Ruben Östlund : เจ้าพ่อภาพยนตร์แห่งความกระอักกระอ่วน

ภาพยนตร์เรื่อง Triangle of Sadness คว้ารางวัลปาล์มทอง (หรือรางวัลใหญ่สุด) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อพฤษภาคม 2022 ส่งผลให้ผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลุนด์ (Ruben Östlund) ได้ปาล์มทองเป็นตัวที่สองหลังจากเคยได้มาก่อนหน้ากับหนังเรื่อง The Square (2017) ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์เจ็ดทศวรรษของคานส์ มีคนทำหนังเพียง 9 คนเท่านั้นที่มีสถานะ Double Palm

ฉากหลังของ Triangle of Sadness คือเรือสำราญหรูหราที่บนเรือประกอบด้วยผู้คนหลายสัญชาติหลายชนชั้น ตั้งแต่คู่รักอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้ขึ้นเรือฟรีๆ แลกกับการโพสต์รูปลงอินสตาแกรม, คู่ผัวเมียวัยชราที่ทำธุรกิจอาวุธสงคราม, เศรษฐีชาวรัสเซียที่เอนจอยกับโลกทุนนิยม, กัปตันชาวอเมริกันที่ดันฝักใฝ่ในแนวคิดมาร์กซิสม์ ไปจนถึงเหล่าลูกเรือและคนทำความสะอาดที่ต้องคอยบริการ (หรือใช้คำตรงกว่าคือ ‘รองมือรองตีน’) พวกแขกไฮโซ ทว่าเมื่อพายุเข้าและเกิดเหตุไม่คาดคิด ระบบของชนชั้นของเรือลำนี้ก็กลับตาลปัตร

ผู้เขียนทราบข่าวมาว่ารอบฉายที่เมืองคานส์ของ Triangle of Sadness ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ผู้ชมโห่ฮาขำขันไปกับหนัง หากแต่ตอนดูในไทย รอบที่ผู้เขียนดูออกจะเงียบสนิท เพราะที่จริงแล้วหนังไม่ได้ฮาแตกขนาดนั้น แต่เน้นอารมณ์ขันแบบเสียดสีตลกร้าย และถึงแม้จะเป็นแฟนคลับของออสต์ลุนด์ ผู้เขียนก็ ‘ไม่ฟิน’ กับหนังเท่าไร อาจเพราะคาดหวังมากไป และหนังเองก็ยาวถึงสองชั่วโมงครึ่ง พอดูจบก็ให้ความรู้สึกทำนองว่า ‘อ้าว เท่านี้เองเหรอ นึกว่าจะปังกว่านี้’

พล็อตเรื่องประเภท ‘เหล่าไฮโซติดอยู่ด้วยกันในสถานที่แห่งหนึ่ง’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลุยส์ บุนเยล ผู้กำกับหนังเซอร์เรียลชาวสเปนเคยทำไว้ใน The Exterminating Angel ตั้งแต่ปี 1962 ส่วนประเด็นการแซะพวกไฮโซหรืออินฟลูเอนเซอร์เราก็สามารถเห็นได้รายวันตามคลิปสั้นใน Reel หรือ TikTok (ที่ทำให้ได้แรงกว่าและกระชับกว่า Triangle of Sadness) อย่างไรก็ดี ผู้เขียนชื่นชอบตัวหนังอยู่ไม่น้อย และในวาระที่หนังได้เข้าฉายในไทยอย่างเป็นทางการ นี่จึงเป็นวาระอันดีที่เราจะมาทำความรู้จักออสต์ลุนด์และผลงานก่อนหน้าของเขา

ออสต์ลุนด์เริ่มต้นการทำหนังจากการถ่ายวิดีโอสกีตอนที่ทำงานในรีสอร์ตท่องเที่ยวสำหรับเล่นสกี จากนั้นเขาก็ใช้วิดีโอพวกนั้นเพื่อสมัครเรียนต่อโรงเรียนภาพยนตร์ในเมืองโกเธนเบิร์ก หนังยาวเรื่องแรกของเขาคือ The Guitar Mongoloid (2004) ที่เป็นการสังเกตกลุ่มคนต่างๆ ที่สังคมจัดให้เป็นพวกชายขอบ เช่น คนเล่นกีตาร์ข้างถนน แก๊งมอเตอร์ไซค์ หรือเหล่าเด็กแว้นที่ป่วนเมืองไปเรื่อย จุดเด่นของหนังคือการเป็นหนังฟิกชั่นที่นำเสนอเหมือนจะเป็นสารคดี รวมถึงการประกอบด้วยช็อตที่ตั้งกล้องนิ่งและถ่ายลองเทก (long take) ตลอดทั้งเรื่อง

