ไกลบ้านแค่ไหนคือใกล้ สำรวจชีวิต ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ กับธีรพันธ์ ผู้กำกับสารคดีไกลบ้าน

Highlights

  • ไกลบ้าน คือสารคดีความยาว 36 นาทีที่บันทึกความรู้สึกของ 'วัฒน์ วรรลยางกูร' ผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557 โดยจัส–ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์
  • หลังรับรู้ชะตากรรมของบุคคลที่ตนรู้สึกใกล้ชิดทางใจ จัสจึงเก็บความรู้สึกอัดอั้นตันใจมาถ่ายทอดเป็นสารคดี เพื่อสะท้อนความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัยคนหนึ่งที่ไม่ได้มีเพียงมิติการต่อสู้ทางการเมือง
  • จัสไม่ได้นิยามตัวเองเป็นคนทำหนังเพื่อต่อสู้ แต่เป็นคนธรรมดาที่อยากสื่อสารในสิ่งที่ตนคิดและรู้สึก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบทสนทนาให้กับสังคม
  • สิ่งที่จัสอยากสื่อสารกับผู้ชมคือ ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่คนคนหนึ่งคิดหรือแสดงออกหรือไม่ ขอให้เห็นว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างกันกับเรา

จัส–ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ปรากฏตัวพร้อมกับรองเท้าวิ่งสีรุ้งแสนสะดุดตาในบ่ายที่เรามีนัดสัมภาษณ์กัน 

“สองสิ่งในชีวิตเรามีแค่ภาพยนตร์กับรองเท้า ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ ชีวิตเราไม่มีความหมายอะไรเลย” 

หากรองเท้าวิ่งสีรุ้งนั้นทำให้เราเชื่อได้ว่าประโยคข้างต้นเป็นความจริง เส้นทางชีวิตของจัสที่เราได้รับรู้ผ่านบทสนทนาในวันนั้นก็ทำให้เราเชื่อได้ว่าภาพยนตร์คืออีกสิ่งที่จัสขาดไม่ได้ในชีวิต

ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ของภาพเคลื่อนไหว หลังจบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัสได้ทดลองทำงานหลากหลายในวงการสื่อ นอกจากเป็นนักสะสมรองเท้าตัวยงแล้ว จัสยังเป็นผู้กำกับหนังสั้น สารคดี มิวสิกวิดีโอ และโฆษณา

ก่อนหน้านี้ จัสไม่เคยใช้เครื่องมือที่ตนเองมีเพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ตามความสนใจและหาเลี้ยงชีพ จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เราได้เห็นสารคดี ‘ไกลบ้าน’ ผลงานของจัสที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ นักเขียนรุ่นใหญ่ที่ใช้งานเขียนของตนต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ยังหนุ่ม จนในปัจจุบัน วัฒน์เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากการปฏิเสธไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.เมื่อครั้งรัฐประหารในปี 2557 ทำให้กวีผู้นี้ต้องระหกระเหินออกเดินทางเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและจำต้องละทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง

“ตั้งแต่เริ่มทำ ไกลบ้าน นี่คือช่วงเวลาที่เรากลัวที่สุด”

สามวันก่อนที่ ‘ไกลบ้าน’ จะถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ จัสได้โพสต์ประโยคดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เนื้อหาในโพสต์บรรยายถึงความกลัวจากความไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะนำไปสู่อะไรที่เขาไม่คาดคิด 

จัสย้ำกับเราหลายครั้งระหว่างสนทนาว่า เขามองตัวเองเป็นเพียงคนทำหนังคนหนึ่งที่พยายามทำสิ่งที่ตัวเองรัก แต่ในครั้งนี้จัสมีสิ่งที่รู้สึกและอยากสื่อสารออกมาผ่านเครื่องมือที่เขามี

จากชายผู้มีความหลงใหลในรองเท้าและศาสตร์ภาพยนตร์ อะไรที่ทำให้ชายคนนี้ลุกขึ้นมาเอาชนะความกลัวในใจ แล้วส่งเสียงของตัวเองผ่านการทำสารคดีที่พูดถึงประเด็นทางการเมืองได้อย่างหาญกล้า

เชิญกดปุ่มเพลย์เพื่อเริ่มต้นบทสนทนานี้ไปด้วยกัน

 

ทำไมถึงนำสิ่งที่ชอบอย่างหนังมารวมกับการเมือง

เราเป็นคนชอบดูหนังและทำหนังอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ทำหนังสารคดีที่เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากหอภาพยนตร์ เรื่องนั้นเกิดจากความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับบ้านที่เป็นคนจีน ปีนั้นเลยหยิบกล้องไปถ่ายวันเชงเม้งที่บ้านเพราะสงสัยว่าทำไมถึงไม่อยากไป หลังจากนั้นเราได้ทำสารคดีอีกเรื่องเกี่ยวกับรถติด ทั้งเรื่องเป็นรถติดอย่างเดียวเลยครึ่งชั่วโมง ทุกครั้งที่รถวิ่งจะตัดภาพหนีไปเพื่อให้คนดูรถติดอีกรอบหนึ่ง ตอนนั้นที่ทำเพราะสนใจการทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างมากกว่า ไม่ได้คิดว่ามันเป็นการเมืองด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราสนใจภาพการเมืองที่กว้างมากขึ้นเพราะได้สำรวจแง่มุมการเมืองบนท้องถนนและการเมืองในชีวิตเราด้วย

ที่สนใจการเมืองมากขึ้นคงเป็นในแง่ที่ว่า เรารู้สึกว่าชีวิตที่เห็นและทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมารอบๆ ตัวเราเป็นเรื่องการเมืองหมดเลย สังคมมีการเมืองแทรกอยู่ในทุกระดับความสัมพันธ์อยู่แล้ว ทำให้เราเริ่มอยากสำรวจมุมมองการเมืองต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้น

แล้วอะไรที่ทำให้ตัดสินใจทำสารคดี ‘ไกลบ้าน’ ขึ้นมา

คงเป็นความประจวบเหมาะหลายอย่าง เรื่องการเมืองกวนใจเรามาหลายปีมากๆ คงมีคนรู้สึกเหมือนกันแต่เรื่องนี้กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงในแบบอื่นๆ เท่าไหร่ เรามักเห็นบทความ ข่าว หรือบทสัมภาษณ์ แต่ยังไม่ค่อยเห็นใครหาวิธีจับประเด็นหรือนำเสนอออกมาในรูปแบบอื่นๆ พอเห็นว่าคนยังพูดเรื่องนี้ไม่เยอะ เราเลยอยากช่วยพูดด้วยเหมือนกัน

อย่างเรื่อง ไกลบ้าน ก็เริ่มจากการเป็นแฟนคลับหนังเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ที่คุณวัฒน์เป็นเจ้าของนวนิยายต้นฉบับก่อนนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ พูดได้ว่าเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบที่สุดในชีวิต เราเลยรู้สึกใกล้ชิดกับเขาทางอ้อม ประจวบเหมาะว่ารู้จักกับลูกชายเขาพอดี พอมารู้ว่าคนคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเราขนาดนั้นตกเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยอยู่แล้วมันเลยส่งผลต่อความรู้สึกเรามากๆ เป็นความรู้สึกทั้งอึดอัด ไม่สบายใจ และคาใจเรามาโดยตลอด ประกอบกับความรู้สึกร่วมของคนในสังคมที่เริ่มทนการเมืองไม่ได้มากขึ้น คนอึดอัดมากขึ้น เราเองเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกนั้นเลยอยากขอพูดในแบบของเราด้วยทักษะที่เรามีคือการทำหนัง

 

เท่าที่ดูมา ทำไมถึงเล่าออกมาในน้ำเสียงเศร้าๆ เหงาๆ ทั้งๆ ที่ถ้าคนเห็นชื่อคุณวัฒน์น่าจะนึกถึงภาพการเล่าอุดมการณ์ทางการเมืองที่หนัก

คนเห็นตอนแรกคงคิดว่า ‘ไกลบ้าน’ มันต้องชงมาขมปี๋แน่นอน (หัวเราะ) ประมาณว่าเราต้องสู้เพื่ออุดมการณ์ แต่เรากลับคิดว่าตัวคุณวัฒน์เป็นหลักฐานของการต่อสู้ในตัวเองอยู่แล้ว เราเลยอยากให้คนได้เห็นมิติอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างมิติทางด้านครอบครัว มิติของคนรอบข้างมากกว่า

อาจเป็นเพราะเรามองคุณวัฒน์เหมือนเป็นคนใกล้ตัวที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่แรก เราเลยไม่ได้มองเขาเป็นประเด็นทางการเมืองมากขนาดนั้น การรู้จักกับลูกเขาทำให้เราเห็นมุมละเอียดอ่อนของเขามากขึ้นด้วย สิ่งนี้จึงช่วยหลอมไอเดียมาตั้งแต่ต้น และด้วยข้อจำกัดของการไปถ่ายค่อนข้างเยอะ จึงมีกรอบมาอยู่แล้วว่าอยากถามเขาเรื่องอะไร แล้วเขาจะพาไปไหนก็ได้เพราะว่านี่คือเรื่องเล่าของเขา เราเป็นแค่คนเอาสิ่งเหล่านี้มาประกอบรวมกัน ยกตัวอย่างเช่น เราชอบตอนที่เขาพูดเรื่องเครื่องกรองน้ำมากเลย มันจังหวะอะไรก็ไม่รู้ คุยอะไรกันก็ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่ความอะไรไม่รู้นี่แหละคือความเป็นคนจริงๆ

 

ดูคุณอยากตีแผ่มิติความเป็นมนุษย์ของคุณวัฒน์มากกว่าด้านการเมืองที่คนปกติทั่วไปเคยเห็น

เพราะเราว่าความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เราไม่เห็นความเป็นคน ดังนั้นสิ่งที่เราอยากนำเสนอให้คนดูเห็นคือมิติความเป็นมนุษย์ เขาเป็นมนุษย์เหมือนเรานี่แหละ เป็นมนุษย์ที่มีชีวิต มีความสุข มีความเศร้าโศกเสียใจ ถ้าตัดแค่ความคิดที่ไม่เหมือนกันออกไป เขาเหมือนพ่อเหมือนแม่เราเลย ยิ่งไปกว่านั้นเขายังมีครอบครัวและลูกๆ ที่ต้องรับผลที่ตามมาจากการลี้ภัยนี้ด้วย มันไม่ใช่แค่คนคนเดียวลี้ภัยไปแล้วทุกอย่างจบ ทุกอย่างมันมีเรื่องหลังจากนั้นและเรื่องรอบๆ ข้างอีก 

ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากพูดคงเป็น สุดท้ายแล้วคุณไม่เห็นด้วยกับคนแบบนี้หรือรู้สึกว่าเขาทำผิดก็ได้นะ แต่อย่างน้อยอยากให้เห็นว่าเขาเป็นคนเหมือนกับเรา ไม่ต้องเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกต้อง แต่ถ้าหนังของเราทำให้คนดูเห็นว่าเขาเป็นคน เราจะดีใจที่เกิดสิ่งนั้นขึ้น

 

การที่มีประเด็นเรื่องความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ เข้ามาในครึ่งหลังของสารคดี คุณตั้งใจจะให้เกิดสิ่งนี้ตั้งแต่แรกเลยไหม

ใช่ แต่ตอนแรกเรานึกถึงความหมายของบ้านในแบบของคนที่จะไม่ได้อยู่ที่บ้านแล้ว แต่พอได้ไปคุยจริงๆ ความหมายของคำว่าบ้านกลับขยายกว้างขึ้น ด้วยความเข้มทางประเด็นในตัวคุณวัฒน์เองเลยทำให้เราได้เห็นมิติของคำว่าบ้านที่ลึกขึ้น เป็นบ้านที่ไม่ใช่แค่ตัวบ้าน แต่เป็นสถานที่ที่เราอยู่ได้อย่างอิสรเสรี และรู้สึกสบายใจที่จะอยู่ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจไว้ให้เป็นแบบนี้ เพราะเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่รู้สึกว่าสิ่งที่ได้มาเป็นมิติที่ดีและช่วยให้เราเห็นเรื่องราวได้ชัดเจนแข็งแรงมากขึ้น

อย่างเรื่องชื่อกรุ๊ปไลน์ ‘Home in The Sky’ ของครอบครัวคุณวัฒน์ก็ไม่ได้ตั้งใจ เราไม่ได้รู้ข้อมูลอะไรก่อนนะ ตอนที่สัมภาษณ์ลูกคุณวัฒน์ระหว่างถ่ายเป็นครั้งแรกเหมือนกันที่ได้รู้เรื่องราวทั้งหมด คิดว่าลูกเขาคงรู้ว่าเราอยากพูดถึงเรื่องอะไรก็เลยเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง พอได้รับรู้เรื่องราวตรงนี้เพิ่มขึ้นก็เริ่มเห็นว่าเราสามารถพูดถึงสิ่งนี้ไปด้วยกันได้

พอประเด็นเรื่องบ้านลึกขึ้นแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

ตอนถ่ายยังไม่รู้สึกอะไรนะ แต่ตอนดูดราฟต์ที่สมบูรณ์ครั้งแรกเราร้องไห้เลย เพราะตอนแรกตั้งใจจะพูดประเด็นอย่างความห่างไกล ความพลัดพรากมากกว่านี้ แต่สุดท้ายมันออกมาเป็นความเศร้าในแบบที่เราไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนั้น อาจเพราะเรารู้สึกใกล้ชิดด้วย เลยมีความรู้สึกเอ่อล้นขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้คาดคิดเหมือนกัน สิ่งนี้ทำให้หนังชุ่มชื่นขึ้น เพราะเราไม่ได้พูดถึงประเด็นอย่างเดียว แต่พูดถึงความรู้สึก พูดถึงสิ่งที่คนคิด สิ่งที่คนต้องรับมือ

 

พอตอนนี้มีกระแสอุ้มหายผู้ลี้ภัยขึ้นมา มีมิติอะไรที่คุณมองเห็นเพิ่มเติมจากตอนที่ทำ ไกลบ้าน ไหม 

เราได้เห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น ก่อนหน้านี้เราไม่รู้หรอกว่าคนที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมแบบนั้นเขาเป็นคนยังไง ทำอะไร แสดงออกยังไง เราคิดไม่ออก แต่พอเราได้ไปคลุกคลีกับชีวิตของพวกเขา มันทำให้เราเห็นความเป็นคนกว้างขึ้น ทำให้เวลาเราฟังคนพูดถึงคนที่หายไปแล้วยิ่งรู้สึกมากกว่าเดิม ถ้าหากว่าความขัดแย้งทางการเมืองไม่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เขาอาจเดินเล่นกับเราอยู่ก็ได้

เรามีโอกาสได้ไปฟังกรณีของคุณสยาม (สยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมเพื่อสังคมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองคดีมาตรา 112) เป็นกรณีหนึ่งที่สะเทือนใจเรามากเหมือนกัน จากสิ่งที่คนอธิบายถึงความเป็นตัวตนของสยามที่ฟังดูเรียบง่ายเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเพื่อนแบบที่เราจะชอบแกล้งตอนเรียนด้วยซ้ำ เรามักใจหายกับการที่ตัวตนของคนคนหนึ่งที่เคยอยู่ในความทรงจำของคนทุกคน แล้วอยู่ๆ เขาก็หายไป

ในกรณีของคุณต้าร์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีข่าวถูกอุ้มหายในกัมพูชา) ที่มีคนมาพูดถึงว่าต้าร์เป็นคนยังไง เราฟังไม่ค่อยไหวเหมือนกัน มันเศร้ามากๆ ต่อให้เราเป็นคนไม่ดีกับเพื่อน แต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ใครสักคนคงต้องผูกพันกับเราบ้างแหละ การที่คนคนหนึ่งหายไปเฉยๆ จึงเป็นความรู้สึกที่หนักมากๆ สำหรับเรา

 

รู้สึกยังไงที่ประเด็นเรื่องการอุ้มหายใกล้ตัวกว่าที่เราคิด 

ใจหายที่สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ ก่อนหน้านี้หลังจากที่ถ่ายทำ ไกลบ้าน เสร็จ ระหว่างนั้นมีข่าวคุณสุรชัย แซ่ด่าน กับอีกสองคนที่หายที่ลาว มีข่าวคุณสยามที่หายอีก ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องอุ้มหายมันใกล้ตัวนิดเดียวเอง ยิ่งเราเคยได้ไปคลุกคลีกับคุณวัฒน์มาจริงๆ ยิ่งรู้สึกว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวเข้าไปใหญ่ พอมาครั้งนี้ที่คนสนใจข่าวการหายตัวของคุณวันเฉลิมมากขึ้นก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจเหมือนกัน เพราะหายไปตอนกลางวันแสกๆ

ตอนทำเรื่องนี้ที่ต้องพูดประเด็นทางการเมือง คุณกลัวไหม

จริงๆ กลัว กลัวหลายอย่าง สังคมทุกวันนี้มันน่ากลัวขึ้นมาก เพราะมีที่ให้เราพูดน้อยลง เราเลยกลัวเพราะไม่รู้ว่าการทำสิ่งนี้จะพาเราไปเจออะไร และไม่รู้ว่าในสังคมปัจจุบันที่เชี่ยวกรากขนาดนี้อาจจะพาอะไรมาสู่เราได้เหมือนกัน

อีกอย่างที่เรากลัวคือความรุนแรงในสังคมที่เรารู้และไม่รู้มันเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราเป็นห่วงว่าคนที่แชร์ผลงานเราไปมีทัศนคติตอนที่แชร์แบบไหน เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเดือดร้อนหรือโดนล่าแม่มดเพราะการแชร์ผลงานของเรา เรารับผิดชอบตรงนั้นไม่ได้เลยต้องระวังตรงนี้เป็นพิเศษ ซึ่งในฐานะคนทำงานเราแฮปปี้ถ้าคนดูแล้วไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบผลงานของเรา แต่เราจะคุยกันยังไงให้มีอารยะ เราเปิดกว้างมากๆ กับเรื่องนี้ แต่เราแค่กลัวว่าผลงานมันจะพาเราไปสู่ความรุนแรงที่เราไม่รู้หรือเปล่า

 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าแต่ก่อนเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในแบบที่สังคมบอกให้เชื่อ แล้วอะไรทำให้หลุดออกจากความเชื่อนั้นได้

โลกทุกวันนี้ทำให้สังคมไม่มีทางกลับไปถึงจุดนั้นได้อีกแล้ว เรารู้สึกว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทัศนคติของเราเปลี่ยนไปเยอะมากจนไม่มีใครสามารถบังคับให้เรากลับไปคิดไปเชื่อเหมือนเมื่อก่อนได้อีก ถึงแม้เวลาที่หายไปสิบกว่าปีนั้นจะน่าเสียดาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สำคัญมากเพราะมันทำให้คนในสังคมได้เห็น ได้เรียนรู้ และเติบโตขึ้นมาก เราได้เรียนรู้ว่าที่ผ่านมาเราเคยเจออะไรกันมาบ้าง แล้วเราจะไม่กลับไปสู่จุดนั้นอีก

 

แต่ถ้าเกิดสมมติอีก 5 ปีข้างหน้า ความเชื่อทางการเมืองของคุณเปลี่ยนไปอีก คุณจะลบผลงานที่ตัวเองเคยทำไว้ไหม ในเมื่อสิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นหลักฐานปรากฏว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีความเชื่ออีกแบบอยู่

ถ้าเกิดไปถึงจุดนั้นจริงๆ คงต้องยืนอยู่บนหลักการ เช่น งานนั้นมันไปเหยียดหยามหรือดูหมิ่นความคิดใครหรือเปล่า ถ้าหากว่าเข้าข่ายก็คงไม่เก็บไว้ แต่ไม่ได้ไม่เก็บไว้ในฐานะที่ไม่เคยทำ เราคงยอมรับว่ามันเคยมีอยู่ แต่ก็อย่ามีอยู่ต่อไปเลยแล้วกัน แต่ในอีกกรณีก็อาจเก็บไว้เพื่อให้เห็นว่าเคยเกิดสิ่งนั้นขึ้นในชีวิตของช่วงเวลาเหล่านั้นในสังคม

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเหมือนกัน สมัยที่เรายังเชื่อโลกนี้อีกแบบหนึ่ง เคยคิดอยากทำงานที่พูดเรื่องการเมือง พอมาวันนี้ยังเคยคิดกับตัวเองอยู่เหมือนกันว่าถ้าวันนั้นทำงานออกมา เราจะรู้สึกยังไงกับงานชิ้นนั้นในวันนี้ที่เรามองเห็นโลกนี้อีกแบบหนึ่งแล้ว เราคงไม่แฮปปี้ที่จะพูดถึงถ้ามันเข้าข่ายที่ส่งผลกระทบถึงใครในทางลบ

ถ้ามีโอกาสได้ทำสารคดีเกี่ยวกับต้าร์ วันเฉลิม จะทำไหม

ต้องดูว่าเราสนใจอยากเล่าประเด็นอะไรในเรื่องนั้นหรือเปล่า เราจะมีหลักยึดว่าถ้าไม่ได้รู้สึกอยากทำก็จะไม่ทำ เพราะมันมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการพูดในสิ่งที่อยากพูดผ่านสารคดีกับการหากินกับเรื่องราวของคนอื่น ในมุมหนึ่ง การทำสารคดีคือการที่เราเข้าไปหยิบจับหรือใช้งานเรื่องราวของคนอื่นเยอะมาก ดังนั้นถ้าเราไม่รู้สึกหรือไม่ได้ต้องการพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นจริงๆ ก็จะไม่อยากทำเลย อันนี้เป็นสิ่งที่เราระวังมาก สิ่งไหนที่ไม่ทำไม่ใช่ว่าไม่สนับสนุนหรือไม่เห็นค่า แต่เราอาจไม่ต้องพูดด้วยเครื่องมือของเราก็ได้

 

ไม่กลัวถูกว่าว่าเป็น ‘ไทยเฉย’ เหรอ 

เราว่าไปบังคับให้ใครพูดหรือทำอะไรไม่ได้ ถ้าเกิดเราไปบังคับแล้วเขาไม่อยากพูดหรือไม่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มันไม่มีประโยชน์เลย สำหรับเราความเปลี่ยนแปลงหรือการเคลื่อนไหวที่ดีคือการที่เราพูดกันไปเรื่อยๆ จนทุกคนเห็นด้วยกับเราอย่างบริสุทธิ์ใจแล้วยินดีที่จะพูดสิ่งนั้นไปด้วยกัน สังคมควรมีพื้นที่ให้คนเราได้พูดอย่างที่รู้สึกจริงๆ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราอยากพูดทั้งหมด เขาก็มีสิทธิพูดในสิ่งที่เห็นต่างออกไป

เราคิดว่าสังคมจะสามารถหลุดพ้นจากความขัดแย้งและพัฒนาต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อในสังคมนั้นมีข้อโต้เถียงที่หลากหลายพอ เราไม่ควรคิดว่าความคิดหรือความเชื่อบางอย่างผูกขาดความถูกต้องไว้หมด ทุกข้อโต้แย้งสามารถถูกท้าทายได้ตลอด ประเด็นอยู่ที่ว่าเราหาข้อสรุปกันว่ามันโอเคไม่โอเคยังไง ขัดกับหลักการไหนหรือสนับสนุนหลักการอะไร แล้วเราควรเชื่อแบบไหน นี่เป็นสิ่งที่ต้องโต้แย้งกันเรื่อยๆ 

หลังจากดูหนังจบ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกสิ้นหวังกับสังคมแล้ว แล้วคุณในฐานะคนทำสารคดี คุณยังมีความหวังอยู่ไหม

(นิ่งคิด) ส่วนตัวนะ เรารู้สึกว่ามันไม่มีหวังเลย

ตอนแรกๆ ยังมีหวัง แต่พอได้ฟังจากคุณวัฒน์ด้วยแล้วก็ทำให้เราคิดได้ว่าสังคมเราอยู่กับอะไรแบบนี้มานานมากๆ แล้วตอนนี้สังคมมันยิ่งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เผลอๆ ตอนนี้หนักกว่าสิบปีที่แล้วอีก

ยิ่งพอเราได้เติบโต ได้เห็นโครงสร้างสังคมมากขึ้น เราเลยได้เรียนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่าไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแค่หนึ่งอย่างสองอย่าง แต่เราต้องเปลี่ยนเป็นร้อยๆ พันๆ อย่างในสังคมนี้ ทุกอย่างในสังคมมันยึดโยงกันมากจนเรานึกไม่ออกว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นได้ยังไงถ้าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน แต่ถ้าเราเริ่มจากการที่คนในสังคมเห็นเป้าหมายเดียวกันว่าควรต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปจากจุดนี้ เราก็เชื่อว่ามีความหวัง แต่แค่ตอนนี้รู้สึกว่าเรายังไม่อยู่ในจุดนั้น ยังไม่ใกล้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่พยายามบอกตัวเองคือถ้าเราทำอะไรได้เราก็ทำ ถ้าเรารู้สึกว่าพูดอะไรได้และอยากพูดเราก็หาวิธีพูดออกมา อย่างน้อยเรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันทำมาแล้วมีคนได้ดู แล้วมันช่วยทำให้เขารู้สึกหรือคิดอะไรได้มากขึ้นเราก็ชื่นใจ เพราะเราได้ทำหน้าที่ในการช่วยสร้างบทสนทนาขึ้นในสังคมแล้ว

 

ถ้าตัวคุณเองไม่ได้มีความหวังขนาดนั้น แล้วยังหวังกับกระแสคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังได้หรือเปล่า

ถึงเราบอกว่าไม่มีหวังแล้ว แต่คิดว่าทุกวันนี้ที่เรายังทำอยู่เพราะลึกๆ ยังไม่หมดหวัง เราคิดว่าปัญหาหนึ่งของสังคมไทยที่ผ่านมาคือ บทเรียนที่ได้จากความผิดพลาดของคนรุ่นก่อนไม่ถูกส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป คนรุ่นเราเลยเติบโตมาโดยไม่มีความเข้าใจข้อผิดพลาดในอดีต สุดท้ายอดีตก็ถูกลืม เราไม่เคยรู้เลยว่าความผิดพลาดสมัย 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา คืออะไร พอบทเรียนนั้นไม่ถูกส่งต่อสังคมก็กลับไปเป็นแบบเดิม

ในความเห็นของเรา ความเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่เราเชื่อว่าในโลกทุกวันนี้ที่มีการบันทึกสิ่งต่างๆ มากขึ้น และคนเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน บทเรียนจะหายไปยากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเราควรต้องใช้บทเรียนนั้นให้ถูกต้องแล้วต่อยอด เราเลยยังคงหวังอยู่เสมอให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาได้เห็น ได้พูด ได้แสดงออก ได้แสดงจุดยืนของตัวเองเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่ทำให้พวกเขาได้เติบโต ได้เห็นข้อผิดพลาดของอดีต และได้ก้าวไปข้างหน้าในอนาคต

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปัณณทัต เอ้งฉ้วน

เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา