“จะบอกว่าเด็กไม่มีสิทธิยุ่งการเมืองไม่ได้” พีท–อรรถวุฒิ เวชยานนท์ คนทำ หน้ากากประวิตร

Highlights

  • พีท–อรรถวุฒิ เวชยานนท์ เป็นที่รู้จักจากการทำ ‘หน้ากากประวิตร’ ในการชุมนุมเพื่อปกป้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา
  • พีทเล่าให้เราฟังว่าในมุมมองเขา การแสดงออกทางการเมืองว่าเรารับรู้ถึงปัญหาคือสิ่งที่ควรทำ และเครื่องมือในการแสดงออกของเขาคือ ‘ศิลปะ’ 
  • สุดท้าย พีทลงความเห็นว่าการเมืองคือเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีสิทธิเลือกและกำหนดให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น

หน้ากากประวิตร
ถ้านับตั้งแต่ปี 2554 ที่ พีท–อรรถวุฒิ เวชยานนท์ เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตสิบปีที่ผ่านมาของเขาเหมือนแบ่งเป็นสองฟากฝั่ง

ฝั่งแรกคือสายรัฐศาสตร์​ การได้ร่ำเรียนในคณะที่ว่าด้วยเรื่องรัฐและสังคม ประกอบตัวตนให้ส่วนหนึ่งของเขามีความสนใจเกี่ยวกับการเมืองไปโดยปริยาย อีกฝั่งคือศิลปะ หลังจากจบปริญญาตรี พีทตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการแต่งหน้าด้วยเทคนิคพิเศษ (Special Effects Makeup) ที่สหรัฐอเมริกา จนปัจจุบันเขาคือฟรีแลนซ์หน้าใหม่ในวงการ Special Effects Makeup Artist ที่รอวันเฉิดฉาย

สิบปีที่ผ่านมา สองฝั่งที่ฟังดูแตกต่างกันสุดขั้วอยู่รวมกันได้ในตัวเขา ตรงกันข้ามกับสิบปีที่ผ่านมาของหลายความคิดทางการเมืองที่ดูเหมือนจะอยู่รวมกันได้ยากเหลือเกินในประเทศนี้

หน้ากากประวิตร

ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมเพื่อปกป้องประชาธิปไตยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา พีทผู้ซึ่งปกติไปร่วมชุมนุมทางการเมืองอยู่แล้ว แต่ในวันนั้นเขาไปปรากฏตัวที่นั่นด้วยสิ่งที่แตกต่างจากเดิม

เขาและน้องชายใส่หน้ากากที่ทำขึ้นมาเองโดยเป็นใบหน้าของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมสโลแกนการตอบคำถามต่อผู้ชุมนุมที่เข้ามาทักทายด้วยถ้อยคำชวนขันว่า “ไม่รู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ”

จากวันนั้น หน้ากากประวิตร ก็เริ่มเป็นที่พูดถึง และเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่หลายคนมักหยิบมาบอกเล่าเวลาพูดถึงการใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารเรื่องการเมือง เพราะเหตุนี้เอง เราจึงเดินทางไปสนทนากับพีทถึงบ้านในบ่ายวันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กลายเป็นว่าไม่กี่วันก่อนที่เราจะพบกัน ข่าวการควบคุมตัวศิลปินที่ทำงานศิลปะอย่าง HOCKHACKER แรปเปอร์จากกลุ่ม Rap Against Dictatorship ก็กลายเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมาพอดี

ภายใต้หน้ากากที่พีททำ พีทมองเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นตรงหน้ายังไงบ้าง

คราวนี้ไม่มีคำว่า “ไม่รู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ” อีกแล้ว

แต่เพราะว่าเขา “รู้” ต่างหาก

เขาจึงตอบ

หน้ากากประวิตร

คุณรู้สึกยังไงกับการควบคุมตัว HOCKHACKER เพราะว่ากันตามตรง สิ่งที่เขาทำก็เป็นงานศิลปะเหมือนคุณ

ผมรู้สึกว่าการแสดงออกอะไรก็ตาม ไม่ว่าการพูด การเขียน หรือร้องเพลง คนควรมีอิสระทางการแสดงออก และถ้าอิสระไม่ไปละเมิดสิทธิหรือดูถูกเหยียดหยามใคร ผมว่าควรปล่อยให้ความคิดทั้งหลายกระจายอยู่ทั่วไปในสังคม คนจะได้เอามุมมองเหล่านี้มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจและตรวจสอบว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกหรือเปล่า

สำหรับผม ความขัดแย้งในสังคมมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราคิดของเราอยู่ฝ่ายเดียวมันไม่มีทางหาทางออกได้ เพราะทุกคนก็มีเหตุผลของตัวเองหมด ดังนั้นการปล่อยให้คนได้รับหลายๆ ความคิดเพื่อให้เกิด critical thinking จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าถูกจำกัดเสรีภาพ ผมว่ามันจะไม่นำไปสู่สังคมที่ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา 

 

มันเป็นความรู้สึกแบบไหนเวลาเห็นว่าคนที่ทำงานศิลปะเหมือนเราต้องมาโดนจับแบบนั้น

(นิ่งคิด) มันหลายอารมณ์นะ แต่หลักๆ คือเซ็ง ทำอย่างนี้กันอีกแล้วเหรอ ใช้อำนาจมาควบคุมความคิดคน นี่สมัยไหนแล้ว ทำไมยังเลือกใช้วิธีเดิมอยู่อีก 

ถ้าเรามองภาพรวม ปัญหาทุกปัญหาไม่เคยมีด้านเดียว มันมีความคิดอยู่สองด้านที่ไม่ตรงกันเสมอ แต่วิธีการที่เขาเลือกใช้ตอนนี้ มันคือการที่เขาใช้เหตุผลของฝั่งเดียว เป็นการดำเนินการจากคนฝั่งเดียว ดังนั้นนี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่นี่คือการเอาชนะอีกฝั่งหนึ่ง ปัญหาที่แท้จริงยังอยู่เหมือนเดิม แล้วทำไมไม่คิดที่จะแก้ไข

หน้ากากประวิตร

ตอนที่เห็นข่าวมีคิดบ้างไหมว่าวันหนึ่งเราอาจเป็นหนึ่งคนที่โดนแบบนั้น

ผมไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะมีใครมาหาที่บ้านนะ แต่ถ้าโดนจริงๆ ผมถือว่านี่เป็นการใช้อำนาจเกินสิทธิผมแล้ว เพราะผมตรวจสอบกฎหมายแล้วว่าการแสดงออกแบบนี้ไม่ได้ละเมิดใคร ผมระวังตัวเองแล้ว หรืออย่างการที่ผมไม่ได้ขายหน้ากากแม้มีคนขอซื้อ ก็เพราะผมคิดแล้วว่าอาจมีคนเอาหน้ากากไปใช้ต่อแล้วกระทบคนอื่น 

 

Art is not a Crime 

(พยักหน้า) ถ้าไม่ผิดกฎหมายและไม่ได้ละเมิดใคร ผมเห็นด้วย

หน้ากากประวิตร

แล้วถ้า Art is not a Crime ในความเห็นคุณ ศิลปะคืออะไร

ศิลปะคือการสื่อสาร และมันไม่ได้แบ่งว่าใครใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ใครเสพได้หรือเสพไม่ได้ ผมเลยเลือกใช้ศิลปะเพื่อสื่อสิ่งที่ผมอยากพูดออกไป มันเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถพูดความเห็นของตัวเองออกมาเสียงดังๆ ได้

 

เช่น เรื่องการเมือง

อย่างการเมืองเป็นเรื่องที่ผมสนใจอยู่แล้ว ตั้งแต่เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้วที่ผมเห็นปัญหาและความขัดแย้งมานาน กับเรื่องนี้ คนไม่ค่อยใช้เหตุผลพูดกันแต่ใช้อารมณ์ขับเคลื่อนสังคมมากกว่า ดังนั้นจากการที่เห็นสิ่งนี้มาตลอด ถ้าเกิดผมมีโอกาสแสดงออกความเห็นของตัวเองเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนได้ ผมก็อยากพูดและแสดงความเห็นส่วนตัวออกมาว่าผมคิดยังไง

หน้ากากประวิตร

ทำไมถึงต้องเป็นหน้ากาก

ผมถนัดในงานด้านนี้เพราะได้เรียนมา ผมชอบหน้ากากมาตั้งแต่เด็กแล้วด้วย มันให้ความรู้สึกของการแปลงร่างเป็นอีกคนหนึ่งและเปลี่ยนกลับมาเป็นตัวเองในเวลาแป๊บเดียว ผมเลยตั้งใจว่าจะทำหน้ากากของคนที่เป็นไอค่อนที่คนจำได้เพื่อกระตุ้นให้คนที่เห็นได้คิดอะไรบางอย่าง นี่เป็นคุณค่าที่ผมตั้งใจให้เกิดกับงานศิลปะชิ้นนี้

 

แล้วทำไมถึงเลือกทำ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นคนแรก 

จริงๆ อยากทำหลายคนครับ แต่ที่เลือกทำบิ๊กป้อมก่อนเพราะเขาเป็นเหมือนตัวแทนอำนาจในฝ่ายรัฐบาล เขามีพาวเวอร์มากๆ และผมอยากพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เพราะโดยส่วนตัวผมมองว่าปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นตอนนี้มีตัวแปรหลักอยู่ที่ผู้ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในภาพใหญ่ ซึ่งก็คือผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐบาล พวกเขาสามารถทำให้เรื่องนี้จบได้ ผมเลยสร้างตัวแทนของสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ออกไป

หน้ากากประวิตร

ในมุมมองคุณ ประชาชนทุกคนควรออกมาพูดเรื่องการเมืองไหม

ถ้าเห็นปัญหาแล้ว ผมว่าควร เพราะถ้าไม่พูดมันจะอยู่ที่เดิมและไม่มีใครรับรู้ นี่คือเรื่องปกตินะ แต่ไม่ใช่ว่าถ้าเจอคนไม่พูดก็ไปว่าเขา เพราะการที่คนไม่พูดเราไม่รู้จริงๆ ว่าเขารับรู้ถึงปัญหาหรือยัง เขาอาจไม่ได้คิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาก็ได้ ถ้าเจอแบบนั้นเราต้องใช้เหตุผลมาคุยกันมากกว่า อย่าไปไร้เหตุผลเหมือนกับฝั่งที่เรากำลังว่าอยู่ ดังนั้นเราต้องใช้สติเยอะๆ ในการมองอะไรก็ตาม ยิ่งกับเรื่องนี้ มันละเอียดอ่อน และหลายครั้งอารมณ์พาเราไปไกลเกิน 

 

แต่แสดงว่าคุณก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นปัญหา

(นิ่งคิดนาน) ผมก็มีความเห็นทางการเมืองคล้ายๆ กับคนที่มาแสดงออกช่วงนี้หลายๆ คน ต่อให้ผมไม่ได้ทำงานนี้ จริงๆ ผมก็ไปชุมนุมอยู่แล้ว แต่ก็อย่างที่บอกว่าถ้ามีช่องทางที่ผมสามารถส่งเสียงต่อเรื่องนี้ออกมาได้โดยไม่ได้ไปเพิ่มความรุนแรง ผมก็อยากทำออกมา 

การ ‘ไม่เพิ่มความรุนแรง’ ในความหมายของคุณคือแบบไหน สำคัญยังไง

ช่วงที่ผมเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ๆ เป็นยุคที่ฝักฝ่ายทางการเมืองแบ่งเป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ตอนนั้นไม่มีใครที่สามารถคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือแทบไม่มีใครหยิบยกปัญหามาพูดกันอีกแล้ว มันมีแต่ความอยากเอาชนะทั้งๆ ที่ความขัดแย้งเหล่านั้นแก้ได้โดยหันหน้าเข้าหากัน มันกลายเป็นสงครามที่ประชาชนมาชนกันจนเกิดเป็นความรุนแรง นั่นทำให้ไม่มีใครมีความชอบธรรมในการนำเสนอความคิด ถ้ายกระดับไปถึงขนาดนั้น มันพูดกันยากแล้ว เหตุผลใช้ไม่ได้แล้ว เพราะต่อให้มีฝั่งไหนมีเหตุผล อีกฝั่งก็สามารถบอกได้ว่า ‘คุณไม่มีความชอบธรรมในการพูด จะมาเรียกร้องได้ยังไง’ ซึ่งผมไม่อยากให้สังคมเดินกลับไปจุดนั้น ไม่อยากให้ใครอ้างความรุนแรงเพื่อผลทางการเมือง ไม่อยากให้เกิดซ้ำอีก

 

บางคนอาจแย้งว่าถ้าไม่เข้มใส่ ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดหรือเกิดช้า คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง

จริงๆ แล้วทุกอย่างมีระบบในการถ่วงดุลอำนาจและแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว อย่างประเทศไทยก็ระบบรัฐสภา แต่ (เน้นเสียง) ถ้าเกิดระบบตรงนั้นมีคนมองว่ามีปัญหาจริงๆ ตาชั่งในกระบวนการยุติธรรมไม่ตรง ผมว่าคนก็ควรแสดงเสียงออกมา คุณพูดเสียงดังได้แต่คำถามคือดังระดับไหน อย่างโดยส่วนตัวผม การที่คนทนไม่ไหวแล้วออกมาพูดกันเยอะๆ จนเกิดเป็นเสียงดังและการแสดงพลัง มันดีกว่าการที่คนๆ หนึ่งแสดงออกมาด้วยความรุนแรง

 

แสดงออกอย่างมีอารยะ

ใช่ๆ อยากให้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าโดยที่ทุกคนปลอดภัย ใช้สติเยอะๆ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงและละเมิดใคร 

คือถ้าจะอินเรื่องการเมือง ผมว่าคนไม่ควรอินเรื่องความขัดแย้งน่ะ คนควรอินกับปัญหา การแก้ปัญหาและประวัติศาสตร์การเมืองมากกว่า มันจะได้พุ่งเป้าไปที่แก่น ทีนี้การสู้กันจะเป็นการต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช่การสู้กันโดยพยายามเอาชนะ ผลที่ตามมาคือความคิดจะเปลี่ยนได้ สุดท้ายมันจะดีกับประเทศมากกว่า

แต่ถ้านับจากช่วงที่คุณหันมาอินกับการเมืองมากอย่างตอนเข้ามหาวิทยาลัย จนถึงตอนนี้ผ่านมาสิบปีแล้ว คุณว่าการเมืองของประเทศเราเดินไปสู่สิ่งที่คุณหวังบ้างไหม

ถ้านับเรื่องเหตุผล หลายคนยังคงใช้อารมณ์กันเยอะอยู่ แต่ผมก็เชื่อว่ามันยังเป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้นักเรียนและนักศึกษามีความตื่นตัวทางด้านการเมืองมากขึ้นเยอะถ้าเทียบกับรุ่นผมสมัยก่อน

เรื่องการเมืองที่ผมเรียนมาในสมัยมัธยมฯ มันน้อยมาก เขาแทบไม่สอนความรู้หรือความเข้าใจ แต่เน้นการปลูกฝังความเชื่อ ตำราเรียนก็พูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างผิวเผินมากๆ ไม่ตรงไปตรงมา เหมือนเขาให้เรารู้อยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรศึกษาเพื่อยอมรับความผิดพลาดในอดีตเพื่อที่จะไม่พลาดอีกในอนาคต มันเลยเกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่แบบนี้ แต่ยังดีที่ตอนนี้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอุดมศึกษาเริ่มมีความสนใจมากขึ้น ขวนขวายนอกตำรามากขึ้น ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าทุกคนได้ศึกษาข้อมูลมากขึ้นหรือเปล่า แต่โดยรวมนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถ้าเขาสนใจมันมีโอกาสที่เขาจะได้ฟังข้อมูลมากขึ้นในอนาคต 

คิดยังไงกับที่ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า ‘การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก’

การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน (ตอบทันที) ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่ากันหมด ทุกคนมีสิทธิเลือกและกำหนดชีวิตของตัวเอง การเมืองก็เป็นหนึ่งในมิตินั้น ดังนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะผู้ใหญ่ แต่โอเค ถ้าผู้ใหญ่อ้างเรื่องของวุฒิภาวะ มุมมองและประสบการณ์การเข้าใจโลก เขาอาจมีเหตุผลตรงนั้นในระดับหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่สามารถเหมารวมได้อยู่ดีว่าเด็กไม่มีวุฒิภาวะ ถึงต่อให้เด็กยังมีน้อยแต่วันหนึ่งเดี๋ยวเขาก็ต้องมี แล้วทำไมไม่ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ในวันนี้ล่ะ เด็กต้องเติบโต ดังนั้นจะไปบอกว่า ‘เด็กไม่มีสิทธิยุ่งกับการเมือง’ ไม่ได้

 

แล้วอย่างคุณแม่คุณที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘อยากให้คนรู้จักลูกในแง่ผลงานมากกว่าการเมือง’ คุณรู้สึกยังไง

ผมเข้าใจเขานะ เพราะจริงๆ ผมก็อยากมีชื่อเสียงในแง่งานด้วยนั่นแหละ แต่พอมีจังหวะให้แสดงออกเราก็ต้องพูด เพราะอย่างน้อยผมถือว่าการออกมาแสดงความเห็นแบบนี้ทำให้ผมประสบความสำเร็จในทางรัฐศาสตร์ที่เรียนมา ส่วนกับที่บ้าน สุดท้ายเราก็ไม่ได้มีปัญหากัน เราทำความเข้าใจและคุยกันด้วยเหตุผลได้

 

สุดท้ายตัวคุณเองมองว่าการออกมาพูดถึงปัญหาทางการเมืองคือ ‘หน้าที่’ ไหม

(นิ่งคิดนาน) ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่ของคนที่อยากเห็นประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น 

ก็เพราะผมเห็นว่ามันดีสำหรับประเทศ ผมเลยต้องทำ ผมเลยต้องออกมาพูด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย