Wandering หนังญี่ปุ่นที่เล่าประเด็นการใคร่เด็กอันล่อแหลมอย่างมีหัวใจ

ประเด็นเรื่องการใคร่เด็ก (pedophilia) เป็นเรื่องดราม่าที่ถกเถียงในสังคมมาอย่างยาวนาน รวมถึงวงการศิลปวัฒนธรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าจะมังงะหรืออนิเมะหลายเรื่องที่มักนำเสนอความสัมพันธ์ของหนุ่มใหญ่กับสาวน้อยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือวงเคป๊อปที่เพิ่งเดบิวต์หมาดๆ อย่าง NewJeans ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีการแฝงแนวคิดสนับสนุน pedophilia ผ่านงานอาร์ตหรือคอสตูมของศิลปินหรือเปล่า จนผู้บริหารและดูแลคอนเซปต์ต้องออกมาชี้แจงกันยกใหญ่

วงภาพยนตร์มีงานที่เนื้อหาว่าด้วยพวกใคร่เด็ก (pedophile) หรืออาการใคร่เด็กอยู่หลายเรื่อง ถ้าฝั่งฮอลลีวู้ดที่เราน่าจะเคยผ่านตากันมาก็เช่น Mystic River (2003), Hard Candy (2005) หรือ Spotlight (2015) ซึ่งหนังพวกนี้มักมีลักษณะร่วมกันคือนำเสนอพวกใคร่เด็กเป็นตัวร้ายหรือเป็นพวกโรคจิต อย่างไรก็ดี หนังว่าด้วย pedophilia ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือหนังออสเตรียเรื่อง Michael (2011) ที่ตัวเอกลักพาตัวเด็กผู้ชายมาขังไว้ในบ้าน แต่เขาเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีหน้าที่งานการ มีเพื่อนฝูง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว นี่คือการทำให้พวกใคร่เด็กเป็นมนุษย์แทนที่จะเป็นปีศาจร้าย แน่นอนว่าหลายเสียงด่ากราดหนังอย่างรุนแรง โดยมองว่ามันคือการลดทอนความเลวร้ายของ pedophilia

ผู้เขียนเชื่อว่าช่วงหลังทศวรรษ 2020s ที่สังคมตื่นตัวเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) อย่างหนักหน่วง ค่ายหนังหลายค่ายน่าจะหลีกเลี่ยงการสร้างหนังเกี่ยวกับ pedophile ในฐานะมนุษย์สามัญทั่วไป เพราะอาจถูกทัวร์ลงในข้อหาการทำให้มันเป็นเรื่องปกติ (normalization) ถึงกระนั้นปี 2022 ก็มีหนังญี่ปุ่นที่ท้าชนประเด็นอาการใคร่เด็กอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือเรื่อง Wandering

Wandering สร้างจากนิยายของ ยู นางิระ (มีแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Daifuku) เล่าถึง ฟูมิ ชายหนุ่มสันโดษผู้พาเด็กสาวนาม ซาราสะ ไปอยู่ด้วยที่บ้านเป็นเวลาสองสัปดาห์ แม้จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งใดๆ แต่เมื่อถูกตำรวจจับ ฟูมิก็ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นไอ้หื่นกามชอบมีอะไรกับเด็ก (ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นจะใช้คำว่า lolicon) สิบห้าปีต่อมาทั้งคู่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง และมันคือจุดเริ่มต้นของชะตากรรมอันพลิกผันและยากจะควบคุม

หนังเป็นผลงานกำกับของอีซางอิล ผู้กำกับญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลี ชาวไทยอาจรู้จักเขาจากหนังฟีลกู๊ดอย่าง Hula Girls (2006) ทว่าหลังจากนั้นเขาก็มุ่งทำหนังสุดดาร์กที่เน้นสำรวจด้านมืดของมนุษย์มาตลอด ไม่ว่าจะชายหนุ่มพลั้งมือฆ่าผู้หญิงที่นัดเจอทางเว็บหาคู่ใน Villain (2010) หรือ Rage (2016) หนังว่าด้วยฆาตกรที่ไปศัลยกรรมหน้าจนทำให้ผู้คนหวาดระแวงว่าคนแปลกหน้าที่เพิ่งพบเจอคือฆาตกรคนนั้นหรือเปล่า ซึ่งจุดเด่นในหนังของอีซางอิลคือ ไม่ว่าตัวละครจะทำสิ่งที่เลวร้ายแค่ไหน เขาก็ยังมีแง่ความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่

ใน Wandering อีซางอิลยังฉายภาพมนุษย์ได้อย่างมีมิติผ่านตัวละครฟูมิและซาราสะ เขาระแวดระวังที่จะไม่ romanticize ความสัมพันธ์ของคนคู่นี้ หรือไม่ทำให้ซาราสะที่มีความรู้สึกดีต่อฟูมิดูเป็นพวก Stockholm syndrome หนังได้ให้เหตุผลว่าซาราสะเปิดใจกับฟูมิเพราะเขาเป็นเพียงคนเดียวที่ให้เธอใช้ชีวิตอย่างที่เธอต้องการ เหมือนประโยคสำคัญที่ฟูมิพูดกับอีกฝ่ายก่อนจะถูกตำรวจจับว่า “จำไว้นะ ชีวิตเป็นของเธอคนเดียวเท่านั้น อย่าให้คนอื่นมาครอบครอง”

นอกจากตัวบทที่น่าเชื่อถือแล้ว ทีมนักแสดงของ Wandering ก็ถือเป็นจุดแข็งของหนัง ไล่ตั้งแต่ ริวเซย์ โยโกฮามะ ที่ปกติมักรับบทหนุ่มรูปหล่อ แต่เรื่องนี้เขาแสดงเป็นแฟนหนุ่มสุดชั่วของนางเอก ที่เล่นได้ชั่วถึงใจประหนึ่งไปขายวิญญาณให้ซาตาน ส่วนนางเอกอย่าง ซึสึ ฮิโรเสะ แม้เธอจะต้องคอยไปเล่นหนังแมสที่สร้างจากการ์ตูนตาหวานที่แสนจะฉาบฉวย แต่เธอมักจะสลับโหมดมาแสดงในหนังที่ซีเรียสจริงจัง เป็นข้อพิสูจน์ว่าเธอคือนักแสดงที่ดีเสมอมา

ถึงกระนั้นดาวเด่นของ Wandering ก็ต้องยกให้ โทริ มัตสึซากะ ผู้รับบทฟูมิ ในช่วงประมาณห้าปีมานี้เขาพัฒนาทักษะทางด้านการแสดงอย่างมากจนคว้ารางวี่รางวัลมากมาย (เขาได้รางวัลนำชายยอดเยี่ยม Japan Academy Film Prize จากเรื่อง The Journalist (2019)) โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่ามัตสึซากะแสดงบทแนวระทมทุกข์ได้อย่างเก่งฉกาจ ฟูมิเป็นคนประเภทที่มองแวบแรกก็รู้เลยว่าเขาแบกความเศร้ามากมายไว้ในใจ ความนิ่งช้าของเขาคือการบ่งบอกว่าบางส่วนของเขาได้ตายไปแล้ว

อีกคนที่มีบทบาทสำคัญใน Wandering คือผู้กำกับภาพคงฮยองพโย (ตากล้องคนดังที่ถ่ายหนังเรื่อง Parasite และ Burning) หนังที่เพิ่งเข้าฉายก่อนหน้านี้อย่าง Broker ก็เป็นฝีมือการถ่ายภาพของเขาเช่นกัน แต่ผู้เขียนแทบไม่รู้สึกอะไรกับงานภาพใน Broker เลย อาจเพราะมันเป็นหนังโลกสวยที่เน้นภาพสว่างสดใส จนทุกอย่างดู ‘แบนราบ’ ไปเสียหมด หากแต่ใน Wandering นั้น คงฮยองพโยเล่นกับความสว่างและความมืดอย่างเฉียบคม เหตุการณ์ในอดีตที่ฟูมิกับซาราสะวัยเด็กใช้เวลาร่วมกันจะมีโทนภาพสว่างและมีวัตถุสะท้อนแสงปรากฏเป็นระยะ หากแต่เส้นเรื่องปัจจุบันจะมีโทนภาพที่มืดและเย็นชากว่า อาทิ ร้านกาแฟของฟูมิที่บรรยากาศช่างอึมครึม เปรียบเสมือนที่ซ่อนตัวของตัวละครและกลายเป็นพื้นที่ที่สังคมรังเกียจในภายหลัง รวมถึงฉาก ‘เฉลยความลับ’ ที่จงใจถ่ายภาพแทบจะมืดสนิท สอดคล้องกับอารมณ์ของเรื่องที่ดิ่งเหวอย่างไร้ก้นบึ้ง

สำหรับประเด็น pedophilia ของ Wandering เราอาจพิจารณาได้ว่าฟูมิเป็นพวก non-offending pedophile กล่าวคือเขายอมรับในรสนิยมชอบพอในตัวเด็กอายุน้อย แต่ก็ไม่เคยล่วงละเมิดเด็กคนไหน (ฟูมิอาจไม่เคยมีเซ็กซ์เลยด้วยซ้ำ ด้วยเงื่อนไขทางกายภาพที่หนังเฉลยในช่วงท้าย) หากสังคมมักเชื่อว่าพวกใคร่เด็กไม่ว่าจะก่อเหตุหรือไม่ก็ตามคือตัวอันตราย ตัวน่ารังเกียจ และพยายามขจัดออกไปจากสังคม

ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีโครงการชื่อ Project Dunkelfeld เป็นสถานที่ไม่กี่แห่งในโลกที่บำบัดอาการใคร่เด็ก แต่เจ้าของโครงการระบุชัดเจนว่าไม่สามารถทำให้ผู้รับการบำบัดหายจาก pedophilia ได้ เพียงแต่มันคือการสอนให้คนประเภทนี้รู้จักจัดการกับความต้องการหรือแรงปรารถนาของตัวเอง นั่นทำให้โครงการนี้ถูกตั้งคำถามพอสมควร เช่นว่าจะวัดผลได้อย่างไรว่าการบำบัดได้ผลจริง แน่ใจได้แค่ไหนว่าผู้บำบัดจะไม่ไปก่อเหตุล่วงละเมิดเด็ก บ้างก็มองว่ามันคือโปรเจกต์ที่ช่วยปกป้องพวกใคร่เด็กด้วยซ้ำ

แต่สำหรับฟูมิผู้ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ไม่มีโครงการใดๆ หรือใครจะช่วยเหลือและเข้าใจเขาทั้งนั้น เขาควรจะต้องเก็บซ่อนรสนิยมของตัวเอง (หรือคนส่วนใหญ่อาจมองเป็น ‘ความผิดปกติ’) ไว้อย่างมิดชิดแนบสนิท แต่เมื่อมันถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน เขาก็คือเศษเดนมนุษย์ชั้นต่ำน่าขยะแขยง เรื่องราวของชายผู้นี้ชวนให้นึกถึงประโยคอันโด่งดังจากเรื่อง Nymphomaniac (2013) ที่นางเอกพูดว่า “พวกใคร่เด็กที่กดทับความต้องการของตัวเองเอาไว้ได้ (และไม่ไปล่วงละเมิดใคร) นั้นน่ายกย่อง พวกเขาสมควรได้รับเหรียญรางวัล” หากแต่ฟูมิจะไม่มีวันได้รับเหรียญรางวัลใดๆ สิ่งที่เขาได้มีเพียงความทุกข์ทรมานอันไร้ขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุด

AUTHOR