Qualy แบรนด์ไทยระดับโลกผู้ออกแบบของใช้พลาสติกให้ออกมาน่ารักและรักษ์โลก

หลังจากที่ฉันโทรไปสัมภาษณ์เจ้าของแบรนด์ Qualy ถึงเบื้องหลังแนวคิดและการออกแบบโปรดักต์ถังข้าวรุ่น ‘หนูตกถังข้าวสาร’ เพื่อเขียนโพสต์ Think Positive ลงในเฟซบุ๊ก a day magazine ฉันก็ตัดสินใจทันทีเลยว่าจะเขียนบทความเล่าถึงแบรนด์นี้แบบยาวๆ

หากคุณเคยเดินดูของใช้และของตกแต่งบ้านในร้านประเภทนี้ทั้งในไทยและต่างประเทศ น่าจะเคยเห็นโปรดักต์น่ารักๆ ในรูปทรงที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิงสาราสัตว์กันบ้าง บางคนอาจถึงขนาดเคยซื้อไปจับฉลากงานปีใหม่หรือใช้เป็นของขวัญในเทศกาลอื่นๆ เช่น กล่องทิชชู่ทรงกระถางต้นกระบองเพชร จานรองรูปเมฆ กล่องใส่สำลีที่มีรูปต้นไม้กับสัตว์อยู่ด้านใน

ไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ คือนักออกแบบและเจ้าของแบรนด์อายุกว่า 16 ปีนี้ เขาเริ่มต้นก่อตั้ง Qualy มาตั้งแต่ปี 2547 ต่อยอดจากธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว โดยขยายบทบาทของตัวเองจากผู้ผลิตมาเป็นผู้จัดจำหน่ายเองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเขายังใช้ความคิดสร้างสรรค์พลิกโฉมให้วัสดุราคาถูกอย่างพลาสติกดูหรูหรา มีคุณค่ามากขึ้น ด้วยหน้าตา รูปทรง และฟังก์ชั่น จนได้รับรางวัลระดับสากลเรียงเต็มชั้นวาง

และด้วยความที่ไจ๋ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติกที่ใครๆ ต่างมองว่าเป็นตัวร้ายในยุคที่ทั่วโลกตื่นตัวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เขาจึงไม่อยู่นิ่ง พยายามหาทางลดขยะประเภทนี้ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นโปรดักต์ใหม่ เพื่อยืนยันถึงคอนเซปต์ของแบรนด์ อันได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ความสุข และความยั่งยืน

ทำไมเขาต้องทำถึงขนาดนั้น เบื้องหลังวิธีคิดโปรดักต์แสนน่ารักเหล่านี้ที่ใช้งานก็ดี ตั้งโชว์ก็ได้ มาจากที่ไหน และเขาทำธุรกิจให้ไปไกลระดับโลกแบบนี้ได้ยังไง ไจ๋พร้อมเล่าให้คุณฟังแล้ว

(คำเตือน : โปรดเตรียมกระเป๋าเงินของคุณไว้ให้มั่น เพราะหลังจากฟังสตอรีของโปรดักต์แต่ละชิ้นแล้ว คุณอาจรู้สึกว้าวจนอยากซื้อทุกอย่างของ Qualy เหมือนฉันก็เป็นได้)

เติมความชอบต่อจากธุรกิจของที่บ้าน

ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโตในครอบครัวเชื้อสายจีน ไจ๋รู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องรับหน้าที่ทำธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกต่อ ทว่าจากความชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ และการทำอะไรซ้ำๆ แบบระบบอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่ตรงใจเขานัก การหาจุดตรงกลางจึงดูเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

“เราประนีประนอมหาว่าอะไรที่จะยืดหยุ่นระหว่างการทำโรงงานและการทำตามความชอบ จนมาเจอสิ่งที่เรียกว่า industrial design ซึ่งตรงกับกิจการที่บ้าน เราเอาสิ่งนี้มาเสนอพ่อแม่ที่ตอนแรกอยากให้เราเรียนวิศวะ เพราะมองว่ามีคำว่าอุตสาหกรรมน่าจะประนีประนอมกับเขาได้ สุดท้ายก็ได้เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง” ลูกชายคนโตของบ้านเริ่มต้นเล่าพลางแย้มยิ้ม

“พอจบมาเราก็อยากมีโปรดักต์เป็นของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาผลิตให้คนอื่นตลอด และเราก็ออกแบบเองได้ อย่างตอนเรียนจบใหม่ๆ เรารับออกแบบสินค้าให้คนอื่นด้วย เหมือนขาหนึ่งเราเป็นดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ แต่อีกขาหนึ่งก็เข้าไปทำงานด้านวิศวกรรมเชิงลึกในโรงงาน”

ประสบการณ์และความรู้เหล่านี้ทำให้ไจ๋มีความรู้ด้านการทำโปรดักต์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประจวบเหมาะกับตอนนั้นน้องชายของเขาเรียนจบด้านการตลาดพอดี แบรนด์ Qualy จึงถือกำเนิดขึ้น

เพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์

กว่าจะออกมาเป็นโปรดักต์น่ารักๆ แบบที่เห็นในปัจจุบัน ไจ๋เล่าว่าทั้งหมดผ่านการเรียนรู้ พัฒนา และปรับมาเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่มีแนวคิดแค่ทำอะไรที่ผลิตได้เอง พึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด และผลิตสิ่งที่คนทั่วไปต้องการ ทว่าต้องมีความพิเศษกว่าสิ่งที่วางขายอยู่

“โปรดักต์แรกที่ทำคือแก้วน้ำ ปกติถ้าเราดื่มน้ำเย็นจะมีไอน้ำเกาะตามแก้ว แต่เราออกแบบให้ไม่มีไอน้ำเกาะ ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทุกบ้านดื่มน้ำก็น่าจะใช้แก้ว เป็นการคิดแบบง่ายๆ คิดตามเซนส์ของคนทั่วไป เราทำการตลาดไม่เป็น” ไจ๋เล่าถึงวันวานแล้วหัวเราะ

ถึงกระนั้นเขาก็ลองนำโปรดักต์ซีรีส์นี้ที่มีทั้งเหยือก ถาด และจานรองแก้ว ไปออกงาน BIG+BIH งานแสดงสินค้าระดับประเทศ มีคนสนใจจำนวนมากจนมีห้างสรรพสินค้าติดต่อนำโปรดักต์ของ Qualy ไปวางขาย ถือเป็นความสำเร็จมากในยุคนั้น

“พอมาซีรีส์ที่ 2 ก็เริ่มออกแบบให้แปลกๆ เนื่องจากเราเป็นคนที่ทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่ทำโมลด์ ออกแบบ และผลิตด้วย ทำให้ได้เปรียบเรื่องต้นทุน น่าจะทดลองทำอะไรที่พิเศษไปกว่าของอย่างพวกแก้วน้ำ เราทดลองทำแอปเปิลลูกยักษ์และที่คั้นน้ำส้มหน้าตาแปลกๆ พอเราไปออกงาน BIG+BIH ครั้งที่ 2 ก็ได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเลย ทำให้เรียนรู้ว่ายังมีโอกาสสำหรับของที่มีความพิเศษและที่คนอื่นหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นแนวคิดการออกแบบแรกสุดเราโฟกัสที่คุณภาพงาน ส่วนเฟสที่ 2 คือเรื่องความยูนีคที่ไม่เหมือนคนอื่น เพื่อทำให้เรามีโอกาสที่แตกต่าง”

แม้ว่าตอนนั้นโปรดักต์ของ Qualy จะยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะคนไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ แต่การที่ที่คั้นน้ำส้มหน้าตาแปลกๆ ชิ้นนี้ไปปรากฏตัวบนหน้าปกนิตยสารด้านดีไซน์หลายฉบับก็ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

“เพราะคนที่ทำงานดีไซน์ไม่ค่อยทำเป็นอุตสาหกรรมแบบนี้ อย่างมากก็เป็นพวกเซรามิกที่ทำหลักหลายชิ้นได้ แต่พลาสติกต้องทำหลักพันขึ้นไป ยิ่งดีไซน์แปลกก็เริ่มขายลำบากขึ้น น้อยคนที่เสพของพวกนี้ กว่าจะขายได้ก็ประมาณปีที่ 3 แล้ว เรามาก่อนกาลไปหน่อย”

แม้ว่าสถานการณ์การค้าในไทยค่อนข้างยาก แต่ไม่ใช่สำหรับการค้ากับต่างประเทศ จากความเป็นไปได้นี้เองที่ทำให้ไจ๋เลือกใช้การออกแบบเป็นจุดแข็งของแบรนด์ เพราะปกติคนทั่วไปมักติดภาพพลาสติกว่าเป็นวัสดุราคาถูก แต่เขาเลือกที่จะทำให้สวยงามขึ้น ทั้งยังตั้งโชว์ในบ้านและที่ทำงานได้แบบไม่อายใคร

“ถ้าเราเทียบกับขวดน้ำพลาสติกที่ใช้วัสดุราคาเท่าๆ กัน อย่างซื้อขวดน้ำมา 7 บาท ดื่มเสร็จทิ้งขวดไป ต้นทุนนี้ใช้พลาสติกเท่ากัน ถ้าใส่ไอเดียเข้าไปมันจะขายได้ในราคาหลักร้อยหลักพัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้ขายได้คือความคิด แต่ความคิดที่ลอยในอากาศอาจจะขายยากสักนิดหนึ่ง คนที่ขายความคิดได้ถือว่าเก่งมาก แต่เรายังไม่เก่งขนาดนั้น เลยนำความคิดมาใส่ในวัสดุให้เกิดเป็นรูปทรงบางอย่าง เพื่อสื่อคุณค่าผ่านสิ่งที่เราจับต้องมองเห็นได้”

สื่อสารอย่างสากลผ่านรูปทรงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อเห็นว่าแอปเปิลในโปรดักต์ซีรีส์สองไปได้ดี เขาก็เริ่มหยิบรูปทรงและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้มากขึ้น เกิดเป็นโปรดักต์ที่มีรูปทรงหลากหลาย กลายเป็นที่จดจำของคนทั่วไป

“ทำไมถึงใช้รูปทรงสัตว์กับธรรมชาติ ทั้งที่มีรูปทรงอื่นๆ อีกมากมาย” ฉันตั้งคำถามพลางกวาดตามองโปรดักต์ในช็อปของ Qualy

“รูปทรงมีความหมายของมัน ถ้าพูดถึงแอปเปิลมันจะมีสตอรีบางอย่างเกี่ยวกับแอปเปิลที่เรารู้จัก อย่างการเป็นผลไม้แห่งภูมิปัญญาในตำนานอาดัมกับอีฟ หรือการค้นพบเรื่องแรงโน้มถ่วงของ Isaac Newton ซึ่งแต่ละเรื่องเกี่ยวกับปัญญาความคิด เลยคิดว่าแอปเปิลเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายที่ดี เวลาสื่อสารออกไปมันมีความเป็นสากล คนทั่วโลกรู้จัก แต่ถ้าเราทำเป็นลองกองหรือเงาะเขาก็อาจจะไม่เข้าใจ” ฉันหัวเราะเมื่อลองนึกภาพโปรดักต์เป็นรูปทรงผลไม้ที่ไจ๋บอก เขาเล่าต่ออีกว่าโปรดักต์รูปทรงสัตว์ชิ้นแรกที่ทำก็ออกแบบภายใต้คอนเซปต์นี้เช่นเดียวกัน นั่นคือนก

“เราพยายามเลือกสิ่งที่คนรู้จัก เรามีเป้าหมายในการดีไซน์คือคนใช้ได้ และคนทั่วโลกก็มีความคล้ายกันอยู่ ดังนั้นถ้าเราใส่วัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมมากเกินไปบางคนอาจรับไม่ได้ เหมือนอยู่ๆ ให้เราใส่ชุดอินเดียเดินไปเดินมาทุกวันมันคงไม่ใช่ เราเลยพยายามทำอะไรที่เป็นสากล และพอเริ่มส่งออกก็นึกถึงเรื่องที่เป็นสากลมากขึ้น ตัวนกเองเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องเข้าป่าก็มองเห็น เป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้และมีอยู่ทุกๆ ที่ คิดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย สื่อถึงความเป็นอิสระและไปไหนมาไหนได้”

ที่จริงแล้วไจ๋ไม่ได้ตั้งใจกำหนดว่าต้องออกแบบโปรดักต์เป็นรูปทรงสัตว์และธรรมชาติขนาดนั้น แต่ทุกครั้งที่ออกแบบเขาพิจารณาจาก 3 เรื่องเป็นหลัก ได้แก่ การใช้งาน การเป็นของประดับตกแต่งได้ และรูปทรงที่ต้องเล่าเรื่องโดยเชื่อมโยงกับฟังก์ชั่น ซึ่งรูปทรงประเภทนี้มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งยังมีความเป็นสากลที่คนทั่วโลกรับรู้ร่วมกัน ยกตัวอย่างพวงกุญแจรูปนกพร้อมที่เก็บรูปบ้าน Sparrow Key Ring

