Aftersun : หลังตะวันลับที่ฉันไม่อาจกลับไปเป็นคนเก่า

ในบรรดาทำเนียบภาพยนตร์แห่งปี 2022 ของแต่ละสำนัก เราจะเห็นชื่อคุ้นๆ อย่าง Everything Everywhere All at Once, Nope หรือ Decision to Leave วนไปมา แต่อีกเรื่องหนึ่งที่มิอาจมองข้ามได้ก็คือ Aftersun ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษที่ขึ้นแท่นหนังอันดับหนึ่งแห่งปีของ Sight & Sound และ IndieWire และมีกำหนดเข้าฉายบ้านเราในเดือนมกราคม 2023 

เนื้อหาของ Aftersun แสนจะเรียบง่ายสุดกระชับ มันว่าด้วย แคลัม-คุณพ่อยังหนุ่มวัยสามสิบกับ โซฟี-ลูกสาววัย 11 ขวบที่ไปพักผ่อนในรีสอร์ตประเทศตุรกี ด้วยความที่ทั้งคู่อายุห่างกันไม่มากจึงถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพี่ชายน้องสาวเสมอ ดูหนังไปไม่ถึงครึ่งทาง ผู้ชมน่าจะสัมผัสเค้าลางได้ว่าทริปที่ฉากหน้าดูสุขสันต์นี้แท้จริงแล้วอาจเป็นการใช้เวลาร่วมกันครั้งสุดท้ายของทั้งคู่ ดังนั้น Aftersun อาจนำเสนอออกมาในทางเร้าอารมณ์ ซาบซึ้ง หรือฟูมฟายได้ หากแต่ผู้กำกับไม่เลือกทำแบบนั้นโดยสิ้นเชิง

ชาร์ล็อตต์ เวลส์ ผู้กำกับ Aftersun อายุเพียง 35 ปีเท่านั้นและนี่คือหนังยาวเรื่องแรกของเธอ เวลส์เกิดที่ประเทศสกอตแลนด์และเรียนจบภาพยนตร์จาก New York University Tisch School of the Arts เธอให้สัมภาษณ์ว่าจุดตั้งต้นของ Aftersun เกิดจากการไปเปิดอัลบั้มรูปเก่าๆ แล้วรู้สึกแปลกใจว่าพ่อของเธอดูเยาว์วัยเหลือเกิน และยิ่งพัฒนาบทไปเธอยิ่งรู้สึกว่าหนังมีความส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงเลือกให้เหตุการณ์ทั้งหมดใน Aftersun เป็นการ ‘ย้อนคิดถึงอดีต’ ผ่านมุมมองของโซฟีในวัยผู้ใหญ่ (ซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนของเธอ)

นั่นเป็นที่มาของภาษาภาพยนตร์อันเฉพาะตัวของ Aftersun แม้จะเล่าถึงช่วงเวลาไม่กี่วันของทริปพ่อลูก แต่หนังก็ประกอบด้วยห้วงเหตุการณ์สั้นๆ ไม่ปะติดปะต่อ แทรกด้วยการฉายภาพโซฟีช่วงปัจจุบันหรือฉากพิศวงที่เหมือนกึ่งจริงกึ่งฝัน แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่า Aftersun ไม่ใช่หนังดูยากแต่ประการใด ดูรู้เรื่องแน่นอน 100% อาจเปรียบเปรยได้ว่า Aftersun เหมือนภาพจิตรกรรมแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ มองใกล้เกินไปอาจดูไม่รู้เรื่องว่ามันคือภาพอะไร หากถอยห่างออกมามองภาพรวมก็จะเห็นภาพแบบแจ่มกระจ่าง

หนึ่งในความโดดเด่นของ Aftersun คือการสอดแทรกความรู้สึกลึกลับและตึงเครียดได้ตลอดทั้งเรื่อง สาเหตุหลักมาจากตัวละครแคลัมที่เราอาจไม่ค่อยเข้าใจเขานัก ในฉากหนึ่งเขาปฏิเสธการร้องคาราโอเกะกับโซฟีอย่างหัวเสีย แต่หากถัดมาเขากลับชวนลูกสาวเต้นอย่างร่าเริงเกินเบอร์ ไม่ว่าจะอย่างไรผู้ชมสามารถสัมผัสได้ว่าแคลัมกำลังต่อสู้ดิ้นรนกับบางสิ่งภายใน มันอาจเป็นวิกฤตวัยสามสิบ, ความสับสนจากการมีลูกเร็วเกินไป หรือปัญหาสุขภาพจิต และจากที่แคลัมได้พูดประโยคสำคัญไว้ว่า “ผมไม่แน่ใจเลยว่าใช้ชีวิตมาถึง 30 ได้ไง แต่คงไม่น่ารอดไปถึง 40 แน่” มันทำให้เราคาดเดาได้ว่าปลายทางชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไร

ผู้เขียนคิดว่าจุดแข็งสำคัญที่สุดของ Aftersun คือเคมีระหว่างนักแสดงนำทั้งสองอย่าง พอล เมสคัล และแฟรงกี้ โคริโอ ผู้รับบทพ่อและลูกสาวที่ดูเหมือนเพื่อนกันได้อย่างแนบเนียน ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของโคริโอ (เธอถูกเลือกจากบรรดานักแสดงเด็กที่มาทดสอบบท 800 คน) เวลส์เล่าให้ฟังว่าเธอใช้วิธีให้นักแสดงไปเที่ยวกันจริงๆ เป็นเวลาสองสัปดาห์เพื่อสร้างความใกล้ชิด นอกจากนั้นเธอยังไม่ให้โคริโอรู้ภูมิหลังหรือความรู้สึกนึกคิดของแคลัมมากนัก ตรงกับตัวละครของโซฟีที่ไม่อาจเข้าถึงพ่อจนมีระยะห่างเกิดขึ้น แต่ใช่ว่าเด็กสาวจะไม่รู้เลยว่ามีบางสิ่งผิดปกติ ตัวละครโซฟีไม่ใช่เพียงสาวใสไร้เดียงสา หากแต่มีความลึกซึ้งด้วยการเป็นเด็กที่ต้องพยายามร่าเริงท่ามกลางความอึมครึมที่ชวนสับสน

เพลงประกอบก็เป็นตัวละครสำคัญใน Aftersun ด้วยความที่เรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในยุค 90 เราจึงได้ยินเพลงอย่าง Tender ของ Blur, Never Ever ของ All Saints ไปจนถึง Losing My Religion ของ R.E.M. ซึ่งเวลส์ยังส่งเพลย์ลิสต์เพลงยุค 90 ไปให้นักแสดงฟังเพื่อเข้าใจบรรยากาศมาก สำหรับเมสคัลนั้นไม่มีปัญหา เพราะเขาฟังเพลงยุคนั้นอยู่แล้ว แต่โคริโอบอกว่าแทบไม่ได้ฟังเพลย์ลิสต์นั้นเลย เธอไม่ชอบเพลงยุค 90 และอินอะไรแบบ โอลิเวีย ร็อดริโก มากกว่า ซึ่งมันกลับส่งผลดีกับตัวหนัง เพราะเราจะเห็นได้ว่าโซฟีดูอึดอัดและไม่ฟิตอินกับทริปตุรกีสักเท่าไร แต่เธอก็พยายามเก็บซ่อนความรู้สึกนั้นไว้เพื่อได้ใช้เวลาอันมีค่ากับผู้เป็นพ่อ

ส่วนคำถามว่าชื่อหนัง Aftersun แปลว่าอะไร เอาแบบง่ายๆ ก็อาจหมายถึงครีมทาหลังออกแดดที่ตัวละครทากันอยู่ทั้งเรื่อง หรือมันอาจสื่อช่วงเวลาหลังตะวันลับ (หนังมีฉากตัวละครดูพระอาทิตย์ตกด้วยกัน) สอดคล้องกับการที่โซฟีย้อนมองไปยังเหตุการณ์ราวยี่สิบปีก่อนของเธอกับพ่อ ความทรงจำอันเลือนรางแต่กลับเด่นชัดในบางเหตุการณ์ สมัยเด็กอาจไม่เข้าใจพ่อนัก แต่ ณ ปัจจุบันที่เธออายุใกล้เคียงกับพ่อในตอนนั้น เธอเริ่มรับรู้ได้แล้วว่าเขาแบกความทุกข์อะไรไว้ในใจ พร้อมกับข้อเท็จจริงที่ว่าเธอไม่อาจกลับไปเป็นเด็กน้อยวัย 11 ขวบได้อีกแล้ว

ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายเกี่ยวกับ Aftersun ว่ามันเป็นหนังที่เหมาะควรสำหรับการดูในโรงภาพยนตร์อย่างแท้จริง มันอาจเป็นคำพูดเฉิ่มเชยในยุคสมัยสตรีมมิงเช่นนี้ แต่ฉากสุดท้ายของหนังใช้ประโยชน์ของภาพและเสียงชนิดสุดขอบเท่าที่สื่อภาพยนตร์จะทำได้ และหากเรียก Aftersun ว่าภาพยนตร์อิมเพรสชั่นนิสม์ มันก็ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ นั่นคือการทิ้งรอยประทับใจไว้ให้กับผู้ชม

**ติดตามรอบฉายของ Aftersun ได้ทางเพจ Documentary Club

AUTHOR