คุยกับ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ผู้บอกว่าอารมณ์ขันกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน

Highlights

  • ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ คืออดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักสันติวิธีศึกษาคนนี้เคยถูกหัวเราะใส่ เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนเลือกทำวิจัยเรื่อง 'หัวร่อต่ออำนาจ' สำรวจกรณีตัวอย่างอารมณ์ขันการเมือง และเชื่อมั่นว่าการฟังคำล้อเลียนจะทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น
  • จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแคมเปญต่างๆ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลฟ์ มีมล้อเลียนในโลกออนไลน์ ข้อความเด็ดๆ บนป้ายประท้วง กิจกรรมชวนกันไปชมสวน ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล และกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่ คือตัวอย่างพัฒนาการวิธีการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่หยิบเอาอารมณ์ขันมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ และในอีกแง่มุมหนึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้ก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวัฒนธรรมไปด้วยเช่นกัน
  • เราจึงชวนจันจิรามาพูดคุยถึงการหยิบเอาอารมณ์ขันมาใช้ในมิติของการเมืองและการประท้วง รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ตลอดจนพัฒนาการของมันในสังคมไทย

“เหตุผลที่สนใจเรื่องอารมณ์ขัน เพราะส่วนตัวโตมากับคุณแม่ที่ชอบดูตลกแบบหม่ำ จ๊กมก แต่ที่สนใจกว่าคือในแง่การเมือง เข้าใจว่าตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่กลายมาเป็นหนังสือ ‘หัวร่อต่ออำนาจ’ ตอนนั้นช่วงปี 2552-2553 ก็มีการประท้วงในบ้านเราที่เข้มข้นและตึงเครียด แล้วหลังจากนั้นเริ่มมีรอบการประท้วงหลายรอบขึ้น”

“เราเริ่มเห็นการรีไซเคิลวิธีการประท้วงแบบเดิมๆ คือมีการปราศรัย การกระจายกำลังเดินขบวนปิดถนน ไล่ไปจนถึงยุทธวิธีที่ค่อนข้างมีปัญหาอย่างการปิดสนามบินและการบล็อกโรงพยาบาล แต่ประเด็นคือ ดิฉันรู้สึกว่ามันมีวิธีอื่นไหมที่จะทำให้การประท้วงดำเนินต่อไปได้โดยที่คนไม่โกรธกลับ ไม่ปรี๊ดใส่กัน ไม่มาปราศรัยด่าพ่อล่อแม่กัน”

นี่คือแรงบันดาลใจเบื้องหลังที่ทำให้ ผศ. ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ศึกษาเรื่องนี้

ย้อนกลับไปก่อนหน้า อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักสันติวิธีศึกษาคนนี้เคยถูกหัวเราะใส่ เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนเลือกทำวิจัยเรื่อง ‘หัวร่อต่ออำนาจ’ สำรวจกรณีตัวอย่างอารมณ์ขันการเมือง และเชื่อมั่นว่าการฟังคำล้อเลียนจะทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น โดยเลือกกรณีศึกษาเป็นที่เซอร์เบีย

ปัจจุบันเธออยู่ในเยอรมนีในฐานะนักวิจัยสถาบัน The German Institute for Global and Area Studies (GIGA) ขณะเดียวกันก็เป็นนักวิชาการของสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแคมเปญต่างๆ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ตลอดจนนำไปสู่การประท้วงลงถนนครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้เกิดการชุมนุมเล็กใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ ตามมาเป็นระลอก

มีมล้อเลียนในโลกออนไลน์ ข้อความเด็ดๆ บนป้ายประท้วง กิจกรรมชวนกันไปชมสวน ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล และกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่ คือตัวอย่างพัฒนาการวิธีการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่หยิบเอาอารมณ์ขันมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ และในอีกแง่มุมหนึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวัฒนธรรมไปด้วยเช่นกัน

“เอาจริงอารมณ์ขันนี่การเมืองมากนะ” เสียงของจันจิราที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งบอกเราผ่านการคุยทางโทรศัพท์

อยากให้ช่วยอธิบายถึงอารมณ์ขันในแง่ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น

อันนี้เป็นอีกมิติของอารมณ์ขันที่เราไม่ค่อยนึกถึง เพราะเวลาพูดถึงอารมณ์ขันเรามักจะนึกถึงมันในแง่ของอารมณ์ เช่น การที่เราใช้คำว่ารู้สึกตลก เพลิดเพลิน อารมณ์ดี ซึ่งจริงๆ แล้วในภาษาอังกฤษมีคำที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันค่อนข้างเยอะ ต่างจากภาษาไทยอย่างน่าสนใจ คือมี humor ที่เป็นคำกว้างๆ หมายถึงอารมณ์ขัน, laughter เสียงหัวเราะ, hilariousness ตลกโปกฮา มีคำอย่าง wits ซึ่งไม่มีคำแปลที่ตรงในภาษาไทย และคำอื่นๆ อีก

