‘หยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก’ แล้วตามไปทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกที่โตเกียวกับ Plastic Plastic

การบินลัดฟ้ามาโตเกียวของเราครั้งนี้ ขอบอกอย่างจริงใจและไม่ทำเนียนว่าเราคงจะมายืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ถ้าหาก… หนึ่ง วงดนตรี Plastic Plastic จากค่าย What the Duck ไม่เอ่ยชวนไปดูพวกเขาเล่นดนตรีในต่างประเทศครั้งแรก และสอง ถ้าหาก Air Asia X ไม่ใจดีให้ตั๋วบินกรุงเทพฯ – นาริตะ กับเรา

สิ่งที่เราอยากอวดมากกว่าการหนีร้อนมาเจออุณหภูมิ 19 องศา หรือได้ตั๋วบินฟรี คือการตามสองพี่น้อง ปกป้องและต้องตาสำรวจวัฒนธรรมการชมดนตรีสดของคนญี่ปุ่นแต๊ๆ ผ่านไลฟ์คอนเสิร์ตที่พวกเขามีโอกาสเล่นนั่นเอง

เรื่องมีอยู่ว่า ไม่นานมานี้ Plastic Plastic ได้วางขายซีดีอัลบั้มของพวกเขาทั้งสองอัลบั้ม Stay at Home (2016) และ Anything Goes (2018) ที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ทัวร์ครั้งนี้ก็เหมือนกับการเดินสายแนะนำตัวให้คนญี่ปุ่นผู้รักเสียงเพลงรู้จักมักจี่ ด้วยคอนเนกชั่นในแวดวงอินดี้ก็นำพาให้พวกเขาได้ไปเล่นถึง 3 งาน ใน 3 ไลฟ์เฮาส์ด้วยกัน

กับคนที่ไม่ค่อยติดตามวงการดนตรีญี่ปุ่นเท่าไหร่ เราขอเล่าความเจ๋งของวงการดนตรีที่นู่นให้ฟังสั้นๆ หลายคนน่าจะคุ้นกับคำว่าไลฟ์เฮาส์ ชื่อเรียกสถานที่เล่นดนตรี ส่วนใหญ่อยู่ชั้นใต้ดิน มีบาร์ให้อุดหนุนเครื่องดื่มแบบกรุบกริบ และว่ากันว่าญี่ปุ่นเป็นแหล่งกำเนิดของพื้นที่เพื่อคนดนตรีที่ว่า

บางแหล่งข้อมูลบอกว่าญี่ปุ่นมีวงดนตรีเป็นหมื่นๆ วง ราวกับว่าพวกเขาฟอร์มวงเล่นดนตรีกันเป็นงานอดิเรก ไม่เชื่อลองสังเกตเวลาที่ขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีต่างๆ หากมองผ่านๆ อย่างน้อยเราจะเห็นหนุ่มสาวสักคนสองคนมีกีตาร์หรือเครื่องดนตรีติดมือมาด้วยแทบทุกครั้ง

แค่โตเกียวเมืองเดียวมีไลฟ์เฮาส์ราวๆ พันแห่ง วัฒนธรรมไลฟ์เฮาส์จึงมีบทบาทสำคัญทำให้วงการดนตรีญี่ปุ่นเติบโตและแข็งแกร่งมากๆ ทำให้วงรุ่นเก่ามีพื้นที่เล่นอย่างไม่ขาดช่วง วงดนตรีใหม่ๆ มีพื้นที่สร้างกลุ่มแฟนเพลง แถมยังช่วยให้พวกเขามีรายได้อีกด้วย (เงินที่ศิลปินได้นั้นต่างกับค่าตัวของศิลปินไทย แต่เป็นเงินหลังหักจากค่าเช่าไลฟ์เฮาส์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากค่าบัตรเข้าชม)

ช่วงหลังมานี้ วงดนตรีจากบ้านเราเองก็แวบมาเล่นตามไลฟ์เฮาส์ในญี่ปุ่นกันเยอะขึ้น หากไม่นับวงใหญ่ๆ ที่ออกทัวร์ไปเล่นให้กลุ่มแฟนชาวไทยในต่างแดนฟัง กับวงดนตรีเล็กๆ ที่มีแฟนเบสพอหยิบมือ หรือไม่ก็มาด้วยความตั้งใจที่อยากจะสร้างฐานแฟนเพลงใหม่เพื่อต่อยอดไปยังอนาคต

แน่นอน ความตั้งใจของวงดนตรีเล็กๆ ที่เราติดสอยห้อยตามมานั้นเป็นอย่างหลัง

เวทีแรกที่ได้ไปเล่นคือเทศกาลดนตรีที่เปิดโอกาสให้เฉพาะวงดนตรีหน้าใหม่อย่าง CONNECT MUSIC FESTIVAL 2019 ที่จัดขึ้นในย่านคาบูกิโจ แขวงชินจูกุ ตอนแรกเราแอบคิดว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่เล่นบนเวทีกลางแจ้ง แต่ไม่ใช่เลย เทศกาลนี้กระจายตัวจัดตามไลฟ์เฮาส์น้อยใหญ่ในย่าน อยากดูวงอื่นในไลฟ์เฮาส์อื่นก็สามารถเดินเท้าไปได้ ปีนี้มีวง rookie เข้าร่วมหกสิบกว่าวง และส่วนใหญ่เป็นวงร็อก

เพราะงั้นในระหว่างที่พวกเขากำลังเซตเครื่องดนตรี เตรียมตัวโชว์ ความกังวลใจน้อยๆ ปรากฏบนหน้าสองพี่น้องปกป้องและต้องตา เราก็แอบลุ้นไปด้วยเลยว่าคนดูที่ใส่แจ็กเก็ต เซตผม แต่งตัวมาอย่างร็อกๆ จะมีท่าทีเอนจอยกับดนตรีป๊อปของ Plastic Plastic ยังไงบ้าง

แม้ว่าไลน์อัพวงก่อนหน้าและวงที่เล่นต่อจากพวกเขาจะเป็นวงเจร็อก แต่สิ่งที่เราเห็นตลอดโชว์คือ แฟนๆ หน้าเวทีต่างก็ตั้งอกตั้งใจฟัง ไม่ว่าพวกเขาจะรู้จักหรือไม่รู้จัก Plastic Plastic ฟรอมไทยแลนด์มาก่อน แทบทุกคนโยกหัวตามเสียงเพลง เรียกได้ว่ามาเพื่อเสพดนตรีกันจริงๆ จังๆ ไม่ยกมือถือมาไลฟ์ลงไอจี หรือถ่ายรูปกันแบบพร่ำเพรื่อรบกวนคนอื่นๆ (กับวงอื่นๆ ที่เราแวบไปดูมาด้วยก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน)

นี่คือเสน่ห์ของวัฒนธรรมคนฟังดนตรีของแดนปลาดิบ นอกจากจะมีที่เล่นมากมาย คนฟังเพลงเองก็เปิดใจกว้าง ยินดีที่จะเปิดหูฟังท่วงทำนอง หรือแม้แต่เพลงภาษาอื่นที่อาจไม่ได้คุ้นหูนัก เป็นการให้เกียรติศิลปินตัวเล็กๆ ที่เดินทางไกลมาสร้างความสนุกให้พวกเขา เล่นเอาความกังวลและความไม่มั่นใจกระเด็นหายไปจากแววตาปกป้องและต้องตา

เสียงปรบมือและเสียงเชียร์ดังขึ้นหลังจากที่วงเล่นเพลงสุดท้ายจบ ความอิ่มเอมใจเอ่อล้นอยู่ในแววตาของสองพี่น้องและเพื่อนๆ นักดนตรีที่มาร่วมเล่นด้วยกัน เชื่อว่ามันจะเป็นโชว์ต่างประเทศครั้งแรกที่พวกเขาจะจดจำไปอีกนาน

อีกวันถัดมา Plastic Plastic มีเล่นที่ไลฟ์เฮาส์ NEPO ย่านคิจิโจจิ ส่วนตัวเราประทับใจงานวันนี้เป็นพิเศษ เพราะมีคุณลุงคุณป้าแฟนเพลงของปกป้องและต้องตาแวบมาทักทายตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน บางคนทุ่มเทเดินทางจากโอซาก้ามาโตเกียวเพื่อดูโชว์วันนี้ แถมมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือมาให้วงอีกด้วย น่ารักกันมากๆ

แฟนเพลงที่นี่ค่อนข้างมีวินัย (ตามสไตล์คนญี่ปุ่น) ตั้งใจมาก่อนเวลาและยืนรอกันอย่างเงียบๆ ไลฟ์เฮาส์ที่บรรจุคนได้เพียง 60-70 คนเลยแน่นขนัดตั้งแต่งานยังไม่ทันเริ่ม

วงที่เล่นเปิดให้พวกเขาวันนี้คือวงที่มีแฟนเพลงคับคั่งอยู่แล้ว แถมต้องตาเอ่ยว่าชื่นชอบเอามากๆ อย่างสามสาว Lucie, Too, Nombraburi วงที่มีนักร้องนำหญิงที่มีสไตล์การร้องโดดเด่น และวงเพลงบรรเลงฝีมือจัดจ้านอย่าง I love you Orchestra Swing Style ที่สาดเบส กีตาร์ และกลองใส่กันเต็มเหนี่ยว เป็นงานที่รวมวงดนตรีหลากสไตล์เข้าไว้ด้วยกัน

เพลย์ลิสต์ของ Plastic Plastic วันนี้เพิ่มเพลงเข้าไปมากขึ้น และพวกเขาเล่นกันอย่างเต็มที่ เริ่มอยู่มือมากขึ้น แม้ว่าช่วงเริ่มมือเป่าฟลุตจะพลังตกเล็กน้อยเพราะว่าเผลอไผลไปดื่มน้ำองุ่นที่ผสมแอลกอฮอล์เข้าให้ด้วยความไม่รู้ จนกลายเป็นเรื่องขำขันในทริปนี้

โชว์ครั้งที่สองไม่ทำให้คนที่ตั้งตารอฟังโชว์ผิดหวังเลยแม้แต่นิด ช่วงที่เล่นเพลงเนื้อร้องภาษาไทยอย่าง หยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก ชาวนิปปอนตรงหน้าเราเอนจอยกับเพลงมากๆ จนกระทั่งโชว์เดินทางมาถึงตอนจบ ดูเหมือนว่าคนดูหน้าเวทียังไม่อยากจากพวกเขาไปไหน ทุกคนในไลฟ์เฮาส์ปรบมือลั่นและร้องส่งเสียงขอให้วงโชว์แถมพวกเขาอีกสักเพลง

“นี่คือ encore ครั้งแรกในชีวิตที่ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาเลย” ต้องตายิ้มแป้นบอกอย่างนั้น แล้วพวกเขาก็บรรเลงซิงเกิลสุดน่ารักอย่าง Merry Go Round เป็นเพลงส่งท้ายโชว์ที่แสนอบอุ่นครั้งนี้

ส่วนโชว์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นที่ไลฟ์เฮาส์ LUSH ในชิบูย่า คราวนี้พวกเขาได้เล่นงานเดียวกับวงโลคอลจริงๆ

ถึงแม้ว่าคนดูจะไม่แน่นขนัดเท่างานก่อนๆ แต่สิ่งที่วงยังคงได้รับคือความอิ่มเอมใจจากผู้คนที่ตั้งอกตั้งใจมาดู บางคนหอบหิ้วนิตยสารไทยที่พวกเขาอ่านไม่ออก หรืออัลบั้มที่ซื้อติดมือจากเมืองไทยมาขอลายเซ็น ที่สำคัญโชว์นี้มีหนุ่ม Yojiro Suda มือกลองวง Mitsume ตั้งใจแวะเวียนมาดูโชว์ของ Plastic Plastic ด้วย

‘หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง’

เรานิยามคำนี้ให้กับวงดนตรีที่เราเดินทางมาด้วย เพราะสิ่งที่เราเห็นมาตลอดทริปคือพวกเขาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ขนเครื่องดนตรี เดินตามถนนหรือแบกขึ้นรถไฟ เซตอัพมันก่อนขึ้นโชว์ โชว์เสร็จก็ก้มลงเก็บของของตัวเองและขนมันกลับที่พัก

ในฐานะคนทำงานที่อยู่ในแวดวงข้างเคียง พูดกันตามตรง ในไทยเราถือว่าพวกเขาคือวงดนตรีที่มีแฟนเพลงและชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่กับที่นู่นพวกเขาเป็นเพียงแค่วงดนตรีตัวเล็กจิ๋วที่ในใจเต็มไปด้วยความพยายามตั้งใจ และฟีดแบ็กที่พวกเขาได้รับจากแฟนๆ และเพื่อนๆ นักดนตรีที่นู่นก็ชวนใจชื้นไม่ใช่เล่น

ถ้าคุณได้มาเห็นภาพอย่างที่เราเห็น คุณต้องอยากเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้พวกเขามากแน่ๆ แทบจะรอข่าวคราวพวกเขามีโอกาสไปพิสูจน์ฝีมือที่ต่างประเทศอีกไม่ไหวแล้วล่ะ

ภาพ เบญจวรรณ มังกรอัศวกุล

AUTHOR