ชีวิต ความหวัง และโลกหลังความตายในสายตา ‘ไพลิน วีเด็ล’ ผู้กำกับสารคดีว่าด้วยมนุษย์แช่แข็ง Hope Frozen

Highlights

  • Hope Frozen: A Quest to Live Twice คือสารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 19 นาที ผลงานของ ไพลิน วีเด็ล นักข่าวอิสระและคนทำสารคดีที่ไปคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival เมื่อปี 2019 และได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ให้ไปฉายบน Netflix
  • สารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องครอบครัวนักวิทยาศาสตร์ไทยที่สูญเสียลูกสาววัย 2 ขวบไปเพราะโรคมะเร็ง พวกเขาจึงเก็บรักษาสมองของน้องไว้ด้วยการแช่แข็ง (ไครออนิกส์) ด้วยความหวังสุดหัวใจว่าในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีที่ทำให้น้องกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง
  • ไพลินใช้เวลาทำสารคดีเรื่องนี้ 4 ปีเต็ม เมื่อออกฉายก็ได้รับทั้งคำวิจารณ์ในแง่บวกและคำถามวิพากษ์ว่าสิ่งที่ซับเจกต์ของเรื่องทำนั้นขัดต่อหลักการปล่อยวางของชาวพุทธหรือไม่ ไพลินเล่าว่าจุดประสงค์หลักของการทำสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้ชี้นำให้ตัดสินว่าการแช่แข็งมนุษย์นั้นเป็นเรื่องถูกหรือผิด แต่เธออยากกระตุ้นให้คนดูได้ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน
  • เธอยังหวังว่าเมื่อดูจบแล้วคนดูจะได้ครุ่นคิดกับสิ่งที่สำคัญในชีวิตของตัวเองและให้คุณค่ากับสิ่งนั้น

“คุณเชื่อเรื่องผีไหม” ไพลิน วีเด็ล

เราเอ่ยถาม ไพลิน วีเด็ล เล่นๆ หลังสัมภาษณ์เสร็จ หญิงสาววัย 38 ปีผู้เป็นทั้งนักข่าวและคนทำสารคดีนิ่งคิดครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่า

“เราไม่ค่อยเชื่อเพราะเราไม่เคยเจอจริงๆ แต่ถ้าหมายถึงผีในมิติอื่น เช่น ผีคือความทรงจำที่เราปล่อยมือจากมันไม่ได้ หรือคือความรัก ความผูกพันที่มีต่อใครคนหนึ่งจนทำให้เราตัดสินใจทำบางอย่าง แบบนั้นเราเชื่อว่ามีจริงนะ”

ความรักและความผูกพัน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พาไพลินบินกลับมาเมืองไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นไพลินผู้เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เรียนจบสาขาชีววิทยาจาก The University of North Carolina at Chapel Hill รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้สนุกเหมือนที่ฝัน เธอจึงเบนสายมาเป็นช่างภาพข่าวให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ไพลินทำงานนั้นอยู่ 3 ปีครึ่ง จนกระทั่งเห็นข่าวสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สู้ดีในเมืองไทย (ช่วงนั้นสื่อทั่วโลกฉายภาพม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดงกับรถถัง) เธอเริ่มเป็นห่วงครอบครัว สุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายกลับมาเป็นนักข่าวที่บ้านเกิด และไม่คิดย้ายไปไหนอีกนับจากนั้น

ไพลิน วีเด็ล ในคอนโดของเธอ

และอาจเป็นความรักและความผูกพันของครอบครัว ‘เนาวรัตน์พงษ์’ อีกเช่นกันที่จุดประกายให้เธอทำสารคดีเรื่อง Hope Frozen ทั้งที่ไม่เคยจับงานสารคดีมาก่อน แรกเริ่มไพลินต้องการแค่นำเสนอข่าวครอบครัวนักวิทยาศาสตร์ไทยผู้สูญเสีย ‘น้องไอนส์’ ลูกสาววัย 2 ขวบไปเพราะโรคมะเร็ง อาจเพราะเวลาที่มีด้วยกันน้อยเกินไป ความรักในครอบครัวที่มีมากเกินจะตัดใจ หรือเหตุผลอื่นใด พ่อกับแม่ของน้องไอนส์จึงตัดสินใจแช่แข็งส่วนศีรษะกับสมองของลูกไว้ แล้วส่งไปเก็บรักษาอย่างดีที่อเมริกา ด้วยความหวังว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะทำให้เธอกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

หลังจาก 2 ปีครึ่งของการถ่ายทำ 1 ปีในการหาทุน กับอีก 1 ปีในการตัดต่อ Hope Frozen ถูกส่งเข้าประกวดในเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival เทศกาลสารคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของโลกและสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยอดเยี่ยมกลับมาได้เมื่อปีที่แล้ว

