Public Life in Bangkok โอกาสการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ไม่ล็อกดาวน์ไปพร้อมกับเมือง

Highlights

  • โควิด-19 ให้บทเรียนกับเราว่า ยิ่งคนอุดอู้อยู่บ้านเพราะต้องล็อกดาวน์ หรือเครียดกับสภาพชีวิตและสังคมในยามนี้ ‘พื้นที่สาธารณะ’ ยิ่งสำคัญต่อการมีชีวิตในเมือง
  • ยืนยันจากงานวิจัยของ Gehl Architects ที่บอกเราว่า พื้นที่สาธารณะของเมืองที่ดีพร้อมมาก่อนแล้วได้รับการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย
  • การพัฒนาพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โอกาสเหล่านั้นบางครั้งบางทีก็มาจากการหันไปมองสิ่งที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะกับพื้นที่ทิ้งร้างต่างๆ และวัดวาอาราม

ถ้าให้นึกถึงพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ กันแบบเร็วๆ คุณจะนึกถึงที่ไหน

นอกจากสวนสาธารณะในย่านที่พักอาศัยที่เราคุ้นเคย คำตอบอาจหนีไม่พ้นพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างสนามหลวง ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะแต่การเข้าไปใช้งานก็ไม่ได้สาธารณะตามชื่อ ในขณะที่บางคนอาจนึกถึงลานเซ็นทรัลเวิลด์ ลานพาร์ก พารากอน หรือริเวอร์พาร์กของห้างไอคอนสยาม ที่เอาเข้าจริงเราอาจจะต้องเรียกว่าพื้นที่กึ่งสาธารณะ (semi-public space) เพราะเป็นพื้นที่ที่เอกชนเป็นเจ้าของ ถึงจะเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงแต่ก็จำกัดรูปแบบกิจกรรมการใช้งานอยู่ดี

เรารู้กันอยู่เต็มอกว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยจัตุรัสหรือลานสาธารณะ และมีรูปแบบการใช้พื้นที่สาธารณะเหมือนเมืองในยุโรป แต่ก่อนที่เราจะวาดฝันว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพเยอะแบบเมืองนอกเมืองนา คำถามที่เราต้องตามหาคำตอบให้ได้ก่อนคือ แท้ที่จริงแล้วกรุงเทพฯ ของเรานั้นขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ หรือรูปแบบการใช้ชีวิตที่คนเมืองคุ้นชินนั้นไม่เอื้อต่อการใช้พื้นที่สาธารณะ (ที่มีอยู่แล้วหรือกำลังจะมี) กันแน่

ยิ่งเคลื่อนที่น้อยลง ยิ่งต้องการพื้นที่ใกล้บ้าน

แต่พอเอ่ยถึงพื้นที่สาธารณะ เราก็อดไม่ได้ที่จะหันไปมองเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ต้นแบบของเมืองเดินได้ที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนพื้นที่จอดรถในเมืองเก่าจำนวนมากเป็นพื้นที่สาธารณะ และเปลี่ยนถนนที่เชื่อมพื้นที่ส่วนรวมเหล่านั้นเป็นถนนคนเดิน

แน่นอน เมื่อทั่วโลกเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เราอดตั้งคำถามไม่ได้คือ การใช้งานพื้นที่สาธารณะของชาวโคเปนเฮเกนเปลี่ยนหน้าตาไปยังไงบ้าง

คำตอบนั้นอยู่ในงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ Gehl Architects บริษัทออกแบบและวิจัยเมืองที่ก่อตั้งโดย Jan Gehl สถาปนิกและนักพัฒนาเมืองคนสำคัญของเดนมาร์ก พวกเขาทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่สาธารณะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ใน 4 เมืองของเดนมาร์กซึ่งหนึ่งในนั้นมีโคเปนเฮเกนรวมอยู่ด้วย งานวิจัยบอกให้เรารู้ว่า แม้การเดินทางที่ลดน้อยลงไปมากจะทำให้พื้นที่ย่านดาวน์ทาวน์ที่เคยเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเจอผลกระทบอย่างหนัก แต่พื้นที่สาธารณะของเมืองที่ดีพร้อมมาก่อนแล้วกลับได้รับการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบของการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย

ยิ่งพื้นที่ไหนใกล้กับชุมชนหรือย่านที่มีคนอยู่มากๆ ก็เท่ากับว่ามีจำนวนการใช้งานเพิ่มขึ้น แถมกิจกรรมที่เกิดขึ้นตรงนั้นก็หลากหลายมากขึ้นด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ชีวิตสาธารณะรูปแบบใหม่กำลังเบ่งบาน และท่ามกลางการเติบโตนี้พวกเขาเห็นเด็กและผู้สูงอายุเข้ามาใช้งานพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับการฝึกดนตรีส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่นการฝึกเล่นแซ็กโซโฟน ก็กลายเป็นภาพที่ชาวโคเปนเฮเกนคุ้นตามากขึ้น

หนึ่งในพื้นที่ที่คึกคักมากขึ้นคือ Superkilen พื้นที่สาธารณะในย่าน Nørrebro ของโคเปนเฮเกนที่เริ่มต้นจากโครงการเปลี่ยนย่านที่เต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์และมีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงอันดับต้นๆ ของเดนมาร์กให้กลายเป็นย่านที่ปลอดภัยและพร้อมไปต่อกับโอกาสใหม่ๆ การพัฒนายังทำให้ Superkilen กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งที่ดึงดูดคนนอกไปในตัวด้วย

สำหรับเราแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่าพื้นที่สาธารณะที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในย่านได้อย่างมีนัยสำคัญ และไม่ว่าจะด้วยสภาวะปกติหรือไม่ปกติก็ตาม

พื้นที่ทิ้งร้าง สินทรัพย์สร้างค่าของเมืองยุคใหม่

ใช่ว่าการปรับเปลี่ยนพื้นที่ติดลบให้กลายเป็นพื้นที่น่าดึงดูดจะมีแค่ในโคเปนเฮเกนเท่านั้น ในกรุงเทพฯ ก็มีโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างให้กลายเป็นพื้นที่สดใหม่หลายแห่งที่ช่วยยกระดับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมให้เราได้ยืดอกภูมิใจด้วยเหมือนกัน

หนึ่งในนั้นคือ ‘ลานกีฬาพัฒน์ 2’ พื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนศรีรัช บริเวณแยกอุรุพงษ์ ที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง 

ลานกีฬาแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของคนหลายฝ่ายที่ร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนที่เคยเป็นพื้นที่ dark spot ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวใต้ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก ชุมชนคลองส้มป่อย และชุมชนวัดบรมนิวาส โดยที่พวกเขาจับมือกันตั้งแต่กระบวนการออกแบบพื้นที่

ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้อาจไม่ใช่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสีสันน่าถ่ายรูปจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง Superkilen แต่เราเรียกมันได้อย่างเต็มปากว่าเป็นพื้นที่สำหรับคนในชุมชนอย่างแท้จริง ทางเข้า-ออกที่เชื่อมต่อทุกตรอกซอกซอยในบริเวณดังกล่าวทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กทุกบ้าน และเป็นสนามหญ้าหน้าบ้านสำหรับทุกๆ ครอบครัว อีกทั้งพื้นที่ขนาด 12 ไร่เศษนี้ยังบรรจุไปด้วยสนามฟุตซอล สนามวอลเลย์บอล คอร์ตแบดมินตัน เปตอง เวทีมวย โต๊ะปิงปอง ไปจนถึงสนามน็อกบอร์ดเทนนิส สนามบาสเกตบอล และสนามตะกร้ออีกอย่างละ 2 สนาม จะมีที่ไหนอีกในกรุงเทพฯ ที่คนจากหลายๆ ชุมชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคเหล่านี้ได้ในระยะเดินเท้าไม่กี่ก้าวจากประตูบ้าน

ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่มนุษย์ทุกคนต้องการพื้นที่สาธารณะโล่งๆ ตอบโจทย์เรื่องการเว้นระยะห่างและสุขภาพด้วยแล้ว การปรับปรุงลานกีฬาพัฒน์ 2 นั้นคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม เพราะหากไม่มีลานกีฬาแห่งนี้ เราแทบนึกภาพไม่ออกเลยว่าพวกเขาจะไปอยู่ร่วมกันที่ตรงไหน ยิ่งกับเด็กๆ และผู้สูงวัยด้วยแล้ว พวกเขาควรที่จะได้ใช้ชีวิตในที่โล่งอากาศถ่ายเทมากกว่าการอุดอู้อยู่แค่ในบ้านไม่ใช่หรือ

ภาพจากเฟซบุ๊ก ลานกีฬาพัฒน์ ๒

ภาพจากเฟซบุ๊ก ลานกีฬาพัฒน์ ๒

ศาสนสถาน พื้นที่สาธารณะที่คนเข้าถึงง่ายที่สุด

เคยสังเกตเรื่องใกล้ตัวกันไหมว่า อะไรก็ตามที่เรามองเป็นของตายมันมักจากเราไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสมอ

สมัยก่อน พื้นที่ ‘วัด’ คือพื้นที่สนามเด็กเล่นของเด็กๆ ในละแวกนั้น ก่อนที่กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นให้กลายเป็นที่สำหรับจอดรถ จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อบทบาทในเชิงที่พึ่งพาทางจิตวิญญาณของวัดถูกลดคุณค่าลงตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และบทบาทในเชิงสังคมที่เคยเป็นศูนย์กลางชุมชนถูกเปลี่ยนให้ตอบสนองความต้องการแบบใหม่ ทุกคนมีรถ ที่ไหนมีพื้นที่ว่างก็ต้องเปลี่ยนเป็นที่จอดรถเสียให้หมด

วัดมีรายได้จากการเก็บค่าที่จอดรถ คนในชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการมีพื้นที่สำหรับจอดรถ ส่วนค่าเสียโอกาสทางสังคมน่าจะไม่มีใครเคยวัด ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียโอกาสในการเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เคยเชื่อมโยงชุมชนไว้ด้วยกัน พื้นที่อเนกประสงค์ของผู้คนในระยะเดินถึง สนามเด็กเล่นของเด็กๆ ที่ควรจะได้เติบโตใต้ร่มไม้ และพื้นที่ขยับเขยื้อนร่างกายของผู้สูงวัยก็เช่นกัน

ยิ่งนานวันไป นอกเสียจากการไปเอารถที่จอดทิ้งไว้ เราก็ไม่มีธุระให้เดินเข้าวัด ส่วนคนที่ไม่มีรถให้เอาไปจอดในวัดก็ยิ่งไม่รู้ว่าจะเข้าวัดเพื่ออะไรในเมื่อวัดเต็มไปด้วยรถที่จอดแน่นิ่ง ไม่ได้น่าเดินหรือแม้แต่จะสะดวกที่จะเดินเล่นอยู่ในนั้นอีกแล้ว

แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนไป กรุงเทพมหานครยังเป็นเมืองที่มีศาสนสถานอยู่เป็นจำนวนมาก ลำพังวัดพุทธก็มีมากกว่า 400 แห่ง วัดคริสต์อีกกว่า 100 แห่ง มัสยิดอีกจำนวนไม่น้อย ไม่นับศาลเจ้าที่กระจายตัวไปทั่วเมือง

นอกจากโครงการอย่างลานกีฬาพัฒน์ 2 ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่จนก่อเกิดประโยชน์ให้คนส่วนรวมได้อย่างน่าชื่นชม อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือโครงการ ‘วัดบันดาลใจ’ ที่สถาบันอาศรมศิลป์จับมือทำร่วมกับภาคีเครือข่าย ใช้ภูมิสถาปัตยกรรมพลิกพื้นที่วัดให้กลับมาเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ชีวิตคนในชุมชนด้วย วัดบันดาลใจเป็นโครงการทดลองที่ทำกับวัดหลายแห่งทั่วประเทศ อย่างในกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยวัดนายโรง วัดทองเนียม วัดราษฎร์บูรณะ วัดสุทธิวราราม และวัดนางชีโชติการาม 

เพราะศาสนสถานยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะในระดับเดินถึงที่มีศักยภาพที่สุดของกรุงเทพฯ เมืองที่เราเคยคิดว่าขาดแคลนพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ ดังนั้นคงดีไม่น้อยหากโครงการนี้จะขยายไปไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ โดยเฉพาะในวันที่วิกฤตโรคระบาดเตือนให้เรารู้ว่าพื้นที่ละแวกบ้านยังมีความสำคัญ ทั้งในแง่ของการเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเยียวยาความเดือดร้อน หรือพื้นที่สำหรับหลีกหนีความอุดอู้จากการอยู่บ้านของแต่ละคน

ประกอบกับรายงานเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะของ UN-Habitat สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากวิกฤตนี้คือ พื้นที่สาธารณะถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพวกเรารับมือกับวิกฤตนี้ ไม่ว่าจะเพื่อลดความตึงเครียด ป้องกันโรคระบาด สร้างเสริมความแข็งแรงให้กับสุขภาพกาย หรือซัพพอร์ตการใช้ชีวิตด้านต่างๆ เช่น การเป็นสวนผักชุมชนในวันที่เราต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้วิกฤตยังชี้ให้เราเห็นช่องว่างในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ที่เริ่มตั้งแต่วิธีการการเข้าถึง การออกแบบพื้นที่ให้ยืดหยุ่น รองรับกิจกรรมได้หลากหลาย การดูแลและบริหารจัดการพื้นที่ ไปจนถึงการกระจายตัวของพื้นที่สาธารณะที่ต้องอยู่ในระยะที่คนเดินถึงได้ หรือว่าควรมีมาก-น้อยเพียงใดถึงจะพอดีกับจำนวนและพฤติกรรมของคน

มาถึงตรงนี้แล้ว คำตอบของคำถามอาจไม่ใช่คำว่า ‘ขาดแคลน’ แล้วล่ะ

 

Credits:

สถาบันอาศรมศิลป์ 

Gehl Architects

UN-Habitat

AUTHOR