หนังเรื่องต่อมาอย่าง Involuntary (2008) เหมือนเป็นด้านตรงข้ามกับผลงานก่อนหน้า ในขณะที่ The Guitar Mongoloid คือความนอกกรอบนอกคอก Involuntary กลับว่าด้วยการรวมกลุ่มของมนุษย์และความพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับคนหมู่มาก หนังเล่าถึงเหตุการณ์ย่อยๆ ที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกันสักเท่าไร เช่น รถทัวร์คันหนึ่งที่ต้องหยุดข้างทาง เนื่องจากคนขับจับได้ว่ามีคนทำม่านในห้องน้ำพัง และประกาศว่าจะไม่ยอมขับต่อจนมีใครสักคนยอมรับว่าเป็นคนทำ ส่งผลให้ลูกทัวร์มองหน้ากันเหลอหลาว่าควรจะจัดการกับสถานการณ์อย่างไร และยังมีเรื่องของครูสาวที่แสดงความไม่พอใจอาจารย์อีกคนที่ลงโทษนักเรียนรุนแรงเกินไป หากแต่ไม่มีคณาจารย์คนไหนอยู่ฝั่งเดียวกับเธอเลย

Involuntary ยังคงเทคนิคตั้งกล้องนิ่ง-ถ่ายลองเทกเช่นเคย จนทำให้ผลงานของออสต์ลุนด์ถูกวิจารณ์ (ในทางลบ) ว่ามันคล้ายกับ รอย แอนเดอร์สัน (Roy Andersson) จนเกินไป แต่สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบใน Involuntary คือบรรยากาศชวนอึดอัด โดยเฉพาะการถ่ายยาวเพื่อคว้าจับ ‘บรรยากาศมาคุ’ ที่เกิดขึ้นระหว่างเหล่าตัวละคร (เช่น ฉากที่อาจารย์ทั้งโรงเรียนพร้อมใจกันไม่แยแสครูสาวผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง) อีกทั้งหนังยังถ่ายทอดความน่ากลัวของพฤติกรรมหมู่ของมนุษย์ได้อย่างดีเยี่ยม

ออสต์ลุนด์ยกระดับความแหลมคมมากขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Play (2011) ว่าด้วยการเล่นกันของเด็กๆ ที่หลายครั้งชวนตั้งคำถามว่าล้ำเส้นไปสู่การกลั่นแกล้งหรือเปล่า นอกจากจะพูดเรื่องความรุนแรงโดยแทบจะไม่ต้องมีฉากรุนแรง หนังยังสวนทางกับ narrative ปัจจุบันที่มักย้ำว่าคนดำถูกกดทับโดยคนขาว หากแต่เรื่องนี้เป็นแก๊งเด็กผิวดำที่คอยรังควานเด็กผิวขาวและเอเชีย แต่ขณะเดียวกันเด็กผิวดำเหล่านี้ก็ถูกรังแกโดยพวกผู้ใหญ่ผิวขาวอีกที

ฉากที่น่าจดจำที่สุดของ Play คงเป็นช่วงท้ายของหนังที่พ่อของเด็กผิวขาวเข้าไปต่อว่าเด็กผิวดำที่มาคุกคามลูกชายตน แต่ทันใดนั้นเองก็มีเหล่านักฉอดเข้ามาด่าทอคุณพ่อว่า “คุณมันพวกมีอคติทางชาติพันธุ์ เด็กพวกนี้เป็นผู้ลี้ภัยนะ คุณไม่มีความเห็นอกเห็นใจบ้างเหรอ!” บลาบลาบลา เป็นภาพที่ซ้อนทับกับนักเอดดูเขตในโลกทวิตเตอร์ชนิดมาก่อนกาล

ถึงตรงนี้เราจะเห็นว่าออสต์ลุนด์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างฉากสนทนาอันแสนหัวจะปวด จนผู้เขียนยกตำแหน่ง ‘ราชาแห่งความกระอักกระอ่วน’ ให้เขาอย่างไร้ข้อกังขา และเขาทำให้สิ่งนี้มาถึงจุดพีกใน Force Majeure (2014) ภาพยนตร์ว่าด้วยครอบครัวสุขสันต์ที่ไปเล่นสกีด้วยกัน แต่เมื่อหิมะถล่ม ตัวพ่อกลับวิ่งหนีเอาชีวิตรอดโดยไม่สนใจลูกเมีย ฉากที่ภรรยาเค้นความสามีเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดออกมาแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนคนดูบางคนแทบจะอยากกรีดร้องออกมา

แน่นอนว่า Force Majeure คือการตั้งคำถามทั้งเรื่องเพศสภาพและบทบาททางเพศ การเอาตัวรอดของพระเอกถือเป็นความไม่แมนหรือเปล่า และนางเอกกำลังใช้บทบาทของเมียและแม่ของลูกกดขี่อีกฝ่ายหรือไม่ นอกจากนั้นหนังยังสำรวจถึงคุณค่าของระบบครอบครัวแบบถึงรากถึงโคน ในฉากที่เกิดพายุหิมะอีกครั้ง คราวนี้พระเอกเข้าไปช่วยนางเอกอย่างมาดแมน หากแต่มันอาจเป็นเพียงแค่การแสดงต่อหน้าลูกๆ เพื่อกอบกู้ความเป็นพ่อของเขาคืนกลับมา

หลังจากทำหนังมาสิบกว่าปี ออสต์ลุนด์ก็มาถึงจุดสูงสุดทางอาชีพ เมื่อ The Square (2017) สามารถนำปาล์มทองมาให้เขาได้ หนังเล่าถึงภัณฑารักษ์ศิลปะที่ต้องเจอเรื่องวุ่นวายในชีวิต ทั้งการทำคลิปไวรัลโปรโมตนิทรรศการใหม่ที่โดนสังคมก่นด่า, นักข่าวสาวที่พยายามอ่อยเขา แต่ก็ทำตัวเหมือนไม่ได้อ่อย รวมถึงการที่เขาไปกล่าวหาเด็กอาหรับคนหนึ่งว่าขโมยมือถือของเขา จะเห็นได้ว่าหนังมีองค์ประกอบเรื่องเพศสภาพและชาติพันธุ์เหมือนหนังก่อนหน้าของออสต์ลุนด์ เพียงแต่คราวนี้มันยิ่งสนุกขึ้นด้วยการเสียดสีถึงวงการศิลปะว่าในความสูงศักดิ์เลิศหรูนั้นแท้จริงแล้วมีความจอมปลอมอยู่มากมาย

ในหนังสามเรื่องหลังของออสต์ลุนด์ (Force Majeure, The Square และ Triangle of Sadness) เรายังสังเกตได้ว่าตัวเอกล้วนเป็น ‘ผู้ชายผิวขาวชนชั้นกลาง’ ทั้งหมด ด้วยชาติพันธุ์และสถานะเขาควรจะมีพริวิเลจแบบไม่อั้น แต่ออสต์ลุนด์กลับเลือกถ่ายทอดความงี่เง่า ความประสาทแดก และที่สำคัญที่สุดคือ ‘ความเปราะบาง’ ของผู้ชายเหล่านี้ ในยุคที่สังคมพยายามเรียกร้องให้มองทุกเพศสภาพเท่าเทียมกัน มันอาจดูเป็นเรื่องตกยุคที่จะมาบอกว่าเพศ A เป็นแบบนั้น เพศ B เป็นแบบนี้ แต่ผลงานของออสต์ลุนด์ทำให้เห็นว่าท่ามกลางความแข็งแกร่งของเพศชายที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์อย่างดาษดื่น เขากลับเลือกเล่าถึงความอ่อนแอของผู้ชายและนำเสนอมันได้อย่างคมคาย ซึ่งนี่อาจเป็นความกระอักกระอ่วนที่ผู้ชายหลายคนยากจะก้าวผ่านมันได้

AUTHOR