สารคดีเรื่องนี้ยังเคยมีสิทธิเข้าชิงรางวัลออสการ์ และล่าสุดเพิ่งออนไลน์ให้คนทั่วโลกรับชมบนแพลตฟอร์ม Netflix เราจึงถือโอกาสนี้คุยกับคนที่รักและผูกพันกับสารคดีเรื่องนี้ที่สุดอย่างไพลิน ว่าด้วยชีวิต ความหวัง และมุมมองที่เธอมีต่อโลกหลังความตาย–โลกที่หลายคนตั้งสันนิษฐานว่ามีจริงหรืออาจไม่มีจริงก็ได้

บางทีในอนาคต ความตายอาจเป็นเรื่องไกลตัวกว่าที่เราเคยคิด

ความหลงใหลในอาชีพช่างภาพข่าวของคุณเริ่มต้นจากไหน

ตอนเด็กๆ เคยดูช่อง National Geographic แล้วใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากศึกษาสิงสาราสัตว์ บวกกับการที่พ่อเราเป็นนักข่าว แม่เป็นอาจารย์ เราไม่อยากเหมือนพ่อกับแม่ก็เลยเลือกเรียนชีวะ แต่พอเรียนจบ กลับมาทำวิจัยที่เขาใหญ่แล้วต้องไปอยู่ป่าคนเดียว เราเหงาว่ะ ความสุขเดียวของเราคือการกลับออกมาเล่าเรื่องราวในป่าให้พ่อแม่กับเพื่อนฟัง ตอนนั้นก็เริ่มรู้ตัวเองว่าสิ่งที่เราอยากเป็นจริงๆ ในวิดีโอของ National Geographic ไม่ใช่นักวิจัย แต่คือคนที่ตามติดไปถ่ายภาพของพวกเขา

โชคดีที่เราเลือกวิชาโทเป็น Photo Journalism หรือการถ่ายภาพข่าว พอเรียนจบเราขอฝึกงานถ่ายภาพที่หนังสือพิมพ์หัวหนึ่งในนอร์ทแคโรไลนา ฝึกได้พักหนึ่งก็ได้เป็นพนักงานประจำ จากถ่ายภาพนิ่งก็เรียนรู้การถ่ายวิดีโอ ได้ออกไปทำข่าวประเภทไฟไหม้ ฆาตกรรม ข่าวทั่วไป มีอยู่วันหนึ่งเราออกไปถ่ายรูปลงคอลัมน์ที่เปิดให้คนในชุมชนบ่นปัญหาที่รัฐบาลไม่จัดการ ปรากฏว่าชาวบ้านร้องเรียนเรื่องรอยร้าวบนถนน เราก็โอเค ถูกสั่งไปถ่ายเราก็ไปถ่าย

แต่พอกลับมาวันนั้น เราดูข่าวช่อง CNN แล้วก็เห็นรถถังในกรุงเทพฯ ช่วงที่กำลังมีม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เราก็ถามตัวเองว่ามาอยู่อเมริกาทำไม กลับบ้านดีกว่าไหม ที่นี่ปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือรอยร้าวบนถนน แต่ที่เมืองไทยมีข่าวใหญ่ที่น่าสนใจให้ทำกว่าตั้งเยอะ ก็ตัดสินใจย้ายกลับมาพร้อมสามีชาวอเมริกัน

 

มองย้อนกลับไปตอนนั้น สถานการณ์บ้านเมืองมันค่อนข้างดุเดือด ทั้งๆ ที่คนไทยหลายคนอยากออกนอกประเทศ ทำไมคุณถึงเลือกกลับมา

พอเราเป็นนักข่าว หน้าที่ของเราคือการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศแล้วนำเสนอออกไป เราคิดว่าเรานำเสนอเรื่องในไทยได้ดีกว่าคนนอกประเทศเพราะเราเป็นคนไทย ประจวบกับตอนนั้นคุณแม่ของเราป่วยเป็นมะเร็งในอกขั้นแรก เราก็ต้องกลับมาดูแล

ไพลิน วีเด็ล

หลังจากกลับมาแล้วเกิดอะไรขึ้น

ปีแรกก็ทำงานอิสระ ส่งงานให้เมืองนอก หลังจากนั้นสำนักงานข่าว AP เขาให้ไปสมัครงานเป็น Interactive Producer ทำข่าวอินเตอร์แอ็กทีฟบนเว็บไซต์ เราทำอยู่ 3 ปี ก่อนจะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์อีกครั้งเพราะไม่ชอบอยู่ออฟฟิศ เราจะเป็นพวกสายลุยเองมากกว่า จนถึงทุกวันนี้ก็ยังถ่ายภาพข่าวและวิดีโอสารคดีขนาดสั้น โดยเน้นเนื้อหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ ลูกค้าเจ้าประจำก็จะเป็น Al Jazeera มี National Geographic, The New York Times, The Wall Street Journal บางครั้งบางคราว ล่าสุดก็ The Washington Post

 

ไม่ได้อยู่เมืองไทยมาเกือบ 8 ปี กลับมาแล้วคุณเจอ culture shock ใหม่ๆ บ้างไหม

น่าจะเป็นเรื่องการทำงาน เราช็อกกับการทำงานของช่างภาพไทยที่บอกให้ซับเจกต์ทำโน่นทำนี่เพื่อจะได้ภาพที่เพอร์เฟกต์ สมมติตอนน้ำท่วม มีนักข่าวไทยสั่งให้ผู้ประสบภัยไปยืนในน้ำ ซึ่งปกติเขาไม่ได้ลุยน้ำแบบนั้น เราสงสัยว่าเมกได้ด้วยเหรอ มันรับได้เหรอ เพราะที่อเมริกาถ้าเราให้ใครเมกเราถูกไล่ออกเลยนะ คือมันเป็นสิ่งที่ซีเรียสมากๆ เพราะคนอ่านเขาจะคาดหวังให้ข่าวต้องนำเสนอตามความจริงสุดๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องยึดตามจริง

 

อึดอัดไหมกับการเห็นความจริงถูกบิดให้เพี้ยนไป

อึดอัดนิดหนึ่ง แต่ก็เข้าใจว่ามุมมองของคนอ่านไม่เหมือนกัน ที่อเมริกาคนอ่านหนังสือพิมพ์แล้วคาดหวังความจริง แต่คนไทยอ่านหนังสือพิมพ์แล้วอาจรู้อยู่ว่ามันมีการเมกอยู่ ก็โอเค ไม่เป็นไร เราจะไปดูถูกว่าคนไทยทำผิดมันไม่ใช่ แค่ความต่างที่เราไม่ชิน แต่ทุกวันนี้เราก็ยึดจรรยาบรรณของเมืองนอกเอาไว้นะ เพราะเราทำข่าวส่งให้เมืองนอกหมดเลย

 ไพลิน วีเด็ล และกล้องที่เธอใช้ถ่ายทำข่าว

รู้มาว่าจุดเริ่มต้นของ Hope Frozen ก็มาจากการทำข่าว

สามีของเราก็เป็นนักข่าว แต่เขาเป็นสายเขียน ราวปี 2558 เขาไปเจอข่าวว่าครอบครัวคนไทยทำ ‘มนุษย์แช่แข็ง’ อายุน้อยที่สุดในโลกเลยชวนเราไปสัมภาษณ์ด้วย เนื้อความประมาณว่า ‘น้องไอนส์’ ลูกสาวอายุสองขวบของบ้านเสียด้วยโรคมะเร็งสมอง พ่อแม่เลยนำส่วนศีรษะกับสมองของลูกเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่าไครออนิกส์ เพื่อรอว่าวันใดวันหนึ่งในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง

ตอนแรกเรานึกว่าจะสัมภาษณ์ 10-15 นาที กลับกลายเป็นว่าคุยกันนาน เพราะยิ่งคุยยิ่งมีประเด็นคำถามเกิดขึ้นเต็มไปหมด แค่ 15-20 นาทีก็ถามไม่ครบ นั่งคุยกันเป็นชั่วโมงก็ไม่ครบ จน 2 ปีครึ่งถึงจะหมดคำถาม

 

ครอบครัว ‘เนาวรัตน์พงษ์’ มีอะไรที่ทำให้คุณเกิดความสงสัยมากขนาดนั้น

ก่อนไปหาเขาเรามีความคิดเหมือนคนทั่วไปตอนเห็นข่าว คือสงสัยว่าครอบครัวนี้เขารู้จริงๆ ไหมนะว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เขารู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากน้อยขนาดไหน เขารู้ใช่ไหมว่ายังไม่มีอะไรพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาทำมันจะได้ผล พอไปเจอตัวจริงปั๊บ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็จบปริญญาเอก ทั้งครอบครัวใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา แทบทุกคนมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากๆ ทำให้เรามั่นใจว่าเขารู้พอตัวแล้วว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่เขาก็ยังมีความหวัง

สิ่งที่เขาพูดโดนใจเราหลายประเด็น ทั้งเรื่องปรัชญา ความเป็น ความตาย ความรักที่มีให้ลูก การตั้งคำถามว่านักวิทยาศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงความหมายของความตายยังไง หน้าที่ของพ่อแม่คืออะไร ความรักของพี่ชายที่มีต่อน้องสาวควรมีขอบเขตไหม การที่ครอบครัวนี้คิดประเด็นเหล่านี้ได้ทำให้เรารู้สึกเหมือนเขามาจากอนาคต เพราะความจริงแล้วหลายประเทศก็กำลังลงทุนในเทคโนโลยีที่เรียกว่า Radical Life Extension คือการทำให้คนมีชีวิตอยู่ยืนกว่าเดิม การแช่แข็งก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เปลี่ยนความหมายของความตาย หรือทำให้ความตายอยู่ไกลกว่าที่เราประสบอยู่ตอนนี้ ซึ่งมันอาจจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็ได้ มันเลยกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ สำหรับเรา

ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์

ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์

เพราะตอนเด็กฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยหรือเปล่าถึงสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

มีส่วน เพราะถึงแม้เราจะไม่ได้อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วแต่สิ่งที่ยังอยู่กับเราคือความอยากรู้อยากเห็นในทางนี้

 

ที่บอกว่าครอบครัวนี้ใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาทุกเรื่องในชีวิต ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยได้ไหม

สมมติมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างในบ้านมียุงเยอะเขาก็ประดิษฐ์เครื่องดักยุงขึ้นมา หรือน้องแมทริกซ์ ลูกชายคนโตเคยเป็นลูกคนเดียว ตอนเด็กเขายังไม่มีเพื่อนที่จะมาเล่นปิงปองด้วย เขาก็เลยสร้างหุ่นยนต์มาเล่นปิงปองกับลูก

 

เชื่อแล้วว่าครอบครัวนักวิทย์ฯ จริงๆ

ใช่ เขาจะอินกับวิทยาศาสตร์มากๆ เลย และเป็นสิ่งที่น่ารักมาก เราไม่เคยเจอครอบครัวที่อินกับวิทยาศาสตร์ขนาดนี้

ในการแช่แข็งน้องไอนส์ต้องใช้กระบวนการไครออนิกส์ คอนเซปต์ของกระบวนการนี้เป็นยังไง

มันคือกระบวนการที่บริษัท Alcor จากอเมริกาใช้ความเย็นมารักษาสมองหรือร่างกายของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าเทคโนโลยีก้าวไปไกลพอก็สามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ฟื้นแบบซอมบี้นะ แต่มันเป็นการเก็บรักษาเซลล์และข้อมูลที่อยู่ในสมองเพื่อรองรับการรื้อฟื้นซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันอาจจะเป็นการรื้อฟื้นในระบบ cloud หรือรื้อฟื้นในมนุษย์ในอนาคตที่ไม่ได้เป็นเหมือนมนุษย์ที่เรารู้จักกันในวันนี้

 

คล้าย AI

อาจเป็นมนุษย์ที่สังเคราะห์ขึ้นมา หุ่นยนต์ก็ไม่ใช่ คำว่า AI น่าจะใกล้ที่สุด

 

กับคนที่ตามติดชีวิตพวกเขามา 2 ปีครึ่งและอาจจะมากกว่านั้น คุณเห็นด้วยกับการทำไครออนิกส์ไหม

เราไม่มีลูก เพราะฉะนั้นเราจะตอบไม่ได้เลยว่าถ้าลูกเราเสียชีวิตตอนเพิ่งอายุได้แค่สองขวบเราจะทำยังไง เพราะเหตุผลนี้เราจึงพยายามถ่ายทอดมุมมองของครอบครัวนี้แบบไม่วิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอให้ตรงความจริงที่สุด ชูการตั้งคำถามให้คนดูคิดเองว่าความเป็นความตายคืออะไร ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกควรเป็นยังไง เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเราเห็นด้วยไหม เราตอบไม่ได้เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์เหมือนเขา แต่ถ้าถามว่าเราอยากแช่แข็งตัวเองไหม เราก็คงตอบว่าไม่ เพราะเราคิดว่าตัวเองไม่ได้สำคัญมากพอ แต่มันคนละคำถามกันเลย การแช่แข็งตัวเองกับการตัดสินใจให้โอกาสลูก มันไม่ใช่การตัดสินใจที่คล้ายกันสักนิด

 

แต่จริงๆ ถึงตัวเราอาจจะคิดว่าเราไม่สำคัญพอ แต่คนที่รักเราเขาอาจจะคิดอีกแบบหนึ่งได้หรือเปล่า

ใช่ ซึ่งก็ต้องถามสามีเราว่าเขาอยากให้เราแช่แข็งหรือเปล่า (ยิ้ม)

 

ในทางกลับกัน ถ้าคุณเจอสถานการณ์เหมือนคนในครอบครัวนี้ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป คุณจะทำเหมือนพวกเขาไหม

คนที่เรารักส่วนมากเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราให้เขาตัดสินใจเองดีกว่า

ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์

ดูเหมือนครอบครัวนี้จะอยู่ได้ด้วยความหวัง หลังจากถ่ายจบ พวกเขามีการเปลี่ยนมุมมองของคุณที่มีต่อเรื่องความหวังบ้างไหม

ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เราคิดว่าสิ่งที่เปลี่ยนมากที่สุดคือความคิดในการไม่ตัดสินคน ตอนนี้ในโลกมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกพรรคพวก มองว่าคนที่คิดไม่เหมือนเราเป็นคนร้าย เป็นคนที่ไม่มีศีลธรรม หรือไม่เท่าเทียมกับเรา เราก็อยากทำสารคดีให้ทุกคนเข้าใจว่า ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับคนในจอทีวีหรือคนที่คิดต่างจากเรา แต่เราก็สามารถเข้าใจเขาได้ เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรารักลูกเหมือนกัน เราตั้งคำถามกับความเป็นความตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

 

พูดถึงคนไม่เห็นด้วย แน่นอนว่าการทำสารคดีที่แตะประเด็นศีลธรรมต้องมีคนตั้งคำถามว่าการกระทำของครอบครัวนี้คือการหักล้างความเชื่อเรื่องการปล่อยวางตามศาสนาพุทธหรือเปล่า คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เรื่องนี้ ดร.สหธรณ์ (พ่อของน้องไอนส์) เคยถูกถามในรายการสัมภาษณ์หนึ่งว่าเขาไม่ปล่อยวางหรือเปล่า เขาตอบว่า ‘ผมทราบ ผมทราบว่าผมตัดใจไม่ได้’ หมายความว่าเขารู้จักตัวเอง เขาไม่ได้ปฏิเสธ เพราะทั้ง ดร.สหธรณ์และภรรยาก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาทราบว่าน้องเสียแล้วทั้งทางกฎหมายและทางการแพทย์ เพียงแต่สิ่งที่เขาเลือกทำคือการบอกตัวเองและครอบครัวว่า ‘อย่าคิดว่าน้องเสียไปแล้วนะ แค่ยากที่จะได้เจอกันอีก’

เราคิดว่าชาวพุทธทุกคนก็ไม่ได้ประพฤติตัวตามคำสั่งสอนของศาสนาครบทุกข้อแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกเวลา เพราะฉะนั้นทำไมต้องวิพากษ์วิจารณ์ถึงขนาดนี้ เราอยู่กับเขามาหลายปี เรายังไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกสูญเสียของพวกเขาได้จริงๆ เลย และอันที่จริง สิ่งที่เกิดกับครอบครัวนี้คือเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตของทุกคน คุณแค่ไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง

รางวัล Hot Docs ของ ไพลิน วีเด็ล

สารคดีเรื่องนี้ได้รางวัลชนะเลิศจากเทศกาล Hot Docs เคยมีสิทธิได้เข้าชิงออสการ์ จนตอนนี้ก็ได้ฉายในเน็ตฟลิกซ์ เอาจริงๆ คุณคาดหวังไหมว่ามันจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้

โห ไม่เลย ทุกอย่างเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เราเริ่มทำจากการคิดว่ามันเป็นสารคดีสั้นส่งให้ลูกค้าประจำ ถ่ายไปถ่ายมาก็มีประเด็นเพิ่มจนกลายเป็น feature length ความยาวกว่า 60 นาทีที่ต้องขอทุน ซึ่งขั้นตอนการขอทุนเป็นสิ่งที่ยากมาก เราเขียนสมัครไป 12-14 ทุน เข้าไปถึงรอบสุดท้าย 6-7 ทุน มาได้จริงๆ ก็ทุนสุดท้าย คิดดูสิว่าเราลงทุนเองมาสองปีแล้วเพิ่งมาได้ มันมหัศจรรย์มาก

เมื่อมีทุนตัวแรกนักลงทุนก็เริ่มไว้ใจ ตัวที่สองก็ตามเข้ามา พอตัดต่อไปส่งตามเทศกาลต่างๆ เราก็สมัครพวก Sundance หรือ Tribeca อะไรใหญ่ๆ หมดเลยแต่ไม่ได้สักที่ จนถึง Hot Docs ซึ่งเป็นเทศกาลสุดท้าย เขาก็ติดต่อมาบอกว่าได้เข้ารอบ เราดีใจมากที่ไป World Premiere ที่โทรอนโท แคนาดา แต่พอไปถึงเขาบอกว่าเรื่องของเราไม่ได้อยู่ในเซกชั่นแข่งขันแต่อยู่ในเซกชั่นโชว์เคสให้คนดูว่ามันน่าสนใจเฉยๆ เราก็เสียใจนิดหนึ่ง

เรื่องเซอร์ไพรส์คืออีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ก่อนแข่ง เขาอีเมลมาบอกว่าเปลี่ยนใจ ตกลงให้อยู่ในเซกชั่นแข่งขันได้ เรารู้สึกโชคดีมาก ตอนฉายรอบพรีเมียร์ทุกอย่างราบรื่น คนมาดูเยอะ รีวิวออกมาดีหมดเลย แล้วพอเกือบวันสุดท้ายก่อนพิธีรับรางวัล จริงๆ เราต้องเช็กเอาต์จากโรงแรมแล้วเพราะเราไม่คิดว่าจะได้รางวัลอะไร เนื่องจากสารคดีในสายแข่งขันเดียวกันมีเนื้อหาหนักๆ อย่างความเป็นอยู่ซีเรีย หรือผู้อพยพ ปรากฏว่าทีมงานส่งอีเมลมาขอให้อยู่ต่ออีก 2 วันได้ไหม เดี๋ยวเขาจะออกค่าโรงแรมให้

ไพลิน วีเด็ล ขึ้นรับรางวัล

เราก็รู้เลยว่าจะได้รางวัลแน่ๆ อาจจะเป็นรางวัลผู้กำกับใหม่ หรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ พอถึงงานจริงเราก็ไปนั่งฟัง เห็นคนเดินขึ้นไปรับแล้วสงสัยว่าเมื่อไหร่จะถึงตาเรา รางวัลผู้กำกับใหม่ก็ไม่ใช่เรา รางวัล special mention ก็ไม่ใช่เรา เราก็ เฮ้ย เขาส่งอีเมลมาผิดคนหรือเปล่า แล้วพอถึงรางวัลสุดท้ายเขาเรียกชื่อ ไพลิน วีเด็ล ขึ้นไป เราอึ้งมากเลยเพราะนึกไม่ถึงว่าเรื่องของเราจะได้รางวัล มันไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ๆ ของโลกเลย แค่เกี่ยวกับครอบครัวไทยครอบครัวหนึ่งที่รักลูกเขามาก

พอเดินขึ้นไป เราเกือบทำรางวัลตกเวที เพราะเขาเซอร์ไพรส์เราว่านี่เป็นปีแรกที่คนชนะรางวัลนี้จะมีสิทธิเข้าชิงออสการ์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นึกไม่ถึงจริงๆ ได้ทุน ได้ถ่าย ได้รับรางวัล ไม่ได้คาดหวังเลยแต่ละอย่าง

 

ว่าแต่เรื่องนี้ไปเข้าตา Netflix จนกลายเป็นสารคดี Netflix Original เรื่องที่ 2 จากไทยได้ยังไง

เขาติดต่อมาตอนเราชนะรางวัล Hot Docs นี่แหละ จริงๆ เขาจับตาดูเรื่องของเราตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่หลายปีก่อนเน็ตฟลิกซ์ยังเปิดใหม่ ยังไม่มีออฟฟิศในเอเชีย เรื่องที่เขาซื้อมาก็เน้นจากทางอเมริกา แต่พอผ่านมาช่วงหนึ่งเขาก็มีกลยุทธ์ที่จะมาขยายตลาดในเอเชีย พอเราชนะ Hot Docs ปั๊บ เขาก็เริ่มเจรจาอย่างจริงจัง

 

เขาเคยบอกเราไหมว่าสนใจอะไรใน Hope Frozen

เขามักจะหาเรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในท้องถิ่นเมืองไทย แต่เหมือนมีธีมที่สามารถสะกิดใจคนต่างชาติได้ด้วย

 

เรื่องความรักและครอบครัวในเรื่องก็เป็นประเด็นสากล

มันยูนิเวอร์แซล เขาอยากหาเรื่องที่สามารถกระตุ้นให้คนมีบทสนทนาต่อ และคิดว่าเขาจะชอบเรื่องที่ชนะรางวัล

ทราบมาว่าเวอร์ชั่นที่ลงในเน็ตฟลิกซ์ก็ไม่เหมือนกับเวอร์ชั่นที่ฉายก่อนหน้านี้

พอเราได้ทุนเพิ่มจากเน็ตฟลิกซ์เขาก็สนับสนุนให้เราทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ พอดีทางครอบครัวก็จะมีฟุตเทจในมือถือที่เก็บไว้ เราจึงมานั่งดูกับพี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล ผู้ตัดต่อ Hope Frozen เวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์) แล้วมีความคิดในการร้อยเรียงเรื่องเพิ่มความน่าสนใจ นอกจากฟุตเทจก็มีสัมภาษณ์เพิ่ม และมีฉากเพิ่มขึ้นอีกสองฉากด้วย

 

การทำงานกับลี ชาตะเมธีกุล เป็นยังไงบ้าง

เขาก็เป็นเซียนของวงการตัดต่ออยู่แล้ว ก่อนได้พี่ลีมา เราคุยกับเน็ตฟลิกซ์ว่าสิ่งที่เราไม่อยากให้หลุดหายไปคือความเป็นไทย ถ้ายูจะซื้อเรื่องนี้ เราขอคนตัดต่อเป็นคนไทยได้ไหม เขาก็บอกว่าได้ ยินดี เขาก็อยากรักษาความเป็นไทยเหมือนกัน เรานึกถึงคนที่เติบโตในเมืองไทยและเข้าใจความคิดของคนดูที่เป็นคนนานาชาติ ซึ่งพี่ลีก็ได้ทั้งสองอย่าง เราดีใจมากๆ ที่พี่ลียินดีช่วยเรา

 

คุณให้สัมภาษณ์มาเยอะเกี่ยวกับสารคดีเรื่องนี้ อยากรู้ว่าสิ่งที่คนอื่นไม่เคยรู้เกี่ยวกับ Hope Frozen คืออะไร

จำได้ว่าครั้งแรกที่เราได้รับทุน มีการแถลงข่าวในเมืองไทยเล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นมีนักข่าวคนหนึ่งเขาดูตัวอย่างแล้วไม่เก็ตว่าเป็นสารคดี โอ้โห เหมือนจริงมากเลยพี่ พี่ทำยังไงให้นักแสดงแสดงอารมณ์ได้ถึงขนาดนี้ เราก็อธิบายว่าพวกเขาไม่ใช่นักแสดงนะ เราไปถ่ายชีวิตจริงของเขา คือตอนประมาณ 3-4 ปีก่อนคนยังไม่เก็ตว่าสารคดีสามารถมีฟีลลิ่ง มีการเข้าถึงอารมณ์ที่คล้ายๆ กับหนังทั่วไป พอคนคิดถึงสารคดี เขาอาจคิดถึงสารคดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สิงห์สาราสัตว์ แต่สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้ให้ความรู้แบบนั้น แต่เน้นเรื่องความรู้สึกและการให้ความเข้าใจ

หลายคนอาจคิดว่า สารคดีน่าเบื่อ ดูยาก แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ เรื่องนี้มีพระเอก มีการดำเนินเรื่องที่ทำให้คนอินกับครอบครัวนี้มากๆ และบางคนกลัวว่าจะเศร้าทั้งเรื่อง เปล่าเลย มันเป็นเรื่องที่ทำให้เราหัวเราะ ร้องไห้ ทำให้เราเก็บไปคิด มันมีความหลากหลายของอารมณ์อยู่

ไพลิน วีเด็ล และกล้องของเธอ

พูดถึงสารคดี ในเมืองไทยมีคนทำสารดคีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งผู้กำกับสารคดีที่เป็นผู้หญิงยิ่งน้อยเข้าไปอีก เรามองเรื่องนี้ยังไงบ้าง

เศร้ามากเลย รู้สึกเหงามาก เพราะตอนเราเริ่มทำใหม่ๆ เราพยายามหา mentor หรือรุ่นพี่ที่จะให้คำแนะนำเราได้ ซึ่งก็มีแค่พี่ใหม่ (อโนชา สุวิชากรพงศ์) มาช่วย แล้วก็ไม่มีใครอีกแล้ว

 

ทำไมถึงไม่ค่อยมีผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้

เรามองว่าเป็นปัญหาของทั้งวงการ เพราะในประวัติศาสตร์ของเรามักคุ้นเคยกับการให้สิทธิผู้ชายก่อนผู้หญิง ไม่ว่าจะสิทธิการออกเสียง สิทธิมนุษยชนทั่วไป ที่น่าเศร้าที่สุดไม่ใช่ว่าน่าจะมีผู้กำกับหญิงให้มากกว่านี้ แต่การที่ไม่มีผู้กำกับหญิง แปลว่าเรื่องที่นำเสนอไปสู่สาธารณชน มันจะเป็น perspective (มุมมอง) ของผู้ชายหมดเลย มี male gaze เคลือบอยู่ ซึ่งพอผู้หญิงมาดูแล้วไม่เห็น perspective ของตัวเองในเรื่อง หรือไม่เห็นเรื่องที่เป็นเรื่องราวของผู้หญิง มันก็แสดงว่าเรื่องของเขาไม่สำคัญ มันก็จะสร้างสังคมที่คิดว่าผู้หญิงไม่สำคัญเท่ากับผู้ชาย

แต่มันก็ยากที่จะขับเคลื่อน โดยเฉพาะในเมืองไทยซึ่งหาทุนยากมาก คนที่เป็นผู้ตัดสินใจให้ทุนเขาก็อยากให้โอกาสกับคนที่ไว้ใจหรือคนที่เคยร่วมงานด้วย ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาตั้งใจจะจ้างผู้ชาย แต่คนที่ทำงานด้วยกันมาก่อนมักจะเป็นผู้ชายด้วยกัน มันเลยเป็นการสร้างโครงสร้างในสังคมที่จะให้ประโยชน์ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

เพราะแบบนี้เราเลยอยากให้คนที่ตัดสินใจให้ทุนลองให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้หญิงด้วย แต่คือทุกคนที่ไม่ได้โอกาส

 

คุณวางแผนสารคดีเรื่องต่อไปของตัวเองหรือยัง

ก็กำลังคิดอยู่ อยู่ในเฟสพัฒนา ค้นคว้าหาคาแร็กเตอร์ กำลังดูอยู่ว่ามีเรื่องพอไหมสำหรับการเป็นสารคดียาว

 

ในอนาคตเราก็จะได้เห็นงานจากคุณแน่นอน

ก็ต้องรออีก 5 ปี (หัวเราะ) เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เราหวังว่าคราวนี้จะได้ฟุตเทจเร็วกว่า

ไพลิน วีเด็ล

แมทริกซ์ พี่ชายของน้องไอนส์ส่องเซลล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องแล็บ

ทุกวันนี้คุณยังติดต่อกับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์อยู่ไหม

ก็ยังติดต่อกันเรื่อยๆ เราไปติดตามถ่ายเขา 2 ปีครึ่ง ถึงตอนนี้ก็เกือบ 5 ปีแล้วเลยสนิทกัน พวกเขาสบายดี ก็มีไร่มีสวนของเขา แล้วพอมีเรื่องน้องไอนส์ เขาก็มองเห็นว่าการค้นคว้าหรือศึกษาทำวิจัยมะเร็งในเด็กในเมืองไทยมีน้อยมาก เขาจึงทำไร่ออร์แกนิกของตัวเองเพื่อสมทบทุนให้โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ นอกจากนี้น้องเมทริกซ์ ลูกชายคนโตที่เพิ่งเรียนจบ ม.ปลาย ยังศึกษาเรื่องเซลล์ เพราะเขายังมีความหวัง ยังอยากหาวิธีการช่วยรักษามะเร็งที่น้องเขาเป็นให้ได้ ตอนนี้เขาก็ไปทำวิจัยอยู่ที่จุฬาฯ

 

หัวใจสำคัญของ Hope Frozen คือการตั้งคำถามกับสิ่งสำคัญของชีวิต จากที่ติดตามพวกเขาอยู่หลายปี รวมถึงครั้งล่าสุดที่ได้อัพเดตกับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ สิ่งสำคัญของพวกเขาคืออะไร

สิ่งสำคัญในชีวิตของครอบครัวนี้คือการเป็นครอบครัว ความรักที่อยู่ในครอบครัว การที่เขาช่วยกันและกัน การฝ่าฟันสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาด้วยกัน ให้กำลังใจกัน

 

แล้วสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตคุณตอนนี้คืออะไร

คล้ายๆ กันเลย เพราะเราใกล้ 40 แล้ว เราเคยทุ่มเททุกอย่างในการทำงาน แต่พอทำเรื่องนี้มันมีความท้อเยอะ (หัวเราะ) แต่ทุกครั้งที่เราพ่ายแพ้ เรากลับไปที่บ้านแล้วรู้ว่าใครคือคนที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ใครคือคนมองเห็นว่าเราไม่ได้เป็นคนที่ล้มเหลว ความรักในครอบครัวและเพื่อนฝูงคือสาเหตุที่เราอยู่ต่อ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ไพลิน วีเด็ล

คุณคาดหวังอะไรจากการที่ Hope Frozen ได้ฉายให้คนทั่วโลกดู

นอกเหนือจากความบันเทิง เราอยากให้ทุกคนดูแล้วกลับไปกอดคนที่รักแล้วสนทนากันต่อว่า ชีวิตนี้ถ้าไม่มีความหวังหรือความรัก มันจะมีอะไรเหลือไหม เราอยากตั้งคำถามให้ทุกคนทำความเข้าใจกับตัวเอง

มากกว่านั้นเรายังหวังให้คนต่างชาติเห็นว่าเมืองไทยมีอะไรมากกว่าชายหาด โสเภณี หรือภาพจำอื่นๆ ด้วยความที่เราเป็นนักข่าว เนื้อหาที่เราเสนอมักจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ การเมือง สิทธิมนุษยชน เด็ก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้มองเมืองไทยในแง่ดี แต่มันก็สำคัญ เพราะการยกประเด็นพวกนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้แก้ปัญหา แต่พอทำมา 15 ปี เราก็มีความอยากเล่าเรื่องด้านอื่นให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มีแค่นี้ และ Hope Frozen ก็ตอบโจทย์นั้นเพราะมันเล่าเรื่องความรัก คำถามใหญ่ในชีวิต ความสงสัยในอนาคต มันคือธีมที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจากที่ไหนก็คิดเหมือนกัน ภาพในสารคดีเรื่องนี้ทำให้กรุงเทพฯ ดูเป็นเมืองที่พัฒนา เป็นการบอกโลกว่าเมืองไทยก็มีนักวิทยาศาสตร์ เมืองไทยก็มีพ่อแม่ที่รักลูกเหมือนคนอื่นนะ

เราอยากเพิ่มความหลากหลายของการพรีเซนต์ภาพของคนไทยให้กับโลก ให้เขาได้เห็นว่าเราก็เป็นมนุษย์ที่ไม่ได้แตกต่างจากเขามากนัก

ไพลิน วีเด็ล


Hope Frozen: A Quest to Live Twice ฉายแล้ววันนี้ที่ Netflix ติดตามข่าวสารของ ไพลิน วีเด็ล ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย