ฟังเพลงแจ๊สเร่าร้อน อ่อนหวาน จิบค็อกเทลเข้มข้นยามค่ำที่ Buddha & Pals Night

Highlights

  • Buddha & Pals Night หรือบางคนอาจเคยผ่านตาในชื่อ Boxing Cool Bar คือแจ๊สบาร์ใต้ชายคา Kanvala House โฮสเทลย่านนางเลิ้ง ใช้พื้นที่เดียวกับคาเฟ่ในยามกลางวัน แมค–ภีระสิทธิ์ ​สีมูลเสถียร จึงนิยามบาร์แห่งนี้ว่าเป็น Buddha & Pals เวอร์ชั่นกลางคืน
  • ตัวตนของ Buddha & Pals Night บ่งบอกผ่านดนตรีแจ๊ส ซึ่งมีความคลาสสิก วินเทจ เข้ากับบริบทของอาคารและสถานที่ ทุกคืนวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จะมีแจ๊สไลฟ์โดยนักร้องและนักดนตรีทั้งไทยและต่างชาติระดับมืออาชีพ รวมถึงอีเวนต์พิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับแจ๊ส
  • ซิกเนเจอร์ค็อกเทลของ Buddha & Pals Night ร้อยโยงไปกับบทเพลงแจ๊ส และบอกเล่าถึงกรุงเทพฯ ในอดีต ผ่านการใช้วัตถุดิบและการตั้งชื่อเครื่องดื่ม

คล้ายเวทมนตร์ หลังความสว่างลาฟ้าและสีดำโรยหล่น ที่ทางที่วางตัวเป็นคาเฟ่สงบงามยามกลางวันได้เผยโฉมในเรือนร่างใหม่ โต๊ะเก้าอี้เคลื่อนขยับ ดวงไฟแชนเดอเลียร์สาดแสงสีส้มสลัว บาร์กาแฟเปลี่ยนฉากสู่บาร์ค็อกเทลฉ่ำย้อมริมฝีปาก เสียงขอบแก้วใสกระทบกันดังกริ๊งแว่วแซมบทสนทนาเปี่ยมชีวิตชีวา นักร้องขึ้นจับไมค์ นักดนตรีกระชับเครื่องบรรเลงเพลงของตน แล้วบทเพลงแจ๊สก็ล่องลอยขับกล่อม

อันที่จริง a day เคยเล่ากล่าวถึงที่นี่อยู่ครั้ง ว่าด้วยเรื่องของการรีโนเวตอาคารเก่าแก่ ณ ย่านประวัติศาสตร์อย่างนางเลิ้งให้เป็นโฮลเทลนาม Kanvela House รวมถึงคาเฟ่ภายใต้ชายคาเดียวกันที่ชื่อ Buddha & Pals แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องราวในยามฟ้าสว่าง ทว่าที่แห่งนี้ กลางวันและกลางคืนได้เชื่อมโยงถึงกันอยู่ เมื่อเวลาล่วงสู่ยามค่ำ คาเฟ่จะถูกผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า กลายเป็นแจ๊สบาร์เปี่ยมชีวิตชีวา

และนี่คือ Buddha & Pals เวอร์ชั่นกลางคืน… Buddha & Pals Night 

“ถ้าเป็น Buddha & Pals Day ก็จะเป็นคาเฟ่” แมค–ภีระสิทธิ์ ​สีมูลเสถียร อยู่ในชุดลำลอง คาดเอี๊ยมชายสไตล์วินเทจซึ่งเข้ากับบรรยากาศ เขาอธิบายกระชับว่าในพื้นที่เดียวกัน เขาแยกคาเฟ่และบาร์ด้วยคำว่า Day และ Night 

บางคนที่เคยผ่านตาแจ๊สบาร์ที่ชื่อ Boxing Cool ซึ่งปักหมุดอยู่ในพิกัดเดียวกัน อาจสงสัยว่าคือแห่งเดียวกันหรือไม่ ใช่ คือที่เดียวกัน แล้วทำไมต้องมีสองชื่อ ท้ายบทสนทนานี้จะช่วยคลี่คลายความสงสัย 

พื้นที่เดิม ต่างเวลา เปลี่ยนหน้าที่

แม้แจ๊สบาร์เป็นส่วนที่เปิดตามมาในภายหลัง แต่แมคบอกว่าภาพ Buddha & Pals ในยามฟ้าค่ำเป็นความคิดที่ผุดพรายขึ้นพร้อมๆ กับภาพโฮสเทลและคาเฟ่ 

“ผมไม่ได้มีความคิดที่จะทำที่พัก คาเฟ่ หรือบาร์มาก่อน จนมาเจอตึกนี้ จึงเริ่มโปรเจกต์ด้วย Kanvela House ซึ่งเป็นที่พัก เมื่อมีที่พักแล้วก็ต้องมีคาเฟ่ด้านล่างด้วย พอดูๆ ไป ช่วงกลางคืนของที่นี่เหมาะกับการทำเป็นบาร์มากๆ ผมเลยเกิดไอเดียบาร์แจ๊สขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นทั้งสามส่วนจึงเป็นไอเดียคร่าวๆ กลมๆ ที่มีมาพร้อมกัน”

ทว่าการทำหนึ่งพื้นที่ให้รองรับสองการใช้งานในต่างช่วงเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย แมคยอมรับ ด้วยทั้งกลางวันและกลางคืนยังเป็นเก้าอี้ตัวเก่า โต๊ะตัวเดิม เครื่องดื่มทำจากบาร์เดียวกัน 

“สุดท้ายจึงต้องออกแบบพื้นที่ให้ได้ทั้งสองอย่าง คือคาเฟ่กลางวันที่ฟีลคาเฟ่ต้องสุด และบาร์กลางคืนที่ต้องสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่านี่คือบาร์จริงๆ ผมเลยดีไซน์เคาน์เตอร์ให้รองรับสองฟังก์ชั่น แต่ด้วยความที่ผมไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านออกแบบ จึงพยายามคิดในเรื่องความเหมาะว่าเราจะเทิร์นคาเฟ่เป็นบาร์ในส่วนไหนได้บ้าง คาเฟ่เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม โอเคว่าเราพยายามมองผ่านสายตาลูกค้า แต่พอเป็นบาร์ จินตนาการต้องเยอะมากขึ้น

“สิ่งที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดคือโซนด้านหลังบาร์ ตอนกลางวันจัดเป็นแบบคาเฟ่ พอตกเย็นจะมีการขยับ มีขวดเครื่องดื่มไปวาง บาร์จะดูเต็มขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับเอาเข้า-ออกหมดทุกอย่าง เพราะต้องให้คนทำงานสะดวกด้วย ส่วนโต๊ะเก้าอี้ต้องจัดใหม่บางส่วน เพื่อให้เข้ากับพื้นที่”

หากเข้าร้านมาในช่วงกลางวัน เราอาจนึกไม่ออกเลยว่าจะสามารถตั้งวงดนตรีได้ตรงมุมไหนของร้าน ด้วยไม่มีเวทีตั้งตายตัว ไม่มีเครื่องดนตรีแม้สักชิ้นวางเป็นสัญลักษณ์ แต่นั่นกลับเป็นข้อได้เปรียบ เพราะทำให้ขยับย้ายจุดตั้งวงดนตรีไปได้เรื่อยๆ

“เราเป็นทั้งคาเฟ่ เป็นทั้งบาร์​ บางโต๊ะอาจเป็นมุมอับ มองไม่เห็นนักร้อง การเปลี่ยนมุมเป็นการพยายามหาจุดเหมาะสม จนเราลองปรับให้วงอยู่หน้าบาร์เลย ก็รู้สึกว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น ผมเองมองว่าการที่เราทดลองมุมใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เป็นการสร้างความตื่นเต้นให้ลูกค้าด้วยนะ อีกเหตุผลคือ หากเป็นนักร้องคนเดิม วงเดิม ลูกค้ามาซ้ำ เขาก็ได้เห็นมูฟเมนต์ที่ไม่จำเจ ” 

แจ๊สบาร์ในฝันของแมคไม่ได้หวือหวาเกินเป็นจริง เขาอยากเห็นบาร์ที่ไม่เป็นทางการเกินไปนัก ไม่จำเป็นต้องมีเวทียกสูงต่างระดับกับผู้นั่งฟัง 

