หลังจากที่ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคนแวดวงวรรณกรรมอีสานมาจำนวนหนึ่ง เราพบว่าความเคลื่อนไหวที่ใครๆ ต่างพูดถึงและน่าสนใจบักคักคือ การที่มีคนหยิบวรรณกรรมต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาลาวอีสาน เราจึงไม่รอช้ารีบติดต่อพูดคุยกับ พี–พีระ ส่องคืนอธรรม ผู้เป็นเจ้าของความเคลื่อนไหวนี้ที่อยู่อีกซีกโลก
พีระเกิดและเติบโตที่จังหวัดศรีสะเกษ เขาเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยเป็นพี่เลี้ยงค่ายให้นักเรียนไทยที่ได้ทุนไปเรียนสหรัฐอเมริกาและนักเรียนทุนอเมริกันในภาคอีสานและภาคเหนือของไทย ทุกวันนี้ใช้ชีวิตกับสามีฝรั่งที่ภาคตะวันตกตอนกลางของสหรัฐอเมริกา เขียนคอลัมน์รายสะดวกสลับกับทำงานแปลและบรรณาธิการ
ผลงานของเขาที่สร้างความฮือฮาให้วงการวรรณกรรมไทยคือ การหยิบรวมเรื่องสั้นภาษาสเปนของ Juan Rulfo มาแปลเป็นภาษาลาวอีสานในชื่อ ท่งกุลาลุกไหม้ แม้ไม่ได้เป็นงานเขียนที่แปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาลาวอีสานเล่มแรกของไทย แต่ก็พอพูดได้ว่าวรรณกรรมที่เกี่ยวกับชาวบ้านในชนบทเม็กซิโกเล่มนี้เป็นงานแปลวรรณกรรมที่ยึดตัวบทต้นฉบับที่มีอยู่หนึ่งเดียวเป็นสำคัญ
ด้วยความที่คุณเป็นชาวอีสานและคลุกคลีกับแวดวงคนน้ำหมึกในอีสาน อยากให้ช่วยอธิบายถึง ‘วรรณกรรมอีสาน’ ว่าเป็นยังไง
สำหรับเราที่เป็นลูกแต้จิ๋วในเมืองที่ญาติๆ เว้าลาวกันแต่หันมาพูดไทยกับเรา วรรณกรรมอีสานหมายถึงสิ่งที่ช่วยเชื่อมต่อเราเข้ากับความเป็นจริงของคนแถวบ้าน หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตคือ ทางหอม ของ ธีรยุทธ บุษบงค์ บทกวีและบันทึกความทรงจำวัยเด็กในชุมชนชาวไร่หอมแดง ทำให้เราเห็นความงามของสิ่งใกล้ตัวขณะที่ตัวอยู่ไกล (ตอนนั้นพีระเรียนปริญญาตรีอยู่ที่สหรัฐอเมริกา) และทำให้สงสัยมากขึ้นว่าชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขายังไง จนวันนี้จากผู้เสพก็กลายเป็นผู้สร้างวรรณกรรมอีสานให้มีที่ทางกว้างขึ้นสำหรับคนก้ำกึ่งทางอัตลักษณ์ ซึ่งถ้าคิดดูดีๆ แล้วคนอีสานทั่วโลกก็อยู่ในภาวะก้ำกึ่งกันมากมายทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม
คุณมองวรรณกรรมอีสานร่วมสมัยอย่างไร มีนักเขียนหรืองานเขียนชิ้นไหนที่สนใจเป็นพิเศษ
สารภาพว่าอ่านมาไม่มากพอ ตั้งแต่ ลูกอีสาน เรายังอ่านไม่จบเล่มเลย ไม่ต้องพูดถึงงานร่วมสมัย แต่นักประพันธ์ที่เราสนใจเป็นพิเศษคือ อาม–ชุติมา โสดาภักดิ์ (เพลง ผู้สาวขาเลาะ) กับ บิ๊กวัน กันทรลักษ์ (เพลง ครางชื่ออ้ายแน) ซึ่งเรานับนักแต่งเพลงเป็นนักเขียนด้วยได้ไหม ไม่ชอบการแบ่งชั้นวรรณะของวรรณกรรมจากงานเพลงและงานหนังสือพิมพ์เลย
ส่วนคนเขียนหนังสือที่สนใจจริงๆ ก็ชัชวาลย์ โคตรสงคราม (หนังสือ ทะเลน้ำนม) งานเขียนเขาหลุดโลกแบบโนสนโนแคร์ดีมาก นอกจากนี้ก็ทึ่งในความสามารถในการเขียนเรื่องสั้นของ จารุพัฒน์ เพชราเวช (หนังสือ อีกา) กับ ภู กระดาษ (หนังสือ เนรเทศ) และอีกหลายคนที่ยังไม่ทันได้อ่าน
อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปและเหตุผลในการหยิบรวมเรื่องสั้นภาษาสเปนของฆวาน รูลโฟ มาแปลเป็นภาษาลาวอีสาน
เริ่มจากเราได้อ่านหนังสือ El llano en llamas ครั้งแรกในเวลาใกล้กันกับ ฟ้าบ่กั้น แล้วมันคลิกเลย เป็นหนังสือฝาแฝดสองซีกโลกนี่หว่า รวมเรื่องสั้นพูดน้อยต่อยหนักฉากชนบท 17 เรื่องที่เขียนในยุคสงครามเย็นเหมือนกัน แม้ว่าความคล้ายคลึงส่วนหนึ่งเป็นภาพลวงตา แต่สิ่งสำคัญคือมันจุดประกายให้เราอยากนำหนังสือเล่มนี้กลับมาให้คนที่บ้านอ่าน แล้วบังเอิญต้นฉบับใช้ภาษาถิ่นแบบค่อนข้างเข้มข้น จะแปลยังไงให้ถึงใจคนเว้าลาวดีล่ะ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้ภาษาลาวอีสาน
ทำไมต้อง ฆวาน รูลโฟ และทำไมต้องเม็กซิโก
อินกับการอ่านงานของนักเขียนคนนี้ อ่านกี่รอบก็ไม่เบื่อ อ่านกี่สำนวนแปลก็ได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ในตัวบทที่สั้นมากๆ แต่ก็ซับซ้อนมากๆ ที่สำคัญคือภาษาเขียนของเขากลั่นกรองมาจากภาษาพูดของชาวบ้าน และบังเอิญว่ามันเป็นชาวบ้านในชนบทเม็กซิโก ซึ่งภาษาสเปนที่นั่นแตกออกไปผสมผสานกับภาษานาวัตล์ (Nahuatl) และภาษาพื้นเมืองอื่นๆ มีคนอ่านบางคนบอกว่ารูลโฟไม่ได้เขียนภาษาสเปน แต่เขียนภาษา mexicano งานของเขามีศัพท์เฉพาะและคำภาษาชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรมราชบัณฑิตสเปน ถึงกับมี พจนานุกรมผลงานฆวาน รูลโฟ ที่เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กหนาสองร้อยกว่าหน้า
ท่งกุลาลุกไหม้ ถือเป็นงานแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาลาวอีสานเล่มแรกของไทยเลยไหม มีใครเคยทำมาก่อนไหม
ไม่ใช่ชิ้นแรกแน่นอน อย่างน้อยก่อนหน้านี้ก็มี เวสสันดรชาดก ถัดมาก็มีการพากย์หนัง Charlie Chaplin เป็นภาษาอีสาน แต่ ท่งกุลาลุกไหม้ ก็พอจะเคลมความเป็นเล่มแรกได้ในแง่ของการแปลวรรณกรรมที่ยึดตัวบทต้นฉบับที่มีอยู่หนึ่งเดียวเป็นสำคัญ
อยากทราบถึงเกณฑ์การแปล การเลือกคำ และสำนวน เพราะจากที่ทราบภาษาอีสานไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียว
เกณฑ์การเลือกคำแปลวิวัฒนาการไปตลอด ตอนแรกไม่ได้อ่านยากขนาดนี้ แต่เลือกแปลเป็นลาวแล้วมันถลำลึกลงไปเรื่อยๆ เช่น ใช้คำไทยแบบมีกลิ่นอายความเป็นอีสานมันไม่พอ งั้นใช้คำลาวคู่คำไทยแล้วกัน แต่พอใช้คำไทยประกบแล้วมันซ้ำซ้อนไม่เป็นธรรมชาติ งั้นใช้คำอีสานเป็นหลักแล้วกัน แต่ใช้คำอีสานปัจจุบันมันไม่เข้ากับบรรยากาศย้อนยุคในเรื่อง งั้นใช้คำลาวยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แล้วกัน แต่สะกดคำแบบไทยมาตรฐานมันขัดตา เปลี่ยนมาสะกดตามการออกเสียงแล้วกัน แต่พอสะกดตามการออกเสียงหมดมันจะพานอ่านไม่รู้เรื่องเอาเวลามีคำไทยกับคำเม็กซิกันปะปน จนสุดท้ายเราตั้งอักขรวิธีอีสานเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการอ่านแล้วได้ยินเสียงกับการอ่านแล้วไม่ไขว้เขวแล้วกัน
ผลที่ออกมาคือเป็นภาษาอีสานสำเนียงไฮบริด รูปวรรณยุกต์ไม่ยึดตามสำเนียงไหนเลย นี่ตั้งใจไม่ดัดรูปวรรณยุกต์จากโทเป็นเอกและจากเอกเป็นสามัญเพื่อคนจังหวัดเลยเลยนะ เพื่อนสนิทเราที่เป็นไทเลยจึงอ่านได้แม้สำเนียงเลยจะฉีกแนวมากจากสำเนียงลาวส่วนใหญ่ในอีสาน ส่วนรูปสระยึดตามสำเนียงขอนแก่นของหมอลำแบงค์ (ปฏิภาณ ลือชา) ที่สามารถอ่านเขียนคำโบราณได้อย่างงดงาม ยกเว้นสระเอือสะกดเหมือนสำเนียงอุบลฯ เพื่อช่วยในการแยกจากคำสระเอียไม่ให้คนอ่านงง พยัญชนะดัดจริตใช้ ญ หญิง แทนเสียง ย ขึ้นจมูก เพื่อความทัดเทียมกับการถอดเสียงตัว ñ จากภาษาสเปน มีถ้อยคำแบบศรีสะเกษบ้านเราพอหอมปากหอมคอ และผ่านการกรองคำที่ไม่ชอบมาพากลอีกทีโดยปอย–ภาวดี ประเสริฐสังข์ พิสูจน์อักษรคนสารคาม
ทั้งหมดทั้งมวลคือพยายามทำให้มีมาตรฐานเฉพาะกิจ พอที่คนอ่านหลายวัยหลายถิ่นทั้งในและนอกอีสานจะสามารถอ่านเข้าใจและเข้าถึงความงามของมันได้ เราชอบคิดว่าภาษาอีสานในสำนวนแปลมันเป็นถิ่นไหนก็ได้แหละ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่า แต่เท่าที่ทราบจากผู้อ่าน ขอให้รู้ภาษาลาวในอีสาน จะถิ่นไหนก็อ่านรู้เรื่องและขัดใจได้เหมือนกัน เพราะมีหลายจุดที่แปลสำนวนโวหารแบบตรงตัว ทำให้คนอ่านต้องแกะความหมายเอาเองในภาษาปลายทาง
อยากให้เล่าถึงการทำงานแปลรวมเรื่องสั้นเล่มนี้
ใช้เวลาประมาณ 3 ปีดิ้นรนหาหนทางของสำนวนแปลผ่านการพูดคุยกับผู้คน การอ่าน การล่าม และการทดลองเขียนภาษาอีสานในงานหนังสือพิมพ์ แต่ถ้านับเฉพาะเวลาที่นั่งแปลและนั่งแก้จริงๆ ประมาณ 8 เดือนได้ สำหรับหนังสือที่ยาวไม่ถึงสองร้อยหน้า เราเริ่มแปลตั้งแต่ปี 2558 หลังจบปริญญาตรี ให้แม่ลองอ่านเรื่องหนึ่ง ให้เพื่อนเจ้าของภาษาช่วยเสนอ ให้เจี๊ยบ–วิทยากร โสวัตร ช่วยแก้ และส่งไป ชายคาเรื่องสั้น จนได้ลงไปเรื่องหนึ่งเมื่อต้นปี 2559 แต่หลังจากนั้นก็ระหกระเหินอยู่สองปีเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของตัวเอง
มันมาลงตัวจริงๆ เมื่อได้นั่งแก้สำนวนแปลกับหมอลำ แบงค์–ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ช่วงกลางปี 2561 ตามด้วย ไอดา อรุณวงศ์ ที่ช่วยอ่านเทียบฉบับภาษาอังกฤษอย่างใส่ใจในความซับซ้อนมากๆ ของตัวบท ผลที่ปรากฏทำให้รู้สึกว่าเราทำได้แล้วเว้ย สิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับคนอีสานพอกะเทินอย่างเรา ด้วยการระดมสมองของลูกเจ๊ก (ผู้แปล) ลูกลาว (บ.ก.คำลาว) ลูกไทย (บ.ก.คำอังกฤษ) และลูกแขก (พิสูจน์อักษร)
ก่อนที่สำนวนแปลแต่ละเรื่องจะถึงมือคนอื่นก็ต้องผ่านมาแล้วอย่างน้อย 3 ร่าง ร่างแรกในจอคอมฯ ร่างที่สองปรินต์ออกมาแก้ ร่างที่สามคือพิมพ์ที่แก้แล้วบนกระดาษกลับลงไปในคอมฯ ซึ่งก็ต้องคิดใหม่อีกที เสร็จแล้วค่อยปรินต์ออกมานั่งแก้กันกับแบงค์ แล้วก็เอาที่พวกเราแก้บนกระดาษไปเรียงพิมพ์ในอินดีไซน์ ซึ่งก็ต้องคิดใหม่อีกที จากนั้นไอดาก็อ่านสำนวนแปลอีสานไปทีละประโยคเทียบกับสำนวนแปลอังกฤษสองฉบับ ไอดาแก้ไปอีกรอบ จากนั้นก็ปรินต์ออกมาให้ปอยพิสูจน์อักษรสองรอบ ระหว่างนี้เราก็แก้อีกโดยปรึกษาแบงค์และปอยจนเช้าตรู่วันสุดท้ายของการตรวจปรู๊ฟดิจิทัลกับโรงพิมพ์ ซึ่งก็ลำบากไอดาที่ต้องมาคัดกรองการแก้ไม่ให้มันเยอะเกิน
หลังตีพิมพ์ตอนสิ้นปี 2561 ถึงตอนนี้ก็ผ่านมาได้ปีกว่าๆ แล้ว ทุกวันนี้ยังหลอนแทบทุกครั้งที่จ๊ะเอ๋กับคำลาวหรือคำสเปนที่มีในหนังสือ ยังกลับไปเปิดดู ปรับตรงนั้น เปลี่ยนตรงนี้อยู่เลย แต่ไม่ได้เสียดายอะไรเท่าไหร่ สนุกกับมันมากกว่า
ตอนทำงานกับเล่มนี้ คุณเห็นใครเป็นคนอ่านบ้าง
ตอนแปลและทำงานเล่มนี้เราเห็นคนอ่านเป็นตัวเองในอดีตที่ต้องงงเป็นไก่ตาแตก แต่ก็คงจะตื่นตาตื่นใจกับการอ่านมาก เห็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ในหมู่บ้านที่เคยไปนั่งคุยด้วยบนแคร่ไม้หน้าร้านชำเพื่อเขียนทีสิสมานุษยวิทยา เห็นนักเขียนจากอีสานทุกคนทั้งคนที่จะต้อนรับและผลักไสการทดลองครั้งนี้ เห็นนักอ่านฮาร์ดคอร์ที่ตั้งใจอ่านไม่ว่าจะรู้ภาษานี้มาก่อนแค่ไหน เห็นใครสักคนที่ยังไม่เกิดแต่จะมาสืบทอดสิ่งที่เราทำ และเห็นคนที่ใช้ภาษานี้ในจักรวาลคู่ขนานที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร
จากข้อพิพาทเรื่องภาษาอีสานบนหน้าปกว่าจริงๆ ต้องเป็นภาษาลาวอีสานใหม่ไหม คุณคิดเห็นเรื่องนี้ยังไง
ตอนแรกเราก็ตั้งใจจะเรียกมันว่า ‘ภาษาลาวอีสานใหม่’ ตามที่ได้ขอให้หมอลำแบงค์คิดให้ในวันสุดท้ายที่นั่งแก้ต้นฉบับด้วยกัน แต่ไอดาเสนอว่าใช้ ‘ภาษาอีสาน’ ไปเลยก็มีประเด็นน่าสนใจเหมือนกัน ทำให้เราได้มาขบคิดจนข้ามพ้นจากอาการภูมิแพ้ต่อคำคำนี้ได้ เหตุผลหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องพื้นที่สุดแต่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือ เรื่องกฎหมายที่เราทำสัญญาแปลกับผู้ดูแลลิขสิทธิ์ว่าจะแปลเป็น ‘tailandés’ จัดจำหน่ายในประเทศไทย จึงเลือกคำที่เป็นสีเทา แล้วแต่คนอ่านสัญชาติไทยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายจะนับว่ามันเป็นภาษาอะไร แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าคืออยากเล่นกับภาวะก้ำกึ่งของคำว่า ‘ภาษาอีสาน’
เท่าที่ได้ยินมา ข้อวิจารณ์ต่อคำว่า ‘อีสาน’ โดยเฉพาะ ‘ภาษาอีสาน’ อาจจะแบ่งให้เข้าใจง่ายๆ ได้สองทาง ทางหนึ่งมองคำนี้เป็นจิตสำนึกของการถูกครอบงำ เอาคำบอกทิศจากศูนย์กลางมากลืนชาติกลืนภาษา ทั้งที่ในสารบบของภาษาและชาติพันธุ์ก็มีชื่อเรียกมันอยู่แล้วว่า ‘ลาว’ ส่วนอีกทางหนึ่งมองคำนี้เป็นจิตสำนึกของการครอบงำคนอื่น เป็นหลุมพรางตรงที่มันสื่อถึงภาษาลาวภาษาเดียวแต่ส่อนัยครอบทุกภาษาและชาติพันธุ์ ทำให้เกิดช่วงชั้นที่กลืนภาพตัวแทนของภูมิภาคนี้จนแบนราบไปหมด ซึ่งก็เป็นข้อวิจารณ์ที่น่ารับฟังทั้งคู่
แต่สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามกลับคือการใช้คำนี้แบบที่ไม่ถูกครอบงำและไม่ครอบงำคนอื่นมันเป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นไปไม่ได้ แปลว่าเราจะต้องเปลี่ยนปก ปฏิเสธมรดกของ สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของปรีชา พิณทอง ที่รวบรวมคำลาวเป็นหลักหรือเปล่า และเราต้องปฏิเสธการที่คนร่วมสมัยใช้คำว่า ‘ภาษาอีสาน’ กับ ‘ภาษาลาว’ ทั้งคู่ด้วยหรือเปล่า อย่างในบทสัมภาษณ์แอดมินเพจ ‘เขียบ’ (ในเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด) ผู้สร้างนวัตกรรมการเล่นมุกกับสำเนียงถิ่นที่ดิ้นไปมาระหว่างภาษาไทย/ลาว/อังกฤษ ก็ไม่ได้กระดากที่จะใช้คำว่าภาษาอีสานสลับไปมากับคำว่าภาษาลาว แม้ผู้สัมภาษณ์จะใช้แต่คำว่าลาวก็ตาม
อดสังเกตไม่ได้ว่าข้อวิจารณ์เหล่านี้โพสต์ในเพจ ‘ขบวนการอีสานใหม่’ บ้าง ในเว็บ ‘เดอะอีสานเรคคอร์ด’ บ้าง คือเผยแพร่ใต้หัวสื่อที่ชูอัตลักษณ์อีสานพร้อมกับกังขาต่อคำว่าภาษาอีสาน ซึ่งก็เข้าใจนะว่าต้องการสื่ออะไร แต่มันก็มีความขัดแย้งในตัวเองระดับหนึ่ง คือยอมรับการรีเคลมคำว่า ‘อีสาน’ หรือไม่ก็คำเลี่ยง ‘ตะวันออกเฉียงเหนือ’ เป็นอัตลักษณ์รวมหมู่ กอบกู้มันจากการถูกครอบงำของส่วนกลาง แต่กลับผลักไสการใช้เหตุผลทำนองเดียวกันกับคำว่า ‘ภาษาอีสาน’ เพื่อกล่าวถึงภาษาที่มีจำนวนคนพูดมากที่สุดในภูมิภาคและใช้กันเป็นภาษากลางข้ามชาติพันธุ์ไม่แพ้ภาษาไทยกลางในหลายพื้นที่
ถึงวันนี้เราไม่มีภูมิแพ้ต่อคำนี้แล้ว เพราะเราใช้มันด้วยสำนึกรู้ว่ามันคือภาษาลาวแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่ปฏิเสธการใช้คำนี้ของผู้คนที่ไม่ได้รู้สึกว่าต้องขีดเส้นแบ่งความเป็นไทยออกไปจากความเป็นลาว การอ่าน ท่งกุลาลุกไหม้ จากมุมของคนไทยที่ไม่รู้ภาษาลาวก็จะได้เรียนรู้คำลาวที่แฝงอยู่ในคำซ้อนภาษาไทยด้วย เช่น เญิ้น ใน เยิ่นเย้อ, แนม ใน สอดแนม, ป๋า ใน ปล่อยปละ เป็นต้น
จะว่าไปเราก็คิดถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับคำว่า ‘อเมริกา’ และ ‘ภาษาสเปน’ เหมือนกันนะ คำว่าอเมริกามาจาก Amerigo Vespucci เรียกได้ว่าเป็นคำที่โคตรจะครอบงำคนทั้งซีกโลกโดยลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรป ส่วนคำว่า ‘ภาษาสเปน’ ก็เป็นการทำให้สเปนแบนราบ ไม่เห็นความหลากหลายทางภาษาในประเทศสเปนที่ไม่ได้พูดแต่สเปน
หลายคนในลาตินอเมริกานิยมเรียกภาษานี้ว่า Castellano มากกว่า español เพื่อลบนัยอาณานิคม แต่พอถึงคราวต้องสื่อสารกับโลกภาษาอังกฤษ ก็มักเรียกมันว่า Spanish มากกว่า Castilian อยู่ดี การใช้คำว่า ‘ภาษาลาว’ กับ ‘ภาษาอีสาน’ คู่กันไปก็มีนัยนั้นได้เหมือนกัน คือเวลาพูดกันเองในหมู่คนใช้ภาษานี้ เราก็จะบอกว่า ‘เว้าลาว’ แต่พอพูดกับคนภายนอกก็จะพูดว่า ‘ภาษาอีสาน’ เพื่อความสะดวกส่วนหนึ่ง และเราเคยอ่านเจอคนหนึ่งเขียนไว้ว่าเขาใช้แยกกันเพราะเวลาคนนอกใช้คำว่า ‘ลาว’ แล้วมีสิทธิโกรธกันได้ เพราะสำหรับเขามันยังติดนัยของการเหยียด เราจำเป็นต้องถือว่าเขาคนนี้ยังถูกครอบงำอยู่ลึกๆ ไหม
ขณะเดียวกันเราก็เห็นชาวลาตินอเมริกาที่ไม่ได้กระดากจะใช้คำว่าภาษาสเปน แถมยืดอกอย่างภาคภูมิใจที่จะเรียกตัวเองว่า Latinoamérica แม้ว่าเขาจะวางตัวต่อต้านการสืบทอดมรดกของคนอย่าง Christopher Columbus หรือ Amerigo Vespucci–เขารีเคลม ‘อเมริกา’ เป็นอัตลักษณ์รวมหมู่ข้ามชนเผ่าชาติพันธุ์ และไม่รู้สึกว่าต้องเลี่ยงคำว่า ‘ภาษาสเปน’
ประเด็นสำคัญที่คำว่า ‘ลาว’ สู้คำว่า ‘อีสาน’ ไม่ได้คือศักยภาพที่จะเล่นกับภาวะก้ำกึ่ง-ไฮบริด-พอกะเทิน ท่งกุลาลุกไหม้ เป็นภาษาลาวก็จริงแต่ก็เป็นภาษาแปลด้วย มันคงคำศัพท์แปลกๆ และไวยากรณ์แปร่งๆ จากต้นฉบับไม่น้อย เรามองว่าภาวะพันทางในสำนวนแปลระหว่างภูมิทัศน์อีสานกับเม็กซิโก ระหว่างไทยกับลาว และระหว่างกัสเตยาโนกับนาหวัตล์ มันเติมความหมายใหม่ให้กับอัตลักษณ์และภาษาอีสานที่เป็นสีเทาอย่างน่าเย้ายวน มันสื่อได้ดีถึงภาวะพันทางของคนที่ต้องคอยโค้ดสวิตช์ทางภาษาและวัฒนธรรมอยู่เสมอ
การใช้คำว่า ‘ภาษาอีสาน’ มองบางมุมอาจจะเป็นการเพลย์เซฟ แต่สำหรับเราที่นับตัวเองเป็นสมาชิกของพื้นที่ในจินตนาการของพวกเราที่ชื่อ ‘สาธารณรัฐลาวล้านช้าง’ มันเป็นการแตกแถวอย่างรู้ตัวเพื่อท้าทายว่าอัตลักษณ์อีสานทุกวันนี้ก็มีพลังไหลบ่าเป็นตัวของตัวเองจนไม่รู้ว่าใครกลืนใครกันแน่แล้วไหม แทนที่จะใช้คำว่าลาวเพื่อความถูกต้องทางการเมืองหรือความปลอดภัยสบายใจของพวกเรา การปักป้ายภาษานี้ยังไงก็วิวาทะกันได้ไม่จบ ถึงที่สุดแล้วเราว่ามันไม่ได้น่าสนใจเท่ากับการลงไปปลุกปล้ำกับความซับซ้อนทางภาษาในตัวบทและในโลกความจริง
การมีวรรณกรรมอีสานที่แปลจากภาษาอื่นๆ มีความสำคัญหรือแสดงถึงอะไร
การมีวรรณกรรมอีสานที่แปลจากภาษาอื่นๆ แปลว่าอัตลักษณ์อีสานเป็นภาชนะที่สามารถรองรับความสลับซับซ้อนทางภาษาและวัฒนธรรมที่อื่นได้ไม่แพ้ความเป็นไทยมาตรฐานหรือบางทีก็ดีกว่า มันแสดงถึงการปลดปล่อยศักยภาพของภาษาถิ่นออกจากความเป็นท้องถิ่นโดยใช้มันเป็นภาษาพาหนะ พัฒนามันให้เป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโลกได้ทำนองเดียวกับที่มันเป็นรถไฟหวานเย็นมาก่อน
คุณอยากเห็นมูฟเมนต์อะไรในแวดวงวรรณกรรมอีสานร่วมสมัย
เราอยากเห็นงานเขียนร่วมสมัยแนวเควียร์อีสาน ไซ-ไฟอีสาน และอยากเห็นลูกผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับฝรั่งลุกขึ้นมาเขียนวรรณกรรมตบหน้าพวกเราชาวสาธารณรัฐลาวล้านช้างดู