“ถ้าวันนี้ต้องตาย เราอยากใช้วันสุดท้ายอยู่ที่นี่” บ้านในความหมายของผู้กำกับสารคดี The Human Shelter

ในฐานะคนที่เกิดและโตที่เชียงใหม่ ฉันคุ้นชินกับประโยคภาษาถิ่น ‘เอาอี่แม่ปิ๊กไปต๋ายบ้านเต๊อะ’ เพราะเคยได้ยินอยู่หลายครั้ง The Human Shelter

ส่วนใหญ่คนพูดคือหญิงชราผู้กำลังเผชิญกับความโรยราของสังขาร ไม่อยากใช้ลมหายใจสุดท้ายที่โรงพยาบาล และพยายามรบเร้าให้ลูกหลานพากลับไปตายที่บ้านของตัวเอง

ในช่วงหนึ่งฉันกับเพื่อนเคยใช้ประโยคนี้คุยกันขำๆ ตอนที่หมดแรงจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำหรือเมามาย ‘พาฉันกลับไปตายที่บ้านเถอะ’ กลายเป็นอินไซด์โจ๊กที่ฮิตในกลุ่มเพื่อนอยู่พักใหญ่ แต่ฉันก็ไม่เคยครุ่นคิดถึงความหมายของมัน

ฉันกลับมานึกถึงประโยคนี้อีกครั้งตอนดู The Human Shelter: An Expedition Into What Makes a Home หนังสารคดีความยาว 68 นาทีของ Boris B. Bertram ผู้กำกับชาวเดนมาร์กผู้ใช้เวลากว่า 2 ปีเดินทางไปยัง 4 ทวีปรอบโลก เพื่อพบปะผู้คน สถานที่ และวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพียงอย่างเดียว

เพื่อตามหาความหมายของคำว่า ‘บ้าน’

The Human Shelter

ชนเผ่าพื้นเมืองผู้ใช้ชีวิตอยู่กับกวางในนอร์เวย์, ทีมสถาปนิกในนิวยอร์ก, ค่ายผู้ลี้ภัย UNHCR ในอิรัก, กลุ่มนักสำรวจดาวอังคารที่ต้องปลูกต้นไม้เพื่อคลายอาการคิดถึงบ้าน, อีกกลุ่มนักสำรวจที่ต้องทดสอบการใช้ชีวิตบนดาวอังคารด้วยการไปอยู่ในพื้นที่ใกล้ปล่องภูเขาไฟ, ชายหนุ่มผู้สร้างบ้านบนต้นไม้ที่ยูกันดา, หญิงสาวนักถ่ายภาพผู้ใช้ชีวิตอยู่ในห้องมืดที่โตเกียว, กลุ่มเด็กเนิร์ดชาวญี่ปุ่น 13 คนที่ใช้ชีวิตในบ้านเล็กๆ หลังเดียวกัน, ชุมชนสลัมบนน้ำที่ไนจีเรีย และกระท่อมติดธารน้ำแข็งของครอบครัวชาวไอซ์แลนด์

ที่ว่ามาล้วนคือซับเจกต์สำคัญใน The Human Shelter ที่บอริสได้ลงไปคลุกคลีและถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาในหนัง

ในสถานที่แตกต่างกัน ความหมายของคำว่าบ้านของพวกเขาเหมือนหรือต่างกันยังไง นั่นคือสิ่งที่บอริสอยากรู้

“สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมคาดหวังคือ การทำให้คนดูทุกคนกลับมาตั้งคำถามว่าสถานที่ไหนที่เรียกว่าบ้านได้อย่างเต็มปาก สถานที่ไหนที่เราอยากอยู่ และถ้าวันนี้ต้องตาย เราอยากใช้วันสุดท้ายอยู่ที่นี่” บอริสโยนคำถามให้คนดู

ยามเย็นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) หลังจาก The Human Shelter รอบพิเศษในงาน MOVIES ON DESIGN 2019 ฉายจบ ฉันมีโอกาสได้คุยกับบอริสก่อนเจ้าตัวจะบินกลับภูมิลำเนา บทสนทนาของเราว่าด้วยระยะเวลา 2 ปีที่เขาเดินทางสำรวจบ้านจากทั้งในและนอกโลก เขาได้เรียนรู้อะไรจากมัน และสิ่งนั้นส่งผลต่อความหมายของคำว่าบ้านของเขายังไง

หาคอมฟอร์ตโซนของคุณแล้วเขยิบมาฟังเขาใกล้ๆ กัน

The Human Shelter

ความรักในการทำหนังสารคดีของคุณเริ่มต้นมาจากไหน

ผมเรียนทำหนังมาโดยตรง และคิดว่าหนังที่สร้างจากเรื่องแต่งกับหนังสารคดีต้องเรียนรู้จากกันเสมอ หนังจากเรื่องแต่งที่ดีทำให้คุณรู้สึกเหมือนเรากำลังดูชีวิตจริงของใครสักคน หนังสารคดีที่ดีก็ทำให้คุณรู้สึกเหมือนได้ดูเรื่องแต่ง

ผมชอบเสน่ห์ของสารคดีที่นำเสนอความจริงแท้และความงดงามของชีวิต นึกออกไหม ชีวิตเต็มไปด้วยสีสันมากเหลือเกิน ถ้าคุณสังเกตเห็นมัน หนังสารคดีก็สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคุณได้ถ้ามันดีมากพอ

แล้วการทำ The Human Shelter เปลี่ยนแปลงความคิดของคุณบ้างไหม

สารคดีเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตผมเลยล่ะ เพราะการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เป็นเวลากว่า 2 ปีทำให้ผมเห็นว่าโลกตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง การอพยพของผู้ลี้ภัย สภาพธารน้ำแข็งที่กัดกร่อนจากภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเผชิญบนโลกตอนนี้ทำให้ผมตั้งคำถามว่าเราจะสร้างบ้านที่ดีหรือใช้ชีวิตภายใต้สภาพความเป็นอยู่เหล่านี้ได้ยังไง The Human Shelter เล่าเรื่องราวเหล่านั้น

ระหว่างการถ่ายทำผมได้เจอผู้คนที่หลากหลาย เชื่อไหมว่าไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่อยากมาอยู่ในหนังเรื่องนี้เลย ผมดีใจมากๆ ที่ทุกคนยอมเปิดที่พักอาศัยและเปิดใจเล่าเรื่องเกี่ยวกับบ้านของพวกเขาอย่างหมดเปลือก (ยิ้ม)

The Human Shelter

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณสนใจทำหนังเกี่ยวกับบ้าน

ตั้งแต่ตอนที่ผมถ่ายสารคดีเรื่อง Photographer of War (2019) หนังเรื่องนั้นเล่าเรื่องช่างภาพที่เข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่สงคราม แต่ในขณะเดียวกันเขาคนนี้ก็เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกอีก 4 คน ในทางใดทางหนึ่งมันเกี่ยวกับการสร้าง ‘บ้าน’ และการสร้างครอบครัว

The Human Shelter ก็เช่นกัน หนังพูดถึงการสร้าง ‘บ้าน’ ในความหมายที่ไม่ใช่แค่เชิงสถาปัตยกรรม แต่ยังมีความหมายในมิติอื่นๆ อีกมากมาย ไอเดียของเรื่องนี้มาจากการติดตามซับเจกต์ของ Photographer of War ลงไปในพื้นที่สงคราม ผมได้เข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัย เห็นว่าความเป็นอยู่กับการสร้างบ้านของผู้ลี้ภัยเป็นยังไง และบ้านแบบไหนที่เขาสามารถเรียกมันว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างเต็มปาก นั่นคือไอเดียตั้งต้นของหนังเรื่องนี้

คุณพัฒนาต่อยังไง

ประจวบเหมาะกับตอนนั้นอิเกียเสนอทุนมาให้ผมทำหนังสารคดีพอดี แน่นอนว่าเมื่อมีบริษัทใหญ่มาบอกคุณว่า เฮ้ คุณอยากทำหนังไหม นี่เงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐนะ แถมคุณสามารถท่องโลกได้อีก 2 ปีด้วย บ่อยแค่ไหนล่ะที่คุณจะได้รับโอกาสแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงตอบรับและยินดีมากๆ ที่ได้ทำงานกับพวกเขา ความจริงผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าพวกเขาเป็นบริษัทที่สนับสนุนแคมเปญดีๆ เพื่อโลกอยู่เยอะเลย อย่างประเด็นการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ หรือแม้กระทั่งบ้านของผู้ลี้ภัยในหนังเรื่องนี้ อิเกียก็สนับสนุนเช่นกัน

ผู้ลี้ภัยในค่าย UN, ชาวนอร์ดิกผู้ใช้ชีวิตอยู่กับกวาง, ชุมชนของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสลัมบนแม่น้ำ แม้กระทั่งนักสำรวจดาวอังคาร คุณไปเจอเรื่องราวของคนเหล่านี้ได้ยังไง

ผมทำรีเสิร์ชเยอะมาก ตั้งใจไว้ว่าทุกๆ ตอนของหนังเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับธรรมชาติและปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก เช่น ธารน้ำแข็ง, เทรนด์ไมโครลีฟวิ่ง, การเติบโตของเมือง หรือการอพยพย้ายถิ่นฐาน ธีมของแต่ละตอนสื่อถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นผมต้องหากลุ่มคนที่บ่งบอกเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีที่สุด

เกณฑ์ในการเลือกซับเจกต์หลักๆ มีอยู่ 3 ข้อ คือหนึ่ง ในทุกตอนจะต้องมีบ้าน เป็นบ้านที่มีโครงสร้าง สัมผัสได้ และอยู่ได้จริง สอง จะต้องมีการแสดงอะไรสักอย่างในตอนนั้นที่สื่อถึงคำว่าบ้าน เช่น ผู้หญิงชาวนอร์ดิกร้องเพลงท้องถิ่น และสุดท้าย ทุกตอนต้องมีเรื่องราวของผู้คนที่ส่วนตัวและน่าสนใจ

นอกจากนี้ผมยังได้แรงบันดาลใจจากการพบเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีคนหนึ่งในค่ายลี้ภัย เธอออกมาอ่านบทกวีให้ผมฟัง ทำให้ผมคิดออกเลยว่าทิศทางของหนังเรื่องนี้จะคล้ายกับบทกวีที่พูดถึงบ้าน ผมอยากได้ภาพของทิวทัศน์ที่แตกต่างกันในแต่ละตอน และทำให้ผมสามารถสำรวจโลกไปได้ในเวลาเดียวกัน ผมท่องไปในแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกา ผมสนุกมากกับการที่ช่วงหนึ่งเจอน้ำแข็ง หลังจากนั้นก็เจอทะเลทราย เป็นสิ่งที่คอนทราสต์กันอย่างสิ้นเชิง

สงสัยว่าคุณขึ้นไปถ่ายบนดาวอังคารได้ยังไง

ผมใช้เวลาพักใหญ่ในการติดต่อ NASA และมหาวิทยาลัยฮาวาย (NASA มีโปรเจกต์ส่งคนขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร และมหาวิทยาลัยฮาวายก็ส่งคนอีกกลุ่มหนึ่งทดลองใช้ชีวิตแถบปล่องภูเขาไฟในฮาวาย ซึ่งพื้นที่มีลักษณะคล้ายดาวอังคาร จุดประสงค์เพื่อทดสอบว่าในอนาคตมนุษย์สามารถอยู่บนดาวอังคารได้ไหม) ปรากฏว่าพวกเขาเริ่มภารกิจแล้วตอนผมติดต่อไป ผมจึงใช้วิธีเขียนอีเมลถึงพวกเขาที่ทำภารกิจบนดาวอังคารอยู่ และขอให้พวกเขาทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้ อย่างอัดวิดีโอง่ายๆ เหมือนเป็นวิดีโอไดอารีส่งมาให้ผม นั่นคือวัตถุดิบชั้นดีเลย

แล้วตอนไหนในหนังที่คุณชอบมากที่สุด

ค่ายผู้ลี้ภัย อาจเพราะผมใช้เวลากับมันมากที่สุดเลย เราเริ่มถ่ายกันในนิวยอร์กกับสตอกโฮล์ม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบบ้านผู้ลี้ภัยไปจนถึงค่ายในอิรักที่ผู้ลี้ภัยต้องสร้างบ้านกันเอง

The Human Shelter

การเล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยสำคัญกับคุณมากน้อยแค่ไหน

สำคัญมากนะ เพราะตอนนี้เรามีผู้ลี้ภัยประมาณ 80 ล้านคนในโลก ผู้อพยพ คนไร้บ้าน ภาพยนตร์เรื่องนี้สำรวจเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นตอนที่ลี้ภัยมายังแคมป์เพื่อสร้างบ้านใหม่ของตัวเอง ซึ่งถูกออกแบบและสร้างด้วยวิธีที่มีคุณภาพตามหลักการออกแบบสมัยใหม่ วัสดุที่พวกเขาใช้ก็ได้รับการสนับสนุนจากอิเกีย เป็นวัสดุประกอบบ้านที่คุณสามารถต่อมันขึ้นเองด้วยกำลังคน 3-4 คน ภายใน 4-8 ชั่วโมง ไม่ใช่เต็นท์ แต่เป็นบ้านจริงๆ มีประตู หน้าต่าง จับต้องได้และรู้สึกปลอดภัย

นอกจากสร้างบ้านเองแล้ว เราเห็นว่าผู้ลี้ภัยทำบางสิ่งกับบ้านของตัวเอง อย่างในเรื่องมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกแต่งสถานที่ด้วยผ้าพื้นเมืองจากถิ่นฐานที่เคยอยู่

ใช่ นี่คือสิ่งที่ผมชอบเหมือนกัน คุณไม่สามารถเขียนสิ่งนี้เป็นสคริปต์ได้เลยนะ ที่ค่ายมีผู้หญิงที่แต่งบ้านด้วยผ้าสีสัน หรือผู้ชายชื่อมุฮัมมัดที่หอบสูท 7 ตัวลี้ภัยมากับเขา และเมื่อถึงที่ปลอดภัยเขาก็ใส่มันทุกวัน (ยิ้ม)

เหมือนว่าทุกคนพยายามทำบางอย่างเพื่อให้รู้สึกว่าที่นั่นคือบ้านของเขา

ทุกคนนิยามความหมายของคำว่าบ้านแตกต่างกัน ว่าแต่คุณล่ะ บ้านของคุณหมายถึงอะไร

ฉันคิดว่าบ้านไม่ใช่แค่สถานที่ แต่รวมถึงผู้คน บ้านคือที่ที่มีครอบครัวและเพื่อน ที่ที่ทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัย และในบางครั้งสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้อยู่บ้านคือการกินอาหารที่คุ้นเคย

ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ทั้งเรื่องความปลอดภัย ผู้คน และความรู้สึกคุ้นเคยบางประการ สำหรับผมหนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าการพูดเรื่องบ้านที่มองเห็นและสัมผัสได้ แต่มันพูดไปถึงบ้านในระดับที่ลึกลงไป ไม่ว่าโครงสร้างจะดีไซน์ยังไงเราก็ต่างต้องการบ้านที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน อย่างเช่นอาหารที่คุณพูดถึงก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งเหมือนกัน

The Human Shelter

แล้วบ้านคืออะไรในความหมายของคุณ

นอกจากจะจับต้องได้และปลอดภัยอย่างที่คุณบอก ผมคิดว่าบ้านน่าจะหมายถึงความสงบและการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล

ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ผมพบกับชาวนอร์ดิก ชนเผ่าในประเทศนอร์เวย์ ที่ใช้ชีวิตกับกวางเรนเดียร์ในพื้นที่ของชาวสแกนดิเนเวียนยุคเก่า ที่นั่นเงียบจนคุณได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้นได้จริงๆ ตอนนั้นเองที่ผมรู้สึกว่าการอยู่กับธรรมชาติให้ความรู้สึกผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน การได้เจอชาวนอร์ดิกเหล่านั้นทำให้ผมอยากเปลี่ยนอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ทุกวันนี้ให้กลายเป็นบ้านติดทะเลสักหลังเลย (หัวเราะ)

ในทางหนึ่งการนั่งสมาธิก็ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้อยู่บ้านเหมือนกัน เพราะผมนั่งสมาธิและทำโยคะกับคนในครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนผมมักพกเสื่อสำหรับโยคะและนั่งสมาธิไปด้วยเสมอ ผมคิดว่ามันสำคัญมากนะที่จะหากิจกรรมสักอย่างทำเพื่อให้คุณรู้สึกว่าบ้านอยู่กับคุณ

ในฐานะคนทำ หนังเรื่องนี้เปลี่ยนมุมมองต่อคำว่าบ้านของคุณไปยังไง

จากการทำหนังเรื่องนี้ ผมได้เรียนรู้ว่าบ้านไม่ได้หมายถึงการมีทีวีเครื่องใหญ่หรือมีเครื่องอุปโภคบริโภคครบครัน แต่บ้านหมายถึงผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ หมายถึงความห่วงใยที่มีให้กัน การที่พวกเขาทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

เราเรียกที่นั่นว่าบ้าน เพราะนั่นคือที่ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ถูกมองข้ามและเป็นคนสำคัญ ผมคิดอย่างนั้นนะ

The Human Shelter

บ้านที่คุณอยากกลับไปใช้ชีวิตวันสุดท้ายเป็นแบบไหน นั่นคือสิ่งที่เขาตั้งคำถามกลับมาที่คนดู

แน่นอนว่าทุกคนคงมีคำตอบในใจที่ต่างกัน แต่ถ้าจะมีอะไรบางอย่างที่คล้าย อาจเป็นมุมมองที่เรามีต่อบ้านหลังนั้นว่ามันคือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

หากคุณเจอบ้านของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือผู้คน อย่าลืมดูแลมันให้ดี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่