แกะท่า จำเนื้อ แล้วเจอกันที่ OVERSEOUL บาร์เกาหลีที่รู้ใจแฟนคลับราวกับเป็นเพื่อนในด้อม

Highlights

  • OVERSEOUL คือบาร์เกาหลีอายุ 2 ปีหมาดๆ ที่ตั้งอยู่ติด BTS สนามเป้า จุดแข็งของที่นี่นอกจากอาหาร เครื่องดื่ม เพลง และบรรยากาศการร้องเต้นชนิดลืมตายของคอเพลงเกาหลีในร้านแล้ว (ในที่นี้คือรวมทั้งลูกค้า พนักงานเสิร์ฟ ยันเจ้าของร้าน) วิธีการหยิบอินไซต์ของแฟนคลับเกาหลีมาพลิกแพลงเป็นชื่อเมนูหรืออีเวนต์ต่างๆ ก็สนุกไม่แพ้กัน 
  • “ตอนนั้นเรานั่งปาร์ตี้กันอยู่ที่บ้าน เปิดเพลงสากล เพลงไทยมาเรื่อยๆ แต่อยู่ๆ พอเพลง Gee ของ Girls’ Generation ขึ้นมา ทุกคนก็ลุกขึ้นมาเต้นพร้อมกันเฉยเลย หลังจากนั้นเราเลยคุยกันว่า ทำไมเราถึงไม่มีบาร์เกาหลีสำหรับเปิดเพลงเคป๊อปบ้างล่ะ เรารู้สึกว่าคนที่เขาชอบศิลปินเกาหลีเขาต้องกำลังตามหาสเปซแบบนี้อยู่แน่ๆ”
  • “นอกจากจะทำงานประจำกันแล้ว หุ้นส่วนร้านทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลแต่ละส่วนของร้านด้วย ใครที่ปกติทำงานเป็นครีเอทีฟ ก็ต้องคอยคิดคอนเทนต์พีอาร์ให้ร้าน ส่วนใครที่ถนัดเรื่องดูแลเพจก็จะเป็นแอดมิน คอยยิงแอดในเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ช่างภาพที่ถ่ายเมนูอาหาร และคนที่ดูแลเรื่องการตกแต่งร้านก็เป็นทีมหุ้นส่วนด้วยเหมือนกัน ทุกคนต้องมาลงมือช่วยกันหมด”

“ไปเกาหลีในราคา BTS” คือสโลแกนของร้าน OVERSEOUL บาร์เกาหลีย่านสนามเป้าที่ดึงดูดใจเรามากเป็นพิเศษในช่วงเวลาแบบนี้ เมื่อทุกคนยังไม่สามารถออกไปเที่ยวต่างประเทศได้เหมือนปกติ

แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกร้านจะยังร้อนชื้นไม่ต่างจากปกติ แต่อาหาร เครื่องดื่ม เพลง และบรรยากาศการร้องเต้นชนิดลืมตายของคอเพลงเกาหลีในร้าน (ในที่นี้คือรวมทั้งลูกค้า พนักงานเสิร์ฟ ยันเจ้าของร้าน) ความสนุกที่ได้จาก OVERSEOUL ก็พอจะทำให้เราหายคิดถึงลมหนาวในโซลไปได้ชั่วขณะ

วันนี้เรามีนัดกับ แก้มแก้ว โล่ห์อุลกะมณี หนึ่งใน co-owner ของ OVERSEOUL

แต่ก่อนหน้าที่จะมาพบกับแก้มแก้ว เราทดลองนำชื่อ OVERSEOUL ไปเสิร์ชดูในทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนบ้านของเหล่าแฟนคลับศิลปินเกาหลี กลุ่มเป้าหมายหลักของร้าน และนั่นทำให้พบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับบาร์เกาหลีสัญชาติไทยแห่งนี้หลายอย่างทีเดียว

