อ่าน สำนักพิมพ์งานวิชาการอ่านสนุกที่อยากดันเพดานการวิจารณ์และการใช้เหตุผลในสังคมไทย

ฉันรู้จัก ‘สำนักพิมพ์อ่าน’ เป็นครั้งแรกจากวารสาร อ่าน สิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาเน้นไปทางการวิจารณ์วรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมือง จากปลายปากกาทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักเขียน นักวิจารณ์ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป

และพอฉันได้เริ่มอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์นี้จึงทราบว่า ‘อ่าน’ ตีพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาในแนวทางเดียวกันกับวารสาร แม้จะอยู่ในรูปแบบงานวิชาการและวรรณกรรมอีกจำนวนไม่น้อย สำนักพิมพ์อ่านก่อตั้งในปี 2555 โดยก่อนหน้านั้น ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการของสำนักพิมพ์อ่านและวารสาร อ่าน เคยอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมาก่อน

“ตอนนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นบรรยากาศที่คนชนชั้นกลางและคนชนชั้นนำในสังคมไทยกำลังยินดีกับรัฐประหารและกระแสอนุรักษนิยมกำลังฟื้นมาอีกครั้ง นั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เราอยากลองเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์และขยับเพดานการวิจารณ์ในสังคมไทยที่ค่อนข้างปิดกั้นการเห็นต่าง จนออกมาเป็นการสร้างพื้นที่ให้มีการวิจารณ์ผ่านงานเขียนในวารสาร อ่าน

แต่เมื่อเริ่มคิดเรื่องการยืนด้วยขาตัวเองให้ได้อย่างจริงจัง บวกกับเธอเองก็ต้องการหลุดออกจากภาพลูกน้อง น้องสาว แม่บ้าน หรือกระทั่งฝ่ายศิลปวัฒนธรรมของฟ้าเดียวกันในสายตาของคนอื่นเสียที ไอดาที่สนใจการทำหนังสือเล่มเพื่อหารายได้เพิ่ม ประกอบกับมีงานเขียนที่อยากจัดพิมพ์เป็นเล่ม จึงตัดสินใจขอแยกตัวจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพื่อออกมาทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง

จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วที่ ‘อ่าน’ ได้ขยับปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย ผลิตงานเขียนดีๆ อย่างวารสาร อ่าน และหนังสือที่หลายคนอาจคุ้นชื่ออย่าง มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ, รักเอย และ ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ มากไปกว่านั้น อ่านยังได้เปิดสำนักพิมพ์ในเครืออย่าง ‘อ่านกฎหมาย’ และจัดพิมพ์รวมผลงานฉบับสมบูรณ์ของอัศนี พลจันทร หรือ ‘นายผี’ นักประพันธ์และนักปฏิวัติชาวไทยผู้แต่งเพลง เดือนเพ็ญ (คิดถึงบ้าน) ออกมาให้สังคมได้ฟังกันด้วย ยังไม่นับช่วงหลังที่ไอดาต้องกลายมาเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งที่บทบาทนี้ดูช่างห่างไกลจากงานที่เธอทำอยู่เหลือเกิน

อะไรทำให้ไอดามีแรงผลิตความรู้สู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ทั้งที่มีช่วงที่ต้องทำงานหนักตัวคนเดียวในสังคมที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจนหายใจยังลำบาก มาอ่านสนทนากับผู้ก่อตั้งอ่านที่เขียนตอบคำถามของฉันกลับมาไปพร้อมๆ กัน

ตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์ เกณฑ์การเลือกหนังสือมาตีพิมพ์ของอ่านเปลี่ยนไปบ้างไหม

ถ้าในยุคแรกๆ ก็ยังเน้นงานที่เข้ากับแนวทางของสำนักพิมพ์ที่มีภาพลักษณ์ของงานวิจารณ์และงานวรรณกรรม แต่ในช่วงหลังที่ความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมขึ้น อ่านก็เริ่มขยับมาพิมพ์งานประวัติศาสตร์การเมืองตรงๆ ทั้งงานวิชาการและงานวรรณกรรมแนวบันทึกปากคำ

ที่พูดมาทั้งหมดข้างต้นแม้ดูเป็นการใช้เกณฑ์ของรูปแบบและหมวดหมู่เนื้อหา แต่เอาเข้าจริงก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าดิฉันมีไม้บรรทัดที่ชัดเจนขนาดนั้น มันแค่เป็นความรู้สึกโดยคร่าวในแต่ละจังหวะสถานการณ์มากกว่าว่าดิฉันจะรู้สึกอยากให้ความสำคัญกับอะไร อย่างหลายปีหลังมานี้ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของแรงกำลังตัวคนเดียวและทรัพยากรที่จำกัด สมมติว่ามีงานต้นฉบับเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจมาให้เลือก 3 ชิ้นพร้อมกัน ดิฉันอาจจะตัดชิ้นที่เป็นงานวิชาการประวัติศาสตร์ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการชายชื่อดังออกไปเสียก่อน และในระหว่างสองชิ้นที่เหลือที่เป็นงานแนวบันทึกความทรงจำที่สะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งเขียนโดยผู้หญิง 2 คน ดิฉันจะขอสละสิทธิ์งานของผู้หญิงคนที่มีเครือข่ายแวดล้อมและมีฐานะสูงกว่า เป็นต้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับปัจจัยเรื่องคุณภาพของงาน เพราะทั้งสามชิ้นไม่ได้มีใครด้อยไปกว่ากัน มันเป็นแค่การเลือกบนหลักการอันแน่วแน่อย่างผันแปรของหญิงแก่เบื่อโลกคนหนึ่ง

อะไรทำให้ในปี 2561 คุณตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย ที่ตีพิมพ์ผลงานวิชาการด้านกฎหมายโดยเฉพาะ

อ่านกฎหมายเรียกได้ว่าเป็นการจับพลัดจับผลูอย่างหนึ่ง การที่จู่ๆ มีสำนักพิมพ์อีกหัวในเครือขึ้นมาไม่ได้แปลว่ากิจการขยายใหญ่โตขึ้นหรอก ตรงกันข้าม มันเกิดขึ้นมาในภาวะที่อ่านหดลีบเล็กนิดเดียวและขัดสนไปทุกด้าน แต่บังเอิญอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยปรึกษาดิฉันไว้นานแล้วว่าอยากให้ช่วยดำเนินการจัดพิมพ์ตำรากฎหมายให้ เดิมทีควรจะเป็นในนามสำนักพิมพ์นิติราษฎร์ แต่เมื่อต่อมานิติราษฎร์ยุติบทบาท เราจึงไม่คิดว่าควรใช้ชื่อนั้นอีก ครั้นจะใช้ชื่อสำนักพิมพ์อ่านก็ดูไม่เข้ากันนักเพราะตำรากฎหมายก็เป็นงานเฉพาะทาง อาจารย์วรเจตน์จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ‘อ่านกฎหมาย’ ซึ่งดิฉันไม่เห็นว่าจะมีชื่อไหนเหมาะไปกว่านี้แล้ว

ก่อนหน้านี้ดิฉันเองก็ไม่เคยเห็นความสำคัญของวิชานิติศาสตร์มากไปกว่าเครื่องมือทางวิชาชีพของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในช่วงเวลานับทศวรรษของความขัดแย้งทางการเมืองที่กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ว่าในฐานะกลไกของรัฐตามกำพืดเดิมของมัน หรือในฐานะมนตราของสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ดิฉันก็เห็นว่าสมควรอย่างยิ่งแล้วที่คนในวงการกฎหมายจะได้ปักหลักวิชาของตัวเองเสียใหม่ให้ดี การได้พิมพ์งานตำราของอาจารย์วรเจตน์ในนามสำนักพิมพ์อ่านกฎหมายจึงเป็นทั้งเกียรติและเป็นทั้งพันธกิจในแง่นี้

แล้วกับคอลเลกชั่น ‘อ่านนายผี’ ล่ะ ทำไมคุณถึงตัดสินใจตีพิมพ์ผลงานทั้งหมดของอัศนี พลจันทร

พูดไปก็อายว่ามันก็เป็นเรื่องของความบังเอิญอีกนั่นล่ะ คุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทผู้ถือลิขสิทธิ์งานของนายผีต้องการจะหาผู้ตีพิมพ์งานเพื่อสืบสานและเผยแพร่สิ่งที่บิดาของเธอได้ลงแรงสร้างทำไว้ เธอได้ปรึกษาไปทางมิตรผู้หนึ่งและมิตรผู้นั้นก็ลองชวนลองถามกันมา ดิฉันและคุณเนาวนิจ (เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์) จึงได้เข้าไปที่บ้านของคุณวิมลมาลีเพื่อดูเอกสารต้นฉบับและรับฟังประวัติความเป็นมา รวมทั้งเจตนารมณ์ของเธอ

แน่นอนว่านายผีคือตำนานของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และความที่งานเขียนของเขาสูญหายไปจากวงการหนังสือนานนับ 10 ปี ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา ไม่ว่าในฐานะแรงบันดาลใจหรือในฐานะประวัติศาสตร์ ดิฉันจึงตกลงดำเนินการชำระและจัดพิมพ์ให้ตามที่คุณวิมลมาลีต้องการ

แต่เอาเข้าจริง เหตุผลที่เป็นแรงผลักดันสำคัญอีกอย่างคือการสานความพยายามที่ยังค้างคาของผู้หญิง 2 คนที่อยู่ข้างหลังอัศนีตลอดมา คือคุณวิมล พลจันทร ผู้เป็นภรรยา และคุณวิมลมาลีผู้เป็นลูกสาว พูดอย่างหยาบๆ ก็อาจเป็นว่าที่ดิฉันมุมานะผลักดันโครงการอ่านนายผีให้สำเร็จลุล่วงให้ได้นี่ ก็เพราะนับถือหัวจิตหัวใจของเมียและลูกสาวของนายผีไม่น้อยไปกว่าที่นับถือนายผี

อ่าน

เอาเข้าจริง ดิฉันไม่แน่ใจหรอกว่าจะมีวันไหมที่สังคมไทยจะพยายามรู้จักผลงานของนายผีให้มากกว่าเพลง คิดถึงบ้าน หรือแค่ตำนานอ้างอิงในความทรงจำของ ‘คนเดือนตุลาฯ’ แต่ดิฉันรู้สึกอยากปลดแอกลงจากบ่าของสตรีสองท่านนี้ที่ก็เคยเป็น ‘นักปฏิวัติ’ เคียงบ่าเคียงไหล่ไม่แพ้ใครและออกจากป่ามาแทบจะเป็นรุ่นท้ายๆ ครั้นออกมาแล้วก็ยังคงสถานะชนชั้นล่างของสังคมไทยเต็มขั้นจนถึงปัจจุบัน มันทำให้ดิฉันรู้สึกว่าถ้าการชำระและตีพิมพ์ผลงานของนายผีที่สูญหายไปเหล่านี้จะช่วยชำระปลดเปลื้องพันธกิจอันค้างคาและช่วยประคับประคองครอบครัวพวกเธอให้ผ่านความทุกข์ยากไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในฐานะผู้สืบสกุลของอัศนี พลจันทร นั่นก็คุ้มค่าพอแล้ว และเดชะบุญที่เมื่อหนังสือเสร็จทันวาระครบครอบ 100 ปีชาตกาลของนายผีในปี 2561 แล้วทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดทำโครงการรำลึกเชิดชูนายผีขึ้นมาด้วยการซื้อหนังสือชุดนี้ไปเผยแพร่ต่อ ก็ทำให้เราทั้งหมดได้รู้สึกว่าภารกิจลุล่วงไปทั้งโดยสง่างามและโดยรอดตาย

งานชุดนี้สำเร็จลงได้เพราะคุณเนาวนิจช่วยเป็นกำลังสำคัญ เราทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเหมือนคนบ้า ทำในสภาพป่วย อดหลับอดนอน ในภาวะขัดสนสารพัด แต่มันยังเทียบไม่ได้กับที่ผู้หญิงอีกสองคนสู้อดทนทำมาด้วยชีวิต และในที่สุดมันก็เสร็จออกมาเป็นชุดที่สมบูรณ์ที่สุดแล้วเท่าที่ผู้หญิงสองรุ่นจะทำไหว วางไว้ให้อยู่ตรงหน้าแล้ว ปัญหาหลังจากนี้อยู่ที่สังคมไทยแล้วว่าจะจริงจังกับนายผีแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่พวกดิฉันแล้ว

อ่าน
ทีมงานของสำนักพิมพ์ ได้แก่ คนที่ยืนติดกับไอดาคือ เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ บ.ก.โครงการอ่านนายผี, ถัดไปคือ นุชจรี ใจเก่ง ทีมงานวารสารอ่านรุ่นแรก, วริศา กิตติคุณเสรี อดีตกอง บ.ก.คนสำคัญ, คนที่เทินหนังสือไว้บนศีรษะคือฝ่ายขาย ภาวดี ประเสริฐสังข์, ถัดมาคือเสนาะ เจริญพร ผู้เป็นแรงงานอาสาเฉพาะกิจตลอดมา ตรงกลางด้านล่างของภาพคือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และผู้อ่านของเธอ

นอกจากเนื้อหาของหนังสือที่เลือกมาตีพิมพ์จนทำให้คนจดจำสำนักพิมพ์อ่านได้ คุณให้ความสำคัญกับองค์ประกอบไหนอีก

นึกไม่ค่อยออก เพราะอ่านไม่ค่อยขยันโปรโมตเท่าไหร่ ทำเสร็จแล้วก็แล้วใจ บางทีถ้าคนอ่านจะจดจำได้บ้างก็คงเป็นที่ดีไซน์หนังสือ เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับลักษณะคอนเซปชวลหรือไม่ก็เรียกได้ว่ามีเนื้อหาบางอย่างอยู่ในนั้น มันเป็นอาการที่ติดมาตั้งแต่ตอนทำวารสาร อ่าน ที่เราจะมีการทำภาพประกอบซึ่งใช้เวลาในการทำงานกับศิลปินพอๆ กับเวลาที่ทำงานกับนักเขียนเจ้าของบทความ ศิลปินต้องอ่านหรือเข้าใจเนื้อหาแล้วคิดมุมที่จะสนทนาด้วย ไม่ใช่แค่เป็นภาพที่มาประกอบเฉยๆ ปกหนังสือของเราจะถือว่าสวยหรือไม่นั้นเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ แต่เราติดนิสัยไปแล้วว่าจะคำนึงถึงไอเดียเป็นหลัก และหลายครั้งก็มักลืมไปว่ามันทำขึ้นมาเพื่อเป็นปกหนังสือ

อ่าน

หลังจากทำงานหนังสือวิชาการมาอย่างยาวนาน คุณคิดว่าหนังสือประเภทนี้มีความสำคัญยังไงกับสังคมบ้าง

มันมีความสำคัญตามชื่อมัน คือสำคัญอย่างวิชาการ แต่ถ้ามันก้าวออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยได้บ้างก็มีความสำคัญกว้างขึ้นมาอีกหน่อยสำหรับสังคมที่ยังไม่ค่อยพัฒนาแบบสังคมไทย และตัวมันเองจะได้พิสูจน์ตัวด้วยว่าเมื่อก้าวลงจากหอคอยมาแล้วยังหายใจกับอากาศฝุ่นหยาบบนพื้นล่างได้ไหม แต่จะไม่แคร์กับผลพิสูจน์ก็ได้ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวมันจะเสียศักดิ์เสียฐานันดรอันบริสุทธิ์นักหนาของมันไป

สำหรับดิฉันสนใจอ่านงานวิชาการเพราะเป็นความเพลิดเพลินเหมือนเวลาอ่านนิยาย แต่ถ้าจะเอามาใช้ ก็เพราะเห็นว่ามันใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระดับการวิจารณ์ได้ เพราะเราอยู่ในสังคมที่ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะสมัยใหม่อย่างแท้จริง คือยังไม่ยอมรับการใช้เหตุผล ดิฉันไม่ได้หมายถึงการที่ชาวบ้านยังไปขูดเลขหวยหรือผูกผ้าแดง แต่หมายถึงการที่เราไม่สามารถพูดอะไรอย่างมีเหตุผล ตรงไปตรงมาต่อสามสิ่งที่เรียกว่าสถาบันชาติ สถาบันศาสนาพุทธเถรวาท และสถาบันกษัตริย์ เราจึงต้องอาศัยบทสนทนาอ้อมโลกด้วยการขุดค้นพิสูจน์อ้างอิงทางวิชาการอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อยืนยันในสิ่งที่สามัญสำนึกอันสาธารณ์ก็บอกได้ แต่ดันพูดไม่ได้ งานวิชาการ–โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองของไทยจึงอยู่ในภาวะที่ทั้งถูกให้ความสำคัญน้อยไปและถูกให้ราคามากไป จนกว่าจะถึงวันที่ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปจะมีฐานะอย่างที่มันควรจะมีได้ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะเป็นประมุข

อ่าน

นอกจากสิ่งพิมพ์แล้ว อ่านยังมีรูปแบบ ‘อ่านออนไลน์’ ด้วย ทำไมถึงได้ขยับมาสู่โลกออนไลน์

ดิฉันจะมีวันตอบคำถามคุณโดยไม่เริ่มที่การบอกว่ามันเป็นการจับพลัดจับผลูหรือเป็นความบังเอิญได้ไหมหนอ สงสัยดิฉันจะรับเชื้อพิเรนทร์มาจาก Ben Anderson ที่ชอบอธิบายอะไรๆ ด้วยปัจจัยของความบังเอิญ

เรื่องมันแค่ว่ามีคนรุ่นเยาว์กว่าดิฉันคนหนึ่งชื่อ พีระ ส่องคืนอธรรม ได้มาพบกันโดยบังเอิญเพราะเขาเป็นผู้อ่านที่เหนียวแน่นของวารสาร อ่าน แล้วเขาก็เริ่มพาเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันมาพบกับดิฉันบ้าง จากการพูดคุยกัน ดิฉันก็ทึ่งว่าคนกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ในวัยเยาว์กว่า นอกจากจะฉลาดแหลมคมผิดมาตรฐาน ‘นักเรียนทุน’ ทั่วไปแล้ว ยังมีความคิดอ่านก้าวหน้าในทางการเมืองและวัฒนธรรม มีความเท่าทันต่อปัญหาต่างๆ อย่างรอบด้านกว่าคนรุ่นดิฉันมากมายนัก ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือเรื่องที่เรียกกันว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เขาบ่นเสียดายที่ดิฉันไม่มีเวลาทำวารสาร อ่าน ต่อ ดิฉันจึงเสนอว่าในระหว่างที่เขายังอยู่แถวนี้ คืออยู่ที่เมืองไทย ถ้าอยาก ‘เล่น’ อะไรก็จะเปิดพื้นที่บนเว็บไซต์อ่านให้เล่นไปพลางๆ ดิฉันจะได้มีอะไรใหม่ๆ น่าสนใจจากพวกเขาไว้อ่านเองบ้างสักระยะ

นั่นจึงนำมาสู่การเปิดพื้นที่ ‘อ่านออนไลน์’ ขึ้นมาดื้อๆ และต่อมาก็หยุดชะงักพักไปดื้อๆ เมื่อเขาต้องย้ายประเทศไปตามกำหนดเวลา และดิฉันเองก็กลับสู่โหมดไม่มีเวลาจะออนไลน์เหมือนเดิม

อ่าน
พีระ ส่องคืนอธรรม

ตั้งแต่ทำงานสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม จนถึงปัจจุบัน คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่นักอ่านของสังคมไทย

มันเปลี่ยนพลิกไปพลิกมาแบบที่ยากจะบรรยายเป็นพัฒนาการเส้นตรง บางช่วงนิยมอ่านอย่างหนึ่ง แล้วก็พลิกไปอ่านอีกอย่างหนึ่ง เคยมีช่วงหนึ่งที่ดิฉันตื่นเต้นที่สุดคือช่วงปี 2553-2556 ที่ดิฉันพบว่าผู้อ่านหน้าใหม่ที่เป็นลูกค้าของดิฉันคือประชาชนทั่วไปในความหมายว่าประชาชนบ้านๆ ผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองแล้วก็เลยอยากจะอ่าน อยากจะรู้ให้หมดว่าอะไรมันเป็นอะไรกันแน่

แล้วต่อมาประชาชนเหล่านั้นก็ถูกทำให้พ่ายแพ้และหมดความหมาย หมดแรงสนุกจะค้นจะรู้อีกต่อไป ก่อนที่ต่อมาจะเกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวอยากรู้อยากอ่านขึ้นมา อย่างในปัจจุบันนี้ที่เหมือนย้อนกลับไปในยุคเฟื่องฟูของขบวนการนักเรียนนักศึกษา แต่พวกเขาก็อ่านมันไปพร้อมๆ กับการมีสื่อใหม่ที่อ่านได้ทันใจ ฉับไว ไม่ต้องมากความอย่างโลกทวิตเตอร์ TikTok หรืออะไรต่ออะไรขึ้นมาแทน ดิฉันจึงบอกได้อย่างสบายใจว่าการอ่านทั้งเป็นอนิจจังและทั้งเป็นสังสารวัฏ

น่าแปลกใจที่ไม่นานนี้ได้เห็นคุณกลายมาเป็นนายประกันด้วย

บังเอิญอีกนั่นล่ะ ทนายอานนท์ นำภา เป็นเพื่อนกับวริศา (วริศา กิตติคุณเสรี) ที่เคยเป็นกองบรรณาธิการของดิฉัน เรารู้จักกันในวันที่เขาเป็นทนายความให้คนเสื้อแดงหลังถูกสลายการชุมนุมปี 2553 แล้วเราก็พลอยช่วยกันทำ ‘สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์’ เพื่อช่วยเหลือคดีความ ต่อมาก็ช่วยเรื่องการประกันตัว ทั้งหมดนี้อาศัยการระดมทุนจากประชาชน ก็เลยต้องเปิดบัญชีชื่อแบบสองในสาม ดิฉันถูกขอให้มาช่วยถือบัญชี แล้วต่อมาสถานการณ์ก็ลามไปเรื่อยช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการกวาดจับประชาชนขึ้นศาลทหารรายวัน ประชาชนอุตส่าห์เสียสละระดมเงินมาให้เราไปใช้ประกันตัวพวกเขา เราขาดแค่ว่าต้องมีใครสักคนไปยื่นเป็นนายประกัน

ในสถานการณ์นั้นไม่รู้จะหันหาใคร ดิฉันก็ไปเองเท่านั้นเอง แต่ความที่มีคดีมากมาย ดิฉันจึงแทบจะไม่ได้ทำงานของตัวเองอยู่นับเป็นปีๆ เหมือนจู่ๆ ก็เปลี่ยนวิถีไปเป็นนายประกัน เพียงแต่ดิฉันไม่รับค่าตอบแทนจากมันไม่ว่าอย่างนายประกันอาชีพหรือนายประกันอาสา ดิฉันยังจำได้อยู่ว่าตัวเองมีอาชีพเป็นบรรณาธิการเจ้าของสำนักพิมพ์

อ่าน

ไม่กลัวเหรอ เพราะนี่คือการกระโจนมาสู่สนามมูฟเมนต์ทางการเมืองอย่างเต็มตัว

ไม่กลัวนะ งงเหมือนกัน อาจจะเพราะรู้สึกว่าทำไปโดยเปิดเผย คือทำอยู่แค่นี้ หนึ่ง–ไปชุมนุมในฐานะราษฎร  สอง–ไปเป็นนายประกันในฐานะตัวแทนกองทุนราษฎรประสงค์ ไม่ได้รู้สึกเลยว่าทำความผิดหรือทำอะไรลึกลับซับซ้อน ไม่ใช่กระทั่งทำอะไรที่ใหญ่โต อันที่จริงการเป็นนายประกันนี่คือการประคองให้ระบบเผด็จการรวมถึงระบบยุติธรรมอันต่ำทรามยังดำรงอยู่ต่อไปได้ด้วยซ้ำ

ลองคิดดูสิว่าถ้าปล่อยให้จับกันโครมๆ ไม่ให้ประกันกันโครมๆ เหมือนหมาบ้า ต่อให้มีทนายสิทธิอาสาวิชาชีพ แต่ไม่มีเงินประกัน ไม่มีนายประกันซะอย่าง คดีความจะเดินไปยังไง มันก็ได้ขังกันอย่างป่าเถื่อนโดยเปิดเผย โดยเราไม่ต้องไปให้ความชอบธรรมอะไร ถึงจุดหนึ่งสังคมอาจเดือดจนปะทุรู้แล้วรู้รอดกันไปถึงไหนๆ ไม่เหลือเวลาฟุ่มเฟือยมามัวทะเลาะกันเองอย่างในทุกวันนี้

ดิฉันว่าฝ่ายรัฐน่าจะรู้สึกว่าบุญแค่ไหนแล้วที่ยังมียัยนี่เป็นนายประกันมาคอยตามเก็บ ตามเช็ด ตามล้างให้อยู่ ไม่ใช่แค่กับคดีป่าเถื่อนอย่างมาตรา 112 ที่จะทำให้ขายหน้านานาชาติ แต่รวมถึงคดีประสาทๆ อย่างคดีละเมิดอำนาจศาลของประเทศนี้ที่เหลิงอำนาจจนผิวบางเจ้ายศเจ้าอย่าง กระทั่งประชาชนใส่รองเท้าแตะ นั่งกอดอกไขว่ห้าง หรือนั่งอ่านหนังสือในห้องพิจารณาคดี ก็หาว่าละเมิดแล้ว

อ่าน

แล้วในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ดูหมิ่นเหม่และสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายได้หมด คุณปฏิบัติตัวเองในฐานะสำนักพิมพ์ยังไง

ดิฉันมีหลักของตัวเองแค่ว่า อย่าทำอะไรที่ทำแล้วจะละอายแก่ใจ และอย่าทำอะไรที่หลอกตัวเองว่าไม่ได้กำลังทำอะไรที่ควรละอายแก่ใจ นั่นแปลว่าดิฉันก็จะพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่หลอกตัวเองหรือหลอกคนอื่นว่าเราทำอะไรสูงส่งยิ่งใหญ่กว่าที่เราได้ทำอยู่ ที่ผ่านมาก็ปฏิบัติอย่างนั้น ในช่วงปี 2551-2557 ดิฉันได้พยายามอย่างเต็มที่ในฐานะวารสารและสำนักพิมพ์ หลังจากนั้นก็ยังพยายามแต่กำลังไม่เท่าเดิมและเสียสมาธิไปกับฐานะนายประกัน สนามการต่อสู้ในยุคนี้ไม่ได้อยู่ที่สิ่งพิมพ์เท่ากับโลกออนไลน์และบนถนน ความสุ่มเสี่ยงย้ายไปที่นั่น ดิฉันก็ดันไปอยู่ตรงนั้นในฐานะนายประกันเสียฉิบแล้ว

คุณเตรียมแผนการสำหรับสำนักพิมพ์อ่านไว้ยังไงต่อจากนี้

ก็ว่าจะเคลียร์งานที่คั่งค้างให้เสร็จในระยะ 2 ปีนี้ หลังจากนั้นก็คงจะยังอยู่นั่นล่ะ ทั้งสำนักพิมพ์อ่านและอ่านกฎหมาย เพียงแต่ดิฉันตั้งเป้าว่านอกจากไม่ขยายใหญ่โตแล้วยังจะให้มันอยู่และตายไปคนเดียวเหมือนเดิม และยังคงยืนยันไม่รับการอุปถัมภ์ใดๆ เหมือนเดิม

อ่าน

ขอบคุณภาพถ่ายจาก ศุภชัย เกศการุณกุล, อานนท์ นำภา, จีระภา มูลคำมี และสำนักพิมพ์อ่าน

AUTHOR