Il Buco (The Hole) ภารกิจพิชิตถ้ำหลวงฉบับอิตาลี

มุกตลกที่เล่นกันในวงการภาพยนตร์ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2022 คือการที่มีหนังเกี่ยวกับ ’ภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง’ ออกฉายมากมายจนงงไปหมดว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหน ก่อนหน้าก็มีอย่างน้อย 3 เรื่องคือ The Cave (2019), ติดถ้ำ (The Caved Life) (2020), The Rescue (2021) ส่วนปีนี้ก็มี Thirteen Lives ของรอน ฮาวเวิร์ด, Thai Cave Rescue และ The Trapped 13: How We Survived The Thai Cave สารคดีที่สัมภาษณ์สมาชิกทีมหมูป่า

เป็นเรื่องบังเอิญว่าท่ามกลางกระแสจักรวาลหนังถ้ำหลวง ผู้เขียนได้มีโอกาสดูหนังเกี่ยวกับถ้ำอีกเรื่องพอดี นั่นคือ Il Buco (หรือ The Hole) ของผู้กำกับชาวอิตาลี มีเกลันเจโล ฟรามาร์ติโน (Michelangelo Frammartino) หนังเปิดตัวที่เทศกาลหนังเวนิซปี 2021 และได้รับรางวัล Special Jury Prize แต่เพิ่งจะหาดูได้ (ตามช่องทางธรรมชาติ) เอาปีนี้ จุดเด่นของหนังคือการเป็นหนังสำรวจถ้ำที่ไม่มีฉากตื่นเต้นลุ้นระทึกใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นมันยังแทบไม่มีบทพูดตลอดทั้งเรื่อง! แต่ก่อนจะพูดถึง Il Buco ผู้เขียนขอเล่าถึงตัวฟรามาร์ติโนสักเล็กน้อย

ฟรามาร์ติโน เกิดเมื่อปี 1968 ร่ำเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม ก่อนที่จะเรียนต่อเพิ่มเติมด้านภาพยนตร์ ตลอดอาชีพเกือบสองทศวรรษ เขามีผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเพียง 3 เรื่องเท่านั้น เรื่องแรกคือ Il Dono (หรือ The Gift) (2003) ว่าด้วยชายแก่และหญิงสาวสติไม่ดีในหมู่บ้านชนบทแถบ Calabria (ภูมิภาคทางตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งเป็นฉากหลังในหนังของฟรามาร์ติโนทุกเรื่อง) เพียงแค่หนังเปิดตัวก็แสดงถึงลายเซ็นของฟรามาร์ติโนอย่างชัดเจน นั่นคือการไม่มีบทสนทนา หรือถ้ามีก็จะไม่มีซับไตเติ้ลมาอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น

ผลงานที่สร้างชื่อให้ฟรามาร์ติโนคือ Le quattro volte (หรือ The Four Times) (2010) ภาพยนตร์สุดประหลาดที่ใช้แนวคิด Metempsychosis หรือการกลับชาติมาเกิดใหม่ของปรัชญากรีกมาดัดแปลงเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันของชายแก่ ลูกแพะ ต้นสน และถ่านไม้ โดยหัวใจสำคัญของหนังคือการให้สิ่งมีชีวิตอย่างอื่นนอกเหนือจากมนุษย์ได้เป็นตัวเอกในภาพยนตร์บ้าง

หลังจากหายหน้าไปเกินสิบปี ฟรามาร์ติโนกลับมายิ่งใหญ่ด้วย Il Buco (2022) ที่ดูเผินๆ อาจเข้าใจว่าเป็นสารคดีเข้าถ้ำ แต่แท้จริงแล้วเขากำลังเล่าถึงการสำรวจถ้ำ Bifurto Abyss ที่มีความลึกถึง 700 เมตรในปี 1961 ฉะนั้นแล้วนี่คือหนังฟิคชั่นแบบย้อนยุค หากแต่แทนที่จะใส่สถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายหรือเพลงประกอบโหมอารมณ์ ฟรามาร์ติโนจงใจไม่ใส่เพลงประกอบ ตั้งกล้องนิ่งๆ หรือขยับกล้องแต่น้อย เพื่อบันทึกภาพว่านักสำรวจถ้ำเขาทำอะไรกันเวลาเข้าถ้ำ ท่ามกลางความมืดและเสียงสะท้อนไปมาภายในถ้ำ

เหล่านักแสดงใน Il Buco ไม่ใช่นักแสดงอาชีพและเป็นนักสำรวจถ้ำจริงๆ ซึ่งฟรามาร์ติโนให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่มีปัญหากับการทำงานกับนักแสดงหน้าใหม่เลย เพราะเขาสบายใจจะทำงานกับ ‘สิ่งที่ควบคุมไม่ได้’ เสียมากกว่า (อย่างที่เห็นว่าหนังเรื่องก่อนหน้าของเขามักเกี่ยวข้องกับสัตว์และธรรมชาติ) และเขาเองก็ไม่ได้ต้องการให้นักแสดงทำตัวเลียนแบบทีมสำรวจในปี 1961 แต่กลับบอกให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะการเข้าถ้ำครั้งนี้ถือเป็น ‘เรื่องราว’ ของพวกเขาเอง ดังนั้นนอกจากฉากปีนป่ายมุดถ้ำที่ตึงเครียด เราจะยังได้เห็นฉากคณะสำรวจเตะฟุตบอล เล่นไพ่ หรือล้อมวงดื่มสังสรรค์กัน

นอกจากพล็อตว่าด้วยการเข้าถ้ำ ฟรามาร์ติโนยังสอดแทรกเรื่องราวอื่นๆ ด้วย เช่น ตัวละครชายชราเลี้ยงแกะที่เฝ้ามองคณะสำรวจอยู่ไกลๆ เขานั้นป่วยหนักใกล้จะลาจากโลกนี้ เป็นเหมือนด้านตรงข้ามของเหล่าชายหนุ่มที่กำลังค้นพบดินแดนใหม่ แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าคมคายมากคือฉากเปิดของเรื่องที่เป็นฟุตเทจงานเฉลิมฉลองการเปิดตึกสูง Pirelli Tower ในเมืองมิลาน ซึ่งผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่ายุค 60 ที่เศรษฐกิจของอิตาลีกลับมาเบ่งบาน ผู้คนเอาแต่เงยหน้ามองฟ้า แต่ไม่มีใครสนใจก้มมองสิ่งที่อยู่ใต้พิภพ อีกทั้งยังสื่อนัยถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคตอนเหนือและตอนใต้ของอิตาลี กระทั่งทุกวันนี้ Calabria ก็ยังจัดเป็นหนึ่งในภูมิภาคยากจนของประเทศ

อย่างไรก็ถาม คำถามคาใจของผู้ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการถ่ายทำ ขอบอกให้ชัดเจนเลยว่าฟรามาร์ติโนไปถ่ายทำในถ้ำ Bifurto Abyss จริงๆ ไม่ใช่การเซ็ตติ้งหรือใช้ซีจีใดๆ ซึ่งผู้กำกับต้องเตรียมงานอยู่สองปี ใช้เวลาถ่ายทำ 6 สัปดาห์ บางวันก็ถ่ายกันหฤโหดถึง 20 ชั่วโมงเพียงเพื่อจะได้ฟุตเทจไม่กี่นาที เพราะแค่เดินทางลงไปในถ้ำก็ใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมงต่อเที่ยวแล้ว แล้วไหนจะขาออกอีก (ฟรามาร์ติโนบอกว่าเขาน่าจะขึ้นลงถ้ำไปทั้งหมดราว 30-35 ครั้ง) นอกจากนั้นยังมีปัญหาอีกสารพัด ทั้งเรื่องอุณหภูมิกับความชื้นที่มีปัญหาต่อกล้องถ่ายทำ, การสื่อสารกับระหว่างทีมในถ้ำกับทีมภาคพื้นดินที่เป็นไปอย่างลำบาก ไปจนถึงว่าแทบไม่มีบริษัทประกันไหนยอมทำประกันให้กับกองถ่ายเรื่องนี้

การจัดแสงก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจมาก ฟรามาร์ติโนกับตากล้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงการจัดไฟให้น้อยที่สุด และใช้แสงไฟจากหมวกนิรภัยของนักสำรวจเท่านั้น เขามีมุมมองว่าถ้ำที่ผู้คนบอกว่าสวยก็มักเป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยเห็นชัดเจน ซึ่งก็ต้องติดไฟและทำทางเดิน มันจึงไม่ใช่ถ้ำธรรมชาติอีกต่อไป แต่กลายเป็นถ้ำสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ฟรามาร์ติโนต้องการถ่ายทอด Bifurto Abyss ออกมาในแบบที่มันเป็น

ดังนั้นฉากถ้ำใน Il Buco จึงเป็นฉากมืดแสงน้อยล้วนๆ ผู้กำกับย้ำว่ามันสำคัญมากที่จะดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ เขาบอกว่าความมืดของการเข้าถ้ำกับความมืดในโรงภาพยนตร์นั้นมีความสัมพันธ์กัน มันคือการสำรวจทางภาพและการมีประสบการณ์ร่วมจากการมองเห็น ฟรามาร์ติโนมักให้สัมภาษณ์แบบติดตลกว่า Il Buco คือหนังที่พาไปยังพื้นที่ที่ Google Street View ไม่สามารถไปถึงได้ แต่เขายังพูดได้อย่างชวนคิดว่าการสำรวจถ้ำคือการก้าวข้ามจากขอบเขตของ ‘สิ่งที่รู้’ ไปยัง ‘สิ่งที่เราไม่รู้’

แต่น่าเศร้าว่าหลังจากยุคของโรคระบาด การเฟื่องฟูของธุรกิจสตรีมมิง และวิถีชีวิตของผู้คนที่ห่างเหินกับโรงภาพยนตร์มากขึ้น โอกาสที่ผู้คนจะได้ร่วมทริปสำรวจไปกับฟรามาร์ติโนคงจะน้อยลงเรื่อยๆ

**ผู้เขียนเคยเขียนถึงผู้กำกับอิตาลีที่น่าสนใจอีกคน นั่นคือ Gianfranco Rosi ผู้ทำสารคดีจับจ้องผู้คนด้วยสายตาที่ทิ้งระยะห่าง อ่านได้ที่นี่ครับ

AUTHOR