ย้อนรอยการเดินทาง 9 ปี What The Duck กับสองผู้บริหาร มอย-บอล

เรื่องมีอยู่ว่า มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ และ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา เป็นพี่เป็นน้องกันตั้งแต่สมัยเรียนที่ศิลปากร ทั้งคู่อยู่คณะเดียวกัน อยู่ชมรมดนตรีสากลเหมือนกัน แต่ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป บอลไปเป็นศิลปินประสบความสำเร็จกับวง Scrubb และทำงานประจำตามค่ายเพลงมาเกือบทุกค่าย มอยไปเรียนต่อแล้วก็กลับมาทำงานค่ายเพลง ทั้งค่ายเพลงสากลและค่ายเพลงไทย

จนด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ถึงช่วงวัยหนึ่ง มอยจึงคิดว่าถึงเวลาที่น่าจะลองทำอะไรเองดูบ้าง เขาได้บอลมาร่วมทีมแล้วหนึ่ง แล้วเผอิญระหว่างที่ทำงานตอนนั้น มอยได้ไปเจอ ออน-ชิชญาสุ์ กรรณสูต ซึ่งมอยมองว่าทั้งสามคนมีฟังก์ชันที่ไม่ค่อยเหมือนกันในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ชอบตรงกันก็คือเรื่องดนตรี เรื่องการฟังเพลง เรื่องการไปดูคอนเสิร์ต จึงเป็นที่มาว่าพอมาเจอกันครบสามคนแล้ว ฉะนั้นมาเริ่มทำอะไรกันเองสักทีดีไหม เรื่องมันก็ค่อยๆ เริ่มมาอย่างนั้น

ปี 2557 What The Duck ก็ถือกำเนิดขึ้น ส่วนที่มาของชื่อนั้น พวกเขาบอกว่าคนไทยชอบเอาสัตว์มาตั้งชื่อแบรนด์ บวกกับคำอุทานของฝรั่ง และคำว่า Duck ก็พ้องเสียงกับคำว่า Production พอดี ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเป็นชื่อได้ยินครั้งเดียวก็ติดหูเลย

เดิมทีเดียว What The Duck ไม่ได้คิดว่าจะเป็นค่ายเพลงใหญ่โตจนถึงทุกวันนี้ แต่ตั้งใจจะทำแค่ด้าน Artist Management แต่ทั้งนี้เนื่องจากวงการเพลงในช่วงนั้นกำลังเริ่มเห็นแสงสว่างบางอย่างจากการเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว บวกกับอะไรอีกหลายๆ อย่าง ทำให้ What The Duck เติบโตขึ้นมาในฐานะค่ายเพลงอย่างที่เห็น

เนื่องในโอกาสพิเศษ What The Duck ฉลองครบรอบ 9 ปีของค่ายในปีนี้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ a day ได้ยกทีมไปเยือนออฟฟิศย่านอารีย์ของพวกเขา เพื่อนำเสนอเรื่องราวของทั้งเหล่าศิลปิน และมุมมองของผู้บริหารอย่างมอยและบอล (ออนติดภารกิจต่างประเทศพอดี) ถึงเส้นทางที่ผ่านมา เบื้องหลังความคิดของผลงานต่างๆ ไปจนถึงเป้าหมายในอนาคตอันใกล้

 ในห้องประชุมที่พวกเขาและเหล่าศิลปินใช้ฟาดฟันทางความคิดกัน มอยและบอลเริ่มต้นเล่าเรื่องราวที่เข้มข้นไม่แพ้กันให้เราฟัง 

ยุคที่ 1: การเปลี่ยนผ่านและค่ายเพลง 2.0

ย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ สำหรับมอยแล้ว เขามองว่าค่ายเพลง What The Duck คือค่ายเพลง 2.0 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของการฟังเพลงไป แตกต่างจากค่ายเพลงในยุคก่อนหน้าอย่างเช่น แกรมมี่ อาร์เอส หรือสมอลรูม ซึ่งถือว่าเป็นค่ายเพลงในยุค 1.0 

“ตั้งแต่ตอนเราตั้งค่าย ยุคนั้นไม่ได้พูดถึงเทปผีซีดีเถื่อนอีกต่อไปแล้ว ผมไปคุยกับใครว่าจะเปิดค่าย ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ ณ ตอนนั้น ทุกคนจะบอกว่า ซีดียังขายได้อยู่เหรอวะ แต่คนในวงการตอนนั้นเรากำลังตื่นเต้นกับ YouTube ที่เริ่มจ่ายส่วนแบ่งให้เราเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว กำลังตื่นเต้นกับการที่ Spotify จะมาเปิด Official Operation ในเมืองไทย สิบปีที่แล้วเป็นอย่างนั้น เหมือนกับค่ายเพลงเริ่มเงยหัวได้ เพราะว่าก่อนหน้านั้น ค่ายเพลงโดยส่วนมากมีรายได้ทางเดียวคือจากการแสดงสด ไม่มีรายได้จากตัวเพลง ตัวเพลงจริงๆ มันหารายได้ไม่ได้” 

ยุคเปลี่ยนผ่านนั้น ถ้าทุกคนยังจำได้ เป็นยุคที่เราฟังเพลงฟรี โหลด MP3 โหลดบิท สื่อรายการเพลงอย่างเอ็มทีวี แชนแนลวี ตายไป ค่ายเพลงยังต้องทำเอ็มวีเหมือนเดิม แต่มาปล่อยในยูทูบ ซึ่งมองเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ไม่มีรายได้ 

ต่อมาเมื่อพฤติกรรมของคนฟังเพลงไปฟังทุกอย่างในยูทูบ ยอดวิวสูงขึ้น จึงเริ่มมีแอดโฆษณาเข้ามา จนสุดท้ายมอยใช้คำว่า Ecosystem ครบแล้ว ใหญ่พอที่ทำให้ยูทูบเริ่มมีการแบ่งรายได้กลับไปที่ค่ายเพลงในเมืองไทย นั่นคือสถานการณ์เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว

“ตัวศิลปินก็เปลี่ยนไป” มอยเล่าต่อ “สมัยก่อน ย้อนกลับไปยุคค่ายเพลง 1.0 ผมว่าการเป็นศิลปินยากมาก เพราะว่าคุณต้องได้เซ็น Recording Deal กับค่ายเพลง ค่ายเพลงต้องแอดวานซ์เงินมาให้คุณเพื่อเข้าห้องอัด ค่ามาสเตอร์ ทำเพลงชุดหนึ่งผมว่าเป็นล้านหรือหลายล้านบาท แต่เมื่อสิบปีที่แล้ว นอกจากคนฟังเพลงเปลี่ยนไปศิลปินก็เปลี่ยนด้วย ศิลปินที่เราเห็นๆ ทุกวันนี้อย่าง The Toys BOWKYLION คือตอนนั้นเอาจริงๆ เขาไม่ต้อง้อค่ายก็ได้นะ เขาไม่ต้องมีค่ายก็ได้เพราะว่าเขาไม่ต้องการเงินจากค่ายเพื่อไปเปิดสตูดิโอใหญ่ๆ ทำเพลง เขาทำเพลงเสร็จด้วยตัวเขาเอง ปล่อยเพลงเองได้ในยูทูบ หารายได้เองได้ด้วย

“ที่ผมกำลังจะบอกก็คือ ทุกอย่างมันเปลี่ยนช่วงสิบปีที่แล้วตอนเราทำค่าย ดังนั้นค่าย What The Duck เอง โมเดลเราก็เปลี่ยน ในการหาศิลปิน ในการทำสัญญา ในการดีลกับศิลปิน มันจะใช้แบบยุคเก่า 1.0 ไม่ได้แล้ว เพราะว่าศิลปินนอกจากที่ทำเองได้แล้ว เขารู้เยอะ ยิ่งเด็กสมัยใหม่เขาจะรู้ว่าสิทธิที่เขาควรได้มันเป็นยังไง ฉะนั้นเราก็ต้องพยายามทำทุกอย่างให้แฟร์กับศิลปินมากที่สุด ทุกอย่างต้องโปร่งใสมาก เลยทำให้ What The Duck ตั้งแต่ยุคนั้น การเซ็นสัญญาศิลปินก็จะมีหลายๆ โมเดล ค่อนข้างยืดหยุ่น และผมว่าตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงยุคนี้ เราไม่ได้เป็นคนเลือกศิลปินนะ ศิลปินเป็นคนเลือกเรา”

DNA แบบ What The Duck

ด้านคอนเซ็ปต์หรือวิธีการเลือกศิลปินตั้งแต่ตอนแรก บอลบอกว่าอาจจะมาจากนิสัยส่วนตัวของเขาก่อน บวกกับความชื่นชอบของเพื่อน ของทีมงานในค่าย

“โชคดีที่ผมกับมอยโตมาด้วยกัน เราเล่นดนตรีด้วยกันในสังคมเดียวกันมาก่อน ดังนั้นความชื่นชอบ รสนิยม มันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันมาตั้งแต่วัยเรียน แง่ความชอบหรือดีเอ็นเอ จึงคิดว่าเราไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ เราชอบดนตรีทางเลือกบางอย่าง โอเค เมนสตรีมเราก็ฟัง แต่รสนิยมเรามันเขยิบมานิดหนึ่ง ก็จะไม่ใช่อินดี้จ๋า เราชอบอะไรที่มันประนีประนอม ผมจะชอบเรียกว่าอินดี้ป็อป คือเป็นดนตรีทางเลือกบางอย่างที่มีความทำเอง

“เวลาเจอวงที่ชอบ คนแรกที่ผมจะให้ฟังคือให้มอยก่อน ถ้ามอยยังเงียบๆ เฉยๆ แปลว่าผมอาจจะชอบคนเดียว แต่ถ้ามอยบอกโอเค ชอบเหมือนกัน แปลว่า 2 ใน 2 มันมี Sign บางอย่างบอกว่านี่คือสิ่งที่เราชอบและน่าจะส่งต่อทีมงานได้ ก็มักจะเริ่มต้นแบบนี้ ถ้าลงดีเทลไปอีกหน่อยคือเราชอบวงที่ทำงานเอง อย่างที่บอก พอเราไม่ใช่คนมิวสิค เราไม่ใช่คนสายโปรดิวเซอร์ เราอาจจะไม่ได้มีคอนเนกชันหรือเก่งกาจพอที่จะเข้าไปคอนโทรลหรือไปสั่งอะไรแบบนั้น เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบคือเราชอบให้ศิลปินทำงานเองได้ เพราะนั่นคือเขา คือโปรดักชันของเรา เขาคือโปรดิวเซอร์ของเราที่เขาก็ได้ทำงานแบบที่เขาอยากทำ มาบวกกับการจัดการในแบบเรา ทั้งในส่วน Artist Management และการต่อยอดในอาชีพ อันนี้มันคือความหมายของ 2.0 ในสิ่งที่เราอยากเป็น”

สำหรับศิลปินเบอร์แรก บอลบอกว่าโชคดีที่ได้ศิลปินที่เป็นที่รู้จักอย่าง สิงโต นำโชค มา เพราะเคยทำงานที่ค่ายเก่ามาด้วยกัน แต่ดีลของสิงโตนั้นจะต่างจากศิลปินปกติ ที่เป็นเชิง Artist Management มากกว่า ศิลปินที่เซ็นแบบเต็มตัวในฐานะค่ายเพลงและเริ่มต้นจากที่นี่จริงๆ คือ ชาติ สุชาติ ซึ่งมีเพลง ‘การเดินทาง’ เป็นเพลงแรกของค่ายที่ถึงร้อยล้านวิว

“ต้องยอมรับว่าช่วงแรกเราต้องหาศิลปินที่มีค่ากลางในการทำงาน” บอลอธิบาย “อย่างการที่ผมเลือก ชาติ สุชาติ เพราะเขามีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่ดี รู้สึกว่าเขาเป็นมิตรกับหลายๆ ตลาด หลายๆ ฟังก์ชันอยู่ แต่พอปีที่ 2 ค่ายเริ่มอยู่ตัว คนเริ่มรู้จักแล้ว ผมก็อยากโฟกัสลึกลงไปในดีเทลแบบดีเอ็นเอที่เราชอบ คือเราอยากเข้าไปมองหาศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่ได้ทำงานกับที่ไหน หรือกำลังเริ่มต้นทำงานอยู่ ก็จะได้วงอย่าง De Flamingo ซึ่งถือเป็นหน้าใหม่ที่น่าสนใจมากในตอนนั้น เป็นวงที่ทำทุกอย่างเองได้หมดเลย”

เข้าสู่ช่วงประมาณสักปีที่ 3 ศิลปินที่ทำให้ What The Duck เซตอัปได้ชัดเจนขึ้นคือ การมาของ The Toys กับ BOWKYLION ในเวลาไล่เลี่ยกัน

บอลพูดต่อ “อันนั้นคือเริ่มแชปเตอร์ของการเป็น What The Duck แบบฟูลสเกลที่เป็นดีเอ็นเอของเรา ก็ประมาณสามปีแรก เพราะส่วนตัวแล้วผมเริ่มต้นสตาร์ตทำค่ายทุกๆ ครั้ง จะตั้งเป้ากับตัวเองไว้ว่า เราต้องบริหารการจัดการรวมถึงงบประมาณให้ดีในสามปีแรก เพราะการสร้างค่ายเพลงค่ายหนึ่ง มันไม่ใช่คอนซูเมอร์โปรดักต์ที่คุณทำสิ่งนี้ขึ้นมาขาย คุณจะได้เงินกลับมาเลย จากที่ผมเคยมีประสบการณ์มาผมเชื่อว่าโชคดีก็สองปี แต่ส่วนมากค่ายเพลงที่ทำงานอย่างถูกต้อง ในแง่ของการบริหารจัดการทุกอย่าง ผมว่า Life Cycle หนึ่งกว่าคุณจะเริ่มเก็บเกี่ยวออกดอกออกผลได้มันคือสามปีแรก ซึ่งก็โชคดีว่าในสามปีนั้น เรามีศิลปินที่ค่อนข้างเรียกว่า ใหญ่ กลาง เล็ก แปลว่าเรามีเทียร์ของศิลปินครบแล้ว การบริหารจัดการรอบด้าน การเป็นที่รู้จักต่อมีเดียต่อพาร์ตเนอร์ต่างๆ ก็ง่ายขึ้น มอยก็เริ่มมีโอกาสได้ไปสร้างต่อยอดมากขึ้น ดังนั้นสามปีแรกเป็นเรื่องของการเซตอัปให้ค่ายมันเข้าที่เข้าทาง”

หลังจากได้ The Toys กับ BOWKYLION มาแล้ว ต่อมาไม่นานนัก พวกเขาก็ได้ Whal & Dolph มา ซึ่ง 3 ศิลปินนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของค่าย ที่นำเสนอภาพความเป็น What The Duck ได้ชัดเจน

“ความเป็น What The Duck ตรงนี้ ใช้คำว่าเป็นดีเอ็นเอผมกับมอยแล้วกัน” บอลอธิบาย “ให้เรามานั่งบอกว่า What The Duck คืออะไร อธิบายไปก็เท่านั้นแหละ แต่ถ้าบอกว่า What The Duck เป็นอะไรที่มีสิงโต มีชาติ มีทอย มีโบกี้ มี Whal & Dolph มันเริ่มเห็นเอง อ๋อ Vibe ประมาณนี้ คอมมูนิตี้แบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ เราแค่จัดสรรระบบวิธีการทำงานแบบที่ซัพพอร์ตเพื่อให้เขามีความสุขในการทำงาน จะเรียกว่าเป็นความเชื่อซึ่งกันและกันก็ได้มั้ง เราก็ต้องเชื่อในผลงานของเขา เขาก็ต้องไว้วางใจในวิธีการจัดการและสิ่งที่เราจะนำพาเขาไปในสเต็ปต่อๆ ไปของอาชีพนี้ และเติบโตไปด้วยกัน”

ยุคที่ 2: Pushing the Boundaries

หลังความสำเร็จของ The Toys BOWKYLION และ Whal & Dolph ค่ายเพลง What The Duck เข้าสู่ช่วงพีค ซึ่งนำพาหลายๆ ศิลปินทั้งเก่าใหม่ให้เข้ามาคุยกับทางค่ายมากขึ้น 

“บางคนที่เราไม่คิดเลยว่าเขาจะมาคุยกับเรา ก็มาคุยกับเราว่าอยากทำอะไรด้วย” มอยเล่า “ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้เซ็น ไม่ได้ทำงานร่วมกัน เรากลัวจะซัพพอร์ตเขาไม่ได้ จนวันหนึ่งอยู่ดีๆ ก็มี พี่กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ เดินเข้ามา ซึ่งตอนผมทำค่ายผมไม่คิดเลยว่าค่ายเราจะมีแรปเปอร์หรือฮิปฮอป โอเค ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น แรปหรือฮิปฮอปกำลังมา เราชอบ แต่เราคิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเราจะทำศิลปินฮิปฮอปเราต้องทำอะไรบ้าง”

บอลช่วยทบทวนความจำว่า วันนั้นฟักกลิ้งฮีโร่มาคุยเรื่องฟีเจอริงกับ The Toys แล้วเขาเกริ่นมาว่ามีแพลนจะทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง ทำอะไรด้วยกันได้บ้างไหม เขาเปิดเดโม 5-6 เพลง ทางค่ายรู้สึกน่าสนใจ อีกปีถัดมาก็มีฟักกลิ้งฮีโร่ในค่าย What The Duck

บอลพูดต่อ “อาจจะดูว่า F.HERO เป็นที่รู้จัก ทำงานมานานแล้ว แต่ชาเลนจ์ของเราคือ F.HERO ไม่เคยมีอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง นี่คือเป้าที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันไม่ใช่เรื่องของการที่มีศิลปินที่โตหรือประสบความสำเร็จมากๆ มาอยู่กับเรา แต่เรามองว่าเป้านั้นมันคือไม่มีใครเคยรู้จักเขาในฐานะศิลปินเดี่ยวเลยนี่นา ส่วนมากจะฟีเจอริงกับคนโน้นคนนี้”

อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมบุคลากรที่ฟักกลิ้งฮีโร่เติบโตมาด้วยกันเยอะที่สุด แม้จะไม่ได้คลุกคลีกับสังคมฮิปฮอปมากนัก แต่ทั้งบอลและมอยพูดตรงกันว่าภูมิใจกับอัลบั้มนี้มากๆ เป็นอัลบั้มฮิปฮอปที่ดีที่สุดอีกอัลบั้มหนึ่ง

“แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา” บอลหัวเราะ “มันใช้พลังงานสูงมาก ทุกอย่างสูงหมด รวมถึงบัตเจ็ตต่างๆ สูงหมด”

มอยเสริมว่า “อันนี้ถ้าพูดถึงก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกสเต็ปหนึ่ง หลังจากเซ็นทอย เซ็นโบกี้ และ Whal & Dolph แล้วทุกคนซักเซสมากๆ จนพี่กอล์ฟเข้ามา พี่กอล์ฟก็พา What The Duck ไปอีกเลเวลหนึ่ง อันนี้ผมกล้าพูดเลย เพราะว่าเพลงของพี่กอล์ฟนี่แมสมากๆ ทุกคนเอ็นจอยได้ เป็นพาร์ตหนึ่งที่ดีของเราที่ได้แถไปอยู่ตรงวงการฮิปฮอป ในแง่หลังบ้านก็โตขึ้นเยอะมาก สตรีมมิง คน Subscribe ยอด Engage สูงมาก ฮิปฮอปเป็นตลาดที่ใหญ่มาก”

มอยอธิบายต่อ “ถ้าพูดเชิงรายได้ พอศิลปินดังก็มีงานจ้าง รายได้จากเพลง ตอนนั้น Spotify มาร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เราเริ่มได้ส่วนแบ่งแล้ว เพลงก็ไม่ฟรีอีกต่อไป ศิลปินถ้าคุณแต่งเพลงฮิตจริง คุณได้เงินจริงว่ะ แล้วไม่ได้น้อยๆ ด้วย นอกจากเพลงแล้วยังได้จากลิขสิทธิ์อีก เรื่องการเก็บเงินลิขสิทธิ์เริ่มจริงจังมากขึ้น ทุกคนเริ่มเห็นคุณค่าของเพลงในยุคนั้น” 

ช่วงนี้เอง นอกจากความเป็นค่ายเพลงที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว มอยก็ได้เริ่มขยายธุรกิจไปทำด้าน Music Solution มากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องมาร์เก็ตติ้ง แคมเปญ หรืออะไรก็ตามที่ลูกค้าต้องการ ที่มีการเอาเรื่องของดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้อง 

ของบางอย่างไม่ได้ให้ผลตอบแทนเป็นเม็ดเงิน

ถัดจากฟักกลิ้งฮีโร่ What The Duck ก็เริ่มมีความหลากหลายในการเซ็นศิลปินเข้ามา แต่ทั้งมอยและบอลบอกว่าพวกเขาก็ไม่ได้อยากจะได้อะไรที่ป็อปตลอดเวลา ต้องมีอะไรมาแก้เลี่ยนบ้าง ให้พอร์ตของค่ายมันมีความน่าสนใจ 

มอยเล่า “เราก็จะนั่งคุยกันว่า ปีนี้เราควรจะต้องเซ็นศิลปินแบบอื่นๆ ที่เราชอบบ้าง ที่เรารู้เลย เซ็นมาไม่ได้จะทำกำไรให้เราแน่นอน แต่เราคิดว่าศิลปินแบบนี้สิ ต้องได้รับการซับพอร์ตจากเราบ้าง ผมยกตัวอย่าง เป้ อารักษ์ เขาอยู่กับเรามานานมากและก็ยังอยู่ ซึ่งบางคนเคยมาบอกผม เป้ยังทำเพลงอีกเหรอวะ แต่เราแค่รู้สึกว่า มันตั้งใจน่ะ แล้วเขาซื่อสัตย์กับสิ่งที่เขาทำมาตลอด กับเราเขาก็แฟร์ ตรงไปตรงมา ก็เลยรู้สึกว่าอย่าง เป้ อารักษ์ ผมก็พร้อมที่จะสนับสนุนเขาตลอดในการทำงาน” 

บอลเสริม “คือบางยูนิตมันไม่ได้รีเทิร์นเป็นกำไรหรือเม็ดเงิน แต่มันรีเทิร์นเป็นคุณค่าบางอย่างที่เม็ดเงินให้ไม่ได้ อย่าง ชนุดม หรือ เป้ อารักษ์ เราไม่ได้บอกว่าศิลปินไม่ดี แต่เราต้องการจะบอกว่าศิลปินที่ดีบางครั้งมันไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องธุรกิจการหารายได้ หรือแม้แต่บางทีอย่าง Plastic Plastic ดนตรีเขาไม่ได้ยาก แต่ดนตรีเขาเฉพาะกลุ่มมากๆ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เสิร์ฟต่อธุรกิจ หรือร้านอาหารผับบาร์ แล้วเขาก็ไม่ได้มีทักษะที่จะออกไปเล่นแบบนั้น ชอบเล่นในกลุ่มเล็กๆ มากกว่า ซึ่งแน่นอน ในแง่ของเม็ดเงินมันตอบโจทย์น้อยกว่าอยู่แล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าอะไรเหล่านี้เป็นสิ่งคอมมูนิตี้ของเราควรจะมีหรือได้ยินได้เห็นบ้าง

“บางครั้งผมก็ดีใจนะ ที่มีพาร์ตเนอร์ทั้งมอยและคุณออน ที่แบบว่า ทำก่อนเดี๋ยวค่อยมาหาวิธีของมัน ไม่งั้นถ้าเราไปคิดบวกลบคูณหารตัวเลขก่อน บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทดลองอะไร หรือไม่ได้ให้อะไร ผมว่าอันนี้คือความสนุกที่การทำธุรกิจนี้มันยังทำให้เรามีแพสชันต่อไป” 

ยุคที่ 3: โควิดและการดิ้นรน

ยุคที่ 3 ของค่าย What The Duck คือยุคโควิด เป็นยุคแห่งออนไลน์ การดิ้นรน ทดลอง เอาตัวรอด มอยใช้คำว่า ‘เผาจริง’

“แต่มันก็ได้พิสูจน์บางอย่าง” มอยบอก “ช่วงโควิดมันพรูฟแล้วว่าดนตรีมันไม่ฟรี เพราะทุกค่าย ถ้าเป็นยุคก่อน ปิดหมดแล้ว ถ้าเป็นยุค 1.5 ที่ตอนนั้นคนฟังเพลงฟรีอยู่ ค่ายเพลงก็ทำอะไรไม่ได้ ค่ายเพลงได้เงินมาจากงานจ้างอย่างเดียว โควิด 2 ปีไม่มีงานจ้างเลย ทุกค่ายยังพอเก็บคองอเข่า ประหยัดอะไรบางอย่างได้ ยังมีเงินมีรายได้มาจากสตรีมมิงจากยูทูบ แม้ว่าไม่มากพอ แต่อย่างค่ายเรา ผมก็ภูมิใจมากว่า 2 ปีช่วงโควิด เราไม่ได้ลดเงินเดือน เราไม่ได้ลดพนักงาน เพราะว่าสิ่งที่เราทำกันมาก่อนหน้านั้น Back Catalogue ของเรามันยังทำงานอยู่ เราก็ต้องขอบคุณคนฟังเพลงด้วยที่ยังเข้าไปฟัง มันก็ยังสร้างรายได้บางอย่างกลับเข้ามาทำให้บริษัทยังอยู่ได้ ผมว่ามันพรูฟมากเลยช่วงโควิดว่าถ้าคุณทำเพลงที่ดีจริง สะสมเพลงเข้าไว้ ผมว่าตอนนี้มันเริ่มอยู่ได้แล้วด้วยตัวของมันเอง”

บอลพูดบ้าง “แชปเตอร์สามเป็นอะไรที่เหมือนพรูฟว่าหนึ่งและสองที่เราทำไว้มันยั่งยืนไหม เพราะแชปเตอร์สามมันคือแชปเตอร์แห่งการถูกเบิร์นไปเรื่อยๆ เบิร์นสิ่งที่หนึ่งและสองทำไว้ สุดท้ายมันก็ถูกเผาไปเยอะนะ แต่มันก็ยังเหลืออะไร แปลว่าพื้นฐานที่เราพยายามทำไว้มันก็ยังช่วยเราได้อยู่ และก็ยังเหลือรอดเผื่อให้เราไปหายใจได้ทดลองทำพวกออนไลน์คอนเสิร์ต เรากล้าพูดได้ว่า Whal & Dolph ออนไลน์คอนเสิร์ต เป็นออนไลน์คอนเสิร์ตที่เป็นมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับคนเล่นครั้งแรก จากที่ปกติมันเป็น live เฉยๆ แล้วก็ต่อด้วยเฟิร์สต์ออนไลน์มิวสิกเฟสติวัล คือนอกจากได้ทบทวนตัวเองแล้ว การได้มาทดลองทำอะไรที่ไม่เคยทำหรือมันต้องทำ มันเหมือนที่ช่วงนั้นมอยโพสต์ทุกวัน do it or die (หัวเราะ) ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ แต่มันก็ไม่ได้ซักเซสทุกอันนะ อันที่เจ็บก็เยอะ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้

มอยเสริม “ผมโชคดีเหลือเกินที่ทีมงานก็พยายามสู้กันหมดเพราะบางเรื่องเป็นเรื่องใหม่มาก โชคดีอีกอย่างก็คือว่าค่ายเรามันเล็ก จะทำคอนเสิร์ตออนไลน์ แค่ผมเดินไปบอกว่าเดี๋ยวจะทำนะ ก็ทำได้เลย มันไม่ต้องขอบอร์ดอนุมัติหรือขอโน่นขอนี่ ช่วงนั้นเราก็ต้องพยายามครีเอตอะไรตลอดเวลาให้ศิลปินหรือพนักงานไม่เฉา ทำออนไลน์คอนเสิร์ตเสร็จ ทำอัลบั้มไหม ที่ไม่ต้องเจอกัน อาจจะไม่ได้เงิน แต่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่อยากให้ทุกคนเฉา เราเองก็ต้องตื่นเต้นหาอะไรทำตลอดเวลาด้วย”

ฝันให้ไกล สร้างรากฐานให้แกร่ง

ผ่านพ้นยุคโควิดมาแล้ว มอยบอกว่าตอนนี้วงการเพลงกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นมากๆ ผู้เล่นหน้าเก่ายังอยู่ แต่ค่ายเพลง โปรโมเตอร์ หรือนักลงทุนใหม่ๆ ก็ครึ่งหนึ่ง 

“ผมรู้สึกว่าทุกคนอยากอยู่ในวงการเพลง มันมองเหมือนจะง่ายในการทำเพลงฮิตสักเพลงหนึ่ง ถ้าถูกหวยหรืออะไรสักอย่างร้อยล้านวิว มันก็อาจจะเป็นไปได้ จัดคอนเสิร์ต นั่นก็ Sold out นี่ก็ Sold out มันเลยมีผู้เล่นหรือนักลงทุนหน้าใหม่ๆ เข้ามา อาจจะเพราะวงการอื่นๆ นิ่งด้วย นักลงทุนเลยอาจจะทยอยแบ่งเงินมาลงทุนค่ายเพลง ทำคอนเสิร์ต มันก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะนี่หว่า ลองดู ผมมองว่ามันเป็นแบบนี้ทั่วโลก” 

มอยให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ต่างชาติก็เริ่มมองมาที่ไทยมากขึ้น รวมถึงย่านเซาท์อีสต์เอเชียด้วย ซึ่งไทยเองก็เป็นประเทศที่ส่งออกศิลปินออกไปข้างนอกได้มากกว่าประเทศอื่นๆ และนั่นก็เป็นเป้าหมายในแชปเตอร์ต่อไปของ What The Duck ด้วย 

“ก็จะมีศิลปินหลายๆ คนที่เรารู้สึกว่าต้องพาออกไปข้างนอก แต่เราคงไม่ได้เอาไปทุกคน” มอยอธิบาย “เอาคนที่เขาอยากไปจริงๆ เพราะว่ามันก็มีหลายเรื่องที่ศิลปินเองก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เวลาไปต่างประเทศบางทีเราต้องไปนับหนึ่งใหม่ ไปเริ่มการเป็นศิลปินใหม่ คุณพร้อมที่จะไปแบบนี้หรือเปล่า อยู่ที่นี่คุณอาจจะดังแล้ว แต่ไปอยู่ที่เมืองจีน ญี่ปุ่น คุณอาจจะต้องแบกกีตาร์เองนะ คุณไม่ได้สามารถเอาผู้จัดการ เอาซาวนด์เอนจิเนียร์ เอาเทคนิเชียนไปด้วยนะ เขาให้ตั๋วมา 5 ใบคุณพร้อมไปไหม พร้อมไปลุยกับตลาดใหม่ๆ ไหม 

“จริงๆ ก็เริ่มมาตั้งแต่ปีนี้แล้ว พอโควิดเริ่มซา เราจัดระเบียบความชุลมุนอะไรเรียบร้อยหมด เราก็อาจจะต้องเริ่มตั้งหน้าตั้งตาปักธงแล้วว่า อีกสัก 3 ปี 5 ปี What The Duck เอง เราจะอยู่ตรงไหน ความฝันที่เราตั้งกันไว้คือ อีกสัก 5 ปี What The Duck คงไม่ใช่ค่ายเพลงอินดี้จากแบ็งคอกแล้ว เราอยากจะเขยิบไปอีกนิดหนึ่ง เป็นค่ายอินดี้ที่ Represent เซาท์อีสต์เอเชีย อันนี้คือสิ่งที่เรามองไว้ แต่ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่านะครับ” 

แม้ว่าการค่ายและศิลปินออกไปสู่ระดับสากลจะเป็นเป้าหมายใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องให้ความของสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือตลาดในเมืองไทย บอลพูดถึงการขยาย Academy ที่ถือเป็นการสร้างฐานรากที่แข็งแกร่งของค่าย 

“ยูนิตที่เราเริ่มสร้างมาได้สัก 3 ปีแล้วคือ Milk Artist Service Platform หมายความว่าเราไม่ได้เซ็นสัญญาเขาแบบเป็นฟูลอาร์ทิสต์ แต่เราเซ็นศิลปินหน้าใหม่ที่อาจจะไม่มีใครรู้จักชื่อเลย เป็นศิลปินที่ใหม่มากๆ ที่เรารู้สึกว่ามีโพเทนเชียลที่จะเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งสเตจนี้จริงๆ สมัยก่อนเราอาจจะไม่ได้ลงไปคลุกคลี แต่เราค้นพบว่าเด็กสมัยนี้เก่งขึ้นมาก แล้วก็ระยะห่างระหว่างศิลปินกับค่ายมันจะดูมากเกินไป กว่าวันที่เขาจะโตขึ้นมา งั้นสร้างอะคาเดมีตรงนี้ขึ้นมา สัญญาเป็นสัญญาที่เรียบง่ายมากว่าเราดูแลกันแค่ไหน และมีความเป็นอิสระค่อนข้างสูงมากในแง่ของการจัดการ ทดลองเอาชุดการเรียนรู้แบบค่ายเพลงย่อยให้มันง่ายให้เขาใช้ บางคนชอบและได้ขึ้นมาอยู่ในค่าย Whate The Duck ในที่สุด เช่น loserpop Uncle Ben หรือปัจจุบันเราอาจจะได้ยินชื่อวง PURPEECH ซึ่งยังอยู่ Milk อยู่ แต่ประสบความสำเร็จมาก ซึ่งถ้าเราใช้ระบบฟูลเซอร์วิสแบบค่ายสมัยก่อน เราอาจจะยังไม่ได้เจอศิลปินเหล่านี้ก็ได้ คือเราต้องเดินไปหาเขามากขึ้น ไม่งั้นเขาก็คงไม่เดินมาหาเรา”

นอกจากนี้ในปีหน้ายังมีอีกยูนิตหนึ่งที่มาอยู่ตรงกลางระหว่าง What The Duck และ Milk ก็คือ Milk Record Lebel เพื่อรองรับศิลปินบางส่วนที่โตจาก Milk

ถือเป็นการแตกแขนงอีกหนึ่งค่ายย่อย นอกเหนือไปจากค่าย Whoop Music ของ The Toys กับค่าย moonflower ของ BOWKYLION ซึ่งมอยบอกว่านอกจากช่วยในเรื่องความหลากหลายแล้ว ยังถือเป็นการผลักดันศักยภาพของศิลปินให้มากที่สุด เช่นเดียวกับที่ปีนี้จะเน้นการลงทุนกับบุคลากรภายในมากขึ้นด้วย 

การเรียนรู้และการเติบโต   

9 ปีกับการทำ What The Duck ค่ายเติบโต ธุรกิจเติบโต เราเชื่อว่า คนทำก็ต้องเติบโตตามไปด้วย เราอยากรู้ว่าทั้งมอยและบอล พวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้ และมันหล่อหลอมให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

“ผมเปลี่ยนเยอะ” มอยพูดก่อน “ทุกวันนี้ก็ยังเปลี่ยนอยู่ ได้เรียนรู้ทุกวัน โดยเฉพาะเราทำงานกับคน โปรดักต์เราคือคน และยิ่งเราเลือกที่จะทำงานกับคนใหม่ๆ ด้วย เราก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรที่แน่นอนและยืนหนึ่งอยู่เสมอ อันนี้เป็นไปไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ก็คือ เรื่องการคุยกันมากขึ้น การสื่อสารกันมากขึ้น คือบางครั้งเราก็ทำงานเยอะ ศิลปินก็ทำงานเยอะ ไม่มีเวลาได้คุยกัน มาเจอกันก็คือในห้องประชุม ซึ่งก็จะฟาดฟันกันเป็นเรื่องปกติของการเค้นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หลังๆ ผมเริ่มได้ออกไปเจอน้องๆ ทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วมกัน นอกจากการกินเหล้าน่ะนะ (หัวเราะ) อย่างเล่นกีฬา ได้ไปเจอกันข้างนอกในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งมันสามารถเกิดอะไรขึ้นได้อีกเต็มไปหมดเลย

“อีกเรื่องพอดีลกับศิลปินเยอะๆ ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือ บางครั้งความจริงมันเจ็บปวด แต่จะเจ็บปวดกว่าถ้าเราไม่พูดความจริงกับศิลปิน บางครั้งเป็นเรื่องความกลัวที่เราไม่พูด หรือกลัวเขารับไม่ได้ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องรับให้ได้อยู่ดี เรื่องนี้มันเซนซิทีฟ หลังๆ ผมรู้สึกว่า ง่ายที่สุดที่ทีมงานหรือตัวเราเองทำได้ก็คือ พูดความจริงกับเขา แต่เรามีเหตุผลให้เขาฟังว่า มันไม่ได้อย่างนี้ได้ยังไง ดีลนี้หลุดไปได้ยังไง เพราะอย่างนี้ไง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องความจริงใจ”

บอลพูดบ้าง “สำหรับ What The Duck สิ่งที่เปลี่ยนผมที่สุดจริงๆ คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งบ้านผมเป็นครอบครัวข้าราชการ มันเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ แม่เคยพูดแต่เด็กเลยว่า ยากมากที่บ้านเราจะทำธุรกิจกัน ดังนั้นผมจะเป็นคนที่ไม่มีเซนส์ในด้านนี้เลย ผมจึงมักพูดเสมอว่าผมได้พาร์ตเนอร์ที่ดี ได้ทีมงานที่ดีทำให้ผมทำสิ่งนี้ได้ เพราะผมไม่มีทางจะอยู่ตรงนี้ได้ด้วยตัวคนเดียวเองเลย ดังนั้นทุกอย่างของการเป็นเจ้าของธุรกิจมันเปิดโลกหมดเลย มันให้อะไรมากกว่าการแค่ตื่นมาทำงาน เลิกงานแล้วก็กลับบ้าน มีผู้ใหญ่เคยสอนว่าวันหนึ่งต้องลองเป็นหัวหน้าคน วันหนึ่งต้องลองเป็นเจ้าของอะไรบางอย่าง แล้วความคิดหรือเรื่องงอแงเล็กๆ น้อยๆ อะไรบางอย่างที่มันเป็นเรื่องงี่เง่าของเราในวัยหนึ่ง จะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ

“สุดท้ายเป็นเรื่องของโอกาส ผมได้โอกาสจากการมาคลุกคลีในธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้เยอะ และมันก็ shift สิ่งที่ผมได้รับมากขึ้นไปอีกจากการที่เราได้ร่วมกันเป็นเจ้าของสิ่งนี้ แต่วันนี้ส่วนตัวผมรู้สึก royalty ต่ออุตสาหกรรมนี้ ผมรู้สึกว่าผมได้สิ่งนี้มาเยอะ และผมเชื่อว่าถ้าเราได้บุคลากรที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมนี้ อนาคตมันจะดีกว่านี้อีก คือเรามาจากการที่เราโนบอดี้มากๆ กับสิ่งที่เราได้ในวันนี้ มันทบเรามาเรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นวัยที่นอกเหนือจากทำให้ What The Duck เติบโตขึ้นไปแล้ว อะไรที่เราแชร์สู่คอมมูนิตี้ตรงนี้ได้ เราก็อยากจะแชร์มันไปด้วยในเวลาเดียวกัน” 

สุดท้าย เราถามพวกเขาถึงเรื่องความประทับใจอะไรก็ได้ที่มีต่อ What The Duck แน่นอนว่าจริงๆ แล้วตลอด 9 ปีที่ผ่านมาคงมีเรื่องราวมากมาย แต่ทั้งคู่ก็ใช้เวลานั่งเรียบเรียงความคิดสักพักแล้วค่อยๆ ตอบออกมา 

มอย “ผมว่าเวลาเราเซ็นศิลปินใหม่ๆ ได้ต้อนรับคนใหม่ๆ เข้ามา ผมประทับใจทุกครั้ง มันเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้น ที่คนๆ หนึ่งซึ่งไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย แล้วก็มาเชื่อในสิ่งที่เราคุยกับเขา แล้วเขายอมให้ที่จะมาไว้ใจเรา ให้เราได้ทำอะไรร่วมกับเขา อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องประทับใจทุกครั้ง แล้วมันก็จะมีความประทับใจอีกครั้งคือตอนที่เราได้ทำอะไรร่วมกัน แล้วสิ่งๆ นั้นมันสำเร็จ ไอ้ความสำเร็จนี้มันอาจจะไม่ใช่เขามีคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง หรือได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ คือความสำเร็จของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ผมเองเป็นคนอีโมชันนอลอยู่แล้ว ผมก็จะรู้สึกได้ว่า โห แม่ง ประทับใจว่า กูเห็นมึงตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนใหญ่ของผมก็จะเป็นเรื่องพวกนี้” 

บอล “ของผมเรียกว่าจำได้ดีกว่า ถ้าบรรยากาศ vibe โดยรวมมันก็คงคล้ายๆ มอย แต่ถ้าส่วนตัวมากๆ เลยจริงๆ แล้วก็คือ ธุรกิจนี้มันเป็นธุรกิจที่อุดมไปด้วยอารมณ์ คือศิลปินมีสิทธิที่จะมีอารมณ์อยู่แล้ว แต่ในหมวดของเราการควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด คือก่อนหน้านี้ผมไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ แต่ตอนที่มาทำที่นี่ มีสองสามครั้งที่ผมใช้คำว่าพลาดละกัน ไปใช้อารมณ์ และมันก็เกิดความเสียหายต่อบริษัท มันอาจจะฟังดูเป็นข้อเสีย แต่นี่เป็น Big Issue ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ท้ายที่สุด ไม่ว่าด้วยเหตุผลยังไง ในฝั่งเราที่เป็นค่ายเพลง การใช้อารมณ์ควรจะเป็นเรื่องลำดับท้ายๆ ที่สุด ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ให้รีบวิ่งไปที่อื่น (หัวเราะ) ต้องเรียนรู้ตัวเองให้ไว ขอโทษให้เป็น 

“พอผ่านมาแล้วมันเล่าได้ตลกนะ แต่วันที่เป็นมันไม่ควรหรอก ผมล่าสุดเพิ่งไม่นานมานี้เอง ในอาชีพนี้ผมเป็นไม่ค่อยบ่อย แต่ผมเป็นแล้วมันน่าเกลียด แล้วผมก็ไม่ค่อยชอบตัวเอง ใครพาผมไปถึงจุดนั้นได้มึงแน่มาก แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะเอามาอ้างหรอก (หัวเราะ) เรื่องอารมณ์เป็นเรื่องที่เราต้องมีสติกับมันมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราโตขึ้น ถ้าเป็นให้สัมภาษณ์เมื่อก่อนเราคงไม่พูดเรื่องนี้ แต่สำหรับตอนนี้คิดว่าฝากไว้แล้วทุกคนเอาไปใช้ได้” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธฤตวัน ปิฏฐปาตี

เงินเดือน คือ มายา งานตรงหน้านี้สิของจริง