Half A House วิธีแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยยามประชากรล้นและงบประมาณไม่พอแบบชิลี

Highlights

  • ‘Half A House’ หรือ ‘บ้านครึ่งเดียว’ คือหนึ่งในโครงการรับมือกับปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอต่อปริมาณประชากรในเมืองของประเทศที่มีความเป็นเมืองสูงอันดับต้นๆ ของโลกอย่างชิลี
  • หัวใจของโครงการคือการออกแบบบ้านหลังใหม่บนพื้นที่ชุมชนแออัดแห่งเดิม เพราะการโยกย้ายครอบครัวเหล่านี้ออกไปยังชานเมืองอาจต้องแลกด้วยต้นทุนที่แพงขึ้น ทั้งเรื่องเงินและเวลาในการเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง
  • แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่ก็ด้วยแนวคิด ‘บ้านที่ดีครึ่งเดียวยังดีกว่าบ้านห่วยๆ ทั้งหลัง’ ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงยกระดับชีวิตเจ้าของบ้านเท่านั้น แต่ยังผลักให้ราคาที่ดินบริเวณนั้นสูงขึ้นอีกด้วย

ชิลีเป็นประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาที่อยู่ห่างไกลจากพวกเรามากเสียจนนึกภาพไม่ออก 

นอกจากจะเป็นประเทศที่ยาวที่สุดบนแผนที่โลก เป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในแถบอเมริกาใต้โดยการันตีจากรายได้ต่อหัวของประชากร แถมยังเหลื่อมล้ำอันดับต้นๆ ในกลุ่ม OECD (องค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว) ชิลียังเป็นประเทศที่มีความเป็นเมืองสูงอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย 

หากมองข้อมูลเชิงตัวเลขจากปี 2019 ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองของประเทศชิลีนั้นสูงถึงร้อยละ 88 แต่ในความเป็นจริงสภาพความเป็นเมืองของชิลียังจัดว่าห่างไกลจากประเทศที่เป็น city state อย่างวาติกันหรือสิงคโปร์อยู่มาก 

หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า ‘ความเป็นเมือง’ สำคัญกับแต่ละประเทศยังไง คำตอบคือมันสัมพันธ์แนบแน่นกับการทะลักเข้าเมืองของผู้คนที่มาจากแคว้นหรือพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ตามมาด้วยอุปสงค์ของที่อยู่อาศัยซึ่งไม่สามารถรองรับได้ด้วยอุปทานที่มี การตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการจึงกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปโดยเฉพาะกับเมืองในลาตินอเมริกา

ชิลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผ่านการทดลองรับมือกับปัญหาที่อยู่อาศัยมาหลายยุคหลายสมัย จนแทบจะกลายเป็นกรณีศึกษาให้กับเมืองอื่นๆ แถมวิธีการทดลองที่ใช้นั้นก็แฝงด้วยเรื่องราวสำคัญมากมายที่บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

เมื่อจำนวนประชากรล้นจนที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ประเทศในลาตินอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นเมืองสูงลิบลิ่วรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นยังไง ความน่าสนใจจึงอยู่ตรงนี้

Operation Chalk

ย้อนกลับไปปี 1965 รัฐบาลชิลีออกนโยบายรับมือกับปัญหาผู้อพยพที่เข้าเมืองมาตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายด้วยการแจกที่ดินให้กับครอบครัวผู้อพยพเหล่านี้ โดยให้ชื่อโครงการนี้ว่า ‘Operation Site’ แต่เหตุผลที่ทำให้มันเป็นที่จดจำในชื่อ Operation Chalk มากกว่าเป็นเพราะว่าภาพจำที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้แท่งชอล์กขีดเส้นแบ่งพื้นที่ให้กับคนยากจนนั่นเอง

ชิลีตั้งต้นโครงการนี้บนความคิดพื้นฐานที่ว่า ‘หากปัญหาคือการตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายก็ทำให้มันถูกกฎหมายเสีย’ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการแจกจ่ายที่ดินไม่ได้ช่วยเหลืออะไรมากนัก เพราะความยากจนที่คนเหล่านี้แบกไว้บนบ่าได้ถูกบวกเพิ่มด้วยความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อที่ดินผืนที่ตัวเองได้รับมาแบบฟรีๆ ซึ่งพวกเขาก็ต้องบากบั่นกันต่อไป

แต่ไม่ว่าจะยังไง Operation Chalk ก็คือโครงการประวัติศาสตร์ของชิลี แม้การใช้ชอล์กขีดเส้นแบบลวกๆ จะถูกมองว่าไม่ให้เกียรติคนที่มีโอกาสน้อยกว่า และการจัดสรรที่ดินซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามชานเมืองยังถูกเปรียบว่าเป็นเครื่องมือการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม (คนจนถูกโยกไปรวมกันเป็นกลุ่มไกลจากคนรวย) แต่ทุกวันนี้ก็มีชาวชิลีจำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาบนผืนดินและบ้านที่พวกเขาเป็นเจ้าของ

 

Half A House

ปัญหาหลักของการรับมือกับอุปสงค์ที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคืองบประมาณ และแน่นอนว่างบประมาณก็เป็นตัวกำหนดคุณภาพของบ้าน โดยเฉพาะบ้านสาธารณะที่รัฐสร้างให้ประชาชน (ไม่นับปัญหาคอร์รัปชั่นที่ทำให้คุณภาพบ้านถูกกดลงไปอีก) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทางเลือกในการจัดหาหรือจัดการกับงบประมาณที่มีอยู่ก็ทำให้เราได้เห็นโครงการที่พักอาศัยราคาประหยัดที่น่าสนใจเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่ควรจะพัฒนาตามกันก็น่าจะเป็นความคิด

หากความคิด ‘หากปัญหาคือการตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายก็ทำให้มันถูกกฎหมายเสีย’ คือที่มาของปฏิบัติการชอล์กในยุค 60s ‘ทำให้ดีครึ่งเดียวก่อนก็ยังดี’ ก็คือความคิดที่มาของโครงการ ‘บ้านครึ่งเดียว’ ที่ปลุกปั้นโดย Alejandro Aravena สถาปนิกชาวชิลีผู้เป็นเจ้าของรางวัล Pritzker Prize ประจำปี 2016 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์ด้านสถาปัตยกรรม 

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในปี 2001 เมื่อ Elemental บริษัทสถาปนิกที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการ Quinta Monroy ใน Iquique เมืองท่าในตอนเหนือของชิลี โดยมีโจทย์เป็นการออกแบบที่อยู่อาศัยให้กับเกือบหนึ่งร้อยครอบครัวที่ปักหลักในพื้นที่สลัมกลางเมืองมายาวนานกว่า 30 ปี

หัวใจของโครงการนี้คือการออกแบบบ้านหลังใหม่บนพื้นที่เดิม เพราะการโยกย้ายครอบครัวเหล่านี้ออกไปยังชานเมืองอาจต้องแลกด้วยต้นทุนที่แพงขึ้น ทั้งต้นทุนเรื่องเงินและเวลาในการเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง

สิ่งที่เราต้องปรบมือให้กับ Quinta Monroy คือการรักษาวิถีชีวิต การทำมาหากิน และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ผู้คนในพื้นที่นี้โยงใยร่วมกันมาเนิ่นนาน บวกกับความพยายามของสถาปนิกที่ต้องการจะสร้างบ้านที่ยืนอยู่บนมาตรฐานการอยู่อาศัยของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ได้เลยว่าทำกันไม่ได้ง่ายๆ

บ้านหนึ่งหลังจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐราว 7,500 เหรียญ (รวมค่าที่ดิน) หากจะทำบ้านตามมาตรฐานชนชั้นกลางในงบเท่านี้นั้นมีความเป็นไปได้เพียงแค่ 30 ตารางเมตร แต่ความกล้าในการทดลองและมองหาโอกาสของรัฐและบริษัทสถาปนิก ทำให้พวกเขาสามารถขยับขยายพื้นที่บ้านได้ถึง 72 ตารางเมตรในที่สุด

โครงการบ้านครึ่งเดียวยังได้สะท้อนความคิดที่ว่า ‘บ้านที่ดีครึ่งเดียวยังดีกว่าบ้านห่วยๆ ทั้งหลัง’ ในบ้านประกอบไปด้วยฐานรากและโครงสร้าง พร้อมกับระบบท่อและเพดานที่มีมาตรฐาน มีการจัดสรรห้องตามการใช้สอยเหมือนกับบ้านทั่วไป เช่น ห้องกลาง ห้องนอน ห้องน้ำ บันได เป็นต้น ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านแล้วว่าอยากต่อเติมหรือดัดแปลงอะไร

แม้จะสร้างไว้ให้แค่ครึ่งเดียวแต่เป็นครึ่งเดียวที่มีคุณภาพ กลายเป็นว่าโครงการนี้ได้ผลักให้ราคาที่ดินในบริเวณนั้นสูงขึ้น ที่น่ารักคือครอบครัวเหล่านี้ก็ไม่คิดจะขายบ้านทิ้งและย้ายออกไปไหน 

บางคนอาจมองว่าบ้านครึ่งเดียวได้ทิ้งภาระอีกครึ่งหนึ่งให้กับผู้อยู่อาศัย ไม่ต่างอะไรกับนโยบายแจกที่ดิน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการสร้างโอกาสให้พวกเขาได้สร้างบ้านในแบบที่ตัวเองอยากจะอยู่ และก็เพราะบ้านอีกครึ่งหนึ่งนั้นทำให้บ้านแต่ละหลังแตกต่างกันออกไป

ลองถอยออกมาไกลๆ ภาพบ้านหลายๆ หลังที่รวมกันตรงหน้าเราตอนนี้ถือเป็นความหลากหลายและความเท่าเทียมที่ปรากฏออกมาเป็นภาพแลนด์สเคปที่สวยงามมากทีเดียว

ปัจจุบันบริษัท Elemental ทำโครงการบ้านครึ่งเดียวมาแล้ว 4 โครงการ ซึ่งนอกจาก Quinta Monroy ก็ยังมี Lo Barnechea ในเมืองซานติอาโก (เมืองหลวง) และ Villa Verde ในเมือง Constitución ของชิลี กับอีกหนึ่งโครงการในเมือง Monterrey ของเม็กซิโก โดยที่แบบก่อสร้างของทั้ง 4 โครงการเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีด้วย

Elemental บอกกับเราว่าบ้านสาธารณะไม่ควรถูกมองเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐ แต่ควรมองเป็นการลงทุนเพื่อความเติบโตของคนและเมืองต่างหาก

 

อ้างอิง

Archdaily 

Architect

Bloomberg City Lab

The Guardian

The Guardian (2)

AUTHOR