ตอนที่ 1 : อภินิหารศาลยุติธรรม
21 สิงหาคม 2563
บนชั้นสองของโกดังราชวงศ์, เชียงใหม่–ห้องใต้หลังคาแสงสลัว ผนังไม่ได้ฉาบ ไม่มีฝ้าเพดาน ชื้นอับ นกพิราบบินมาเกาะคานเหล็ก นลธวัช มะชัย ชายหนุ่มวัยยี่สิบเศษ–ผิวเข้ม–ผมสั้นเกรียน อยู่ตรงนั้น เขานั่งที่โต๊ะทำงานใต้แสงสีขาวจากโคมไฟตั้งโต๊ะ ใช้ปากกาเขียนถ้อยคำบนกระดาษ เขียนจบ อ่านมัน ก่อนจะขยำกระดาษ โยนเข้าไปยังภาชนะอะคริลิกใสรูปทรงเรขาคณิตคล้ายพีระมิดคว่ำที่ห้อยอยู่เบื้องหน้า จากนั้นเขาลงมือเขียนต่อ–เขียนจบ อ่านมัน ขยำ และขว้างทิ้ง–ทำซ้ำไม่รู้กี่รอบ
อีกมุมหนึ่งของห้อง โปรเจกเตอร์ฉายภาพเคลื่อนไหวลงบนผนัง นลธวัชอยู่ในนั้น ศีรษะโล้นเลี่ยน เปลือยเปล่า ร่างชุ่มไปด้วยของเหลวสีขาวที่บางส่วนเริ่มแห้งกรังผิวหนัง ร่ายรำในห้องที่มลังเมลืองด้วยแสงจากเทียนไขนับสิบ สายสิญจน์ และเครื่องเซ่นไหว้ ภาพเคลื่อนไหวยังมีอีกสามจอ แต่ละจอเผยให้เห็นนลธวัชเปลือยขาวเช่นเดียวกัน หากร่ายรำในพื้นที่แตกต่าง–พิพิธภัณฑ์ศิลปะ, ในวัด, ตลาดนัดไปจนถึงสวนสาธารณะฯลฯ
กลับมาอีกมุมที่นลธวัชตัวเป็นๆ นั่งอยู่–แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ นักแสดงสามคนที่ก่อนหน้าเดินเหินอย่างอิสระอยู่รอบๆ โต๊ะ บัดนี้พวกเขาทยอยกันเปลื้องผ้า หนึ่งในนั้นนำแป้งดินสอพองผสมน้ำ ทาตัวอีกคนจนขาวโพลน ผลัดกันทำจนเหลือคนสุดท้ายที่ซึ่งนลธวัชผละจากงานเขียนบนโต๊ะทำงานมาทาดินสอพองให้ และเขาก็เอาพลาสติกห่ออาหารมาห่อร่างของนักแสดงจนคล้ายมัมมี่ จากที่เคยเคลื่อนไหว ทั้งสามนิ่งค้าง คล้ายถูกแช่แข็งในท่วงท่าพิลึก
และนลธวัชก็กลับไปที่โต๊ะทำงานของเขาต่อ จดจ้อง ครุ่นคิด และขีดเขียน ถึงจุดนี้เราสงสัยว่าเขากำลังเขียนอะไร จึงวิสาสะเดินเข้าไปใกล้ ค้ำหัวของเขา มองลงมา
กระดาษมีตราครุฑประทับหัว มันคือหมายศาล กว่าสองชั่วโมงที่ผ่านมา ศิลปินได้เขียนบทกวีชิ้นแล้วชิ้นเล่าทับลงพวกมัน เขียนเพื่อขยำ ปั้นเป็นก้อน และโยนทิ้ง ก่อนจะหยิบแผ่นใหม่มาเขียน
ตอนที่ 2 : ความทรงจำของกล้ามเนื้อ
21 สิงหาคม 2560
{สามปีก่อนหน้านั้น}
นลธวัชได้รับหมายศาลให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์สามวันก่อนหน้า–18 กรกฎาคม 2560 เขากับกลุ่มเพื่อนรุ่นพี่นักวิชาการอีก 4 คน ร่วมกันชูมือสามนิ้ว พร้อมป้ายข้อความ ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ส่งสารอย่างตรงไปตรงมาถึงนายทหารที่เข้ามาจับตาดูงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่
แน่นอนพวกเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาจ้างทนายเพื่อต่อสู้กันในศาลแขวงเชียงใหม่ เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปีกับอีกเกือบครึ่ง ศาลนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ไปบางส่วนหากยังไม่ทันที่ฝั่งจำเลยจะได้สืบพยานฝั่งตัวเองบ้าง คำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารฉบับใหม่ 22/2561 ก็ออกมายกเลิกข้อกฎหมายที่พวกเขาถูกกล่าวหาก่อนการสืบพยานเพียงวันเดียว ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ศาลอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องนลธวัชและพวก เนื่องจากฐานความผิดถูกยกเลิกแล้ว
“ผมสนใจการเมืองมาตลอด แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจในกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ได้มีส่วนร่วม กระทั่งถึงวันที่ตัวเองต้องสนใจเพราะตกอยู่ในฐานะจำเลย เริ่มต้นจากความคลางแคลงใจในข้อกล่าวหา ซึ่งเรามั่นใจว่าโดยพฤติกรรมแล้ว สิ่งที่เราทำไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่มันไม่ถูกใจคณะรัฐประหารเท่านั้น จนมีโอกาสได้ขึ้นศาลนั่นแหละ บรรยากาศในนั้น ทำให้ผมคิดถึงงานนี้” นลธวัชเล่า
“Poiser เกิดจากห้วงเวลาที่ผมค้นพบความย้อนแย้งในระบบศาลยุติธรรมของไทย เพราะเมื่อเราพูดถึงความยุติธรรม ก็ย่อมคิดถึงหลักเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่ผมพบกลับเป็นความพยายามที่รัฐจะใช้อภินิหารทางกฎหมายเอาผิดผู้ที่เห็นต่าง และเมื่อพิจารณาจากคดีความที่เกี่ยวกับการเมืองก่อนหน้า ก็พบว่าแทนที่ศาลจะเป็นองค์กรอิสระที่ยึดมั่นหลักเหตุผลเพื่อความเท่าเทียมของประชาชน ศาลเป็นเพียงแค่เครื่องมือกำชับอำนาจของ คสช.”
วันเดียวกับที่เขากลับมาจากศาล นลธวัชชวนจักรพันธ์ ศรีวิชัย (ช่างภาพวิดีโอในกลุ่มลานยิ้มการละคร) เปิดสตูดิโอบันทึกงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ ที่เกิดขึ้นในหัวเขาอย่างปัจจุบันทันด่วน เขาคิดถึงละครบูโต (Butoh) ของญี่ปุ่น ตัวละครประแป้งขาวโพลน เปลือยเปล่า และเต้นเร่าในร่างกายอันบิดเบี้ยวผิดมนุษย์–นลธวัชคือศูนย์กลางของการเคลื่อนไหว โดยมีเพื่อนผู้หญิงอีกคนที่ร่ายรำไปกับเขา สัมผัส โอบรัด ไปจนถึงโกนผม ทาแป้งดินสอพองให้เขา และหาพร็อพมาประกอบฉาก อาทิ คานไม้หาบน้ำและถังสเตนเลสสองใบ–ศิลปินหัวโล้นตัวขาว ใช้มันแทนสัญลักษณ์ของตราชั่งตุลาการ
“ในศาล ผมเห็นจินตภาพของความศักดิ์สิทธิ์ที่ค่อยๆ พังทลายลงมา เหมือนการร่วงหล่นหลุดลอกของผิวหนัง เห็นสภาวะที่เจ้าหน้าที่ในนั้นต้องวิ่งชุบตัวกันตลอดเวลา เพื่อคงสถานภาพของความศักดิ์สิทธิ์นั้นไว้” เขากล่าว
จากวิดีโอในตอนแรกนลธวัชทดลองนำ Poiser ไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในวัด, ถนนคนเดินวันอาทิตย์จังหวัดเชียงใหม่, ลานหน้าห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงอย่างเป็นทางการตามกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 2019 ระหว่างนั้นเขาก็ให้จักรพันธ์ตามบันทึกการแสดงตลอด
สามปีนับตั้งแต่เขาถูกหมายศาลเรียกให้มารับฟังข้อกล่าวหา เขากับไกร ศรีดี ในฐานะภัณฑารักษ์คัดสรรวิดีโอดังกล่าวมาจัดแสดงในรูปแบบ video installation ในนิทรรศการ Poiser พร้อมกับงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ การเขียนบทกวีทับหมายศาลเพื่อโยนทิ้งดังที่กล่าวไป
ตอนที่ 3 : คณะละครเร่มืออาชีพของนักศึกษาที่ต่อมาเรียนไม่จบ
นลธวัชเกิดที่อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เรียนโรงเรียนสตรีพัทลุง ตั้งมั่นจะทำงานด้านสื่อมวลชนจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็กที่เห็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ในภาคใต้ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ช่วงรอยต่อระหว่างขึ้นมัธยมปลายนลธวัชมีโอกาสทำกิจกรรมกับกลุ่มดินสอสี (Dinsorsee Creative Group) ติดตามพี่ๆ ทางกลุ่มไปช่วยจัดกิจกรรมรวมถึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้จัดกิจกรรมในจังหวัดพัทลุง เป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มรู้จักกระบวนการสื่อสารผ่านละครเวที
