“ผมไม่ใช่คนกล้าหาญ แต่บางเรื่องที่เชื่อว่าถูก ผมก็ทำ” ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้สร้างฟ้าเดียวกัน

Highlights

  • คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือวิชาการจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในพ.ศ.นี้
  • แต่ก่อนที่ฟ้าเดียวกันจะเดินทางมาจนถึงปรากฏการณ์ทะลุเพดาน สำนักพิมพ์อายุ 18 ปีผ่านมรสุมทางการเมืองมามากมาย ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 ถูกตีตราด้วยสารพัดวาจาและการกระทำจากฝ่ายที่ไม่เห็นดีเห็นชอบ
  • ในวันที่ฟ้าเปิดกว้างกว่าที่เคย เราชวนธนาพลมามองเส้นขอบฟ้าทางความคิด ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่เขาสร้างฟ้าเดียวกันขึ้นมาที่ออฟฟิศย่านรัตนาธิเบศร์

ธนาพล อิ๋วสกุลขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ไม่ว่าคุณจะเคยได้ยิน 3 ชื่อนี้หรือไม่ นี่คือหนังสือการเมืองจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่อธิบายบทบาทสถาบันกษัตริย์ไปจนถึงปัจจัยการเมืองโลกได้อย่างน่าสนใจ

น่าสนใจในระดับที่ว่ามีนักเรียนวัยมัธยมหยิบหนังสือชูขึ้นในขบวนประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ

น่าสนใจในระดับที่ว่าบูทฟ้าเดียวกันในงานสัปดาห์หนังสือมีคนต่อแถวขอลายเซ็น นักวิชาการเจ้าของหนังสือกันไม่ขาดสาย และยังมีตำรวจแวะมาอุดหนุนหนังสือชุด กษัตริย์ศึกษาด้วย

น่าสนใจในระดับที่ว่าทั้ง 3 เล่มหมดสต็อกต้องรอการพิมพ์ใหม่ โดยเฉพาะรอบสั่งซื้อ ในวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากตำรวจเข้าค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และแจ้งข้อหาว่าหนังสือเหล่านี้ทำให้เกิดการต่อต้านสถาบันกษัตริย์

ธนาพล อิ๋วสกุลเช่นเดียวกับหนังสือและวารสารเล่มอื่นๆ ของฟ้าเดียวกัน ‘ความป๊อป’ ในหนังสือวิชาการเกิดขึ้นท่ามกลางปมปัญหาการเมือง และข้อจำกัดด้านการรับรู้บทบาทอื่นๆ ของสถาบันกษัตริย์ ผู้คนจึงสนใจหาคำตอบผ่านข้อเขียนที่มีหลักฐานและหลักการหนักแน่น

ธนาพล อิ๋วสกุล

แต่ก่อนที่ฟ้าเดียวกันจะเดินทางมาจนถึงปรากฏการณ์ทะลุเพดานในวันนี้ สำนักพิมพ์อายุ 18 ปีผ่านมรสุมทางการเมืองมามากมาย ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 ถูกตีตราด้วยสารพัดวาจาและการกระทำจากฝ่ายที่ไม่เห็นดีเห็นชอบ ทั้งข้อหาล้มเจ้า ซ้ายจัด โดนเผาหนังสือ ลูกน้องธนาธร มาจนถึงล้างสมองเด็ก บวกรวมกับข้อหาจากเจ้าหน้าที่รัฐ การเยี่ยมเยียนสำนักพิมพ์ด้วยรถบรรทุกทหาร ไปจนถึงเชิญตัวบรรณาธิการบริหารเข้าค่ายปรับทัศนคติร่วมสัปดาห์

ถ้าเปรียบงานทั้งหมดนี้เป็นสมรภูมิรบ บาดแผลของฟ้าเดียวกันคงมีไม่น้อย แต่เพราะนี่ไม่ใช่สงคราม สำหรับ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งฟ้าเดียวกัน เขารู้ดีว่าบาดแผลเหล่านี้เป็นเพียงราคาที่ต้องจ่าย แต่ด้วยความเชื่อต่องานที่ทำ เขาจึงเลือกเดินหน้าต่อ

“ผมว่าเสน่ห์ของการเมืองคือความเป็นไปได้ ถ้าเราคิดว่าจะเปลี่ยนใจใครไม่ได้ เราคง ไม่มาทำฟ้าเดียวกัน”

ธนาพล อิ๋วสกุลในวันที่ฟ้าเปิดกว้างกว่าที่เคย เราชวนธนาพลมามองเส้นขอบฟ้าทางความคิด ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่เขาสร้างฟ้าเดียวกันขึ้นมาที่ออฟฟิศย่านรัตนาธิเบศร์ ก่อนที่เขาจะต้องเดินทางไป สน.ประชาชื่นเพื่อเอาวารสารฟ้าเดียวกันฉบับ อ่านใหม่พระปฐมบรมราชโองการ ไปให้ รุ้ง–ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในฐานะเจ้าของบทความที่ข้ามเส้นขอบฟ้าในวารสารฉบับล่าสุด

ธนาพล อิ๋วสกุล

2-3 ปีนี้เราเห็นปรากฏการณ์ความสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ หากมองย้อนกลับไป ความสนใจการเมืองของคุณเริ่มต้นในวัยใกล้เคียงกันไหม คุณเริ่มสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมติดตามข่าวการเมืองจากการอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ประถม อาชีพที่อยากทำก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักข่าว คอลัมนิสต์ เห็นเขาเขียนก็อยากเขียนบ้าง อีกอย่างคือผมเป็นคนพังงา ไม่รู้ว่าเพราะบริบทของคนใต้ด้วยหรือเปล่าที่สนใจการเมือง มีวัฒนธรรมร้านกาแฟที่ผู้ใหญ่มาคุยกัน ทั้งพี่น้องและพ่อผมก็พูดเรื่องการเมือง ผมตามอ่าน ตามฟัง จำคนนั้นคนนี้ได้ จำชื่อพรรคได้ ประสบการณ์การเมืองแรกๆ คือผมไปฟังนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยตอนเลือกตั้งปี 2526 ตอนนั้นผมอายุ 10 ขวบ

ธนาพล อิ๋วสกุลพอย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เรียนที่ทวีธาภิเศก  ผมไปถึงโรงเรียนตอนเช้ามืด แล้วจะมีรถมอเตอร์ไซค์มาส่งหนังสือพิมพ์ประมาณ 5-6 ฉบับ หน้าที่ผมคือแกะห่อหนังสือพิมพ์ช่วยเอามาเสียบไม้ไว้ที่ห้องสมุด แล้วก็อ่านจนครบทุกฉบับ บางครั้งก็ไปหอสมุดแห่งชาติ ไล่อ่านหนังสือพิมพ์เก่า นิตยสารเก่า ในขณะที่คนอื่นไปเรียนพิเศษกัน แล้วทวีธาฯ อยู่ใกล้สนามหลวง ผมก็ไปฟังปราศรัยทุกพรรคการเมืองเลยเพราะปีที่ขึ้นมาเรียนคือปี 2531 มีการเลือกตั้งพอดี

ธนาพล อิ๋วสกุลผมคิดว่าการเมืองรายวันสะสมมาตอนนั้นแหละ เวลาพูดเรื่องการเมืองกับคนอื่นๆ ผมจะรู้สึกว่า เออ เราย้อนข้อมูลไปได้ไกลกว่าเว้ย (หัวเราะ) เพื่อนก็เรียกผมว่าวีระ (มุสิกพงศ์) เพราะตอนนั้นวีระเป็นตัวแทนนักการเมืองภาคใต้

 

สนใจอะไรในข่าวการเมืองจนเหมือนไม่สนใจเรื่องอื่น

จริงๆ ผมก็สนใจเรื่องอื่นด้วยนะ (หัวเราะ) อย่างกีฬาหรือฟุตบอล แต่พูดแบบกำปั้นทุบดินเลย อาจจะเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวด้วย คงไม่ได้บอกว่าใครชอบการเมืองแล้ววิเศษกว่าใคร แต่พอเราอ่านมากขึ้นก็เห็นว่าการเมืองมันเกี่ยวกับชีวิตของเรา 

ธนาพล อิ๋วสกุล

ตอนนั้นสื่อยังมีน้อย คุณใช้อะไรตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือเชียร์พรรคการเมืองไหน

พื้นฐานง่ายๆ ถ้าเป็นคนใต้ก็ต้องเชียร์ประชาธิปัตย์ ผมว่าพรรคนี้เข้ากับพล็อตการเมืองไทย เป็นพรรคที่มีความต่อเนื่องยาวนาน ขายภาพนักการเมืองสมถะ มีวิชาชีพ ไม่ใช่เจ้าพ่อท้องถิ่นหรือนายทุน พอเราโตขึ้นมาได้เห็นภาพกว้างขึ้น อคติมันลดลง ทำให้ได้มองเห็นอะไรมากขึ้น ถ้าคุณมีแว่นแบบนี้แล้วมองคนอื่นๆ ด้วยอคติ คุณก็ไม่เห็นอีกมิติหนึ่งของพรรคการเมือง

 

แสดงว่ามีจุดที่ทำให้คุณตาสว่าง

ผมคิดว่ามันสั่งสม ไม่ได้เห็นอะไรทีเดียว แต่มีจุดหนึ่งที่พลิกสำหรับผมเลยคือ ตอนเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงปี 2 ผมได้อ่านหนังสือเล็กๆ เล่มหนึ่ง ปกห่อด้วยรูปอรพรรณ พานทอง แต่เปิดมาคือหนังสือ 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี มารู้ทีหลังว่าหนังสือเล่มนี้ทำโดย พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เผยแพร่ในปี 2525-2526 ในโอกาสครบ 200 ปี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ความแสบสันคือหนังสือเล่มนี้ล้อเลียนพระราชพงศาวดาร พออ่านก็รู้สึกว่ามันพลิกสิ่งที่เคยรู้ อ่านจนเก็บไปฝัน (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นสนใจแต่การเมืองรายวัน ไม่ได้สนใจอะไรลึกกว่านั้น และยังห่างไกลกับหนังสือวิชาการมาก

ธนาพล อิ๋วสกุล

ตอนนั้นคุณยังไม่ได้มองว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ในสมการที่เราต้องวิเคราะห์เมื่อพูดถึงการเมืองเหมือนเด็กรุ่นนี้

ประมาณนั้น แต่ถ้าพูดแบบแฟร์ๆ ว่าทำไมคนรุ่นก่อนยังติดภาพราชาชาตินิยม เพราะตอนนั้นยังไม่มีงานเขียนที่ดีออกมาด้วย ลองไปไล่ดูนักวิชาการที่ทำงานด้านนี้ หนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือปาฐกถา “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ของธงชัย วินิจจะกูล ออกมาในปี 2544 และอยู่ในวงแคบมาก ตอนผมเรียนข้อมูลมันไม่ได้หาง่ายแบบตอนนี้ อยากรู้อะไรต้องไปตามถ่ายเอกสารจากห้องสมุด หนังสือ 9 รัชกาลฯ ที่ผมพูดถึงก็เป็นหนังสือใต้ดิน แต่ปัจจุบันนี้แค่เสิร์ชดูก็เจอแล้ว

 

แล้วมาเห็นการเมืองเชิงระบบได้ยังไง

ตอนเรียนจบผมได้มาเป็นลูกมือช่วยทำงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ ระหว่างทำงานก็ได้ครูพักลักจำ ดูวิธีการคิดจากการร่วมงานกับอาจารย์ธงชัย, อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, อาจารย์นพพร ประชากุล รวมทั้งคุณประชา สุวีรานนท์ ส่วนอาจารย์สมศักดิ์ก็รู้จักมาตั้งแต่เรียนแล้ว

เสร็จโครงการแล้วก็มาเป็นผู้ช่วยวิจัยให้นักวิจัยญี่ปุ่น ทำเรื่องกำเนิดชนชั้นกลางไทยก่อนปฏิวัติสยาม 2475 ได้เริ่มอ่านหนังสือวิชาการมากขึ้น ซึ่งหนังสือที่ทำให้ได้เห็นภาพกว้างคือ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ เนื้อหาเกี่ยวกับภาพรวม 200 ปีของรัฐสมัยกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นการรีวิวงานไทยศึกษาแทบทั้งหมด แล้วก็เอามาสร้างกรอบความคิดให้เห็นข้อมูลพื้นฐานในแง่การทำความเข้าใจเศรษฐกิจสังคม 

ผมจำได้ว่าตอนอ่านก็ไปดูอ้างอิงและบรรณานุกรม มันเป็นลายแทงให้เราไปอ่านหนังสือเล่มอื่น เช่น ประเด็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็มีงานของอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, อาจารย์ธงชัย, อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ รวมทั้งเห็นชื่องานจำนวนมากเป็นภาษาอังกฤษ ก็คิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าจะมีการแปลออกมา ทำให้ผมคิดว่าถ้ามีหนังสือที่ทำดีพอก็สามารถเปลี่ยนความคิดเราได้ ถ้ามีโอกาสได้ทำหนังสือแนวนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ แล้วในแง่กระบวนการทำหนังสือ ถ้าเทียบเล่มนี้กับหนังสือวิชาการเล่มอื่นๆ ก็ถือว่าเล่มนี้เป็นมาตรฐาน เลยเป็นแม่แบบให้เราอยากมาทำสำนักพิมพ์วิชาการด้วย ก็ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์มที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าว

ธนาพล อิ๋วสกุล

แล้วตอนนั้นคุณไม่อยากเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ตอนเด็กใฝ่ฝันไว้แล้วเหรอ

อยากจะไปสมัครงานด้วยซ้ำ แต่ว่าเป็นจังหวะชีวิต ผมเรียนจบปี 2539 แล้วไปทำโครงการ 6 ตุลาฯ อยู่หนึ่งปี พอจบงานก็เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก วงการหนังสือพิมพ์ไม่มีใครรับเข้าทำงานเลยมาเป็นผู้ช่วยวิจัย พอทำงานวิจัยเยอะๆ ก็อยากทำหนังสือวิชาการ คงคล้ายๆ กับหลายคนที่พออ่านหนังสือเยอะก็อยากทำเองบ้าง

 

คุณเลยเปิดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขึ้นมา

จริงๆ ต้องเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง ตอนที่เรามีความคิดจะทำหนังสือ วิธีคิดแรกสุดคือต้องไปเป็นลูกมือก่อน ฝึกว่ากระบวนการทำหนังสือเป็นยังไง ถ้าเป็นไปได้ใช้เงินคนอื่นก่อนก็จะดี (หัวเราะ) แล้วมีจังหวะพอดีที่พี่มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ติดต่อผมมาว่าสนใจทำหนังสือให้สถาบันพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งเป็น think tank การเมืองภาคประชาชนไหม ซึ่งก็เข้าทางเราที่จะทำสำนักพิมพ์อยู่แล้ว ช่วยจนถึงปี 2543 พี่มานะไปเรียนต่อ ผมก็ชวนชัยธวัช ตุลาธน ให้มาช่วยกัน 

ทีนี้ชัยธวัชเป็นเพื่อนกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจผมเลยได้รู้จักต่อมาอีกที ตอนนั้นเขาเพิ่งเรียนจบ ยังไม่มีสกิลธุรกิจอะไรเลย กึ่งๆ เป็นแอ็กทิวิสต์ แต่อย่างน้อยทุกคนมีพื้นฐานหนึ่งร่วมกันคืออยากทำหนังสือ อยากเคลื่อนไหวทางความคิด ประมาณปี 2544 พวกเรานั่งคุยกันสามคนที่ตึกช้าง คิดโมเดลธุรกิจ ปีหนึ่งจะออกหนังสือกี่เล่ม ลงเงินทุนเท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้ภายในสองปีจะต้องพิมพ์ซ้ำซึ่งจะเกิดการรีเทิร์นของเงิน สุดท้ายไม่เป็นจริงสักอย่าง (หัวเราะ)

แต่เราคิดกันไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าธุรกิจวารสารอยู่ไม่รอดหรอก เพราะตัวอย่างจากที่อื่นๆ เราก็เห็น ผมก็รับหน้าที่ทำการบ้าน ไปดูว่าในตลาดเจ้าไหนขาดทุน แล้วขาดทุนเพราะอะไร เลยคิดโมเดลว่าธุรกิจฟ้าเดียวกันต้องมี 3 ขา ขาแรกคือสำนักพิมพ์ ผลิตหนังสือและวารสาร อยู่ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่อง ขาที่สองเราคิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม คือพอมีเครื่องไม้เครื่องมือเกี่ยวกับสื่อก็สามารถไปช่วยหนุนและเสริมขบวนการทางสังคมได้บ้าง เช่น ช่วยทำหนังสือ ช่วยทำสื่อต่างๆ 

สองขาแรกขาดทุนแน่นอน เราจึงต้องมีขาที่สามคือหาจ๊อบ ตั้งแต่ไล่จัดหน้า รับทำเนื้อหานิทรรศการ ไปจนถึงรับเหมาก่อสร้าง สรุปคือสำนักพิมพ์ก็ต้องทำ การเคลื่อนไหวก็ต้องช่วย ธุรกิจก็ต้องหาเงินให้อยู่รอด ต้องทำไปพร้อมๆ กัน

ธนาพล อิ๋วสกุล

อะไรที่บอกว่าตอนนั้นคุณสามคนพร้อมทำสำนักพิมพ์

ไม่พร้อมขนาดนั้นหรอก (หัวเราะ) อีกสองคนเพิ่งเรียนจบเอง อีกอย่างตอนนั้นเป็นช่วงขาลงของวงการหนังสือด้วย มีคนบอกว่าหนังสือวิชาการ หนังสือหนักๆ ใครเขาอ่านกัน แต่ความคิดผมคือ การที่คนไม่อ่านเพราะมันไม่มีอะไรที่ดีพอหรือเปล่า ถ้ามีคนทำได้มาตรฐานก็ต้องมีคนอ่านแหละ

ทีนี้พอลงมือทำจริงๆ ปี 2545 ธนาธรก็เปลี่ยนเส้นทางไปเป็นนักธุรกิจ เราก็ลงเงินคนละ 2 แสนแล้วไปใช้คอนโดของธนาธรเป็นออฟฟิศก่อน ตอนนั้นต้องหาคนมาเป็นกองบรรณาธิการหนึ่งคน อาร์ตเวิร์กอีกหนึ่งคน ผมก็ลงแรง ลงเงิน แล้วก็ไม่มีเงินเดือนของตัวเอง

คนจะชอบพูดว่าผมเป็นลูกน้องธนาธร (หัวเราะ) จริงๆ เราเป็นหุ้นส่วน แชร์อุดมการณ์ แชร์ความคิดกันมากกว่า ซึ่งเราก็มีวิสัยทัศน์ว่าเราไม่ได้ทำสำนักพิมพ์ แต่เป็นคนทำงานเคลื่อนไหวทางความคิด เราสนใจการเมืองไทย เช่น สมการหนึ่งคือเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ชัดเจนตั้งแต่ต้น

 

แล้วคุณมีเกณฑ์การคัดเลือกเนื้อหามาลงในวารสารหรือตีพิมพ์หนังสือยังไง

อุดมคติที่สุดคือ การสร้างความรู้ใหม่ สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ไม่ว่าด้วยข้อมูลใหม่หรือวิธีวิทยาแบบใหม่ เช่น ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และหนังสือเล่มอื่นๆ ในชุดสยามพากษ์ มีธีมที่ชัดเจน ข้อมูลลึก เกาะติด เช่น หนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา หรือหนังสือชุดรวมบทความของอาจารย์ธงชัย แน่นอนว่าเขียนต่างกรรมต่างวาระ มีทับซ้อนกันบ้างแต่เราจะเห็นหลักยึดชัดเจน แล้วนำไปอภิปรายในเรื่องอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจสังคมไทย หรือหนังสือแปลหลายเล่มที่เราทำ เช่น เมื่อโลกพลิกผัน ของคาร์ล โปลานยี นี่คือหนังสือคลาสสิกร่วมสมัยของโลกเล่มหนึ่ง แม้ว่าทางธุรกิจจะขาดทุน แต่เราคิดว่าถ้าตีพิมพ์ในระยะยาวมันมีประโยชน์แน่ๆ

ผมเชื่อว่างานวิชาการที่ดีคืองานที่เถียงได้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ สปิริตของฟ้าเดียวกันคือไม่เชื่อ ซึ่งนำไปสู่สมมติฐานใหม่ เช่น จริงหรือที่ประเทศไทยเป็นเอกราชสมบูรณ์ จริงหรือชนชั้นนำสยามถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง จริงหรือ 2475 ชิงสุกก่อนห่าม หรือว่า 14 ตุลาฯ ไม่มีอะไรให้ศึกษาแล้ว

ส่วนวารสารเรามีทั้งแบบที่คนส่งต้นฉบับมากับไปขอให้นักวิชาการเขียน ซึ่งเราจะต้องดูก่อนว่าใช้ได้ไหม หลักการหรือข้อมูลผิดหรือเปล่า

เกณฑ์ถูก-ผิดของฟ้าเดียวกันคืออะไร

จุดยืนแรกสุดคือตรรกะ ความสมเหตุสมผลของหลักฐาน ต่อให้เราทำหนังสือที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะหนึ่งในสมการการเมืองไทย แต่ถ้าเขียนมาแบบไม่มีคุณภาพหรือเป็นแค่ข่าวโคมลอยก็ไม่ลง เพื่อรักษาสถานะความน่าเชื่อถือ สิ่งที่เราทำไม่ใช่อยากให้เฉพาะคนที่รู้เรื่องนี้หรือสนใจเรื่องนี้มาอ่าน ผมอยากให้รอยัลลิสต์มาอ่านเหมือนกันนะ เช่น ถ้าบอกว่าปัจจุบันเราอยู่ในสภาวะกษัตริย์นิยมล้นเกิน (hyper-royalist) เราอยากเชิญชวนให้รอยัลลิสต์เข้ามาอ่านว่าจริงไหม ถ้าให้ดีกว่านั้น หากไม่เห็นด้วยก็เขียนมา เราพร้อมเปิดพื้นที่ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นคนที่ประกาศว่าเป็นรอยัลลิสต์เขียนบทความดีเบตอะไรส่งมาเลย

 

แล้วในยุคแรกๆ ที่ออกหนังสือเกี่ยวกับสถาบัน อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ

เราไม่ได้คิดว่ามันจะปังตั้งแต่ออกครั้งแรกอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องมีคือความอึด เรายืนระยะได้ เราทำงานปักธงความคิดทางสังคม ถ้าคุณทำงานต่อเนื่อง คุณมั่นใจกรอบวิธีคิดของคุณว่ามันจะตอบโจทย์ทางการเมืองได้ มันไม่จำเป็นว่าออกมาแล้วต้องขายดีหรือคนต้องพูดถึงเลย ถ้ามันแข็งแรงพอจะ 3 ปีหรือ 5 ปี คนกลับมาอ่านอีกกี่ครั้งก็ได้ หรือถ้าปังตั้งแต่ต้นก็ขายยาวไปเลยก็ได้

แล้วหนังสือวิชาการเป็นตลาดที่มีคู่แข่งน้อยราย หรือแทบไม่มีคู่แข่งเลย ถ้าคุณทำออกมาดีพอจะมีคนซื้อ ยิ่งถ้าคลาสสิกพอคนก็จะมาอ่านเรื่อยๆ ประเด็นคือคุณทำออกมาได้ดีพอหรือเปล่า 

 

คุณมองแล้วว่าถ้าเนื้อหามีคุณภาพจะขายได้ในระยะยาวแน่นอน

ใช่ เราถึงใช้เวลาทำหนังสือต่อเล่มนานมาก เช่น ถ้าเป็นหนังสือแปล หนังสือ เอกสารต้นฉบับ หรือหนังสือประวัติศาสตร์ ทุกชิ้นเราจะกลับไปเช็กเอกสารชั้นต้นเลย อย่างเล่ม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย เป็นงานที่อาจารย์กุลลดาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วอ้างเอกสารหอจดหมายเหตุนานแล้ว พอเราเอามาแปล ตรวจสอบเอกสาร cross check ข้อมูล มาทำดัชนีและบรรณานุกรม ก็ต้องกลับไปเปิดเอกสารกันใหม่ ซึ่งระบบการอ้างอิงก็เปลี่ยนไปแล้ว รวมกระบวนการแปล เราใช้เวลาถึง 10 ปีในการทำเล่มนี้ 

หลายอย่างเราถึงเชื่อว่าการทำให้ต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลเป็นภาษาไทยดีขึ้น เราละเอียดพอนะ และมั่นใจว่าถ้าเล่มไหนจะพิมพ์ซ้ำต้องเอาต้นฉบับภาษาไทยที่เราอีดิตแล้วไปแปลเป็นภาษาอังกฤษมันถึงจะสมบูรณ์กว่า 

ธนาพล อิ๋วสกุล

นแง่ของการทำธุรกิจ การใช้เวลาถึง 10 ปีทำหนังสือหนึ่งเล่มมันคุ้มเหรอ

มันไม่คุ้มอยู่แล้ว (หัวเราะ) จริงๆ ก็ให้เป็นบทเรียน เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีประสบการณ์มากพอ การทำให้มีคุณภาพต้องใช้เวลา ซึ่งการที่เราต้องใช้เวลาเยอะเพราะเราคาดหวังว่าหลังจากนี้จะไม่แก้อะไรที่เป็น major change อีก เราก็อยากให้พิมพ์ครั้งที่ 1 กับพิมพ์ครั้งที่ 10 เหมือนกัน 

 

หมายความว่าคุณมองแต่เรื่องคุณภาพ ไม่ได้นึกถึงรายได้เป็นหลัก

รายได้ก็คิด แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด เราไม่ได้คิดว่าสำนักพิมพ์เป็นตัวชี้ขาดกำไรอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ควรเป็นอย่างนั้นด้วย ตลาดเราก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น เราแทบไม่เห็นเพื่อนที่ทำงานสำนักพิมพ์อยู่ได้ด้วยการขายหนังสืออย่างเดียว ถ้ามีก็ต้องทำงานออกมาเป็นแบบเครื่องจักร ปีหนึ่งออกหนังสือมาเยอะมาก ซึ่งเราไม่มีศักยภาพแบบนั้น

อีกอย่างคือผมคิดว่าการทำงานด้านความคิดไม่ได้คิดจากตัวเลขกำไรก่อนแน่ๆ ถ้าคุณคิดตัวเลขกำไรขาดทุน คุณต้องไม่ทำวารสารตั้งแต่ต้น เราไม่ได้ทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพราะขึ้นอยู่กับตลาดว่ามีคนซื้อเลยทำ ไม่มีคนซื้อไม่ทำ แต่เราเชื่อว่าถ้ามันดีพอแล้วมันจี้ไปที่ปัญหาจริงๆ ยังไงคนก็ต้องมาซื้อ 

เราก็อยู่ได้ด้วยขาที่สาม นั่นคือการรับจ๊อบอื่นๆ ใครให้ทำอะไรก็ทำ ถ้ามีคนมาจ้างเขียนเนื้อหานิทรรศการก็ทำ จุดแข็งของเราคือมีข้อมูลและเนื้อหาอยู่แล้วด้วย

 

การรับจ๊อบเป็นรายได้หลักที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้จริงเหรอ คุณเคยเผชิญช่วงวิกฤตการเงินไหม

10 ปีแรกก็หมุนเงินอยู่อย่างนั้นตลอด (หัวเราะ) รายได้ที่มีตอนนั้นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์จากค่าใช้จ่าย เราต้องรับจ๊อบวิ่งหาเงิน หมุนเงินกันเป็นปกติอยู่แล้ว ก็ต้องมาเพิ่มทุนกันบ้างให้มันมีสภาพคล่อง ส่วนผมก็ลงแรง ไม่เอาเงินเดือนเลย 

ช่วง 4-5 ปีแรก มีอะไรเราก็รับมาทำหมด แต่พอสำนักพิมพ์อยู่ได้ กลับไม่มีหนังสือออกมา แล้วกูทำสำนักพิมพ์ไปทำไมวะ (หัวเราะ) เราเลยมาดูว่าจ๊อบไหนเงินน้อยๆ เราจะไม่ทำแล้ว ไม่คุ้มกับแรงที่ลงไปเท่าไหร่ ผมก็ลองหาโมเดลอื่นๆ ช่วงหนึ่งมีคนเริ่มเอาหนังสือฟ้าเดียวกันไปขายในม็อบคนเสื้อแดง ซึ่งยอดที่ได้ก็ไม่ขี้เหร่ มันก็ค่อยๆ ฟื้นฟูมาในช่วงปี 2553-2556 

ส่วนการทำงานวารสารต้องปรับมาพิมพ์ปีละ 2 เล่ม จากปีละ 4 เล่ม เนื้อหาบางอย่างเราก็ปรับใหม่ เช่น เมื่อก่อนวารสารฟ้าเดียวกันจะตามไปบันทึกในงานสัมมนาที่น่าสนใจ แต่ตอนนี้สื่อออนไลน์ทำได้ดีกว่าแล้ว เราก็เลิก 

ธนาพล อิ๋วสกุล

เครียดไหมตอนที่ขาดทุน

ไม่เคยรู้สึกอะไรแบบนั้นเลย ผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคุณเป็นคนสนใจการเมืองจะเห็นว่ามันเปลี่ยนเร็วมาก เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นที่จะได้มีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงนี้ตลอดเวลา

ยิ่งช่วงที่เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ช่วงหนึ่งที่คนนิยมเล่นเว็บบอร์ด เราก็มีเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันที่เป็นพื้นที่กลางให้คนมาแลกเปลี่ยนข่าวสาร ซึ่งไอเดียเราคือมีเสรีภาพให้มากที่สุด คุณจะล็อกอินหรือเป็นร่างอวตารก็ได้ เว็บบอร์ดช่วงนั้นเลยเป็นพื้นที่รวบรวมบทความของอาจารย์สมศักดิ์ แล้วก็ช่วงนี้แหละที่มีคนด่าฟ้าเดียวกันว่าล้มเจ้า มีคดีตามมาเยอะแยะ

แต่ถ้าพูดถึงรัฐบาลที่เรามีปัญหาด้วยครั้งแรกคือรัฐบาลทักษิณนะ ตั้งแต่ทำเล่ม ตากใบ มาจนถึงปี 2548 วารสารฉบับ สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ส่วนหนึ่งเราก็วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีปัญหาคือบทสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ‘การมีสถาบันกษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิบดี’ ในคำพูดคำจาของอาจารย์ตอนนั้นอาจจะไม่เข้าหูคน แล้วปี 2549 อาจารย์สุลักษณ์ไปขึ้นเวทีพันธมิตร คาราวานคนจนที่เชียร์ทักษิณก็เอาฟ้าเดียวกันไปเผา จะมีคนมาบุกฟ้าเดียวกัน คนที่ฟ้องผมตอนนั้นคือชินวัฒน์ หาบุญพาด ผมจำได้ว่าตอนนั้นเวทีพันธมิตรยังเอาฟ้าเดียวกันไปรวมเป็นสื่อที่ถูกรัฐบาลทักษิณคุกคาม

 

ตอนนั้นสังคมยังไม่ก้าวมาถึงจุดที่ทะลุเพดานอย่างตอนนี้ ทำไมคุณถึงคิดว่าจำเป็นต้องพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์

เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในสมการการเมืองไทย ผมว่าปัญหาไม่ใช่บอกว่ารอให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนความคิด แต่มันต้องคิดว่าจะเปลี่ยนความคิดคนยังไง จะมากจะน้อยก็ต้องเริ่ม การเปลี่ยนระดับใหญ่ขนาดนั้นต้องเริ่มจากน้อยๆ ถูกแล้ว เพราะถ้ามันเริ่มจากคนเยอะอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องมาถึงเรา

แต่เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อด่าหรือล้มเจ้าแน่ๆ หลักการของฟ้าเดียวกันคือไม่ได้คิดจะทำประเด็นเดียว แต่ยังสนใจเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องกองทัพ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทย การแทรกแซง การลอยนวลพ้นผิด เรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งหนังสือความคิด แนวคิด หนังสือแปล หนังสือคลาสสิกอีกเยอะแยะที่มันควรอยู่ในสังคมไทย 

ธนาพล อิ๋วสกุล

ฟ้าเดียวกันมีเพดานไหม

ทุกอย่างก็มีเพดานทั้งนั้น วิธีทำหนังสือของเราคือเป็นหนังสือบนดิน ดังนั้นเราไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่มีใครในโลกนี้สามารถพูดได้หมด ไม่ว่าฝ่ายไหน แต่ในขณะเดียวกันเวลาเราคิดเราไม่ได้มองว่าเราทำได้สุดแค่นี้ แล้วจะทำถึงแค่นี้ แต่เรามองว่าจะขยับพรมแดนไปได้ไกลแค่ไหน ขยับเส้นการพูดออกไปได้ยังไงบ้าง

ในทางการเมืองเส้นพวกนี้มันก็ไม่เคยชัดเจนนะ อย่างเราคุ้นเคยว่าในสภาไม่มีใครอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถ้าคุณดูบริบทประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การอภิปรายพระราชอำนาจของกษัตริย์เป็นเรื่องปกติมาก ประวัติศาสตร์ให้เราจินตนาการไปสู่อนาคตได้ ไม่ใช่ว่าคุณอยู่กับมันแล้วจะเชื่อว่ามันมีแค่นี้แหละ อนาคตก็คงเป็นแค่นี้ หลายอย่างมันไม่จริง หรือถ้าคุณเปิดไปอีกโลก เห็นประเทศอื่นมีการเมืองแบบไหน คุณก็จะมีจินตนาการมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่เราเชื่อในการเมืองคือความเป็นไปได้ เพราะมันเป็นไปได้หมด แม้กระทั่งเปลี่ยนใจคน มันไม่มีอะไรที่แน่นอนชั่วฟ้าดินสลาย คุณอาจจะเคยรักคนนี้จนตายแทนได้ แต่ต่อมาคุณอาจจะไม่รักแล้ว หรืออาจจะถึงขั้นเกลียดแบบผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ผมว่าเสน่ห์ของการเมืองคือความเป็นไปได้ ถ้าเราคิดว่าจะเปลี่ยนใจใครไม่ได้ เราคงไม่มาทำฟ้าเดียวกัน

