About Endlessness: เมื่อชีวิตคือความงดงามและโหดร้ายไม่สิ้นสุด

Highlights

  • Roy Andersson คือผู้กำกับที่ผลงานมีลายเซ็นชัดเจนจนคนทั้งโลกจำได้ เอกลักษณ์ในงานของเขาปรากฏซ้ำจนสามารถไล่เรียงได้เป็นข้อๆ ตั้งแต่การรวมเหตุการณ์สั้นๆ ที่ถ่ายลองเทคและตั้งกล้องนิ่ง เหล่าตัวละครที่แสดงอารมณ์ด้วยความตายซาก
  • จุดสำคัญที่สุดคืองานของแอนเดอร์สสันมักว่าด้วยความไร้สาระว่างเปล่าของชีวิตมนุษย์ นำเสนอด้วยความตลกร้ายนิ่งๆ ทว่าเสียดสีอย่างร้ายกาจ
  • About Endlessness (2019) เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของแอนเดอร์สสันที่ยังคงสไตล์เดิมอย่างเหนียวแน่น แต่ละฉากเป็นการแรนดอมสถานการณ์ สุข เศร้า ตื่นเต้น และน่าเบื่อ ทว่าเหล่านี้คือชีวิตของเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย

หากพูดถึงผู้กำกับที่ผลงานมีลายเซ็นชัดเจนจนคนทั้งโลกจำได้ จะต้องมีชื่อของคนทำหนังชาวสวีเดน Roy Andersson ด้วยแน่นอน

เอกลักษณ์ในงานของเขาปรากฏซ้ำจนสามารถไล่เรียงได้เป็นข้อๆ ตั้งแต่การรวมเหตุการณ์สั้นๆ ที่ถ่ายลองเทคและตั้งกล้องนิ่ง เหล่าตัวละครที่เคลื่อนไหว พูดจา และแสดงอารมณ์ ด้วยความตายซาก แถมใบหน้ายังแต่งแต้มด้วยสีขาวจนซีดเผือด แต่จุดสำคัญที่สุดคืองานของแอนเดอร์สสันมักว่าด้วยความไร้สาระว่างเปล่าของชีวิตมนุษย์ นำเสนอด้วยความตลกร้ายนิ่งๆ ทว่าเสียดสีอย่างร้ายกาจ

นักดูหนังชาวไทยเริ่มรู้จักแอนเดอร์สสันจากหนังเรื่อง Songs from the Second Floor (2000) ที่เคยมาฉายแบบจำกัดโรงที่ลิโด้และทำเอาผู้ชมเหวอกันถ้วนหน้า หนังเรื่องนี้มีฉากที่ดูแล้วไม่เข้าใจมากมาย แต่ฉากหนึ่งที่ผู้เขียนจดจำไม่มีวันลืมคือฉากที่ผู้คนพยายามแบกกระเป๋าสัมภาระไปเช็กอินที่เคาน์เตอร์อย่างทรมาน ราวกับจะสื่อความว่าคนเรานั้นแบกภาระไว้หนักหนา ทั้งความทุกข์และอดีต

ต่อมาแอนเดอร์สสันทำหนังอีก 2 เรื่องคือ You, the Living (2007) และ A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) แม้น้ำเสียงการเสียดเย้ยอาจไม่ดุดันเท่า Songs from the Second Floor แต่ทั้งสามเรื่องก็ถูกแพ็กรวมเป็น Living Trilogy หรือไตรภาคว่าด้วยการใช้ชีวิต ซึ่งทุกเรื่องล้วนมีธีมเดียวกันคือการใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์นั้นช่างยากลำบากเสียเหลือเกิน

About Endlessness (2019) ผลงานเรื่องล่าสุดของแอนเดอร์สสันยังคงสไตล์เดิมอย่างเหนียวแน่น มันประกอบด้วยช็อตถ่ายนิ่งจำนวน 32 ฉาก สิ่งที่ต่างออกไปคือความมินิมอลที่มากขึ้น หนังแทบไม่มีเส้นเรื่องชัดเจน หลายเหตุการณ์ดูไม่เกี่ยวข้องกัน บางฉากแทบจะเป็นกิจวัตรสามัญ สิ่งที่พอจะช่วยนำทางได้บ้าง คือเสียงบรรยายของผู้หญิงคนหนึ่งที่ผู้สร้างได้แรงบันดาลใจมาจากการเล่านิทานไม่รู้จบของ Scheherazade ตัวละครในเรื่อง One Thousand and One Nights

ตัวอย่างชุดเหตุการณ์ใน About Endlessness มีทั้งเรื่องดาร์กๆ ประเภทบาทหลวงไปปรึกษาจิตแพทย์เรื่องการสูญเสียศรัทธาในพระเจ้า หรือชายวัยกลางคนที่ถูกเพื่อนหมางเมินเพราะคดีบูลลี่สมัยเรียน ทว่าขณะเดียวกันก็มีสถานการณ์มากมายบรรจุอยู่ในหนังอย่างไร้ที่มาที่ไป พ่อที่ช่วยลูกสาวผูกเชือกรองเท้า, หญิงสาวผู้รอคนมารับที่ชานชาลารถไฟ, คู่รักที่นั่งจ้องกันอย่างหวานชื่นในร้านอาหาร และอยู่ดีๆ ก็มีตัวละครในประวัติศาสตร์อย่างฮิตเลอร์กับสหายนาซีโผล่มาด้วย

หากเป็นแต่ก่อนผู้เขียนคงไม่ถูกใจหนังเรื่องนี้ที่ช่างเบาบางและไร้การจิกกัดแบบสาแก่ใจ (แบบในผลงานก่อนหน้าของแอนเดอร์สสัน) หากแต่ด้วยอายุที่มากขึ้น (และตัวแอนเดอร์สสันก็เข้าใกล้วัยแปดสิบแล้ว) จึงเริ่มมองเป้าประสงค์ของหนังเรื่องนี้ออก ตามชื่อเรื่องที่มีคำว่า endlessness หนังเรื่องนี้จึงเป็นการแรนดอมสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งเรื่องสุข เศร้า ตื่นเต้น และน่าเบื่อ ทว่าเหล่านี้คือชีวิตของเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าแอนเดอร์สสันลดความ satire ในหนังของเขา แต่แลกมาด้วยมุมมองต่อโลกที่สงบและคมคายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้แอนเดอร์สสันจะกลายร่างเป็นคุณปู่ใจดี แต่วิธีการทำหนังของเขายังคงบ้าคลั่งเช่นเดิม ผลงานของแอนเดอร์สสันอาจดูเหมือนถ่ายเอาต์ดอร์หรือตามสถานที่จริงเกือบทั้งเรื่อง แต่แท้จริงแล้วทุกฉากในหนังล้วนถ่ายทำในสตูดิโอ! นั่นหมายความว่าทีมงานต้องสร้างฉากขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แม้ว่าซีนนั้นจะมีความยาวไม่ถึง 1 นาที

แอนเดอร์สสันเลือกวิธีการนี้เพราะต้องการกำหนดดีเทลทุกอย่างตามความต้องการ รวมถึงการควบคุมแสง ดังจะเห็นได้ว่าภาพในหนังของเขาคือความสว่างหมดจด แทบไม่เคยมีเงาเกิดขึ้น ตัวละครไม่อาจซ่อนเร้นและถูกเปิดเผยให้เห็นถึงความอ่อนแออย่างหมดเปลือก

เทคนิคการถ่ายทำดังกล่าวสอดคล้องได้ดีกับสารของภาพยนตร์ ว่านี่คือหนังเกี่ยวกับ ‘เรื่องราวไม่รู้จบของความเปราะบางแห่งการดำรงอยู่’ ซึ่งสิ่งนี้คือหัวใจของหนัง ฉากที่สะท้อนได้ดีมากคือฉากที่คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในร้านอาหาร จ้องมองหิมะที่ร่วงหล่นจากท้องฟ้า ตัวละครตัวหนึ่งพูดขึ้นว่า “มันช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน” ชายอีกคนที่มีสีหน้าอมทุกข์ถามขึ้นว่า “อะไรเหรอ” ฝ่ายแรกตอบกลับว่า “ทุกสิ่งทุกอย่าง” เห็นได้ว่าในโมเมนต์เดียวกัน คนหนึ่งมองเห็นเพียงความสวยงาม หากอีกคนเห็นแต่ความดำมืด ที่มาของความต่างคงมาจากความเปราะบาง หวั่นไหว ไม่มั่นคง ของจิตใจคนเรา

อีกข้อความหนึ่งที่น่าประทับใจมาจากงานแถลงข่าวในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส แอนเดอร์สสันพูดไว้ได้น่าฟังว่า “ชีวิตคนเราจะงอกเงยขึ้นหากเราเข้าใจเวลาที่ผู้อื่นสุขหรือเศร้า นั่นทำให้ผมรู้สึกขอบคุณที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความอ่อนแอ”


*ค่าย Documentary Club ได้ซื้อลิขสิทธิ์ About Endlessness มาแล้ว เราน่าจะได้ดูในโรงหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย

 

ภาพประกอบ

outnow.ch

AUTHOR