มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เราตกหลุมรัก A Spectacular Book of Extraordinary Mushrooms ตั้งแต่แรกเห็น
หนึ่ง–หนังสือเล่มนี้คือซีนเล่มเล็กๆ ที่บรรจุภาพวาดลายเส้นสวยของเห็ดพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่หน้าปกยันหน้าสุดท้าย สมใจคนที่ชอบภาพประกอบเป็นที่สุด
สอง–ภาพวาดเหล่านี้ไม่เพียงถอดแบบมาจากเห็ดของจริง แต่ยังพิเศษด้วยสายตาของนักวาด เกรซ–อัญญาวี เจริญธนากิต ที่มองเห็ดในมุมที่ต่างจากตำราเห็ดใดๆ เห็ดบางชนิดจึงดูเหมือนมือนับร้อยแหวกว่ายในอากาศ ในขณะที่บางชนิดคลับคล้ายกับขนตา แน่นอนว่าข้อสังเกตทั้งหมดถูกวาดบันทึกไว้ในเล่มอย่างละเอียดลออ
สาม–ในฐานะคนรักเห็ด หนึ่งในวัตถุดิบที่มีรสชาติมหัศจรรย์ที่สุดในโลก ซีนเล่มนี้ทำให้เราได้ฝันหวานจินตนาการถึงรสชาติลึกล้ำของเห็ดที่เราไม่เคยได้ลิ้มลอง (แต่อย่าไปเผลอใจให้เห็ดพิษเข้าล่ะ)
ความหลงใหลในซีน ภาพวาด และเห็ดพาเรามาเจอกับเกรซ นักวาดผู้เริ่มต้นทำซีนเล่มนี้ด้วยความหลงใหลเช่นกัน
ความหลงใหลที่ 1 : เห็ด
ชีวิตของเกรซรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ
แม้จะเติบโตมาในเมืองแต่ห้องของเธอกลับเป็นเหมือนห้องทดลองทางธรรมชาติ เต็มไปด้วยดอกไม้ ใบไม้ชุ่มฉ่ำ มีสัตว์เลี้ยงเป็นแมลงนานาพันธุ์ ทั้งแมลงทับตัวแวววาว ตั๊กแตนหน้าตาเหมือนใบไม้และกิ่งไม้แห้ง ด้วงตัวอวบอ้วน แถมด้วยกุ้งตัวน้อยและโหลปลากัดหลากสี และที่ขาดไม่ได้คือเห็ด
แม้จะยังไปไม่ถึงขั้นเพาะเห็ดด้วยตัวเอง แต่ความรักเห็ดของเกรซแฝงตัวอยู่ในข้าวของรอบตัว ทั้งสมุดจดหน้าปกรูปเห็ด แม่เหล็กติดตู้เย็น คอลเลกชั่นกาชาปองเห็ดที่สะสมไว้
แน่นอนว่ารวมถึงซีน A Spectacular Book of Extraordinary Mushrooms ด้วย
“ซีนเล่มนี้เป็นงานวิชาหนึ่งในภาค (ภาควิชา Communication Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โจทย์คือทำหนังสือเรื่อง Obsession หรือความหลงใหลของเรา เราเลือกเห็ดเพราะภาพวาดส่วนใหญ่ที่ผ่านมาของเรา เช่น สัตว์ประหลาดต่างๆ จะมีส่วนประกอบที่ดึงมาจากเห็ดหมดเลย มีทั้งที่เราตั้งใจกับบางอันที่เพิ่งมาสังเกตว่า เฮ้ย ทำไมมันมีรูปทรงเหมือนเห็ดหมดเลย” เกรซเล่าให้เราฟังด้วยตาเป็นประกายแล้วเปิดซีนให้เราดู ไล่เรียงไปทีละหน้า
“ของสะสมของเราส่วนมากก็เป็นเห็ด เพื่อนส่วนใหญ่เห็นเห็ดหรือของที่เป็นรูปเห็ดน่ารักๆ ก็จะส่งมาให้ดูบอกว่านึกถึงเกรซเลย เราเลยเลือกทำซีนเรื่องนี้
“ในเล่มเราวาดเห็ดประมาณ 16 ชนิด แต่ละหน้าจะมีข้อมูลพื้นฐานของเห็ดชนิดนั้น เช่น ขนาดเท่าไหร่หรือเจอได้ที่ไหน ส่วนภาพประกอบเป็นภาพเห็ดเพราะอยากวาดเห็ดมากแต่อยากให้มันออกมาไม่เหมือนที่คนอื่นวาดเอาไว้ ก็เลยใส่ภาพองค์ประกอบในเห็ดที่เรามองว่ามันประหลาด อย่างเช่นเห็ดสีแดงชนิดนี้ พอซูมเข้าไปที่ด้านบนเราเห็นว่าเกล็ดของมันเหมือนรูปทรงต่างๆ อย่างคน ปลา หรือดาว บางชนิดมองแล้วเหมือนตัวอักษรภาษาอังกฤษหน้าตาแปลกๆ บางอันก็เหมือนหู บางอันเหมือนขนตา”
ต่างจากพ่อครัวที่เลือกปรุงเห็ดจากรสชาติ เมื่อนักวาดจะวาดเห็ด สิ่งที่เธอใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกจึงไม่ใช่กลิ่นหรือรสแต่เป็นรูปลักษณ์ และเห็ดแต่ละพันธุ์ก็ถูกวาดในช่วงชีวิตที่ต่างกันขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหนที่เห็ดมีรูปร่างหน้าตาเย้ายวนชวนมองที่สุด
“เราชอบเห็ดเพราะหน้าตาของมัน เชปของเห็ดมันแปลกประหลาดมากๆ บางชนิดก็แทบไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริงในโลก”
เกรซเล่าว่าหลังได้หัวข้อเธอก็เริ่มลงมือค้นคว้าทั้งค้นหาในอินเทอร์เน็ต เปิดดูหนังสือเรื่องเห็ดที่มีที่บ้าน บางทีก็ออกไปสำรวจชั้นหนังสือเกี่ยวกับเห็ดในร้านหนังสือเพื่อทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ให้มากที่สุด
“เห็ดที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตมันธรรมดาไปหน่อย ในบ้านเราก็ไม่ได้หาเห็ดแปลกๆ ดูได้ง่ายๆ เราก็เลยต้องค้นเพิ่มจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ไปดูหนังสือตามคิโนะฯ หรือบางเล่มก็มีที่บ้านอยู่แล้ว คนชอบบอกว่าเห็ดที่หน้าตาแปลกๆ จะเป็นเห็ดพิษ ตอนแรกเราเลยจะวาดเห็ดพิษทั้งเล่มเพราะเข้าใจว่าหน้าตาคงจะสวยกว่า แต่พอรีเสิร์ชเราก็พบว่าเห็ดไม่มีพิษที่สวยๆ ก็มี หรือมีสีสดๆ ลายแปลกๆ เหมือนกัน ในเล่มก็เลยรวมทั้งเห็ดที่มีพิษและไม่มีพิษไปเลย
“บางอันมันหน้าตาแปลกมากนะแต่กินเข้าไปก็ไม่ได้ตาย แค่ไม่มีคนกิน” เกรซหัวเราะจนตาหยีสมกับที่ได้ทำงานที่ชอบ
“เพื่อนคนอื่นๆ ที่ได้โจทย์ก็ทำเรื่องที่เขาสนใจเหมือนกัน” เธอเสริม “บางคนทำเรื่องซีรีส์ อีกคนทำเรื่องเกี่ยวกับแมวจรจัดที่สามย่านเพราะเขาชอบถ่ายรูปแมวเก็บไว้ เราก็มาคิดว่าเรามองหาความหลงใหลของตัวเองจากอะไรแบบนี้ได้เหมือนกันนะ คือพอเปิดโทรศัพท์เราก็จะรู้เลย ในเครื่องเรามีอะไรเยอะสุดก็น่าจะเป็นอันนั้น”
แล้วในมือถือเกรซมีเห็ดเยอะไหม–เราถาม
“เยอะนะ” เธอตอบแบบไม่ต้องใช้เวลาคิด “นอกจากเห็ดก็มีพวกภาพตำราพฤกษศาสตร์เยอะมาก ไปเจอในร้านหนังสือก็ถ่ายไว้ เจอคนขายโปสเตอร์ก็ถ่ายเอาไว้ หรือเจอภาพในอินเทอร์เน็ตก็เซฟไว้ด้วย”
และนี่แหละคือความหลงใหลอีกอย่างที่รวมเป็นซีนเล่มนี้
ความหลงใหลที่ 2 : ตำราพฤกษศาสตร์
“เราชอบตำราพฤกษศาสตร์ก็เลยอยากวาดเห็ดในแบบของตำราที่เราชอบบ้าง”
เกรซเล่าที่มาและอธิบายเพิ่มว่านอกจากการเข้าเล่ม เธอยังนึกสนุกออกแบบองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งเล่มให้มีหน้าตาคล้ายตำรามากที่สุด
“เรเฟอเรนซ์ของเรามาจากหนังสือบันทึกเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์แบบเก่าๆ เราก็เลยเลือกเทกซ์เจอร์กระดาษที่ออกเหลืองๆ หน่อยและวางเลย์เอาต์ให้เหมือนกับตำราจริงๆ
“ความยากตอนที่ทำคือเห็ดบางชนิดเราชอบหน้าตาของมัน แต่ยังมองไม่เห็นว่าเห็ดชนิดนี้ในมุมมองของเราหน้าตาต่างจากที่คนอื่นเห็นยังไงก็ต้องใช้เวลากับมันนานหน่อย หรือเก็บเห็ดชนิดนั้นค้างไว้ก่อนแล้วไปทำตัวอื่น อีกอย่างคือตำราต้องมีภาพวาดเห็ดที่เหมือนจริง แต่บางทีในอินเทอร์เน็ตก็ไม่มีภาพเห็ดในมุมที่เราอยากจะมอง เช่น มุมท็อป หรือด้านข้าง ก็ใช้เวลาในการหาเหมือนกัน บางทีก็ต้องจินตนาการบ้างแต่ยังมีพื้นฐานจากของจริง
“แต่พอหาข้อมูลเราก็ได้เจอสิ่งที่ไม่รู้เยอะนะ อย่างที่เราเพิ่งรู้ว่าเห็ดไม่มีพิษสวยๆ ก็มีเหมือนกัน หรือได้รู้ว่าเห็ดมีสปีชีส์ย่อยเยอะมาก เราวาดไม่หมด พื้นผิวของเห็ดก็ต่างกัน บางชนิดเป็นขนๆ บางอันเรียบ วิธีการเจริญเติบโตจากตอนที่เป็นสปอร์จนออกดอกก็สวยมากๆ มีเชปไม่เหมือนกันด้วย บางอันตอนแตกดอกก็เป็นครึ่งวงกลม สามเหลี่ยม หรือเป็นทรงแบนๆ ก็มี”
นักวาดสาวเล่าพลางชี้ให้เราดูเห็ดที่หน้าตาเหมือนปะการัง (หรือที่เธอบอกว่าเหมือนมือจำนวนมาก) เห็ดที่หน้าเหมือนหอมหัวใหญ่วางอยู่บนใบรูปดาว (เราชอบอันนี้) หรือสปอร์เห็ดทรงไข่ที่เกรซชอบเป็นพิเศษ
“เรามีความสุขมากที่ได้ทำซีนเรื่องเห็ด ไม่เคยได้วาดเห็ดเยอะขนาดนี้มาก่อน
“ที่ผ่านมาเราไม่ได้ลงงานจากวิชาเรียนในอินสตาแกรมที่เอาไว้แชร์ผลงานของตัวเองเลยเพราะรู้สึกว่ามันเหมือนงานใครก็ไม่รู้ ไม่ค่อยเป็นตัวเองเท่าไหร่แต่พอได้โจทย์นี้ก็รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ชอบสักที”
ก่อนเกรซจะพับหนังสือเก็บ เราแอบถามเรื่องที่ดูไร้สาระแต่ดันติดอยู่ในใจมาตั้งแต่เริ่มบทสนทนา
“เกรซชอบกินเห็ดไหม”
“เคยชอบแต่เดี๋ยวนี้ไม่ชอบแล้ว น่าจะเพราะว่าแต่ก่อนกินบ่อยเกินไปจนกลายเป็นเบื่อ ตอนนี้เลยเลิกกิน ไม่แตะเลย” เกรซตอบพร้อมเสียงหัวเราะจบบทสนทนา ขณะที่เราคิดในใจว่าเย็นนี้จะกินเห็ดเมนูอะไรดี
zine: A Spectacular Book of Extraordinary Mushrooms
maker: อัญญาวี เจริญธนากิต
ตอนนี้ซีนของเกรซยังไม่มีจำหน่าย สามารถติดตามผลงานอื่นๆ ของเธอได้ที่อินสตาแกรม anyahillus