Whal & Dolph และ Mirrr วงสองเพื่อนซี้แห่ง What The Duck กับชีวิตที่ไม่นิยามว่าเป็นเป็ดเหมือนกับชื่อค่าย

นับถอยหลังสู่คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของค่ายเพลง What The Duck ในรอบ 9 ปี ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เราชวนวงดนตรีคู่เพื่อนซี้ประจำค่าย อย่าง Whal & Dolph คู่หูฝูงปลาน่ารักแต่ใจร้าย และ Mirrr เพื่อนรักที่พาเราดิ่งไปในภาวะกึ่งฝันกึ่งจริง มาพูดคุยถึงเส้นทางดนตรีภายใต้ค่ายตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และดีเอ็นเอของความเป็นเป็ดในตัวพวกเขา

แม้แต่ละคนจะมีสไตล์เพลงที่จัดจ้านในแบบของตัวเอง แต่เราพบว่าทั้งคู่มีบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันอยู่ไม่น้อย ทั้งจุดเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีอิสระ ความเป็นวงดนตรีเพื่อนซี้ที่แชร์ความฝันด้วยกัน และที่สำคัญคือพวกเขาเป็นอีกหนึ่งเฉดสีให้วงการเพลงไทยไม่น่าเบื่อเกินไป   

ก่อนไปสนุกกับคอนเสิร์ตใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราชวนทุกคนไปรู้จักตัวตนของพวกเขาผ่านเรื่องราวของคนที่ไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นเป็ดกันให้มากขึ้น

Whal & Dolph: เป็ดที่อยากแชร์ความคิดกับผู้คน

“วงเราเป็นวงที่ดูเป็นวงป็อปธรรมดาวงหนึ่ง แต่ก็มีความไม่ธรรมดาในความธรรมดา”

Whal & Dolph วงดนตรีของฝูงปลาน่ารัก แต่ใครบางคนบอกว่าพวกเขาใจร้ายต่างจากชื่อวงลิบลับ เพราะแม้ดนตรีจะออกโทนสว่างเหมือนเพลงรักสดใสทั่วไป แต่น้อยวงที่จะเล่าเรื่องความผิดหวังและการจากลาได้ใกล้ตัวอย่างที่พวกเขาทำ รู้ตัวอีกทีเหล่าคนฟังมีอันต้องน้ำตาตกในทุกราย ด้วยเนื้อหาเพลงง่ายๆ น้ำเสียงจริงใจไม่ปรุงแต่งของ ปอ-กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ บวกกับเสียงกีตาร์พลิ้วไหวของ น้ำวน-วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ ยิ่งทำให้หลายคนเข้าถึงเพลงได้บาดลึกกว่าเดิม

พวกเขาเคยบอกตัวเองว่าเป็นวงที่ยังไม่ดัง แต่ระยะเวลาที่ผ่านไปก็ทำให้วง Whal & Dolph เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเริ่มต้นทำเพลงด้วยตัวเอง ผ่านช่วงหันเหไปทำอาชีพอื่น แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่ความฝันแรกมาตลอด นั่นคือการเป็นนักดนตรี จนกลายเป็นวงที่ถูกพูดถึงในหลากหลายสื่อ รวมถึงขายบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์หมดเกลี้ยงทันทีที่เปิดขาย และ Sold Out ทั้ง 2 รอบ 

เข้าสู่ปีที่ 7 ในฐานะศิลปินของ What The Duck เราชวนสองเพื่อนซี้ปอและน้ำวน มาพูดคุยถึงเส้นทางภายในค่ายเพลงที่เขานิยามว่าเป็น ‘สนามเด็กเล่น’ และภายใต้บ้านหลังนี้ที่ทำให้ดนตรีของ Whal & Dolph เกิดขึ้นมาเป็นอีกเฉดสีหนึ่งให้กับวงการเพลงไทย

“What The Duck เหมือนสนามเด็กเล่นที่มีเด็กหลายๆ แบบอยู่ในสนามแห่งนั้น” 

หลายคนรู้จัก Whal & Dolph หลังจากเพลง ‘ยิ้ม’ เมื่อปี 2559 จากเส้นทางดนตรีที่ไม่เคยแน่นอนมาก่อนในชีวิต เพราะช่วงแรกทั้ง ปอและน้ำวนต่างก็เคยแยกย้ายไปทำงานอื่น แต่ดนตรีก็ทำให้พวกเขายังคงมาเจอกัน เปลี่ยนจากการทำเพลงสนุกๆ มาเป็นลองทำเพลงจริงจัง จนได้เจอกับบอล (ต่อพงศ์ จันทบุบผา) หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของค่าย What The Duck ที่เห็นแววและชวนพวกเขาเข้ามาที่ ‘สนามเด็กเล่น’ นี้

“ความรู้สึกเราก่อนที่ค่ายจะชวนเราเข้ามา ตอนนั้นเราเริ่มเห็นมีค่ายเพลงใหม่ๆ เปิดตัว หนึ่งในนั้นคือ What The Duck เราก็เห็นเขาเซ็นสัญญากับศิลปินที่เรามองว่าเจ๋ง ตอนนั้นมี ‘De Flamingo’ ‘BOWKYLION’ ‘The Toys’ เราก็รู้สึก โห ค่ายนี้เอาไปหมดเลย ตอนนั้นเราชอบทอยมาก ตอนที่ทอยปล่อยเพลงก่อนเดบิวต์เพลง ‘ก่อนฤดูฝน’ เขาจะมีคลิปเล่นสด แล้วเขาก็แร็ป เห้ย มันแร็ปอะไรของมันวะ” ปอเล่าช่วงที่กำลังตัดสินใจมาอยู่ในบ้าน What The Duck

“พอเห็นแบบนั้นก็รู้สึกว่าค่ายนี้ในสมัยนั้นพวกทอยหรือศิลปินต่างๆ ที่เขาเซ็นมาเป็นดนตรีหัวก้าวหน้าดี คิดว่าไดเร็กชันค่ายนี้น่าจะเหมาะกับเรา เพราะสิ่งที่เราทำอยู่มันก็ไม่มีในตลาด เราก็ได้คุยกันแล้วก็น่าจะไปด้วยกันได้” น้ำวนเสริม

น่าสนใจว่าหากเป็นบริบทของดนตรี ‘หัวก้าวหน้า’ คือรูปแบบใด เราขอให้เขาอธิบายต่อ

“สมมติดูหนังเรื่องหนึ่ง ฉันไม่เคยดูหนังเรื่องแบบนี้มาก่อน พล็อตแบบนี้แต่การนำเสนอเปลี่ยนไป หรือได้เห็นรองเท้าคู่หนึ่งแล้วแบบ เห้ย เราไม่เคยเห็นผลิตแบบนี้มาก่อนเลย มันก็คงเหมือนเพลงที่เราได้ฟังจากทอยแล้วเรารู้สึกมันไม่มีเพลงแบบนี้อยู่ในประเทศไทย” ปออธิบาย

“ใช่ มันแปลกใหม่แต่ว่ามันฟังได้ง่าย มันอาจจะไม่มีแร็ปที่เร็วๆ ตรงเพลง ‘ก่อนฤดูฝน’  เพราะถ้าค่ายบอกว่าอย่างนี้ใครจะไปฟังรู้เรื่องก็จบแล้ว” น้ำวนเล่า

‘อิสระ’ คือคำสำคัญที่ทำให้ศิลปินในค่ายได้ปลดปล่อยตัวตนของตัวเอง สามารถทำเพลง ‘หัวก้าวหน้า’ ตามคำนิยามของ Whal & Dolph อย่างที่เคยเห็นผลงานของ ‘The Toys’ กับเพลงก่อนฤดูฝน ซึ่งเรียกได้ว่าแหวกขนบการทำเพลงแมสในช่วงเวลานั้น

“บางครั้งค่ายก็ให้กำลังใจ สมมติเราปล่อยเพลงมา แล้วเพลงนี้ไม่มา เขาก็จะแบบไม่เป็นไร เอาใหม่ๆ เราก็เหมือนได้เติบโตไปด้วยกัน What The Duck ก็เหมือนเพื่อนเราคนหนึ่ง” ปอบอก

นับจากนั้น Whal & Dolph ก็เริ่มแหวกว่ายในเส้นทางดนตรีท่ามกลางฝูงเป็ดที่แตกต่างจากตัวอื่นๆ ที่มาอยู่รวมกันในสนามเด็กเล่นที่มีชื่อว่า What The Duck 

“ผมไม่เป็นเป็ดเลย เพราะผมทำได้ดีในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง”

หากความเป็นเป็ดหมายถึงใครสักคนที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย แต่ไม่เก่งสักทาง งั้นเป็ดกับศิลปินคงไปด้วยกันไม่ได้เท่าไหร่ เพราะเราต่างเข้าใจว่านักดนตรีคือคนที่เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ในแง่การทำดนตรีแล้ว Whal & Dolph ยังคงปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าห่างไกลจากความเป็นเป็ดมาก และยอมรับว่าพวกเขาทำได้ดีในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง

วิธีทำเพลงของ Whal & Dolph แม้พวกเขาจะช่วยกันทำสิ่งที่ถนัดก่อนในช่วงเริ่มต้น อย่างเนื้อร้องและเมโลดี้มาจากปอ จากนั้นจึงมาช่วยกันทำดนตรีและไลน์กีตาร์ด้วยกันกับน้ำวน แต่นอกเหนือไปจากนั้นก็จะมีคนคอยช่วยเหลือตลอดทาง โดยปอบอกว่าเป็นเรื่องที่ ‘สนุก’ กับการพัฒนาไอเดียของหลายๆ คนมารวมกัน

“สมมติเราทำเพลงเสร็จแล้ว บางทีก็ให้คนเล่นคีย์บอร์ดไปลองคิดดู พอเขาคิดมาแล้วมันว้าว มันเหนือกว่าที่เราคิดไว้ เราก็จะรู้สึกว่าดีจังเลย ทำให้เพลงเราเพราะขึ้น เราเลยรู้สึกว่าเพลงของเราเป็นแค่ Core Idea เช่น ผมแต่งเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง ผมจะเล่าว่าเป็ดตัวหนึ่งกำลังนั่งเหงาอยู่ในอ่างน้ำ แล้วน้ำวนจะคิดกีตาร์มาเป็นยังไงนะ น้ำวนส่งกีตาร์กลับมา เรารู้สึกว่าดีว่ะ เป็นการพัฒนาไอเดียต้นให้มันไปไกลขึ้น” ปอเล่า

ปอย้ำว่าเป็นเพียงสไตล์การทำงานที่แตกต่างไปของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับเรื่องที่อยากสื่อสารออกไปผ่านเนื้อเพลง

“ถ้าจุดประสงค์ของผมคืออยากให้เป็ดตัวนี้เป็นภาพของผมคนเดียว ก็จะทำคนเดียว ซึ่งผมคิดว่ามีศิลปินมากมายที่ทำแบบนั้น แต่ถ้าบางศิลปินอย่างผมกับน้ำวน อยากให้เป็ดตัวหนึ่งมีมุมของคนอื่นด้วย เขาจะเห็นเป็ดตัวนี้ยังไง คีย์บอร์ดจะเห็นยังไง คนมิกซ์จะเห็นเป็ดตัวนี้เป็นยังไง อันนี้เป็นการสร้างงานแบบของผม ผมเลยคิดว่าจริงๆ มันหลากหลาย มันไม่มีคำว่าดีหรือไม่ดี แต่เราแค่ต้องการแบบไหนมากกว่า”

“การทำอะไรได้หลายอย่างแต่ไม่เก่งสักทางอาจเป็นความสามารถพิเศษที่คนอื่นไม่มีก็ได้”

ในวันที่การเป็นศิลปินหน้าใหม่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ศิลปินหลายคนสามารถจบงานได้ด้วยตัวเอง เพราะโอกาสในการเข้าถึงความรู้การทำเพลง รวมถึงช่องทางปล่อยผลงานซึ่งทำให้คนรู้จักได้มากขึ้น แต่สไตล์ของ Whal & Dolph ยังคงชื่นชอบการเหลือพื้นที่ว่างไว้เผื่อการสร้างสรรค์งานจากคนอื่นๆ มาเป็นส่วนผสมในเพลง

“ขั้นตอนที่เราไม่ได้ชอบ คือขั้นตอนการมิกซ์เสียง เพราะเรารู้สึกว่ารายละเอียดมันเยอะ เราเป็นคนชอบฟังมากกว่า จะมีแค่ภาพคร่าวๆ ว่าเพลงนี้เราอยากได้ยินกลองดังหน่อย เบสเป็นอย่างนี้ กีตาร์เป็นอย่างนี้ แต่เราอยากให้คนที่เราชอบมิกซ์ให้เรา เพราะอยากสัมผัสความรู้สึกว่าคนนี้มิกซ์ให้เราแล้วจะเป็นยังไงนะ มันจะเกินกว่าที่เราคิดมั้ย เราเลยรู้สึกว่าบางขั้นตอนเราชอบให้คนอื่นทำมากกว่า” 

น้ำวนเสริมต่อว่า “ผมว่าการทำจบงานด้วยตัวเองมันมีข้อดีครับ การมีความรู้เยอะๆ มันก็จะส่งผลดีในอนาคต สุดท้ายเราก็จะได้ใช้มันเอง สมมติเราทำเองทุกอย่าง บางทีเราอยากให้คนอื่นมาช่วยอัด มันก็จะเป็นการโยนไอเดียไปได้ ก็จะเป็นการสื่อสารกับเขารู้เรื่อง” 

“พวกผมไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นพวกเราเท่านั้นในการทำเพลง ในอนาคตเราอาจจะร่วมงานกับคนอื่นบ้าง อาจจะร่วมงานกับโปรดิวเซอร์คนอื่นบ้าง แต่ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้อัดเองทุกอย่างทั้งหมดเพราะเครื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่กีตาร์พวกผมก็มีคนมาช่วยอัด ก็จะมีการโยนไอเดียกันว่าเรามีในใจแบบนี้ ไปต่อยอดให้หน่อย แล้วสุดท้ายมาพัฒนาร่วมกัน” ปอเล่าถึงเป้าหมายของ Whal & Dolph ที่อยากทำต่อไปในอนาคต

สำหรับ Whal & Dolph แม้ความเป็นนักดนตรีทำให้เขาต้องฝึกฝนด้านใดด้านหนึ่งมากเป็นพิเศษ แต่สำหรับในแง่การใช้ชีวิตแล้ว พวกเขาก็ยังคงเชื่อว่าทุกคนต่างมีความเป็นเป็ดอยู่ในตัวเอง 

“ในความเป็นเป็ดถ้าเกี่ยวกับวง ผมว่าผมทำได้ดีในหน้าที่ตัวเอง ถ้าพูดถึงชีวิตทั่วไป ผมว่าทุกคนแม่งเป็นเป็ดหมดแหละ เอาจริงๆ เขาคงไม่เก่งทุกอย่างอยู่แล้ว” น้ำวนพูดพลางหัวเราะ

“ผมว่ามีความเป็นเป็ดอยู่นะ ทำอาหารก็พอได้ เล่นกีฬาก็พอได้แต่ไม่เก่ง” ปอเสริม

“จริงๆ การเป็นเป็ดมันไม่ผิดนะ การที่คุณทำอะไรได้หลายๆ อย่างแต่ไม่เก่งสักทางอาจจะเป็นหนึ่งในความสามารถพิเศษที่คนอื่นไม่มีก็ได้ เพราะมันก็มีบางคนที่ฉันก็ทำอันนี้ได้ อันนั้นก็ได้ แต่รวมๆ กันสิ่งที่เขาไม่เก่งเลย มันอาจจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้เขารวมๆ กันกลับมาก้อนใหญ่ อาจจะเก่งกว่าคนที่ทำอย่างเดียวแล้วเก่งก็ได้นะ แค่ใช้ความเป็นเป็ดให้มีประโยชน์ มันก็มีประโยชน์ของมันนะ เป็ดมันก็ยังมีชีวิตของมันอยู่ 

ต้องถามตัวเองด้วยว่า ถ้าเราเป็นเป็ดแล้วไม่เก่งสักเรื่อง จริงๆ เราอยากเก่งเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า ถ้ามันไม่ได้จำเป็นกับคุณขนาดนั้นก็ไม่ต้องซีเรียสเลยครับ ผมว่ามีคนเป็นแบบนี้หลายคนนะ แต่เขาก็ใช้ชีวิตให้มีความสุขได้” น้ำวนทิ้งท้าย

Mirrr: เป็ดที่ตามหาความหมายในชีวิต

ละเมอของคนทั่วไปอาจหมายถึงอาการนอนหลับไม่สนิทเป็นปัญหาสุขภาพและอาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น การละเมอเดิน

แต่สำหรับ Mirrr (เมอร์) วงดนตรีเพื่อนซี้ อย่าง โต-เลอทัศน์ เกตุสุข (ร้องนำ) และ นาว-วิชชานนท์ ว่องวีรชัยเดชา (กีตาร์) กลับถือว่าอาการละเมอกลับเป็นข้อดีที่ทำให้พวกเขาเริ่มทำดนตรีกลางคืนคล้ายการละเมอ และเป็นเหตุผลที่นำมาใช้ตั้งชื่อวง ภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เส้นแบ่งระหว่างความฝันและความจริงคือสิ่งที่พาพวกเขาให้ได้ค้นพบความรู้สึกที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

2 ปีที่ผ่านมา Mirrr เรียนรู้การทำดนตรีในบ้านหลังใหม่ อย่าง What The Duck ซึ่งพวกเขาเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนกับ ‘ครอบครัว’ ที่ทำพวกเขาได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง คลี่คลายเรื่องราวยากๆ ในหัวให้ออกมาเป็นดนตรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ 

บทสนทนาไม่ได้จบเพียงแค่เส้นทางดนตรีในค่ายเท่านั้น แต่ขยายขอบเขตไปจนถึงความตั้งใจที่อยากให้วงดนตรีของพวกเขาสามารถผลักดันวงการเพลงให้ไปได้ไกลมากกว่าที่เป็นอยู่

“เราเห็นค่ายนี้มานานมากแล้ว เป็นหมุดหมายว่าอยากมาอยู่ค่าย What The Duck”

Mirrr มีสมาชิก 2 คน คือโตและนาว (แม้จะเคยบอกว่าใช้ตัว r จากชื่อวงแทนจำนวนสมาชิกก็ตาม) ทั้งคู่ได้มาเจอกันจากการฟอร์มวงชมรมดนตรีกลางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่มีเป้าหมายในการเป็นดนตรี เกิดขึ้นในวันธรรมดาวันหนึ่งที่ได้แชร์ความฝันการเป็นนักดนตรีด้วยกัน อย่างการไปถึงเวทีระดับโลกอย่าง ‘Coachella’ 

หลังจากนั้นแม้ว่าเพื่อนๆ จะแยกย้ายกันไปแล้ว พวกเขาก็เริ่มต้นเส้นทางดนตรีในเวทีประกวด Tiger Jam 2016 ช่วงปี 3 ก่อนผ่านเข้ารอบสุดท้าย จนนำไปสู่การปล่อยเพลง Good Luck, Girl​ (เพราะวันนี้มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น) ทำให้พวกเขามีผลงานออกมาอยู่เรื่อยๆ

ช่วงนั้นแม้ว่าสไตล์เพลงของพวกเขาเริ่มค่อยๆ โดดเด่นขึ้นด้วยสไตล์ที่ผสมผสานระหว่างความเก่าและความทันสมัยอย่าง Synthesizer Pop และ R&B ให้ความรู้สึกถวิลหาอดีตที่นิยมมากในสายอัลเทอร์เนทีฟ แต่เส้นทางของพวกเขาก็ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด ในตอนนี้หากบอกว่า Mirrr เคยถูกปฏิเสธจากค่าย What The Duck หลายคนอุทานว่า “ไม่อยากจะเชื่อ” เพราะท้ายที่สุดพวกเขาก็ได้เข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วยสไตล์ของตัวเอง

“จริงๆ เราเห็นค่ายนี้มานานมากแล้วตั้งแต่สมัยเรียน เป็นหมุดหมายว่าอยากมาอยู่ที่นี่ เพราะเราก็เห็นศิลปินรุ่นก่อนหน้าก็รู้สึกว่าเขาฟรีสไตล์เลยรู้สึกว่าที่นี่น่าสนใจ แต่ระหว่างทางก่อนจะมีค่ายแรก เราเคยเสนอตัวเองด้วยการยื่นเดโมมาให้พี่บอลฟัง แต่เขาบอกว่าพี่ยังไม่รับศิลปินใหม่ปีนี้ มันก็ Challenge ตัวเองว่าจะทำยังไงให้ได้มาอยู่ เราก็เลยทำกันมาเรื่อยๆ” นาวเล่า

เส้นทางของศิลปินอิสระไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะก่อนหน้านี้พวกเขายังต่างคนต่างมีภาระหน้าที่เป็นของตัวเอง ทั้งนาวที่ทำฟรีแลนซ์ และโตที่ทำงานในแผนกสินเชื่อของธนาคาร โดยมีเพลง ‘นิโคติน’ เป็นเดิมพันว่าพวกเขาจะสามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ในเส้นทางดนตรี 

แล้วจังหวะชีวิตก็เป็นของ Mirrr เมื่อเพลงนิโคตินประสบความสำเร็จถล่มทลาย มียอดวิวทะลุ 80 ล้านวิว แล้วทุกอย่างก็ลงล็อกเมื่อ บอล (ต่อพงศ์ จันทบุบผา หนึ่งในผู้บริหารค่าย What The Duck) ติดต่อมา ทำให้ทั้งคู่เริ่มต้นเส้นทางศิลปินใหม่อีกครั้ง ในค่ายที่พวกเขาเปรียบว่าเป็นเหมือน ‘บ้าน’ 

ผมกับนาวเราเราจบกันคนละคณะ ถ้าผมไม่ได้เป็นศิลปินก็คงทำงานธนาคาร เพราะเคยทำแล้ว แล้วก็ลาออก คิดว่าถ้าไปทำก็อาจจะไม่ชอบ” โตเล่า “แล้วอยู่ดีๆ ช่วงเวลาทุกอย่างก็ประจวบเหมาะ มันก็เลยทำให้เรามีโอกาสมาที่นี่”

“What The Duck เป็นค่ายเพลงที่เหมือนบ้าน อบอุ่นเหมือนเป็นครอบครัว เพราะว่าการทำงานไม่ได้มีกรอบ หรือข้อจำกัดมากมายเหมือนที่เคยได้ยินมา” นาวบอก

โตพยักหน้าเห็นด้วย ก่อนเสริมว่า “ด้วยความที่เป็นครอบครัว มันก็จะเป็นเรื่องของฟีลลิ่ง การทำงานโดยใช้ความรู้สึก ให้เราปลดปล่อยความรู้สึก เราอยากทำอะไร พี่ๆ ก็จะซัพพอร์ต อันนี้มันเหมาะสมก็เชียร์ อันนี้ไม่เหมาะก็มาปรับจูน แก้ไขให้มันออกมาเป็นรูปแบบไหนได้บ้าง พยายามทำให้สิ่งต่างๆ ในหัวของพวกเราออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด”

“เราก็รู้สึกว่าเรายังไม่สุด เหมือนชีวิตเรายังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะมากๆ”

ไม่ต่างจากพี่น้องร่วมค่าย Mirrr ไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็น ‘เป็ด’ เมื่อมองในมุมของคนที่โดดเด่นในการเล่นดนตรี แต่กลับกันพวกเขากลับเชื่อในการตั้งเป้าหมายในชีวิต และใช้ชีวิตในแต่ละวันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น พร้อมโอบรับทั้งความรู้สึกสุขและทุกข์ระหว่างทางไปด้วย

“ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นเป็ดเพราะเราเก่งอยู่แล้ว” พูดจบทั้งคู่ก็หัวเราะพร้อมกัน ก่อนรีบบอกล้อเล่นตามท้าย ตามประสาบุคลิกวงนิ่งๆ แต่ขี้เล่น “เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเก่งหลายทางขนาดนั้น เราก็เป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตทั่วไป”

แม้จะเติบโตจากการเป็นนักดนตรีอิสระแต่ทั้งพวกเขาก็ต้องการคนอื่นๆ เข้ามาซัพพอร์ตส่วนต่างๆ ในการทำเพลงเช่นกัน นาวบอกว่าเราควรทำในสิ่งที่ชอบดีกว่าฝืนแล้วงานออกมาไม่สนุก

“ในการทำเพลงถ้าชอบก็จะเอ็นจอยที่จะศึกษาจนทำเองได้ แต่ถ้าทำแล้วไม่ชอบ มันก็จะฝืน แล้วสิ่งที่ทำออกมาคนฟังก็จะรู้ว่าเราไม่ได้ชอบ ส่วนเวลาที่เราทำแล้วมีแพสชันกับมัน มันจะอยากทำจนเราเก่ง จนดี คนฟังได้สิ่งที่ดีไป 

“ส่วนที่เราไม่ถนัดมันก็ยังมีคนที่อยากจะทำสิ่งนี้อยู่ เราแค่ค้นหาให้เจอว่าตัวเราชอบพาร์ตไหน ทำมันให้เก่ง แล้วค่อยหาคนที่เก่งมาช่วยซัพพอร์ตในแต่ละพาร์ต นาวบอก

แต่ในชีวิตเรื่องอื่นๆ จะว่าไปเราก็เป็นเป็ดเหมือนกันนะ เราก็รู้สึกว่าเรายังไม่สุด เหมือนชีวิตเรายังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะมากๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม ช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าทุกอย่างมันน่าเบื่อไปหมดเลยเพราะคิดว่าเรารู้ไปหมดแล้ว แต่ถ้ามาคิดจะเข้าใจว่าที่เรารู้มันเป็นแค่นี้จริงๆ

“เวลาผมใช้ชีวิตก็จะคิดว่าชีวิตเกิดมาทำไม เป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร ผมถือว่าเป็นความเข้าใจมันมากกว่า เพราะว่าเราอยากเข้าใจชีวิต เราจึงต้องรู้ว่าชีวิตประกอบด้วยอะไรบ้างในหลากหลายมิติ” โตเล่าโดยมีนาวพยักหน้ารับ

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมายิ่งผมหาความรู้ใส่ตัวมากเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้เราเข้ากับผู้คนได้หลากหลายมากขึ้นไม่ว่าเขามีชุดความรู้แบบไหน ถ้าเรามีความรู้คุยกับเขาก็จะได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเขามากขึ้นไปอีก” โตอธิบาย

“ใครก็ตามที่เขาทำสิ่งที่ชอบ มันจะออกมาทางสีหน้าและแววตา แล้วทุกคนจะเห็นในสิ่งนั้นเอง”

ถึงจะบอกว่า Mirrr เป็นวงที่ครุ่นคิดถึงเรื่องเป้าหมายชีวิตกับคำถามเรียบๆ แต่ตอบยากว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ แต่โตก็บอกกับเราว่าเขาเพิ่งค้นพบแพสชันการเป็นนักร้องเมื่อเร็วๆ นี้เองว่าอยากเป็นนักร้องที่ ‘พูดแทนคนอื่นได้’ นับตั้งแต่เรื่องความรู้สึกที่บอกใครได้ยาก จนถึงเรื่องความถูกต้องในสังคม

“เมื่อก่อนไม่ได้มีแพสชันการเป็นนักร้อง แต่อยากเป็นนักเขียนเพลง นำเสนอเพลงที่เราเขียนออกมาเอง อยากเป็นโปรดิวเซอร์ อยากทำซาวนด์ดีๆ อยากทำเพลงที่เราชอบให้คนอื่นฟัง อยู่ดีๆ ช่วงที่ผ่านมาช่วงก่อนหน้านี้อินการเมือง ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พูดแทนคนอื่นได้คล้ายๆ กัน พูดเพื่อความถูกต้องได้เหมือนกัน

“สิ่งที่เราอยากทำมันเยอะมาก เราไม่เคยมองว่าเราลึกเลย มันเป็นเรื่องปกติมากที่เราควรจะรู้ว่าเราเกิดมาทำไม เราใช้ชีวิต เราก็ควรจะรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ในแต่ละวันที่ตื่นขึ้นมา เราชอบสิ่งนี้เพราะอะไร การที่เราชื่นชอบสิ่งนั้นที่เราเป็นและเอ็นจอยทั้งหมดที่ทำอยู่ตอนนี้ มันคือการตอบคำถามความหมายของชีวิต พูดไปแล้วมันอาจจะดูคลิเชหน่อย แต่มันคือการทำเพื่อคนอื่น 

“สุดท้ายสิ่งนั้นมันจะย้อนกลับมาเอง เราอยากทำอะไรก็ตามเพื่อพัฒนาบางสิ่ง ต่อยอดบางอย่าง เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นทำให้สังคมของเราดีขึ้น วงการที่เราอยู่ดีขึ้น รายได้ของนักดนตรีดีขึ้น เรารู้สึกว่าเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ถ้าทุกคนทำงานกันอย่างมีความสุข

การทำเพลงมันเหมือนกับงานศิลปะ ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่อยากนำเสนอจริงๆ และเราเชื่อว่ามันจะต้องขายได้ ยังไงมันก็ขายได้ หรือถึงขายไม่ได้ แต่เมื่อมีคนมาเห็น เขาก็อยากเอาสิ่งนี้ไปขายเอง เหมือนกับเวลาเราไปเจอใครก็ตามเวลาที่เขาทำสิ่งที่ชอบ มันจะออกมาทางสีหน้าและแววตาเขา การตั้งใจทำอะไรสักอย่าง แล้วทุกคนจะเห็นในสิ่งนั้นเอง

“ผมรู้สึกว่าการที่เราเป็นกังวลว่าเราไม่เก่งสักทางมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะการเป็นกังวลหมายถึงกำลังจะพัฒนา เพราะงั้นกังวลต่อไปเลยครับ แล้วทำยังไงก็ได้ให้ได้ทำสิ่งที่เราชอบ ลุยไปกับมันสุดทาง ถ้าเรารัก เชื่อมัน สุดท้ายต่อให้เราเจอคนอื่นรอบข้างเขาปฏิเสธ แต่เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ก็พอ ขอให้เป็ดทุกคนใช้ชีวิตด้วยความเชื่อ แล้วพิสูจน์มันโตพูดทิ้งท้าย

สุดท้ายแล้วการเป็นเป็ดของ Whal & Dolph และ Mirrr ไม่ได้เป็นคำที่สามารถนิยามใครคนใดคนหนึ่งได้ แต่การเป็นเป็ดอาจเป็นเพียงชื่อเรียก ของคนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนฝีกฝนทักษะ เพื่อที่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่รักในสักวันหนึ่งเท่านั้นเอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream