คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดตัวนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต
สำหรับเดือนตุลาคม 2562 นั้น มี ‘Qualy Lucky Mouse’ นวัตกรรมถังข้าวพร้อมที่ตักทรงหนู, แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้คนไต้หวันเสนอนโยบายได้ด้วยตัวเอง, กาชาปอง @สุราษฎร์ธานี ของที่ระลึกน่ารักๆ จากการผสมผสานวัฒนธรรมกับเทคโนโลยี ไปจนถึงหนังโฆษณาที่ใช้งบประมาณ 0 บาทเพื่อชวนคนมาสร้างสังคมแบบที่เชื่อ
จากสำนวน ‘หนูตกถังข้าวสาร’ สู่ ‘Qualy Lucky Mouse’ นวัตกรรมถังข้าวพร้อมที่ตักทรงหนู
ข้าวสารคือวัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในห้องครัวคนไทยและคนเอเชีย อย่างจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ พ่อบ้านแม่บ้านทุกคนมักซื้อข้าวสารมาเป็นถุงๆ และเทใส่ถังเก็บไว้หุงยามต้องการ พอใกล้หมดก็ค่อยซื้อข้าวถุงใหม่มาเติม แต่หลายครั้งเรามักหลงลืมจนข้าวสารเกือบไม่พอหุง เพราะไม่เห็นข้าวที่เหลือในถัง
‘ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ ดีไซน์ไดเรกเตอร์และ co-founder แบรนด์ Qualy ผู้ผลิตโปรดักต์ที่มีจุดเด่นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ไอเดีย Lucky Mouse จากการประชุมงานกับพาร์ตเนอร์ชาวจีนเกี่ยวกับโปรดักต์ที่คนเอเชียใช้กันเยอะๆ อย่างถังข้าวสาร ที่ไม่มีใครออกแบบให้ดูสวยและยูนีค ส่วนมากจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือถังกระบอกที่มีฝาปิดธรรมดาๆ
ต้นแบบในการออกแบบครั้งนั้นคือ ถังตวงข้าวอัตโนมัติ ซึ่งเน้นวิธีการใช้งานที่สะดวก แต่ธีรชัยใช้วิธีคิดอีกแบบหนึ่งที่อิงกับ position ในด้านการเป็นแบรนด์โปรดักต์ดีไซน์ “ด้วยความที่เราขายความคิดสร้างสรรค์ เราไม่ได้ขายแค่นวัตกรรมอย่างเดียว ก็เลยคิดว่ามันอาจมีอะไรที่ง่ายกว่าและให้อารมณ์มากกว่า เพราะเวลาออกแบบเราอยากให้คนมีความรู้สึกร่วมด้วย ไม่ใช่แค่สะดวกเฉยๆ”
หลังจากได้รับโจทย์ ดีไซเนอร์ใหญ่ก็พยายามคิดกลไกนั่นนี่เต็มไปหมด จนมาจับจุดได้ว่าหน้าที่ของโปรดักต์ชิ้นนี้มีแค่นิดเดียวเอง ทำให้เขานึกถึงไซส์ถังข้าวที่กำหนดโดยปริมาณข้าวที่คนซื้อกิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณถุง 5 กิโลกรัม เขาจึงออกแบบพื้นที่ถังเผื่อไว้เป็น 6 กิโลกรัม และออกแบบฝาปิดให้เป็นทรงแบน เพื่อใช้เป็นที่วางกระปุกหรือของในครัวได้
“นอกจากถัง ฝา และถ้วยตวงแล้ว ยังมีข้าวที่เป็น element หนึ่งที่สัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ เราก็เลยหาความสัมพันธ์ของมันพบว่า ปัญหาของการใช้โปรดักต์นี้คือบางทีข้าวหมดแล้วเราไม่รู้ รู้อีกทีก็หุงจะหมดหม้อสุดท้ายพอดี เพราะฉะนั้นเราเลยทำให้ถังมันใส เพื่อที่จะได้มองเห็นตลอดว่าเหลือข้าวอยู่เท่าไหร่
“และเราก็คิดอีกว่าถ้ามันใสก็ควรวางในที่ที่มองเห็นได้ง่าย อะไรก็ตามที่จำเป็นต้องมองเห็นก็ควรออกแบบให้มีคุณค่าของการตกแต่ง วางแล้วกลายเป็นของแต่งบ้าน ต้องไม่เกิดคำถามว่าทำไมเอาถังข้าวมาวางตรงนี้”
พอได้กรอบความคิดที่ชัดขึ้นแล้ว ธีรชัยก็ขยับไปคิดถึงการออกแบบถ้วยตวงให้มีด้ามจับ เพื่อความสะดวกและสะอาดในการตักข้าว ตรงนี้แหละที่ทำให้เขาพยายามเล่นสนุกกับการสร้างคอนเซปต์กับรูปทรง จนมาได้เป็นรูปทรงหนู
“เหตุผลหลักๆ ที่ตั้งชื่อว่า Lucky Mouse มี 2 เหตุผล หนึ่งคือมันแมตช์กับฟังก์ชั่น และสอง สำนวนหนูตกถังข้าวสาร คนเอเชียเองก็ชอบเรื่องโชคลาภ แต่พวกเขาไม่รู้หรอกว่าสำนวนนี้คืออะไร มันเลยจำเป็นต้องมีอีกเหตุผลมาซัพพอร์ต ทีนี้เซนส์ที่มนุษย์พอจะเข้าใจได้คือ หนูเป็นศัตรูของอาหารที่เราจะกิน มันไม่ควรอยู่ด้วยกัน ที่เราเอาหนูมาไว้ในกล่องใสเพื่อตั้งใจให้คนมองเห็น มันเป็นการเล่นกับอารมณ์ขันหรือตลกร้ายของคนต่างชาติเวลาเห็นหนูตัวหนึ่งอยู่ในข้าวที่เรากิน ซึ่งเซนส์นี้รับรู้กันได้ทั่วโลก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเอเชีย เพราะของสองสิ่งนี้ไม่น่าอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อมันอยู่ด้วยกันก็เหมือนสร้างซีนอารมณ์ขึ้นมา พอหนูที่เราเห็นมันไม่ใช่หนูจริงก็จะกลายเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าเป็นหนูจริงเรื่องนี้จะไม่ตลกเลย จะซีเรียสมาก”
ในแง่การใช้งาน นอกจากถ้วยตวงที่มีเส้นบอกถึงปริมาณที่ลดหลั่นกันไป ทำให้การกะปริมาณง่ายขึ้นและลดการกินเหลือ ตัวถังใส่ข้าวยังออกแบบให้เป็นรูปทรงมนเพราะต้องการลบความรู้สึกแข็งๆ ที่จากเดิมเป็นสี่เหลี่ยมออก ทั้งยังง่ายต่อการขนย้ายอีกด้วย
ปัจจุบัน Qualy มีดีไซน์โปรดักต์หลายประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนใจสั่งซื้อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Qualy
JOIN แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้คนไต้หวันเสนอนโยบายได้ด้วยตัวเอง
ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงการมีส่วนร่วมของพลเมือง ที่ไต้หวันทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้แล้วด้วย ‘JOIN’ หรือเว็บไซต์ join.gov.tw แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างรัฐบาลและสมาชิกในแต่ละภาคส่วนของสังคมไต้หวัน
บนแพลตฟอร์ม JOIN ที่พัฒนาขึ้นในปี 2017 โดยรัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของ Audrey Tang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลนี้ ชาวไต้หวันสามารถเสนอโครงการที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐพิจารณาได้ หรือแม้แต่แสดงความเห็นต่อการตัดสินใจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
โครงการที่นำเสนอจะเกี่ยวกับอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ หรือการพิจารณาออกกฎห้ามตกปลาในพื้นที่บางแห่ง และหน่วยงานรัฐบาลที่เข้าร่วมกับเว็บไซต์นี้ต้องพิจารณาโครงการที่มีการลงชื่อรับรองมากกว่า 5,000 รายชื่อ ซึ่งจะตอบรับหรือปฏิเสธก็ได้ แต่ต้องมีการอธิบายประกอบให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าทำไมถึงเลือกทำหรือไม่ทำโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้ตามกฎหมายไต้หวัน เมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐออกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา จะต้องเผยแพร่และรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลา 60 วัน แพลตฟอร์ม JOIN ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่หน่วยงานรัฐสามารถนำร่างกฎหมายนั้นมาเผยแพร่และรับฟังข้อคิดเห็นได้
โครงการต่างๆ บน JOIN ที่นำเสนอโดยประชาชนทั่วไปและลงชื่อรับรองเกิน 5,000 รายชื่อเมื่อเร็วๆ นี้ และได้รับการตอบกลับจากองค์กรรัฐก็อย่างเช่น โครงการที่เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ และเรียกร้องมาตรการที่เหมาะสมในการพาสัตว์เลี้ยงขึ้นรถไฟ
ที่สำคัญ ตั้งแต่เปิดตัวมา แพลตฟอร์มนี้มียอดการเข้าชมกว่า 20 ล้านครั้ง หัวข้อที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการขนส่งและสาธารณูปโภค การศึกษา เรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยสาธารณะ
สถิติจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็สามารถบอกได้ว่าสังคมไต้หวันกำลังกังวลเรื่องอะไรกันอยู่บ้าง และโครงการต่างๆ ที่ผ่านการพิจารณาก็จะเข้าสู่กระบวนการรัฐเพื่อศึกษาเป็นแนวนำไปใช้จริงต่อไป
เงาะอร่อย หอยใหญ่ และไข่แดง กาชาปอง @สุราษฎร์ธานี ของที่ระลึกน่ารักๆ จากการผสมผสานวัฒนธรรมกับเทคโนโลยี
ปกติแล้วเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เรามักซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับมาฝากคนใกล้ตัวเสมอ หรือถ้าของที่ระลึกชิ้นนั้นสุดแสนน่ารักและมีเรื่องราวให้น่าเก็บสะสม ก็เป็นเราเองนี่แหละที่กว้านซื้อกลับมาเก็บที่บ้านเสียเอง
‘ทู–ทศพร สังข์ประคอง’ เป็นคนหนึ่งที่ชอบเที่ยวและเก็บสะสมของที่ระลึกประจำจังหวัดหรือประเทศที่ไปเยือน อย่างกาชาปอง ของที่ระลึกสุดฮิตประจำประเทศญี่ปุ่น เขาก็มักตามล่าซื้อเซตกาชาปองที่ชอบมาตั้งเรียงกันเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้ ในใจก็เสียดายว่าทำไมที่เมืองไทยไม่มีใครทำบ้าง จนผ่านไปหลายปีและประจวบเหมาะกับมีเวลาว่างพอดี ทูจึงตัดสินใจลองทำ ‘กาชาปอง @สุราษฎร์ธานี’ จังหวัดบ้านเกิดของตัวเองเป็นงานอดิเรกร่วมกับเพื่อนๆ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
“จุดเริ่มต้นโปรเจกต์นี้คือ มีงานประกวดที่เราต้องทำให้เสร็จภายใน 2 เดือน เนื่องจากเมื่อก่อนสุราษฎร์ธานีไม่มีของที่ระลึก ถ้าจะซื้อของฝากมันก็มีหอยนางรมสดหรือไข่เค็มที่ต้องเอาไปต้ม อย่างอื่นไม่ค่อยมี ถ้าไปเที่ยวจังหวัดอื่นเราก็ซื้อของที่ระลึกมาเก็บสะสมได้ แต่มาสุราษฎร์ธานีเราไม่รู้จะเอาอะไรไปฝากเพื่อน ก็เลยอยากทำตรงนี้ขึ้นมา และด้วยความที่เป็นบ้านเกิดเราไม่ต้องรีเสิร์ชอะไรเยอะ เพราะค่อนข้างรู้ข้อมูลอยู่แล้ว”
หลังจากได้ไอเดียแล้ว ทูก็เริ่มลิสต์ว่าสุราษฎร์ธานีมีจุดเด่นอะไรบ้าง และอะไรที่ปั้นออกมาเป็นของชิ้นเล็กๆ น่ารักได้ “ที่จริงเราแบ่งส่วนประกอบกาชาปองออกเป็นลูกบอล ซึ่งข้างในจะมีพวงกุญแจและกระดาษ ส่วนที่สองเป็นแอพพลิเคชั่นที่มี AR (augmented reality) และสาม เป็นตู้กาชาปองที่อยากออกแบบให้เหมือนมาสคอตที่คนถ่ายรูปคู่กับตู้ได้”
นอกจากความน่ารักและเรื่องราวของตัวกาชาปองแล้ว ด้วยความที่ทำงานด้านอินเทอร์แอ็กทีฟ ทูจึงอยากเพิ่มเทคโนโลยี AR เข้ามาเป็นอีกหนึ่งกิมมิกพิเศษด้วย “เราอยากให้ข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากภาพและข้อความธรรมดาให้เป็นภาพสามมิติ และต่อไปจะทำเสียงเพิ่ม อย่างเวลาส่องกล้องไปปั๊บก็จะเป็นภาพสามมิติขึ้นมา สามารถหมุนดูรอบๆ ได้ เวลากดที่ตัวภาพก็จะขึ้นคำอธิบาย”
ภายในเซตกาชาปอง @สุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยอาหารขึ้นชื่อในคำขวัญประจำจังหวัด อย่างเงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง และปูสุราษฎร์ธานีที่หลายคนยกให้เป็นอีกหนึ่งอาหารอร่อย รวมถึงดอกไม้ประจำจังหวัดอย่างบัวผุด และอาหารประจำท้องถิ่นภาคใต้อย่างสะตอ
ตอนนี้โปรดักต์ยังอยู่ในขั้นตอนตัวโปรโตไทป์ โดยทูกับเพื่อนนำตู้กาชาปองไปวางที่ร้านอาหารร้านดังในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากๆ ซึ่งในอนาคตหลังจากพัฒนากาชาปองจนเสร็จสมบูรณ์เป็นตัวจริงแล้ว เขาก็มีแผนส่งต่อโมเดลนี้ไปสู่การทำของที่ระลึกประจำจังหวัดอื่นๆ รวมถึงการทำคาแร็กเตอร์แบบลิมิเต็ดเอดิชั่นเฉพาะช่วงเทศกาลพิเศษ
ใครที่อยากไปหมุนกาชาปองเซตนี้ ตู้กาชาปองตั้งอยู่ที่ร้านยำเฉี่ยวนรก สาขา 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่อาจต้องรีบหน่อยเพราะมีคนอยากได้ไม่น้อยเลย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Gachapon Surat Thani
หนังโฆษณาที่ใช้งบประมาณ 0 บาทในการชวนคนมาสร้างสังคมแบบที่เชื่อ
เมื่อองค์กรจะโปรโมตแคมเปญหนึ่งๆ ย่อมต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับว่าสื่อนั้นเป็นสื่อแบบไหนและต้องการอิมแพกต์มากเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบันการทำหนังโฆษณาก็ยังเป็นตัวเลือกยอดนิยม เพราะสื่อสารเมสเซจได้ครบถ้วนผ่านภาพเคลื่อนไหว สี เสียง ทั้งยังเป็นไวรัลได้ง่าย เข้าถึงคนหมู่มากได้ดี
Choojai ชูใจ กะ กัลยาณมิตร คือครีเอทีฟเอเจนซีที่โดดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์ให้หนังโฆษณาเป็นมากกว่าการขายของ ที่ผ่านมาพวกเขามีผลงานโฆษณาที่กลายเป็นไวรัลและมีคนจดจำมากมาย ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือคนในแวดวงสร้างสรรค์เองก็ตาม ยกตัวอย่างโฆษณาชุด เราต้องคิดถึงคนอื่น ของ AirAsia และงาน Facetook: เฟซทุกข์
ล่าสุดพวกเขาร่วมงานกับ TMB เพื่อทำหนังโฆษณาโปรโมต ‘ปันบุญ’ โครงการ CSR ที่ตั้งต้นเป็นสื่อกลางระหว่างองค์กรสาธารณกุศลและผู้มีจิตศรัทธา โดยรวบรวมรายชื่อองค์กรสาธารณกุศล แยกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ไว้ในเว็บไซต์ รวมทั้งชี้ช่องทางการบริจาคอย่างสะดวก
ความพิเศษของการทำหนังโฆษณาชิ้นนี้คือ ชูใจ กะ กัลยาณมิตรได้นำงบประมาณกว่า 2 ล้านบาทที่ธนาคารให้มาทำสื่อโปรโมตไปบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลทั้งหมด ดังนั้นพวกเขาจึงใช้งบประมาณในการทำงานแค่ 0 บาทเท่านั้น
