Parasite ไม่ว่าคนจนจะตะกายขึ้นไปสักเท่าไหร่ สุดท้ายก็โดนความเหลื่อมล้ำเอาเท้าเขี่ยลงมา

เรื่องเริ่มต้นด้วยภาพถุงเท้าที่แขวนอยู่บนราวตากผ้าภายในบ้าน

บ้านที่หน้าต่างอยู่ระดับเดียวกับพื้นดิน 

กล้องค่อยๆ เคลื่อนต่ำลงมา เด็กหนุ่มคนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับมือถือโดยไม่ได้แยแสว่าถุงเท้านั้นถูกแขวนอยู่เหนือหัวของเขาด้วยซ้ำ

เขากำลังกลุ้ม จู่ๆ เพื่อนบ้านตั้งรหัสเข้า Wi-Fi ที่เขาเคยสูบใช้ฟรีมาตลอด

น้องสาวให้เขาลองใส่รหัส 123456789: ผิด 987654321: ผิดอีก

ท้ายสุด พ่อบอกให้ลูกชายยกมือถือขึ้นให้สูง แล้ว “ซอกซอนไปให้ทั่วทั้งเพดานและผนัง”

จนสุดท้าย เด็กหนุ่มเจอแหล่ง Wi-Fi ฟรีแห่งใหม่ให้สูบใช้ต่อไป

ฉากเปิดความยาว 2 นาทีนี้สามารถเล่าไอเดียหลักของ Parasite ชนชั้นปรสิต หนังสัญชาติเกาหลีใต้จากฝีมือการกำกับของ Bong Joon-ho ได้อย่างครบถ้วน 

นี่คือหนังเกาหลีเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Palme d’Or หรือปาล์มทองคำ รางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ไปครอง

นี่คือหนังที่นักวิจารณ์ทั้งไทยและเทศต่างลงเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าบันเทิงสุดขีด แสบสันสุดขั้ว และเชียร์กันอย่างสุดใจ

นี่คือหนังซึ่งเป็นที่เลื่องลือถึงการเสียดสีและวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำและชนชั้นได้อย่างสุดคม ผ่านสัญญะที่แทรกซึมไปในเนื้อหนังอย่างแยบคาย เข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องตีลังกาหรือก้มลงกราบไม่แบมือ 3 ครั้งก่อนดู

ทั้งเรื่องกลิ่นสาบที่ทำให้รู้ซึ้งถึงคำว่า ‘เหม็นสาบคนจน’ และการตอกย้ำว่าคนจนจะยังจนอยู่อย่างนั้นเหมือนกลิ่นสาบที่ติดตัว ต่อให้ย้ายที่อาศัย เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม กลิ่นนั้นก็ไม่อาจขจัด และแน่นอน มันช่างแสลงจมูกคนรวยเสียเหลือเกิน บ้านชั้นใต้ดินประกอบวิวภาพคนยืนฉี่แสนชื่นใจกับบ้านโอ่โถงที่มีกระจกมองเห็นสวนเขียวชอุ่มที่แทนค่าความ ‘คนละชั้น’ อย่างโหดร้ายแต่จริงในจริง หินเจ้าปัญหาที่เป็นตั้งแต่เครื่องยึดเกาะไปจนถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยา สิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์เด่นๆ เพียงเล็กน้อยที่ขอยกตัวอย่างมาแบบคร่าวๆ (เพราะหัวอื่นชิงเขียนถึงอย่างละเอียดไปหมดแล้ว) ยังไม่นับรวมรายละเอียดยิบย่อยและบทสนทนาเล็กๆ น้อยๆ ที่จุนโฮเลือกใช้ในการพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีและระหว่างสังคมมนุษย์ในภาพใหญ่ชนิดที่พูดได้เต็มปากว่าเก็บทุกเม็ด

สัญลักษณ์และความเหลื่อมล้ำถูกคนพูดถึงเยอะแล้ว ดังนั้นเราจึงขอพูดถึงข้อสังเกตและเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ของหนังเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านอินกับหนังมากขึ้น ทั้งสำหรับคนที่ดูแล้วและคนที่ยังไม่ได้ดู

ความเหลื่อมลํ้าในเกาหลีมาจากไหน

หัวใจสำคัญอันเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้มาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศเกาหลีใต้ 

ในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือเพิ่งก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น ความเหลื่อมล้ำคือสิ่งที่ตามติดมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่สำหรับประเทศอย่างเกาหลีใต้ ที่เศรษฐกิจพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องนับแต่ราวๆ ปี 1960 (เพิ่งเริ่มชะลอเมื่อปีที่แล้ว โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์) ความเหลื่อมล้ำนั้นถูกถ่างออกให้กว้างขึ้นในทุกๆ ปี ด้วยการเติบโตที่มาพร้อมการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจ Chaebol (บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทในเครือมหาศาลและถือครองโดยคนในครอบครัว เด่นๆ ที่เรารู้จักกันอย่างดีคือ Samsung, Hyundai, LG, Lotte และอื่นๆ อีกมากมาย) ที่ทำให้คนที่รวยอยู่แล้วหรือมีทีท่าว่าจะรวยนั้นยิ่งรวย (ดังที่ An Yong-shin หัวหน้าทีมรีเสิร์ชของ KB Financial Group ได้กล่าวไว้ว่า “Rich people getting richer is a global trend.”)

และคนจนก็ถูกผลักไสและกดทับให้จมอยู่ใต้ฐานของเศรษฐกิจโดยหมดสิทธิที่จะลืมตาอ้าปากยิ่งกว่าเดิม

ทำไมครอบครัวคิมจึงต้องกลายเป็น ‘ปรสิต’

ตามที่ได้เขียนถึงข้างต้นว่าความเหลื่อมล้ำนั้นกดคนบางกลุ่มให้อยู่ใต้ดินและแทบจะเลือนหายไปจากสังคม ครอบครัวคิมก็คือหนึ่งในนั้น พวกเขาเป็นครอบครัวที่รักกันดี ช่วยเหลือกันทำงานอย่างแข็งขันแม้จะคว้าน้ำเหลวบ้าง ยามเกิดปัญหาก็พร้อมใจสุมหัวกันเพื่อแก้ไขให้ผ่านไปได้

พวกเขาหวังอยากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้ความหวังเล็กๆ แค่นี้ก็ยังเป็นจริงได้ยาก ทั้งๆ ที่พวกเขามีพรสวรรค์ แต่อะไรบางอย่างปิดกั้นพวกเขาไว้จากการก้าวผ่านเส้นบางๆ ของความขัดสนนี้ สถานการณ์แบบนี้ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนทำทุกสิ่งเพื่อมีชีวิตอยู่รอด หรือมีชีวิตที่ดีขึ้นอีกสักเล็กน้อย หากนั่นไม่เป็นการหวังเกินตัว

และดูเหมือนการแทรกซึมเข้าไปเป็น ‘ปรสิต’ ในบ้านครอบครัวปาร์กดูจะเป็น ‘โอกาส’ ที่ดีที่สุดแล้ว

พวกเขาโกหก พวกเขาทำร้ายคนที่ไม่ได้แค้นเคือง เพื่องาน เพื่อเงิน ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นถูก แต่อย่างน้อยก็เข้าใจถึงเหตุผลที่พวกเขาทำไป นั่นคือเพื่อมีชีวิตรอดและได้ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าไปอีกหนึ่งวัน แม้ว่าจนลมหายใจสุดท้าย สิ่งนั้นก็อาจไม่มีวันมาถึง

มันเลยเศร้ามากในฉากที่ตัวละครหนึ่งพูดถึงความฝันของตัวเองว่าสักวันจะเก็บตังค์ซื้อบ้านของครอบครัวปาร์ก (และตัวละครในครอบครัวคิมก็มีเหตุผลที่อยากได้บ้านหลังนี้) แต่ดูเหมือนจะมีเพียงพวกเราที่รู้อยู่แก่ใจว่า มันยังคงเป็นความฝันไปอีกนานแสนนานหรือตลอดกาล

เพราะวันใดที่เขาพยายามตะกายขึ้นไปคว้าฝันนั้น เขาจะโดนสิ่งที่เรียกว่าระบบและความเหลื่อมล้ำเอาเท้าเขี่ยลงมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทำไมครอบครัวปาร์กจึงถูกครอบครัวคิม ‘แทรกซึม’

ครอบครัวปาร์กคือภาพแทนของคนรวยที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจในเกาหลีหรือที่เราเรียกกันว่า new rich ฉันรวยแล้ว ฉันมีเงินแล้ว สิ่งแรกที่ฉันต้องมีก็คือบ้าน บ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง บ้านที่มีสวนกว้างขวางในตัว ให้ลูกชายที่กำลังบ้าอินเดียนแดงได้ตั้งเต็นท์ในเวลากลางคืนและเอาไว้จัดปาร์ตี้วันเกิดด้วย

การศึกษา ก็ต้องมีติวเตอร์ส่วนตัวนะ ลูกชายมีแววศิลปะใช่ไหม (แวน โกะห์ กลับชาติมาเกิดเชียวนะ) งั้นฉันจ้างครูอิมพอร์ตมาจากอิลลินอยส์เลยละกัน ชื่อเจสซิก้าซะด้วย ฝรั่งเห็นๆ เลยใช่ไหมล่ะ

ส่วนลูกสาว ม.ปลาย ก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษนะ ติวเตอร์ต้องมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แค่เห็นชื่อครูเควินดูหน้าตาโอเค แค่นี้ฉันก็จ้างแล้วล่ะ วุฒิฉันก็ดูแค่ผ่านๆ น่ะ แบบนี้ลูกสาวฉันต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างครูคนนี้ได้แน่

พูดถึงภาษาอังกฤษ งั้นขอพูดหน่อยละกัน Is that okay with you?

ต้องพูดสิ Why not? เพราะภาษาอังกฤษคือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงฐานะของเรานะ

ส่วนสามีฉันก็ต้องมีโชเฟอร์ส่วนตัวนะ ทำงานหนักก็เรื่องหนึ่ง แต่เป็นถึงระดับผู้บริหารกลับขับรถเอง คนเขาก็หัวเราะเยาะกันพอดี (ผู้เขียนได้อ่านบทความหนึ่งเกี่ยวกับเด็กที่โตในย่านกังนัมหรือย่านคนรวยของเกาหลี มีความว่าคนระดับผู้บริหารที่มาประชุมด้วยการขับรถมาเองนั้นจะถูกรุมหัวเราะเยาะ)

การกำเนิดขึ้นอย่างกะทันหันและมากมายของกลุ่ม new rich นำไปสู่การแข่งขันและเทียบเคียงอันดุเดือด ซึ่งนำไปสู่การประชันกันอย่างสุดเดช บ้านต้องหรูหรา ทุกสิ่งต้องดูสวยงามและเป็นของที่ดีที่สุด ลูกทุกคนต้องมีติวเตอร์ส่วนตัว (แม้กฎหมายของเกาหลีจะห้ามเรื่องนี้ไว้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่สุดท้ายทุกคนก็มีกันอยู่ดี) เพื่อสอบเข้าคณะระดับท็อปไม่กี่แห่งของประเทศ (สำหรับคนที่เคยดูซีรีส์เรื่อง Sky Castle จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น) 

พวกเขาเชิดชูความเป็นตะวันตก ชื่ออย่างเควิน เจสซิก้า อิลลินอยส์ จึงทำงานอย่างรุนแรงกับพวกเขา พวกเขาเสพติดความเอกซ์คลูซีฟและการได้รับบริการ ทั้งแม่บ้าน คนขับรถ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงความรักสะอาดและสำอางเกินพอดี จึงเป็นที่มาของประเด็น ‘กลิ่นสาบ’ ภายในเรื่อง

เพราะการเป็น new rich ในเกาหลี ความเพอร์เฟกต์เป็นทางเลือกหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเป็นอื่นไปได้

ทำไมต้อง ‘ขันขื่น’

จุนโฮบอกว่าหนังของเขาเป็นแนวโศก-สุข (โศกนาฏกรรมผสมสุขนาฏกรรม) มันคือความสยองขวัญขันขื่นในโชคชะตา อาจเพราะความจริง ชีวิตที่ยังถูกกดทับอยู่ใต้ความเหลื่อมล้ำก็เป็นแบบนั้น หรือเป็นได้แค่นั้น ในภาวะที่คนรวยก็ยังรวยขึ้น พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดี หรือแม้กระทั่งกลายเป็นคนดี แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ตามมาด้วยการวิ่งไล่ตามสิ่งต่างๆ มาเติมในช่องว่างที่ไม่มีวันเต็ม 

และคนจนก็ยังจนต่อไปหรืออาจจะจนลง ต้องต่อสู้ในทุกวินาทีของชีวิต เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มวางแผน ชีวิตจะคว่ำให้ล้มไม่เป็นท่าแล้วคุณก็ต้องดิ้นรนต่อไป

การเลือกเล่าเรื่องเหล่านี้ผ่านน้ำเสียงตลกขบขัน จิกกัด อาจพอกล่อมเกลาสิ่งต่างๆ ที่ถูกเคลือบอยู่หลังเนื้อหนังอันแสนบันเทิงนี้ไม่ให้ดูโหดร้ายจนเกินไปนัก เมื่อบวกกับความจริงที่ว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่แฟร์ต่างๆ ทั้งในหนังและชีวิตเราก็ดูเหมือนจะยังดำเนินสืบไปโดยยังมองไม่เห็นถึงแสงสว่างที่ปลายทาง

พอคิดแบบนี้แล้ว

อืม…ขอหัวเราะให้กับหนังดังๆ อีกสักรอบก่อนออกจากโรงก็แล้วกัน

อ้างอิง

koreaherald.com
matichonweekly.com
prachachat.net
qz.com
restoftheiceberg.org

AUTHOR