นับตั้งแต่วันแรกในการก่อตั้งค่าย What The Duck ของ มอย-สามขวัญ ตันสมพงษ์ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา และ ออน-ชิชญาสุ์ กรรณสูต สามหัวเรือใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการเพลงหลายสิบปี ได้พิสูจน์ให้หลายคนเห็นแล้วว่าบ้านหลังนี้สามารถยืนหยัดฝ่ากระแสคลื่นความเปลี่ยนแปลงในวงการเพลงได้จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 9 ปีแล้ว
จากนักร้องที่เคยรู้จักเฉพาะกลุ่มปัจจุบันกลายเป็นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย ทลายความเชื่อว่าเพลงแมสไม่ได้มีเพียงแค่แบบเดียว ตัวตนที่ชัดเจนของค่ายทำให้ทั้งศิลปินระดับประเทศและศิลปินอินดี้หน้าใหม่ได้มาอยู่ร่วมกันในบ้านหลังนี้ได้อย่างไม่เคอะเขินนัก
นับถอยหลังอีก 1 วันก่อนจะถึงคอนเสิร์ตใหญ่ของค่ายเป็ด เราชวนศิลปินในตำนานอย่าง Musketeers และศิลปินเดี่ยวเบอร์ล่าสุดของค่าย ต้นหน (TONHON) มาพูดคุยถึงการเดินทางบนถนนสายดนตรีในค่าย What The Duck พร้อมเปิดเผยความเป็นตัวเองแบบขั้นสุด
Musketeers: เป็ดแดงที่อยากเป็นบอยแบนด์สักครั้งในชีวิต
“เป็ดที่เอาตัวรอดเก่ง ถ้าหมามากัดก็บินขึ้น หนีลงน้ำว่ายได้ สุดในทางสายกลางไม่เอาตัวไปผูกติดกับอะไรมากไป”
นี่คือประโยคที่นิยามความเป็นเป็ดปีกแข็งของ Musketeers ได้เป็นอย่างดี
Musketeers วงดนตรีที่ไม่ได้มีสกิลด้านดนตรี ทำเพลงโดยไม่ได้ยึดติดกับทฤษฎี แต่สิ่งนี้กลับกลายมาเป็นจุดแข็งของพวกเขาในการทำเพลงที่แตกต่างจากคนอื่น
แม้เวลาจะผ่านมานานนับสิบปี แต่ความโด่งดังของบทเพลงอย่าง ของขวัญ, ไกล, ความทรงจำ, แค่บางคำ, Dancing, แค่คุณ, อยากให้เธอลอง ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของเรามาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเสียงเพลงของเขาผ่านช่วงชีวิตและเติบโตไปพร้อมกับใครหลายๆ คน
ในวาระที่ What The Duck กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครบรอบ 9 ปี เราจึงชวนสมาชิกวงมาพูดคุย โดยมี เท็น-ชาครีย์ ลาภบุญเรือง (นักร้องนำ) เป็นคนเล่าเรื่อง ส่วน ด๋อย-สรรวิช หวานสนิท (เบส) และ บิ๊ก-รวิน มิตรจิตรานนท์ (กีตาร์) เป็นคนตบมุขเสริม ทั้งในแง่ของตัวตนและการเติบโต รวมไปถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลือกทำแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้
การทำเพลงแบบเป็ดที่ขัดแย้งกับทฤษฎี
หากใครที่ติดตามวงดนตรีอย่าง Musketeers มาตั้งแต่แรกน่าจะรู้ว่าทั้งสมาชิกแต่ละคนไม่ได้เรียนจบด้านดนตรีมาก่อน แต่ด้วยความชื่นชอบทำให้พวกเขารวมตัวกันซ้อมดนตรีอยู่เป็นประจำ และไปประกวดตามเวทีมากมาย จนในที่สุดก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นศิลปินเต็มตัว
พวกเขาค่อยๆ สร้างตัวตนด้วยการทำเพลงและการเขียนเนื้อร้องในแบบของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะขัดแย้งกับทฤษฎีดนตรีก็ตาม
เท็น: เราเริ่มมาจากประกวดวงดนตรี แต่ก็รู้ว่าคงไปประกวดในเชิงสกิลทักษะไม่ได้ เพราะงั้นเราต้องไปงานอะไรสักอย่างที่เป็นการสร้างเพลงขึ้นมาใหม่ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าเล่นเก่งหรือไม่เก่ง จะเล่นผิดเล่นถูกก็ไม่มีใครรู้เพราะมันเป็นเพลงของเราเอง เราเริ่มเขียนเพลงแล้วก็ไปแค่งานที่เขารับเฉพาะวงที่ทำเพลงเอง เพราะถ้าเป็นงานประกวดดังๆ อย่างฮอตวงฮอตเวฟเราก็คงตกรอบ สู้เขาไม่ได้ ก็เลยเป็นที่มาว่าเราอยากทำเพลงในแบบของเราเพราะอย่างนี้
ศิลปินคนอื่นเขาจะมีทักษะด้านดนตรีสูงหรือเรียนดุริยางค์มาก่อน แต่พวกเราไม่ได้จบด้านดนตรีมา แต่ละคนก็เรียนมาหลากหลายสาขา รัฐศาสตร์บ้าง สังคมบ้าง นิติบ้าง พวกเราไม่มีสกิลด้านดนตรี แต่เราเอาความชอบในดนตรีและแพสชันที่อยากทำมาเป็นที่ตั้ง
ตอนเราทำงานกับโปรดิวเซอร์ครั้งแรก โปรดิวเซอร์มักจะแย้งว่าสิ่งที่วงเราทำมันขัดแย้งกับทฤษฎีดนตรี อย่างเช่นโน้ตหรือเมโลดีบางอย่างที่มันเพี้ยนไปจากคีย์หลักของเพลง แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ที่เราชอบ เราไม่ได้จำเป็นต้องยึดติดกับทฤษฎีอะไรเพราะเราไม่มีความรู้ไง ความเป็นเป็ดของเรามันก็น่าจะเริ่มจากประมาณนี้ เพราะตอนเด็กเราคงไม่ฝันว่าจะเป็นศิลปิน เราก็เริ่มต้นแบบเป็ดๆ สร้างแบบไม่มีทฤษฎี แต่สิ่งนี้กลับกลายมาเป็นจุดแข็งของเราซะงั้น (หัวเราะ)
เรามองว่าศิลปินไม่จำเป็นต้องทำหลายๆ อย่างก็ได้ ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ก็ทำได้หมดแล้ว แต่ความจริงเราก็ควรจะรู้บ้าง อย่างพวกเราเองรู้สึกว่าคอรัสเราไม่เก่ง เราก็ให้น้องทอย (The Toys) มาอัดให้ หรือกีตาร์วงนี้เก่งมากก็เอามันมา เหมือนกับเราใช้งานเพื่อนๆ ในการทำงานด้วยกันได้ เราก็เก่งเฉพาะด้านที่เราทำงานดีกว่า
การเดินทางจาก believe records สู่ What The Duck
เท็น: ตอนนั้นเราเรียกแท็กซี่จากพระราม 9 (หัวเราะ) มานั่งคุยกับพี่บอลที่ What The Duck เราก็ชอบ รู้สึกว่าแนวทางมันก็ไม่ได้ต่างจาก believe records เท่าไหร่ แต่ว่ามันมีสีสันกว่า พูดง่ายๆ ว่ามันจะเป็นอีกมิติหนึ่งของวงการเพลง เราก็เป็นศิลปินเบอร์แรกๆ ที่มาอยู่ที่นี่ด้วย ตอนนั้นมีพี่สิงโต นำโชค มาก่อน เราก็เลยตามเขามา พี่โตเรียกแท็กซี่ก่อนคันแรก เราเรียกคันที่สอง (หัวเราะ)
ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าค่ายจะชื่ออะไร เราเคยทำงานกับพี่บอลพี่มอยมาก่อน พี่ไปไหนผมไปด้วย เรารู้แค่ว่าน่าจะเป็นค่ายอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่มีครอบครัวของเรา มีเพื่อนๆ เราอยู่ด้วย เราก็โอเคที่จะมา
What The Duck เป็นค่ายที่มีศิลปินมากมายหลากหลายสไตล์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแนวเพลงบางแนว แต่ข้อสำคัญที่สุดคือศิลปินทุกคนทำงานกันเอง เพราะฉะนั้น What The Duck เหมือนเป็นบ้านที่ให้อิสระกับทุกๆ คน ใครอยากทำอะไรในแบบของตัวเองได้หมด พอศิลปินเป็นเป็ด ค่ายก็ต้องเป็นเป็ดด้วย ก็คือไม่รู้ทำอะไรมั่วไปหมด (หัวเราะ)
บ้านเป็ดที่อยู่ด้วยกันครอบครัว
ถ้าจะพูดว่า Musketeers คือยุคแรกเริ่มของค่าย What The Duck ก็คงไม่เกินจริงนัก เพราะพวกเขาเติบโตมาพร้อมๆ กับค่าย ตั้งแต่ยุคตั้งไข่จนมาถึงยุคที่มีศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย
นับเป็นเวลา 9 ปีแล้วที่พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านเป็ดหลังนี้ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาบอกเราคือ What The Duck ไม่ใช่แค่ค่ายเพลง แต่คือสถานที่ที่เป็นความสบายใจ
เท็น: ตอนที่ค่ายเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ๆ ก็ยังเป็นแค่ค่ายเล็กๆ บางครั้งศิลปินด้วยกันอาจจะมองว่าทำไม Musketeers ไม่ไปอยู่ในค่ายที่มันใหญ่ขึ้น หรือออกไปตั้งค่ายเอง ไปทำอะไรที่มันเป็นอิสระ แต่พอเวลามันผ่านไปเรื่อยๆ จนครบ 9 ปี เรามองว่าอยู่ที่นี่ก็สบายดีอยู่แล้ว เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ก็ให้การช่วยเหลือ เราต้องการอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้หมด เหมือนเราโตมาพร้อมๆ กับค่าย ผนังอะไรเราก็มาช่วยกันทาสี ผมวาดเละ พี่บอลเขาก็เอาสีมาทาทับเพราะมันดูไม่ได้ (หัวเราะ)
ผมมองว่าที่นี่มันไม่ใช่แค่ค่ายเพลง มันเป็นสถานที่ที่เราอยู่แล้วสบายใจ บางทีเมาๆ อยู่อารีย์ไม่รู้ไปไหน เข้ามาออฟฟิศก็น่าจะมีใครสักคนที่อยู่เป็นเพื่อนเราได้แล้วก็มีจริงๆ ความรู้สึกของทุกคนเวลามาที่นี่จะไม่เหมือนมาค่ายเพลง มันเป็นเหมือนบ้านมากกว่า ตู้เย็นอยากกินอะไรแกะกินได้ทุกอย่าง มีความกันเองมากๆ เรารู้สึกว่ามันคือสถานที่รวมตัวของเพื่อนๆ
อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า What The Duck ขึ้นชื่อเรื่องการทำเพลงอย่างอิสระ และเปิดรับความท้าทายใหม่อยู่เสมอ เราเลยถามต่อว่ามีอะไรที่ Musketeers อยากลองทำอีกไหม
เท็น: อยากเป็นบอยแบนด์ อยากลองดูว่าในวัยพวกเราเป็นบอยแบนด์แล้วจะเป็นยังไง แต่จริงๆ เราก็เคยแอบเป็นอยู่แป๊บหนึ่งช่วงหนึ่งตอนเป็นศิลปินใหม่ๆ ที่เราไปซ้อมเต้นเกาหลีของงาน Fat Radio เขาให้ศิลปินร้องเพลงเป็นบอยแบนด์กัน เราก็ซ้อมเต้นซูเปอร์จูเนียร์ทุกวัน เรารู้สึกเท่ แฟนคลับกรี๊ดมากกว่าตอนที่เราเพอร์ฟอร์มบนเวทีอีก ไปเปิดดูเองยังอายอยู่เลย แต่ว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก
ด๋อย: อยากลองบริหารเองดูด้วย
เท็น: Take over เลยเหรอ
ด๋อย: ไม่ๆ ลองขอพี่มอยบริหารเดือนหนึ่ง
เท็น: บันเทิงเลยแบบนี้ บันเทิงแน่ กลับมาอีกทีค่ายเจ๊ง (หัวเราะ) การบริหารค่ายเพลงมันมีความยากนะ แต่พวกเราก็อยากรู้ว่าในพาร์ตที่เราไม่ใช่ศิลปิน แล้วต้องมาดูแลน้องๆ ในค่ายมันจะเป็นยังไง คิดว่ามันก็น่าปวดหัวแต่ก็ดูน่าสนุกดี
TONHON: เป็ดดื้อที่ขอทำตามใจตัวเอง
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล ในบทบาทนักแสดงและศิลปินฐานะวง mints สีซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างตัวแทนสีเหลืองอย่างต้นหน และสีน้ำเงินอย่าง อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ศิลปินและนักแสดงมากความสามารถเช่นกัน
วง mints เริ่มต้นทำเพลงด้วยตัวเองจากความหลงใหลในดนตรี แม้ไม่มีประสบการณ์ทำเพลงมาก่อน ก่อนที่สไตล์เพลงอัลเทอร์เนทีฟป๊อปที่โดดเด่นจะไปเข้าตาค่าย What The Duck ค่ายที่ให้อิสระพวกเขาได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นในเส้นทางที่เขาเลือก ถึงระหว่างนั้นพวกเขาจะแบ่งเวลาไปให้กับการแสดงด้วยก็ตาม
ล่าสุดต้นหนกระโดดข้ามคอมฟอร์ตโซนมาทำให้ทุกคนตื่นเต้นอีกครั้งด้วยการเดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยวภายใต้บ้านหลังเดิม คราวนี้ต้นหนใส่ความเป็นตัวเองเต็มร้อย เพิ่มความฉูดฉาดให้กับสีสันมากขึ้น ตั้งแต่สไตล์เพลง ความกล้า ไปจนถึงลงมือโปรดิวซ์เพลงเองเกือบทุกขั้นตอน อย่างที่ทุกคนได้เห็นใน MV แนวตั้ง ‘TikTok Girl’ ที่เพิ่งปล่อยเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
หลังจากเรียนจบด้านดนตรีอย่างที่ตั้งใจ ตอนนี้ต้นหนพร้อมแล้วที่จะโบยบินในฐานะศิลปินเดี่ยวเต็มตัว บนเส้นทางที่เขาเลือกเองจะมีอะไรออยู่ข้างหน้า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ต้นหนจะมาเล่าให้เราฟังอย่างใกล้ชิด
ค่ายเล็กที่มีความเท่เป็นใหญ่
“ช่วง 3-4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นวง mints ไม่มีค่าย คือเป็นวงอิสระ ผมกับพี่อัดก็ทำเพลงเอง เดินสายตารางโปรโมตเอง ติดต่อสื่อเอง เวลาไปสื่อผมก็ต้องเอาแผ่นซีดีไปให้เขา ซึ่งผมก็ไรต์เองที่ร้านเกมแถวบ้าน เอ็มวีก็ทำเอง สู้มากๆ เลย”
ต้นหนเล่าย้อนกลับไปถึงเส้นทางการเป็นศิลปินในช่วงแรก เขาเริ่มต้นด้วยความชอบแม้ไม่เคยมีประสบการณ์การทำเพลงมาก่อน แต่เพราะการจุดไฟในตัวของ โบ๊ท (คนาวิน เชื้อแถว นักร้องนำวง Somkiat) ที่อัดได้เรียนร้องเพลงด้วย ทำให้อัดได้ชวนต้นหนมาทำวงด้วยกัน จนกระทั่งเพลงที่ 3 ‘ไม่ง่าย’ ค่าย What The Duck ก็เป็นหนึ่งในค่ายที่ติดต่อมาและอยู่ในความสนใจของเขา
“ผมรู้สึกว่ามันเท่ดีครับ” พูดจบเขาก็หัวเราะกับเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้ามาที่ค่ายเป็ดย่านอารีย์ “เราติดเท่ อยากเท่ ค่ายนี้แม่งเท่ว่ะ แต่ละคนดูแบบคนละทิศคนละทาง แต่ก็มีชื่อเสียง แล้วก็อยู่ในทางของตัวเองได้
“ตอนนั้นค่ายดูอินดี้กว่านี้ ตอนนี้ดูเป็นค่ายใหญ่แล้ว แต่ผมว่าเวลานี้ What The Duck ก็ยังไม่เสียอัตลักษณ์บางอย่างที่ทำให้ผมตั้งใจยอมเข้ามาที่นี่ ตั้งแต่ตอนทำ mints ความเป็นอิสระ ความที่ศิลปินมีความโดดเด่นของตัวเอง ถ้าเป็นค่ายอื่นเขาอาจจะมีความคุมโทนบางอย่างอยู่ แต่ What The Duck ค่อนข้างจะมีหลายเฉดสี”
นับตั้งแต่การใส่กระโปรงขึ้นแสดงงาน Cat Radio จนถึงการเป็นนักแสดงไปพร้อมๆ กับนักดนตรี การทลายกรอบกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำต้นหนได้ดี ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าเขามีความอิสระในค่าย ทำให้เขาได้ทำตามเสียงเรียกร้องในตัวเอง
“การมาอยู่ที่นี่มันทำให้เราอยากทำอะไร เราก็สามารถลองได้เลย ทำในสิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่เราอินอยู่แล้วช่วงเวลานั้น อย่างที่เห็นเลยว่าค่ายให้อิสระกับพวกเรา กับ mint อาจจะอิสระไปหน่อย จน mint ทำงานหลายอย่าง ผมก็แสดงด้วย พี่อัดก็แสดงด้วย แล้วตอนนั้นผมก็เรียนด้วย ก่อนช่วงที่เข้าเป็นช่วงปี 1-2 แล้วงานมันยุ่งหลายอย่างจนไม่ได้ทำเพลงนานๆ อันนี้ก็เป็นข้อผิดพลาดในอดีตเหมือนกัน”
“เขาใจดีกับเรามาก mints เป็นวงที่ปล่อยเพลงปีละเพลงมาสักพัก ซึ่งปกติค่ายไม่น่ายอม มันดูไม่ได้กำไร มันดูไม่ได้อะไรเลยในการปล่อยครั้งหนึ่ง เพราะศิลปินมันต้องย้ำภาพ ต่อให้เพลงไม่ดังมันก็ต้องย้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับ mint เขาก็ยอมให้เราเป็นแบบนั้น แล้วรวมถึงว่ายอมให้ผมทำเดี่ยวด้วย ในขณะเดียวกัน mint ก็ไม่ได้วงแตก ก็ยังทำอยู่
“พอยิ่งมาทำเดี่ยวเรารู้สึกว่าเขาทำให้เรามีกำลังใจ พี่บอลไม่ค่อยด่าผมเท่าไหร่ ซึ่งผมก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน หมายถึงว่าอยากให้เขาด่าบ้าง แต่ก็รู้สึกว่าได้กำลังใจจากเขาเยอะ เขาเชื่อในสิ่งที่เราทำ เราก็คุยกับพี่บอลว่ามันเป็นการเห็นภาพตรงกัน ผมไม่ได้มองว่าเพลงเดียวแล้วต้องดัง เหมือนการตลาดสมัยนี้เพลงหนึ่งแล้วมันต้องมาเลย แต่ผมกับค่ายมองว่ามันเป็นการต่อสู้ระยะยาว”
รู้สึกว่ายังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับคนอื่น
ในค่ายที่อิสระ เต็มไปด้วยศิลปินและนักดนตรีเก่งๆ มากมาย คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากต้นหน ซึ่งมีความสนใจหลากหลายด้านจะรู้สึกว่าเขา ‘ยังไปไม่สุดสักทาง’ เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในสายอาชีพเดียวกัน
“จริงๆ เรารู้สึกเป็นเป็ดอยู่ตลอด เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าอยากเป็นนักดนตรี อยากทำเพลง เรารู้ว่าเราชอบอะไร เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน โลกของศิลปินมันจะมีก้นกรองบางอย่างอยู่ ที่เวลาเราอยู่ในสังคมคนปกติ เราก็รู้สึกว่าเราโดดเด่นกว่าคนอื่นในแง่ของการที่เราเล่นดนตรีได้ เราทำเพลงได้ แต่คนทั่วไปเขาไม่ได้อินเหมือนเรา เขาก็ไม่ได้ทำแบบเรา เขาก็ชื่นชมว่าเก่งอะไรแบบนี้
“แต่พอเราหลุดทะลุก้นกรองนี้ออกมาเข้ามาสู่โลกที่เขากรองมาแล้วว่านี่คือศิลปิน นี่คือคนที่อินเหมือนกัน ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเป็ด เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้วเรายังไม่ดีพอ เรายังไปไม่สุดสักอย่าง เราทำได้หลายอย่าง แต่เราก็ไม่ได้โดดเด่นด้านไหนเป็นพิเศษ เขียนเพลงก็กลางๆ ทำเพลงก็พอได้ มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าสู้คนอื่นได้ขนาดนั้น”
ต้นหนบอกกับเราว่าครั้งหนึ่งเขาเคยฝืนทำสิ่งที่ไม่ถนัดอย่างการทำ Mix & Mastering ขั้นตอนสุดท้ายก่อนการทำเพลง ซึ่งปกติแล้วคนที่ทำหน้าที่นี้คือ Sound Engineer ที่คอยบาลานซ์เสียงต่างๆ ให้สมดุลกัน ก่อนที่ต้นหนจะค้นพบว่าไม่ใช่สิ่งที่เขาทำได้ดีนัก และเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักข้อดีและข้อเสียของตัวเองให้มากขึ้น
“ผมเคยฝืนทำ Mix & Mastering ครั้งหนึ่งของ mints เพลง ‘ตอนเธอหลับ’ รู้สึกว่าไม่ดีเท่าไหร่เลยเลิกแล้ว คือ Mix & Mastering มันเป็นอีกศาสตร์หนึ่งเลย ยากมากเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าสำคัญคือเราต้องยอมรับว่าเราทำอะไรไม่ได้ เรามีข้อด้อยตรงไหน อย่าไปดันทุรังทำ คือเด็กยุคผมหลายๆ คนอาจจะคิดว่าทุกคนมันต้องเก่ง เห็นพี่ทอย (The Toys) แม่งเขียนเครดิตทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วเราไม่ต้องเป็นแบบนั้นก็ได้อะ
“ช่วงหลังๆ ผมได้ทำงานโปรดิวเซอร์กับพี่ๆ พี่โฟร์ (ประทีป สิริอิสสระนันท์) วง HENS และพี่เบล (สุพล พัวศิริรักษ์) เขาก็บอกว่าจริงๆ สิ่งที่ดีของการเป็นโปรดิวซ์ เราต้องรู้ว่าข้อดี ข้อด้อย เราคืออะไร ถ้าเราทำอะไรไม่ได้เราอย่าฝืน เราสามารถหาคนมาช่วยได้โดยที่เรายังเป็นคนควบคุมเป็นหลัก”
สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากที่เขาได้เดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยวคือการทำงาน ต้นหนบอกว่าที่ผ่านมาวง mints จะเป็นวงที่มีโปรดิวซ์เซอร์ตลอดเพื่อช่วยหาจุดกึ่งกลางระหว่างสมาชิกในวงที่มีเพียงแค่ 2 คน แต่หลังจากที่เขาเป็นศิลปินเดี่ยว ต้นหนก็ลุยทำเพลงด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด
“วงเราเป็นวงสองคนที่แรงทั้งคู่ หมายถึงมีความชอบ มีความดื้ออะ เลยต้องหาคนตรงกลางมาตัดสิน ซึ่ง mints ก็จะมีโปรดิวเซอร์เป็นกรรมการมาตัดสินตลอดว่าใครชนะความคิดเห็นนี้ เอาแบบนี้ ไม่เอาแบบไหน แต่พอได้มาทำเดี่ยวก็ได้ทำเพลงเอง 90% แหละ มีแค่ Mix & Mastering ที่ไม่ได้ทำ”
ทุกวันนี้ความรู้สึกเป็นเป็ดของต้นหนยังไม่หายไปไหน แต่ระหว่างทางเขาก็ได้เรียนรู้แล้วว่าการยอมรับว่าตัวเองทำอะไรได้หรือไม่ได้ก็ทำให้เขาได้เป็นตัวเองได้มากขึ้น
“บางทีการเป็นเป็ดมันก็เป็น Mindset ที่ดี ไม่แน่นะ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นเป็ดเราก็ยังพัฒนาไปได้ต่อ ถ้าวันหนึ่งเราคิดว่าเราเก่งแล้ว ผมว่าวันนั้นเราจะหยุดพัฒนา แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นเป็ด วันหนึ่งเราต้องบินให้ได้สูงกว่านี้ เราก็จะอยากพัฒนาตัวเอง อยากจะสู้ต่อ สำหรับผมนะครับ คนอื่นไม่รู้เป็นยังไง แต่บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้”
“ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นไรเลยครับที่เราจะอ่อนแอ เป็นเป็ด จะไม่เก่งสักด้าน ไปไม่สุดทักทาง แต่อย่างน้อยรู้ตัวว่าพยายามจะก้าวไปข้างหน้าในทุกๆ วัน ไม่ใช่ว่าเป็นเป็ดแล้ว เอ้ย ไม่เอาแล้ว แต่อยากให้รู้ว่ายังพยายามอยู่ก็โอเคแล้ว อีกสิบปีอาจจะยังไม่เก่งก็ได้ พยายามก็พอแล้ว”
หลังจากที่คุณได้ลองทำอะไรหลายอย่าง จนถึงเดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยวแล้วมีอะไรที่คุณอยากทำต่อไปไหม เราถามในช่วงท้ายของบทสนทนา
“อยากจัดคอนเสิร์ตของตัวเองในฐานะศิลปินเดี่ยวครับ คิดว่ามีแน่ๆ ตอนเปิดอัลบั้ม น่าจะมีคอนเสิร์ตของตัวเองปีหน้า ไม่ก็ปีต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าอัลบั้มเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเรารู้สึกว่าเราชอบเล่นคอนเสิร์ต แล้วเราก็อยากมีงานที่ทุกคนมาดูเราจริงๆ เป็นภาพที่เราอยากชวนคนรู้จักมา เหมือนงานรับปริญญา ผมชอบอะไรแบบนี้ที่ล้อมไปด้วยคนที่เรารู้จัก คนที่เราสนิท เรารักเขา เขารักเรา”
สุดท้ายเราขอให้ต้นหนนิยามคำว่าเป็ดในตัวเอง เขานิ่งคิดไปสักพัก ก่อนให้คำตอบที่สมกับเป็นหนุ่มพูดจาฉะฉานอย่างที่เราได้คุยกับเขาหลายสิบนาทีก่อนหน้านี้
“คงเป็นเป็ดที่ดื้อ แล้วก็ทำตามใจตัวเอง อยากบินก็บิน อยากเดินก็เดิน หรือถ้าวันไหนขี้เกียจก็นอน”