แต่อีกมิติของอารมณ์ขันคือโลกทัศน์หรือวิธีการมองโลก ยกตัวอย่างมุกตลกที่เรียกว่าเป็น paradoxical (ขัดแย้ง) เช่น มุกในช่วงที่โซเวียตควบคุมยุโรปตะวันออกอยู่ และแผ่อำนาจไปค่อนข้างใหญ่ในช่วงสงครามเย็น มีการถามว่าทุนนิยมคืออะไร คำตอบคือการที่คนกลุ่มหนึ่งเอาเปรียบคนอีกกลุ่ม แล้วคอมมิวนิสต์คืออะไร คำตอบคือการที่คนกลุ่มหลังเอาเปรียบคนกลุ่มแรก (หัวเราะ) ของแบบนี้คือต้องคิดและพลิกวิธีทำความเข้าใจความเป็นจริงบางอย่าง ถึงบอกว่าอารมณ์ขันเป็น perspective 

มีงานวิจัยบอกว่าอารมณ์ขันมี 3 มิติใหญ่ๆ อันแรกคือ ขำคนอื่นแล้วเรารู้สึกดี เป็นการขำที่เรารู้สึกเหนือกว่าคนอื่น ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ ถ้าเป็นตลกบ้านเราคือการขำในความบกพร่องของคนอื่น ขำในความพิการ ความดำ ความหน้าตาน่าเกลียด หรือกระทั่งเหยียดเชื้อชาติด้วยมุกตลก อันนี้เป็นการขำใส่คนอื่น อันที่สอง ขำเพื่อระบายความเครียด รับรู้ทั่วไปว่าเป็น therapy เวลามีเหตุการณ์ตึงเครียดมากๆ อาจมีคนหนึ่งลุกขึ้นมาแล้ว make fun กับเหตุการณ์นั้น จนทำให้บรรยากาศคลี่คลาย เป็นการขำร่วมกันกับคนอื่น อันที่สามขำตัวเองได้ หมายความว่าเวลาที่คนอื่นล้อเรา โดยมากปฏิกิริยาแรกๆ คือโกรธ

ทีนี้มันมีตลกสกุลหนึ่งที่เรียกว่า dark humor หรือตลกร้าย เป็นตลกที่เล่นกับตัวเอง รู้สึกว่าการที่เราขำตัวเองได้แปลว่าอีโก้เรามันถูกเคลื่อนย้ายไประดับหนึ่ง เราเห็นความบกพร่องข้อผิดพลาดของตัวเอง ไม่ได้เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นอีกด้านกับตลกอันแรกที่เราเป็นศูนย์กลาง อันที่สามนี้เราอนุญาตให้คนอื่นขำในความผิดพลาดของเราได้ รู้สึกว่านี่คือปัญญา เป็นมุมมองต่อชีวิตว่าเราไม่ได้เหนือกว่าคนอื่น บางทีถ้าทำอะไรผิดพลาดเราก็อ่อนน้อมถ่อมตนกับชีวิตได้

แล้วอารมณ์ขันกับการเมืองมาเชื่อมโยงกันได้ยังไง

เอาจริงอารมณ์ขันนี่การเมืองมากนะ สำหรับนักรัฐศาสตร์เรียนมาว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ และอำนาจมีหลายแหล่งที่มา บางสำนักอาจบอกว่าอำนาจคือการที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถทำให้คนอีกกลุ่มทำตามคำสั่งของตัวเองได้ เป็นเชิงอำนาจนิยม และแน่นอนว่าเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนทำตามคำสั่งได้คือ การขู่ให้กลัว เพราะความกลัวเป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ 

ความน่าสนใจคือการนำอารมณ์ขันมาจัดการความกลัว พูดให้ง่ายคือเวลาเราขำกับอะไรได้ จริงๆ เราต้องไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันมีอำนาจมากถึงกับทำให้เรากลัวได้ เช่น มุกตลกที่เป็นตลกร้าย โดยมากเป็นการขำกับความตาย ฉะนั้น dark humor ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญมากที่สุดคือกลุ่มชาวยิว กลุ่มที่เป็นเหยื่อ ถูกไล่ล่าสังหารมาตลอดเป็นพันๆ ปี ดังนั้นชาวยิวจะพัฒนาอารมณ์ขันแบบขำกับเรื่องปกติที่หน้าสิ่วหน้าขวาน

เวลาเราบอกผู้มีอำนาจว่าคุณเป็นตัวตลก มีมิติที่ผู้มีอำนาจถูกล้อได้ สิ่งนี้ทำให้อำนาจมันหดลง หรืออย่างน้อยภาพที่เราเห็นจากประยุทธ์ที่น่ากลัวกลายเป็นโดนด่าโดนล้อว่าเป็นไอ้นู่นไอ้นี่ ในแง่นี้การเมืองกับอารมณ์ขันจึงสัมพันธ์กันอย่างมาก

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมหน่อยคือตลกการเมือง ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ถ้ามองในสหรัฐอเมริกาจะมีรายการของ John Oliver หรือ Trevor Noah ที่อาศัยอารมณ์ขันในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะฉะนั้นอารมณ์ขันจัดการกับความกลัวที่มาพร้อมกับการคุกคามของอำนาจได้ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์อำนาจ เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนมีพื้นที่ในการพูดเรื่องที่พูดได้ยาก เพราะฉะนั้นการศึกษาบทบาทของตัวตลกทางการเมืองมันไล่กลับไปที่ยุโรปยุคกลางที่มีสิ่งที่เรียกว่า Jester ถ้าใกล้ๆ บ้านเราหน่อยอาจเรียกว่าศรีธนญชัย ซึ่งเป็นคนที่สามารถด่าเจ้าขุนมูลนายได้ ไม่ไว้หน้าผู้มีอำนาจของสังคม บางครั้งผิดศีลธรรมเลย แต่หลายครั้งก็เป็นการฝ่าเส้นอำนาจนี้

สิ่งที่ตัวตลกเหล่านี้ทำคือการพูดความจริงต่ออำนาจ แต่แทนที่จะพูดในโทนซีเรียสหรือด่าตรงไปตรงมาก็ใช้อารมณ์ขัน ดังนั้นพวกตัวตลกหรือ Jester เหล่านี้คล้ายๆ ว่าผู้มีอำนาจให้สิทธิในการพูดความจริงต่ออำนาจได้ ซึ่งในสังคมต่างๆ ก็อาจมีดีกรีในการที่ผู้มีอำนาจให้สิทธิตัวตลกในการพูดความจริงหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่างกันออกไป ในสังคมประชาธิปไตยอาจมากหน่อย ในสังคมอำนาจนิยมหรือเผด็จการในพม่าก็มีการจับตัวตลก บ้านเราก็มีช่วงที่ไข่แมวถูกพาหายไป ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม แต่กระนั้นก็ดี ตลกกลายเป็นเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจได้

พลวัตอารมณ์กับการเมืองของไทยมีที่มาจากไหน

คนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้อารมณ์ขันในกิจกรรมการประท้วงแบบจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวคือ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ที่มีแกนนำเป็นสมบัติ บุญงามอนงค์ เขามีแบ็กกราวนด์หลายอย่างที่เหมาะกับการออกแบบกิจกรรมแบบนี้ ด้วยความที่เขาเป็นนักแสดงละครมาก่อน และเข้าใจเวทีกับผู้ชม เลยออกแบบกิจกรรมได้น่ารักและขณะเดียวกันก็มีความเป็นการเมือง อย่างการชวนคนแต่งตัวเป็นผีไปเต้นแอโรบิก หรือสมัยที่ กปปส.กลุ่มแรกๆ อย่าง เสธ.อ้ายเริ่มออกมา บอกว่าอยากแช่แข็งประเทศไทย สมบัติก็นำกลุ่มนี้ไปจัดกิจกรรมกูหนาวแล้ว โดยชวนให้ทุกคนใส่เสื้อกันหนาวทั้งที่อากาศร้อนมาก แล้วนั่งรถไฟฟ้าด้วยกันจากจุดหนึ่งไปจบที่กินไอศครีมที่สยามพารากอน เพื่อบอกว่ากูหนาวอยู่แล้ว ของพวกนี้ภาษาไทยใช้คำว่าประชด แต่มันมีความตลกอยู่ด้วย

 

แล้วมันเคลื่อนไหวมายังไง ถึงได้กลายเป็นปรากฏการณ์การประท้วงแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน

ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงถือเป็นเฟสแรก มีการออกไปจากพื้นที่ชุมนุม และค่อยหลบมาบนพื้นที่ออนไลน์ช่วงหลังการยึดอำนาจของ คสช. เราเริ่มเห็นมีมและการล้อผู้มีอำนาจแบบแรงๆ ในพื้นที่ออนไลน์ เพราะมันประท้วงในพื้นที่ออฟไลน์ไม่ได้ แต่ก็มีเล็ดลอดมาให้เห็นอย่างกิจกรรมกินแซนด์วิช ซึ่งไม่ใช่เชิงขำขันแต่เป็นกิจกรรมประชด ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์เราเห็นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยปะทุขึ้นแบบพลิกหลังเท้าเป็นหน้ามือ จากตอนแรกที่ political joke ในเมืองไทยค่อนข้างจำกัด แม้กระทั่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ค่อนข้างแหลมคม มุกตลกประเภทนี้ในบ้านเราก็ยังค่อนข้างจำกัดในพื้นที่สาธารณะและสื่อออนไลน์ แต่ช่วง คสช.คือพวยพุ่ง ทุกคนอัดอั้นเพราะพูดเรื่องที่ธรรมดาที่สุดในพื้นที่ปกติไม่ได้

การทำงานหรือวิธีการจัดการความจริงของ คสช.ก็น่าขำขัน มีเรื่องให้น่าล้อเต็มไปหมด รายการคืนความสุข เวลาที่นายกปาเปลือกกล้วยใส่นักข่าว การที่กองทัพจัดคอนเสิร์ตช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ มีทหารออกมาบอกว่าเรามาคืนความสุขให้ประชาชน หรือกระทั่งเพลงเราจะทำตามสัญญา คนก็เอามาล้อมาแปลงเต็มไปหมด เป็นช่วงที่คนไทยฝึกฝนอารมณ์ขันทางการเมืองแบบจิกกัด

จนมาเฟสที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ มันเริ่มมีการเคลื่อนที่จาก political joke ในโลกออนไลน์มาอยู่บนถนน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการประท้วง และคิดว่าต้องเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เข้าใจและทำได้ เพราะพวกเขาโตมากับช่วง คสช. คนรุ่นดิฉันขึ้นไปออกแบบกิจกรรมแบบที่คนรุ่นใหม่ทำนี่ยาก เพราะว่าไม่คุ้นชิน อย่างคนรุ่นใหม่ที่โตมากับช่วงเวลา 4-5 ปีที่พูดอะไรไม่ได้ ต้องอาศัยช่องทางอื่นในการพูดถึงสิ่งที่พูดถึงไม่ได้ เช่น ช่องทางทางวัฒนธรรม การอาศัยแฮชแท็ก ภาษาที่กำกวม ภาษาที่เป็นการประชดราวกับเห็นด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่เห็นด้วย เราเริ่มเห็นกิจกรรมแบบนี้ในการประท้วง

กิจกรรมชมสวนก็เกิดขึ้นจากการที่ตอนแรกนักศึกษาจัดชุมนุมกันปกติ ไม่ได้มีการใช้อารมณ์ขันอะไร แต่แหล่งที่มาของอารมณ์ขันมาจากการที่ กทม.ไปจัดสวนเพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากตรงนี้เลยกลายเป็นต้นทุนในการใช้อารมณ์ขันในการประท้วง ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามา คิดว่าคนก็ไม่น่าหันมาใช้อารมณ์ขันถี่ๆ แบบที่เราเห็น

การชุมนุมแบบนี้มีประโยชน์จริงไหม นอกจากคนที่เข้ามาจอยด้วย มันมีคนที่น่าจะรู้สึกว่าไร้สาระหรือเปล่า

ตอนที่สอนนักศึกษาเรื่องสันติวิธี มีคาบหนึ่งที่อุทิศให้การประท้วงเชิงสัญลักษณ์และอารมณ์ขันก็อยู่ในนั้น ดิฉันจะบอกเสมอว่าอารมณ์ขันในการประท้วงไม่ใช่ยาวิเศษ มันมีที่ทางของมัน อารมณ์ขันมีประโยชน์อย่างมากเวลาที่คุณไม่มีพื้นที่ในการพูด ซึ่งมันกลับไปที่บทบาทของตัวตลกที่ได้ใบอนุญาตในการวิจารณ์อำนาจราวกับไม่ได้พูดถึงหรือด่าอำนาจนั้นอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นที่ทางของมัน

ในพื้นที่ปิด อารมณ์ขันใช้ในการประท้วงได้ดี หรือเวลาที่คนเบื่อการชุมนุมแบบเดิมๆ การมีม็อบตุ้งติ้งฯ ก็ช่วยให้คนสนใจ เพราะเราเริ่มมีมิติการประท้วงแบบใหม่ คนอาจสนใจเข้าร่วมการประท้วงมากขึ้น หรือหากผู้ชุมนุมอยากเปิดตัวเป็นที่รู้จักกับสาธารณชน การที่คุณจัดม็อบแฮมทาโร่ปุ๊บ สื่อต่างชาติลงสกู๊ปเต็มเลย เพราะแปลกใหม่และเพี้ยนดี นี่คือที่ทางของมัน

แต่ถ้าถามว่าทำอย่างนี้อย่างเดียวได้ไหม ไม่ได้ เพราะการประท้วงมีเครื่องมือหลากหลาย และเอาเข้าจริงการประท้วงไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองทั้งหมด ต้องจัดสับเซตให้ถูก คือเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองด้วยสันติวิธีมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการประท้วงและการประท้วงเองก็แตกย่อยออกมามีวิธีการหลายอย่าง เพราะฉะนั้นคนที่จัดกิจกรรมให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องเข้าใจพลวัตเหล่านี้ และออกแบบกิจกรรมให้เข้ากับบริบท ต้องฟังสาธารณชนบ่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วการประท้วงคือการสื่อสารต่อสาธารณะ ถ้าเราสื่อสารไม่ได้เรื่อง ไม่ตรงกับจริตของสาธารณชน ก็อาจส่งผลต่อความชอบธรรมของขบวนการประท้วง

อารมณ์ขันแบบไหนที่จะช่วยลดทอนความกลัวของคน ทำให้คนกล้าวิพากษ์วิจารณ์อีกฝั่งที่มีอำนาจมากกว่า

มันเป็นศิลป์ ไม่มีหลักตายตัว ต้องเข้าใจว่าอารมณ์ขันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นอารมณ์ขันแบบที่จะเกิดได้ยากในบ้านเราคือ อารมณ์ขันแบบตลกร้าย อาจจะเป็นไปได้ในอนาคต แต่ตอนนี้คนไทยยังไม่พร้อม เช่น การล้อเรื่องความตาย หรือการล้อพระพุทธศาสนา ซึ่งในโลกฝรั่งทำกัน สแตนด์อัพคอมเมดี้เขาล้อพระเจ้า ล้อบาทหลวง ล้อความตาย ล้อพ่อแม่ เรียกง่ายๆ ว่าล้อ authority ที่กำหนดอำนาจในสังคมฝรั่ง คล้ายๆ เวลาใช้อารมณ์ขัน เส้นที่บอกว่ามีผู้มีอำนาจและเราไม่ควรไปแตะมันแทบไม่มี กระนั้นก็ดี ถึงแม้ว่าลำดับขั้นเรื่อง authority ของฝรั่งเบาบางกว่าบ้านเรา แต่ก็จะมีบางเรื่องที่บางสังคมฝรั่งจะไม่ล้อ เช่น สังคมเยอรมันจะไม่ล้อเรื่องนาซีหรือการสังหารหมู่ในพื้นที่สาธารณะ แต่คนอังกฤษเอาเรื่องนี้มาล้อได้เพราะไม่ใช่ประสบการณ์ของเขา เจ้าเขาก็ล้อ ควีนอลิซาเบทถูกล้อทุกวัน พูดได้ว่าเส้นที่บอกว่าคุณไม่ควรข้ามมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม 

ในสังคมไทยเส้นเหล่านี้มันขยับตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ความกลัวอำนาจเริ่มเปลี่ยน จากที่คนเคยกลัวอำนาจบางอย่างตอนนี้กลัวน้อยลง และสามารถใช้อารมณ์ขันในการล้อเลียนอำนาจนั้นได้ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามผลักเส้นนั้น พวก Avant-garde ที่อยากลองซิว่าทำได้ไหม มุกแป้กเลยสำคัญ เพราะเป็นการใช้อารมณ์ขันแบบที่คนอื่นไม่ขำ เรื่องเทคนิคในการเล่าเรื่องตลกก็อันหนึ่ง แต่เรื่องวัฒนธรรมก็สำคัญ ทีนี้คนที่ใช้อารมณ์ขันในการลดทอนอำนาจก็ต้องทดลองเส้นเหล่านี้ว่ามันล้อได้ไหม ถ้าล้อได้แปลว่ามุกไม่แป้ก มีคนแอบขำในใจ แต่ถ้าล้อปั๊บแล้วโดนโจมตีอย่างหนัก อันนี้เริ่มมีปัญหา 

ถ้าเป็นอารมณ์ขันประเภทนั้นในไทยล่ะ

อารมณ์ขันที่ช่วยให้เราก้าวข้ามความกลัวและล้ออำนาจในสังคมไทยตอนนี้ คิดว่าเรากำลังเห็นวิวัฒนาการของอารมณ์ขันแบบเสียดสี และการเสียดสีมันเป็นการปะทะกับอำนาจโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา เป็นการเอาเรื่องที่ผู้มีอำนาจทำผิดพลาดที่น่าโดนด่ามาล้อ ช่วยให้คนที่ล้อซึ่งมีความรู้สึกว่าตนเป็นแค่ประชาชนคนธรรมดา แต่ในสถานการณ์ของการเสียดสีทั้งสองฝั่งมันเท่ากัน ทุกคนถูกด่าได้เท่ากันหมด มันอนุญาตให้ครูบาอาจารย์ถูกด่าได้ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ เพราะฉะนั้นเวลาที่คนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของการเสียดสีอำนาจมันใกล้เคียงกัน 

รูปแบบการเสียดสีเลยเป็นอาวุธทางการเมืองของผู้มีอำนาจน้อยกว่าในสถานการณ์ปกติ เพราะฉะนั้นอันนี้สำคัญ อย่างที่บอกว่าอารมณ์ขันไม่ใช่เป็นอาวุธอย่างเดียว มันเป็นมุมมองวิธีคิดต่อชีวิตต่อสังคมได้ ดิฉันยังไม่ค่อยเห็นอารมณ์ขันแบบ paradoxical หรือ wits ที่ชวนให้เราไตร่ตรองเอากระจกมาส่องตัวเอง มันทำให้คนหันมามองว่าตกลงสิ่งที่แกพูดหมายถึงว่าแกเป็นผู้มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนอื่นจริงๆ เหรอ มุกตลกแบบนี้ค่อนข้างต่างจากการเสียดสี เวลาที่เราล้อคนอื่นนัยอันหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงคือ ไอ้คนล้อรู้สึกว่าฉันถูก มันก็กลับไปที่รูปแบบอารมณ์ขัน 3 อย่าง การเสียดสีคือการหัวเราะผู้มีอำนาจ โดยผู้ด้อยอำนาจรู้สึกว่าตัวเองมีจุดยืนทางศีลธรรมที่ถูกต้อง เรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเท่าเทียม เพื่อสิทธิในการแสดงความเห็น 

บางทีถ้าเราพัฒนา paradoxical joke หรือ wits ได้ อาจทำให้เราเห็นว่าตัวเองไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แม้ว่าเราจะพูดในเรื่องที่เป็นหลักการที่ถูกต้อง อย่างตอนนี้ที่เริ่มเห็นกระแสหนึ่งในทวิตเตอร์ที่ต่อสู้เรื่อง PC กลับไปตามไล่ล่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเอง อันนี้เท่ากับว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นคือเสรีภาพของฉัน ไม่ใช่เสรีภาพของแก เพราะฉะนั้นถ้าขยับไปยัง paradoxical joke ได้ เราจะเห็นตัวเองในมิตินี้มากขึ้น ตกลงว่าพฤติกรรมที่เราทำ การพยายามไปประจาน ดูถูกคนอื่นว่าเป็นสลิ่มโดยที่ยังไม่ได้ฟังสิ่งที่เขาพูดให้ถูกต้องชัดเจน หรือเขาอาจเป็นเฉดเทาๆ ก็อย่าเพิ่งไปแปะป้ายเขา

คุณมีขอบเขตของอารมณ์ขันไหม ว่าตรงไหนควรพอ

เป็น conflict ในใจมาก คิดว่าตลกควรจะกล้าหาญในแง่ที่มันควรล้อทุกคน ปกติชอบดูสแตนด์อัพคอมเมดี้ ตลกที่ชอบมากเป็นแบบ Bill Burr ที่เป็นตลกสาย macho พูดจาด้วยภาษาปิตาธิปไตย ด่าตั้งแต่ผู้หญิง คนแก่ คนพิการ คนเชื้อชาติและสีผิวอื่น ด่าทุกคน รู้สึกว่าหน้าที่ตลกต้องอย่างนี้ ต้องด่าทุกคน นี่เป็นพื้นที่วัฒนธรรม พื้นที่ส่วนตัว ถ้าตลกคนหนึ่งทำ ดิฉันรู้สึกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่อย่างที่บอกไป ว่ามันขึ้นอยู่กับบริบทวัฒนธรรม ส่วนใหญ่ที่ดูเป็นตลกฝรั่ง ซึ่งตลกก็มีหน้าที่ในการข้ามเส้น 

แต่เมื่อมาถึงเรื่องการเมือง อยากให้ความหมายเส้นนั้นเฉพาะในแง่ว่ามันสำคัญเวลาที่เราต้องการขับเคลื่อนทางการเมือง ดังนั้นการต้องการเปลี่ยนแปลงมันจะทำไม่ได้ถ้ามีแค่คนหยิบมือหนึ่งของประเทศและลุกขึ้นมาบอกว่าอยากให้ทุกคนคิดเหมือนฉัน ถ้าเราไม่มีกำลังในการบังคับคนอื่นให้คิดเหมือนเรา หรือไม่สามารถไปนั่งเฝ้ากำกับเขาได้ว่าถ้าไม่คิดเหมือนเราจะถูกลงโทษ หรือเราก็ไม่ได้อยากทำแบบนั้น มันก็ต้องอาศัยการสร้างฉันทามติ ดังนั้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมมันเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่จริงๆ แล้วไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยกับเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขามีเป้าหมายบางอย่างที่อาจไปกับเราได้ อย่างน้อย 40-50 เปอร์เซ็นต์

ยกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรม เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ถ้าแกะกล่องให้ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเอาได้ เราก็อาจต้องพูดถึงเรื่องคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล การที่เราไม่สามารถตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ หรือเรื่องเล็กที่สุดอย่างถนนหน้าบ้านที่ขรุขระแม้จะมีงบมาลง ดังนั้นเวลาใช้ภาษาพวกนี้ เรากำลังเปิดเวทีให้กว้าง ไม่จำเป็นว่าคนจะต้องเห็นด้วยกับเราว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งถูกต้องดีงามในเชิงหลักการหรือศีลธรรม แต่เขาอาจเห็นว่ามันมีประโยชน์กับชีวิตเขา แม้ว่าเขาอาจไม่เห็นด้วยกับสิทธิมนุษยชนก็ได้

อย่างที่บอกว่าการขับเคลื่อนทางการเมืองต้องอาศัยฉันทามติบางอย่างของสังคม การไปเหยียบตีนชาวบ้าน การไปล้อไปเหยียดดูหมิ่นสิ่งที่เขารักอาจเป็นโทษมากกว่าผลดี มันทำให้คนที่อาจจะรู้สึกเห็นด้วยกับเรา 50 เปอร์เซ็นต์ กลับอยากไปเข้ากับอีกฝั่งมากกว่า จริงๆ แล้วการต่อสู้ทางการเมืองมันคือการหาพันธมิตร ทุกครั้งที่คุณทำกิจกรรมอะไรก็ตาม แล้วคุณได้พันธมิตรเพิ่มเป็นความสำเร็จ ทุกครั้งที่คุณทำกิจกรรมแล้วเสียพันธมิตรเป็นความล้มเหลว ดังนั้นถ้าจะใช้อารมณ์ขันในการประท้วงเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องคำนึงถึงของพวกนี้

 

แต่การชุมนุมจะคงไว้แค่รูปแบบเดิมรูปแบบเดียวไม่ได้ มันยึดโยงและเปลี่ยนไปตามยุคสมัยถูกต้องไหม

มองว่ามันเป็นสองวัฒนธรรมการประท้วงที่เริ่มต่างกัน ช่วงปี 2551-2553 และช่วง 2556-2557 เป็นวัฒนธรรมการประท้วงเสื้อเหลืองเสื้อแดง ซึ่งเขาคิดว่าต้องจริงจังซีเรียส และวัฒนธรรมการประท้วงแบบนี้ถ้าไล่ไปสมัยที่ต่อสู้กับเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาชาวบ้าน เรื่องที่ดินทำกิน มันก็ซีเรียส แต่หากถามว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้วไหม คำตอบคือเปลี่ยน แล้วเหตุใดวิธีการประท้วงยังเหมือนเดิม 

ไม่ได้บอกว่าอารมณ์ขันเป็นเรื่องเดียว แต่อยากบอกว่าอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการประท้วงแบบใหม่ในสังคมไทย ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากความขัดแย้งเหลืองแดงก็ดี และพื้นที่การเมืองแบบปิดภายใต้ คสช.ก็ดี เพราะฉะนั้นคนก็ขยับหาพื้นที่ใหม่ๆ ประเด็นหนึ่งที่อาจต้องรำลึกถึง การประท้วงแบบเก่าหรือแบบเหลืองแดงจริงๆ มันสร้างความรู้สึกเหนื่อยหน่ายของคนส่วนใหญ่ ทุกครั้งที่คนออกมาประท้วงแบบปักหลักเต็มท้องถนนมันเต็มไปด้วยความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ และมีแต่การโฆษณาชวนเชื่อของแต่ละฝ่าย คนก็เบื่อหน่าย ไม่อยากร่วมกิจกรรมการประท้วง ถ้าของแบบเก่ามันดีจริง คนต้องไม่เบื่อหน่ายสิ นี่แปลว่าของเก่าไม่เวิร์กแล้ว มันก็ต้องหาที่ทางขยับ คิดว่าการทดลองใช้อารมณ์ขันก็เป็นส่วนหนึ่งของการขยับนี้ ได้ผลไม่ได้ผลก็วัดกันต่อไป

ทำยังไงถึงจะคงไว้ซึ่งพลังของม็อบที่ผ่านๆ มาเพื่อหาคนมาร่วมต่อสู้ไปด้วยได้อย่างยั่งยืน

ดิฉันคิดตามผู้ชุมนุมตลอด หลายอย่างที่ผู้ชุมนุมทำก็ฉลาดกว่าที่คิด แต่สิ่งที่ทำมาแล้วสนับสนุนคือ การไม่ปักหลักม็อบข้ามคืน ไม่ยึดพื้นที่ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนแบบที่เขาอยู่กับม็อบไม่ได้ อย่างที่บอกว่าสังคมไทยผ่านจุดนั้นมาไม่ว่าคนเสื้อสีอะไร ชีวิตมันลำบากนะ และมันเสี่ยงกับการใช้กำลังบนท้องถนนทั้งสองฝ่าย โดยมากมาจากเจ้าหน้าที่แหละ แต่ผู้ชุมนุมที่ปักหลักในที่ประท้วงนานๆ มันเครียด มีการพยายามแหวกวงล้อม และอาจนำไปสู่การใช้กำลังได้ 

คิดว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นคือการทดลองก้าวข้ามอุปสรรคของการประท้วงแบบเก่า และการแฟลชม็อบที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ในแง่แป๊บเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นทุนในการจัดก็น้อยกว่า ไม่ต้องมีเต็นท์ การ์ด และอาหารเลี้ยงคน อีกทั้งคุณไม่รบกวนชีวิตคนส่วนใหญ่ขนาดนั้น ทั้งยังลดความตึงเครียดกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ลดความเสี่ยงมือที่สามในการฉวยโอกาส คิดว่าการทดลองแฟลชม็อบเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และคนรู้สึกเซฟหน่อยในการเข้าชุมนุม ไม่รู้สึกเสียเวลามาก

นอกจากนี้การกระจายของม็อบในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ที่ไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯ ที่เดียวแบบเก่า มันเป็นการกระจายศูนย์กลางสู่การจัดกิจกรรม คิดว่านักศึกษาฉลาดในการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นหลักในการชุมนุม เพราะในทางกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมมันยกเว้นพื้นที่มหาวิทยาลัยให้ไม่ต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วรูปแบบกิจกรรมที่จัดมันไปคล้ายกิจกรรมสันทนาการมหาวิทยาลัย เพราะคุณไม่ควรใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดม็อบแบบเพียวๆ ดังนั้นมันจึงช่วยหลีกเลี่ยงกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมได้ และที่สำคัญก็ช่วยทำให้มหาวิทยาลัยเชื่อมต่อกับชุมชนได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาเสมอไป ได้เห็นชุมชนรอบข้างเข้ามาร่วมกับนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยไทย

ประเด็นสุดท้ายคือการทำให้พื้นที่ชุมนุมมีมิติของความบันเทิงอาจทำให้คนที่ไม่ได้สนใจการเมืองมากๆ อยากเข้าร่วมชุมนุม เพราะมีประเด็นที่อยากรู้ มีประเด็นที่อยากฟัง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ ดังนั้นกิจกรรมกึ่งการเมืองกึ่งสันทนาการเลยเปิดโอกาสให้คนแบบนี้ที่น่าจะมีอยู่เยอะในสังคมไทย

เครดิตภาพ : รวินทร์ สุจฉายา, ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์


ติดตามชมจันจิรา สมบัติพูนศิริ และสปีกเกอร์คนอื่นๆ ภายใต้หัวข้อ ‘ไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่’ ได้ใน TEDxBangkok 2020 “Awake” : Into the New Destination วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคมนี้ เวลา 10:00-15:30 น. ที่ TEDxBangkok

AUTHOR