ความสุขและความ (ไม่) สมหวังของเมียฝรั่ง ‘สมหมาย คำสิงห์นอก’ หญิงสาวคนสำคัญในสารคดี Heartbound

สำหรับคนที่ไม่เคยดูหนังสารคดีเรื่อง Heartbound (หรือในชื่อไทยว่า ‘รักเอย’) คงสงสัยว่า สมหมาย คำสิงห์นอก คือใคร

ขอเล่าชีวิตของเธอให้ฟังคร่าวๆ สมหมาย คำสิงห์นอก เป็นคนจังหวัดโคราชโดยกำเนิด หลังหย่าร้างกับสามี เธอกลายเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ต้องหาเลี้ยงคนในครอบครัวทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยแม่, พี่สาวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, แฟนพี่สาว, ลูกของตัวเอง 4 คน และลูกของพี่สาวอีก 6 คน

รวมแล้วมี 13 ชีวิตที่ต้องดูแล

สมหมายเห็นว่างานรับจ้างประจำวันที่ได้เงินแค่น้อยนิดไม่พอยาไส้ครอบครัว เธอจึงออกจากบ้านไปทำงานที่พัทยา ใน พ.ศ. 2534 เธอพบนีล สามีคนปัจจุบันตอนที่เขามาเที่ยว ปีเดียวกันนั้น เธอตัดสินใจบินจากเมืองไทยไปแต่งงานกับเขาที่เดนมาร์ก และหนีบลูกชายคนเล็กไปอยู่ด้วยอีกหนึ่งคน

สมหมาย คำสิงห์นอก

“เราไม่ได้คำนึงถึงความรักหรือปัจจัยอย่างอื่นเลย คิดแค่เรื่องหาเลี้ยงครอบครัวอย่างเดียว” สมหมายผู้เริ่มใช้ชีวิตอยู่ที่เดนมาร์กในวัย 35 ปีว่าอย่างนั้น หลังลงหลักปักฐานและจดทะเบียนกับสามี เธอก็พยายามหางานทำโดยเริ่มจากการเป็นพนักงานทำความสะอาดที่พัก และขยับขยายไปสู่การทำงานในโรงงาน

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีอีกสิ่งที่เธอพยายามจะทำคือการช่วยเหลือหญิงสาวชาวไทยที่กำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากแบบที่เธอเคยเป็น เธอทำติดต่อกันมา 29 ปี แม้ชีวิตจะก้าวล้ำเส้นของวัยเกษียณจนต้องเลิกทำงาน สมหมายก็ยังทำหน้าที่ ‘ผู้ช่วย’ นี้ต่อได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

สารคดี Heartbound รักเอย เล่าเรื่องของการช่วยเหลือที่ว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปี หนังพาไปติดตามชีวิตของสมหมายและหญิงไทยคนอื่นๆ หนังฉายภาพให้เห็นพาร์ตของการจับคู่ผู้หญิงไทยกับชายชาวเดนมาร์ก ตัดสลับกับพาร์ตชีวิตที่ประเทศไทยของผู้หญิงอีกกลุ่ม ซึ่งต่างกลุ่มต่างก็ต้องเผชิญปัญหาในชีวิตที่แตกต่างกัน

ในหนัง เราเห็นว่าสมหมายช่วยเหลือหญิงไทยคนอื่นยังไง แต่ทำไม–นั่นคือคำถามที่เราอยากรู้

ยามบ่ายหลังจาก Heartbound รักเอย ฉายรอบ sneak preview ในประเทศไทย เราจึงนัดเจอกับ สมหมาย คำสิงห์นอก หญิงไทยที่บินมาจากเดนมาร์กเพื่อการฉายหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สมหมาย คำสิงห์นอก

จุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่อง Heartbound รักเอย เป็นยังไง

หนึ่งในผู้กำกับ Sine Plambech เขาเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะมนุษยศาสตร์ พอดีว่าเขาได้ทุนมาเมืองไทยสองเดือนเพื่อค้นคว้าวิจัยในพื้นที่แถบภาคอีสาน เขาไปอยู่ในหมู่บ้านเรา แล้วได้ยินเรื่องของเราว่าไปใช้ชีวิตอยู่ในเดนมาร์ก และช่วยผู้หญิงคนอื่นๆ ให้อพยพไปอยู่ที่นั่นด้วย ซินาเกิดสนใจก็เลยบินกลับเดนมาร์กมาติดต่อเรา เล่าว่าจะทำสารคดีที่ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของเราเป็นสองภาษา ให้ทั้งสองชาติคือเดนมาร์กและไทยได้ดู หลักๆ คืออยากจะสื่อเรื่องความแตกต่างของความเป็นอยู่ในเอเชียและยุโรป เราก็โอเค

ตอนแรกเป็นสารคดีโทรทัศน์ฉายที่เดนมาร์ก ก่อนถูกตัดต่อให้กลายเป็นหนังสารคดีขนาดยาวแบบที่เพิ่งฉายไป

ในหนังเราจะเห็นจุดเริ่มต้นของตัวละครทุกตัว แต่เรายังไม่รู้เลยว่าจุดเริ่มต้นของคุณเป็นยังไง อยากให้เล่าให้ฟังหน่อย

เริ่มต้นเลยเราไปทำงานที่พัทยา ไปทำงานได้ปีหนึ่งก็ไปเจอแฟนที่นั่น แกเป็นนักท่องเที่ยว เราอาสานำเที่ยวให้แก 9 วัน หลังจากเจอกันแกกลับไปเดนมาร์กก็เขียนจดหมายมา ติดต่อกันทางจดหมายอยู่สามสี่เดือนก็บอกให้เราไปทดลองอยู่ อยากให้เรามาลองดูว่าเป็นไปได้ไหม ไม่ได้บังคับแต่ให้เราตัดสินใจเอง เผื่อว่าถ้าเกิดวันหนึ่งเราชอบเขาหรือชอบเดนมาร์ก ถ้าไปกันได้เราก็อาจจะแต่งงานกัน เราก็สามารถเอาลูกเรามาอยู่ได้ และทำงานที่นี่ได้

ก่อนหน้านั้นตอนเที่ยวพัทยาด้วยกัน เราเคยเล่าให้เขาฟังว่าเราอยากไปอยู่เมืองนอก เพราะอยู่ที่นี่เราลำบาก เราต้องเลี้ยงครอบครัวหลายคน ด้วยความที่เราอยู่บ้านนอก เรารับจ้างรายวันกิน ลำพังรายได้ไม่ใช่แค่ไม่พอกิน ต้องใช้คำว่าไม่มีกินเลย

เหตุผลที่เราจะไปเดนมาร์กคือเพื่อครอบครัวเลย

เพื่อครอบครัวอย่างเดียว

ตอนนั้นเราไม่คิดถึงอย่างอื่นเลย คิดแต่ว่าทำยังไงก็ได้ที่จะหาที่ที่มีโอกาสที่จะทำงานได้เงิน ยังไม่คิดว่าจะไปทำงานอะไรด้วยซ้ำ อีกเหตุผลที่ทำให้เราไป เพราะเราคิดว่าเขาก็คงช่วยเหลือเรื่องเงินเราได้บ้างล่ะ เราก็เลยไป

สมหมาย คำสิงห์นอก

ไปด้วยวีซ่าท่องเที่ยว

ไม่ๆ สมัยก่อนไปเดนมาร์กไม่ต้องทำวีซ่า เราไปครั้งแรกยาวสามเดือน เดินทางจากดอนเมืองไปลงอินเดีย แล้วก็ไปรัสเซีย มอสโค โคเปนเฮเกน การเดินทางของเราลำบากมาก เป็นสตอรีที่ไม่มีวันลืมเลย คือก่อนเดินทางเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องบินเป็นยังไง ย้อนกลับมามองทุกวันนี้ เรากล้าไปได้ยังไง เพราะเปลี่ยนเครื่องหลายที่มาก แต่เราไม่ได้รู้ว่าเปลี่ยนเครื่องมันเป็นยังไง แต่ตอนนั้นก็อาศัยการสังเกตว่านั่งเครื่องไปกับใครแล้วก็เดินตามเขา

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือเรามีเงินไทยติดตัวแค่ 200 บาท ตั้งแต่ออกเดินทางจากไทยจนถึงโคเปนเฮเกนประมาณ 18 ชั่วโมง เราไม่ได้กินแม้แต่น้ำเปล่า พอถึงโคเปนเฮเกนคิดว่าจะราบรื่น ก็เจอ ตม.กักตัวอยู่นานมาก เขาไม่เชื่อว่าเรามาฮอลิเดย์ เพราะเราไม่มีเงินสกุลเดนมาร์กติดตัวมาเลย

เขาเลยให้เรานั่งรอแล้วไปตรวจอีกสองร้อยกว่าคนบนเครื่อง ตอนนั้นเราสิ้นหวังมาก ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่คนเดียวในโลก กลัวว่าเขาจะทำอะไร กลัวว่าเราจะได้เห็นหน้าลูกอีกไหมต่อจากนี้ แล้วก็เริ่มคิดได้ว่า เอาวะ อย่างน้อยเขาต้องส่งเรากลับแหละ เพราะเรามีตั๋วกลับ

พอเขาเช็กทุกคนเสร็จ เขาก็พาเราเดินออกไป ประกาศทางไมโครโฟนให้แฟนเรามารับ โชคดีที่เขายังอยู่รอเรา ผ่านไปสามชั่วโมงหลังจากทุกคนที่มาเครื่องเดียวกันกับเราเดินออกไปทั้งหมดก็ยังรอ หลังจากนั้นเราก็เข้าเดนมาร์กได้

เมืองที่คุณอยู่เป็นยังไงบ้างในตอนนั้น

เมืองที่เราอยู่ชื่อเมืองทูล ตอนนั้นมีผู้หญิงไทยแค่หนึ่งคนในเมืองที่ไปก่อนหน้าเรา รู้สึกเขาจะเป็นคนกรุงเทพฯ ไปถึงปุ๊บเราก็อยู่บ้านสามีในปัจจุบัน ไปโน่นมานี่กับแก เมืองทูลตอนนั้นเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่หรอก แต่เราไม่ได้คิดถึงส่วนนั้น

สถานที่ที่เราอยู่มันไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเราเลย

หลังจากนั้นนานไหมกว่าจะตกลงปลงใจแต่งงาน

ถามเราว่านานไหมกว่าจะตัดสินใจ เราตัดสินใจก่อนไปแล้ว (หัวเราะ) ตอนไปครั้งนั้นเราพกใบหย่าไปด้วย แต่ใบหย่าเราไม่ได้แปล ก็เลยไม่สามารถจะแต่งได้ เลยกลับมาอยู่ไทยก่อน ประมาณ 3-4 เดือน ก็กลับไปอีก

อะไรทำให้ตัดสินใจหลงหลักปักฐานที่นั่นเลย

จากที่เราไปอยู่สามเดือน เราก็เห็นแล้วล่ะว่าแฟนเป็นคนดี ที่อยู่แกก็มี แล้วลูกสาวแกตอนนั้นก็ 17 ปีก็เข้ากันได้ เราเลยกล้าตัดสินใจเอาลูกคนเล็กไปด้วย ที่ตัดสินใจเอาไปอยู่ด้วยเพราะเรารู้ว่าเราไปอยู่คนเดียว การเอาลูกไปด้วยอาจจะทำให้เราห่วงน้อยลง ไม่ต้องคิดถึงบ้านมาก ตอนนั้นลูกคนเล็กก็หกขวบครึ่ง เขาก็เริ่มวัยเรียนในบ้านเรา ประกอบกับยายแกก็แก่ พี่สาวก็ป่วย ทีนี้มันหลายคนมาก เขาก็ไม่มีกำลังที่จะดู เราก็อยากจะแบ่งเบามาด้วย

การพาลูกคนเล็กไปอยู่ที่นั่นด้วยมีปัจจัยอะไรที่ต้องคำนึงบ้าง มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างจากการอยู่ไทยยังไง

หนึ่ง เราต้องดูแลเขา สอง อยากให้ลูกไปเพื่อที่เราจะได้ไม่เหงามาก และการไปอยู่ที่นู่นคุณภาพชีวิตก็ดีกว่าเมืองไทย

อันนี้เราไม่ได้พูดในส่วนรวมนะ ในกรณีชีวิตของเรา เราเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เราไม่สามารถส่งเสียให้ลูกเรียนได้อยู่แล้ว ถ้าเกิดเราอยู่เมืองไทยลูกก็คงได้เรียนแค่ ป.6 แล้วก็ออกมารับจ้างรายวัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็คงมีผัว หรือต้องไปทำงานพัทยา แบบเดียวกับเรา ซึ่งตรงนั้นเราก็ไม่ค่อยจะปลื้มเท่าไหร่ เพราะเรารู้ว่าเป็นยังไง

คำว่าดีกว่าตรงไหน มันดีกว่ามากตรงที่ว่า เราเกิดมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีโอกาส และที่เดนมาร์กนั้นมีโอกาสที่ดีกว่าอยู่แล้ว

สมหมาย คำสิงห์นอก

งานแรกที่ทำหลังจากแต่งงานคืออะไร

เพราะยังไม่มั่นใจว่าสามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ ก็เลยเริ่มต้นจากการรับจ้างทำความสะอาดก่อน หลังหนึ่งต้องทำประมาณ 4-5 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดของบ้าน แลกกับเงินดำที่ให้เราประมาณ 200 โครน

เงินดำคืออะไร

เงินที่เราได้มาโดยไม่ต้องหักภาษี เป็นเงินที่ได้มาจากการรับจ้างโดยตรงแบบไม่ผ่านบริษัท ถ้าทำงานกับบริษัท จำนวนเงินที่ให้อาจจะดูมากกว่า แต่สุดท้ายก็อาจโดนหักภาษีจนเหลือน้อยกว่าค่าจ้างที่เป็นเงินดำ

ภาษีที่นั่นแรงไหม

แรงมาก แต่ถึงแรงก็มีความรู้สึกว่าก็คุ้มนะ เพราะเขาคุ้มครองเราทุกอย่าง ภาษีที่นั่นก็จะมีส่วนต่างอยู่เหมือนกัน ถ้าคนไหนได้รับค่าแรงขั้นต่ำก็จะเสียภาษีขั้นต่ำ แล้วถ้าสมมติว่าครอบครัวไหนมีสามีภรรยาทำงานกินเงินเดือนขั้นต่ำทั้งสองคน เขามีลูก มีค่าใช้จ่าย ครอบครัวนั้นก็จะเสียเปอร์เซ็นต์น้อย แต่ถ้าครอบครัวไหนมีรายได้สูง ไม่มีรายจ่าย เขาก็จะไปเพิ่มภาษีกับคนนั้น เหมือนดึงจากคนรวยลงมาให้ฐานเท่าๆ กัน

ถ้าอย่างนั้นเดนมาร์กก็ไม่ค่อยมีความเหลื่อมล้ำ

เรียกว่าไม่มีเลยดีกว่า

ตั้งแต่ตอนนั้นจนตอนนี้ ผ่านมา 29 ปี เราเห็นว่าตอนเริ่มของหนัง Heartbound มีข้อความขึ้นว่าคนไทยที่ไปอยู่ที่นั่นมีประมาณ 900 คน ตัวเลขมันพุ่งสูงถึงขนาดนั้นได้ยังไง

900 นี่แค่ในเขตทูลนะ แต่ถ้ารวมกับแถบภาคเหนือหรือแถบโคเปนเฮเกนก็จะประมาณสองพันกว่าคน ถามว่าเพิ่มสูงขนาดนั้นได้ยังไง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเราไป เราก็ช่วยเหลือญาติพี่น้องไปด้วย ถ้าในญาติพี่น้องมีลูกไปด้วย ก็จะมีเพิ่มขึ้น แล้วหลังจากนั้นญาติพี่น้องของเราก็พาญาติสนิทหรือพี่น้องอีกฝั่งของเขาเข้ามา ช่วยต่อๆ กัน ก็เลยพุ่งพรวดเลย เป็นอะไรที่เขาก็ตกใจเหมือนกันนะ ว่าอยู่ๆ ทำไมคนไทยเยอะมาก แต่เราคิดว่าเป็นเพราะปัจจัยนี้แหละ

ถ้าคนที่เรายื่นมือเข้าไปช่วยจริงๆ ก็จะประมาณสัก 40 คนได้ แล้วเขาก็ดึงๆ กันเข้าไปอีก ถ้าในกลุ่มของเราจริงๆ ถ้าเกี่ยวข้องกับเรา ก็คือประมาณเกือบ 200 คน

ในสารคดี มีฉากที่คุณเขียนประกาศหาชายเดนมาร์กมาแต่งงานกับหญิงสาวไทยผ่านหนังสือพิมพ์ เราสามารถประกาศหาแบบนี้ได้อย่างเปิดเผยเลยเหรอ

ทำได้

คล้ายๆ พื้นที่โฆษณาอะไรอย่างนั้น

ใช่ๆ เป็นหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่น บางทีออกพุธ บางทีออกศุกร์ เขาก็จะมีให้คนเขียนเข้าไปโฆษณาขายของ หาคู่ แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้วนะ แต่สมัยก่อนเป็นที่นิยม เราก็จะเขียนประกาศว่า เนี่ย มีผู้หญิงไทยคนนี้ อายุเท่านี้กำลังจะมาเดนมาร์ก แล้วก็จะให้ผู้สนใจเขียนจดหมายมาหาเรา พรีเซนต์มาว่าอายุเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร เขาก็จะให้เบอร์โทรมาแล้วเราก็โทรนัดเขาให้มาเจอ

แปลว่าต้องมีผู้หญิงจากประเทศไทยติดต่อมาก่อน

ใช่ แล้วถึงค่อยประกาศ

อายุ 31 ปี มีลูก 1 คน มาเยี่ยมครอบครัวที่เดนมาร์ก ต้องการหาคู่ ประมาณนี้

เราเลือกผู้หญิงจากเมืองไทยไปยังไง

ไม่ได้เลือกนะ เพราะเราช่วยแต่ญาติเราที่ไว้ใจได้ เรารู้ว่าไปอยู่แล้วเป็นยังไง ไม่ได้สุขสบาย รอเอาเงินอย่างเดียว ต้องทำงานนะ

คุณคิดว่าผู้ชายเดนมาร์กที่ติดต่อมาชอบผู้หญิงไทยตรงไหน

เรื่องการทำงานและการดูแลเขานี่แหละ ผู้ชายเดนมาร์กชอบที่เรามีความสามารถและความอดทน เพราะผู้หญิงไทยเราสามารถทำงานทั้งข้างนอกและดูแลบ้านได้ด้วย เหมือนเราดูแลได้ทุกอย่าง ซึ่งผู้หญิงเดนมาร์กส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาจะแบ่งหน้าที่กันโดยไม่ได้กำหนดว่า เธอเป็นภรรยากลับมาต้องทำกับข้าวเลี้ยงลูก อันนี้ไม่ใช่ เธอกลับมาเธอต้องทำไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง

แต่ผู้หญิงไทยเราส่วนใหญ่ก็คิดว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองในการดูแลครอบครัว ดูแลสามี เป็นหน้าที่ของเรา

จริงๆ เราอยู่เฉยๆ ก็ได้ ทำไมเราถึงเลือกช่วยเหลือผู้หญิงไทยให้เข้ามาในเดนมาร์ก

เราเข้าใจเขา เพราะเขาตกที่นั่งเดียวกับเรา ครอบครัวลำบาก เรารู้ว่าเขาไม่มีโอกาส เขาก็ต้องไปขวนขวายหาเอง ถ้าเกิดเราไม่ช่วยเขา เขาก็ต้องไปหาเอเย่นให้พาเข้ามาอยู่ดี ต้องไปกู้ยืมเงินมาอีก แต่เราไม่เอาเงินจากเขาสักบาท เราไม่อยากให้กรณีนี้เกิดขึ้น เงินไม่มีอยู่แล้วยังต้องไปกู้ยืมมาเพื่อให้ตัวเองได้ไป

แล้วสถานทูตไทยเขามองเรื่องนี้ยังไง สนับสนุนหรือกีดกันเราไหม

ในความรู้สึกของเรา เราไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากสถานทูตไทยเลย เขาไม่ได้ช่วยเรื่องนี้ สิ่งเดียวที่เราได้จากสถานทูตไทยคือการต่อพาสปอร์ต หรือตอนจัดงานประเพณีไทยที่บางครั้งเขาจะสนับสนุนการแกะสลักผลไม้ ซึ่งมีงบมาให้เราเอาไปจัดการต่อเอง แล้วก็ให้เขียนว่าเป็นการสนับสนุนจากสถานทูตนะ

แล้วหน่วยงานรัฐของเดนมาร์กล่ะ เขาทรีตผู้อพยพยังไง ไม่ใช่แค่เราแต่รวมถึงผู้อพยพจากประเทศอื่นด้วย

ถ้าคนที่มีใบอนุญาตให้อยู่เดนมาร์กได้แล้ว เราจะมีสิทธิเหมือนพลเมืองทุกอย่าง ไม่มีคำว่าเธอเป็นคนต่างชาติ เธอไปโรงเรียนนี้ หรือโรงพยาบาลนี้ สิทธิของเราจะเท่ากับเขาหมด

สังคมที่นั่นมองเรายังไง เคยเจอการเหยียดเชื้อชาติไหม

ไม่เคยเจอเลย โชคดีที่เราอยู่เมืองเล็กๆ ถ้าอยู่เมืองใหญ่อาจเจอ แต่จริงๆ แล้วก็มีในส่วนของคนอายุเยอะ คนที่เขาไม่ค่อยรู้จักเราเท่าไหร่เขาอาจเข้าใจเราในแง่ไม่ดีบ้าง แต่ถึงขั้นที่ว่ามาแอนตี้ กีดกัน ไม่ยอมรับนี่ไม่มีเลย เพียงแต่เขาอาจมองเราแปลกๆ แต่ในกลุ่มคนที่อายุน้อยหรือกลุ่มคนที่เคยมาเมืองไทยเขาก็จะรู้ สังคมเขาจะยอมรับเรามากกว่าสังคมไทยที่ยอมรับผู้หญิงทำงานบาร์หรือผู้หญิงที่เคยขายบริการ อันนี้สังคมเรายังไม่กล้ายอมรับเท่าเขา เราไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย

ในสารคดีจะมีผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่าให้คนดูฟังว่าเคยโดนทำร้ายร่างกายในครอบครัวมาก่อน ที่นั่นมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นไหม

ไม่เคยเห็นเลย หนักสุดก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะคู่ของคนเดนมาร์ก ถ้าเขามีปัญหาลักษณะนั้น เขาจะเดินจากกัน วันดีคืนดี เราสองคนอยากอยู่คนเดียวแล้ว เขาก็จะตกลงกันได้ เพราะกฎหมายเรื่องทำร้ายร่างกายมันแรงด้วย

สมหมาย คำสิงห์นอก

ที่เดนมาร์ก คุณต้องปรับตัวกับเรื่องอะไรบ้าง

ในมุมของคนที่ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมไทยมากจนเกินไปอย่างเรา ด้วยวัฒนธรรมคนละอย่างกัน เราถูกปลูกฝังและเลี้ยงดูมาอีกอย่างหนึ่ง บางทีเขาก็ทำในสิ่งที่มันขัดหูขัดตา เราก็พยายามทน นอกจากนี้ก็มีเรื่องอาหารการกิน เรื่องวัฒนธรรม อากาศก็แย่มาก

แย่ยังไง

ถ้าหน้าหนาวจะมืด จะลมจะฝนตลอด บางคนทนไม่ได้ ได้สามีแล้วแต่ทนสภาพอากาศไม่ได้ ก็ต้องบินกลับไทย ก็คืออยู่ไม่ได้จริงๆ

นอกจากอากาศแล้ว มีเหตุผลอะไรอีกบ้าง

ส่วนมากเขาวาดฝันไว้อีกอย่างหนึ่ง เพราะเวลาฝรั่งมาเมืองไทย เขามาเที่ยว เขาก็จะใช้จ่ายเงินทองอีกแบบหนึ่ง เขาดูมีเงินเยอะแยะ แต่พอไปถึงมันกลับกัน เขาต้องตื่นตีสี่ตีห้าไปทำงาน การจะซื้ออะไรเขาก็ต้องประหยัดเหมือนกัน เราไม่ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเขา เราก็ตีความไปว่าเขาจะเป็นแบบตอนมาเที่ยว ก็เกิดอาการผิดหวัง

แสดงว่าชีวิตที่นั่นก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในฝัน

ใช่ ที่ไหนก็ไม่ได้สะดวกสบายทั้งนั้น แต่ข้อดีของที่นี่คือสวัสดิการ ที่นี่จะไม่มีคำว่ายากจน ไม่ได้ส่งลูกเรียน หรือคำว่าป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษา รัฐจัดการปัญหาเรื่องนี้ให้ประชากรของเขา เรื่องการเก็บภาษีก็เช่นกัน เขาทำให้ประชาชนเขาอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

ในเรื่องเราจะเห็นการรวมกลุ่มของผู้หญิงไทยในเดนมาร์ก เรามีการชุมนุมแบบนี้บ่อยไหม

แทบทุกวีกเอนด์นะ ก็จะเอาอาหารมาแลกเปลี่ยนกัน บางทีใกล้ๆ เทศกาลเราก็มาปรึกษากันว่าจะจัดงานที่ไหน พยายามทำให้ได้ทุกเทศกาล แล้วเมื่อสามปีที่แล้วเราก็ช่วยกันผลักดันให้มีวัดในเขตใกล้ๆ ปัจจุบันมีพระสงฆ์ประจำอยู่ 2 รูป ซึ่งพวกเราไม่ได้เข้าวัดมากในวันธรรมดา แต่เราก็รอวีกเอนด์ที่ไปรวมตัวกันทีละ 100-200 คน การมารวมกลุ่มของเราทำให้ได้ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทย บางครั้งก็ได้แลกเปลี่ยนพูดกัน เล่านู่นนี่ให้ฟัง รับรู้ความเป็นอยู่ของกันและกัน ที่สำคัญเราได้พูดกันด้วยภาษาไทย

คุณและชาวไทยคนอื่นๆ ที่มีลูกกับชาวเดนมาร์กมีการสอนให้ลูกรู้จักวัฒนธรรมไทยไหม

ทุกคนพยายามที่สุดที่จะรักษาความเป็นไทย แม้แต่คนที่มีลูกกับชาวเดนมาร์กเขาก็จะมีประเพณีหรือกิจกรรมที่จะจัดให้เด็กได้ใส่โจงกระเบน รำ มีการสอนให้พูดภาษาไทย มารยาทต่อผู้ใหญ่ สารพัดที่จะทำเพื่อรักษาประเพณีเรา

ในสารคดี ทุกคนมีงานทำกันหมดเลย อยากรู้ว่างานที่นั่นมีรองรับเราตลอดเลยหรือเปล่า

จะเรียกว่ารองรับตลอดก็ไม่ได้ แต่เราต้องขวนขวายทำงาน สิ่งที่ดีของคนไทยคือความอดทน เราทำได้ทุกอย่าง อย่างทำงานทำความสะอาด ทำงานโรงงานปลา ไก่ ตื่นตั้งแต่ตี 5 แบก หาม ทำงานเก่ง เร็ว ไม่เคยเข้างานสาย เขาเลยไม่ไล่ออก แล้วอีกอย่างพอคนไทยไปทำ มีคนหนึ่งทำอยู่ตรงนี้ก็ดึงกันเข้าไปก็เลยยาว

ที่นั่นเขามองคนทำงานในแต่ละสายอาชีพยังไง

ทุกอาชีพเท่ากันหมด คุณอย่าคิดว่าคุณจบปริญญามา นั่งในแบงก์ คุณจะมีศักดิ์ศรีกว่าคนกวาดถนน บางคนผัวกวาดถนน เมียทำงานแบงก์ ไม่มีการแบ่งแยกแม้แต่นิดเดียว พูดง่ายๆ อย่างแฟนของเรา แกเป็นคนตรวจภาษีแผ่นดิน เอาเมียต่างชาติที่เป็นผู้หญิงบาร์มาก่อน เวลาออกงานทุกคนก็ไม่ได้รังเกียจเราเลย ไม่เคยคิดว่าเรามาจากไหน ตำแหน่งหน้าที่การงานยังไง ไม่มี

สมหมาย คำสิงห์นอก

คุณไปเดนมาร์กเพราะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 29 ปี แต่ในช่วงท้ายของหนัง คุณบอกว่าอยากกลับมาอยู่เมืองไทย เพราะอะไร

เราคิดถึงเมืองไทย เพราะเราย้ายถิ่นฐานตอนที่เราโตแล้ว พอไปอยู่ที่นู่นนานๆ ก็เริ่มรู้สึกเหงา ไม่ได้รู้สึกว่าอยู่บ้าน ความอบอุ่นมันต่างกัน ถึงเราพูดภาษาเขาได้ ทำงาน เข้าสังคมกับเขาได้หมด แต่จริงๆ ลึกๆ แล้วเรามีความรู้สึกตลอดเวลาว่าเราไม่ใช่คนเดนมาร์ก เราเป็นใครก็ไม่รู้มานั่งอยู่กลางคนอื่นเขา มันไม่ใช่ที่ที่เราจะอยู่ เราคิดถึงความอบอุ่น ความผูกพันที่บ้านมีให้เรา

ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดีนะ สถาบันครอบครัวเขาแน่นแฟ้นมาก แต่เขาจะอยู่กันแค่ในครอบครัวจริงๆ เขาไม่ได้มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหมือนเรา และด้วยที่ว่าเราคิดว่าเราอดทนมานานแล้ว พอเราแก่ตัวเราก็อยากจะทำอะไรให้ตัวเองบ้างที่ตัวเองอยากจะได้หรืออยากจะทำ ก็เลยคิดว่าอยากกลับบ้าน

บางคนอาจไม่ได้คิดถึง แต่สำหรับเรา เราย้ายถิ่นฐานตอนโต ไม่เหมือนเด็กที่ปรับตัวได้ง่าย เด็กจะลืมได้เร็ว แต่เราไม่ลืม

มองย้อนกลับไป คุณได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตบ้าง

เราได้เรียนรู้ว่าความต้องการมันไม่เหมือนกันนะในแต่ละช่วงชีวิต เมื่อก่อนอยากให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่พอมาอีกระยะหนึ่ง ที่เราดิ้นรนมามากพอ เราเรียนรู้ว่าสิ่งที่เราดิ้นรนมาก็ไม่ได้มีค่ามากขนาดนั้นในวันนี้

แล้วถึงจุดนี้ ชีวิตของคุณต้องการอะไร

ความเงียบสงบ ไม่ต้องดิ้นรนอะไรอีกแล้ว

ทำไมหนังต้องชื่อ Heartbound หรือรักเอย ทั้งๆ ที่การไปเดนมาร์กของเราไม่ได้เกิดจากความรักเลย

เราคิดว่าผู้สร้างไม่ได้มองในความรักแบบคู่รักหรือสามีภรรยานะ แต่รักก็คือรักในครอบครัว รักในพ่อแม่ รักลูก รักในประเทศของตัวเอง ก็เลยกลายเป็น Heartbound รักเอย ที่ไม่ได้เล่าเรื่องแค่ผัวเมีย แต่ยังหมายถึงการรักบ้านเกิด รักพ่อแม่ รักลูก และความรักนั้นก็ทำให้เราทำทุกอย่างได้เพื่อพวกเขา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม