Rap Against Dictatorship และเพลงแรป ‘ประเทศกูมี’

ใน a day 217 ฉบับ The Rise of Thai Rap เรามีโอกาสได้สนทนากับกลุ่มแรปเปอร์ชื่อ Rap Against Dictatorship

เวลานั้นพวกเขายังเป็นที่รู้จักในวงแคบในฐานะของกลุ่มแรปเปอร์ที่พูดเรื่องการเมืองเป็นหลัก เราได้สนทนากับสองแรปเปอร์ในกลุ่ม นั่นคือ Liberate P และ HOCKHACKER ถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับเจตนาของเขาในฐานะแรปเปอร์การเมือง หลายคำบอกเล่าและหลายความตั้งใจที่พวกเขาอยากให้เป็นในตอนนั้น มาในตอนนี้ เราอาจจะพอพูดได้ว่ามันประสบความสำเร็จแล้วจากกระแสเพลงล่าสุดที่ถูกพูดถึงทั่วประเทศ ประเทศกูมี

ปัจจุบันท่ามกลางข่าวหนาหูถึงกระแสที่มีทั้งชื่นชมและตีกลับ เราคิดว่าคงเป็นการดีถ้าจะหยิบเอาเจตนารมณ์ตั้งต้นและสิ่งที่พวกเขาเคยพูดกับเรามาบอกต่ออีกครั้ง ตอนนั้น Liberate P และ HOCKHACKER ตอบคำถามเราด้วยคำพูดหนักแน่น หลายๆ ถ้อยคำสะท้อนถึงมุมมองต่อประเทศที่เรากำลังยืนอยู่และสะท้อนกลับไปถึงตัวผลงานของพวกเขาเอง

คำถามที่ว่าประเทศกูมีอะไร คำตอบนั้นเราอาจจะต้องหา

แต่คำถามที่ว่าแล้ว Rap Against Dictatorship มีอะไร

เราคิดว่าพวกเขาตอบแล้วผ่านบทเพลง

rap against dictatorship

Liberate P

Liberate P หรือชื่อเต็มๆ ว่า Liberate The People เริ่มมาจากคนรุ่นใหม่ที่สนใจประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมืองในยุค 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ สาเหตุหนึ่งที่เขาตัดสินใจทำเพลงแรปการเมืองเพราะบ้านเรายังไม่มีแรปที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา มีเพียงแรปที่เลือกพูดเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น

“สิ่งที่บางคนพูดมันผิวมากๆ เปลือกมากๆ เช่น ด่าตำรวจ ด่าพระ ด่านักการเมือง แล้วมองว่ามันเป็นความขบถ แต่เราด่าคนพวกนี้ให้ตายยังไงก็ไม่เคยเข้าไปถึงโครงสร้างทางการเมืองได้เลย มันมาถึงจุดที่เราได้ยินเพลงพวกนี้แล้วรู้สึกรำคาญ มันห่วยแตก เราเลยทำเพลงการเมืองที่เป็นแนวคิดเราออกมา”

rap against dictatorship

สิ่งที่ทำให้ Liberate P ชัดเจนและโดดเด่นในการเป็นแรปเปอร์สายการเมืองคือเนื้อหาที่กล้าพูดถึงผู้มีอำนาจ แต่สิ่งที่ชายหนุ่มคาดหวังมากกว่าความบันเทิงคือมุมมองและวิธีคิดต่อประเด็นทางสังคม เขาคาดหวังว่าคนจะมองปัญหาได้ลึกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ด่าอย่างเดียว  

“หลักๆ เราพูดถึงเรื่องสิทธิมากกว่า ไปในเชิงประเด็นทางสังคม เราเน้นปัญหาที่ว่าเราไม่มีประชาธิปไตย เราอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ เราพยายามจะสร้างความเข้าใจว่าต่อให้รัฐบาลชุดนี้ออกไป ปัญหาก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม อย่างเรื่องนาฬิกาประวิตร คนทั่วไปเขาก็ด่ากัน แต่เราต้องไปให้ไกลกว่านั้นว่าแล้วยังไงต่อ มันไม่ใช่เขาลาออกแล้วปัญหาทุกอย่างจะจบ แต่มันต้องไปให้ถึงโครงสร้างว่าเพราะอะไรถึงมีนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมา เราอยากให้คนฟังต่อยอดเองได้”

rap against dictatorship

แรปเปอร์สายการเมืองบอกกับเราว่า ในยุคที่แรปมาถึงคนผิวสี มันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพูดถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอ ปัญหาของตัวเอง ไปจนถึงปัญหาสังคมและการเมือง ภาพของแรปเลยถูกจำแบบนี้นับตั้งแต่นั้นมา แต่ยังไงก็ตาม แรปยังคงเป็นเพลง และเพลงก็สามารถเข้าถึงผู้คนได้เสมอ

“ตอนไปเล่นสดที่งานหนึ่ง คนที่มาเป็นคนรุ่นป้ารุ่นแม่เยอะ เราเลยกังวลว่าเพลงที่เราแรปมันจะเข้าไม่ถึง แต่พอเล่นจริงแล้วพบว่าพวกเขาชอบ ผลตอบรับดี เราเลยมั่นใจมากขึ้นว่าแรปมันเข้าถึงคนได้หลากหลาย เมื่อเขาเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ

“ปัญหาที่ผู้ใหญ่มองว่าแรปมันดูเด็กๆ เป็นเพราะเนื้อหาที่สื่อออกไปมากกว่า เพลงเข้าถึงคนทุกกลุ่ม แต่คอนเทนต์บางอย่างต่างหากที่เข้าไม่ถึงเลยทำให้คนไม่เข้าใจ”

rap against dictatorship

นอกจากในนาม Liberate P ปัจจุบัน เรายังติดตามผลงานของเขาได้ในโปรเจกต์ที่หลายคนน่าจะรู้จักแล้วอย่าง ‘Rap Against Dictatorship’ (RAD) โปรเจกต์ที่เขาบอกว่า อยากสื่อสารกับชนชั้นกลางด้วยเมสเสจที่ว่าด้วยเรื่องความห่วยแตกของสังคมไทยและอยากจะสร้างพื้นที่ในการแสดงออกว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถพูดได้ ใครๆ ก็แรปเรื่องการเมืองได้

“โปรเจกต์นี้เกิดจากคน 4 คนที่มีเป้าหมายอยากสื่อสารกับชนชั้นกลางให้เห็นปัญหาของประเทศนี้มากขึ้น ให้เห็นว่าปัญหาในประเทศนี้มันคาราคาซังขนาดไหน การไล่ทหารออกไปไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกอย่างจะจบ ประเด็นสำคัญคือไม่ควรเอาทหารเข้ามาแทรกแซงทุกกรณี”

rap against dictatorship

แล้วพอเสี่ยงแบบนี้ เรากลัวบ้างไหม เราเอ่ยถามออกไปด้วยความสงสัย เพราะในสังคมที่พูดอะไรได้น้อยมาก วาจาและไรม์ของเขาช่างขัดกับระบบที่เป็นอยู่เหลือเกิน

“เราต้องรอบคอบ ต้องคิดเยอะๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง ถามว่าเราด่าไปแล้วมันยังไงต่อ จะเกิดผลอะไร เราต้องการอะไร ด่าเพื่อความสะใจ ก็คือได้ความสะใจ แต่มันจะไม่มีอะไรต่อ แต่ถ้าด่าเพื่อให้เขาแก้ไข เราก็ต้องคิดว่าด่าแล้วจะทำยังไงให้เขาอยาก แก้ไขได้ มันมากกว่าการด่า

“ลึกๆ เราก็กลัวแหละ กลัวคนที่บ้านจะโดนไปด้วย ดังนั้นเราต้องคอยเช็กตัวเองตลอด ในโลกออนไลน์มันพอทำได้ แต่ถ้าเราทำในโลกจริงคงโดนร้อยเปอร์เซ็นต์”

rap against dictatorship

HOCKHACKER

เบื้องหน้าของ HOCKHACKER หรือฮอคกี้–เดชาธร บำรุงเมือง คือหนึ่งในทีมงาน RAP IS NOW แต่ในเบื้องลึกเขาเป็นอีกหนึ่งแรปเปอร์ที่กล้าพูดเรื่องการเมือง

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย HOCKHACKER เป็นนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ที่ผ่านประเด็นสังคมมาประมาณหนึ่ง ทั้งเรื่องรับน้องและข่าวสารชาวบ้านในพื้นที่ ประสบการณ์เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อเพลงของเขาจนถึงทุกวันนี้ ยืนยันได้จากเพลง อุดมการณ์ และเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม CITIZEN Mixtape ซึ่งถ่ายทอดปัญหาของคนในสังคมที่มักถูกมองข้าม ผ่านไรม์ที่เต็มไปด้วยความคิดและความรู้สึก

rap against dictatorship

“ผมเคยคิดอยากจะออกไปชุมนุมกับเขาเหมือนกันนะ แต่ไม่ได้ออกไป มีแอบไปตามงานเล็กๆ บ้าง ไปฟังเสวนาบ้าง เพื่อดูบรรยากาศ แต่ผมคิดว่าตัวเองอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี สิ่งที่ผมทำได้ดีกว่าออกไปชุมนุมคือการทำสื่อ ผมไม่สามารถเคลื่อนไหวออกหน้าเป็นแกนนำหรือปราศรัยให้คนเดินตามได้ แต่ผมฟังเพลงแรป งั้นเขียนเพลงแรปก็แล้วกัน

“แรปเป็นเพลงพูด ถ้าเปรียบเทียบเป็นเพลงไทยก็คงเป็นเพลงฉ่อย โดยปกติเพลงพูดจะมีคำพูดหรือเนื้อเพลงมากกว่าเพลงประเภทอื่นๆ อย่างเพลงร็อก เพลงป๊อปก็มีรูปแบบของตัวเองซึ่งสามารถใส่เนื้อหาได้ประมาณหนึ่ง แต่ในเพลงแรป เวิร์สหนึ่งมีตั้ง 32 บาร์ เนื้อหามันมาเป็นหน้ากระดาษเลย มันเหมาะกับการพูดเนื้อหาอยู่แล้ว”

rap against dictatorship

อุดมการณ์ คือเพลงแรปที่ให้กำลังใจนักกิจกรรมทางการเมืองในเหตุการณ์ชุมนุมครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 บทเพลงนี้คือจุดเริ่มต้นในการทำเพลงแรปของเขา รวมทั้งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการพูดถึงสังคมและการเมืองในเพลงของเขา

“จริงๆ ผมก็แต่งแรปไว้บ้าง พอเกิดเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาหน้าหอศิลป์เลยรีบแต่งให้เสร็จ ตอนนั้นผมไม่รู้จักใครเลย ก็ลองทำแบบโง่ๆ เหมือนเด็กหัดทำ

“ผมไม่อยากได้ยินคนพูดว่า ‘อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย’ เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่กำหนดชีวิตและอนาคตของคน ในประเทศ ถ้าคนเกลียดการเมือง ไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง การที่คนทั่วไปสนใจการเมืองและเข้าใจบริบทของการเมืองควรเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากทำให้เกิดขึ้น อย่างน้อยคนควรจะรู้สึกว่าตัวเองสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งหมดนี้ผมไม่กลัว เพราะผมรู้ว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ถูกจับได้ก็โดนปรับ ขำๆ ไป มันเป็นธรรมชาติของสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว มันคือความเป็นคน”

rap against dictatorship

สิ่งที่เขาพูดชวนให้เรานึกถึงท่อนท้ายๆ ของเพลง อุดมการณ์ ที่ว่า

“เราก้าวเดินผ่านเวลาออกตามหาเส้นทาง

ถึงความฝันอาจจะดูเลือนราง

แต่ยังมีความหวังที่สวยงาม

เปิดใจแล้วชักชวนคนที่สวนทาง

ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ต้องผจญ

สองขาก้าวอยู่ในทางที่มืดมน

อุดมการณ์ไม่เคยทอดทิ้งตัวตน

ลุกขึ้นมาเรายืนหยัดแล้วมั่นคง”

rap against dictatorship

AUTHOR