ขึ้นมัธยมปลาย พร้อมไปกับการเกิดรัฐประหารในปี 2557 เขาได้อ่านหนังสือที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอย่าง เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ กับ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนังสือที่มีส่วนทำให้เขาเข้าใจมูลเหตุแห่งความขัดแย้งอันเรื้อรังในประเทศ และเปลี่ยนผ่านเขา จากนักเรียนมัธยมปลายทั่วไป สู่นักเรียนมัธยมปลายที่คิดใช้ศิลปะเป็นสื่อขับเคลื่อนการเมือง จากนั้นชายหนุ่มก็ใช้เวลาช่วงปิดเทอมขึ้นมากรุงเทพฯ เข้า–ออก สถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นว่าเล่น ทั้งในฐานะผู้ฟังงานเสวนา และผู้ช่วยในการจัดกิจกรรม
นลธวัชเป็นคนเรียนเก่ง ตอนอยู่ ม.5 เขาสอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากท้ายที่สุดเขาพบว่าจุฬาฯ ไม่ใช่ทางของเขา ก่อนที่เขาจะสอบติดคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมสอบชิงทุนได้อันดับหนึ่งของคณะ รับเงินสนับสนุนการศึกษาแบบให้เปล่า 50,000 บาทในทุกเทอม นั่นทำให้เขาคิดนำเงินมาต่อยอด เขาขอสนับสนุนเงินจากพี่ชายที่ทำงานบริษัทเอกชนต่างชาติอีก 150,000 บาท เช่าอาคารอยู่ด้านหลัง ม.ช. เพื่อเป็นฐานที่มั่นของคณะละครที่เขาตั้งชื่อว่า ‘ลานยิ้มการละคร’ โดยได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจากท่อนหนึ่งในบทเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ)
“พอเข้าปีหนึ่งผมก็ชวนเพื่อนๆ ทำกิจกรรมเลย ตั้งแต่การต่อต้านการรับน้องใหม่ แล้วก็มีเคสที่ไมตรี จำเริญสุขสกุล (ผู้สื่อข่าวพลเมืองชาวลาหู่) โดนทหารแจ้งความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พอดี ก็เลยทำละครเวทีไปเล่นที่บ้านไมตรี จากนั้นทางกลุ่มก็มีลักษณะคล้ายคณะละครเร่ที่ทำละครการเมืองไปเล่นที่ต่างๆ ทั้งในเชียงใหม่, กรุงเทพฯ, ขอนแก่น และพัทลุง เลยมาเริ่มคิดว่าเราน่าจะทำให้มันเป็นทางการไปเลยนะ ผมก็เลยเอาทุนที่ได้จากคณะมารวมกับทุนจากพี่ชาย ตั้งลานยิ้มการละครขึ้นมา ทำละครเวที งานเพอร์ฟอร์แมนซ์ การทำเวิร์กช็อปทางศิลปะ ไปจนถึงกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ” นลธวัช กล่าว
กลุ่มละครของเขาแสบใช่เล่น–ปี 2561 นลธวัชสะท้อนความพยายามของรัฐบาลเผด็จการทหารในการยัดเยียดร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ด้วยการทำละครเวที ‘ทรงกรวย’ ให้นักแสดงสวมศีรษะด้วยกรวยจราจรร่ายรำภายใต้โจทย์ที่ว่าแต่ละคนเป็นภาพแทนของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมตามมาตราต่างๆ / ปีต่อมา ภายหลังมีการพบศพบิลลี่–พอละจี รักจงเจริญ เป็นเถ้าอยู่ในถังน้ำมันภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นลธวัชบันทึกวิดีโอ ทดลองนำร่างตัวเองไปอยู่ในถังน้ำมันสีแดง และจุดไฟ จำลองชะตากรรมของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยรัฐ / เช่นเดียวกับที่เขาเปลือยร่าง นอนลงไปในแอ่งโคลน และนำเสาปูนยาวหนึ่งเมตรมาทับร่าง จำลองสภาพศพของสามผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกพบริมแม่น้ำโขงเมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ในช่วงที่ชัยภูมิ ป่าแส ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่เชียงใหม่ ลานยิ้มการละครก็เป็นตัวตั้งตัวตีจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เขา ซึ่งก็เคลื่อนไหวหนักเสียจนเจ้าหน้าที่ทหารต่างพากันมาเยือนบ้านของครอบครัวคณะทำงาน บ่อยเสียจนครอบครัวของเขาที่พัทลุงคุ้นชิน
ใช่, และเช่นเดียวกับในขณะนี้ พวกเขาจัดการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในพื้นที่สาธารณะทั่วเชียงใหม่ เป็นแนวร่วมกับม็อบเยาวชนปลดแอกในการวิพากษ์ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเคลื่อนไหวของพวกเขาก็สร้างแรงกระเพื่อมถึงขั้นที่รัฐบาลแจ้งความดำเนินคดีหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม
ทุนการศึกษาเทอมละ 50,000 บาทที่เขาได้รับตอนปีหนึ่ง งอกเงยมาไกลและเฉียบคมจนทุกวันนี้ กระนั้นก็น่าประหลาดใจว่า เมื่อเขารับทุนไปได้แค่สองครั้ง พลันขึ้นปีสองเขาก็กลับปฏิเสธทุน เมื่อเขาพบว่าการศึกษาในระบบไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตเขา ซึ่งคาบเกี่ยวกับที่เขาถูก คสช.สั่งฟ้องจากการไปชูป้ายและปัญหาสุขภาพทางประสาทที่เขาได้ยินเสียงในหูตลอดเวลาเขาจึงหยุดการศึกษาในระบบไว้ที่ปริญญาตรีปีสอง โดยตลอดสามปีล่วงมาถึงปัจจุบันชายหนุ่มหาเลี้ยงชีพจากการเป็นผู้กำกับคณะละครเวที ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ รวมถึงการทำโปรดักชั่นเฮาส์ภายใต้กลุ่มลานยิ้มการละคร
ศิลปะการแสดงคืออาชีพของเขา
ตอนที่ 4 : เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตจะไม่มีพลังเลย หากรัฐไม่หวงอำนาจถึงเพียงนี้
ก่อนงานเปิดนิทรรศการไม่กี่วันผมมีโอกาสได้คุยกับนลธวัชที่สวนอัญญา (เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ) ฐานที่มั่นปัจจุบันของกลุ่มลานยิ้มการละคร ในชุมชนห้วยแก้ว ข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เราคุยกันในห้วงเวลาภายหลังที่กลุ่มนักเรียน–นักศึกษาทั่วประเทศพากันลุกฮือเสนอข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ ก่อนที่รัฐบาลจะไล่จับแกนนำบางคนรายสัปดาห์ / ลานยิ้มการละครเป็นแนวร่วมของกลุ่มนักศึกษา แสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ รอบคูเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่วิธญา คลังนิล สมาชิกในกลุ่ม ถูกหมายเรียกจากรัฐในข้อหา ‘ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใด อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ’ (เขาเป็นคนเดียวที่ถูกเรียกจากศิลปินที่แสดงทั้งหมด 13 คนในวันนั้น) / รัฐบาลกำลังรุกไล่อย่างหนักในการประชาสัมพันธ์สร้างความไม่ชอบธรรมให้กับม็อบนักศึกษา / และไม่กี่วันหลังจากที่เราคุยกันจบ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักที่สุดอย่างเป็นประวัติการณ์ของประเทศ สภากลับอนุมัติให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท
และนี่คือบทสนทนาในวันนั้น
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของงาน Poiser ก่อน คุณบอกว่าเมื่อก่อนแทบไม่ได้สนใจกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา จนกระทั่งมาเจอด้วยตัวเอง กระนั้นคุณคิดบ้างไหมว่างานเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่คุณทำขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ศาลอาจไม่ตรงประเด็นนัก เพราะคนที่ฟ้องร้องดำเนินคดีคุณจริงๆ คือทหาร
จริงอยู่ที่โจทก์ที่ฟ้องพวกเราคือรองแม่ทัพภาคของเชียงใหม่ ศาลเป็นเพียงฝ่ายพิจารณาเพื่อตัดสิน แต่ไม่ว่าเป็นฝ่ายใดฟ้องก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดที่ผมมีต่อสถาบันศาลยุติธรรมในปัจจุบันได้ ดังที่ผมบอกว่าพอเข้าไปขึ้นศาลจริง มันมีบรรยากาศบางอย่างที่ผูกกับสถาบันอื่นๆ ของชาติ หนาแน่นเสียจนผมไม่คิดว่ามันจะเป็นสถาบันยุติธรรมที่ประชาชนทั่วไปสามารถพึ่งพิงได้ ขณะเดียวกันกระบวนการของศาลก็ยืดเยื้อและยืดยาวเสียจนมันมีช่องโหว่ให้เกิดการแทรกแซงดังที่เราเห็นจากคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา
ผมใช้เวลาสู้คดี 1 ปีกับอีก 4 เดือน เพื่อสุดท้ายจะถูกยกฟ้องเพราะหัวหน้า คสช.สั่งยกเลิกกฎหมายชุมนุมเกิน 5 คน ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนธันวาคม 2561 มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีไปแล้ว 6 ปาก ยังเหลืออีก 4 ปาก อย่างที่บอกว่ามันเป็นกระบวนการที่ยาวนานมาก และระหว่างนั้นฝ่ายทหารก็มีความพยายามจะให้พวกเราเซ็น MOU ให้เลิกแสดงความเห็นทางการเมืองเพื่อจะได้ยุติคดีแต่เราก็ปฏิเสธเพราะมั่นใจว่าคดีนี้เราไม่ผิดและจะสู้ให้ถึงที่สุด
ระหว่างซักพยานในศาล มีช่วงหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในงานผมอย่างมาก คือเราถูกฟ้องร้องเพราะชูสามนิ้ว ซึ่งทนายฝ่ายเราก็แย้งไปว่า แต่การชูสามนิ้วมันคือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เป็นคอนเซปต์ของประชาธิปไตย เช่นนั้นแล้วการชูสามนิ้วคือการสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการใช่หรือไม่ ซึ่งฝ่ายเราก็บี้เขาต่อว่าแล้วประชาธิปไตยกับเผด็จการอันไหนดีต่อประชาชนมากกว่ากัน โจทก์ก็ตอบว่าประชาธิปไตย เช่นนั้นแล้วการชูสามนิ้วเพื่อต่อต้านเผด็จการจะเป็นเรื่องผิดหรือรัฐจะมาห้ามไม่ให้ประชาชนทำได้ยังไง
อีกตอนหนึ่ง โจทก์ที่เป็นทหารยืนยันกับศาลว่าที่ต้องดำเนินคดีกับพวกเราเนี่ยเพราะว่าทหารมีหน้าที่ปกป้องความมั่นคงของรัฐบาล ถ้าอะไรที่มากระทบเสถียรภาพของรัฐ เขาจำเป็นต้องจัดการ ทนายความเราก็ถามกลับว่า ถ้าอย่างนั้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทราบมาก่อนไหมว่าจะมีการรัฐประหาร ก็ในเมื่อทหารมีหน้าที่ปกป้องเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งทางนั้นก็จนมุม ระหว่างนี้ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นตลอด ผมจึงพบว่าไม่ใช่แค่ทหารหรอก แต่ตัวศาลเองนี่แหละที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการกำชับอำนาจของรัฐบาลทหาร
ในเมื่อคุณพบว่าเขาน่าจะมีการเอื้อประโยชน์กันอยู่แล้ว คุณมีความมั่นใจได้ยังไงว่าจะชนะคดี
เราไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะชนะคดี แต่เราแค่ยืนยันที่จะสู้คดี เราใช้เวลา 1 เดือนในการเตรียมตัว และตกลงกับทนายความว่าอยากให้มันเป็นคดี เรามองว่านี่จะเป็นคดียุทธศาสตร์ เพราะก่อนหน้านี้คำสั่ง 3/58 (ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน) มันถูกใช้แต่กับชาวบ้านที่ต่างจังหวัดเยอะมาก แต่ไม่เคยถูกใช้ฟ้องร้องนักวิชาการ ถ้าคดีนี้ผ่านไปจนถึงขั้นตัดสินแล้วเนี่ย มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้คดีในประเทศนี้อีกหลายร้อยคดี และเราก็พบว่า คสช.ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดมาก หนึ่งวันก่อนที่เราเบิกพยานฝั่งจำเลย ประยุทธ์ก็สั่งยกเลิกมาตรานี้ไปเลย เพราะในสองวันที่ทนายฝั่งเราสอบทหารมา ยังไงเราก็มั่นใจว่าจะชนะคดี คสช.ก็เลยตัดตอนเพื่อไม่ให้คดีอื่นมีปัญหาไปด้วยเลย
พอเข้าใจว่า ‘ศาล’ เป็นภาพแทนของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมร้อยกับทหารและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคุณก็สร้างงานศิลปะเพื่อวิพากษ์สถาบันเหล่านี้ตลอดมา แต่สนใจว่าคุณมองเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘โรงพยาบาล’ ตรงไหน ที่ทำให้คุณรวมไว้เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการทำงานด้วย
สำนักพระราชวัง, ค่ายทหาร, ศาล และโรงพยาบาล คือสถานที่ที่ผมมองว่าเป็นดินแดนสนธยาของประเทศนี้ เพราะทั้งหมดล้วนเป็นสถานที่ที่ต้องสถาปนาอำนาจที่อยู่เหนือประชาชนตลอดเวลา ในขณะที่สถาบันเหล่านี้ควรจะมีไว้เพื่อรับใช้ประชาชน หากกลายเป็นประชาชนเองที่ต้องหวาดกลัว และไม่กล้าที่จะไปเรียกร้องอะไร
โรงพยาบาลมีอำนาจแบบ top down ครับ ในขณะที่หน้าที่หลักของเขาคือการรักษาพยาบาลคนป่วยแต่ก็กลับมีฟันเฟืองแบบโรงงานและมีความเป็นลำดับชั้นในห้องผ่าตัด หมอพยาบาลและผู้ป่วยล้วนเป็นนักแสดงที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจคนละแบบ ซึ่งแน่นอนทั้งหมดไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน
ขณะเดียวกันประชาชนอย่างเราไม่สามารถต่อรองราคาค่ารักษาหรือค่ายาได้เลย ความที่ผมป่วยบ่อยและต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลมากกว่าปกติผมก็เลยเจอเคสเรื่องอำนาจที่ต่อรองไม่ได้ในนี้เยอะ เคยเจอคนไข้ชาวม้งท่านหนึ่งมารักษาที่โรงพยาบาลรัฐ เขาไม่มีสวัสดิการและถูกเรียกเก็บค่ารักษา 3,000 กว่าบาทแต่ตอนนั้นเขามีเงินติดตัวอยู่ 200 บาท เขาถึงกับต้องกราบคุณหมอเพื่อขอผัดผ่อนออกไปก่อน แต่หมอก็ไม่ยอม ไม่ใช่หมอใจดำ แต่หมอก็ไม่มีอำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นระบบในโรงพยาบาลจึงเป็นระบบเดียวกับทหารและศาลยุติธรรม เป็นระบบราชการที่ดูเหมือนจะเป็นเสาหลักให้ประชาชนแต่กลับกลายเป็นดินแดนสนธยาที่เราไม่อาจเอื้อม
ผมวางแผนในการทำรีเสิร์ชไว้ 12 ปี โดยรีเสิร์ชสถานที่ละ 3 ปี โฟกัสไปที่อำนาจบางอย่างซึ่งมันกระทำกับร่างกายของเรา เช่นที่ผมขึ้นศาลและพัฒนาออกมาเป็นงานที่แสดงถึงร่างกายอันบิดเบี้ยวหรือการโกนหัวในเพอร์ฟอร์แมนซ์ก็เป็นสัญลักษณ์สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของปุถุชนธรรมดา คนที่มีผมอยู่ดีๆ แล้วถูกโกนก็มีแต่ทหาร นักโทษ ดีหน่อยก็เป็นพระ แต่การโกนหัวมันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการทำลายมนุษย์ซึ่งผมมองว่าสถาบันเหล่านี้มันมีอำนาจที่ส่งผลต่อความทรงจำของกล้ามเนื้อ เช่นที่เราเจออาจารย์ปุ๊บเราต้องยกมือไหว้หรือเจอข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนอาจต้องเอามือกุมเป้าโดยอัตโนมัติ
แล้วคุณคิดอย่างไรหากมีคนมองว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตของคุณคือเครื่องมือรับใช้ทางการเมือง
หน้าที่หนึ่งของศิลปะคือการรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองอยู่แล้วครับ เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตมันถูกสร้างขึ้นเป็นศิลปะริมถนนหรือในพื้นที่สาธารณะเพื่อสื่อสารกับผู้คนเรื่องสังคมการเมือง มันสร้างผลกระทบในความรู้สึกร่วมของประชาชน เป็นเครื่องมือสร้างจินตนาการหรือการปลุกระดมก็ว่ากันไป แต่เดิมรัฐไม่เข้าใจสิ่งนี้ เขามองว่าศิลปะประเภทนี้ไร้ความหมายไร้ค่า แต่ทันทีที่มีการประท้วงเกิดขึ้นเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตมันถูกยึดโยงความหมายไปด้วยกัน และนั่นทำให้รัฐเริ่มหวาดกลัวและหาวิธีปิดปากพวกเรา
แต่นั่นล่ะ รัฐก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ นายทหารไม่รู้จะดำเนินคดีคนทำเพอร์ฟอร์แมนซ์ยังไง เพราะมันไม่ได้บอกข้อมูลแบบตรงไปตรงมา เขาไม่สามารถหยุดการทำงานของศิลปะและควบคุมจินตนาการของผู้คนให้ซ้ายหันขวาหันได้ อำนาจจินตนาการมันกลับไปหาคนดู อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐกลัว และเราก็มองเห็นว่ามันเป็นช่องว่างอยู่เหมือนกันเพราะถ้าผู้มีอำนาจไม่ได้หวงอำนาจแบบนี้งานศิลปะก็คงไม่ได้ทำงานแบบนี้
เราพูดกันเสมอว่ากระดาษเปล่าจะไม่กลายเป็นอาวุธ แต่ว่าบรรยากาศของมันทำให้แม้ใครสักคนชูมันขึ้นมาผู้คนก็จะอ่านออกเพราะเข้าใจในบริบท เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตคือเครื่องมือรับใช้การเมืองอย่างชัดเจนเพราะน้ำเสียงหลักของงานนี้มันอยู่ในม็อบ ศิลปะไม่สามารถนำม็อบได้แต่เราเดินทางไปพร้อมกันกับผู้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้
ทำไมจึงเลือกทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตเพื่อสื่อสาร ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงคุณก็เป็นผู้กำกับละครเวที ซึ่งการทำละครเวทีน่าจะเล่าเรื่องให้คนเข้าใจได้ง่ายกว่า
มันเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าโดยเฉพาะการไปแสดงในที่สาธารณะหรือในม็อบ
จริงอยู่ว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์มันต่อต้านการเล่าเรื่อง หรือ narrative ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชมตีความผิดจากประเด็นที่เราตั้งใจนำเสนอไปได้ แต่ก็อย่าลืมว่าประเทศของเรา narrative มันถูกใช้ในสถาบันหลักของชาติมานานมากแล้ว ทั้งชาตินิยม การสำนึกในบุญคุณพระเจ้าแผ่นดิน ขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีความพยายามแย่งชิง narrative ของฝ่ายตรงข้ามมาตลอด อย่างเห็นได้ชัดคือความพยายามลบประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรในปัจจุบัน ไอ้บรรยากาศที่มี narrative แบบนี้ ผมจึงคิดว่าการทำงานศิลปะที่ไม่ต้องใช้ narrative อย่างเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตจึงเป็นศิลปะของการต่อต้านได้ดี
แต่นั่นล่ะ ก็ในเมื่อเพอร์ฟอร์แมนซ์มันไม่มี narrative คุณไม่กลัวว่าคนดูจะเข้าใจสารของคุณผิดหรือ
งานเพอร์ฟอร์แมนซ์มันเดินไปพร้อมกับผู้คน ไปพร้อมกับม็อบ พลาดก็พลาดพร้อมกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน หัวใจสำคัญคือพื้นที่ตีความซึ่งมันเกิดแล้ว อย่างน้อยเราได้คุยกันว่ามันมีมิตินี้ในงานชิ้นนี้ แล้วคิดเห็นกันยังไง จากนั้น narrative มันเกิดขึ้นจากการสนทนา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแต่งแบบละคร มันคือการแลกเปลี่ยนความเห็นกันแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้ โต้แย้งกันได้ และประวัติศาสตร์หลายสิบปีที่ผ่านมามันสะท้อนให้เห็นแล้ว การที่เราโต้แย้งกันนี่แหละที่มันช่วยขยับเพดานทางความคิดของผู้คนให้สูงขึ้น
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ว่าศิลปินผู้บุกเบิกเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตหลายท่านในบ้านเรา แต่ก่อนก็เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน แต่มาตอนหลังบางส่วนก็ไปเข้าร่วมกับ กปปส. จนมาถึงทุกวันนี้ ศิลปินเหล่านั้นกลับเงียบหายไป คุณพอทราบไหมว่าเป็นเพราะอะไร
ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าให้ผมเดาผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะช่วงวัยที่พวกเขาอาจอิ่มตัวแล้วหรือไม่ก็อาจเพราะกลัวพลาด อย่างถ้าเราพูดเรื่องสันติภาพ สิ่งแวดล้อม หรือปัญหาปากท้องชาวบ้าน พูดตอนไหนก็ถูกต้อง แต่กับประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาหรือประเด็นที่คิดไม่ตกอย่างการเมืองหรือการต้องเลือกข้าง ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์รุ่นใหญ่หลายท่านกลับกลายเป็นว่าขอรอให้สถานการณ์นี้ผ่านไปก่อน คลี่คลายยังไงแล้วค่อยว่ากัน
กรณีเสื้อแดงถูกสังหารปี 2553 นี่ชัด พอเห็นว่าเสื้อแดงถูกยิง ก็แปะป้ายให้เขาเป็นควายแดง ผมคิดว่าในทางกลับกัน ถ้าตอนนั้นเสื้อแดงชนะ เราก็อาจเห็นศิลปินเพอร์ฟอร์มถึงชัยชนะของประชาชนก็เป็นได้ ซึ่งศิลปินเหล่านี้เป็นรุ่นพี่เราในวงการทั้งนั้น เป็นอาจารย์ของเราก็ว่าได้ แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าศิลปินรุ่นใหญ่เป็นแบบนี้ทั้งหมด หลายท่านก็ยังคงทำงานเป็นกระบอกเสียงให้คนรุ่นใหม่ เขาไม่กลัวว่าท้ายที่สุดแล้วจะพลาด หรือเราจะแพ้ นี่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเคารพ
แล้วจุดยืนทางการเมืองในปัจจุบันมันเป็นเงื่อนไขในการทำให้ใครสักคนนิยมชมชอบศิลปินสักคนด้วยจริงหรือเปล่า
หากศิลปินทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเมืองหรือเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนในยุคหนึ่ง แต่กลับเลือกที่จะเงียบในอีกยุค ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังทำงานอยู่ มันก็เป็นเหตุผลสำคัญในการที่เราจะเลิกติดตามเขาไม่ใช่หรือครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารมันเปิดกว้างมันเข้าถึงกันได้หมดทั่วโลกแล้ว อยู่ที่ว่าคุณเลือกจะเปิดหูเปิดตารับรู้และทำความเข้าใจมันหรือเปล่า ในท้ายที่สุดผมมาพบว่างานทุกชิ้นที่ทำหรือความพยายามของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมันไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า แต่มันกลับเป็นการต่อสู้กับสิ่งที่คนรุ่นเก่าเชื่อมั่นว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อและต้องการการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมีส่วนทำให้คนรุ่นก่อนหน้ารวมถึงศิลปินรุ่นใหญ่หลายท่านหยุดการคิดเชิงวิพากษ์ไปแล้ว พวกเขากลัวการเปลี่ยนแปลง ซึ่งน่าเศร้าที่พอพวกเขาเอาตัวเองเป็นโจทย์และคิดว่าการเปลี่ยนแปลงกระทบกับคุณ คนรุ่นต่อมาจึงฉิบหายกันหมดเพราะวิธีคิดแบบนี้
แล้วเคยคิดไปถึงวันข้างหน้าบ้างไหม ว่าพอคุณแก่ตัวลง คุณอาจจะเป็นเหมือนศิลปินรุ่นใหญ่ที่คุณวิพากษ์
เอาจริงๆ ผมก็ไม่มั่นใจ ในอนาคตผมอาจเป็นสลิ่มก็ได้ แต่ผมคิดว่าการยึดมั่นในหลักการและไม่สูญเสียมันไปไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดก็เป็นสิ่งยืนยันตัวตนของเรา และจะทำให้เราไม่เหมือนพวกเขา แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นว่าศิลปินรุ่นผมก็ถูกปฏิเสธจากคนรุ่นก่อนหน้าไปแล้วอยู่ดี พวกเขาไม่อยากนับเราว่าเป็นส่วนหนึ่งของวงการด้วยซ้ำ อาจเห็นเป็นมลทิน แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่คิดจะเดินอยู่บนเส้นทางที่พวกเขาปูไว้อยู่แล้ว เราก็หาเส้นทางของเราไปต่อเอง เรายังมีพื้นที่ของเรา มีความคิด มีคนดู และที่สำคัญมีหลักการที่จะช่วยพิสูจน์เส้นทางของเราต่อไปในอนาคต
- Poiser คิวเรตโดย ไกร ศรีดี, ถ่ายภาพโดย จักรพันธ์ ศรีวิชัย จัดแสดงที่โกดังราชวงศ์ (ชั้น 2) ถนนราชวงศ์ เชียงใหม่ ไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
- นิทรรศการจะเริ่มต้นเวลา 15:00 น. โดยมีการเสวนาประเด็นศิลปะระหว่างคิวเรเตอร์และแขกรับเชิญ ก่อนจะมีการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์เวลา 17:00 น. ของทุกวัน (พร้อมกับรับชมวิดีโอบันทึกการแสดงในที่ต่างๆ ของนลธวัช)
- เข้าไปดูรายชื่อของผู้ร่วมเสวนาได้ที่ poiser exhibition by nontawat