บทจร สำนักพิมพ์ที่อยากพาทุกคนออกเดินทางรอบโลกผ่านวรรณกรรม

บทจร

“เพราะการแปลคือการเดินทางของตัวบท” 

นี่คือประโยคสั้นๆ ที่ใช้สรุปความหมายของชื่อสำนักพิมพ์ ‘บทจร’ ซึ่งเดิมทีคำนี้แปลว่า การเดิน (ด้วยเท้า) แต่หากเราลองพิจารณากับการเล่นสนุกของคำอีกสักนิดจะพบว่าบทจรคือการเดินทางของตัวบท (เนื้อหาสำคัญของเรื่องหนึ่งๆ) ผ่านการแปลจากภาษาอื่นมาสู่ภาษาของเรา และอาจรวมถึงการอ่านที่คนอ่านอย่างเรายินยอมเปิดตัวเอง เพื่อสัมผัสตัวบทจากต่างถิ่นฐานดินแดนอื่น

เป็นระยะเวลากว่า 8 ปีแล้วที่บทจรได้ถือกำเนิดขึ้นจากความรักและอยากตอบแทนคุณค่าที่ได้รับจากการอ่านวรรณกรรมของ วรงค์ หลูไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ ก่อนจะได้ทีมบรรณาธิการอย่าง แจน–ธนัชพร คล่องงานฉุย และ เฟิร์ส–วิมพ์วิภา สุขสมทรัพย์ มาช่วยเสริมทัพให้บทจรมั่นคงเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ด้วยความปรารถนาจะทำหน้าที่ผู้นำทาง ผู้นำพาตัวบททั้งหลายข้ามพรมแดนภาษามาหานักอ่าน หรือในทำนองเดียวกันคือ นักอ่านสามารถเดินทางมาหาตัวบทเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น บทจรจึงเป็นสำนักพิมพ์หนึ่งที่ตั้งใจทำงานแปลวรรณกรรมโลกเป็นหลัก ตั้งแต่ รวมเรื่องคัดสรรจากข้อเขียนหลังมรณกรรมของนักประพันธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดย Robert Musil นักเขียนชาวออสเตรีย, สุดชีวิต โดย Alice Munro นักเขียนชาวแคนาดา, ยัญพิธีเชือดแพะ โดย Mario Vargas Llosa นักเขียนชาวลาตินอเมริกา ไปจนถึงเซตงานเขียนของ Italo Calvino นักเขียนชาวอิตาเลียน ที่ทำให้สำนักพิมพ์เป็นที่จดจำในหมู่นักอ่านในวงกว้างมากขึ้นจากความน่ารัก สดใส ชวนอ่านของการออกแบบหนังสือ

และเมื่อไม่นานมานี้เองที่บทจรได้ตีพิมพ์วรรณกรรมขึ้นหิ้งอย่าง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว, รักเมื่อคราวห่าลง และ ว่าด้วยความรักและบรรดาปิศาจ โดย Gabriel García Márquez นักเขียนชาวโคลอมเบีย ในโฉมใหม่ที่แปลจากภาษาสเปน ทำให้คนไทยได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมขายดีตลอดกาลระดับโลกและจุดกระแสให้คอมมิวนิตี้นักอ่านหันมาพูดถึงวรรณกรรมโลกกันอีกครั้ง

เพราะไม่อยากให้คนมองวรรณกรรมโลกเป็นของแสลงหรือของศักดิ์สิทธิ์จนใครก็เอื้อมไม่ถึง บทจรจึงพยายามนำเสนองานเขียนประเภทนี้ในรูปแบบที่จับต้องง่ายมาตลอด ไม่ว่าจะการออกแบบรูปเล่มที่ชวนพลิกอ่าน การทำการตลาดที่เน้นความสนุกสนานเพลิดเพลินของเนื้อเรื่อง และการทำของที่ระลึกจากวรรณกรรมที่ใช้ได้จริง เช่น แก้วน้ำ กระเป๋าผ้า สมุดฉีก เป็นต้น

อะไรทำให้พวกเขามีความเชื่อแบบนั้น ทั้งยังออกเดินทางเพื่อนำตัวบททั่วโลกมาส่งถึงมือนักอ่านชาวไทยท่ามกลางกระแสโลกที่คนอ่านวรรณกรรมน้อยลงทุกวัน บทจรพร้อมตอบในบทสนทนานี้

ตอนที่เริ่มต้นทำบทจร คุณได้จินตนาการไว้ไหมว่ามันจะเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้

วรงค์ : ต้องขอย้อนความก่อนว่าที่ผ่านมาบทจรทำงานสำนักพิมพ์เป็นกึ่งๆ งานสมัครเล่นและงานอดิเรก ช่วงแรกๆ จะไม่ค่อยมีความมืออาชีพในการทำหนังสือเท่าไหร่ คล้ายกับการลองผิดลองถูก ไม่ได้ถึงขนาดขั้นมี business model หรือพื้นเพทำหนังสือเป็นอาชีพมาก่อน เป็นแนวมวยวัด อยากทำอะไรก็ทดลอง สำเร็จแล้วค่อยทำต่อ ถ้าไม่ก็เปลี่ยน

ผมเริ่มต้นทำบทจร เพราะคิดว่าชีวิตตัวเองได้รับอะไรมากมายจากวรรณกรรม พอถึงจุดหนึ่งเราอยากตอบแทนกลับไปบ้าง เท่านี้เลย ซึ่งเอาเข้าจริงตอนนั้นผมยังไม่คิดเลยว่าจะมาเป็นสำนักพิมพ์หรือทำงานไปได้นานแค่ไหน อาจออกหนังสือมาเล่มเดียวแล้วลาไปเลยก็ได้ แต่ปรากฎว่าเราดันได้เจอและรับโอกาสบางอย่างมาเรื่อยๆ ก็เลยลองผิดลองถูกต่อ จนมีแจนกับเฟิร์สเข้ามาช่วย ทีนี้เลยคิดว่าเราต้องเซตให้มันเป็นระบบแล้วล่ะ เหมือนเป็นการบังคับตัวเองในตัวด้วยว่าเรามีคนมาทำงานด้วยแล้ว จะทำสิ่งนี้เป็นงานอดิเรกขนาดนั้นไม่ได้แล้วนะ เพราะเดิมทีผมมาจากสายคอมพิวเตอร์ ไม่เกี่ยวข้องกับหนังสือเลย แต่ช่วงปีนี้คิดว่าต้องทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้จริงๆ ซะที

แล้ววรรณกรรมแต่ละเล่มที่สำนักพิมพ์เลือกมาแปล คุณได้มันมาจากไหน

วรงค์ : ถ้าพูดแล้วมันอาจจะตลกๆ นิดหน่อย เพราะมีแค่ 2-3 เล่มจริงๆ ที่เราเลือกเอง เพราะพอเราทำสำนักพิมพ์แล้ว คนมีความฝันว่าอยากอ่านวรรณกรรมคลาสสิกในภาษาไทย รวมถึงคนที่อยากแปลวรรณกรรมคลาสสิกเป็นภาษาไทยเขาก็เข้ามาเสนอว่ามีหนังสือเล่มนี้ในใจ อยากให้แปล ซึ่งพอเราได้ฟังก็ปลื้มใจ คุณอยากทำเราก็ทำ เหมือนไปรับความฝันเขามาด้วย บอกได้เลยว่าหนังสือของบทจรเริ่มต้นจากคนอื่นทั้งนั้น เพียงแต่พวกเขาอาจไม่ได้ร่วมเดินทางกับสำนักพิมพ์เรามาตลอดเท่านั้นเอง บางคนติดขัดปัญหาขอถอนตัวไป เราก็รับช่วงทำต่อ ไปๆ มาๆ ก็ทำมาจนถึงตอนนี้ แต่ข้อดีคือการทำงานกับความฝันของผู้คนมันสร้างความประทับใจและเบิกบานใจให้เรา ก็เลยทำต่อเรื่อยมา

พอมองย้อนกลับไป เราเห็นความใฝ่ฝันของผู้คนที่อยากส่งต่อวรรณกรรมดีๆ และตัวเรื่องที่ค่อนข้างหลากหลาย อย่างบางเล่ม นักแปลอาศัยอยู่ในอิตาลีและสนใจงานเขียนของที่นั่น ก็กลายเป็นที่มาของหนังสือเซตอิตาโล คัลวีโน หรือกระทั่งบางเล่มที่เกิดขึ้นเพราะมีคนที่ชื่นชอบงานเขียนลาตินอเมริกาหรือนักเขียนอิสราเอลมาแนะนำกับเราก็มี คือมันอาจไม่เหมือนสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่เขามีเกณฑ์ชัดเจนหรือมองหาอะไรสักอย่าง ของเราคือไปรับฟังความฝันของคนอื่นมา 

ซึ่งอาจเพราะความฝันเป็นสิ่งที่ดีด้วยมั้ง ก็เลยทำให้เราได้รับสิ่งดีๆ มาตลอด พูดง่ายๆ ว่าส่วนใหญ่หนังสือมันวิ่งมาหาเราเองทั้งนั้น

ฟังดูเหมือนคุณจับพลัดจับผลูมาทำงานหนังสือเลย แต่จนถึงตอนนี้บทจรตีพิมพ์หนังสือ 12 เล่มแล้ว ที่ผ่านมาคุณทำหนังสือด้วยความตั้งใจแบบไหน

 วรงค์ : พอเริ่มมีทีมจริงจังก็อยากทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้ในแง่ธุรกิจ อาจจะต้องพิมพ์หนังสือให้มากขึ้นหรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าในแง่ความตั้งใจ เราอยากทำวรรณกรรมประเภทที่ทำนี้ไปตลอดแหละ เพราะก็เห็นแง่งามของวรรณกรรมมาเยอะ อยากให้มันผลิบานต่อไปในผืนดิน ถ้าเทียบงานวรรณกรรมแปลเป็นเมล็ดพันธุ์มันก็เหมือนเราเอามาปลูกในแผ่นดินไทยให้โตและงอกงาม รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่ามันโตแบบไหน จะสัมผัสกับผู้อ่านได้ยังไง

อีกอย่างการทำงานวรรณกรรมทำให้เราเรียนรู้ว่าโลกนี้แสนกว้างใหญ่ มีนักเขียนมากมายที่คนอ่านไทยไม่รู้จัก เราพยายามปลูกเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต่อไปเพื่อให้งอกงามในแบบของมัน เพราะงานเขียนบางชิ้นคนอาจรู้จักมันในแง่ความบันเทิง แต่ระหว่างที่ทำงานเราจะรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น และเมื่อใดที่มันเริ่มผลิบานเราก็จะเห็นการพูดคุย บทสนทนา และแง่มุมอื่นๆ ของวรรณกรรมกับนักอ่านในแบบที่เราคิดไม่ถึง

นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณตีพิมพ์วรรณกรรมโลกในท้องถิ่นที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย

วรงค์ : ก็ส่วนหนึ่ง แต่เอาจริงๆ คือมันมีช่วงที่อ่านงานเขียนแบบนี้มาเลยเกิดเป็นความผูกพันอย่างงานของ Fyodor Dostoevsky และ Milan Kundera เพราะมันคล้ายกับประสบการณ์ในชีวิตเรา แต่พอมองอีกแง่ก็จะเห็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ เนื่องจากพอเป็นงานแปลเราจะเห็นความคิดจิตใจของผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นต่างพื้นที่ ใช่ เราเห็นความเหมือนว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา แต่ขณะเดียวกันก็เห็นความต่างจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเรา และด้วยความที่นักเขียนเขาต้องบ่มเพาะ เก็บข้อมูล และเรียนรู้จากคนอื่นๆ มันก็ยิ่งทำให้เราได้งอกงามจากการอ่านขึ้นมาหรือเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แล้วพอเป็นวรรณกรรมที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยแบบนี้ ผลตอบรับหลังจากวางแผงเป็นยังไงบ้าง

วรงค์ : อาจจะดูแปลกนะแต่มันดันขายดีเฉยเลย ขนาดงานเขียนของนักเขียนบางคนที่คิดว่าคนไทยน่าจะไม่รู้จักก็ขายได้ เอาเป็นว่าถ้าดูยอดขายของแต่ละเล่มที่ทำมายังไม่มีเล่มไหนขาดทุนเลย ซึ่งเราก็ประหลาดใจเหมือนกัน แต่จะให้ถึงขั้นสามารถเลี้ยงตัวเองเป็นธุรกิจได้ก็อาจต้องไปเซตระบบให้ตอบโจทย์ด้านนี้มากขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างเล่ม ยัญพิธีเชือดแพะ ของ มาริโอ บาร์กัส โยซา ที่ถ้าเทียบกับเล่มอื่นๆ แล้วอาจดูขายดีไม่เท่า คือเล่มนี้เรารู้ว่าทำไมมันขายไม่ดี เพราะพอทำงานมาถึงจุดหนึ่งก็เริ่มจับได้ว่าทำหนังสือแบบไหนถึงจะขายได้ คนอ่านชอบ รอบนี้ก็เลยอยากทำอะไรบางอย่างที่คนอ่านไม่คุ้นบ้าง นั่นคือทำปกที่อาจจะไม่สวยในขนบที่ผู้อ่านชอบกัน เพราะเรื่องนี้มันมีความกักขฬะ โหดเหี้ยมอำมหิต อ่านแล้วชวนอ้วก ซึ่งพอเสร็จออกมาก็เป็นไปตามคาดแหละ แต่เหมือนเราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย คล้ายๆ กับการเรียนที่บางวิชามันยาก พอผ่านไปก็เริ่มคุ้นเคยมากขึ้น ในฐานะสำนักพิมพ์หรือนักอ่านอาจต้องทำความรู้จักกับอะไรบางอย่างที่ไม่ตรงกับรสนิยมหมู่มากบ้าง ซึ่งเราหวังว่าวันหนึ่ง คนจะสัมผัสหรือเปิดใจให้มันได้

แต่งานอย่างเล่ม ยัญพิธีเชือดแพะ ที่ขายได้น้อยนี้ก็ทำให้เราเจอประสบการณ์มหัศจรรย์มากมาย เรามีโอกาสเจอนักอ่านที่ประทับใจงานเล่มนี้ตามมาอุดหนุนบทจรทุกครั้งที่ไปออกบูท เพราะเขาได้เจอหนังสือเปลี่ยนชีวิตที่นี่ หรือมีบางคนที่ทักมาขอบคุณเราที่ตีพิมพ์วรรณกรรมฝั่งลาตินอเมริกาในไทยซะที เป็นต้น

พอมีทีมทำงานมากขึ้น เกณฑ์การเลือกวรรณกรรมสักเล่มมาแปลเปลี่ยนไปบ้างไหม

วรงค์ : ไม่ค่อยเปลี่ยน ยังเป็นสิ่งที่พูดยากเหมือนเดิม แต่หลักๆ คือเราจะไม่ค่อยเลือกหนังสือที่มาจากดินแดนเดียวกันมาแปลซ้ำ พยายามกระจายไปทั่วโลกให้ได้ หรือถ้าตอนนี้สำนักพิมพ์เรายังไม่มีงานเขียนของนักเขียนเพศหลากหลายก็คิดว่าอาจต้องลองหามาบ้าง เอาเข้าจริง การเลือกเล่มมาทำมันเหมือนกับต้องหาสายใยความสัมพันธ์ที่เชื่อมกันระหว่างเรากับงานเขียนนั้นๆ ถ้าพูดภาษาบ้านๆ ก็เหมือนเลือกแฟน เราเลือกงานเขียนเล่มนี้เพราะมันใช่ แต่จะให้มาตอบว่ามันดีหรือไม่ดีกว่าเล่มอื่นที่ไม่ได้เลือกตรงไหน ก็ไม่รู้จะตอบยังไง และบางทีที่เลือกไม่ได้เพราะมีคนได้ลิขสิทธิ์ไปแล้วก็มี

เพราะการทำหนังสือเล่มหนึ่งมันเหนื่อยและใช้ทรัพยากรเยอะ ถ้าเริ่มต้นด้วยงานที่ไม่ใช่ มันเหมือนโดนคลุมถุงชน การให้ทีมไปทำงานที่ไม่ชอบมันหนักนะ ก็พยายามถามกันว่าเล่มนี้โอเคไหม สนใจหรือเปล่า ถ้าเห็นตรงกันก็ดีใจ มีความสุขกันทุกฝ่าย

เฟิร์ส : ถ้าบรรณาธิการหรือนักแปลไม่รู้สึกถึงความสัมพันธ์กับงานเขียนเล่มนั้นขนาดนั้น มันอาจจะไม่ใช่แค่การที่ต้องทรมานกับมัน แต่จะรวมไปถึงการไม่ค่อยเห็นอะไรในการทำสิ่งนี้ มองข้ามบางแง่มุมไป แล้วงานอาจจะออกมาอย่างไม่ค่อยมีคุณภาพก็ได้

แจน : เพราะในโลกนี้มันมีหนังสือให้อ่านมากมายเกินกว่าจะมีเวลาอ่านได้หมด ดังนั้น สำหรับเราถ้าให้เลือกหนังสือสองเล่ม ระหว่างเล่มที่เรามีโอกาสจะอินกับมันมากกว่ากับเล่มที่รู้สึกเฉยๆ ซึ่งคงมีอะไรดีๆ อยู่ข้างในแน่แหละ แต่พอคิดถึงแง่ที่เราไม่ค่อยรู้จักและต้องใช้เวลามากๆ ในการจะทำให้ตัวเองอินกับมันเพื่อมาส่งต่อให้คนอ่านก็ดูเป็นเรื่องยาก อย่างเราวางตำแหน่งตัวเองเป็นแม่ค้าที่ถ้าต้องโล้สำเภาเอาของมาขาย ก็คงเลือกขนสินค้าที่เราอินก่อน ไม่งั้นเรานึกภาพไม่ออกว่าจะไปคุยกับนักอ่านหรือขายมันยังไง ถ้าตัวเราเองก็ไม่สปาร์กจอยกับหนังสือเล่มนั้น

แล้วอะไรทำให้บทจรนำวรรณกรรมไปอยู่ในรูปแบบสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

วรงค์ : แค่รู้สึกว่าการใช้หนังสือไม่จำเป็นต้องจบที่การอ่าน ในบางมุมมันก็เหมือนกับสินค้าในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมแหละ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธหรอก แต่ถ้ามองอีกแง่เราอยากให้วรรณกรรมมีความสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ในขอบเขตที่กว้างกว่าแค่รูปเล่มกับการอ่าน จินตนาการในหนังสือมันระเบิดออกได้กว้างไกลกว่านั้น อย่างเล่มล่าสุด ‘รักเมื่อคราวห่าลง’ เราก็ตีโจทย์จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเขียนจดหมายได้มาเป็นสมุดฉีกที่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง บทจรจะทำอะไรแบบนี้ที่เกี่ยวข้องกับ element ในวรรณกรรมเสมอ

หลักๆ คือเราอยากทำให้วรรณกรรมใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น เพราะมันเศร้าที่หลายๆ ครั้งมีคนทำให้วรรณกรรมกลายเป็นเรื่องยาก เล่มหนา ไม่น่าอ่าน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันจริงเหรอ คุณแค่คิดแบบนั้นไปล่วงหน้าไว้ก่อนหรือเปล่า เพราะความจริงแล้ววรรณกรรมมันอ่านง่าย สนุก และสร้างมาจากชีวิตมนุษย์นั่นแหละ

แจน : เรามองมันเป็นความสนุกว่าจะเล่นกับตัวรรณกรรมได้แค่ไหน จะขยายโลกของวรรณกรรมให้อยู่นอกหน้ากระดาษได้มากน้อยเพียงใด มันเหมือนการทำให้สิ่งนี้แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน มีเครื่องหมายย้ำเตือนว่าเรามีวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเพื่อน อย่างพอเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบถ้าไม่ได้สัมผัสทบทวนหรืออยู่กับตัวเองมากๆ คงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์มันเปลี่ยนในระดับค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปตลอดเวลา ซึ่งเราคงไม่มีทางสังเกตรู้จนกว่าจะไปถึงจุดจุดหนึ่ง 

แต่การมีสิ่งของเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นแก้ว กระเป๋าผ้า สมุดฉีก มันเป็นเหมือนเหรียญตราที่จะได้รับเมื่อบรรลุมิสชั่นในเกม มันคือการบอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของฉัน ฉันกลายเป็นคนที่ไม่เหมือนคนเมื่อวานหลังจากได้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้ ขณะเดียวกันมันยังย้ำเตือนให้เรานึกถึงช่วงเวลาที่ได้ใช้ไปกับตัวเล่ม ช่วงเวลาที่เรานั่งอ่าน พลิกหน้ากระดาษ จังหวะที่ยิ้มหรือร้องไห้ กระทั่งบทสนทนาที่คุยกับคนอื่นถึง element ในหนังสือ เราเลยอยากสร้างบริบทโดยรอบของวรรณกรรมในลักษณะนี้ไว้รองรับสังคมการอ่านในไทย

ในฐานะที่บทจรคลุกคลีกับวรรณกรรมมาตลอด จริงไหมกับประโยคที่บอกว่าคนอ่านวรรณกรรมน้อยลง

วรงค์ : ยอมรับว่าอ่านน้อยลง อันนี้เรามองในภาพรวมกระแสโลกด้วย เพราะครั้งหนึ่งหนังสือเคยเป็นสื่อหลักของมนุษย์ แต่ตอนนี้เวลาของพวกเราโดนแย่งไปจากทีวี โรงหนัง สตรีมมิ่ง อีกอย่างปัจจุบันหนังสือก็มีหลายแนวขึ้น แนวใหม่ๆ อย่างเศรษฐกิจ, pop-sci, ฮาวทู คนเลือกอ่านได้ตามความสนใจ แต่สำหรับเมืองไทยเราค่อนข้างตลกนะที่ยังมีคนบอกว่าวรรณกรรมอ่านยาก ทั้งที่กระแสอ่านงานวิชาการมาแรงมากในสังคม

หรือบางทีเราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมคำว่าวรรณกรรมในไทยถึงทำให้คนรู้สึกเป็นของแสลง ที่บอกว่าเนื้อหาหนักนี่หนักจริงหรือเปล่า มันควรเหมือนอาหารที่คนอยากกินไปเรื่อยๆ เพราะอร่อยสิ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวรรณกรรมที่สร้างความตื่นเต้นได้เท่านั้น เราสามารถคิดและสนุกกับมันได้หลายๆ รูปแบบ

แล้วสถานการณ์ที่ดูยากลำบากแบบนี้ อะไรทำให้คุณอยากทำงานวรรณกรรมต่อไป

วรงค์ : สุดท้ายมันวกกลับมาที่ความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละคน ชีวิตผมได้อะไรมากมายเหลือเกินจากหนังสือเล่มหนาๆ พวกนี้ ต่อให้เหมือนเป็นการเอาเงินจำนวนมากมาจมทิ้งไว้ก็ตาม เวลาอ่านหนังสือสักเล่มอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน แต่หลังจากนั้นมันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต ถ้ามองในแง่ความคุ้มก็คุ้มมากเลยนะ และสิ่งที่ผมค้นพบจากการทำหนังสือคือ อยากชวนคนที่อ่านแล้วมาถกเถียงกันเพราะหนังสือเล่มหนึ่งมันมีชีวิต มีแง่มุมที่คนอาจจะรักและเกลียด เมื่อไหร่ที่เกิดการแลกเปลี่ยนจะยิ่งทำให้เห็นว่าโลกเรามีปัญหาอะไรหรือกระทั่งทำให้เรามองเห็นชีวิตของตัวเองและคนอื่นๆ มากขึ้น

ตอนเด็กๆ เรามักได้ยินคำว่าตลอดไป ผมเองก็ไม่มั่นใจนักหรอกว่าหนังสือจะอยู่กับเราไปตลอดไหม แต่ตอนนี้ผมอายุ 40 กว่าแล้ว หนังสือที่อ่านตอนอายุ 20 กว่าก็ยังอยู่กับผม และคงจะอยู่ต่อไปอีกนาน สุดท้ายมันอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม แต่มันจะกลายเป็นเพื่อนที่ต่อให้ไม่สนิทแล้ว ก็ยังมีความจริงใจและสำคัญ หลายๆ ครั้งที่มีปัญหาชีวิตวรรณกรรมอาจไม่ได้มาเซฟเราโดยตรง แต่เมื่ออ่านเราจะเห็นปัญหาหรือบางสิ่งบางอย่างได้ชัดเจนขึ้น มันจะพาเรากลับมาคิดและมองปัญหาอย่างไตร่ตรอง

ความตั้งใจของบทจรคือการทำให้คนเข้าถึงวรรณกรรมโลกได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อมันลงมาจากบัลลังก์อันใหญ่โตที่คนมักสร้างภาพให้มีความอัปลักษณ์ของอำนาจ ความศักดิ์สิทธ์ วรรณกรรมอาจดูน่ารักขึ้นก็ได้ มันอาจเป็นเรื่องดีที่อำนาจของงานเขียนประเภทนี้เล็กลงๆ เมื่อคนเริ่มเปิดใจอ่านก็จะได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง รวมถึงเชื่อมต่อความสัมพันธ์หรือความรู้สึกใดก็ตามที่เคยหล่นหายไป

บทจร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone