ตามไปดู ‘จรัส Light Fest’ เทศกาลกลางแจ้งที่หยิบแสงอาทิตย์มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ

Highlights

  • จรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง คือนิทรรศการที่ชวน 9 ศิลปินเดี่ยว และอีก 3 ศิลปินกลุ่ม มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เปล่งแสงได้ด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์
  • จรัส Light Fest จัดแสดงบริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและโถงทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2562 - 2 กุมภาพันธ์ 2563

‘ศิลปะแสง’ คือคำที่สะดุดหูเราตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน

จริงอยู่ที่ศิลปินทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานแต่บนขาตั้งและเฟรมผ้าใบอีกต่อไปแล้ว แต่การจะหยิบเอา ‘แสง’ มาเป็นเทคนิคในการสร้างผลงานศิลปะซึ่งต้องจัดแสดงกลางแจ้งนั้นก็ยังฟังดูเป็นเรื่องใหม่และยากใช่เล่น

ไม่กี่สัปดาห์มานี้หลายคนที่มีโอกาสเดินผ่านสกายวอล์กสี่แยกปทุมวันอาจเริ่มสังเกตเห็นผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางกว่าสิบชิ้น ที่ทยอยกันมาติดตั้งบริเวณลานหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน จรัส Light Fest : เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง ที่ชวนทั้ง 9 ศิลปินเดี่ยว และอีก 3 ศิลปินกลุ่ม มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่บนโจทย์อันท้าทาย

ใครที่ผ่านมาเห็นผลงานเหล่านี้ในช่วงกลางวันอาจเผลอคิดว่านี่คือประติมากรรมรูปร่างแปลกตาที่ตั้งอยู่กับที่เฉยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกมันกำลังค่อยๆ สะสมพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์ที่ซ่อนอยู่ในตัวผลงานแต่ละชิ้น (และยังมีอีกส่วนบนดาดฟ้า) กระทั่งเมื่อแสงหมดผลงานเหล่านั้นจึงได้เวลาเปล่งแสงสีแข่งกันอย่างเต็มที่ แถมบางชิ้นยังมีกลไกมอเตอร์ซ่อนอยู่ทำให้เคลื่อนไหวได้ราวกับสิ่งมีชีวิตเลยทีเดียว

แม้ว่าศิลปะกับเทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานอาจเป็นสิ่งที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกันได้ แต่ในยุคที่ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่แยกขาดจากกันอีกต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากศิลปินจะเลือกทำงานด้วยวิธีใหม่ๆ เพื่อบอกกับทุกคนว่าพลังงานทางเลือกนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว

ใครที่ยังลังเลว่าจะออกจากบ้านไปดูงานนี้ดีหรือไม่ เราขอชวนให้เลื่อนลงไปดู 5 ผลงานศิลปะแสงที่น่าสนใจในงานนี้ ทั้งในแง่ความสวยงามและความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อสาร แล้วค่อยตัดสินใจอีกทีก็ยังไม่สาย เพราะงานนี้เปิดให้เข้าชมข้ามปีตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2562 – 2 กุมภาพันธ์ 2563

1. ใจกลางเมือง

ศิลปิน กฤช งามสม

ผลงานหัวใจติดปีกสีแดงขนาดใหญ่กว่า 2 เมตรชิ้นนี้มองในระยะไกลจะเหมือนกับหัวใจที่ส่องแสงสีแดงวูบวาบ แถมยังมีปีกขยับขึ้น-ลงเป็นจังหวะ แต่ถ้าเริ่มเดินเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าผลงานของกฤช งามสม ชิ้นนี้ถูกประกอบขึ้นจากวัสดุประเภท found object หรือ ready-made ซึ่งในที่นี้คือไฟท้ายรถยนต์หลากหลายรูปทรงประกอบกันอยู่ภายใต้โครงเหล็กสีเงิน ส่วนปีกที่ขยับได้นั้นความจริงแล้วคือแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งกลไกมอเตอร์

“โจทย์เขาให้ทำงานที่เกี่ยวกับแสงไฟ ให้ใช้พลังงานสะอาด และจัดแสดงงานที่สี่แยกปทุมวัน เราคิดว่าตรงนี้มันเป็นใจกลางเมืองก็เลยอยากเล่นกับคำว่าใจ โดยใช้รูปทรงของหัวใจมานำเสนอ และเราก็เห็นว่าแสงไฟที่มันจะพูดถึงพื้นที่ตรงนี้ได้ก็คือไฟท้ายรถยนต์ที่สื่อถึงเวลารถติด ซึ่งมันพูดถึงพลังงานสิ้นเปลืองได้

“โดยตัวผลงานมันจะย้อนแย้งกัน เพราะพูดถึงปัญหาพลังงานสิ้นเปลืองก็จริง แต่เราใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เพราะเราอยากให้คนตระหนักเรื่องพลังงานสะอาด ความสิ้นเปลืองของพลังงาน และสภาวะที่ไม่ปกติในแง่พลังงาน อย่างเวลาที่รถติดจนถนนทั้งเส้นกลายเป็นสีแดง นั่นแหละคือสภาวะที่ไม่ปกติ มีพลังงานที่ถูกใช้ไปอย่างไร้ประโยชน์

2. พลังแห่งดอกไม้

ศิลปิน ขจรศักดิ์ โภคพูล

ดอกลิลลี่สีชมพูขนาดยักษ์ทั้ง 3 ดอกคือสิ่งที่เตะตาเราตั้งแต่ยังยืนอยู่บนสกายวอล์ก ผลงานชิ้นนี้เป็นของขจรศักดิ์ โภคพูล หนึ่งในศิลปินจากการ open call ของเทศกาลนี้ โดยจุดประสงค์หลักในการออกแบบคือการใช้งานและความกลมกลืนไปกับผู้คน เห็นได้จากส่วนฐานของดอกลิลลี่ที่ดูเหมาะสำหรับการนั่งพัก หรือจะแวะนั่งถ่ายรูปสักหน่อยก็ไม่เสียหาย ในขณะเดียวกันผู้ชมก็จะได้ใกล้ชิดกับพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย

“ความหมายของดอกลิลลี่สีชมพูคือการเริ่มต้นใหม่หรือสิ่งใหม่ ผมเลยอยากสื่อให้คนเห็นว่าเราสามารถใช้แสงเป็นจุดเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ในชีวิตของเราได้เช่นกัน โดยผลงานชิ้นนี้ผมตั้งใจเน้นการใช้งาน อยากให้คนมานั่งพักผ่อน ดังนั้นจึงสามารถนำไปวางตามชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะได้

“สุดท้ายผมอยากบอกให้คนดูเห็นว่าพลังงานของเรามันไม่ควรถูกปล่อยไว้เฉยๆ ให้สูญเปล่า พลังงานของเราสามารถนำมาต่อยอดได้หลากหลาย ในระดับศิลปินอย่างผมก็นำพลังงานแสงมาผลิตเป็นงานศิลปะได้เหมือนกัน”

3. ไม่มีชื่อ 2019

ศิลปิน วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

ชุดเครื่องปั้นดินเผาจำนวน 5 ชิ้นที่จัดแสดงรวมกันเป็นกลุ่มดูจะเป็นผลงานที่แสงน้อยที่สุดในบรรดาทั้งหมด แต่ก็มีผู้ชมให้ความสนใจเดินเข้าไปส่องดูภาพภายในผ่านรูเล็กๆ กันอย่างไม่ขาดสาย เพราะผลงานชุดนี้ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เลือกนำแสงที่เป็นโจทย์สำคัญของงาน ไปจัดไว้ด้านในงานเซรามิกของเขาอีกทีหนึ่ง โดยแสงและวัตถุด้านในทั้ง 5 ชิ้นนั้นต่างสื่อสารใจความที่แตกต่างกันภายใต้คอนเซปต์ใหญ่คือการเปลี่ยนแปลง

“พอได้รับโจทย์เรื่องพลังงาน เราก็คิดว่าการทำเซรามิกซึ่งเป็นเทคนิคหลักของเราก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พลังงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิตของคน จากสังคมแบบเร่ร่อน พอเริ่มมีไฟ มีเครื่องปั้นดินเผาและภาชนะ คนเราก็เริ่มสะสมอาหารจนเกิดการตั้งหลักแหล่ง เซรามิกจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของมนุษยชาติในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นเราจึงอยากเอาเซรามิกมาเชื่อมกับโซลาร์เซลล์ เพราะคิดว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งทางเลือกของพลังงานที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของมนุษย์ได้เหมือนกัน

“เราเลือกรูปทรงเซรามิกแบบโบราน คือตูดกลม ปากแคบ เพื่อนำเสนองานที่คนสามารถมาส่องดูไฟได้แม้ในตอนกลางวัน อย่างชิ้นนี้พอส่องเข้าไปแล้วคุณจะเห็นบ้านสีทอง มันอาจตีความถึงสังคมอุดมคติก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงมาตรฐานความสุขของคนก็ได้ ส่วนรูปทรงบ้านที่เลือกใช้ก็เป็นรูปทรงบ้านในแบบของเด็ก เป็น naive art ที่สื่อถึงความเรียบง่าย เพราะตอนเด็กๆ เราเคยวาดรูปบ้านแบบนี้แล้วครูศิลปะให้เรา 0 คะแนน เราก็เลยมักจะหยิบเอารูปทรงบ้านแบบนี้มาใช้ทำงานตลอดเลย (หัวเราะ)

“สำหรับงานนี้ ถ้าวันไหนแดดเยอะเราก็จะใช้พลังงานจากโซลารเซลล์ทั้งหมด แต่ถ้าสมมติวันไหนพลังงานไม่พอมันก็จะสวิตช์กลับไปใช้ไฟบ้าน เป็นระบบไฮบริด เพราะถ้าพูดถึงการใช้งานจริงในไทย ถ้าเราต้องไปซื้อหม้อแปลงหรืออุปกรณ์อะไรมาเพิ่มนี่มันยากนะ แต่ถ้าเราใช้ระบบไฮบริดมันหมายความว่าเราใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่เราประหยัดพลังงานได้ไม่มากก็น้อย งานนี้จึงช่วยพูดถึงวิธีการเอาโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้กับชีวิตอย่างง่ายที่สุด”

4. หนอนสายรุ้ง

ศิลปิน คมกฤษ เทพเทียน

หนอนบุ้งตัวอ้วนที่มีขนเป็นไฟ LED สีรุ้งแถมยังสามารถขยับตัวไปมาได้ราวกับสิ่งมีชีวิตจริง เป็นผลงานที่ได้รับความเอ็นดูจากผู้ชมงานหลายคน แต่ภายใต้สีสันสดใสและการเคลื่อนไหวดุกดิก สิ่งหนึ่งที่คมกฤษ เทพเทียน ศิลปินเจ้าของหนอนบุ้งสายรุ้งตัวนี้อยากสื่อคือการยอมรับและการเข้าใจความแตกต่างในสังคม

“ตอนแรกที่รู้ว่าจะต้องแสดงที่ลานหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ผมก็เห็นว่าก่อนหน้านี้มันเป็นเหมือนพื้นที่ทับซ้อนของการแสดงออกทางการเมืองบ้าง เรียกร้องเรื่องเพศสภาพบ้าง ทำให้ผมเกิดไอเดียขึ้นมา คือด้วยความที่ผมเป็นคนต่างจังหวัดทำให้ผมรู้จักหนอนบุ้งดี คนส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าอย่าไปจับนะ มันคัน แต่จริงๆ แล้วหนอนบุ้งมันเป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน ดังนั้นวันไหนที่สังคมเรายอมรับความแตกต่างได้แล้วมันก็จะกลายเป็นผีเสื้อที่สวยได้เหมือนกัน ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนการเล่านิทานเรื่องหนอนผีเสื้อผ่านขนหลากสีของหนอนบุ้ง

“สิ่งที่จะสื่อให้คนดูแน่นอนเลยคือ มันมีหน้าตาที่ดึงดูดคน ให้เขาสนใจและเดินเข้ามาหาเรา แล้วเราจึงเริ่มคุยกับเขาเรื่องความแตกต่าง เรื่องคอนเซปต์เกี่ยวกับพื้นที่ ศิลปะจึงทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน

“ผลงานนี้จะทำให้คนเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนดูกับพลังงานทางเลือก อย่างวันนี้มีช่างไฟมาคุยกับผมว่าพี่ทำแบบนี้ทำยังไง คือมันเริ่มทำให้เรารู้สึกว่าพลังงานทางเลือกมันเข้ามาอยู่ในชีวิตของเราได้ จากตอนนี้ที่มันเริ่มมาอยู่ในรูปแบบของงานศิลปะ จากเดิมที่สองสิ่งนี้มันแยกจากกันอย่างชัดเจนเลย ซึ่งก็ทำให้คนเริ่มเข้าถึงมันได้มากขึ้น”

5. ดั่งแสงรุ้ง

ศิลปิน นพไชย อังควัฒนะพงษ์

ดั่งแสงรุ้งคือผลงานชิ้นเดียวที่ไม่ได้จัดแสดงบริเวณลานหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ แต่การใช้สอยพื้นที่จัดแสดงบริเวณโถงทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ทำให้เราเห็นมุมมองอันแหลมคมของนพไชย อังควัฒนะพงษ์ ศิลปินเจ้าของผลงาน ผู้ตัดสินใจเลือกหยิบหลอดไฟนีออนดัดมาจัดวางบนคานไม้ที่พาดอยู่เหนือโถงทางเดิน ชวนให้ผู้ชมที่เดินผ่านไปมาได้เหลือบขึ้นไปสังเกตรูปทรงอันหลากหลายเหล่านั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่เลือกหยิบวัสดุประเภท ready-made มาสร้างความหมายใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

“งานของผมไม่ได้อยู่ดีๆ มาติดตั้งตรงนี้ สิ่งที่ผมสนใจคือพื้นที่ ผมต้องใช้เวลาในการอ่านพื้นที่ ซึ่งบังเอิญว่าพื้นที่ตรงนี้ที่เขาส่งมาให้ผมดูแล้วคิดว่าเหมือนสัดส่วนทองคำ และพอเรามาวัดมันก็เป๊ะจริงๆ จากนั้นผมเลยเริ่มคำนวณหาจุดก้นหอยเพื่อทำเป็นจุดตัดของคาน ดังนั้นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของงานชิ้นนี้ก็คือสัดส่วนทองคำของพื้นที่ สัดส่วนนี้มันพูดถึงการเติบโตที่ไม่สิ้นสุด มันจะวนต่อไปเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือทุกสรรพสิ่งของธรรมชาติ หรืออย่างดา วินชี ก็คือสัดส่วนของคน

“จากนั้นผมปล่อยให้เรื่องเล่าไปอยู่ที่หลอดไฟซึ่งมันมาจากทุกทิศทุกทาง บางอันมาจากป้ายเก่าๆ เราก็เอาของใช้แล้วที่ไม่รู้ว่ามาจากไหนมาต่อกันจนได้เป็นฟอร์ม ตัวหลอดที่ดัดอยู่แล้ว บางอันเราดัดใหม่เพื่อให้มันไปต่อและเกิดมูฟเมนต์กับงานโดยรวม เพื่อสื่อความหมายที่ว่าเมื่อสิ่งใหม่มาสิ่งเก่าก็หายสาบสูญและกลายเป็นขยะ ทุกวันนี้เราใช้ LED ส่วนหลอดเก่าก็กลายเป็นขยะ แต่ความจริงแล้วเราควรใช้สิ่งที่มันยังใช้งานได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากเน้น

“วัสดุที่ผมใช้ในงานนี้มันไม่ใช่หลอดจากโรงงานด้วยนะ แต่มันเป็นหลอดดัดด้วยมือ ผมมองว่าคนที่ดัดคือศิลปิน ดังนั้นสำหรับผมตัวหลอดพวกนี้มันจึงมีค่ามากกว่าจะเป็นแค่ขยะ ผมจึงสนใจที่จะดึงมันกลับมาใช้เพื่อนำเสนอเรื่องราวในอดีต ก่อนหน้านี้มันอาจมีความหมายสำหรับคนคนหนึ่ง พอเขาทิ้งไปมันก็ไร้ความหมาย แต่พอมาอยู่ในงานนี้มันก็จะกลายเป็นความหมายใหม่สำหรับคนดู”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก