สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ : กลุ่มคนที่เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนผักใจกว้างเลี้ยงคนเชียงใหม่

Highlights

  • ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หนึ่งในปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกังวลและตั้งคำถามต่อรัฐบาลคือความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งในเชียงใหม่มีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาหาทางออกของปัญหานี้ด้วยการปรับพื้นที่รกร้างกลางเมืองขนาด 3 ไร่ ให้กลายเป็นสวนผักเลี้ยงปากท้องคนในเมือง
  • โปรเจกต์นี้มีชื่อว่า 'สวนผักคนเมืองเชียงใหม่' เกิดจากกลุ่มคนที่แทนตัวเองว่า คณะผู้ก่อการ มีกลุ่มสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอเป็นหัวแรงสำคัญ ทำงานร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ
  • พวกเขาได้ไอเดียนี้มาจากการปลูกผักเลี้ยงไก่สเกลเล็กๆ ในเมือง บวกกับการอยากเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมืองเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยพื้นที่ 3 ไร่นี้ประกอบด้วยตลาดคุณธรรม พื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ โซนผักหมุนเวียน โซนผลไม้ และต้นไม้ใหญ่ ซึ่งในช่วงวิกฤตอาจเลี้ยงคนได้มากถึง 300 ครัวเรือน
  • "สวนผักคนเมืองเชียงใหม่คือจุดเริ่มต้นในยุคเปลี่ยนผ่านที่รัฐมองหาบทบาทที่ดี ประชาชนก็มีบทบาทที่ดี โดยเราจะใช้โปรเจกต์นี้สำหรับสร้างแรงส่งต่อให้ไปถึงจุดเปลี่ยน ให้เราเป็นเมืองที่ซิวิไลซ์กว่านี้ เมืองที่ภาครัฐและประชาชนมองเห็นอนาคตร่วมกัน"

ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งหลายประเทศทั่วโลกต้องออกมาประกาศล็อกดาวน์และขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ช่วงเวลานี้เราได้เห็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยตาตนเอง ภาพของผู้คนที่หวาดกลัวรีบกักตุนอาหารในตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตจนของหมด แม้แต่ไข่ที่เคยมีเหลือล้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับทุกคน

ต่อมาเมื่อโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย เรากลับพบว่าสถานการณ์ของคนจนในเมืองที่ตกงานจากการล็อกดาวน์นั้นทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เมื่อไม่มีงานพวกเขาก็ไม่มีเงิน ไม่มีกำลัง ไปซื้อหาอาหารมาเลี้ยงปากท้องตนเองและคนในครอบครัว

ความมั่นคงด้านอาหารจึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกกังวลและตั้งคำถามต่อรัฐบาลของตนเอง

ในสถานการณ์เช่นนี้ มีไอเดียน่าสนใจที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาหาทางออกให้กับปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร โดยปรับพื้นที่รกร้างกลางเมืองขนาด 3 ไร่ ให้กลายเป็นสวนผักที่จะช่วยหล่อเลี้ยงปากท้องของคนเชียงใหม่ในอนาคต

พวกเขาเรียกโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่นี้ว่า ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’ และแทนกลุ่มตนเองว่า คณะผู้ก่อการ มีกลุ่มสถาปนิก ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ เป็นหัวแรงสำคัญ ทำงานร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ

ไอเดียของพวกเขาเป็นยังไง เรามาคุยกับ ตี๋–ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ตัวแทนสถาปนิกจากกลุ่มใจบ้านสตูดิโอ หนึ่งในคณะผู้ก่อการโปรเจกต์สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ถึงที่มาที่ไปของสวนผักกลางเมืองแห่งนี้

“โปรเจกต์สวนผักคนเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นจากการที่เราเคยลงพื้นที่สำรวจ แล้วพบว่าตัวเมืองเชียงใหม่มีพื้นที่รกร้างอยู่เพียบเลยและไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ของรัฐที่ควรจะนำมาใช้เป็นของทุกๆ คน

