Sunday Motivation สีน้ำทำมือที่อยากทำให้ทุกวันของทุกคนเป็นวันหยุด

Highlights

  • Sunday Motivation คือแบรนด์สีน้ำทำมือที่ จินนี่ สาระโกเศศ นักวาดอิสระ และบรรณาธิการเนื้อหาของ TCDC ได้แรงบันดาลใจมาจากสีน้ำทำมือของต่างประเทศ
  • ด้วยราคาที่สูงลิ่ว เธอจึงลงมือศึกษาและทดลองทำมันจนออกมาเป็นสีน้ำทำมือในราคาตลับละ 250 บาท
  • ตลับสีน้ำประกอบด้วยสีผสมเอง 5 สี และชื่อของแต่ละพาเลตต์มีที่มาจากความชอบ ประสบการณ์ และความทรงจำของเธอ บรรจุในแพ็กเกจจิ้งสุดน่ารักที่ใครๆ ก็จดจำได้

ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันมีนัดกับ จินนี่ สาระโกเศศ บรรณาธิการเนื้อหาของ TCDC นักวาดภาพอิสระ และเจ้าของ Sunday Motivation แบรนด์สีน้ำทำมือที่กำลังได้รับความนิยมในแวดวงคนชอบวาดรูประบายสี

ความพิเศษคือ วันนี้เป็นวันเปิดงาน Okashi Daisuki: An exhibition by Jinny นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอที่คาเฟ่แกลเลอรี 10ml. ด้วย

ก่อนพูดคุย ฉันใช้เวลาครู่หนึ่งเดินชมผลงานสีน้ำในนิทรรศการ ส่วนใหญ่เป็นขนมหน้าตาน่ากินในลายเส้นและสีสุดละมุน ให้ความรู้สึกทั้งหิว อบอุ่น และผ่อนคลาย ไม่แปลกใจที่ผู้ชมหลายคนอมยิ้มไปด้วยขณะเดินชมภาพวาด

ฉันรู้จักเธอจากเฟซบุ๊กร้านหนังสือแห่งหนึ่งที่โพสต์ภาพสีน้ำทำมือในตลับเหล็กขนาดเล็กแปะป้ายชื่อ Murakami โดยชื่อเฉดสีในพาเลตต์มีความเกี่ยวข้องกับนักเขียนญี่ปุ่นคนดังคนนี้ด้วย นั่นคือ สีม่วงมูราคามิ สีฟ้าแจ๊ส สีแดงคาฟคา สีเขียวสปุตนิก และสีน้ำตาลนอร์วีเจียน

ทั้งยังมีพาเลตต์อื่นๆ ที่ชวนสร้างความสงสัยและกระตุ้นให้อยากลองใช้อีกหลายชุด เช่น Wes, Thai Fruits, Little Japanese Forest, Kyoto, Amélie P., Hokkaido Summer, Korea Love และล่าสุดกับ Paris

ใครที่สงสัยว่าชื่อเหล่านี้มาจากไหน อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสีน้ำตลับนี้ เตรียมกระดาษและถาดสีของคุณให้ดี เพราะจินนี่ผสมสีรอสร้างสรรค์เรื่องราวต่อจากนี้แล้ว

 

สีน้ำที่เกิดจากความอยากรู้

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากเรียนจบที่ประเทศญี่ปุ่น จินนี่ก้าวเข้าสู่วงการคนทำหนังสือด้วยการเขียนหนังสือแนวบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นกับสำนักพิมพ์วงกลม ระหว่างนั้นเธอเลือกเรียนวาดภาพประกอบกับ ครูโต–ม.ล.จิราธร จิรประวัติ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี

แม้จะเรียนบ้างหยุดบ้าง เธอก็ซึมซับทั้งความรู้และคำแนะนำจากครูมาไม่น้อย ประกอบกับการเรียนวาดรูปต้องเลือกและผสมสีเอง ซึ่งจินนี่มักเลือกสีออกพาสเทลอย่างเหลือง ฟ้า ชมพู เป็นอันดับแรกๆ ทำให้สีเหล่านั้นกลายเป็นเอกลักษณ์ของเธอไปโดยไม่รู้ตัว

อยู่มาวันหนึ่ง เธอได้ไปเห็นสีน้ำทำมือจากต่างประเทศ จนพอจะซื้อก็พบว่าราคาของมันสูงลิ่ว ด้วยจิตวิญญาณของนักชอบเรียนชอบศึกษา เธอจึงลงมือค้นคว้าด้วยตัวเอง ทว่าสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรมากนัก เพราะด้วยกระบวนการทำที่ยากลำบาก ใครๆ ก็ไม่อยากบอกสูตร

“มีคนไทยทำเหมือนกัน แต่เป็นสีธรรมชาติที่ผสมเสร็จแล้ววาดเลย เก็บไว้ไม่ได้ เราก็สงสัยว่าต่างกันยังไง พอลองทำก็มีปัญหาเรื่องการเซตตัวและขึ้นรา จริงๆ เราอยากทำสีธรรมชาติเลย เพราะเป็นคนชอบอะไรออร์แกนิกอยู่แล้ว แต่พอเป็นสีธรรมชาติแล้วไม่ใส่สารกันเสีย สีจะขึ้นรา มันมีข้อจำกัดอยู่ ก็ลองทำอยู่ระยะหนึ่ง ลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือน”

พอได้เบสธรรมชาติที่ต้องการและมีส่วนประกอบทางเคมีน้อยที่สุดตามความตั้งใจแล้ว เธอจึงเลือกโทนสีที่อยากได้ ออกมาเป็นเฉดสีเบาๆ ไม่จัดจ้านอย่างที่เราเห็นกันนี่แหละ

 

ผสมสีจากความชอบและความทรงจำ

นอกจากชื่อสีในพาเลตต์ Murakami ที่กล่าวไปตอนต้นแล้ว ยังมีพาเลตต์ Little Japanese Forest, Kyoto และ Paris ที่จินนี่นำมาโชว์ที่นิทรรศการ

“อย่างอันนี้” เธอผายมือให้ฉันดูที่ตลับ Little Japanese Forest “มาจากหนัง Little Forest แต่ด้วยความที่เราทำงานด้านหนังสือมาก่อนก็จะกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ เราจะไม่ใช้ชื่อเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่อยากเอาของเขามาโดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ รู้สึกว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ควรได้เงินด้วย ก็ขอเลี่ยงเป็นแรงบันดาลใจ ดึงมาแค่บางส่วน อย่างถ้าผสมสีออกมาเป็น ‘สีข้าว’ แบบในหนังก็จะไม่ใช่ตัวเรา เลยเลือกผสมสีอื่นที่เป็นตัวเราแทน ออกมาเป็นพาเลตต์นี้ มีชมพูซากุระ เหลืองมะนาว แดงสตรอว์เบอร์รี ส้มพีช และฟ้าน้ำแข็ง

“แม้จะยึดจากตัวเราเป็นหลัก แต่พอเริ่มต้นมาจากหนัง ก็ขอใช้ชื่อเป็น Little Japanese Forest แล้วกัน เป็นแนวนั้นไป นี่เป็นชุดแรกๆ ที่ทำและขายดีที่สุดด้วย” ฉันฟังแล้วไม่ค่อยแปลกใจ เพราะขนาดฉันไม่ใช่สายวาดภาพระบายสียังอยากได้กลับบ้านไปสักตลับเลย

“ตอนแรกเราวางขายสีน้ำที่ Warehouse 30 ก่อน วางกลุ่มลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยว เลยตั้งต้นเป็นชุดผลไม้ไทย มีสีลิ้นจี่ มะละกอ มะม่วง ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี ก็คิดเรื่อยๆ ว่าจะมีอะไรอีก” ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นพาเลตต์สีที่เกี่ยวกับความชอบของเธอมากมาย อย่างหนังที่ชอบก็ออกมาเป็นชุด Little Japanese Forest ผู้กำกับหนังที่รักอย่างชุด Wes และนักเขียนที่เจ้าตัวเคยแปลเรื่องสั้นจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยอย่าง Murakami

จากนั้น เธอลองขยับไปตีความสีจากสถานที่บ้าง

“เราลองผสมสีออกมาเป็นชุด Kyoto หนึ่งในสถานที่ที่เราชอบเหมือนกัน มีสีเขียวชาเขียว ม่วงมุราซากิ ซึ่งเป็นชื่อของนักเขียนญี่ปุ่นสมัยก่อน แดงกิโมโน ส้มอาราชิยาม่า และสีของแม่น้ำคาโมกาว่าที่อยู่กลางเกียวโต เป็นแรงบันดาลใจให้เราหมดเลย” 

หรือแม้แต่พาเลตต์ Paris ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน นั่นก็มาจากความทรงจำยามเธอไปพำนักกับเพื่อนชาวฝรั่งเศสที่รู้จักกันตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น

กล่าวอย่างเข้าใจง่ายคือ แรงบันดาลใจในการเลือกเฉดสีของเธอมาจากตัวเธอนั่นเอง ไม่ว่าจะความชอบในหนังสือ ภาพยนตร์ ของกิน หรือกระทั่งประสบการณ์ในวัยเยาว์ ทั้งหมดล้วนถูกนำมาแต่งแต้มในสีแต่ละพาเลตต์

“อย่างชุดใหม่ที่คิดไว้ แต่ติดทำนิทรรศการเลยหยุดไปก่อน จะมีชุดที่เป็นธรรมชาติ เพราะความชอบของเราก็เริ่มเปลี่ยนตามวัย เมื่อวานเราอายุ 41 ปี จากขนมสีพาสเทลก็มีความชอบธรรมชาติมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จากเมื่อก่อนเราไม่วาดดอกไม้เลย ตอนนี้เริ่มวาดดอกไม้ ต้นไม้ มากขึ้น มันเป็นที่วัย สมัยก่อนเราดูทีวีมีสัมภาษณ์ใครสักคนพูดว่า พออายุมากขึ้นเขาชอบอยู่บ้านมากขึ้น ตอนเด็กๆ ไม่เข้าใจหรอก แต่พอโตขึ้นชอบอยู่บ้าน ชอบดูต้นไม้ พยายามปลูกต้นไม้ที่ปลูกยังไงก็ปลูกไม่ขึ้น พอปลูกไม่ได้แต่เราชอบก็เลยวาดแทน”

แม้หัวข้อความชอบของจินนี่จะเปลี่ยนไปตามอายุ แต่ตัวตนอย่างโทนสีอ่อนๆ ของเธอยังคงอยู่ เจ้าตัวยืนยันอย่างนั้น

 

สร้างสรรค์จินตนาการได้ในราคาที่เป็นมิตร

 “เวลาซื้อสีมาใช้เป็นกล่องๆ สีเยอะๆ แต่สังเกตสิจะมีสีที่เราใช้กันบ่อยๆ และมีสีที่เราไม่ใช้เลย เพราะฉะนั้นเราเลือกทำเฉพาะสีที่ใช้ เช่น ชมพู เหลือง ส้ม ฟ้า วาดธรรมชาติ วาดทะเลได้ เราผสมมาให้เสร็จ มันง่าย คนใช้พู่กันป้ายแล้วระบายได้เลย พกพาไปไหนก็สะดวกด้วย” เจ้าของแบรนด์ตลับสีน้ำทำมือตอบคำถามเรื่องที่ว่าทำไมในพาเลตต์ของเธอจึงมี 5 สี

จุดเด่นอีกอย่างที่ทำให้คนจดจำโปรดักต์ของจินนี่ได้คือ แพ็กเกจจิ้งสุดน่ารักที่ผ่านการคิดและออกแบบมาเป็นอย่างดี แถมแม่เหล็กใต้ก้อนสีก็ช่วยให้สีทั้งหมดเรียงตัว ไม่กระจายตัวกระทบกันจนแตก

จากกระบวนการคิดอย่างพิถีพิถันนี้เองที่ทำให้ฉันแปลกใจว่า พาเลตต์นี้ขายในราคาแค่ 250 บาท ทั้งที่สามารถขายได้แพงกว่านี้

“ถามว่ากำไรเยอะไหม กำไรไม่เยอะเลยนะ มีค่าเบส สี พิมพ์ กล่อง และค่าฝากขายอีก น้องที่ร้าน Studio 360 ถามว่าพี่แน่ใจนะว่าขายราคานี้ ถามย้ำหลายครั้งมาก เขารู้ว่ากำไรไม่เยอะ เราบอกว่าขายเถอะ เพราะเราเคยสอนหนังสือเด็กมา รู้ว่าเด็กๆ อยากได้โน่นอยากได้นี่ แต่บางทีของราคาสูงเราก็เห็นใจเขาและพ่อแม่ มันมีของดีๆ ที่เขาอยากได้แต่ราคาสูงจังเลย เขาก็ไม่ไหว แล้วยิ่งพอมาขายเองบ่อยๆ จะเห็นว่าน้องๆ มีปัญหาเรื่องการเงิน เราเลยไม่ขึ้นราคาแน่ๆ รู้สึกว่าเขาก็อยากได้ เป็นของที่เอาไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไรเสียหาย”

และจากคำเรียกร้องของผู้ใช้ที่อยากให้จินนี่มีพู่กันขายด้วย เธอก็ไปสรรหาพู่กันที่ใช้ง่าย พกพาสะดวกคู่กับสีน้ำทำมือตลับนี้มาให้ เป็นพู่กันแทงก์ขนาดเล็กที่ถอดด้ามแล้วใส่ในตลับได้อย่างพอดิบพอดี จำหน่ายในราคา 50 บาท เรียกว่าแค่มีเงิน 300 บาทก็วาดภาพสีน้ำได้แล้ว ตอบโจทย์ความต้องการทำแบรนด์ของเธอที่ว่า ‘อยากทำของที่คุณภาพดีแล้วทุกคนจ่ายได้’

 

แบรนด์ที่ใช้วันหยุดเป็นแรงจูงใจ

หลังจากทำแบรนด์ได้ปีกว่า ใครๆ ก็รู้จักสีน้ำทำมือในชื่อ ‘สีน้ำจินนี่’ แต่ตอนนี้เธอเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น ‘Sunday Motivation’ แล้วหลังจากขบคิดมาเป็นแรมปี

“ชื่อนี้คิดได้ 2 แง่คือ เราทำงานพวกนี้ในวันหยุดและเวลากลางคืน เป็นการใช้เวลาของเรา เป็น motivation อย่างหนึ่ง และเราอยากให้คนซื้อได้รับความรู้สึกของวันอาทิตย์ที่เป็นวันพักผ่อน สบายๆ กลับไปอยู่บ้าน คนทำงานประจำจะเจอเคสที่ไม่อยากให้ถึงวันจันทร์ พอถึงวันอาทิตย์ จะรักวันอาทิตย์มากเป็นพิเศษ เป็นวันอยู่บ้าน เราเลยอยากให้สีของเราทำให้ทุกวันเป็นวันหยุด ซึ่งตอนนี้ในตลับสีจะใส่การ์ดข้อความทั้งหมด 4 ลาย เป็นลายถ้วยกาแฟนั่นนี่เพื่อสร้างความรู้สึกของวันอาทิตย์ เวลาใช้สีเราเขาจะได้ผ่อนคลาย”

นอกจากนี้เธอยังเปิดเวิร์กช็อปสอนวาดและเขียน calligraphy จากสีน้ำควบคู่กันมา ซึ่งจากการสังเกตตัวเองและผู้เรียน เธอได้เรียนรู้การวาดภาพระบายสีเชื่อมโยงกับโยคะแบบ moving meditation ที่เธอเคยเรียนที่นิวยอร์ก อย่างช่วงเริ่มลงสีทุกคนมักมีอาการเกร็ง เธอจึงแนะนำให้ทุกคนหายใจเข้าปอด และค่อยๆ ระบายสีตอนหายใจออก ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในกระบวนการทำโยคะด้วย

“ด้วยโทนสีที่ผ่อนคลาย ดูแล้วสดใสสดชื่น ไม่ใช่สีเข้มๆ จัดๆ พอซื้อไปใช้แล้วเราก็อยากให้เขาผ่อนคลายจากการได้ใช้สีน้ำเราด้วย” เธอเล่าถึงจุดมุ่งหมายด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข

แผนการต่อไป เธออยากเปิดสอนโยคะและทำสกินแคร์ออร์แกนิกใต้ร่มแบรนด์ Sunday Motivation เพื่อผสมผสานความชอบและต่อยอดแบรนด์ไปเรื่อยๆ ไม่หยุดแค่การทำสีน้ำเท่านั้น เพราะทั้งสองอย่างนี้คือส่วนประกอบของหลักการ mindfulness ที่เธอสนใจและอยากส่งต่อ ส่วนสีน้ำทำมือที่มีแนวโน้มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เธอก็อยากพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณภาพดี ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้หลากหลายกว่าเดิม

แม้ไม่รู้ว่าในอนาคตทั้งหมดจะเกิดขึ้นจริงไหม แต่อย่างน้อยบทสนทนาในนิทรรศการของจินนี่ถึงแบรนด์เล็กๆ ที่มุ่งมั่นแบ่งปันความสุข ก็ทำให้วันนี้เป็นวันหยุดแสนสุขของฉันไปอีกวัน


นิทรรศการ Okashi Daisuki: An exhibition by Jinny จัดที่คาเฟ่แกลเลอรี 10ml. ตั้งแต่วันที่ 3-21 สิงหาคม 2562

Facebook : จินนี่ สาระโกเศศ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย