TP Packaging บริษัทกระจายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่มีพนักงานเป็นแม่ค้าขายผัดไทยเพียงคนเดียว

Highlights

  • TP Packaging Solution คือบริษัทบรรจุภัณฑ์ ของ ป๊อป ภัทรวุฒิ และ ภัฏ เตชะเทวัญ ที่ลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาการไม่ยอมใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกอย่างจริงจัง และพบว่าปัญหาบรรจุภัณฑ์ทั้งกระบวนการซับซ้อนกว่าแค่การซื้อมาขายเท่านั้น
  • พวกเขาไม่เพียงพยายามกระจายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แต่ยังเสนอไอเดียธนาคารให้ทำบัตรเครดิตแก่พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายคนอาจจะยังไม่สามารถลงทุนได้ในตอนต้น บัตรเครดิตนี้จะบังคับให้ซื้อได้แค่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเท่านั้น ซึ่งจัดเป็นสินค้าเพื่อการประกอบอาชีพไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย
  • ปัจจุบันพวกเขาให้บริการครอบคลุมกว่า 20 ย่านสำคัญในประเทศไทย เช่น ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท บางแค เยาวราช วงเวียนใหญ่ สมุทรปราการ เชียงใหม่ บุรีรัมย์ จันทบุรี ภูเก็ต เป็นต้น และการดูแลเกือบทั้งหมดนี้มีพนักงาน full time เพียงคนเดียว ซึ่งเป็นอดีตแม่ค้าขายผัดไทยที่เคยปฏิเสธบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกของพวกเขามาก่อน

เคยเป็นเหมือนกันไหม?

อยากกินข้าวร้านนี้จังเลย แต่ถ้าซื้อกลับบ้านต้องใส่กล่องโฟม จะให้นั่งกินที่ร้านก็ไม่มีที่นั่ง ก็เลยได้แต่ตัดใจแล้วก้มหน้าเดินจากไป

แต่ถ้าระดับความอยากพุ่งปรี๊ดจนหน้ามืดตามัว ก็จะมารู้สึกผิดทีหลังที่รับกล่องโฟมหรือถ้วยพลาสติกมาแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากกว่า 400 ปี ขยะบรรจุภัณฑ์ยังจัดเป็นขยะที่มีมากที่สุดถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลาสติกและโฟมที่คนไทยสร้างราว 2 ล้านตันต่อปี

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม เมื่อพ่อค้าแม่ขายเลือกบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเสมอ

ในฐานะผู้บริโภคเราแทบไม่มีโอกาสได้เลือกเลยว่าอยากให้บรรจุภัณฑ์แบบไหนใส่อาหาร นอกเสียจากว่าจะพกกล่องข้าวหรือปิ่นโตไปเองทั้งที่มีการรณรงค์ให้เลิกใช้กล่องโฟมกันมาร่วมสิบปี จากปัญหานี้เองสองพี่น้อง ป๊อป ภัทรวุฒิ และ ภัฏ เตชะเทวัญ จึงลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาอย่างจริงจังในนามของ TP Packaging Solution และพบว่าปัญหาบรรจุภัณฑ์ทั้งกระบวนการซับซ้อนกว่าแค่การซื้อมาขายเท่านั้น

“เราไม่สามารถทำสัมภาษณ์ได้เพราะมันไม่ได้สะท้อนความจริง ถ้าไปถามใครทุกคนก็จะบอกว่าอยากเปลี่ยนมาใช้ทั้งนั้นแหละ” ภัฏเล่าว่าเขาเริ่มจากการทดลองเอาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไปขายตามร้านต่างๆ แล้วก็จะได้ยินเสียงบ่นจากแม่ค้าตามมาว่าราคาแพงบ้าง หาซื้อไม่ได้บ้าง แต่สิ่งที่เรากลั่นออกมาได้คือเขามองแต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่าสินค้าแบบโฟมนั้นใช้งานได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้มองว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นถ้าเขาหันมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลก

ยอดขายเพิ่มด้วยการเปลี่ยนภาชนะ

จากนั้นพวกเขาจึงเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่ายอดขายเพิ่มขึ้นได้จริงนะเพียงแค่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ หนุ่มๆ ท้าให้ร้านขนมแห่งหนึ่งเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แล้วมาดูว่าในระยะเวลา 1 สัปดาห์จะขายดีขึ้นไหม แต่ถ้ายอดไม่เพิ่มแล้วล่ะก็ เขาการันตีคืนเงินส่วนต่างค่าบรรจุภัณฑ์ให้ด้วย

จากน้ำแข็งไสถ้วยโฟม เมื่อเปลี่ยนมาใช้ถ้วยกระดาษกลับมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า จนพี่แม่ค้าก็ติดใจไม่ยอมเปลี่ยนกลับไปใช้ถ้วยโฟมอีกเลย

ช่วยจัดการภาพรวมการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ป๊อปและภัฏเจอเกี่ยวกับการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกคือ มีพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มหนึ่งสนใจหันมาใช้และพร้อมใช้อยู่แล้ว แต่หาซื้อไม่ได้เพราะยี่ปั๊วหรือร้านค้าส่งบรรจุภัณฑ์ไม่ยอมรับมาขาย เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า นี่จึงเป็นโจทย์ใหม่ให้เขาลองกระโดดลงไปแก้

เขาพยายามอธิบายกับร้านค้าส่งว่ามีกลุ่มลูกค้าอยากซื้ออยู่นะ แต่ยี่ปั๊วก็ยังไม่มั่นใจสักที สองหนุ่มเลยไปขอเช่าที่โรงเรียนสอนพิเศษใกล้ๆ ร้านเหล่านั้นเพื่อไปขายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกให้เห็นกับตา โรงเรียนสอนพิเศษในช่วงเย็นจึงกลายเป็นร้านขายของในช่วงกลางวันที่มีคนเดินมาซื้อถ้วยกระดาษ กล่องกระดาษไม่ขายสาย พอทำไปได้สักระยะ ร้านยี่ปั๊วที่ขายบรรจุภัณฑ์ก็เปลี่ยนเป็นฝ่ายเข้ามาติดต่อสอบถามเสียเอง

“เราส่งของไป 10 แพ็ก เขาบอกเขาขายไป 12 แพ็ก แถมพอไปนับดูยังเหลือในสต็อกอยู่อีก 4 แพ็ก” ป๊อปเล่าให้ฟังว่าปัญหาของร้านค้าเหล่านี้คือไม่ค่อยมีการจัดการสต็อกที่ดี

“พอเราเข้าไปเห็นว่าพื้นที่ของเขาเล็กมาก ชั้นทั้งชั้นตั้งโฟมได้แค่ครึ่งลัง พอเทียบดีๆ จะเห็นว่าบรรจุภัณฑ์โฟมกินพื้นที่มากกว่าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกถึง 4 เท่า แม้ว่ากำไรเท่ากันแต่สต็อกของได้น้อยกว่า ก็จะหมดเร็วและสูญเสียโอกาสในการขายอย่างอื่น บางร้านพื้นที่เก็บน้อยก็ยิ่งได้เงินน้อย ปัญหาคือการบริหารสต็อกที่ไม่ตรงกับธุรกิจที่ควรจะเป็น” ภัฏเสริม

นอกจากการขายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เขาสองคนก็ลงไปช่วยจัดการสต็อกให้กับร้านค้าส่งเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก โฟม หรือพลาสติก ก็ช่วยทำให้หมด ตั้งแต่การลงไปจัดการที่จัดเก็บ นับจำนวนของ และคาดคะเนการขายกับระยะเวลาการสั่งของได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ตัวเลขเหล่านี้จึงกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้การบริหารจัดการภาพรวมของการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คุณป้าแม่ค้าผัดไทย เรี่ยวแรงสำคัญของ TP Packaging Solution

TP Packaging Solution ให้บริการครอบคลุมกว่า 20 ย่านสำคัญในประเทศไทย เช่น ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท บางแค เยาวราช วงเวียนใหญ่ สมุทรปราการ เชียงใหม่ บุรีรัมย์ จันทบุรี ภูเก็ต และการดูแลเกือบทั้งหมดนี้เขามีพนักงานฟูลไทม์เพียงคนเดียว ซึ่งเป็นอดีตแม่ค้าขายผัดไทยที่เคยปฏิเสธบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกของพวกเขามาก่อน

“ตอนแรกนอกจากเรื่องบรรจุภัณฑ์เราก็คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ป้าก็บ่นเรื่องที่บ้านเรื่องครอบครัวให้ฟังว่ามีปัญหากับลูกและไม่ได้คุยกันมาเป็นสิบปีแล้ว” ภัฏเล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังอย่างสนุกสนาน “ป้าแกบอกว่าคุยกับน้องแล้วสนุกดี ตอนเย็นป้าเปิดร้าน มาคุยกันอีกนะ…แล้วเราก็ไป”

ภัฏไปนั่งคุยกับป้าตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่มอยู่ร่วม 7 วัน ซึ่งออกจะเป็นเรื่องประหลาดที่ทำไมเราถึงต้องทุ่มเทไปซ้ำๆ และใช้เวลาถึงขนาดนั้น แต่ภัฏยิ้มแล้วก็พูดอย่างเรียบง่ายว่า “ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่าเราอยากช่วยคนคนนี้ คนเราไม่ควรมาเจอเรื่องมากมายขนาดนี้เพียงคนเดียว เรื่องมันผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว แต่แกเล่าขนาดนี้มันเหมือนไม่เคยมีใครมารับฟังแกเลย เมื่อเรามีโอกาสนั่งฟัง และเราเข้าใจแกจริงๆ ก็แค่อยากอยู่ตรงนั้น แค่นี้ก็ช่วยเขาได้แล้ว”

สุดท้ายป้าก็กลับไปคุยและปรับความเข้าใจกับลูกได้สำเร็จ

“น้องทำอะไรอยู่ ป้าอยากไปทำงานด้วยจังเลย” ป้านัทจึงปิดร้านผัดไทยและผันตัวมาเป็นพนักงานออฟฟิศกับ TP Packaging Solution

จากวันที่นั่งร้องไห้ในการเรียนรู้การใช้โปรแกรม excel วันนี้ป้านัทกลายเป็นคนรวบรวมข้อมูลทุกอย่าง ออกเอกสารและจัดการบัญชี เป็นฝ่ายขายที่คอยตอบคำถามและให้คำแนะนำกับลูกค้า เป็นฝ่ายจัดซื้อที่สั่งสินค้ามาเข้าคลัง เป็นพนักงานที่ขับรถออกไปส่งสินค้าเองถึงที่และนับสต็อกสินค้าของร้านรวงต่างๆ เรียกได้ว่ามีป้านัทเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้เราได้ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกด้วย

แต่ TP Packaging Solution ก็ยังหากำลังสำคัญมาช่วยกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครสนใจก็เข้าไปคุยกับป๊อปได้ที่ [email protected] หรือทาง www.tp-packaging.com

 

ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง เสนอไอเดียธนาคารทำบัตรเครดิตให้พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

“สวัสดีค่ะ สนใจสมัครบัตรเครดิตไหมคะ” คุณเองก็อาจเคยได้รับโทรศัพท์แบบนี้ หลายคนก็แค่ปฏิเสธและรีบวางสายไปเพื่อไม่ให้เสียเวลา แต่ป๊อปไม่ได้ทำแบบนั้น เขาเริ่มตั้งคำถามว่าคนสมัครบัตรเครดิตมากน้อยแค่ไหนแล้วพนักงานจะต้องขายให้กับใครบ้าง ในเมื่อผู้คนในพื้นที่มีจำนวนเท่าเดิมแต่ต้องขายบัตรเครดิตให้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำไมไม่ลองขายให้กลุ่มคนที่ไม่เคยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินบ้างล่ะ….เหมือนพนักงานคนนั้นจะเริ่มโดนขายกลับ

จากนั้นป๊อปเลยได้เสนอไอเดียนี้กับทางธนาคารเพื่อทำบัตรเครดิตให้พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มีราคาสูงกว่าปกติ ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะยังไม่สามารถลงทุนได้ในตอนต้น บัตรเครดิตนี้จะบังคับให้ซื้อได้แค่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเท่านั้น ซึ่งจัดเป็นสินค้าเพื่อการประกอบอาชีพ ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

“เราแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปเลยในตัว เขาเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ได้เพราะเขาไม่มีสลิปเงินเดือน แต่พอเขาซื้อบรรจุภัณฑ์ เราก็ประเมินได้เลยว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของเขาเท่าไหร่” ป๊อปเล่าต่อว่าหลังจากที่ดำเนินการมาได้ประมาณ 1 ปี ธนาคารก็สามารถประเมินรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ได้จากจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่เขาใช้ และสามารถปล่อยเงินกู้ให้เขาได้ด้วยทำให้ไม่ต้องกู้หนี้นอกระบบ

สิ่งหนึ่งที่ป๊อปย้ำเสมอคือไม่ใช่เพียงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้เข้าสู่ตลาดและมีคนใช้มากขึ้นแล้ว แต่ทางออกของเขาจะต้องทำให้ชีวิตคนดีขึ้นด้วย

TP = Terminated Project จากความเฟลสู่ความสำเร็จ

นอกจากการกระจายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่เป็นงานหลักแล้ว TP Packaging Solution ยังมีโปรเจกต์อีกมากมายที่น่าสนใจ เช่น โปรเจกต์จัดการขยะในงานวิ่งซึ่งเป็นเทศกาลที่สร้างขยะจำนวนมาก โปรเจกต์เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโปรเจกต์พัฒนาถุงแกงร้อนให้ย่อยสลายได้

แต่ไม่ใช่ว่าทุกโปรเจกต์จะสำเร็จได้ง่ายๆ เพราะหลายโปรเจกต์น่าสนุกแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ใจหวังเอาไว้ ด้วยปัญหาของตัวไอเดียเองหรือปัจจัยภายนอกอีกมากมาย หากเทียบเรียง solution ทั้งหมดเราจะเห็นสีแดงที่ล้มเหลวมากกว่าสีเขียวที่ประสบความสำเร็จเสียอีก จนหลายคนแซวว่า TP นั้นย่อมาจาก Terminated project หรือเปล่า

“ถ้าถามวันแรกว่าจะมาถึงจุดนี้ไหม ไม่คิดเลย วันแรกแค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์รักโลกเข้าสู่ตลาดได้ แต่ไม่คิดว่าจะคลอดออกมาเป็น solution บ้าๆ บอๆ แปลกๆ มากขนาดนี้ ไม่คิดว่าจะมี solution ที่เป็นบัตรเครดิต แต่ก็ดีใจที่เราเปิดใจให้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่ยึดติดกับภาพแรกสุดในหัว ถ้ามันแก้ปัญหาที่เราตั้งใจได้และทำไปเรื่อยๆ มันก็โอเคแล้ว เราเฟลบ่อยมากเพราะเราคลอด solution เยอะ ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ เราโอเคกับการที่เราเฟล เพราะการเฟลมันทำให้เราได้อะไรบางอย่างที่ทำให้เราสำเร็จในวันนี้ได้” ภัฏเล่าถึงความล้มลุกคลุกลานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเช่นเคย

ส่วนป๊อปเสริมว่า “เราว่าท้าทายดีมากกว่า ทำไมเราถึงคิดโมเดลอะไรออกมากมาย เหมือนกับที่เราเจอคนคนหนึ่งแล้วเขามีปัญหา เราจะทิ้งปัญหาไว้ที่เขาเหรอ เรากลับมาคิดว่าเราจะแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไรมากกว่า มันไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว มันแก้ปัญหาแล้วส่งผลถึงคนอื่นด้วยว่าทำให้คนรอบข้างดีขึ้น แรกสุดเราอยากกระจายของไปทั่วไปประเทศ แต่ว่าเราไม่ได้มุ่งโฟกัสไปตรงนั้นอย่างเดียว ถ้าเราถอยกลับมาก้าวหนึ่งแล้วเจอสิ่งที่ดีกว่า ทำให้ชีวิตของคนที่อยู่ในนี้ดีกว่า แม้ว่ามันจะทำให้เราขยายไปทั่วประเทศช้ากว่า แต่มั่นคงกว่า และทำให้คนที่ก้าวไปกับเราเขามีความสุขกว่า”

ฉันนั่งฟังทุก solution ที่พวกเขาคิดขึ้นมาด้วยความตื่นเต้น ฟังการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างสนุกสนาน ซึ่งเชื่อว่าถ้าถ่ายทอดออกมาทุกโปรเจกต์คงเป็นบทความที่ยาวกว่านี้มาก แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามี ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ยังเป็นแพสชั่นในการทำงานอย่างเปี่ยมล้นที่ออกมาจากสายตาและคำพูดของพวกเขา

สิ่งนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาทำงานในทุกๆ วัน และไม่กลัวที่จะล้มเหลวอีกครั้ง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!