Latin American Cities : เมื่อเมืองลาตินอเมริกาพากันพัฒนาเมืองจนเป็นกระแส Make it happen

Highlights

  • การ 'ฝังเข็มเมืองคือแนวคิดการทดลองพัฒนาเมืองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการไหลเวียนของลมปราณตามแนวคิดการฝังเข็มซึ่งถือเป็นศาสตร์การรักษาโรคของจีน
  • สิ่งที่ทำให้การฝังเข็มเมืองกลายเป็นแนวคิดที่นักพัฒนาเมืองทั่วโลกหันมาให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันถูกยกขึ้นมาพูดถึงโดย Jaime Lerner อดีตสถาปนิก นักผังเมือง และนายกเทศมนตรีหลายสมัยของกูรีตีบา เมืองในบราซิล
  • ความสำเร็จของกูรีตีบาคือการที่แลร์เนอร์นำระบบ BRT (Bus Rapid Transit) หรือที่เรียกในกูรีตีบาว่า SpeedyBus มาใช้อย่างประสบความสำเร็จ เป็นการพัฒนาเมืองในเชิงพื้นที่โดยมีหัวใจสำคัญคือคนและชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่า

โลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคของเมือง และลาตินอเมริกาถือเป็นภูมิภาคที่มีความเป็นเมืองเข้มข้นอันดับต้นๆ ของโลกด้วยจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเกือบร้อยละ 80

นอกจากความเป็นเมือง อีกสิ่งที่นิยามความเป็นลาตินอเมริกาก็คือความ ‘เกือบจะเป็นยุโรป’ และความ ‘เกือบจะพัฒนาแล้ว’

ความเกือบจะเป็นยุโรปนั้นไม่ต้องอธิบายก็คงเป็นที่เข้าใจเพราะดินแดนแห่งนี้มีภาษาหลักคือสเปนกับโปรตุเกส และเมืองส่วนใหญ่ที่เรารู้จักก็ก่อตั้งโดยชาวยุโรป

ส่วนความเกือบจะพัฒนาแล้วนั้นอธิบายง่ายๆ ก็คือมีเพียงอุรุกวัยและชิลีที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ส่วนอาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโกนั้นถือเป็นเพื่อนร่วมสาบานติดกับดักรายได้ปานกลางกันมานมนาน

นอกจากกับดักการพัฒนา ภาพจำอีกอย่างของลาตินอเมริกาก็คือยาเสพติดและอาชญากรรมซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน นั่นเป็นสองสิ่งที่หลายคนนึกถึงเป็นอย่างแรกเมื่อได้ยินชื่อประเทศอย่างโคลอมเบีย

ส่วนภาพจำอย่างสุดท้ายที่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงลาตินอเมริกาคือชุมชนแออัดที่เรียงรายกันอยู่ตามเนินเขานั่นเอง

ไม่ว่าภาพของลาตินอเมริกาจะอึดอัดคับข้องยังไง สิ่งที่โลกได้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือการที่หลายเมืองในอเมริกาลุกขึ้นมาเปลี่ยนเมืองของพวกเขาให้สดใหม่ จนกลายเป็นกระแส Make it happen จนได้

 

 

ฝังเข็มเมือง (Urban Acupuncture)

เมืองไม่ต่างจากชีวิตที่มีองคาพยพซับซ้อน ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคที่เมืองใหญ่ขึ้นทุกวัน การจัดการเมืองจึงไม่ต่างจากการจัดการความซับซ้อนขั้นสุด

แต่ในบางครั้ง จุดเปลี่ยนของเมืองกลับเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ

เรากำลังพูดถึงการ ‘ฝังเข็มเมือง’ แนวคิดการทดลองพัฒนาเมืองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการไหลเวียนของลมปราณตามแนวคิดการฝังเข็มซึ่งถือเป็นศาสตร์การรักษาโรคของจีน เช่นกันกับการแก้ปัญหาเมือง แนวคิดนี้บอกเราว่าให้ลองแก้ไขจุดที่สะดุดอุดตันเพื่อเปิดการไหลเวียนให้ดีขึ้น ก็สามารถทำให้ระบบโดยรวมดีขึ้นได้

แนวคิดเรื่องการฝังเข็มเมืองนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากเมืองในลาตินอเมริกาแต่ว่ากันว่ามันเป็นแนวคิดที่เริ่มจากสถาปนิกเมืองในบาร์เซโลนา ก่อนพัฒนาต่อโดยนักคิดและหน่วยงานอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้การฝังเข็มเมืองกลายเป็นแนวคิดที่นักพัฒนาเมืองทั่วโลกหันมาให้ความสนใจส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะมันถูกยกขึ้นมาพูดถึงโดยชายผู้สร้างตำนานการพัฒนาเมืองกูรีตีบาในบราซิล ชายคนนั้นมีชื่อว่า Jaime Lerner อดีตสถาปนิก นักผังเมือง และนายกเทศมนตรีหลายสมัยของกูรีตีบา และเจ้าของรางวัล Maximum Environmental Award ที่สหประชาชาติมอบให้ในปี 1990

เมืองก็เหมือนภาพถ่ายครอบครัว คุณอาจไม่ชอบจมูกของลุง แต่คุณจะไม่ฉีกรูปครอบครัวทั้งหมดนั่นคือสิ่งที่แลร์เนอร์ใช้อธิบายการฝังเข็มเมืองในความคิดของเขา

ใช่แล้ว เราไม่สามารถฉีกรูปถ่ายครอบครัวหรือล้างทุกอย่างในเมืองเพื่อเริ่มต้นสร้างมันขึ้นใหม่หมดจดบนกระดาษเปล่าได้ นั่นทำให้การพัฒนาเมืองในปัจจุบันเป็นเรื่องท้าทายไม่ต่างจากการแก้โจทย์คณิตศาสตร์สุดซับซ้อนหรือการหาทางออกจากเขาวงกตหลายชั้น

เมื่อความซับซ้อนของปัญหามาบวกกับทรัพยากรที่มีจำกัด การแก้ปัญหาเมืองจึงอาจไม่ใช่การวางแผนแบบเป็นระบบสมบูรณ์เสมอไป แต่อาจเริ่มต้นจากการแทรกแซง (Intervention) ขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการขยายผลลัพธ์ให้กว้างออกไป

ในวันที่แลร์เนอร์ได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกูรีตีบาในทศวรรษ 1970 นั้น เมืองแห่งนี้ไม่ต่างจากเมืองอื่นที่ประสบปัญหาแบบเมืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรและมลพิษ และเช่นเดียวกับเมืองขนาดกลางในประเทศกำลังพัฒนาในยุคนั้น กูรีตีบาไม่มีเงินและประชากรมากพอที่จะลงทุนกับโครงการใหญ่อย่างรถไฟใต้ดิน โชคดีที่แลร์เนอร์มองออกว่าสิ่งที่กูรีตีบาต้องการไม่ใช่รถไฟใต้ดินแต่เป็นการแก้ปัญหาจราจร ไม่อย่างนั้นเขาก็คงติดกับและท้อแท้กับการหาเงินมาสร้างรถไฟใต้ดินเป็นแน่

สิ่งที่แลร์เนอร์ทำเพื่อเปลี่ยนกูรีตีบาให้เป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนาเมืองของโลกก็คือการนำระบบ BRT (Bus Rapid Transit) หรือที่เรียกในกูรีตีบาว่า SpeedyBus มาใช้ ระบบนี้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามเพราะมันไม่เพียงแก้ปัญหาให้กับเมืองแต่น่าจะส่งผลอย่างมากถึงความเชื่อมั่นที่มีต่ออนาคตด้วย

BRT อาจกลายเป็นตำนานของกูรีตีบาในสายตาชาวโลกแต่การพัฒนาเมืองของแลร์เนอร์มีมากกว่านั้น มันรวมไปถึงการใช้สวนสาธารณะเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม อีกทั้งพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองของแลร์เนอร์ก็น่าจะเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ทำให้เขาออกแบบเปลี่ยนย่านใจกลางเมืองให้เป็นมิตรกับการเดินเท้า นอกจากนี้เขายังริเริ่มโครงการรีไซเคิลที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนด้วยการเปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้เป็นตั๋วโดยสารรถประจำทางอีกด้วย

ดูเหมือนว่าอะไรก็ตามที่เรารู้กันในวันนี้ว่าเป็นองค์ประกอบของเมืองที่น่าอยู่ เขาคิดได้ตั้งแต่วันนั้น แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าความสามารถในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ผ่านวิธีการแบบที่เขาอ้างว่าเป็นการ ‘ฝังเข็มเมือง’ นั่นเอง

นอกจากการแทรกแซงอย่าง ‘เฉพาะเจาะจง จำกัด และตรงจุด’ ความน่าสนใจของการฝังเข็มเมืองก็คือการสะท้อนแนวคิดแบบล่างขึ้นบนและเปิดโอกาสให้กับการทดลองและการมีส่วนร่วม จากใครก็ได้ จากจุดไหนหรือเรื่องใดก็ได้

และที่สำคัญมันทำได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ งบประมาณประจำปี หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ชักช้าอืดอาดที่ไม่มีใครรู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ หรือจะเจอปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในแบบใดบ้าง

พูดง่ายๆ ก็คือไม่ต้องเสียเรี่ยวแรงและเวลาเพื่อเล่นใหญ่ แต่ใช้ประโยชน์จากความคล่องตัวของโครงการขนาดเล็ก โดยใช้การทดลองเพื่อหาทางเลือก ลองแล้วไม่เวิร์กก็ไปลองอย่างอื่น ถ้าลองแล้วเวิร์กอยากนำมาขยายใหญ่ นั่นก็น่าจะง่ายกว่า ทั้งยังเสี่ยงน้อยกว่าด้วย

Social Urbanism ตั้งต้นจากมุมมองเชิงสังคม

จากกูรีตีบา เมืองต่อมาที่นำระบบ BRT มาพัฒนาอย่างจริงจังก็คือโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ความสำเร็จของ TransMilenio ชื่อเรียกระบบ BRT ของโบโกตาทำให้ระบบดังกล่าวได้รับการนำไปใช้กับเมืองอื่นในลาตินอเมริกาที่มีบริบทคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเมืองในโคลอมเบียเอง หรือหลายเมืองในเม็กซิโก กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ เปรู อาร์เจนตินา และบราซิล จากข้อมูลของ Global BRT Data ปัจจุบันมีเมืองในลาตินอเมริกาทั้งสิ้น 56 แห่งที่พัฒนาระบบ BRT และให้บริการผู้โดยสารรวมกว่า 20 ล้านคนในแต่ละวัน

จากลาตินอเมริกา BRT แพร่ความนิยมไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหลายสิบเมืองในประเทศจีน อีกหลายเมืองในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานคร (น่าเสียดายว่าไม่ใช่ทุกเมืองที่ประสบความสำเร็จ)

จนถึงวันนี้ กูรีตีบายังคงชนะเลิศ (รางวัลในใจใครหลายคน) หากว่ากันด้วยการ ‘ออกแบบ’ เมืองบนต้นทุนต่ำเตี้ยเพื่อเอาชนะความเป็นไปไม่ได้

จากกูรีตีบาสู่โบโกตา เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่กล่าวถึง ‘ปรากฏการณ์เมเดยิน’ การเปลี่ยนเมเดยิน เมืองอันดับสองของประเทศโคลอมเบียที่เคยเต็มไปด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมเช่นเดียวกับโบโกตา ให้กลายเป็นเมืองที่ได้รับการยกย่องโดยหลายสถาบันในฐานะผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและความเป็นเมืองที่โดดเด่นในด้านนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงรางวัล Verónica Rudge Urbanism Award จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

หากความสำเร็จของกูรีตีบาทำให้โลกหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดการฝังเข็มเมือง ความสำเร็จของเมเดยินก็ทำให้โลกรู้จักคำว่า Social Urbanism แนวคิดที่เมเดยินใช้เป็นพื้นฐานการพัฒนาเมือง ซึ่งหากอธิบายง่ายๆ ก็น่าจะเป็นการพัฒนาเมืองในเชิงพื้นที่โดยมีหัวใจสำคัญคือคนและชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่า

เมื่อโจทย์ที่มีอยู่คือเมืองนั้นไม่ปลอดภัย และสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ในเมืองเป็นชุมชนแออัด โมเดลแบบเมเดยินคือการพัฒนากรอบความคิดใหม่ในเรื่องการสร้างความปลอดภัย ซึ่งเปลี่ยนจาก ‘การควบคุม’ ไปสู่ ‘การจัดการ’ อันหมายถึงการโฟกัสที่การพัฒนาพื้นที่หรือย่านแทนวิธีตำรวจจับผู้ร้ายในแบบเก่า

พูดแล้วอาจฟังดูง่าย แต่ในความเป็นจริงการทำแบบนี้ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจสูงมาก

การพัฒนาชุมชนแออัดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีความเข้าใจก็อาจพบหนทางได้ไม่ยาก สำหรับเมเดยินคือการเดินเข้าไปหาผู้มีอิทธิพลในแต่ละย่านเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ในชุมชน รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และที่สำคัญคือเข้าถึงการศึกษา นอกเหนือจากการพัฒนาโรงเรียนและห้องสมุดในชุมชน เมเดยินยังใช้แหล่งเรียนรู้ทันสมัยเป็นเครื่องมือในการยกระดับเมืองด้วย

ระบบขนส่งสาธารณะของเมเดยินไม่ได้หมายถึงแค่รถรา โครงการที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการสร้างบันไดเลื่อนขึ้นเขาความยาว 1,260 ฟุตในพื้นที่โคมูนา 13 ซึ่งเป็นย่านที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองและเคยเป็นฐานที่มั่นของ Pablo Escobar ราชายาเสพติดของโลก นอกจากบันไดเลื่อนนี้จะย่นระยะเวลาการเดินทางตามเนินเขาให้เหลือเพียงไม่กี่นาทียังมีผลพลอยได้เป็นการลดอาชญากรรมในพื้นที่ด้วย

แต่บันไดเลื่อนที่ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้วนี้ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของเมเดยิน ซึ่งมีสองส่วนหลักๆ นั่นคือ ‘เมโทรพลัส’ (ระบบ BRT) และ ‘เมโทรเคเบิล’ กระเช้าที่พาผู้โดยสารขึ้นลงเขาในพื้นที่ยากจนนั่นเอง โดยในปัจจุบันมีเมโทรเคเบิลอยู่ทั้งหมด 5 สายในเมืองเมเดยิน

 

ถึงตอนนี้คุณคงพอเดาได้ เมโทรเคเบิลของเมเดยินกลายเป็นต้นแบบที่หลายเมืองในลาตินอเมริกาซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศแบบเนินเขาและการตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการคล้ายกันนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการากัส (เวเนซุเอลา) มานิซาเลส (โคลอมเบีย) ริโอ เดอ จาเนโร (บราซิล) ไปจนถึงลาปาซ (โบลิเวีย)

เช่นเดียวกับที่แนวคิด Social Urbanism ได้รับการนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองหลายแห่ง รวมถึงเมืองใหญ่อย่างเซา เปาโล (บราซิลซึ่งเป็นคู่เทียบชั้นยอดให้กับกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นขนาดประชากร ความแออัด การพึ่งพารถยนต์ ปัญหาจราจร หรือชื่อเสียงในความขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ และที่สำคัญคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แนวคิดนี้จะช่วยเปลี่ยนเมืองใหญ่ขนาดเซา เปาโล ได้หรือไม่ และยังไง

แน่นอนว่าวิธีคิดของเมืองที่มีขนาดประชากรสองล้านคนกับสิบล้านคนย่อมไม่เหมือนกัน วิธีคิดของเมืองในประเทศร่ำรวยกับเมืองในประเทศยากจน (รวมถึงเมืองในประเทศรายได้ปานกลาง) ยิ่งไม่เหมือนกัน

แต่เมื่อความเชื่อมั่นถูกจุดติด นั่นคือต้นทุนที่ทรงพลังกว่าอะไรทั้งหมด กระแส Make it happen ในลาตินอเมริกาบอกกับเราอย่างนั้น

ตอนนี้ก็เหลือแค่ว่าความเชื่อมั่นนั้นจะฟื้นคืนกลับมาได้หรือไม่ ในวันที่วิกฤตโควิด-19 จบลง

 

อ้างอิง

Statista

Gaia Discovery

BRT Centre of Excellence

Escuela de Organización Industrial

City Monitor

TCDC

AUTHOR