หนังโฆษณาชิ้นนี้เปิดด้วยการเล่าถึงโครงการปันบุญที่ TMB ทำ และเล่าถึงความตั้งใจของบริษัทครีเอทีฟเอเจนซีแห่งนี้ที่อยากใช้งบประมาณทั้งหมดไปบริจาคแทน ก่อนที่ภาพจะตัดไปยังบุคลากรแผนกต่างๆ ในฝั่งโปรดักชั่นที่ร่วมกันบริจาคเงินค่าจ้างของตัวเองให้แต่ละองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็น a day อยู่ในนั้นแว้บๆ ด้วย (แต่หมายเหตุว่า นี่คือการสมมติว่าหากจ้างบุคลากรเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินเท่านี้ๆ ไม่ใช่การจ้างจริงแต่ไม่จ่ายตังค์นะ)
แม้เราจะเล่าจบได้สั้นๆ แต่กว่าจะมาเป็นงานโฆษณาชิ้นนี้ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะหลังจากที่ เม้ง–ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ กับทีมงานได้รับบรีฟจากลูกค้าตามขั้นตอนการทำงานโฆษณา พวกเขาก็ระดมสมองคิดหากลยุทธ์ต่างๆ จนตัดสินใจทำหนังโฆษณาและเขียนสคริปต์ออกมา 5 ชิ้น ทว่าระหว่างนั้นทั้งหมดก็ทบทวนร่วมกันว่านี่คือวิธีการที่เวิร์กแล้วจริงๆ หรือ
“จากประสบการณ์การทำงานหลายครั้งที่มีเมสเซจเป็นการชวนคนมาบริจาค เรารู้ว่าเงินบริจาคมันไม่เยอะหรอก คือคนบริจาคเยอะแต่เงินจริงๆ มันไม่เยอะ เราเคยทำ Mom-Made Toys กับ PlanToys เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทั้งที่มันดังมาก คนรู้จักเยอะ และได้ฟรีมีเดียเพียบ ยังได้ยอดบริจาคแค่ล้านกว่าบาท หรือ Limited Education ปีแรกที่ทำกับ Glow Story ก็ได้ไปรวมๆ แล้วประมาณ 1.8-1.9 ล้าน แล้วพอลูกค้าบรีฟเราว่ามีงบเท่านี้จริงๆ ครีเอทีฟ โปรดักชั่น ค่ามีเดีย รวมทุกอย่างใน 2.2 ล้านบาท ต่อให้ทำเสร็จแล้วโชคดี ฟลุกดัง มันอาจจะได้เงินบริจาคไม่ถึง 2 ล้าน หรือต่อให้ได้เกินมาเป็น 2.6-2.7 ล้าน มันก็ได้เกินมาแค่ไม่กี่แสนเอง”
พอคิดได้แบบนี้ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องเวลาและงบประมาณ พวกเขาจึงตัดสินใจว่าจะเอาเงินจำนวน 2.2 ล้านบาทนี้ไปบริจาคเลย ซึ่งเมื่อเสนอไอเดียนี้ไป TMB ก็ตกลงเอาด้วย “พอทำอย่างนี้เงินบริจาคมันตั้งต้นที่ 2.2 ล้านบาท ไม่ได้ตั้งต้นที่ 0 บาท สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือแค่ต้องทำอะไรบางอย่างให้เงินมันไปมากกว่า 2.2 ล้านบาท ซึ่งเราเริ่มต้นให้แล้ว หลังจากนั้นคือกำไร ต่อให้บริจาคเพิ่ม 10 บาท หรือ 100 บาท ก็สำเร็จแล้วในแง่ยอดเงิน”
สำหรับงานนี้ เม้งกับทีมได้แรงบันดาลใจจากมิวสิกวิดีโอเพลง World on Fire ของ Sarah Mclachlan เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เจ้าตัวทำเอ็มวีง่ายๆ เพื่อนำงบประมาณด้านโปรดักชั่นไปบริจาคให้คนที่ลำบาก ไม่ว่าเม้งจะได้รับเชิญไปบรรยายที่ไหนเขาก็มักจะแนะนำงานชิ้นนี้ให้กับทุกคน
ถ้าคุณชมหนังโฆษณาชิ้นนี้จบแล้วและอยากบริจาคบ้างก็สามารถทำได้ไม่ว่าจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม เพราะอย่างที่เม้งบอกว่ายอดเงินหลังจากนี้คือกำไร ซึ่งวิธีการบริจาคก็แสนง่าย เพียงแค่เลือกชื่อโครงการหรือองค์กรที่อยากบริจาคใน punboon.org และคลิกปุ่มบริจาค แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย
ชมหนังโฆษณาตัวเต็ม : โฆษณา 0 บาท