 

แล้วที่คุณบอกว่าฟ้าเดียวกันก็มีเพดาน สิ่งนั้นคืออะไร

ทุกอย่างในประเทศนี้พูดใต้อุดมการณ์ราชอาณาจักร รัฐเดี่ยว ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ส่วนประมุขจะเป็นแบบไหนอยู่ที่รายละเอียด แม้กระทั่งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เสนอ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครพูดเลยเพดานราชอาณาจักร 

เรารู้ว่านี่คือเพดานหรือกะลาของสังคมไทย เวลาคิด เวลาเขียน ทุกคนก็รู้ว่าอยู่ใต้กะลานี้ แต่จะทำยังไงให้กะลามันขยายออกไปได้กว้างบ้าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพดานหรือกะลานี้มันจะอยู่ไปถึงไหน เพราะมันก็อยู่ที่บริบทด้วย อย่างตอนนี้สังคมขยาย เราก็ต้องขยายเพดานด้วย ล่าสุดเราตีพิมพ์คำปราศรัยของรุ้งถึง ร.10 เราถามตัวเองเลยว่าถ้าปี 2546 ตอนเริ่มออกวารสาร รุ้งส่งบทความนี้มาเราจะกล้าลงไหม อาจจะคิดหนัก แต่ประเด็นคือสังคมมาไกลขนาดนี้แล้ว คุณจะอยู่จุดเดิมไม่ได้

หรือต่อให้เพดานนี้พัง ความคิดพัง ก็ไม่ใช่ว่าระบบจะพัง อย่างเช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้มีเพดานว่าจะต้องเป็นราชอาณาจักร อังกฤษก็ยังตั้งพรรครีพับลิก หรือญี่ปุ่นยังมีพรรคคอมมิวนิสต์ได้เลย ต่อให้เพดานมันไปไกล แต่ถ้าสังคมมันไม่ไป ถึงที่สุดคุณก็ยังไปไม่ได้

ธนาพล อิ๋วสกุล

คุณกังวลไหมเวลาถูกคุกคามจากรัฐหรือมีคนก่นด่ามากๆ 

กังวลบ้าง ผมว่าทุกคนมีเส้นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่มีใครบอกว่าคุกทำอะไรผมไม่ได้หรอก ทุกคนกลัว ไม่ได้กลัวในความหมายกลัวตายอย่างเดียว แต่การเสียเวลาในคุกทำให้อย่างอื่นพัง อย่างธุรกิจหรืองานที่อยากทำ ขณะเดียวกันผมก็คิดว่าถ้าเลือกเส้นทางนี้มันก็เจอแรงเสียดทานนี้เป็นปกติอยู่แล้ว มันคือราคาที่ต้องจ่าย

 

แล้วความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงานล่ะ คุณกังวลไหม

การมีคดีเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลย อย่างวิธีของตำรวจคือกองบรรณาธิการทุกคนต้องไปเป็นพยาน ทุกคนก็มีหมายเรียกไปที่บ้าน แต่ละบ้านก็รับกับปัญหานี้ได้ไม่เหมือนกัน บางบ้านเป็นเรื่องใหญ่มาก อยู่ๆ มีหมายเรียกพยานจากตำรวจ แต่ตำรวจกับทหารบอกเป็นเรื่องปกติ ปกติที่ไหน หลังรัฐประหาร ทหารขับรถ GMC (รถบรรทุกทางทหาร) มาหน้าบ้านบอกว่า ‘ไม่มีอะไรน้อง เรามาคุยกันเป็นปกติ’ ปกติที่ไหน คนแตกตื่นกันหมด

ในแง่คนบริหารก็ต้องแก้ปัญหา รับผิดชอบเพื่อนร่วมงาน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ตื่นตระหนกเกินไป ถ้าเราบอกว่ามันมาแน่ โดนแน่ๆ มันยิ่งไปกันใหญ่ ก็ต้องครองสติไปให้ได้ เวลาเจ้าหน้าที่มาก็ให้มาหาผมคนเดียว

10 ปีแรกต้องหมุนเงินตลอดแถมยังมีคดีความอีก คุณไม่รู้สึกว่างานเป็นปัญหาชีวิตเลยเหรอ

ผมไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้เลยนะ ไม่เครียด ไม่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ งานมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอยู่แล้ว อย่างเช่นการอ่านต้นฉบับ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังทำงาน แต่คิดว่ากำลังเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ สำนักพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผม มันเหมือนกับการกินข้าว ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระ การไม่ได้ทำงานต่างหากที่อาจจะทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นภาระ 

ผมคิดกลับกันแบบนี้นะ ถ้าจะมีคนบอกว่าผมประหลาด มันควรจะมีงานที่คนไม่รู้สึกแปลกแยกหรือเปล่า ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีชีวิตส่วนตัวเลยนะ นั่นก็เกินไป แต่ก็ทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ มีทางเลือกที่ดีพอ มีค่าตอบแทนที่ดี 

 

แต่งานคุณเป็นงานที่เสี่ยงนะ

มีคนเสี่ยงกว่าผมเยอะ (หัวเราะ) คนทำพรรคการเมืองเสี่ยงกว่าผมอีก ผมคิดอย่างนี้นะ การทำงานการเมืองที่ปลอดภัยคือคุณต้องออกมาอยู่ในที่สว่าง ทำให้อยู่บนดิน โอเค เราไม่ได้รับประกันว่าการอยู่บนดินจะปลอดภัยทุกคน แต่คนที่ไม่ทำแบบนี้อันตรายทุกคนแน่นอน เพราะถ้าคุณทำใต้ดิน รัฐก็จะใช้วิธีใต้ดิน

 

คุณกลัวอะไรมากกว่ากันระหว่างมีคดีความกับไม่ได้ทำหนังสือ

ไม่ได้ทำหนังสือ (ตอบทันที) ถ้าให้เลือกว่าปลอดภัยแล้วทำหนังสืออะไรก็ได้ ผมคงไม่ทำ แต่ถ้าบอกว่าไปให้ไกลที่สุดแต่ให้มันปลอดภัย ให้เรายังมีอิสรภาพระดับหนึ่ง ผมว่ามันต้องอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าบอกว่าทำเนื้อหาที่ไม่ให้สำนักพิมพ์ถูกปิด แปลว่าคุณก็ไม่ต้องทำอะไรเลย 

คือผมไม่ได้เป็นคนกล้าหาญอะไรมากมายนะ ตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ใช่คนบ้าบิ่น ไม่ใช้ชีวิตแบบมีความเสี่ยง แต่ถามว่าเรื่องบางเรื่องถ้าเราคิดว่ามันใช่ เชื่อว่ามันถูก เราก็ทำ การยืนยันความเชื่อเป็นเรื่องปกติของคนอยู่แล้ว ซึ่งการทำงานทางความคิดมันใช้เวลา มันต้องทำไปตลอด ถ้าบอกว่าทำไป 15 ปีแล้วหยุด มันไม่ใช่ 

พอมองย้อนภาพรวม 18 ปีของฟ้าเดียวกันจนถึงตอนนี้ คุณเคยคิดไหมว่าหนังสือวิชาการจะกลายมาเป็นกระแสเพราะคนรุ่นใหม่

ไม่เคยคาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ แต่ถามว่ามันเกินความคาดหมายร้อยเปอร์เซ็นต์เลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เพียงแต่ความป๊อปมันอาจจะมากกว่าที่เราคิดบ้าง 

แต่พอลองมองข้อมูลก็ปฏิเสธข้อเท็จจริงอันดับแรกไม่ได้ว่า ความสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่มาพร้อมกับกระแสพรรคอนาคตใหม่ที่ธนาธรกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ไปร่วมก่อตั้ง ธนาธรก็โดนโจมตีไปก่อนแล้ว ส่วนอาจารย์ปิยบุตรก็เขียนบทความและออกหนังสือกับฟ้าเดียวกัน   แต่พอคนสนใจแล้วจะไปทิศทางไหน อันนี้ผมไม่รู้ เพราะข้อเรียกร้องปัจจุบันไปไกลมาก สอง–พอมีชื่อธนาธร ปิยบุตร อนาคตใหม่ แล้วฝ่ายโจมตีชอบบวกฟ้าเดียวกันเข้าไปด้วย ผมไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่า มันทำให้คนสนใจฟ้าเดียวกัน แต่ก็ยืนยันไม่ได้นะ เป็นเพียงข้อสังเกต  

พออนาคตใหม่สามารถจุดกระแสความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ได้ ผมว่าหลายอย่างมันเลยเป็นผลพลอยได้ เช่น ธนาธรบอกว่าพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อภารกิจ 2475 ที่ยังไม่สำเร็จ ฝั่งขวาเลยโจมตีทั้งธนาธร 2475 และฟ้าเดียวกัน ซึ่งด้านหนึ่งผมว่ามันทำให้คนสนใจอยากหาคำตอบว่า 2475 เป็นยังไง 

อีกอันที่เห็นได้ชัดคือผมมีเซนส์ตั้งแต่วันไหว้ครูปี 2562 ที่อยู่ๆ เด็กนักเรียนทำพานไหว้ครูล้อการเมืองพร้อมกันทั่วประเทศ หรือตอนงานสัปดาห์หนังสือหลังเลือกตั้ง มีเด็กผู้หญิง ม.2 โรงเรียนบดินทรเดชามาซื้อหนังสือของอาจารย์ปิยบุตรพร้อมขอลายเซ็นที่บูทฟ้าเดียวกัน ผมก็ไปขอคุยด้วย แล้วหลายอย่างที่เราเห็นมันก็ใกล้เคียงกับการศึกษาของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่พูดถึงหนังสือที่เด็กสนใจหลังการลุกขึ้นประท้วงของนักเรียนทั่วประเทศในตอนนี้เลย 

ปรากฏการณ์นี้ช่วยยืนยันอุดมการณ์อะไรไหม

ช่วยยืนยันว่าอุดมการณ์รอยัลลิสต์แบบเดิมมันไปไม่ได้แล้ว มันฝืนธรรมชาติ พอมีความคิดใหม่มาท้าทาย คนที่ออกมา defend อุดมการณ์รอยัลลิสต์แบบเดิมกลายเป็นคนที่ไม่ใช่ผู้นำทางความคิด แต่มาด้วยอารมณ์ของความเกลียดชังและใช้ความรุนแรง 

ส่วนเราเป็นแค่คนมาบอกว่าระบบมันไม่สมเหตุสมผลยังไง เรามีพยานหลักฐาน เรามีเหตุผล 

 

สุดท้ายจากปรากฏการณ์ทั้งหมด คุณคิดว่าในฐานะสำนักพิมพ์ที่ขับเคลื่อนความคิด ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จหรือยัง

โห อีกยาวไกล ใครถามแบบนี้ผมมักจะตอบว่าไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องประเมิน แต่คนอ่านเป็นคนที่ประเมินเราต่างหาก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!