“ผมไม่อยากให้เป็นบาร์ที่เป็นทางการเกินไป อยากให้มีความอบอุ่น แบนด์เล่นใกล้ชิดกับคนดู อยากให้ได้ฟีลเหมือนเมืองนอก คนดูใกล้ชิดนักร้อง นั่งล้อมๆ กัน นักร้องก็เดินไปตรงนั้นตรงนี้ได้ ผมว่าที่กรุงเทพฯ ยังมีบาร์แบบนี้น้อยนะ” 

แจ๊ส ท่วงทำนองและจังหวะแห่งค่ำคืน

‘ทำไมต้องเป็นเพลงแจ๊ส’ ในคำถามเรียบง่าย ชายหนุ่มตอบกลับทันใด “เข้ามาที่นี่ ยังไงก็ต้องแจ๊สครับ” บางอย่างเป็นเรื่องของความรู้สึก  

“ผมไม่ถึงขั้นเครซี่หรือมีความรู้เรื่องแจ๊สมากนัก แต่พอดูบริบทโดยรวม ตัวอาคาร พื้นที่ บรรยากาศ ทั้งหมดที่ผมเริ่มทำมาตั้งแต่ต้น ผมว่า identity ของที่นี่คือแจ๊ส แจ๊สมากๆ มีความคลาสสิก มีความวินเทจ

“สิ่งที่ผมคุยกับนักดนตรีคือผมอยากให้ที่นี่เป็น destination ด้านดนตรี คนอยากฟังเพลงต้องนึกถึง Buddha & Pals วันหนึ่งอาจมีการแจม session ข้อจำกัดเดียวของเราคือการที่เราเป็นคาเฟ่แล้วปรับเป็นบาร์ ทำให้เราไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ๆ ที่วางประจำได้ เช่นกลอง เปียโน นักดนตรีเขาจึงต้องเอาเครื่องดนตรีมาเอง จะยากตรงนี้ แต่เราก็แพลนไว้นะ อาจเป็นเปียโนมาตั้ง คืนไหนไม่มีแบนด์ แต่มีเปียโนอยู่ นักดนตรีก็มาเล่นได้ นักดนตรีอีกคนอาจถือแซ็กโซโฟนมา อีกคนเป็นนักร้อง เป็น jam night ผมอยากได้ฟีลแบบนั้นมากๆ อีกสักพักคงได้เห็นบรรยากาศแบบนี้”

แมคแนะนำศิลปินที่มาร่วมแจมใน Buddha & Pals Night ในทุกคืนวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ว่ามีทั้งนักเป่าแซ็กโซโฟนระดับอาจารย์ นักร้องที่ผ่านเวทีดังของประเทศ แจ๊สแบนด์มืออาชีพที่สร้างสีสันแก่ค่ำคืน อีกทั้งศิลปินต่างชาติผู้คร่ำหวอดในวงการแจ๊ส 

“จริงๆ บาร์ของเราเริ่มตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว มีไลฟ์แจ๊สทุกคืนพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ หากคืนไหนมีการโปรโมตออกไป ลูกค้าก็ราว 60-70 คน แต่แล้วก็มาเจอสถานการณ์โควิด-19 เสียก่อน”

บาร์จำเป็นต้องปิด (แน่นอนว่ารวมถึงโฮสเทลและคาเฟ่ด้วย) แมคใช้โอกาสเว้นวรรคในการทำการบ้านเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“สิ่งที่เราทำผมก็ว่ายังไม่สุด ระหว่างที่ต้องพักไปในช่วงนั้นก็มานั่งคิดว่าจะเติมตรงไหนลงไปให้มันเต็มตามที่เราตั้งใจไว้ เรื่องแบนด์เอย เรื่องการทำพื้นที่และบรรยากาศเอย พอบาร์กลับมาเปิดอีกทีช่วงต้นกรกฎาคม เราก็บอกออกไปว่ากลับมาเปิดแล้วนะ ตั้งแต่นั้นมาคนแน่นตลอด ผมคิดว่าคนคงคิดถึงบรรยากาศแบบนี้ และเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างหายากในกรุงเทพฯ ด้วย

“ต่อไปที่นี่อาจมีเพลงบลูส์เข้ามา” เขาแย้ม “บลูส์ก็มีความใกล้เคียงกับแจ๊ส ค่อนไปทางคันทรีหน่อยๆ แต่ผมอยากจะลองบลูส์ดูสักวัน เพราะกลุ่มคนที่ฟังเพลงก็มีที่ชอบแนวนี้ และอาจเป็นการเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น”

ในคืนที่ไม่มีแบนด์เล่นสด การเคลื่อนไหวของร้านก็ยังอยู่ในกลิ่นอายของท่วงทำนองแจ๊ส เพลย์ลิสต์เพลงต่อเพลงไล่เรียงเปิดอย่างคำนึงถึงบรรยากาศภายใน รวมไปถึงอากาศนอกร้านด้วย

“ผมทำเพลย์ลิสต์เพลงไว้เยอะมาก ขึ้นอยู่กับบรรยากาศร้านเป็นหลัก ถ้าคนเริ่มดูเหงาๆ และเราอยากให้มีมูฟเมนต์มากขึ้น ก็จะเลือกเพลย์ลิสต์ที่เพิ่มจังหวะให้มีกรูฟนิดหนึ่ง หรือคืนที่ฝนตก ก็มีเพลย์ลิสต์ rainy day เป็นเพลงช้าๆ เข้าบรรยากาศ

“แต่ก่อนผมไม่ใช่คนฟังแจ๊สแบบติดตามเลยนะ แต่พอมาทำที่นี่ก็เริ่มมีความสนใจ ฟังมากขึ้น อ๋อ เพลงนี้เราเคยฟังนี่ เพลงไหนชอบก็แอดใส่ลิสต์ไว้ ผมชอบนีน่า ซีโมน ชอบเชต เบเกอร์ เป็นสไตล์แจ๊สเรียบๆ ลูกค้ามาถามเยอะมากเลยว่าเอาเพลย์ลิสต์มาจากไหน ผมก็บอกค่อยๆ เปิดฟังนี่ล่ะ แล้วก็เก็บไว้ ”

คืนพิเศษ โชว์พิเศษ

การกลับมาอีกครั้งของ Buddha & Pals Night ไม่เพียงแต่พาค่ำคืนที่หลายคนคิดถึงให้หวนกลับมา แต่ยังมาพร้อมค่ำคืนพิเศษที่จัดเต็มประหนึ่งปาร์ตี้กลายๆ ไม่ก็อีเวนต์ย่อมๆ ที่แขกเรื่อผลักประตูเข้าร้านมาในธีมแต่งกายเดียวกัน  

“ผมอยากเห็นภาพแบบนี้ อยากเห็นคนแต่งตัวตามธีมมาฟังเพลง อยากให้มีอีเวนต์กึ่งๆ โชว์เพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ อนาคตอาจเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ หรืออะไรก็ตามที่ลิงก์กับแจ๊ส   

“โชว์แรกของเราคือธีม Broadway’s Golden Age เป็นเพลงแนวบรอดเวย์ที่เป็นมิวสิคัลหน่อยๆ ซึ่งบัตรเต็มไวมาก เราก็ชักชวนให้คนที่มาดูแต่งตัวสไตล์วินเทจ คลาสซี่ๆ มีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ นักร้องแต่งตัวเต็มที่ ทีมงานเองก็แต่งนะ แต่พยายามไม่ประดิษฐ์เยอะไป เราพยายามสร้างบรรยากาศเล็กๆ เหล่านี้ ลูกค้าเข้ามาเขาต้องสัมผัสได้ถึงฟีลอะไรบางอย่างล่ะ”

‘คืนนั้นคุณได้เห็นอย่างที่อยากเห็นไหม’ ฟังคำถาม เขาเว้นเวลาคิด คล้ายกำลังทบทวน

“คืนนั้นเซอร์วิสของเราอาจจะช้านิดหน่อย เพราะคนเยอะจริงๆ แต่ผมได้คุยกับลูกค้า เขาเอนจอยนะ นักร้องร้องและเอนเตอร์เทนได้ดี บรรยากาศมีชีวิตชีวามาก ทุกคนดูสนุกสนานกันจริงๆ”

ขอขยายภาพคืน Broadway’s Golden Age ผ่านสายตาของผู้ไปเยือนบ้าง คืนนั้นเป็นค่ำคืนที่ราวกับมีเมจิก ผู้คนเฉียดร้อยนั่งแน่นขนัดเต็มพื้นที่ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา หนำซ้ำกลับสร้างบรรยากาศรื่นเริง เพื่อนกลุ่มใหญ่ชวนชนแก้ว คู่รักเอนไหล่พิงกันฟังเพลง คนแปลกหน้าหันยิ้มให้โต๊ะเคียงใกล้ นักร้องเปล่งเสียงทรงพลัง ส่งความสุขผ่านบทเพลงแจ๊สสไตล์บรอดเวย์อย่างทั่วถึง

“การทำบาร์เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมมาก แต่อย่างหนึ่งที่พยายามคืออยากทำบาร์ที่มีสไตล์ สไตล์ที่ไม่ได้แปลว่าหรู แต่อยากสร้าง vibe ให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกว่าที่นี่ดีจังเลย อยากมานั่งกับเพื่อน อยากมาเดตกับแฟน อยากมาฟังแจ๊สเพราะๆ อยากมาดื่มค็อกเทลดีๆ นี่คือสิ่งที่เราพยายามครีเอตขึ้นมา”

ให้ค็อกเทลบอกเล่าเรื่องราว

“แจ๊ส ยังไงก็ต้องเป็นค็อกเทล” แมคให้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องดีไซน์ซิกเนเจอร์ค็อกเทลของร้านขึ้นมา

“สำหรับผม ค็อกเทลเป็นงานอาร์ตอย่างหนึ่ง เป็นมิกโซโลจีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าของเรา เป็นศาสตร์ที่ต้องพิถีพิถัน กว่าจะทำออกมาแก้วหนึ่งต้องผ่านการคิด อะไรผสมกับอะไร เครื่องดื่มสแตนดาร์ดเราก็มีนะครับ แต่เราอยากเติมสไตล์ให้ที่นี่”

ซิกเนเจอร์ค็อกเทลของ Buddha & Pals Night เน้นความเป็นโฮมเมด ใช้วัตถุดิบที่สื่อถึงถิ่นที่ตั้ง ซึ่งก็คือกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการนำสมุนไพรไทยมาใช้ เช่น ขิง มะนาว หรือผลไม้เขตร้อนขึ้นชื่อ เช่น สับปะรด มะพร้าว อีกทั้งตั้งชื่อให้สื่อความรุ่งเรืองของเมืองหลวงในอดีต เช่น Golden Era หรือไม่ก็นำบางถ้อยคำที่ปรากฏในเพลงแจ๊สมาตั้งเป็นชื่อเครื่องดื่ม Sentimental Reasons คือตัวอย่าง

เมนู Summertime จากเพลง Summertime ของ George Gershwin ก็เช่นกัน ถูกนำมาใช้เป็นชื่อค็อกเทลที่รวมวัตถุดิบของเมืองร้อนเอาไว้ “ผมมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีฟีลซัมเมอร์ไทม์ตลอดนะ เลยอยากให้เป็นเครื่องดื่มที่มีความเป็นเมดิเตอร์เรเนียนหน่อยๆ ลิงก์กับชื่อเพลงแจ๊ส ส่วนผสมหลักคือเหล้ารัม เอามาอินฟิวส์กับสับปะรด เบลนด์กับน้ำสับปะรด น้ำเสาวรส น้ำมะม่วง น้ำมะนาว ใช้ไซรัปที่เราทำเอง ทั้งหมดเป็นส่วนผสมที่ไทยมากๆ เป็นเครื่องดื่มของหน้าร้อน”

Hopping Barron คือค็อกเทลแก้วโปรดของแมค “แก้วนี้มีความเท่ๆ แมนๆ” เจ้าตัวนิยาม “เราเอาจินมาอินฟิวส์กับกาแฟ ด้วยเราเป็นคาเฟ่ในตอนกลางวันด้วย และที่ตั้งชื่อว่า Hopping Barron เพราะรู้สึกว่าสไตล์ของคนที่มาที่นี่มีความเป็นบารอน (บรรดาศักดิ์หนึ่งของขุนนางยุโรปสมัยโบราณ) หน่อยๆ มาฮอปปิ้งตามบาร์ รสชาติของแก้วนี้จึงหนักแน่น มีความเจนเทิลแมน เราเลยเสิร์ฟกับไวต์ช็อกโกแลตที่เนื้อออกเจลลี่ เพื่อลดความเข้ม เสิร์ฟในแก้วร็อก มีกลิ่นอายกาแฟ แต่เลดี้ก็ดื่มได้”

หากจะเลือกค็อกเทลสักแก้วที่ให้รสชาติและเซนส์ที่ตรงข้ามกับ Hopping Barron อันขมเข้มและหนักแน่น แก้วที่ชื่อ Fizzy Cloud คือคำตอบนั้น “แก้วนี้มีจินที่อินฟิวส์กับราสป์เบอร์รี มีโทนิกและเวอร์มุท ได้ความเปรี้ยวซ่าของเลม่อนและมะนาว หวานจากราสป์เบอร์รีไซรัป ท็อปด้วยฟองขาวนุ่มเหมือนเมฆ จึงใช้คำว่า Cloud แต่งด้วยใบชิโสะที่มีกลิ่นหอม เป็นตัวเบาๆ ที่เหมาะกับผู้หญิง แต่เช่นเดียวกันคือผู้ชายก็ดื่มได้ ”

ในเดือนที่ร้านมีวาระพิเศษ จะมี Special Cocktail of the Month ที่ดีไซน์ให้เกี่ยวเนื่องกับอีเวนต์ของเดือนนั้นๆ เช่นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กับค่ำคืน Broadway’s Golden Age ค็อกเทลที่ชื่อ Kanvala Sour, Broadway with Love คือสองตัวยอดนิยม

Bangkok 1920 เป็นอีกหนึ่งแก้วที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยทั้งวัตถุดิบที่ใช้และการตั้งชื่อที่หมายพาผู้ดื่มย้อนไปสู่บางกอกในร้อยปีก่อน 

“ด้วยเป็นโชว์ที่เป็นบรอดเวย์ เราจึงอยากเล่าถึงกรุงเทพฯ เมื่อร้อยปีที่แล้ว สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ก็จินตนาการว่าช่วงนั้นการดื่มของผู้คนเป็นอย่างไร ผมนึกถึงรัมและกลิ่นสไปซ์ เราจึงนำรัมไทยและเครื่องเทศไทยมาใช้ นำกล้วยมาทำไซรัป ผสมกับน้ำมะนาวและน้ำสับปะรด ดื่มแล้วจะรู้สึกสดชื่น” แม้จะเป็นแก้วที่ดีไซน์ออกมาเฉพาะกิจ แต่แมคแอบกระซิบว่าหากอยากลองก็สามารถสั่งมาดื่มได้อย่างไม่ต้องสนเรื่องเวลา 

“ค็อกเทลบางตัวก็ผ่านการปรับมาเรื่อยๆ นะครับ” เขาเอ่ยถึงภาพรวม “ในเริ่มต้นอาจยังเป็นแก้วที่ไม่ลงตัวเท่าไหร่ แต่ด้วยคำว่ากาลเวลา เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน เครื่องดื่มบางตัวก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ และการได้บาร์เทนเดอร์ที่มีความรู้และประสบการณ์ก็ช่วยเราได้เยอะมาก”

Boxing Cool Bar เจ้าเดียวกับ Buddha & Pals Night

หากเสิร์ชหาแจ๊สบาร์ที่ชื่อ Boxing Cool คุณจะพบ Buddha & Pals Night หรือหากปักหมุดให้จีพีเอสนำทางไปยัง Boxing Cool Bar คุณก็จะถูกพามาหยุดอยู่หน้าประตูที่แปะป้าย Buddha & Pals เช่นกัน 

แมคไขความกระจ่าง “คำว่า Buddha & Pals ผมต้องการสื่อถึงความสุข ความสงบกับเพื่อน ไม่ใช่แค่มาดื่มกาแฟ แต่มาสัมผัส vibe ของที่นี่ แต่พอเป็นบาร์ที่มีแอลกอฮอล์ เลยเกิดความกังวลกับเรื่องนี้นิดหน่อย จึงตั้งชื่อว่า Boxing Cool ไว้ด้วย” ซึ่งชื่อนี้ก็มีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง

“ที่นี่เคยเป็นโรงงานน้ำมันมวย มีคนถามว่าน้ำมันมวยยี่ห้ออะไร ก็เป็นยี่ห้อน้ำมันมวยนี่ล่ะ หลวงสิทธิ์โยธารักษ์ ซึ่งเป็นหมอยาเป็นผู้ริเริ่มทำ กิจการน้ำมันมวยใหญ่โตมาก จนขยับขยายไปอยู่แถวกิ่งเพชร และเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดนักมวยชื่อ โผน กิ่งเพชร เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรก น้ำมันมวยจึงดังมาก ฝรั่งรู้จัก และถามกันเรื่อยๆ ว่าน้ำมันมวยยี่ห้ออะไร จึงมีการตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า Boxing Cool นี่คือที่มาของชื่อบาร์ของเรา เพราะที่นี่คือจุดเริ่มต้นน้ำมันมวย”

ในแรกเริ่ม แจ๊สบาร์ใต้ชายคา Kanvala House จึงแนะนำตนเองในนามของ Boxing Cool Bar แต่หนึ่งสถานที่ มีหลายชื่อเรียก ย่อมสร้างความสับสนแก่ลูกค้าไม่มากก็น้อย

“ย้อนกลับไป ทั้งโปรเจกต์นี้คือ Kanvala House ซึ่งเราบอกเล่าเรื่องราวผ่านกาลเวลา แต่พอทำคาเฟ่ ใช้ชื่อ Kanvela House ฟังแล้วค่อนข้างเชย ตอนนั้นคิดแบบนี้ แล้วถ้าใช้ชื่อนี้ ลูกค้าข้างนอกอาจไม่มั่นใจว่าเป็นคาเฟ่สำหรับลูกค้าที่มาพักหรือเปล่า การตั้งอีกชื่อจึงเป็นเรื่องของการทำแบรนด์ดิ้งด้วย จึงเป็น Buddha & Pals แต่พอมี Boxing Cool เข้ามาอีก ลูกค้าถามเข้ามาเยอะมาก คืออะไร ที่ไหน อยู่ข้างบนเหรอ ก็เลยคุยกับทีมว่าไม่เอาดีกว่า เราจะไม่โปรโมตในชื่อ Boxing Cool แล้ว ให้เป็น Buddha & Pals Night ไปเลย เป็นเวอร์ชั่นไนต์ของ Buddha & Pals ที่เป็นแจ๊สบาร์

“ผมได้รับได้รับเมสเซจมาบ้างว่าทำไมใช้ชื่อนี้ ก็อธิบายไป เขาก็เข้าใจนะ แต่บางคนเห็นแล้วคงเอ๊ะนิดหน่อย แต่สำหรับผม ถ้าในทุกขณะเรามีสติอยู่ตลอด นี่คือพุทธนะ ความเป็นพุทธสามารถอยู่กับเราในทุกอิริยาบถ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการพูด คำว่า Buddha ในที่นี้ ผมพูดถึงความสงบ ความสุข ผมอยากให้คนที่เข้ามานั่งที่นี่เกิดความรู้สึกนั้น”

ยามที่ Buddha & Pals หมุนสู่พาร์ต Night ความสงบอาจไม่เท่าพาร์ต Day ในยามเป็นคาเฟ่ แต่หากพูดถึงความสุขแล้ว ขอยืนยันว่าไม่ได้ยิ่งหย่อนด้อยน้อยไปกว่ากัน


Buddha & Pals Night (Boxing Cool Bar)

address : ถนนกรุงเกษม ย่านนางเลิ้ง ใกล้วัดโสมนัสราชวรวิหาร
hours : บาร์เปิดอังคาร-อาทิตย์ เวลา 17:00-24:00 น.
tel : 061-585-9283
facebook : Buddha & Pals

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย