Witti Studio ครีเอทีฟสตูดิโอที่เชื่อว่าใครๆ ก็สร้างสรรค์งานพิมพ์ด้วย Risograph ได้

Highlights

  • Witti Studio คือครีเอทีฟสตูดิโอที่หลงใหลในงาน Risograph ก่อตั้งโดย วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ ผู้เชื่อว่า ทุกคนควรเข้าถึงการออกแบบที่ดี และการออกแบบหรือผลิตผลงานใดๆ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในหมู่ดีไซเนอร์หรือศิลปิน เพราะคนธรรมดาทั่วไป หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ก็สามารถสร้างสรรค์อะไรบางอย่างได้เช่นกัน
  • Risograph คือวิธีการพิมพ์ที่เรียกตามชื่อเครื่องพิมพ์ของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 1980 เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการพิมพ์ที่มีปริมาณมาก แต่ไม่เยอะพอที่จะนำไปพิมพ์ในโรงพิมพ์ เป็นระบบลูกผสมระหว่างดิจิทัลกับอะนาล็อก

อย่าเพิ่งเชื่อหมดใจที่ใครเขาบอกว่า Print is dead. เพราะได้ยินกันมาตั้งแต่ยุค 80s แล้ว วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ เป็นอีกสองคนที่ย้ำกับเราอย่างหนักแน่นว่า

Print is not dead but boring print will!

เพราะความสนุกของกระบวนการทำสิ่งพิมพ์เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทั้งคู่หลงใหล ทำให้อาจารย์สอนที่ International Program in Communication Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจร่วมกันตั้ง Witti Studio ที่พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น creative studio และเป็น risograph printing service เพราะนอกจากบริการพิมพ์งานให้ดีไซเนอร์และศิลปินแล้ว ยังสามารถช่วยออกแบบ หาวิธีคิด วิธีการสื่อสารผ่านงานออกแบบให้แก่ลูกค้าที่เป็นมือใหม่ในแวดวงสิ่งพิมพ์ด้วย

กลิ่นใหม่ยังคงอบอวลอยู่ในทุกตารางนิ้ว เพราะสตูดิโอแห่งนี้เพิ่งเปิดทำการเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมานี้เอง จะว่าเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ทางเลือกก็ใช่ แต่ที่นี่ก็เป็นห้องทดลองสำหรับเรียนรู้ของทั้งคู่ด้วย

 

คิดเหมือนกัน ทำด้วยกัน

การเป็นเพื่อนร่วมงานซึ่งมีความสนใจคล้ายกันทำให้สันติและวิทมนได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานออกแบบกันอยู่บ่อยๆ ต่างคนต่างหลงใหลงานพิมพ์ งานที่สัมผัสจับต้องได้ โดยหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาคิดตรงกันและอยากทำเหมือนกันก็คืองานพิมพ์ด้วยเครื่อง Risograph ที่เปิดพรมแดนของการทดลองสิ่งพิมพ์เทคนิคใหม่ๆ ได้กว้างขึ้น จะได้กลับไปสอนลูกศิษย์ในห้องเรียนให้สนุกขึ้น

“เราเป็นดีไซเนอร์ ทำงานออกแบบมาค่อนข้างหลายสาขา ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่ต่างประเทศมาระยะหนึ่ง พอย้ายกลับมาที่เมืองไทยก็ได้มาสอน CommDe หลักสูตรที่เราสอนอยู่มีมุมมองต่อศาสตร์นี้ไม่ค่อยเหมือนที่อื่นด้วย เราพยายามมองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ หน้าที่ บทบาทของนักออกแบบ ดีไซเนอร์ การใช้การออกแบบมาสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ มันจะทำได้ยังไงบ้าง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราสองคนสนใจ และเรามองว่า Risograph เป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่เข้าด้วยกันได้ เพราะมันเป็นกระบวนการที่ใช้ทั้งดิจิทัลและอะนาล็อก ซึ่งเราสองคนก็ค่อนข้างสนใจของที่มันผสมผสานกัน หรือต้องใช้ความรู้ที่มาจากหลากหลายสาขา” สันติเริ่มต้นแนะนำตัวก่อน

“ส่วนตัวเราเองถูกฝึกให้เป็น printmaker มาเกือบตลอดชีวิต ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ทำได้ทุกรูปแบบ ทั้งศาสตร์ของเอเชียและตะวันตก การที่เราจะลงทุนในกระบวนการพิมพ์ ถ้าเป็นวิธีการพิมพ์แบบอื่นต้องมีเคมีมาเกี่ยวข้องเยอะ เราคิดว่ามันไปต่อไม่ได้ ฉะนั้นเครื่อง Risograph นี้มันก็ทำงานแบบ automatic แต่จิตวิญญาณของการทดลองยังมีอยู่ ก็เลยคิดว่ามันค่อนข้างตอบโจทย์มากๆ ที่สำคัญก็คือว่า เราสองคนเป็นอาจารย์พาร์ตไทม์ ชั่วโมงในการสอนไม่ได้น้อย แต่ก็รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราสอนนิสิต มันมีสิ่งที่เราต้องพัฒนาไปพร้อมกับเขา ขณะที่เราอยู่ในสถานะที่ต้องช่วยให้ผลงานของนิสิตดีขึ้นไป เราก็จำเป็นต้องทำการบ้าน การที่เราตั้งสตูดิโอก็เป็นเหมือน practice space ที่เราจะได้เอากระบวนการ การเรียนรู้นอกห้องเรียน เข้าไปสอนในห้องเรียน เพราะการเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ต้องเป็นแบบนั้น”

witti studio

พิมพ์เพื่อสุขภาพ

ประสบการณ์สำคัญของสิ่งพิมพ์คือการมองกับการจับ แต่ระบบการพิมพ์ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันของเรานั้นเต็มไปด้วยสารเคมี สันติและวิทมนอธิบายว่า อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่พวกเขาตัดสินใจทำ Risograph ก็เพราะคอนเซปต์ความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อโลกด้วย

Risograph เป็นเครื่องพิมพ์ของบริษัทญี่ปุ่น ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 1980 วัตถุประสงค์ของเครื่องนี้คือเพื่อรองรับการพิมพ์ปริมาณมาก แต่ไม่เยอะพอที่จะนำไปพิมพ์ในโรงพิมพ์ ระบบนี้พัฒนามาจากเครื่องโรเนียว เป็นระบบที่ไฮบริดระหว่างดิจิทัลกับอะนาล็อก เมื่อส่งไฟล์ดิจิทัลจากคอมพิวเตอร์ไปที่เครื่อง กระดาษไขที่เป็นตัวแม่พิมพ์ก็จะถูกเลเซอร์ความร้อนปรุให้เป็นรูเล็กๆ ตรงไหนที่เลเซอร์ปรุเป็นรู สีก็จะทะลุลงมาติดอยู่บนกระดาษ ข้อดีของ Risograph ก็คือไม่ใช้ความร้อนเลย ต่างจากเครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ประจุไฟฟ้าทำความร้อนให้ผงหมึกเกาะแน่นอยู่บนผิวกระดาษ

ความพิเศษก็คือ หมึกของเครื่อง Risograph เป็นการผสมกันระหว่างน้ำกับน้ำมัน เมื่อพิมพ์แล้วทิ้งไว้สักพักน้ำก็จะระเหยออก ตัวน้ำมันก็จะซึมลงไปในกระดาษและอยู่ได้นานโดยไม่จางหายไปง่ายๆ ปฏิกิริยาเคมีของหมึกที่จะมาเจอกับอากาศน้อยมาก จึงเป็นการพิมพ์ในราคาถูก แต่ว่าอยู่ได้นานกว่าระบบการพิมพ์อื่นๆ

ก่อนหน้านี้หมึกของ Risograph ทำจากถั่วเหลือง จึงปลอดภัย ไม่มีอันตรายต่อผู้พิมพ์และผู้อ่านอยู่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะบริษัทนี้เพิ่งออกหมึกรุ่นใหม่ล่าสุด ทำจากน้ำมันรำข้าว (rice bran oil) ในญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศแบบเมื่อก่อน จึงช่วยสนับสนุนเกษตรกรชาวญี่ปุ่นไปพร้อมกันในตัว และสุดท้าย นอกจากสีฟ้า เหลือง ชมพู ดำ ซึ่งเป็นสีพื้นฐานแล้วยังเต็มไปด้วยสีพิเศษอย่างสีสะท้อนแสง สีทอง ซึ่งเครื่องพิมพ์ทั่วไปพิมพ์ไม่ได้ ทำให้นักออกแบบสามารถสร้างสรรค์ผลงานในจำนวนเท่าที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องไปพิมพ์กับโรงพิมพ์ ซึ่งต้องพิมพ์จำนวนมากๆ เท่านั้น จึงนับว่านี่เป็นการพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

ที่พิมพ์

ทั้งคู่เล่าต่อว่า วางแผนกันมาก่อนหน้านี้นานมาก ใช้เวลากว่า 3 ปีในการไปดูเครื่องพิมพ์ อ่านหนังสือ ศึกษาอย่างจริงจัง “การเรียนรู้โดยที่เราไม่มีเครื่องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต่อให้เรามีประสบการณ์เรื่องการพิมพ์มาแล้วด้วยนะ เหมือนเราได้ปากกาแท่งใหม่ ที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนเดิม เมื่อเราตัดสินใจจะซื้อเครื่องที่ราคาไม่ได้ถูกมาก ก็ต้องมาคิดว่าพื้นที่ที่จะใช้มันคืออะไร คิดอยู่นานมาก หาอยู่นานก็ไม่ได้สักที ปลายปีที่แล้วเราได้มีโอกาสมาคุยกับพาร์ตเนอร์ของ Rikkyu  Hair Salon เขาบอกว่ามีพื้นที่ที่สุขุมวิท 32 วันแรกที่เข้ามาก็รู้สึกถึง vibe ที่ดีของบ้าน เหมือนบ้านเราตอนเด็กๆ มีม้านั่งหน้าบ้านแบบนี้เหมือนกันเลย ทุกอย่างมันทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ต้องคิดเลย เอาบ้านนี้เลย เราว่าบ้านนี้มีคาแร็กเตอร์พิเศษ ตรงที่มันเป็น low rise ทุกคนเท่ากันหมด ตัวบ้านไม่ได้หรูหราอะไร แต่เช้ามามันก็มีพลังงานบางอย่าง ก่อนทำงาน ได้ดูแลบ้าน ดูแลพื้นที่ไปด้วยกัน แม้จะเล็กไปหน่อย แต่ก็ดูใกล้ชิดดี”

“ด้วยคอนเซปต์ของสเปซ มันชื่อ Jouer เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า play เพราะฉะนั้น มันเป็นเหมือนพื้นที่ที่ให้เราได้ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของความคิดสร้างสรรค์ จะเห็นว่ามีร้านตัดผมมาจากโตเกียว ที่เขาก็มีวิธีการตัดผมหรือมีพิธีกรรมที่มันไม่เหมือนซาลอนอื่น มีร้านขนม มีสตูดิโอของเรา มีบริษัทสถาปนิก พอมาอยู่ร่วมกันก็เหมือนเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน” สันติเสริมให้เห็นภาพบรรยากาศอันแสนผ่อนคลายที่เหมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าในเมืองใหญ่

สิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย

ในช่วงเวลาที่นิตยสารแทบร้างแผง หนังสือพิมพ์ทยอยประกาศปิดตัวอยู่เรื่อยๆ เราจึงอยากรู้ว่าทั้งคู่คิดอย่างไรกับประโยคที่คนพูดกันมาตั้งแต่ยุค 1980s ว่า Print is dead.

วิทมนยิ้มแล้วตอบเราอย่างชัดถ้อยชัดคำ “เราว่า Print is dead. น่ะไม่จริงหรอก เราไม่เชื่อ แต่ต้องพูดว่า Boring print will die. ต่างหาก เราคิดเสมอว่าเมื่อไหร่ที่มันมี buzzword เหล่านี้ขึ้นมา คนมักไม่ค่อยคิด ใช้มันต่อเรื่อยๆ จริงๆ แล้วก็คุยเรื่องนี้กันมาตลอดเวลา เพราะสิ่งพิมพ์ที่เนื้อหาเหมือนในโซเชียลมีเดียมันก็ต้องไม่มีคนอ่าน หรือแม้กระทั่งในโซเชียลเอง สำนักที่มีเนื้อหาดีกว่าก็ต้องมีคนติดตามเยอะกว่า เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ว่าสิ่งพิมพ์ที่มีความพิเศษ หรือเพื่อนๆ หลายคนที่เราเห็น เขาก็พยายามทำสิ่งพิมพ์ที่ประณีต พิถีพิถันในการออกแบบ เลือกวัสดุในการพิมพ์ที่น่าสนใจ แล้วขายในราคาที่สูงขึ้น มันก็ดูเป็นไปได้

ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ มีการเกิดขึ้นของ Art Book Fair ในประเทศเรา งานสัปดาห์หนังสือฯ ก็ไม่ได้เห็นว่ามันขายไม่ได้ โอเค บางเซกเตอร์มันอาจจะลดลง ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของสื่อที่มาใหม่ด้วย แต่สิ่งพิมพ์ดีๆ ก็ไม่น่าจะหายไป มนุษย์ก็ยังโหยหาการได้สัมผัสอยู่ดี มันไม่มีอะไรตายไปหรอก แต่ถ้ามันน่าเบื่อ มันก็จะต้องตายในไม่ช้า”

“คาแร็กเตอร์ของ Risograph ที่มันจะไม่เหมือนระบบการพิมพ์อื่น ด้วยความที่ต้องพิมพ์แยกสีทีละสีทุกครั้ง ฉะนั้นแต่ละครั้งที่ใส่กระดาษเข้าไปในเครื่องมันก็อาจจะเกิดเออเร่อได้ เราไม่ได้มองว่ามันเป็นความผิดพลาดของเครื่อง แต่เป็นคาแร็กเตอร์ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำงานด้วยระบบการพิมพ์แบบนี้เขาควรจะเข้าใจตรงนี้ก่อน ถ้าเขาเข้าใจแล้ว เขาเห็นตรงนี้เป็นเสน่ห์ของมัน เขาก็จะชื่นชอบ ติดใจ แล้วก็กลับมาพิมพ์ต่อ เพราะฉะนั้นเวลาเราออกแบบก็ยิ่งสนุก การพิมพ์ได้ทีละสีเป็นข้อจำกัดก็จริง แต่ถ้าเรามองว่านี่คือความท้าทายของนักออกแบบ ทำยังไงให้เราออกแบบด้วยสีที่จำกัด ใช้สีแค่สองสี หรือพิมพ์สีพิเศษหมดเลย 7 สี แต่ยังน่าสนใจ มีคุณค่า

“สำหรับเรา ความสนุกของมันคือ เครื่องพยายามผลักให้เราออกจากคอมฟอร์ตโซน ทำให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ตลอด เดิมเราอาจจะเป็นคนมีกรอบบางอย่างอยู่ พอมีเครื่องนี้ เราปรับมายด์เซตตัวเองว่าต้องลอง กระดาษใหม่เอามาลองซิ พิมพ์แบบนี้เสร็จแล้วเอาอันนี้ทับไปมันจะเป็นยังไง หรือถ้ากระดาษแบบนี้ใช้ได้ไหม ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมดเลย” สันติขยายความไม่น่าเบื่อของกระบวนการพิมพ์ Risograph ในมุมของเขาเองที่ชวนให้ใจเต้นทุกครั้ง

ถ้าเครื่องจักรที่เราได้แต่ดู คอนโทรลไม่ได้เลย มันไม่สนุก แต่เครื่องนี้เราควบคุมได้ แต่คาดเดาไม่ได้ หลายคนบอกว่า Risograph รูปร่างเหมือนหุ่นยนต์แต่ว่ามีหัวใจ

วิทมนสรุปความน่ารักของเครื่องพิมพ์นี้ได้อย่างเห็นภาพ

สังคมพิมพ์นิยม

ด้วยความที่ Risograph ค่อนข้างมีความเป็นทางเลือก จึงตอบโจทย์คนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้ต้องการผลิตสิ่งพิมพ์จำนวนมหาศาล ตอบโจทย์ที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ผลิตสื่อของตัวเองได้ในราคาย่อมเยา เร็วระดับ 150 แผ่นต่อนาที

“ความเร็วสำคัญมาก มันแฝงอยู่ในคัลเจอร์ของการประท้วง มีอะไรเกิดขึ้นก็พิมพ์แล้วเผยแพร่ออกไปได้รวดเร็ว ซึ่งอันนี้อาจจะน้อยมาก ในบ้านเราไม่ค่อยเห็นหรอก (หัวเราะ) มันเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่เป็นอันเดอร์กราวนด์ค่อนข้างเยอะ วงดนตรีใต้ดินจะใช้เครื่องนี้ค่อนข้างเยอะ เขาก็ทำปกซีดีของเขาเอง มันดูมีความพิเศษ มันก็เลยมีการผลิตสีในตระกูลฟลูออเรสเซนต์ สีทางเลือกที่การพิมพ์อื่นไม่สามารถทำได้ มันจึงกลายเป็นเครื่องมือของการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ความขบถมันมากับประวัติของเครื่องนี้ เพราะมันถูกใช้กันแบบนั้นมาก่อน”

วิทมนเล่าว่าทั้งประเทศในตะวันตกและเอเชียต่างมีสตูดิโอที่ทำงานพิมพ์ด้วย Risograph กันมายาวนานไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮ่องกงที่มีคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงมาก หลายสำนักมีการแฮ็กเครื่องพิมพ์ด้วยการเชื่อม แกะ จากที่พิมพ์ได้แค่สีเดียว ก็ลองเอาท่อใส่ทำให้พิมพ์ได้ 2 สีในครั้งเดียว “เราได้เรียนรู้ว่าอีกหน่อยก็อยากจะลองไปเรียนรู้จากที่อื่นด้วยเหมือนกัน ทุกปีที่เนเธอร์แลนด์จะมีงาน Magical Riso ที่รวมสตูดิโอดังๆ ที่ทำงานมานานมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง”

วิทมนเสริมด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “เราทั้งสองคนก็อยากไปร่วมบ้างเหมือนกัน แต่ต้องเรียนรู้ให้มากกว่านี้อีกหน่อย เพราะพูดถึงจำนวนชั่วโมงที่เราอยู่กับเครื่องยังสู้เขาไม่ได้ ต้องทำงานเยอะๆ อย่างเดียวเลย สัญญากันไว้ว่าเราต้องทำงานเยอะๆ เพราะมันเป็นอย่างเดียวที่ทำให้เราเก่ง”

“เราสองคนเชื่อว่าการออกแบบที่ดีมันไม่ควรจะอยู่เฉพาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น ทุกคนควรเข้าถึงการออกแบบที่ดีได้” สันติเน้นย้ำถึงความคาดหวังต่อการทำงานในสตูดิโอแห่งนี้ว่า ไม่ได้คุยกับคนทำงานวงการสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ทุกคนแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็สามารถผลิตอะไรบางอย่างได้ด้วยเช่นกัน

ทำดี ได้ดีขึ้น

เป้าหมายช่วงเวลาอันใกล้นี้ของ Witti Studio คือการทำข้อมูลคำอธิบายให้คนเข้าใจว่า Risograph คืออะไร ทำ sample pack เป็นตัวอย่างว่าเครื่องสามารถพิมพ์อะไรได้บ้าง เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มดีไซเนอร์รู้ว่าตัวเองจะมาใช้บริการงานพิมพ์ได้อย่างไร ระหว่างนี้ทั้งคู่ก็จะทดลองทำโปรเจกต์ ทั้งออกแบบและพิมพ์เอง ไปเรื่อยๆ เพื่อตอบเป้าหมายระยะไกลในการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการพิมพ์ Risograph ไปพร้อมกับแชร์ความรู้ที่มีให้ผู้ที่สนใจต่อไปเรื่อยๆ

ชื่อ Witti Studio นั้นตัดมาจากชื่อของทั้งสองคน สันติ วิทมน รวมกันเป็นวิตตี้ พ้องเสียงกับ witty ที่แปลว่าฉลาด แต่วิทมนก็รีบอธิบายต่อ “ไม่ได้บอกว่ามันคือฉลาดแบบเลิศล้ำ เมื่อไหร่ที่เราทำอะไรแล้วสมาร์ตก็คือดีขึ้น ก็ตรงกับแนวคิดที่ว่า เราทำของที่มัน in a better version ฉะนั้นก็คิดว่าทุกอย่างที่ทำ แม้กระทั่งการวางแผน กระบวนการพิมพ์ ทุกอย่างต้องคิดว่า ทำยังไงจะดีขึ้นทุกวัน

“การทำครั้งเดียวไม่สามารถทำให้เรารู้ว่ามันดีขึ้น ทุกครั้งเวลาทำงานเราสองคนจะเหมือนกันมาก ตัวเราเองอยู่ในห้องพิมพ์มานาน มองทุกอย่างเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามตารางเวลา มองเห็นเลเยอร์เป็นชั้นๆ สันติเองก็มีความเป็นคนที่มีการจัดการทุกอย่าง เราทำอะไรก็จะคล้ายๆ กัน มีการวางแผน ทำซ้ำ หลักการของการออกแบบมันคือการ remove error อะไรที่เป็นจุดบกพร่อง เราจะดึงมันออก หรือเราจะเติมอะไรเข้าไปใหม่ ฉะนั้นเมื่อทำครั้งที่สองมันก็ต้องดีขึ้น เพราะมันเอาสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องออกไปแล้ว ต้องทำไปเรื่อยๆ

“เราว่ามันจะสามารถบอกได้ว่าอะไรจะดีขึ้น ระยะเวลาอาจจะต่างกัน บางโปรเจกต์อาจจะต้องการการทำผิด 20 ครั้งกว่าจะเจอสิ่งที่ดีขึ้น บางโปรเจกต์อาจจะทำแค่ครั้งเดียว อีกครั้งหนึ่งก็ดีเลย ซึ่งเราค่อนข้างยืดหยุ่นว่าโปรเจกต์หนึ่งอาจจะดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้น โปรเจกต์นั้นนานมาก หรืออีกโปรเจ็กต์ยังไม่มีทางแก้เลยว่ามันจะดีขึ้นยังไง แต่ก็ไม่ได้หมดหวัง ตราบใดที่เรารู้ว่าจะ remove error ยังไง ‘ดีขึ้น’ มันเป็นจำนวนก็ได้ เป็นความรู้สึกก็ได้ เราได้เรียนรู้คำนี้ขึ้นในหลายมิติมากเลย ยิ่งอยู่กับมันนานๆ ยิ่งรู้ว่ามีคำที่มาอธิบายคำว่า ‘ดีขึ้น’ ได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ”

การออกแบบคือทุกอย่างต้องดีขึ้น คำว่าดีขึ้นก็คือ ในแง่ใดแง่หนึ่ง ทำให้ชีวิตดีขึ้น อยู่อย่างปลอดภัยขึ้น นี่คือรากที่สำคัญว่าทำไมมันต้องมีการออกแบบ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!