม่งั้นเราจะไม่เห็นภาพใหญ่ของเราเอง เพราะเวลาอยู่ในกลุ่มที่มีแต่มวลไอเดียของคนอื่น บางทีเราลืมไปเลยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราคือใคร เราต้องถอยออกมาแล้วก็โฟกัสกับตัวเองด้วย เราเป็นคนอย่างนั้น

คุณได้อะไรจากการคลุกคลีกับกลุ่มคนทำละคร 

แน่นอนว่าเราได้รู้พื้นฐานของการทำละคร การทำโปรดักชั่น และเราก็ได้เรียนรู้การสื่อสารกับผู้คนด้วย เราใช้ศาสตร์การแสดงเพื่อสื่อสารเรื่องๆ หนึ่ง เราต้องคิดว่าเราจะใช้วิธีไหนดีที่สุด แล้วจึงมาคิดว่าเราทำงานอย่างไรดีให้มีประสิทธิภาพที่สุด เราอยากให้งานละครเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ดูได้ เราจะพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงที่มันไม่สื่อสาร ที่มันอาร์ตๆ ถ้าคนไม่เคยดูมาก่อนเขาก็จะคิดว่าจะไม่ดูอะไรแบบนี้อีกแล้ว เรามองว่าพอทำออกไปแล้ว ละครมันไม่ได้เป็นแค่ของเรา มันเป็นของคนดู เขาจะตีความอย่างไรก็ได้

จุดเริ่มต้นของการเขียนบทและกำกับเองมาจากไหน

เรามารู้ตัวทีหลังว่าเราเป็นนักเล่าเรื่อง จากจุดที่อยากแสดง เราคิดต่อว่าทำอะไรได้อีก อ๋อ เราต้องเขียนบท เพราะอยากเล่าเรื่องนี้ และต้องกำกับด้วย เพราะไม่รู้จะให้ใครกำกับ ช่วงแรกของการทำละครคือการทดลองหมดเลย สำหรับเรามันไม่มีสูตรตายตัว ลองดูว่าเล่าแบบนี้ได้ไหม ถ้าไม่เวิร์กก็เอาใหม่ และบางทีมันจะเกิดเรื่องบังเอิญที่เราชอบ มันเหมือนเราเป็นผู้เล่าสิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้นระหว่างนักแสดงสองคน เราไม่ได้ควบคุมมัน พอเป็นอย่างนี้เราจึงไม่ได้มองตัวเองเป็นคนทำละคร คนเขียนบท หรือผู้กำกับ เราชอบดูผลที่เกิดขึ้นจากการทดลองของเรามากกว่า 

จากการเขียนบทมาสู่การเขียนวรรณกรรมได้อย่างไร

เราเคยนิยามตัวเองว่าเป็นแค่ร่างทรง ไอเดียจะเข้ามาและออกมาทางตัวเรา เราว่ามันเป็นสิ่งที่สั่งสมมาในชีวิต แล้วอยู่ดีๆ มันก็โผล่ออกมาเป็นภาพเดียว แล้วเราก็ไปกับภาพนั้นต่อ

ภาพแรกของ The Cult of Monte Cristo เป็นอย่างไร

เราบังเอิญเจอโปสเตอร์ซีรีส์ญี่ปุ่นสมัยต้นยุค 90s เป็นเด็กผู้หญิงในชุดนักเรียน 4 คนยืนมองกล้อง พอเราคิดต่อภาพมันแล่นเข้ามาในหัวเลย มีภาพคนตายอีกคนที่ผิวซีดมากนอนอยู่ในป่าแบบไม่มีเลือดในตัวสักหยด แล้วภาพก็ซูมออกมาจากโลก มีดาวหางพุ่งมา แล้วก็ซูมเข้าไปใหม่อีกทีหนึ่ง แล้วก็เป็นผู้ชายอีกคนนอนอยู่เหมือนกัน แต่คนนี้ใส่สูท แล้วก็ดูดบุหรี่ มองเห็นดาวหางที่กำลังพุ่งเข้ามาแล้วคุยคนเดียว นั่นคือภาพเบื้องต้น เวลาเราเขียนบทเราจะมองเป็นซีนเลย แล้วตอนที่ยังเป็นบทละครเราก็คิดว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ภาพบนเวทีออกมาเป็นแบบนั้น

การเขียนวรรณกรรมกับการเขียนบทต่างกันไหม

ไม่เหมือนกันนะ แต่เราสนใจการเบลนด์มันเข้าด้วยกัน เวลาทำละครมันต้องเห็นภาพว่ามันทำงานอย่างไร ซึ่งพอเอาสิ่งนี้ใส่ไปในงานเขียนมันก็ได้งานอีกแบบซึ่งน่าสนใจมาก

ปกติเราเขียนงานโดยให้เรื่องมันไหลไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้วางแผนอะไร เคยเขียนบทละครเรื่องหนึ่งรวดเดียว 3 วันเสร็จ แต่กับ The Cult of Monte Cristo เราตั้งใจเขียนมาก เขียนเป็นข้อๆ เลย วางโพสต์อิต 1 2 3 4 5 เรียง โละทิ้ง เอาใหม่ เขียนไม่ออกอยู่อย่างนี้เกือบเดือน เพราะภาพที่วางไว้ตอนแรกยังมีจุดที่ขาดหายไป ตัวภาพในหัวเราเองไม่ได้ทำงานครบขนาดนั้น เราจึงต้องสร้างเรื่องเพื่อเชื่อมโยงขึ้นมา เพราะภาพที่เราอยากให้คนดูเห็น มันได้แค่ความรู้สึก แต่ไม่ได้ในแง่เรื่องราว นั่นคือความยาก อยากได้ภาพนี้ แล้วเรื่องมันคืออะไรล่ะ พอลองเขียน เรื่องมันก็เดินไปได้ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ายังสั้นไป เลยเขียนขึ้นอีกซีน แล้วจบสมบูรณ์เลย เป็นซีนที่ทำให้ The Cult of Monte Cristo เป็น The Cult เพราะมันคือลัทธิหนึ่ง ในเชิงภาพพอเห็นแล้วคนจะรู้สึกว่านี่แหละ The Cult แต่เรื่องมันไม่ได้บอกตรงๆ แบบนั้น

เรื่อง The Cult of Monte Cristo เชื่อมโยงกับชีวิตคุณในแง่ไหนบ้าง

บางคนดูละครของเราแล้วถามว่าเรื่องมาจากชีวิตของเราใช่ไหม บอกเลยว่าไม่ใช่ เราเป็นนักเล่าเรื่อง เราแสวงหามา ไม่ได้เขียนจากเรื่องราวตัวเองอย่างเดียว แต่เราก็รู้ว่าส่วนหนึ่งตัวละครที่เราสร้างมามันเติบโตโดยผ่านจิตสำนึกของเรา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราพยายามเป็นธรรมกับตัวละครมากที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องอาจมาจากความทรงจำที่สะสมมาตลอดการใช้ชีวิตในเมืองไทย ทุกอย่างที่เจอ ค่านิยม ธรรมเนียม จนกระทั่งความเชื่อที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอคนไทย ความเชื่อที่สืบทอดต่อถึงลูกหลาน ในละครมันพูดถึงทุกเรื่อง และในนวนิยายก็ขยี้ออกมาทุกหยด มันเป็นเรื่องราวของการเดินทางทางจิตวิญญาณของผู้ชายคนหนึ่งที่พยายามหาความมั่นคงในพายุของชีวิต

ซึ่ง The Cult of Monte Cristo ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตเราด้วย หลังจากจุดนั้นเหมือนเราเริ่มต้นชีวิตใหม่ จากที่เคยทำละครมา 5 ปีแต่ทำไมรู้สึกย่ำอยู่ที่เดิม ไม่มีคนคอยชี้แนะในเชิงการทำงาน พูดง่ายๆ คือไม่ได้เติบโตไปไหน แต่เราเพิ่งมารับรู้ว่าชีวิตมันควรจะมีสิ่งนี้นี่หว่า มันคือการเติมพลังให้กัน ผิดก็บอกว่าผิด ถูกก็แสดงความยินดี เรามารู้ทีหลังเพราะมีคนหยิบยื่นให้ และเรื่องนี้ก็สะท้อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้

นอกจากการผสมวิธีการเขียนบทละครเวทีเข้ามาในนวนิยาย The Cult of Monte Cristo อย่างการให้ตัวละครหันมาคุยกับคนอ่าน เรื่องนี้ยังแหกขนบการเล่าเรื่องทั่วไปอีกหลายจุด เช่น สร้างตัวละครหนึ่งแล้วเฉลยตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่าเป็นเพื่อนในจินตนาการของอีกตัวละครหนึ่ง คุณคิดเห็นยังไง

เราสร้างตัวละครในจินตนาการขึ้นมาในเรื่องนี้เพราะเราอยากให้ตัวละครตัวนี้พูดถึงประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูด เราเชื่อเรื่องการมีหลายบุคลิกในตัวคนเดียว เรามีคนที่อยากเป็นคนดี มีคนไม่อยากเป็นคนดี มีคนขี้เกียจ มีคนขยัน คนเรามีปัญหา คนเรามีความหดหู่ มีความกังวล ทุกคนมีด้านนี้ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แล้วลองคิดว่าถ้ามันมีตัวตนล่ะ เป็นอีกตัวตนหนึ่งที่มันคุยกับเรา มันไม่ใช่จิตหลอนนะ แต่มันอยู่ในนี้ มันเหมือนเราสู้กับตัวเอง

แสดงว่าเป็นคนเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณอยู่ไม่น้อย

ตอนเด็กเราเคยจมน้ำ เราจำภาพที่เห็นตอนจมลงไปเรื่อยๆ มาตลอด เหมือนโลกข้างบนห่างออกไปเรื่อยๆ มืดลงเรื่อยๆ เห็นปลาไหลว่ายผ่าน เห็นคนมุงชี้ลงมา แล้วพอรอดมาได้มันก็นำไปสู่ความนึกคิดว่า เมื่อกี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตอนนี้จะไม่มีแล้ว ไม่มีแล้วมันไปไหน มันเหมือนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นมายาวนานตั้งแต่ตอนนั้น แล้ววันหนึ่งเราก็นิมิตเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาเพื่อสะท้อนความคิดตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าคนบางคนจะมีคำถามกับชีวิต คำถามเกี่ยวกับทุกอย่าง เราว่านี่คือเรื่องทางจิตวิญญาณแบบหนึ่ง สุดท้ายคนเราจะไม่เต็มอิ่มภายใน เพราะสิ่งรอบข้าง เช่น งาน เพื่อน ความรัก มันอาจจะไม่เติมเต็ม สิ่งยึดเหนี่ยวเหล่านี้จะนำความสงบมาในจุดหนึ่งของชีวิตคนเรา ความสงบนั้นจะเป็นสิ่งล้ำค่าที่ทุกคนจะมอบให้ตัวเองได้

พบกับ The Cult of Monte Cristo ได้ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ วันที่ 17-28 ตุลาคมนี้ บูทสำนักพิมพ์อะบุ๊ก D05 Plenary Hall ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

*ขอขอบคุณสถานที่ The Mustang Nero Hotel 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ลักษิกา จิระดารากุล

ช่างภาพ a team junior 12 ผู้ถูกชะตากับอาหารที่มีสีส้มเกือบทุกชนิด และรักกะเพราไก่ (ใส่แครอท)