“ส่วนใหญ่เวลากุญแจหายมักเกิดจากการที่มันไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ถ้าเราตอกตะปูแล้วแขวนกุญแจไว้ พอเอากุญแจออกไปคนอื่นเห็นตรงนี้ว่างก็จะเอาอย่างอื่นมาแขวน แล้วเราก็ต้องเอากุญแจไปไว้ที่อื่นแทนจนมันหาย ฉะนั้นเราจึงออกแบบเป็นนกที่ใส่ในบ้าน อย่างอื่นใส่ในบ้านนี้ไม่ได้ เพื่อป้องกันคนอื่นเอาของมาใส่ พอออกแบบคู่กันจะช่วยให้กุญแจไม่หาย เพราะผู้ใช้จะเก็บเป็นที่เป็นทางโดยปริยายด้วยดีไซน์ของมัน” ฉันกับช่างภาพฟังแล้วร้องอ๋อลากยาว

“ทีนี้ทำไมต้องเป็นนกกับบ้าน เพราะบ้านแทนการที่เรากลับมาบ้าน ส่วนการไปๆ มาๆ แทนด้วยนกบินไปบินมา เห็นไหมว่ารูปทรงมันมีความหมายเชื่อมโยงกันอยู่ และขณะเดียวกันเราก็ทำให้เป็นนกหวีดเป่าได้ เพราะเวลาออกไปข้างนอกเราอาจเจอเรื่องไม่คาดฝันและอยากได้ความช่วยเหลือ ทั้งยังสอดคล้องกับเสียงและคำว่าว่านกหวีดด้วย นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด”

สตอรีที่ดีไม่ได้ช่วยทำให้โปรดักต์มีคุณค่าในแง่การสื่อสารเฉพาะในวงผู้ผลิตสู่ลูกค้าเท่านั้น ทว่ายังมีพลังในการเล่าเรื่องต่อจากลูกค้าไปสู่คนใกล้ตัวของเขา ไจ๋เล่าว่าช่วงที่ออกงานเคยมีคนพาเพื่อนเข้ามาในบูทและอธิบายแนวคิดการออกแบบโปรดักต์ที่เคยฟังจากเขาราวกับเป็นผู้ออกแบบเอง ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาลองปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการคิดถึงฟังก์ชั่นแล้วค่อยออกแบบรูปทรงโดยคำนึงถึงสตอรีที่เข้ากัน มาเป็นการตั้งโจทย์การออกแบบจากสตอรีที่อยากเล่าก่อนแล้วค่อยสร้างเป็นโปรดักต์ขึ้นมา

สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านการออกแบบ

เมื่อตระหนักว่าสตอรีนั้นทรงพลังเพียงใด ไจ๋ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงอยากบอกเล่าเรื่องนี้กับคนอื่นๆ ด้วยความที่รูปทรงของโปรดักต์เกี่ยวข้องกับสัตว์และธรรมชาติอยู่แล้ว บวกกับช่วงนั้นสภาวะโลกร้อนกำลังเป็นที่พูดถึง เขาใคร่ครวญคิดว่าจะทำโปรดักต์อะไรดี จนสุดท้ายมาตกลงกับกระติกน้ำแข็งที่ทำให้ทุกคนเห็นถึงวัฏจักรปัญหาโลกร้อนตั้งแต่น้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำท่วมหมีขั้วโลก

“เราทำเป็นกระติกสองชั้น ชั้นในมีรูรั่วแยกน้ำที่ละลายเพื่อเก็บน้ำแข็งให้นานขึ้น และแทนที่จะให้น้ำหยดลงไปโดนตัวหมีเฉยๆ เราก็ทำพื้นชั้นแรกเป็นรูปก้อนเมฆเหมือนฝนตก แปลว่าถ้าคุณปล่อยน้ำแข็งละลายไปเรื่อยๆ น้ำก็จะท่วมหมี เพราะฉะนั้นเวลาเล่าเรื่องนี้บวกกับเห็นของคนจะเก็ตและเล่าต่อ เป็นการเล่าเรื่องผ่านการดีไซน์ที่มีอีเวนต์ในตัวของมัน”

นอกจากน้ำแข็ง ไจ๋ยังหยิบเอา element ในการใช้งานอย่างสำลี ข้าวสาร ผัก ฯลฯ มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบด้วย เพราะหากไม่คำนึงถึงบริบทหรือสิ่งที่อยู่ข้างนอกข้างใน สิ่งนั้นอาจกลายเป็นส่วนเกินจนทำให้โปรดักต์ชิ้นนั้นไม่สวย

“อีกชิ้นที่อยากยกตัวอย่างคือ กล่องใส่ทิชชู่ทรงขอนไม้ที่มีกระรอกอยู่ข้างบน ซึ่งพูดถึงป่าไม้กับการใช้กระดาษ เพราะปกติทิชชู่ทำมาจากไม้ ซึ่งไม้ก็มาจากป่า ต่อให้ปลูกป่าทดแทนหรืออะไรก็แล้วแต่ต้องมีการตัดไม้แน่นอน ยังไม่นับรวมกระบวนการทำทิชชู่ที่โรงงานปล่อยมลภาวะออกมาอีก ฉะนั้นเราเลยออกแบบให้คนดึงทิชชู่จากก้อนท่อนไม้ เวลาดึงจะมีต้นไม้กับกระรอกที่ขยับเขยื้อน เรียกว่าสะเทือนเมื่อคุณใช้งาน เวลาใช้ไปเรื่อยๆ ม้วนกระดาษจะหดเล็กลงจนตัวกระรอกมุดหายไป ดีไซน์เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ไปด้วย”

หยิบของเก่ามาผลิตใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาพลาสติก

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านปัญหา climate change ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นจนเกิดการตระหนักรู้กันอย่างจริงจัง ทั้งยังเกิดเหตุการณ์พบไมโครพลาสติกในทะเลจากขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ในฐานะผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์โปรดักต์ที่ทำจากพลาสติกไจ๋คิดว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่างมากกว่าแค่ออกแบบ

เขาทราบว่าในสังคมมีการรณรงค์เก็บขยะพลาสติกไปคัดแยกเพื่อรีไซเคิลเป็นของใช้เกรดรองอยู่แล้ว แต่คุณภาพที่ทำอาจไม่เหมาะกับของจนกลับไปเป็นขยะอีกครั้งอย่างรวดเร็ว การนำขยะพลาสติกเหล่านี้ไปสร้างโปรดักต์ที่มีคุณค่าและใช้งานต่อไปได้ยาวๆ น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า ดีไซเนอร์ใหญ่จึงหยิบโจทย์นี้มาใช้ในการออกแบบ

“ก่อนหน้านี้เราเริ่มจากการเอาคุณภาพและฟอร์มเป็นที่ตั้ง จากนั้นค่อยไปหาวัสดุกับสตอรี ตอนนี้เราปรับให้วัสดุเป็นตัวนำแล้ว ทำยังไงให้ขยะชิ้นนี้ใช้ได้ บอกเล่าสตอรี มีรูปทรงสวย และมีฟังก์ชั่นที่ดีด้วย ดังนั้นเงื่อนไขในการออกแบบเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งซึ่งยาก เพราะเวลาคุณเอาขยะมาทำโปรดักต์ข้อจำกัดมันเยอะ ทั้งเรื่องสี ความเชื่อในความสะอาด หรือคุณสมบัติบางอย่างที่ลดลงหรือหายไป กลายเป็นโจทย์ที่ละเอียดกว่าเดิม”

ไจ๋มองว่าพลาสติกในสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดการมีเยอะมากอยู่แล้ว แทนที่จะนำไปเผาหรือทำลายเปลี่ยนเป็นการดึงกลับมาสร้างใหม่โดยอ้างอิงจากคุณสมบัติที่เหลือน่าจะดีกว่า ยกตัวอย่างของชิ้นนี้มีพลังเต็ม 100 ถูกทิ้งไปหนึ่งครั้งเหลือ 80 แต่ของที่อยากสร้างใหม่ต้องการคุณสมบัติแค่ 60 แปลว่าเราสามารถนำของพลัง 80 มาทำได้ แถมยังมีคุณภาพเหลือเพียงพออีกด้วย

“คุณเอาพลาสติกใหม่มาทำแผ่นปูพื้นท้ายรถกระบะซึ่งต้องทนทาน สมมติเราตั้งตรงนั้นไว้ 100 ทนแรงกระแทกนั่นนี่ พอรีไซเคิลเหลือ 80 แต่ 80 นี้นำมาทำจานรองแก้ว ซึ่งสิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องทนทานเท่าแผ่นปูพื้น ดังนั้นคุณภาพมันจึงเหลือล้น นี่คือคอนเซปต์ในการคิดของเรา

“เมื่อเราใช้ขยะหรือของใช้แล้วมันลดการไปเอาทรัพยากรจากธรรมชาติ ธรรมชาติก็มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง และเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างเศรษฐกิจด้วย ตรงกับแกนหลัก 3 เสาของเรา อธิบายให้ชัดเจนคือทำของไม่มีค่าให้มีค่าโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ คนกับสังคมแฮปปี้ทั้งคนเล่าเรื่องและคนได้รับ ทั้งยังมีความ sustainable ตรงกับหลักการทางการตลาด profit, people, planet”

ชวนคนอื่นมารักโลกด้วยกัน

ปัจจุบันโปรดักต์ใหม่ๆ ของ Qualy ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งตัวสตอรีและที่มาวัสดุ เนื่องจากไจ๋ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ นำขยะหรือของเสียที่เป็นพลาสติกมาทำเป็นโปรดักต์ใหม่ เช่น กล่องใส่ของรูปวาฬจากขวดที่ไม่ผ่านคุณภาพของอิชิตัน กระถางต้นไม้จากกรวยจราจรเก่า หรือถังขยะที่แยกขยะได้ซึ่งทำจากถุงพลาสติกในกองขยะรอฝังกลบ

นอกจากเป็นการลดขยะพลาสติกที่มีอยู่แล้ว การที่เขาย่นระยะกระบวนการรีไซเคิลซึ่งปกติมีขั้นตอนเยอะกับใช้เวลานานด้วยการไปรับขยะพลาสติกมาทำในโรงงานของเขาเองยังถือเป็นการลด carbon footprint ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการขนส่งจากโรงงานหนึ่งไปอีกหลายๆ โรงงานด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเขายังเลือกใช้วัสดุที่ทำบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายและรีไซเคิลง่ายเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด

ตอนนี้แบรนด์ของใช้สุดน่ารักนี้มีโปรดักต์กว่า 300 ไอเทม และส่งออกต่างประเทศกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการผลิต

“ที่เป็นแบบนั้นเพราะต่างประเทศรับรู้ได้ง่ายกว่า รู้สึกว่าคนไทยยังไม่พร้อมหรือเราอาจประชาสัมพันธ์ได้ไม่ดีพอ เพราะเวลาซื้อสินค้าคนทั่วไปจะประเมินจากสิ่งที่เห็นและจับต้องได้ แต่กระบวนการเบื้องหลังจับต้องไม่ได้ เขาเห็นถังใบหนึ่ง มองปั๊บก็รู้ว่าเป็นถังแต่เขาไม่เห็นว่าขยะก้อนหนึ่งกลายมาเป็นสิ่งนี้ บวกกับเขาเห็นราคาที่สูงขึ้นเป็นกำไรของคนขาย ไม่ได้เห็นว่าเป็นค่าแรงของคนเก็บขยะมาทำความสะอาดและเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งมันไม่แมสเท่าของที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ เราขุดเหมืองมาทำพลาสติกทีละเยอะๆ ราคาก็ถูก แต่การไปเก็บขยะมาทำได้ไม่เยอะเท่า พอกระบวนการเล็กกว่า ค่าดำเนินการย่อมสูงกว่า เขาตีความสินค้าชิ้นหนึ่งแบบพื้นๆ คือชิ้นนี้เหมือนชิ้นนั้นแต่ราคาแพงกว่าก็ไม่ซื้อ ซึ่งคุณค่าที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่โปรดักต์ มันอยู่ที่ที่มาของวัสดุ”

และเมื่อถามถึงแผนการหลังจากนี้ แน่นอนว่าไจ๋ตั้งใจทำธุรกิจที่เป็นส่วน profit ให้ต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ ทว่าสิ่งที่เขาอยากมุ่งเน้นที่สุดคือส่วน people ที่ต้องการความร่วมมือเรื่องการรีไซเคิลมากขึ้น

“เราทำคนเดียวก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าร่วมมือกับคนอื่นก็มีโอกาสที่จะใหญ่ขึ้น เราอยากได้ความร่วมมือจากคนทั่วไปเพื่อให้เกิดอิมแพกต์ด้านจิตสำนึก คุณมีขยะ มีของแบบนี้ที่น่าจะทำประโยชน์อะไรได้ ลองมาคุยกัน มันอาจเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ส่งออกขายต่างประเทศได้ และสิ่งที่เราหวังระดับต่อมาคือ บริษัทอื่นๆ มองว่านี่คือโอกาสหรือแนวคิดที่เขาสามารถนำไปปรับใช้ เมื่อทุกคนช่วยกันสเกลของการทำสิ่งนี้ในไทยจะใหญ่ขึ้น ทุกคนแย่งกันซื้อขยะและรีไซเคิล กลายเป็นผลดีในระดับประเทศ”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย