ภายใต้ลายเส้นสวยงามนั้น มีชีวิตซ่อนอยู่ ชวนดูอนิเมะสุโก้ยมากที่เราอยากให้แมสกว่านี้

ในยุคที่คนเล่นมุกฉันคือหมาป่าเดียวดาย สวมเสื้อคลุมดาบพิฆาตอสูร และแย่งกันสั่งจองหนังสือการ์ตูนจนมีการปั่นราคากันสูงลิ่ว อาจเป็นการยืนยันได้ว่ายุคของอนิเมะได้กลับมาฟีเวอร์อีกครั้ง!

แน่นอน ถ้าพูดถึงการ์ตูนดังๆ คนส่วนใหญ่คงนึกถึงงานของ Shonen Jump หรือ Studio Ghibli ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่หารู้ไม่ว่าที่จริงยังมีการ์ตูนญี่ปุ่นเจ๋งๆ อีกมากที่อาจยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

นอกจากการต่อสู้กับเหล่าอธรรม แข่งขันเพื่อเอาชนะ และมิตรภาพของเพื่อนแล้ว ผู้สร้างการ์ตูนยังเลือกนำเสนอความไซไฟสุดล้ำ ชีวิตไอดอลสุดดาร์ก ปรัชญาชีวิต สังคมชายเป็นใหญ่ ไปจนถึงโลกคู่ขนาน ผ่านลายเส้นกับสีสันสวยงาม

ด้วยความที่ช่วงนี้กระแสอนิเมะมาแรง เราเลยขอเปิดกรุนำ 6 การ์ตูนเก่าที่สำหรับเรามองว่าน่าจะมีคนรู้จักมากกว่านี้มาแนะนำกัน รับรองว่าถ้าดูแล้วคุณจะมองการ์ตูนเปลี่ยนไปเลย

Perfect Blue (1997)

นี่คือผลงานอันลือลั่นของ Satoshi Kon แห่ง Madhouse Studio ที่เป็นแรงบันดาลขนานใหญ่ให้กับภาพยนตร์แนวจิตวิทยาสยองขวัญ Black Swan เพราะด้วยเนื้อหาที่ไปไกลกว่าการเป็นแค่การ์ตูนดูสนุกๆ ทว่ากลับนำเสนอประเด็นรุนแรงผ่านลายเส้นงดงามที่แฝงไปด้วยความหลอน ราวกับต้องการสื่อถึงชีวิตของหญิงสาวผู้ต้องทำงานใต้แสงสปอตไลต์ที่มีแต่คนจับตามองตลอดอย่างอาชีพไอดอล

เรื่องราวของ Mima Kirigoe นักร้องสาวไอดอลที่ประกาศแกรดบนเวทีคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของเธอ เพื่อหันมาเอาดีด้านการแสดงอย่างเต็มตัว แต่แล้วการตัดสินใจครั้งนี้กลับทำให้แฟนคลับเดนตายของเธอไม่พอใจ แถมยังมีชายนิรนามคอยติดตามเธอไปด้วยทุกที ขณะเดียวกันเธอก็เหมือนจะค่อยๆ ประสาทเสียจากการหลอนหลอกของตัวตนเธอในอดีต

นอกจากพล็อตสุดเฮี้ยนที่ชวนให้เราไม่ไว้วางใจใครเลยในเรื่อง ดนตรีประกอบก็ทำได้หลอนมากเข้ากับธีมเรื่องที่ชวนให้สับสนงงงวยว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงกันแน่ ที่เรากำลังดูอยู่ใช่ตัวตนจริงๆ ของตัวละครไหม หรือแท้จริงแล้วมีใครหรือตัวตนไหนที่แอบซ่อนอยู่

ถือเป็นการ์ตูนที่สะท้อนชีวิตของไอดอลและวิพากษ์วิจารณ์สังคมในยุคที่อินเตอร์เน็ตเริ่มมีอิทธิพลกับผู้คนทั่วโลก ซึ่งยิ่งชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

Paprika (2006)

ผลงานขึ้นหิ้งอีกชิ้นของ Satoshi Kon ที่หยิบเอาไอเดียของ Perfect Blue มาต่อยอดได้อย่างยอดเยี่ยม โดยผสมผสานความจริงกับจินตนาการเข้าด้วยกัน นำเสนอเรื่องราวผ่านลายเส้นสีสันสดใส จนเราทึ่งกับทั้งภาพและพล็อตที่ชวนให้ติดตามไปจนถึงตอนจบ

Paprika คือชื่อร่างอวตารของตัวละคร Atsuko Chiba นักวิจัยหญิงผู้เย็นชา นิ่งเงียบ แต่งตัวแต่งหน้าเรียบร้อยมิดชิด ทว่าเมื่อเธอถอดจิตกลายเป็น Paprika จะกลายเป็นสาวผมแดงแซ่บๆ แต่งตัวสบายๆ นิสัยร่าเริงขี้เล่น ราวกับเป็นคนละคนเลยทีเดียว

สารหลักของเรื่องนี้ คือการนำเสนอการเปรียบเทียบระหว่างความฝันและอินเทอร์เน็ตที่ดูเป็นคนละเรื่องกัน ทว่ากลับเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างน่าสนใจผ่านแนวคิดตัวตนที่แท้จริงกับการสร้างอีกตัวตนขึ้น

ปกติแล้วความฝันเป็นเรื่องปัจเจกของใครของมัน แต่เมื่อมีนักวิจัยอัจฉริยะคนหนึ่งสร้างเครื่องประดิษฐ์ที่สามารถเก็บข้อมูลความฝันในชื่อ ‘ดีซีมินิ’ ขึ้นมา ความฝันก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป ทว่าวันหนึ่งเมื่อเจ้าอุปกรณ์นี้ที่ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองถูกขโมยไป ทีมนักค้นคว้าวิจัยจึงจำเป็นต้องสืบหาตัวการ เพราะพวกเขาไม่มีทางรู้เลยว่าคนร้ายจะนำมันไปใช้ในทางหายนะหรือไม่

นอกจาก Paprika จะชวนให้เราตั้งคำถามถึงเทคโนโลยีแล้ว หนังยังโยนเราลงไปในห้วงคิดคำนึงถึงตัวตนออฟไลน์-ออนไลน์ ที่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราไปแล้วได้อย่างไม่ล้าสมัยเลย

อนิเมะ

Ghost in the Shell (1995)

‘ถ้ามีวิญญาณอยู่ในเครื่องจักร นั่นเพียงพอหรือยังที่จะนับว่าสิ่งนั้นเป็นมนุษย์’

หลายคนอาจจะรู้จักเรื่องนี้จากเวอร์ชั่นหนังที่ Scarlett Johansson แสดง แต่ความจริงแล้ว Ghost in the Shell โลดแล่นบนจอครั้งแรกในเวอร์ชั่นการ์ตูนซึ่งกำกับโดย Mamoru Oshii เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว และจริงๆ แล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากมังงะของ Masamune Shirow

เรื่องนี้ถือว่าเป็นสุดยอดการ์ตูนที่คนในแวดวง โดยเฉพาะฝั่งไซไฟ-ปรัชญา นำมาพูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อสื่อต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่นและตะวันตกอีกมากมายนับไม่ถ้วน

ทำไมชื่อหนังถึงเป็นเช่นนั้น ถ้าได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้จนจบ จะพบกับคำตอบที่ทำให้เข้าใจว่าเหตุใดถึงต้องเป็น ‘ผี’ กับ ‘เปลือก’

เรื่องราวเริ่มต้นในโลกอนาคตที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกันทั้งจักรวาล ทว่ายังคงมีปัญหาความขัดแย้งไม่ต่างจากยุคก่อนหน้า ตัวละครเอกอย่าง Kusanagi Motoko ผู้เป็นไซบอร์กระดับผู้พันของหน่วยดูแลความสงบเรียบร้อยของญี่ปุ่น กับคู่หูนายตำรวจไซบอร์กร่างใหญ่ Bato ต้องไล่ล่าแฮกเกอร์ลึกลับทรงพลังที่มีฉายาว่า Puppet Master โดยหนังจะค่อยๆ พาเราไปสำรวจและตั้งคำถามถึงจิตวิญญาณและร่างกายของตัวละครทั้งสองว่าแท้จริงแล้วความรู้สึกนึกคิด จิตใจ และตัวตนพวกเขาคืออะไร

ต่อให้ดูจบไปแล้ว แต่คำถามของหนังจะยังคงค้างคาในหัวให้คิดต่อได้อีกนาน ทั้งยังมีมุมให้ตีความได้หลากหลายด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องตัวตนเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ เพศ ให้ขบคิดต่อ

ต่อให้ดูซ้ำอีกหลายรอบ ก็ยังสนุกและได้อะไรมาคิดตามใหม่ๆ ได้เสมอ

อนิเมะ

The Tale of Princess Kaguya (2013)

ถึงจะเป็นผลงานจาก Studio Ghibli แต่กลับเป็นเรื่องที่คนไม่ได้พูดถึงมากนัก การ์ตูนเรื่องนี้กำกับโดย Isao Takahata ผู้โด่งดังจากการ์ตูนเรื่อง สุสานหิ่งห้อย ซึ่งเรามองว่า The Tale of Princess Kaguya ก็ดีไม่แพ้กันเลย

การ์ตูนภาพสวยลายเส้นสีน้ำจากพู่กันเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากตำนานคนตัดไผ่ หรือตำนานเจ้าหญิงคางุยะ อันเก่าแก่ของญี่ปุ่น ซึ่งภายใต้ความงดงามนั้นมีความเศร้าและเจ็บปวดของหญิงสาวที่ถูกค่านิยมของสังคมในอดีตกดทับอย่างแสนสาหัส

เรื่องราวเล่าถึงครอบครัวคนตัดไผ่ที่บังเอิญไปพบกับองค์หญิงน้อยในหน่อไม้ที่ผุดขึ้นมาจากดิน ด้วยความคิดที่ว่าเป็นสิ่งที่สวรรค์ส่งมา จึงเก็บมาเลี้ยงดูเป็นลูก โดยองค์หญิงน้อยค่อยๆ เติบโตเป็นหญิงสาวอย่างรวดเร็ว พร้อมนำความร่ำรวยมาสู่ครอบครัว จนในที่สุดชายและหญิงชราได้พาเธอย้ายไปอยู่ในบ้านหลังใหญ่โอ่อ่าเพื่อให้สมศักดิ์ศรีเจ้าหญิง มีข้าทาสบริวารมากมาย แต่แล้วกรอบธรรมเนียมประเพณีก็ค่อยๆ จองจำและทำให้เธอเปลี่ยนไป หมดสิ้นความเป็นตัวเอง

The Tale of Princess Kaguya ดูจะสะท้อนถึงความเป็นไปของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างถึงแก่น สัจธรรมของชีวิตที่เกิดมาคนเดียวและตายไปคนเดียว ไม่สามารถเอาอะไรไปด้วยได้

จุดที่เราประทับใจมากๆ คือ การดำเนินเรื่องผ่านฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ราวกับต้องการบอกว่าชีวิตกับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีใครหยุดความสุขหรือความสวยงามให้คงที่ตลอดไปได้

อนิเมะ

The Red Turtle (2016)

อนิเมะภาพสวยที่ไม่มีบทพูดแต่เล่าเรื่องราวได้ใหญ่โต เปิดโอกาสให้คนตีความได้อิสระ

แม้ The Red Turtle จะดูมีความเป็นตะวันตกสูงมาก และแทบไม่มีเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นเลย แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นการร่วมงานกันระหว่างบริษัท Wild Bunch จากประเทศเยอรมนี กับ Studio Ghibli ของญี่ปุ่น ทั้งยังใช้ทีมวาดกับทีมงานที่เกี่ยวกับศิลปะเป็นชาวญี่ปุ่นทั้งหมด

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ความเรียบง่ายของลายเส้นและสีสันที่เป็นสีน้ำ รวมถึงดำเนินเรื่องแบบเนิบช้า เพื่อให้เราค่อยๆ อินไปกับอารมณ์ความรู้สึก

พล็อตเรื่องคือชายนิรนามคนหนึ่งที่ประสบกับเหตุการณ์เรืออับปางแล้วไปติดเกาะร้าง เขาค่อยๆ สำรวจเกาะและดำรงชีวิตด้วยการเก็บผลไม้กิน ก่อนจะพยายามสร้างแพเพื่อหนีไปจากเกาะร้าง แต่ก็ไม่เป็นผล จนได้มาเจอกับเต่าแดงที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง

แม้จะดำเนินเรื่องด้วยความเงียบและเสียงของธรรมชาติเป็นหลัก แต่ The Red Turtle ก็สามารถสื่อสารกับความรู้สึกเราได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยแนวคิดหลักที่ว่าด้วยความสุขอันแสนเรียบง่ายในชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ที่ท้ายที่สุดแล้วต่อให้เราพยายามเอาชนะธรรมชาติยังไง ก็อยู่โดยขาดธรรมชาติไม่ได้อยู่ดี

อนิเมะ

When Marnie Was There (2014)

“Would you cry if I died
Would you remember my face?”

นี่คืออนิเมะผลงานล่าสุดของ Studio Ghibli ก่อนจะหยุดพักงานไปอย่างไม่มีกำหนด ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกของ Joan G. Robinson ที่เล่าถึง Sasaki Anna เด็กสาวขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม และมีโรคประจำตัว เธอจึงถูกส่งไปอยู่บ้านญาติในชนบทที่มีอากาศดีๆ

ในเมืองนั้นเธอได้พบกับ Marnie เด็กสาวผมทองชาวตะวันตกในคฤหาสน์ ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน มิตรภาพระหว่างทั้งสองก่อกำเนิดอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายเรื่องราวกลับไม่เป็นตามหวัง เพราะจู่ๆ Marnie ก็หายไปตัวไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

แม้จะดำเนินเรื่องอย่างเนิบช้า แต่หนังจะค่อยๆ เผยความลับของตัวละครออกมา ให้เราได้เห็นพัฒนาการของ Sasaki Anna ที่ชวนให้เรากลับมาทบทวนถึงตัวตนและความทรงจำวัยเด็กของตัวเอง

When Marnie Was There เป็นการ์ตูนที่สื่อสารถึงความรักความสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ แม้ช่วงแรกเราจะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมตัวละครสองตัวนี้ถึงผูกพันกันมากราวกับเคยพบกันมาก่อน (ถึงขนาดที่ทำให้หลายคนตีความไปถึงความรักของหญิงรักหญิง) ทว่าเมื่อปมถูกคลายในตอนจบ เราก็จะเข้าใจถึงการกระทำของตัวละคร ถึงขนาดน้ำตาซึมได้ง่ายๆ

นับว่าเป็นผลงานส่งท้ายของ Studio Ghibli ที่ทำไว้ดีงาม นับเป็นการบอกลาเพื่อรอวันกลับมาพบกันใหม่ที่แสนอ่อนโยนและตราตรึงใจ

AUTHOR