“ที่ผ่านมาเราเคยทำงานออกแบบร่วมกับชุมชนแออัดบริเวณคลองแม่ข่า ใกล้กับสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ตอนเกิดโควิดใหม่ๆ เราลงพื้นที่แล้วพบว่า คนส่วนใหญ่ในชุมชนที่เป็นลูกจ้างรายวันตกงานตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ไม่ใช่ตอนที่สถานการณ์พีคช่วงปลายเดือนมีนาคม เพราะส่วนใหญ่คนที่นี่ทำงานภาคบริการ เขาถูกเลย์ออฟตั้งแต่นักท่องเที่ยวจีนไม่มาแล้ว และถ้าเขามีรายได้รายวัน พอโควิดเข้ามามันก็ส่งผลกระทบกับเขาเต็มๆ รวมถึงคนที่ต้องดูแล ลูก เมีย พ่อแม่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพคนไปต่อคิวเพื่อรับอาหารที่มาแจก และวนหลายๆ รอบเพื่อนำมาให้คนแก่และเด็กที่บ้าน

“เราเลยนำประเด็นเรื่อง urban farm การปลูกผักเลี้ยงไก่สเกลเล็กๆ ในเมืองมาขบคิด แม้มันจะไม่สามารถพึ่งพิงได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้เยอะ โดยเฉพาะกับคนที่มีรายได้น้อย ประกอบกับพอสถานการณ์พีคมากๆ คนก็เริ่มพูดถึงความมั่นคงด้านอาหารในเมือง เราเลยรู้สึกว่าใช้โอกาสนี้ดีไหม เอาโจทย์ 3 อย่างนี้ พื้นที่รกร้าง ความมั่นคงด้านอาหารของทุกคน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคบริการ มาร้อยเรียงและพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะในเมือง

“เราลองเอาไอเดียที่ขัดเกลากับชุมชนแล้วไปเล่าให้ภาคีฯ ฟังว่ามันเป็นไปได้นะ ผมถนัดส่วนนี้ พี่ถนัดส่วนนี้ น้าถนัดส่วนนี้ แล้วก็ตั้งโต๊ะคุยกับเทศบาล ทางเทศบาลเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้มารับฟังเรา ซึ่งตอนนั้นเกิดสถานการณ์โควิด มันก็ประจวบเหมาะพอดี เพราะผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดได้รับนโยบายให้สร้างมาตรการรองรับโรคระบาดนี้ แล้ววันนั้นเป็นวันตั้งศูนย์ประสานงานระดับจังหวัดเชียงใหม่ เราเข้าไปพอดี ผู้ว่าฯ บอกว่าเอาไอเดียนี้มาเลย (หัวเราะ) โปรเจกต์สวนผักคนเมืองเชียงใหม่จึงเกิดขึ้น

 

พลิกที่ทิ้งขยะขนาด 3 ไร่กลางเมืองเป็นที่เลี้ยงปากท้อง 300 ครัวเรือน

“พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2540 ทับถมจนเป็นกองขยะสูง 4 เมตร แต่เราค้นพบว่าที่ตรงนี้เป็นของรัฐ อยู่ติดกับคลองแม่ข่า ในเชิงกายภาพคนจึงเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่เดินเลาะริมคลองมา ทั้งยังเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ฝั่งซ้าย เป็นโซนที่ไฮเอนด์มากเลย มีคอนโด โรงแรมห้าดาว สำนักงานต่างๆ และอีกฝั่งคือชุมชนแออัด พื้นที่ของสวนผักคนเมืองอยู่ระหว่างกลาง มันเลยสะท้อนว่าเมืองเราไม่เท่ากัน แต่พื้นที่สาธารณะทำให้เกิดสังคม

“เรารู้สึกว่าสวนแห่งนี้สามารถเป็นเครื่องมือทางสังคมแบบใหม่ให้คนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เหมือนสวนต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราอยากให้คนเข้ามาใช้ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่คนในชุมชนหรือภาคบริการ เราอยากให้คนในคอนโดเดินเข้ามาแล้วเห็นว่านี่คือสวนสาธารณะ ไม่ใช่สวนของคนจน คนจนก็ไม่มองว่านี่คือสวนของคนรวย

“เราอยากไปให้ถึงจุดที่ทำให้สวนแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ ในแง่การทำให้ทุกคนในเมืองรู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน ผ่านฟังก์ชั่นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเป็นพื้นที่สร้างความรู้เกษตรกรรมในเมืองให้กับคนทุกชนชั้น

“ภายในพื้นที่ 3 ไร่ เราตั้งใจจะให้แกนกลางเป็นอาคารสาธารณะสำหรับจัดเป็นตลาดคุณธรรม ขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในราคาที่ใครก็จับต้องได้ ซึ่งเราค้นพบว่ามีเกษตรกรที่มีสินค้าส่งห้างแต่ตกเกรดอยู่เยอะมาก ซึ่งมันก็ยังสวยนะ แค่ไม่เพอร์เฟกต์ เป็นไปได้ไหมที่จะเอามาขายในราคาที่ถูกลง เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้ช่วยจัดการเรื่องขยะอาหาร แถมยังมีคุณภาพส่งถึงมือทุกคนได้อย่างไม่สูญเปล่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว มีโซนปลูกผักหมุนเวียนจากเมล็ดอินทรีย์ อีกโซนเป็นผักผลไม้ที่เราปลูกครั้งเดียวแล้วเก็บได้ตลอดปี เช่น กล้วย มะนาว ลูกหม่อน ที่เหลือเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ซึ่งเท่าที่คาดการณ์ถ้าจัดปฏิทินการปลูกดีๆ ในช่วงวิกฤตสวนขนาด 3 ไร่แห่งนี้จะเลี้ยงคนได้มากถึง 300 ครัวเรือน”

 

สวนผักผลักดันเมือง

“ยังไงก็ตามถ้าไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตจริงๆ เราไม่อยากสร้างวัฒนธรรมสงเคราะห์ให้เกิดขึ้นมาก เอาแต่ให้อย่างเดียวไม่ใช่ทางแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนที่น่าจะเกิดขึ้นในสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ด้วยคือความรู้ที่เราให้ไปมากกว่า เรามีโมเดลที่คิดกันว่าจะช่วยแก้ปัญหาคนตกงานด้วยการจ้างให้เขามาช่วยดูแลหรือทำงานในสวน นำเวลามาแลกเป็นคูปองเพื่อแลกผลผลิตภายในสวน นอกจากจะเป็นการจ้างงานแล้ว เขายังได้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรในเมืองไปด้วย สำหรับเราการทำให้คนเริ่มต้นที่บ้านตัวเองได้เป็นส่วนสำคัญ ด้วยเหตุนี้ภายในพื้นที่จึงมีแปลงสาธิตขนาดเล็กเป็นตัวอย่างให้คนที่มีพื้นที่น้อยได้เข้ามาเรียนรู้ว่ามันเป็นไปได้ที่จะทำสวนในสเกลเล็กๆ

“ถ้าลองเสิร์ชดูในหลายประเทศมีแล้ว ที่สิงคโปร์มีกลุ่ม Network Urban Farmer ซึ่งเกิดจากการที่คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่อาศัยในแฟลตของรัฐ เลยไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ทีนี้รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบาย social engineering หลอมรวมความหลากหลาย กำหนดสัดส่วนเลยว่าตึกหนึ่งมีมุสลิมกี่คน จีนกี่คน คละศาสนา เพื่อทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลางด้านล่างของแต่ละตึก จ้างสถาปนิกให้ออกแบบดึงให้คนมาใช้ ให้มารู้จักกัน หนึ่งในนั้นคือการทำพื้นที่เกษตรจนส่งผลให้เกิดกลุ่มเกษตรกรในเมือง แต่ละตึกจะปลูกผลผลิตแตกต่างกันและมีการแลกเปลี่ยนกัน เช่น บล็อก F ปลูกมะเขือเทศไปแลกกับผักชนิดอื่นจากบล็อก B เกิดเป็นเครือข่ายและความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่

“เรามองว่าตัวอย่างนี้น่าสนใจมากและเห็นว่าในเมืองไทยยังไม่มี อย่างอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีของธรรมศาสตร์ มีเอกชนเป็นผู้จัดตั้ง แน่นอนว่ามันสร้างความสนใจและผลลัพธ์ได้มากกว่าเพราะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ในเชิงโมเดลเรายังนึกไม่ออกเหมือนกันว่ามีสวนไหนในไทยที่รัฐกับประชาชนร่วมมือกันบริหาร ถ้าสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ทำได้ เราจะได้บทเรียนการพัฒนาเมืองในบริบทเมืองไทยหลายเรื่องมากๆ โดยเฉพาะการบริหารพื้นที่สาธารณะในต่างจังหวัด”

 

สวนจากการฮอม funding

ฮอมในภาษาเหนือมีความหมายว่า การระดม ซึ่งตอนนี้สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ได้ใช้วิธีการขอระดมทุนจากผู้คนที่มีใจอยากช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็ขอระดมแรงจากคนที่มีกำลังเข้ามาช่วยสร้างสวนแห่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้

“เหตุผลที่เลือกใช้วิธีการระดมทุนเพราะเราอยากสร้างการมีส่วนร่วม ให้พื้นที่ตรงนี้เป็นของคนเชียงใหม่ทุกคน ทำให้มีความรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของทุกคน ผมไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสวนของเทศบาล เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะรู้สึกว่าเทศบาลก็ดูแลไป เราไม่ต้องมีส่วนร่วมอะไร ถ้าเป็นแบบนั้นสวนที่เราวาดฝันไว้จะไม่มีทางเป็นจริง

“จากการที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ทิ้งขยะก่อสร้างมานาน เบื้องต้นเราจึงเก็บดินไปทดสอบหาโลหะหนักก่อน ระหว่างรอผลเราก็ถามผู้เชี่ยวชาญว่าการฟื้นฟูดินที่ปนเปื้อนโลหะหนักมันทำยังไงได้บ้าง ก็ค้นพบการใช้ biochar ซึ่งเป็นถ่านไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่เกิดคาร์บอนฯ มีสรรพคุณเป็นบ้านให้จุลินทรีย์ในดิน และตัวมันเองก็ตรึงโลหะหนักไว้กับตัว แทนที่จะให้รากพืชดูดขึ้นไป ถือเป็นโชคดีที่เราได้ภาคเอกชนสนับสนุนมา 1 ตัน ก็เอาไปผสมกับปุ๋ยหมักรองพื้นแปลงทั้ง 3 ไร่ ซึ่งทั้งเยอะและยาก ดีหน่อยที่เราได้ดินดำจากผู้ว่าฯ ที่ประสานงานกับกรมเจ้าท่าให้ เพราะตอนนี้เขาขุดล่องแม่น้ำปิงอยู่ เลยได้จากตรงนั้นมาโปะในพื้นที่ 500 คันรถ เอามาปูทับชั้นขยะ พอปูเสร็จก็เอา biochar ไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นแปลงยกอีก 30 เซนติเมตร นั่นหมายความว่าเบ็ดเสร็จเราจะมีชั้นดิน 80 เซนติเมตร ซึ่งรากพืชผักยาวแค่ 10-20 เซนติเมตร ไม่ถึงอยู่แล้ว บวกกับข้างล่างมี biochar ช่วยอยู่ด้วย

“ระบบน้ำในพื้นที่ก็เป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะอยู่ใกล้กับคลองแม่ข่าแต่มันใช้ไม่ได้ ต้องเจาะน้ำบาดาล ซึ่งก็ได้บริษัทเอกชนมาช่วยทำในราคาต้นทุน โดยเอาเงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งมาช่วยเขา เพราะการเจาะบาดาลทีหนึ่งต้องใช้งบหลักแสนบาท

“จากตอนแรกที่ทำเรื่องผัก กลายเป็นว่าระหว่างทางเราค้นพบอะไรหลายอย่างมาก จนกระทั่งถึงวันที่เราทลายกำแพงที่เคยปิดกองขยะนี้ไว้ เปิดให้เห็นเป็นเนินสวนผักที่มองเลยออกไปเป็นดอยสุเทพ มีทุ่งดอกไม้ เรามองว่านี่คือจุดเริ่มต้นในยุคเปลี่ยนผ่านที่รัฐก็มองหาบทบาทที่ดี ประชาชนก็มีบทบาทที่ดี โดยเราจะใช้โปรเจกต์นี้สำหรับสร้างแรงส่งต่อให้ไปถึงจุดเปลี่ยน ให้เราเป็นเมืองที่ซิวิไลซ์กว่านี้ เมืองที่ภาครัฐและประชาชนในสังคมมองเห็นอนาคตร่วมกัน ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกัน และทำให้สวนแห่งนี้ที่เริ่มต้นด้วยพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มากกระจายตัวไปตามพื้นที่ที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ตามเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม”


สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ติดตามข่าวสารและร่วมระดมทุนได้ที่ สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ – Chiangmai Urban Farm

AUTHOR