ไม่มีบท ไม่มีที่นั่ง ไม่มีแสงสว่าง
แต่โปรดใช้มือถือ โปรดหารือดังๆ กับเพื่อน โปรดปรับสายตาให้ชินกับความมืด และโปรดอยู่ในความสนุกกับความฉุกละหุกและแรนด้อมที่จะเกิดขึ้นในละครเวที Siam Supernatural Tour ที่จัดโดย FULLFAT Theatre คณะละครเวทีที่ผลิตละครแบบอิงกับสถานที่ (site-specific) เพราะมีไม่กี่ครั้งที่ละครเวทีจะอนุญาตให้เราไม่นั่งบนเบาะนุ่มและกุมสายตาของเราให้จ่ออยู่หน้าเวที แต่พาเราเดินทัวร์ทั่วโรงละคร ป้อนความกลัวในยกแรก และพูดมาถึงขนาดนี้ก็คงจะไม่แปลกอะไรถ้าจะบอกว่า คนดูก็เป็นนักแสดงอีกคนหนึ่งของละครเรื่องนี้
ผู้กำกับ อ้น–นพพันธ์ บุญใหญ่ เดินไปปิดไฟในห้องสัมภาษณ์เฉยเลยเมื่อเราถามถึงคอนเซปต์ของละคร ก่อนจะพูดเรียบๆ ว่า “ยินดีต้อนรับสู่มิติวังเวง เมื่อกี้สว่างอยู่รู้สึกปลอดภัยใช่ไหม เราไม่ต้องทำอะไรให้มันน่ากลัวเลย เพราะมันน่ากลัวของมันอยู่แล้ว”
เราเห็นแสงที่ลอดออกมาจากประตู ได้ยินที่แวดล้อมชัดขึ้น และรู้สึกถึงความหลอนแบบฉับพลัน อ้นบอกว่าตอนมาเดินเซอร์เวย์เส้นทางที่นี่ก็ชอบแผนผังของโรงละครมาก เพราะทางเดินซับซ้อนเหลือเกิน มีประตูตรงนู้น ซอกซอยตรงนี้ โผล่ไปอีกทีเจอคนที่เหมือนเดินมาจากมิติอื่น อีกทั้งละครเวทีเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นเพราะโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศต้องการทำโปรเจกต์เกี่ยวกับพื้นที่ จึงเปิดให้ศิลปินหลายกลุ่มทั้ง babymime, ฮ่องเต้–กนต์ธร เตโชฬาร รวมถึง ฟูลแฟตฯ มาจัดแสดงละครที่นี่
‘ความมืด’ คืออีกหนึ่งตัวละครที่ชัดเจนพอๆ กับ 14 นักแสดง และ 1 นักดนตรี ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเรื่อง เราอาจจะบอกรายละเอียดของละครเวทีเรื่องนี้ได้ไม่มาก นอกจากว่าคณะทัวร์จะพาคนดูก้าวขาเข้าไปในความมืด มีเส้นเรื่องหลายเส้นเรื่อง คุณจะได้ยินเสียง ได้เห็นอะไรแวบๆ ได้สังเกตสถานการณ์และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานใส่ใจถ่ายทอดการค้นพบในสิ่งที่ไม่ได้ค้นหาของพวกเขา
เมื่อเปิดไฟตามเดิม ทีมงาน Eyedropper Fill ทีมโปรดักชั่นของละครเวทีเรื่องนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย อะตอม–ติณห์นวัช จันทร์คล้อย Creative Director, นัท–นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล Managing Director และ พีร์ รุ่งพิริยะเดช Spatial Designer ก็เดินเข้ามาในแสงสว่างพอดี
ละครเวทีที่มีเวทีฟรีฟอร์ม
หากตัดสินจากเพียงชื่อ Siam Supernatural Tour อาจฟังดูหลอนๆ เหมือนต้องเดินเข้าบ้านผีสิง ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง
ที่ว่าจริง เพราะละครเวทีเรื่องนี้ปราศจากเวทีแบบที่เราคุ้นชิน ประเภทเวทียกสูงที่ประจันหน้ากับแถวเก้าอี้เรียงราย แต่กลับมีเวทีฟรีฟอร์มที่กินพื้นที่ทั้ง 3 ชั้นของโรงละคร และการชมก็คือการเดินดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นอย่างถ้วนทั่ว อย่างที่เรียกว่า immersive theatre หรือ ละครเวทีที่คนดูมีส่วนร่วมกับการแสดง
ส่วนที่ว่าไม่จริง เพราะอ้นและทีมงานออกแบบความหลอนที่ว่าในมิติที่ลึกลงไปกว่าเรื่องผีสาง เพราะไม่ใช่แค่จะหลอกให้กลัว แต่ฟูลแฟตฯ และอายดร็อปฯ อยากชวนผู้ชมมาเปิดประสาทสัมผัสเพื่อรับประสบการณ์ใหม่ๆ ต่างหาก
อ้น : “เรานิยามละครเวทีเรื่องนี้ว่า haunted house of social horror เราอยากพาคนดูมาเปิดประสาทสัมผัสที่เขาไม่ได้ใช้ เพราะการอยู่กรุงเทพฯ การขึ้นรถ ลงรถ เข้าบ้าน เข้าที่ทำงาน ขึ้นบีทีเอส มันมีอยู่แค่นี้ แสง สี เสียง หรือบทสนทนาที่เราได้ยินก็เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่พอเข้ามาในสเปซที่เราดีไซน์ไว้ มันจะปิดทุกอย่างที่คุณคุ้นชิน แล้วมันจะเปิดทุกอย่างให้กว้างขึ้น แม้เล็กๆ น้อยๆ แต่มันจะทำให้คุณตื่นตัว ตื่นตาตื่นใจ ความมืดทำให้คุณต้องอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น
“สเปซของโรงละครมันน่าสนใจในแง่ที่ว่า ปกติคนดูจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับโรงละครในฐานะของคนดู แล้วเราจะเห็นแค่หน้าเวที แต่นี่มันจะพาเราไปหลังเวที และไปสู่สเปซที่เราอธิบายมันไม่ได้สักเท่าไหร่ มันแปลก คล้ายว่าเราเข้าบ้านผีสิง คือไม่รู้ว่าห้องนี้ทำอะไร เคยมีใครอยู่หรือเปล่า
“มันไม่มีอะไรที่ supernatural ในเชิงของวิญญาณอะไรแบบนั้นหรอก แต่เราเล่นเรื่องประสาทสัมผัสที่เราอยากมอบให้คนดูแต่ผ่านเลเยอร์ของความน่ากลัว ความแปลก ความไม่คุ้นชิน”
ชีวิตคนเมืองเรื่องเซอร์เรียล
พื้นที่อันซับซ้อนของโรงละครเปิดกว้างต่อการจินตนาการและการตีความของผู้กำกับและทีมโปรดักชั่น อย่างหนึ่งที่พวกเขาเห็นตรงกันคือพื้นที่แห่งนี้เหมาะกับการสอดแทรกเรื่องราวเซอร์เรียลของคนเมือง และเหมาะกับการอธิบายเรื่อง social horror ได้อย่างแนบเนียน
อ้น : “social horror ของผมหมายถึงความสยองขวัญของสังคมซึ่งเราเจอหลากหลายแบบ สภาพสังคมถูกพูดถึงอยู่แล้วแน่นอน มันเป็นประเด็นร่วมสมัยในบ้านเรา ในฐานะศิลปินมันเป็นหน้าที่ที่ต้องใช้ทักษะพูดอ้อมๆ หรือเล่าเรื่องโดยใช้ศิลปะและความแยบยลแต่ไม่ชักจูง เช่น เราจะสื่อสารไอเดียของการปกครองด้วยการใช้ซีนครูอนุบาลกับเด็ก คือใช้บริบทอื่นไปเลยเพื่อที่จะดูว่าโครงสร้างของมนุษย์หรือประเทศมันมาจากอะไร เพราะสุดท้ายแล้วมันฝังอยู่ในตัวเรา แล้วเราก็ไปขุดมาว่าไอเดียเรื่องการปกครองมันอยู่ในทุกเรื่องหรือเปล่า เช่น ความเชื่อในเรื่องผีสาง การแต่งงาน”
อะตอม : “ประสบการณ์ใน Siam Supernatural Tour เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่แรนด้อมมาก ทุกอย่างมันไม่ต่อเนื่องกันเลย เดินไปอีกถนนหนึ่งก็กลายเป็นอีกแบบแล้ว อีกอย่างกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เราอยู่กับความเหนือจริงจนเคยชิน เราเจอศาลพระภูมิที่ตกแต่งด้วยไฟคริสต์มาสซึ่งดูเป็นงานศิลปะมาก เราเจอต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่มีคนเอาม้าลายมาวางเป็น 200-300 ตัวโดยที่ไม่รู้สึกอะไร เราจึงตีความไปว่า ต้องทำให้คนดูตั้งคำถามตลอดเวลาว่า นี่เขากำลังอยู่ในความจริงหรือการแสดง เราจะทำให้งาน installation art (ศิลปะจัดวาง) หรือการออกแบบประสบการณ์ครั้งนี้มันแนบเนียนไปกับพื้นที่จนเขาตั้งคำถามว่ามันเป็นของที่อยู่ในนี้อยู่แล้ว หรือเป็นของที่ทีมเราเซตขึ้น”
ความน่าสนใจอีกอย่างของ Siam Supernatural Tour คือการสัมผัสละครเวทีแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราทั่วไป ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ สังเกต แล้วตัดสินใจว่าจะรับอะไรเข้าตัว
อะตอม : “สิ่งหนึ่งเลยที่มันจะเกิดขึ้นใน Siam Supernatural Tour ซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นในการไปชม physical theatre เรื่องอื่นๆ คือเราสามารถถ่ายรูปได้ตลอดการแสดง จะ live ก็ยังได้ ข้อนี้มันทำให้เราเห็นว่าโชว์นี้มันเอื้อให้คนดูเกิดพฤติกรรมในแบบที่เขาทำอยู่ทุกวันคืออยู่กับมือถือ
“อีกอย่างหนึ่งคือคนดูจะถูกดึงความสนใจเข้าไปในหลายเส้นเรื่องมาก ทั้งเรื่องของคนนำทัวร์ เรื่องที่คนดูจะเห็นคือเรื่องที่คณะละครมีการทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันสักอย่าง แล้วก็เรื่องของละครจริงๆ แล้วเขาก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามันเป็นเส้นเรื่องเดียวกัน ซึ่งผมรู้สึกว่ารูปแบบการรับข้อมูลแบบนี้มันดิจิทัลมากๆ มันเหมือนเวลาเราไถนิวส์ฟีดในยุคนี้เราไม่สามารถที่จะให้สมาธิไปกับข้อมูลชิ้นหนึ่งได้นานมาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการแสดงนี้มันให้ความรู้สึกหรือประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือมันพร้อมจะดึงความสนใจเราไปตลอดเวลา แล้วเราก็ต้องมีสติในการชม”
การทำงานที่ ‘ออร์แกนิก’
อันที่จริง ทีมโปรดักชั่นอย่าง Eyedropper Fill ไม่เคยรันวงการละครเวทีมาก่อนเหมือนกัน แต่อ้นคิดว่างานของอายดร็อปฯ มีความเซอร์เรียลอยู่สูง จึงเหมาะกับละครเวทีเรื่องนี้ แล้วการทดลองทำงานร่วมกันครั้งแรกๆ ก็ยืนยันความคิดของผู้กำกับ เพราะพวกเขาทำงานเข้าขากันอย่างเป็นธรรมชาติ หรือ ‘ออร์แกนิก’ ตามคำของอ้น จนได้ไอเดียที่ดีตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเรื่องด้วยซ้ำ
อ้น : “การทำงานมันออกมาอย่างออร์แกนิกมาก มีครั้งหนึ่งเราอยู่กันบนเวทีแล้วมีคนสีเชลโล่นั่งอยู่ตรงกลาง ทางทีมอายดร็อปฯ ก็เริ่มเล่นๆ อะไรกันก็ไม่รู้ ซึ่งผลออกมาเป็นวิชวลที่สวยมากอย่างที่เห็นในโปสเตอร์นั่นแหละ แล้วเราคิดว่า ใช่ นี่คือ Siam Supernatural เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันเป็นการสั่งสมประสบการณ์ของคนสองฝ่ายที่เชี่ยวชาญมากในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วมันบังเอิญด้วยความตั้งใจ จากความรู้ว่าถ้าใช้อันนี้กับอันนี้มันจะเกิดผลแบบนี้ แต่มันเกิดผลใหม่ที่เราคาดไม่ถึงเพราะมันไปปรากฏอยู่บนตัวคน นี่คือการทำงานร่วมกันที่ไม่ได้วางแผนไว้ แต่มันเกิดอย่างออร์แกนิก”
อะตอม : “วันนั้นเราขนอุปกรณ์ทุกอย่างในออฟฟิศมาทดลองร่วมกับนักแสดง ซึ่งตอนนั้นนักแสดงยังไม่ได้รับบทอะไรเลย แล้วระหว่างเรา นักแสดง และพี่อ้น ก็ด้นสดร่วมกันบนเวที จนเกิดขึ้นมาเป็นภาพที่พี่อ้นบอก ซึ่งสุดท้ายแล้วมันใช้เป็นทิศทางในการกำหนดการแสดงระหว่างมัลติมีเดียที่เราทำ นักแสดง ผู้กำกับ และสเปซ เวลาที่นักแสดงเข้ามาซ้อมร่วมกัน เราจะมาดูและเดินไปตามเส้นทางการซ้อมของเขาด้วย เราจึงรู้สึกว่าการแสดงนี้มันทลายเส้นแบ่งระหว่างการแสดงกับการไม่แสดง คือเราเดินดูโดยที่ไม่รู้ว่าเราอยู่ในการแสดงอยู่ไหม เราไม่รู้เลยว่าอะไรมันจริงไม่จริงระหว่างการเดิน”
Eyedropper Fill สนใจเรื่องการทำงานของพื้นที่มากกว่าเนื้อเรื่องด้วยซ้ำ พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้บทหมดทุกอย่าง (เพราะไม่ได้มีบทอยู่แล้ว) แต่ต้องรู้มวลบรรยากาศที่นักแสดงจะทำร่วมกับพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำงานกับอารมณ์แต่ละก้อนมากกว่าจะต้องรู้คิวทุกบรรทัด คนดูอาจจะไม่ได้รู้สึกถึงงานของเขาเลยก็ได้หากสเปซตรงนั้นส่งความรู้สึกที่ละครอยากจะนำเสนอให้เขาได้อย่างเต็มที่
ในเชิงโปรดักชั่น การเปลี่ยนแปลงความออร์แกนิกให้เป็นเรื่องทางเทคนิคเป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุก อายดร็อปฯ รู้สึกว่านี่เป็นเหมือนการรีเฟรชการทำงานของพวกเขา ไม่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าแต่ได้ปล่อยความรู้สึกไหลเพื่อให้สายตาของคนทำสื่อสดมากขึ้น
นัท : “ตอนที่เราเข้ามาดูตอนแรกเราก็ทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่อง แต่มันไม่ได้ว่ะ เราต้องทำงานเหมือน under construction ตลอดเวลา เพราะงานนี้เหมือน deconstruct ตัวเองเรื่อยๆ ตามที่ผู้กำกับทดลองกับนักแสดง หรือทดลองด้านพื้นที่กับเรา แล้วเขาก็ยังจะอยากเว้นพื้นที่ให้กับคนที่จะเข้ามาชมด้วย ซึ่งตรงนี้มันจะทำให้ตัวเนื้อเรื่องไหลไปตามสถานที่ ตามคน หลังจากที่เราเดินครบรอบเราได้มวลมาว่าแต่ละจุดเป็นยังไง เลยคิดกันว่าเอาของเราไปใส่ให้ได้อารมณ์แล้วกัน จากนั้นเราก็ตามเส้นทางอีกรอบเพื่อที่จะคัดบางอย่างออก ดูว่าบางอย่างเราไปทำให้สเปซมันเสียอารมณ์เดิมไปไหม เช่น ตรงนี้จริงๆ ไม่มีรู้สึกดีกว่า”
ความแรนด้อมที่ลงตัว
ในเมื่อเวทีมีความลื่นไหลตามพื้นที่ ส่วนนักแสดงก็ดำเนินเรื่องตามทิศทางที่วางไว้อย่างคร่าวๆ แต่ปราศจากบทละคร กระดูกสันหลังของ Siam Supernatural Tour จึงเป็นความแรนด้อม แต่ไม่ใช่ความแรนด้อมที่จับวางอย่างมั่วๆ แต่เป็นความแรนด้อมที่ผ่านการคิดมาแล้วอย่างละเอียดและถี่ยิบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้กำกับและนักแสดงจึงต้องทำเวิร์กช็อปกันอย่างหนักหน่วง ทั้งการเก็บเสียงในความมืด การซ่อนตัว การเต้น และการซ้อมความเหนือจริงอื่นๆ
อ้น : “ความแรนด้อมมันคือความใส่ใจ เมื่อทำละครเวทีมาเยอะๆ แล้วเราจะรู้ว่าทำยังไงให้เกิดผลอะไร รู้ว่าถ้าเอาสิ่งดีๆ สามสี่อย่างนี้มารวมกันแล้วมันจะดี ไม่ใช่ว่ามั่ว เทอะไรรวมกันลงหม้อไปแล้วหวังว่าสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้น นี่คือประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ การเดินสายลึก ถ้าต้องการแสงที่ทำให้คนเข้ามาในห้องแล้วรู้สึกอบอุ่นมาก เราจะรู้ว่ามันคือแสงอะไร ถ้าอยากพูดโน้มน้าวจิตใจคน เราก็จะรู้ว่าต้องเลือกคำยังไง ใช้ทีท่า น้ำเสียงแบบไหน
“การที่เราไปดูละครเวทีมันคือการไปกำกับความรู้สึกของคน ทำให้คนเชื่อไปกับบท ด้วยดนตรี ฉาก หรือแสง แต่เราชอบความแรนด้อมเพราะมันเหนือตัวตนเราจริงๆ นี่คือสิ่งพิเศษที่ละครเวทีมี เราจะไม่ได้ประสบการณ์แบบนี้หรือความรู้สึกนี้เวลาดูหนังแน่ๆ”
ส่วนทีมอายดร็อปฯ ก็ต้องอยู่กับปัจจุบันและตีโจทย์ไปตามพื้นที่และการเคลื่อนที่ ที่สำคัญ พวกเขามองว่าความแรนด้อมไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมีอของทีมงานระหว่างขั้นตอนการสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังมีความแรนด้อมที่สามารถเกิดขึ้นได้ยามคนดูมีส่วนร่วมอีกด้วย
อะตอม: “มันไม่ได้มีกำแพงระหว่างคนทำกับคนดู เราสร้างประสบการณ์แล้วคนดูก็เข้ามาจอยพื้นที่ตรงกลาง มันทำให้เราเห็นแรงสะท้อนและพลังงานของคนดู ณ ตรงนั้นโดยตรงเลย เราไม่ต้องรอให้เขาดูจบแล้วไปคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก เราเห็นเลยว่าตรงนี้เขาอึดอัดไม่กล้าเดินไปไหน หรือเขารู้สึกสบายมากเลย
“บางงานที่เราปล่อยพื้นที่ว่างๆ ให้คนดูสร้างปรากฏการณ์อะไรสักอย่างขึ้นเองมันสร้างบางอย่างที่คาดไม่ถึง ถ้าเทียบกับการทำงานในรูปแบบปิดคือเราคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จแล้วคนดู passive เราออกแบบให้คนดูเขานั่ง แต่ถ้าเขายืนมันอาจจะดีกว่าก็ได้ หรือเราไม่ได้ออกแบบให้เขาตบมือ แต่มีคนดูตบมือขึ้นมา เราก็ได้เห็นมิติใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมอง”
ละครเวทีที่ปฏิเสธ passive experience
ในฐานะของคนดูที่ไม่อยากมีส่วนร่วมกับละครเพราะตั้งใจจะมาดูเฉยๆ นั่งสงบๆ ในพื้นที่อบอุ่น เราสงสัยว่าเราจะเข้ากันได้กับ Siam Supernatural Tour ไหม
อ้นพยักหน้าบอกว่า เข้าใจมาก เคยเป็นผู้ชมแบบนั้นมาก่อนเหมือนกัน แต่วันนี้เขาอยากทำละครเวทีแบบที่ปั้นมวลละครและมนุษย์คนดูเข้าด้วยกันเป็นก้อนศิลปะ แต่แน่นอนว่ามันจะไม่คุกคามคุณในระดับฮาร์ดคอร์
อ้น : “เรารองรับคนดูไว้ระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ว่าเนี่ย เดี๋ยวเราถีบทุกคนตกน้ำตรงนี้หมดเลย เราไม่ได้มาแบบเซอร์แดก เอาเขาใส่ห้องล็อกอะไรแบบนั้น ไม่ได้จะสร้างการรับรู้ให้กับคนดูโดยยัดข้อมูลใส่หน้าเขา แต่เราอยากให้หลังจากดูละครแล้ว มันเกิดบทสนทนาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีอะไรบ้าง คนดูอาจจะเชื่อมโยงกับแค่ซีนเดียว ซึ่งพอไปรวมกันกับประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขาแล้วมันเกิดการเรียนรู้และแบ่งปันกันกับเพื่อน”
ถ้าเราเปิดตาอยู่ท่ามกลางความมืดแค่นาทีสองนาที ดวงตาเราก็จะชินกับมัน Siam Supernatural Tour จะเปิดประสบการณ์ร่วมของผู้ชมในเชิงของประสาทสัมผัส อ้นเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเหมือนคุณนอนอยู่บนเตียงแล้วอยู่ดีๆ กระเด้งขึ้นมาว่า ‘อะไรวะเนี่ย’ ‘นั่นอะไรแวบๆ วะ’ ‘นั่นใครทำอะไรอยู่’ แล้วค่อยตัดสินใจเอาเองว่าอยากรับหรือไม่อยากรับสารที่นักแสดงเล่นออกมา
อ้น : “ถ้าเราผ่านเลเยอร์ของความกลัวไปแล้ว เราจะอยู่กับมันได้ เพราะเรื่องราวดึงดูดให้คนดูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขึ้นอยู่กับคนดูด้วยว่าเขาจะปฏิบัติกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างเขายังไงเมื่ออยู่ดีๆ เขาก็กลายเป็นเนื้อเรื่อง ละครของเรามอบให้มากกว่าความน่ากลัว สมมติว่าคุณเดินๆ อยู่แล้วมันมีเหตุการณ์เกิดขึ้น นั่นคือเนื้อเรื่องของเรา ถ้าคุณสนใจมัน คุณจะสนใจมันขนาดไหน คุณจะเดินไปไหม หรือคุณจะแค่เดินผ่านมันไป มันทำให้คุณต้องเลือกว่าคุณจะอนุญาตให้สารต่างๆ เข้ามาในตัวคุณหรือเปล่า”
นัท : “เราคิดว่ามันเป็นความบันเทิงอีกศาสตร์หนึ่งที่เปรียบเทียบได้กับภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์เองก็พยายามที่จะเข้ามาในฝั่งการออกแบบประสบการณ์เหมือนที่ละครเป็น เหมือน 4DX ที่พยายามสร้างให้เรามีประสบการณ์ร่วมไปด้วย แต่ในตัวละครเองมันมีอยู่แล้ว มันเหมือนเป็นการท้าทายคนดูมากกว่าเพราะมันไม่ได้เป็น passive experience ที่ดูเสร็จแล้วก็โอเค ล้างสมองฉันไป
“หนังที่ดีในความเข้าใจของคนหลายๆ คนคือการที่มันสามารถเอาเขาเข้าไปอยู่ในจอให้ได้ทั้งๆ ที่ฉันนั่งอยู่ตรงนี้ หลอกฉันสิ แต่กับศาสตร์ละครเองมันมากกว่านั้น มันเหมือนการสื่อสารสองทางเพราะว่าข้างล่างเนี่ยสามารถที่จะสื่อสารอะไรกับคนดูได้ตลอดเวลาทั้งๆ ที่มันอาจจะเป็นการด้นสดก็ได้ เราคิดว่าตรงนี้มันเป็นเสน่ห์ที่ดีมากๆ ของละคร ซึ่ง Siam Supernatural Tour มันตอบแบบนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คนดูเข้าไปอยู่ในละครเลยโดยที่ไม่ได้ถูกหลอก เรารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าฉันกำลังมาในงานนี้แหละ แต่ฉันเป็นอะไร เป็นใครเนี่ย”
วิลเลียม เชกสเปียร์ เคยพูดประโยคคลาสสิกทำนองว่าโลกนี้คือละคร มนุษย์เราทั้งชายและหญิงเองก็เป็นเพียงนักแสดง จนถึงเวลานี้ความหมายของมันก็ยังร่วมสมัยอยู่ ฉะนั้นการลองไปเล่นแผลงๆ ในละครเวทีที่เราเองก็เป็นนักแสดงได้ จินตนาการสบายๆ ว่าเราสามารถเต้นบัลเลต์ได้ในความมืด เราอาจจะได้เจอกับเมจิกโมเมนต์ของความแรนด้อมอย่างที่ Siam Supernatural Tour พร้อมจะมอบให้
มัน supernatural ก็จริง แต่เมื่อปิดไฟ เราอาจจะรู้สึกปลอดภัยมากกว่าการเดินในแสงสว่างก็เป็นได้้
ภาพ FULLFAT Theatre
Siam Supernatural Tour กำกับการแสดงโดย นพพันธ์ บุญใหญ่ ร่วมด้วย Eyedropper Fill, นักแสดง 14 ชีวิต และอีก 1 นักดนตรี จัดแสดง 14 รอบที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ
24 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน เวลา 20:00 น.