หนึ่ง–ที่นี่คือบาร์เกาหลีที่ไม่ได้ขายแต่โซจูและมักกอลลี แต่ยังมีค็อกเทลชื่อสนุกอย่าง Forever Young, Jeju Ocean หรือ Shipper’s Blood ที่เสิร์ฟมาในถุงเลือดดีไซน์เก๋ต้อนรับเทศกาลฮาโลวีน รวมถึงอาหารและกับแกล้มอีกหลายเมนู ที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยจนอยากให้เปิดขายมื้อกลางวันด้วย

overseoul

สอง–OVERSEOUL คือร้านที่ขยันจัดอีเวนต์สุดๆ มีตั้งแต่ K-SIS NIGHT ธีมเพลงหญิงล้วนสำหรับสาวกเกิร์ลกรุ๊ป, Crash Landing on OVERSEOUL ที่จัดดนตรีสดสำหรับคอซีรีส์เกาหลี หรือวาระพิเศษอย่างวันเกิดศิลปิน หลายครั้งก็เปิดให้แฟนคลับมาเหมาร้านจัดปาร์ตี้ฉลองกันแบบยาวๆ ไปเลยทั้งคืน

และสาม–เราพบว่าที่นี่เองคือฉากหลังของคลิปเต้นคัฟเวอร์หมู่คณะที่เห็นในไทม์ไลน์ทวิตเตอร์อยู่บ่อยๆ เมื่อเพลงขึ้นและลูกค้าในร้านจากหลายโต๊ะต่างลุกขึ้นมาเต้นร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงราวกับซ้อมด้วยกันมาเป็นเดือน แต่เปล่า เพิ่งรู้จักกันที่ร้านนั่นแหละ!

overseoul

ขอบคุณภาพจาก OVERSEOUL BKK

ทั้งหมดที่ว่ามาคือความสนุกที่เราได้เห็นจากมุมมองของลูกค้า แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหล่าผู้ถือหุ้นที่ปลูกปั้นร้านนี้มาตั้งแต่วันแรกนั้นมีวิธีคิดยังไง ลงมือลงแรงยังไงจึงกลายมาเป็น OVERSEOUL อย่างที่เราเห็นในตอนนี้ 

เหลือเวลาอีกครู่ใหญ่ก่อนเปิดร้าน เราขอชวนไปนั่งคุยกับแก้มแก้วไปพลางๆ พร้อมเปิดเพลย์ลิสต์ K-Pop Daebak ฟังคลอไปด้วยเพื่ออรรถรส

จากปาร์ตี้ในบ้านเพื่อน สู่บาร์ที่เป็นเพื่อนรู้ใจของลูกค้า

“OVERSEOUL เกิดจากการรวมตัวของ 2 ทีม ทีมแรกคือเป็นกลุ่มพี่ๆ ที่เรียนวิศวะฯ เขาเคยทำบาร์มาก่อน อย่าง Loyshy นี่ก็ทำมาเป็นสิบปีแล้ว ส่วนอีกทีมเรียนนิเทศฯ มา ส่วนใหญ่ทำงานโฆษณา การสื่อสาร และแบรนด์ดิ้ง” แก้มแก้วเกริ่น

ในวันที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีบาร์เกาหลีที่เปิดเพลงเคป๊อปและเสิร์ฟโซจู อะไรทำให้คนสองกลุ่มนี้ตัดสินใจเริ่มต้นบาร์เกาหลีร่วมกัน

“ตอนนั้นเรานั่งปาร์ตี้กันอยู่ที่บ้าน เปิดเพลงสากล เพลงไทยมาเรื่อยๆ แต่อยู่ๆ พอเพลง Gee ของ Girls’ Generation ขึ้นมา ทุกคนก็ลุกขึ้นมาเต้นพร้อมกันเฉยเลย หลังจากนั้นเราเลยคุยกันว่า ทำไมเราถึงไม่มีบาร์เกาหลีสำหรับเปิดเพลงเคป๊อปบ้างล่ะ เรารู้สึกว่าคนที่เขาชอบศิลปินเกาหลีเขาต้องกำลังตามหาสเปซแบบนี้อยู่แน่ๆ”

เมื่อนำไปปรึกษากับ ตั๊ด–ธีธัช วรเสียงสุข ซึ่งมีไอเดียอยากเปิดบาร์ใหม่อยู่ก่อนแล้ว จึงกลายเป็นการจับคู่ที่ถูกฝาถูกตัว

overseoul

“สิ่งแรกที่คิดคือ เราไม่ได้อยากให้ร้านนี้เป็นที่สำหรับมาดื่มหรือมาเต้นอย่างเดียว แต่เราอยากให้ลูกค้าได้มาซึมซับบรรยากาศด้วย และเราก็ตั้งใจทำเมนูอาหารเกาหลีเพื่อให้มันครบลูปของคัลเจอร์ที่สุด” 

แม้จะมีภาพที่อยากเห็นอย่างชัดเจนแค่ไหน แต่การเปิดบาร์เกาหลีในยุคที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักร้านสไตล์นี้มาก่อน ย่อมเป็นเรื่องที่ทั้งยากและเสี่ยงในเวลาเดียวกัน

“ย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้านี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเที่ยวในผับ EDM หรือบาร์ดนตรีสด มันยังไม่เคยมีบาร์เกาหลีมาก่อน ดังนั้นตอนที่เปิดเราไม่ได้มั่นใจเต็มร้อยหรอกว่ามันจะประสบความสำเร็จแน่ๆ เราถึงขั้นมีแพลนบีด้วยซ้ำ คิดไว้แล้วว่าถ้ามันไม่เวิร์กก็จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น” ถึงจะออกตัวแบบนั้น แต่แก้มแก้วและทีมก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้แพลนบีถูกหยิบขึ้นมาใช้จริง 

หนึ่งในนั้นคือการเตรียมตัวทำการบ้านอย่างหนักของทุกคนในทีม ที่ถึงแม้หลายคนจะเป็นแฟนคลับไอดอลเกาหลีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างให้เรียนรู้

“เราทำการบ้านหนักมาก แต่วิธีการคือทุกคนจะต้องแยกย้ายกันไปนะ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่หลากหลายที่สุด บางคนจะเป็นสายฟังเพลงและดูคอนเสิร์ต ก็จะต้องไปสังเกตมาว่ามีอะไรที่นำมาเล่นเป็นกิมมิกของร้านได้บ้าง หรือบางคนเป็นสายซีรีส์ก็ต้องรีเสิร์ชว่าเรื่องไหนมีเมนูอาหารที่หยิบมาใช้ได้ไหม”

เมื่อฟังมาถึงตรงนี้ เราจึงไม่นึกแปลกใจเมื่อได้เห็นภาพอีเวนต์ที่ OVERSEOUL ชวนแฟนคลับนำแท่งไฟประจำแฟนด้อมของตัวเองมาโบกที่ร้าน รวมถึงเมนูฮิต 4 จานที่ยกมาจากซีรีส์ Itaewon Class และที่พลาดไม่ได้คือจาปากูรีจากเรื่อง Parasite ซึ่งแก้มแก้วเล่าว่าเบื้องหลังทุกอีเวนต์และทุกเมนู คือการระดมสมองคิดอย่างหนัก รวมถึงการชิม ชิม และชิม เพื่อให้รสชาติออกมาถูกต้องตรงใจที่สุด

overseoul

ด่านวัดใจในไตรมาสแรกของการเปิดร้าน

หลังจากที่ OVERSEOUL เปิดตัวได้ราวหนึ่งเดือน โต๊ะที่ถูกจองเต็มจนแน่นเอี้ยดแทบทุกวันทำให้ทุกคนในทีมเบาใจได้ว่า พวกเขาคงไม่จำเป็นต้องงัดแผนสำรองออกมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องลงทุนลงแรงเพื่อวางมาตรฐานร้านให้อยู่ตัวที่สุดในช่วงแรก

“ด้วยความที่หุ้นส่วนร้านทุกคนมีงานประจำ ช่วงแรกที่เปิดร้าน พอสักหกโมงเย็นร้านเปิดพอดีกับที่เราเลิกงาน ทุกคนก็จะสามัคคีกันมาที่ร้าน มาช่วยกันเสิร์ฟบ้าง รับลูกค้าบ้าง อยู่กันถึงตีหนึ่ง แล้วก็กลับบ้านไปนอน พอเก้าโมงเช้าก็ตื่นไปทำงาน เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 2-3 เดือนแรก” แก้มแก้วเล่าถึงตารางชีวิตอันหนักหน่วงของทีมงานทุกคนในไตรมาสแรกของ OVERSEOUL

overseoul

“ช่วงแรกที่ทีมหุ้นส่วนลงมาทำงานหน้าร้านเอง มันเหมือนเราได้เซตไวบ์ในร้านไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ถ้าใครเคยเห็นทวีตที่บอกว่าพนักงานเสิร์ฟ OVERSEOUL เต้นไปเสิร์ฟไป จริงๆ มันมาจากทีมหุ้นส่วนนี่แหละที่เริ่มเต้นก่อน แล้วพอพนักงานเห็นเราทำเขาก็เลยรู้ว่า อ๋อ ทำแบบนี้ก็ได้นี่หว่า ซึ่งเรามองว่าตรงนี้จริงๆ มันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่เราตั้งใจมอบให้กับลูกค้านะ” 

“ส่วนตัวคุณเป็นติ่งเกาหลีมาก่อนไหม” เราสงสัย 

“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยติดตามเอง แต่เราก็ถูกรายล้อมด้วยคนที่เป็นแฟนคลับเคป๊อประดับฮาร์ดคอร์มานาน ทำให้เราใกล้ชิดกับเพลงและศิลปินเกาหลีอยู่แล้วประมาณหนึ่ง”

แม้จะพอรู้จักชื่อศิลปินบางวงแบบผ่านหูผ่านตา แต่ด่านแรกที่แก้มแก้วต้องเผชิญก็โหดหินไม่น้อย เพราะ OVERSEOUL เปิดตัวขึ้นไม่กี่เดือนหลังรายการ Produce 101 Season 2 จบลงไป และลูกค้าแทบทุกคนก็ยังอินกับผู้เข้าแข่งขันนับร้อยชีวิตในรายการมากเสียจนแก้มแก้วทนอยู่เฉยๆ ไม่ได้

“ความรู้สึกตอนนั้นมันเหมือนสอบเอ็นทรานซ์ใหม่เลย เราต้องไปศึกษาว่าแต่ละคนคือใคร เพลงไหนคือเพลงที่ใช้แข่ง บางทีก็ต้องไปถามเพื่อนว่าทำไมลูกค้าถึงกรี๊ดเพลงนี้กันจัง มันพิเศษยังไงเหรอ 

“หรืออย่างช่วงที่มีศิลปินบางคนออกเพลงใหม่ ซึ่งเพลงปล่อยบ่ายสาม พอหกโมงเย็นเราเปิดร้าน ปรากฏว่าลูกค้าเต้นได้แล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้เลย หลังจากนั้นเวลาที่มีเพลงไหนออก เราก็จะต้องนับถอยหลังและดูเอ็มวีเป็นคนแรกเหมือนเป็นแฟนคลับคนหนึ่ง เพราะอย่างน้อยคืนนั้นเราก็จะได้ร้องตามได้ แค่ท่อนฮุกก็ยังดี

“ณ จุดนั้นมันไม่ใช่แค่การเป็นเจ้าของร้านที่ต้องดูแลลูกค้าแล้ว แต่มันคือความรู้สึกว่าเราอยากที่จะสนุกไปกับเขาด้วยจริงๆ” แก้มแก้วอธิบายถึงความรู้สึกในมุมของตัวเอง

มัลติทาส์กทุกความสามารถของทีมหุ้นส่วน

“ตอนแรกที่เปิดร้านเคยคิดไหมว่าจะต้องทำขนาดนี้” เราสงสัย เมื่อได้ฟังสิ่งที่ทีมงานแต่ละคนลงทุนลงแรงไป

“ไม่คิดเหมือนกันว่าจะต้องทำขนาดนี้ ตอนแรกก็คิดว่ามีเพลง มีอาหาร มีเครื่องดื่ม ก็คงพอแล้ว แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่ที่เปิดวันแรก จนตอนนี้ครบ 2 ปีพอดี ยังไม่มีวันไหนที่เราได้หยุดนิ่งเลย เพราะมันมีอะไรให้เราต้องคอยติดตามและอัพเดตตลอดเวลาจริงๆ” 

โชคดีที่ทีมหุ้นส่วนของร้านนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับผับและบาร์มาก่อนแล้ว การวางระบบหลังร้าน ทำบัญชี และการจัดซื้อจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของเรา ส่วนทีมที่ดูแลเรื่องการตลาดและพีอาร์ก็สามารถใช้แรงและเวลาในการวางแผนได้อย่างเต็มที่

“พอเราไม่ต้องห่วงตรงนั้นก็ทำให้เราได้มีเวลามาคิดเรื่องสนุกๆ อย่างอีเวนต์หรือคอนเทนต์ที่จะถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นเดือน อันนี้ไม่นับเรียลไทม์คอนเทนต์อย่างเมนูที่มาจากซีรีส์หรือภาพยนตร์ซึ่งเราก็ต้องเตรียมพร้อมตลอด แต่ทั้งหมดนี้มีเบื้องหลังที่ลูกค้าไม่เคยรู้ก็คือการประชุม พวกเราประชุมเยอะมากและซีเรียสมากๆ”

แม้ว่าทีมหุ้นส่วนของ OVERSEOUL จะวางมือจากงานหน้าร้านไปพักใหญ่แล้ว แต่เบื้องหลังนั้นพวกเขาก็ยังทำงานอยู่ตลอด ชนิดที่แก้มแก้วยืนยันได้ว่า เป็นหุ้นส่วนร้านนี้จะไม่มีการถือหุ้นเฉยๆ เพราะทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องรับผิดชอบ

“นอกจากจะทำงานประจำกันแล้ว ทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลแต่ละส่วนของร้านด้วย ใครที่ปกติทำงานเป็นครีเอทีฟ ก็ต้องคอยคิดคอนเทนต์พีอาร์ให้ร้าน ส่วนใครที่ถนัดเรื่องดูแลเพจก็จะเป็นแอดมิน คอยยิงแอดในเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ช่างภาพที่ถ่ายเมนูอาหาร และคนที่ดูแลเรื่องการตกแต่งร้าน ก็เป็นทีมหุ้นส่วนด้วยเหมือนกัน ทุกคนต้องมาลงมือช่วยกันหมด” 

การหยิบสิ่งที่เชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้กับร้านอาจฟังดูเป็นงานที่ง่าย แต่เมื่อต้องรับบทเป็นเอเจนซี่และลูกค้าในคราวเดียวกัน งานนี้ก็กลับกลายเป็นเรื่องท้าทายขึ้นมาเสียเฉยๆ

“ถ้าเป็นเอเจนซี่โฆษณา เวลาทำงานจะมีลูกค้ามาคอยแอพปรู๊ฟว่าเอา ไม่เอา ใช่ ไม่ใช่ แต่พอเป็น OVERSEOUL นั่นแปลว่าเราต้องตัดสินใจกันเองในฐานะเจ้าของร้าน เราไม่ใช่แค่เอเจนซี่คนกลางแล้ว เราต้องดูด้วยว่าไอเดียนี้มันสอดคล้องกับบัดเจ็ตไหม เราจะสนุกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันต้องทั้งสนุกสำหรับคนทำ เข้าถึงลูกค้า และเหมาะกับอิมเมจของร้านด้วย” 

ก้าวที่สองและสามของ OVERSEOUL

ผ่านไป 2 ปีนับจากวันที่ OVERSEOUL เกิดขึ้น ปัจจุบันเราได้เห็นบาร์เกาหลีจำนวนมากผุดขึ้นแทบทุกสถานีรถไฟฟ้า

“จริงๆ แล้วเรามองว่ามันเป็นเรื่องดีนะที่กรุงเทพฯ มีบาร์เกาหลีเปิดเยอะขึ้น เพราะมันทำให้กลุ่มลูกค้าของเราชัดเจนและแข็งแรงมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อคนเริ่มสนใจบาร์สไตล์นี้มากขึ้น เวลาที่มีการทำลิสต์บาร์เกาหลีในกรุงเทพฯ​ เราก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น 

“แต่โจทย์ของเราก็คือ จะทำยังไงให้ OVERSEOUL ยังคงอยู่ใน top of mind ของเขา เราจึงพยายามที่จะรักษามาตรฐานของงานบริการ อาหาร เครื่องดื่ม ทุกอย่างในร้านเลย และที่สำคัญก็คืออีเวนต์ต่างๆ เราต้องคอยอัพเดตเทรนด์อยู่เสมอ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ”

overseoul

ขอบคุณภาพจาก OVERSEOUL BKK

ที่น่าสนใจคือนอกจาก OVERSEOUL จะยังครองตำแหน่งบาร์เกาหลีในใจใครหลายคนอย่างเหนียวแน่นแล้ว แก้มแก้วและทีมงานยังขยับขยายไปเปิดบาร์เกาหลีอีก 2 ร้านในเครือนั่นคือ Buchy’s ในย่านทองหล่อ และ EVERSEOUL ที่ตั้งอยู่ในโซน Groove@CentralWorld

“ย้อนกลับไปช่วงแรกที่เปิดร้าน เรากับทีมหุ้นต้องมาทำหน้าที่รับคิวเพราะคนมันเยอะมากๆ เราก็กระซิบกันเล่นๆ ว่าคนเยอะอย่างนี้ต้องเปิดอีกสาขาแล้วไหม คือเราคิดมาตลอดว่าอยากขยายสาขา แต่เราก็ไม่เคยคิดหรอกว่าสาขาสองของเรามันจะเข้าไปอยู่ในห้าง เพราะแปลว่าเราไม่ใช่แค่ขยายร้านแล้ว มันจะจริงจังขึ้นไปอีกระดับเลย

ขอบคุณภาพจาก EVERSEOUL BKK

“ส่วนตอนที่ตัดสินใจเปิดร้าน Buchy’s เราก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน เพราะในละแวกเดียวกันนั้นมีบาร์เกาหลีอื่นๆ อีกหลายร้าน เลยตั้งใจให้จุดเด่นของ Buchy’s เป็นมุมถ่ายรูปที่โฟโตจีนิก อีกอย่างคือเรามองเห็นช่องว่างในตลาดที่ยังไม่มีใครหยิบมาใช้ นั่นคือเพลงแนว K-Groove ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่เพลงกระแสหลัก ไม่ได้มีท่าเต้นเหมือนเคป๊อปอื่นๆ ตรงนี้จึงกลายมาเป็นธีมหลักของ Buchy’s”

ใครที่เป็นแฟนคลับของบาร์เกาหลีทั้งสามร้าน อาจเคยสังเกตเห็นจุดแข็งหนึ่งที่โดดเด่นออกมาจากร้านกินดื่มหลายร้าน นั่นคือการเล่นกับอินไซต์ของลูกค้า ซึ่งก็มีตั้งแต่วิธีตั้งชื่อเมนู ภาพโปรโมต ก๊อบปี้ไรต์ในภาพ ไปจนถึงการออกแบบอีเวนต์ ทั้งหมดนี้ไม่ได้อาศัยแค่ฝีมือด้านครีเอทีฟเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีความเข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี

“ทีมของเราถนัดทำงานโดยเริ่มต้นจากอินไซต์ของคนก่อน อย่างร้าน O:T ซึ่งไม่ใช่บาร์เกาหลีนะ แต่อยู่ในเครือเดียวกันคือ Just Good Time ร้านนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนที่ทำงานออฟฟิศ ชื่อเครื่องดื่มก็มีตั้งแต่ leave without pay หรือ to be confirmed ส่วนสโลแกนของร้านคือ #พรุ่งนี้ลาเช้า แล้วก็มีโปรโมชั่นสำหรับคนรักงาน ใครเอาแลปท็อปมานั่งทำงานที่ร้านตอนวันหยุดก็รับเครื่องดื่มฟรี”

overseoul

เหล่านี้คือวิธีที่แก้มแก้วและทีมงานหยิบอินไซต์ของลูกค้ามาต่อยอดไปสู่ธุรกิจอย่างสนุกสนาน เมื่อทำบ่อยเข้าจึงกลายเป็นจุดแข็งของทีมไปโดยไม่ทันรู้ตัว จนแก้มแก้วยอมรับว่าในอนาคตหากจะขยายธุรกิจไปเปิดร้านใหม่อีก เธอก็คงต้องเริ่มคิดจากพฤติกรรมของลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก

“พอมีเรื่องอินไซต์ให้เราเล่น เวลาคิดงานเราก็จะเอนจอยมากๆ ตื่นเต้นมากๆ คิดยังไม่ทันเสร็จก็อยากเล่าเรื่องพวกนี้ให้ลูกค้าฟังแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งพวกนี้น่าจะทำให้เราทั้งทำได้ดีและมีความสุขด้วย”

As a result, This bar is a bar/restaurant located in Sanam Pao. Upon entering the venue, the first thing you’ll see is a ceiling-to-floor mirror wall, which makes the bar looks much more spacious. Polished cement walls and floors give a raw, industrial loft style, while pink and icy blue neon lights add

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!